พักหลังมานี้ ข่าวเรื่องการยุบและควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ได้กลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้งในแวดวงการศึกษาไทย
แม้มันจะไม่ใช่เรื่องใหม่นักเพราะการยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ในชนบทนั้นเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ในหลายปีที่ผ่านมา หากแต่ว่า ประเด็นใหญ่ที่เพิ่งเกิดขึ้นก็คือ การที่หน่วยงานด้านการศึกษากำลังหาวิธี ‘ดึงอำนาจ’ การตัดสินใจเพื่อยุบหรือไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก กลับมาอยู่กับส่วนกลางมากขึ้น
จากเดิมที่หลักการควรจะเป็นคือ การตัดสินใจยุบหรือไม่นั้น ควรให้ท้องถิ่นและชุมชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโรงเรียนดังกล่าวได้คิดพิจารณาร่วมกัน
ความพยายามปรับกฎเกณฑ์ให้อำนาจการตัดสินใจมาอยู่กับส่วนกลางมากขึ้น ได้กลายเป็นข้อน่ากังวลต่อนักวิชาการด้านการศึกษา เมื่อโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศกำลังอยู่ในความเสี่ยงถูกยุบเป็นลำดับต้นๆ
The MATTER คุยกับนักวิชาการด้านการศึกษาอย่าง อ.อรรถพล อนันตวรสกุล แห่งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่ ‘ครูจุ๊ย’ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาที่ติดตามนโยบายนี้จากภาครัฐไทย
อะไรคือความกังวลต่อการเดินหน้ายุบและควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก? เราหยิบคำถามนี้ไปคุยกับทั้งสองคน
ตัดสินใจจากส่วนกลาง โดยขาดความเข้าใจในพื้นที่ : ความเสี่ยงของการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก
ตามข้อมูลจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า ตอนนี้มีโรงเรียนขนาดเล็กที่เด็กต่ำกว่า 40 คน มีกว่า 2,800 โรงเรียน ขณะที่โรงเรียนที่เด็กต่ำกว่า 120 คน มีกว่า 14,000 โรงเรียน รวมแล้วทั้งหมดคือเกือบ 18,000 โรงเรียน
เดิมทีการตัดสินในว่าจะยุบหรือไม่ยุบโรงเรียนกลุ่มนี้ จะเป็นการคิดร่วมกันของผู้คนในชุมชน หน่วยงานศึกษาท้องถิ่น รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายในพื้นที่ต่างๆ ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นก็คือ การดึงอำนาจตัดสินใจเข้ามาอยู่ที่ส่วนกลาง จนละเลยมิติที่หลากหลายในพื้นที่ไปหรือไม่
อ.อรรถพล เป็นกังวลว่า การคิดและตัดสินใจจากหน่วยงานที่ส่วนกลางเรื่องยุบโรงเรียนขนาดเล็กนั้น มันมีความเสี่ยงที่จะได้รับข้อมูลที่ไม่สะท้อนภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของผู้คนจริงๆ
“พอมันเป็นโจทย์ที่คิดจากส่วนกลาง ต่างจากเมื่อก่อนที่ให้แต่ละพื้นที่ไปรวมกันคิดเพื่อหาทางออก ก็มักจะตัดสินใจจากกระดาษที่ไม่ได้เป็นข้อมูลจากพื้นที่จริงๆ คือรายงานตามกระดาษมันอาจจะไม่ได้เขียนว่า การให้เด็กเดินทางไปโรงเรียนใหม่ ที่ระยะไกลเพิ่มขึ้น 5-7 กิโลโมตรเนี่ยมันคือเรื่องใหญ่นะ ลองนึกดูว่า ถ้าเราเป็นพ่อแม่แล้วต้องให้ลูกชั้นประถมต้นขึ้นรถปิ๊กอัพทุกวัน ก็คงไม่สบายใจเท่าไหร่” อ.อรรถพล อธิบาย
เขาเชื่อว่า การตัดสินใจจะยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ อาจจะกระทบกับชีวิตของครอบครัวนับล้านครัวเรือน การตัดสินใจต่างๆ จึงต้องเป็นไปอย่างรอบคอบจริงๆ โดยเฉพาะการฟังเสียงจากทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
“ถ้าส่วนกลางไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ โรงเรียนกว่า 2,000 แห่งที่มีเด็กน้อยกว่า 40 คนจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่อาจถูกยุบได้” อ.อรรถพล กล่าวด้วยความเป็นกังวล “แต่ละพื้นที่มีต้นทุนทางสังคมไม่เท่ากัน และวิธีการแก้ปัญหาก็แตกต่างกันออกไป เช่นบางโรงเรียนอาจระดมคนในชุมชนมาช่วยโรงเรียนได้ รวมถึงโซลูชั่นอื่นๆ เช่น การเชื่อมโยงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏในการแก้ปัญหา คือบางพื้นที่ก็รู้สึกว่า ส่วนกลางไม่ควรมาไล่ยุบโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ควรหาวิธีการช่วยเหลือกันมากกว่า”
ผลกระทบของโรงเรียนขนาดเล็กที่รัฐยังมองไม่เห็น
ด้าน อ.กุลธิดา ให้ความเห็นว่า “ภาครัฐก็หวังดีว่าต้องทำให้เพื่อให้โรงเรียนมันมีคุณภาพและคุ้มค่า หรือยุบเพื่อให้เกิดคุณภาพได้อย่างที่ควรจะเป็น แต่ปัญหาในกระบวนการที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ มันกลายเป็นว่า มีนโยบายหนึ่งอย่างแล้วใช้กับโรงเรียนทั้งประเทศ”
ประเด็นที่น่าสนใจคือจาก อ.กุลธิดา ยังอยู่ที่ตรงที่มิติของความผูกพันกับพื้นที่ที่ชาวบ้าน-ชุมชน มีต่อโรงเรียนขนาดเล็กต่างๆ หลายคนเติบโตและอยู่กับโรงเรียนเหล่านั้นมาด้วยความคุ้นชินและผูกพัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าหากวันดีคืนดีโรงเรียนที่พวกเราผูกพันด้วยหายไปล่ะ มันจะเกิดขึ้นอะไรขึ้นบ้าง?
“พอเราไปยุบโรงเรียนเขา ก็ต้องคิดในมุมของชุมชนด้วยนะ เขาอาจจะรู้สึกว่าตำบลฉันมันเคยมีโรงเรียนอยู่ แล้ววันนี้ไม่มีอีกแล้ว พวกเขาจะจัดการความรู้สึกยังไง สิ่งที่เราพยายามจะสื่อคือ การจัดการปัญหาตรงนี้ มันต้องคิดในหลายมิติมากๆ เลย เช่น แล้วรัฐจะเยียวยาความรู้สึกของชุมชนที่เคยผูกพันกับโรงเรียน ยังไงบ้าง เราไม่เชื่อเรื่อง one size fit all (ตัดเสื้อไซส์เดียวเพื่อใช้กับคนทุกคน) นโยบาบต้องยืดหยุ่นพอ เพื่อที่จะมีทางออกหลากหลาย”
ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่ เชื่อด้วยว่า จริงอยู่ที่โรงเรียนขนาดเล็กจำนวนไม่น้อยกำลังมีปัญหาเรื่องทรัพยากร หรือคุณภาพในการเรียนการสอนจริงๆ แต่การศึกษาไทยเราก็ยังมี ‘ทางเลือก’ ที่นอกเหนือจากการยุบด้วยเหมือนกัน
“การจัดการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กมันมีทางออกอื่น เพียงแค่ตอนนี้ระเบียบมันไม่เอื้อ เช่น การให้โรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่สามารถแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันนั้นก็ติดระเบียบในระบบราชการจนทำได้ยาก หรือโรงเรียนขนาดเล็กต่างๆ จะใช้แม่ครัวคนเดียวกัน ยังทำได้ยากเลย เพราะมันก็ติดที่ระเบียบราชการ
“เรื่องนึงที่ต้องคิดเยอะๆ คือทางออกไม่ได้มีแบบเดียว ต้องไม่มีธงว่ายุบหรือควบรวมอย่างเดียว มันยังมีทางเลือกอื่น เช่น การแบ่งสรรทรัพยากร เปลี่ยนพื้นที่โรงเรียนให้กลายเป็นการเรียนรู้อื่นๆ เช่น ในรัศมี 5 กิโลเมตร อาจจะมีโรงเรียนอยู่ 3 แห่ง ถ้าโรงเรียนเหล่านี้จัดสรรทรัพยากรร่วมกัน หนึ่งในนั้นเราเปลี่ยนเป็นการเรียรรู้ตลอดชีวิตก็ได้ แต่ปัญหาในตอนนี้คือกระบวนการเยียวยามันไม่ชัดเจน รวมถึงอนาคตของครูและ ผอ.โรงเรียนก็ไม่ชัดเจน”
โรงเรียนแม่เหล็กเติบโตขึ้น ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กกำลังหายไป
ควบคู่ไปกับความพยายามยุบโรงเรียนขนาดเล็ก สิ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมกันคือปรากฏการณ์ที่นักวิชาการทั้งสองคนเรียกว่า ‘โรงเรียนแม่เหล็ก’ ที่เด็กนักเรียนในเขตห่างไกลต้องเดินทางไกลไปเรียน
และสถานการณ์ความแออัดในโรงเรียนแม่เหล็กเช่นนี้ อาจจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น รวมถึงความยากลำบากทางชีวิตที่เด็กๆ ในที่ห่างไกลต้องเผชิญ
“โรงเรียนในเขตเมืองโตขึ้นเรื่อยๆ และโรงเรียนแม่เหล็กในเมืองก็ไปดูดเด็ก แย่งเงินรายหัวกัน แต่โรงเรียนใกล้บ้านกลับมีทรัพยากรน้อย คำถามคือโรงเรียนที่ใหญ่ก็ใหญ่ตามเดิม แต่ดูดจำนวนเด็กไปเรื่อยๆ ทั้งที่โรงเรียนขนาดเล็กใกล้บ้านเด็ก ถ้าลงทุนให้ครบมันก็มีคุณภาพได้”
อ.อรรถพล ย้ำด้วยว่า เมื่อพูดถึงการศึกษามันก็คือเรื่องการลงทุนจากรัฐ และอาจจะจำเป็นด้วยซ้ำที่รัฐต้องหันมาลงทุนกับโรงเรียนเล็กๆ เหล่านี้ เขาเห็นว่า การใช้มาตรฐานแบบแข็งๆ และไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ มันก็จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ถูกแก้ไขได้ง่ายๆ “มันทำให้ความเหลื่อมล้ำไม่ถูกแก้ไขหรอก การช่วยเหลือมันไปลงที่ช่วยแค่เด็กที่ยากจน ช่วยเหลือเป็นรายหัว มันช่วยระดับปัจเจก แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างจริงๆ มันก็ยังมีอยู่ เราต้องพัฒนาโรงเรียนใกล้บ้านเด็กให้มีคุณภาพด้วย ต้องทำคู่ขนานกันไป”
ขณะที่ อ.กุลธิดา บอกกับเราว่า ในกรณีที่เด็กๆ ต้องไปเรียนในพื้นที่ห่างไกลยิ่งขึ้น (รวมถึงตามโรงเรียนแม่เหล็กต่างๆ ในเมือง) ต้นทุนที่ครอบครัวต้องใช้ส่งลูกไปเรียนก็คงจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จริงอยู่ที่บางพื้นที่รัฐอาจช่วยจ่ายเงินเยียวยา เช่น ช่วยเหลือค่าเดินทาง หรือค่าอื่นๆ ได้ แต่โจทย์ในระยะยาวคืออะไรนั้น ก็ยังไม่มีความชัดเจนเกิดขึ้น
“เมื่อรัฐมีนโยบายสร้างโรงเรียนแม่เหล็ก และเด็กก็ทยอยไปเข้าเรียน โรงเรียนเหล่านั้นที่ใหญ่อยู่แล้ว ก็โตขึ้นเรื่อยๆ ส่วนโรงเรียนขนาดเล็ก ก็เล็กลงเรื่อยๆ และต้องปิดตัวไปโดยปริยาย สมมติเด็กต้องไปเรียนที่ไกลขึ้น ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น บางพื้นที่อาจมีการเยียวนาจัดการอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้ทำอย่างชัดเจน เช่น การให้เงินเยียวยาไปหนึ่งก้อน แต่ในระยะยาวจะทำยังไงก็ยังไม่ชัด ถ้าเรายังไม่จัดการอย่างมีประสิทธิภาพ มันยิ่งซ้ำเติมคุณภาพการศึกษา” อ.กุลธิดา ระบุ
ดังนั้นโจทย์สำคัญคือการนิยามกันอย่างชัดๆ ว่า มาตรฐานขั้นต่ำที่แต่ละโรงเรียนควรมีคืออะไร เมื่อโรงเรียนแห่งไหนยังขาดแคลดทรัพยากร หรือบุคลากรต่างๆ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดงบประมาณลงไปให้ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำนั้นๆ
ความเห็นนี้ยังคล้ายๆ กับ อ.อรรถพล ที่ระบุว่า สิ่งที่รัฐต้องทำคือการทุ่มเทและจริงจังกับการช่วยให้โรงเรียนต่างๆ มีมาตรฐานมากขึ้น ต่างไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ คือโรงเรียนถูกผลักภาระเห็นเป็นฝ่ายที่ต้องวิ่งเข้าหาเส้นมาตรฐานของรัฐเพียงคนเดียว
“เวลาเราพูดเรื่องมาตรฐานการศึกษา รัฐได้ขีดเส้นไว้ให้ทุกโรงเรียนวิ่งหามาตรฐาน ซึ่งครูเองก็ต้องวิ่งไกลมาก แต่มันเป็นหน้าที่ของรัฐต้องด้วยเหมือนกัน ทุกวันนี้เราปล่อยให้โรงเรียนวิ่งหามาตรฐานของรัฐ แต่ที่ควรจะเป็นคือรัฐต้องวิ่งหาโรงเรียนมากกว่า”
แม้จะมีมุมที่ต่างกันไปในรายละเอียด หากแต่สิ่งนักวิชาการด้านการศึกษาทั้งสองคนเห็นตรงกันคือ จริงอยู่ที่โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งกำลังประสบปัญหา การจะใช้อำนาจจากส่วนกลางไปตัดสินว่าจะยุบหรือควบรวมโรงเรียนเหล่านั้น ก็ต้องทำอย่างรอบคอบ
แม้การยุบบางโรงเรียนอาจเกิดขึ้นได้ และเป็นทางออกได้ในบางกรณี แต่เราต้องไม่คิดว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเป็น ‘คำตอบเดียว’ ของสิ่งที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับรัฐเองที่ต้องพร้อมผลักดัน-สนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการเห็นถึงความสำคัญ มากกว่าการคิดว่า นี่คือเนื้อร้ายที่ต้องกำจัดทิ้งไป
อ้างอิงจาก
https://www.tcijthai.com/news/2019/8/current/9308
https://www.facebook.com/Equal-Stand-102975547737670/