วันนี้วันศุกร์แล้ว เย้ พรุ่งนี้วันหยุด ว่างๆ ไปไหนดีน้อ
ชีวิตคนเมือง มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา คิดสร้างสรรค์หนทางพักผ่อนวนไปวนมา แต่สุดท้ายการใช้เวลาวันหยุดของเราก็มักไปจบลงที่ห้างสรรพสินค้า ถ้าไม่นับว่าจะไปไหนไกลหน่อย แบบว่าจะใช้ชีวิตในเมือง ไปพักผ่อนใกล้ๆ สุดท้ายมันก็ไม่รู้จะไปไหนนี่นา ไปห้างแหละสบายสุด
เอาจริง การใช้ ‘เวลาว่าง’ ไปกับห้าง บางทีก็น่าเบื๊อน่าเบื่อเลยเนอะ
แต่ ‘เมือง’ มันก็เป็นงี้อะ ห้างเยอะแยะเต็มไปหมด นี่ก็มีข่าวว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เตรียมจะสร้างห้างมหึมาแทนโรงแรมเก่าแก่ของกรุงเทพ แถมยังมีข่าวว่าร้านค้าที่มีสินค้าทุกอย่างชื่อดังจากญี่ปุ่นก็เตรียมจะมาเปิดที่บ้านเราไปอีก
จะซื้ออะไรกันนักหนา! นั่นสิ ดูเหมือนห้างสรรพสินค้าจะเป็นพื้นที่ที่สำคัญสำหรับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่แบบเราๆ ‘พื้นที่ห้าง’ ดูเหมือนจะเป็นอีกพื้นที่สำคัญที่ให้เราไปใช้ ‘เวลาว่างๆ’ ซึ่งถ้าเราลองแบ่งสัดส่วนการใช้เวลาไปในสถานที่ต่างๆ ห้างสรรพสินค้าก็ดูจะติดอันดับต้นๆ ที่มนุษย์เมืองอย่างเราไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้น
‘ห้างสรรพสินค้า’ ป้ายราคากับมิติใหม่ของการซื้อของ
ก่อนที่เราจะแยกห้างออกจากชีวิตประจำวันไม่ออก ‘ห้างสรรพสินค้า’ ถือว่าเป็นนวัตกรรมของโลกสมัยใหม่อย่างหนึ่งที่ส่งผลกับวิถีชีวิตของเราอย่างมหาศาล เป็นสิ่งที่เพิ่งมาเติบโตและเฟื่องฟูขึ้นช่วงกลางๆ และปลายศตวรรษที่ 19 นี้เอง ห้างใหญ่ๆ เริ่มก่อตัวขึ้นตามเมืองหลวงสำคัญในยุโรป เช่น ลอนดอน ปารีสแล้วค่อยๆ กลายเป็นวัฒนธรรมสำคัญที่แพร่กระจายไปทั่วโลก
ลักษณะที่ใหม่เอี่ยมของห้างสรรพสินค้าแตกต่างไปจาก ‘ตลาด’ ในแบบเดิมๆ คือ เป็นพื้นที่ๆ ‘สินค้า’ ต่างๆ ถูกนำมาจัดแสดงไว้ โดยที่แต่ละชิ้นมีราคาตายตัวพร้อมทั้งติดราคาไว้อย่างชัดเจน ห้างสรรพสินค้าจึงแตกต่างไปจากตลาดที่มักประกอบไปด้วยการซื้อขายต่อรองราคา ดังนั้นเองในโลกสมัยใหม่โดยเฉพาะในพื้นที่ห้าง สินค้าและราคาของมันจึงมีความสำคัญมากกว่าคน บ่อยครั้งเราจึงสามารถเดินดูและจับจ่ายได้โดยไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนขายมากเท่ากับตลาดในสมัยก่อน
ดังนั้น ด้วยความที่ของถูกจัดแสดงไว้ และพื้นที่ห้างก็เป็นพื้นที่ที่เปิดให้ใครเข้าไปก็ได้ ลักษณะการ ‘จับจ่าย’ ของคนจึงเปลี่ยนแปลงไป จากการไปตลาดเพื่อซื้อของที่ตัวเองต้องการ คราวนี้ถึงไม่ต้องการอะไร ก็สามารถไปใช้เวลาสบายๆ เพื่อดูสินค้าที่ห้างได้
วินโดว์ช้อปปิ้ง กับการไปเพื่อ ‘ไม่ซื้อ’
‘ไปเดินดูเฉยๆ’ เป็นกิจกรรมที่เรามักจะบอกตัวเองว่า โอเค เราไปห้างเพื่อไปเดินดู ไม่ได้ตั้งใจจะซื้ออะไร ซึ่งผลก็มักไม่ค่อยเป็นไปตามคาดเท่าไหร่ เพราะไปห้างทีไรก็เสียเงินทุกที
กิจกรรมแบบ ‘window shopping’ จึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการออกแบบห้าง คือนอกจากจะเป็นพื้นที่ที่เอาสินค้ามารวมๆ กันแล้ว ลักษณะที่ห้างสมัยใหม่ เช่น Au Bon Marché ห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ของปารีสที่ก่อตั้งในปี 1840 ด้วยวิทยาการทางวัสดุและการออกแบบจะมีการใช้ ‘กระจกบานใหญ่’ ในการตกแต่งห้าง ดังนั้นในพื้นที่ของร้านจึงมีการจัดวางสินค้าอย่างสวยงามไว้แล้วกั้นไว้ด้วยกระจกใส ให้คนไปห้าง เพื่อไปเดินดูเฉยๆ ได้ โดยไม่ต้องซื้อ
ห้างกับการเป็น ‘พื้นที่ในฝัน’
ในระดับเบื้องต้น ห้างก็เป็นพื้นที่ทางกายภาพที่เอาสินค้ามาวางๆ แต่ในทางสังคมวิทยายังชี้ให้เห็นว่าห้างเป็นพื้นที่เสมือนความฝัน คือพื้นที่ห้างได้สร้างผลกระทบทางความรู้สึกให้กับเราอีกด้วย
ความลึกลับของห้าง คือเราไม่ได้ไปดูแค่ของเฉยๆ แต่ห้างเปิดโอกาสให้เราได้ ‘เห็นตัวเอง’ ที่อยู่กับข้าวของในฝันเหล่านั้นด้วย
พื้นที่ห้างจึงมักมีกระจกเงา และมักออกแบบที่สลัวๆ เต็มไปด้วยทางและพื้นที่ที่สับสนงงงวย เหมือนกับเราอยู่ในพื้นที่ในจินตนาการ ความสำคัญของจินตนาการก็คือ การที่เราสามารถ ‘ลอง’ สินค้าต่างๆ และ ‘มอง’ ตัวเราที่อยู่กับสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ห้างจึงเป็นเสมือนพื้นที่ในฝัน เป็นพื้นที่ที่สวยงาม และรายล้อมไปด้วยข้าวของที่เราปรารถนา และเป็นพื้นที่ให้เราเข้าไปเป็นส่วนร่วมของความฝันเหล่านั้นด้วย
เคยหลงในห้างกันมั้ย การหลงทางจนหลวมตัว
คนที่หลงในห้างกันบ่อยๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจ ด้วยความที่แนวคิดหลักของการสร้างและออกแบบห้าง คือการสร้างพื้นที่ในฝัน ดังนั้นด้วยการที่ความซับซ้อนและความสับสนเป็นองค์ประกอบที่เรามักคิดไม่ถึงของความฝัน เวลาที่เราเดินในห้าง เราจึงมัก ‘หลงทาง’ กันอยู่ในความฝันบ่อยๆ และหลายครั้งเราจะตื่นก็ตอนเสียเงินละมั้ง
การหลงทางในห้างเป็นอีกปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เป็นแค่การหลงในระดับหาทางออกไม่เจอในพื้นที่เท่านั้น Marc Fennell นักวิชาการด้านวัฒนธรรมสมัยใหม่บอกว่า การ ‘หลงทาง’ ทางกายภาพนั้น ส่งผลให้เกิดการหลงทางทางจิตวิทยา คือการออกแบบห้างให้ซับซ้อนและหลงง่ายๆนั้น กระตุ้นให้เรา ‘หลง’ หรือหลวมตัว จับจ่ายมากขึ้นกว่าที่เราต้องการด้วย