“ไอ้เหี้ย!”
ในภาษาอังกฤษ ไม่มีคำที่ตรงกับคำว่า ‘เหี้ย’ แบบเป๊ะๆ แบบที่สามารถเป็นคำร่มที่ครอบคลุมทุกมิติของความเหี้ยได้นัก เพราะในภาษาไทย – หรืออย่างน้อยก็ในภาษาไทยปัจจุบัน – เราใช้คำว่า ‘เหี้ย’ แทนคนหรือพฤติกรรมตั้งแต่เลวร้ายสุดๆ (‘มันคอร์รัปชั่น เหี้ยมาก’ ‘ไอ้เหี้ย มึงฆ่าญาติกู’) เลวร้ายกลางๆ (‘ทำไมขับรถแบบนี้วะ เฮี้ยเหี้ย’) เลวร้ายนิดหน่อย (‘มึงแม่งพูดจาเหี้ยจัง’) ไปจนถึงใช้เป็นคำชม (‘มึงนี่เหี้ยจริงๆ 555’ ‘เหี้ยยย ชอบ‘) คำว่าเหี้ยในภาษาไทยจึงขึ้นอยู่กับบริบทอยู่มาก (ปล. สาเหตุที่คำว่า ‘เหี้ย’ เป็นคำด่าตั้งแต่แรก สันนิษฐานว่าเพราะเหี้ยชอบมาลักเป็ดไก่ของชาวบ้านไปกิน ชาวบ้านจึงเชื่อมโยงคำว่าเหี้ยกับพฤติกรรมเหี้ยๆ และบางคนก็สันนิษฐานต่อมาว่า ‘ดอก’ ก็มาจากลายดอกบนตัวเหี้ยเหมือนกัน)
ในที่นี้จะพูดถึงความเหี้ยเฉพาะในความหมายที่ไม่ดีนะครับ ความหมายที่ดีไม่นับ
พอจำกัดให้เหลือเฉพาะ ‘เหี้ย’ ในความหมายที่ไม่ดีแล้ว คำว่า ‘เหี้ย’ ก็อาจจะตรงกับคำว่า jerk หรือ asshole ในภาษาอังกฤษ สองคำนี้แตกต่างกันอย่างไร? พอลองหาคำตอบก็พบว่าบางคนก็ใช้แบบสลับไปสลับมาได้ บางคนก็ให้ความหมายคล้ายกัน แต่คำว่า asshole จะมีความหมายรุนแรงกว่า และไม่ใช้ในบทสนทนาทั่วไปนอกจากจะโกรธจริงๆ และก็มีส่วนหนึ่งที่นิยามไว้น่าสนใจว่า asshole คือคนที่เป็น jerk อย่างตั้งใจ (deliberately)
มีการอธิบายสนุกๆ ว่า ถ้าเก้าอี้ที่คุณกำลังจะนั่งมีขาหนึ่งที่หักไป (และถ้าคุณนั่งลงไป คุณจะล้มคะมำ) jerk จะไม่พูดอะไร (ไม่เตือน) ในขณะที่ asshole จะเป็นคนที่เลื่อยขาเก้าอี้นั้นไว้เองนั่นแหละ นี่คือการพยายามอธิบายความแตกต่างของ asshole กับ jerk แต่ถ้าเป็นภาษาไทย, เราก็อาจใช้คำว่า ‘เหี้ย’ อธิบายได้กับพฤติกรรมทั้งสองระดับ (โดยอาจมีการเสตรสเสียงที่แตกต่างกันเฉยๆ เช่น “เหี้ย…” กับ “เหี้ย!”)
ถึงแม้ ‘ความเหี้ย’ จะเป็นเรื่องอัตวิสัยมากๆ พฤติกรรมเหี้ยสำหรับคนหนึ่ง อาจจะไม่เหี้ยสำหรับอีกคน แต่ปัจจุบันก็มีความพยายามในการศึกษาความเหี้ยในแง่มุมต่างๆ ซึ่งก็น่าสนุกทั้งสิ้น (โดยเฉพาะกับคนเหี้ยๆ อย่างผม 555) มาดูกันว่า ‘ความเหี้ย’ จะมีแง่มุมอะไรที่น่าสนใจบ้าง
ความเหี้ยคืออะไร
ลองคิดถึงเวลาที่เรารีบ แล้วเราอาจจะขับรถด้วยมารยาทที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือเราต้องปั่นงานให้เสร็จ จึงบอกปัดคนที่มารบกวนด้วยการพูดจาไม่ดีสิครับ – ในสายตาของคนอื่น นั่นอาจจะเป็น ‘การกระทำที่เหี้ย’ – ในขณะที่เราก็คิด (ไปเอง) ว่าตัวมีเหตุผลแสนสำคัญ
Aaron James ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เขียนไว้ในหนังสือ Assholes: a theory (ทฤษฎีของไอ้เหี้ย) ว่าคนเหี้ยนั้นจะมีลักษณะเฉพาะสามประการ นั่นคือ
- คนเหี้ยจะอนุญาตให้ตัวเขาเองมีผลประโยชน์เหนือคนอื่นๆ และมักจะฉวยโอกาสเหล่านี้อย่างเป็นระบบ
- คนเหี้ยจะฉวยโอกาสด้วยความรู้สึกที่ว่าตัวเองมีสิทธิพิเศษและสมควรที่จะได้รับโอกาสนั้น (entitlement)
- คนเหี้ยจะมีภูมิคุ้มกันคำวิจารณ์ของคนอื่นด้วยความที่รู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิอันชอบธรรมนี้เอง
เขายังอธิบายเพิ่มด้วยว่าคนเหี้ยนั้นต่างจากคนโรคจิต (psychopath) โดยทั่วไปเพราะคนเหี้ยนั้นจะมีเหตุผลทางจริยธรรมอย่างเป็นระบบ แต่เป็นระบบจริยธรรมที่เข้าข้างตัวเอง (คือยังเข้าใจว่าคนอื่นมีสิทธิต่างๆ แต่คิดว่าตัวเองมีสิทธิเหนือกว่าชาวบ้าน)
คนเหี้ยได้ดีจริงไหม?
ดูเป็นคำถามที่เต็มไปด้วยความคับข้องใจ และความงอนที่โลกไม่เที่ยงธรรมเอาเสียเลย มีการศึกษาเรื่อง ‘คนเหี้ย’ กับสถานะทางสังคมในสองด้าน คือ ด้านความมั่นใจที่มากเกินไป (overconfident) กับด้านความหยาบคาย (rudeness) [ความเหี้ยนั้นไม่ได้เกิดจากความมั่นใจมากเกินไปหรือความหยาบคายเพียงเท่านั้น แต่สองคุณสมบัตินี้สัมพันธ์กับความเหี้ย]
ในการศึกษาถึง ‘ความมั่นใจที่มากเกินไป’ นักวิจัยให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบทดสอบทางภูมิศาสตร์ ทั้งแบบเดี่ยวๆ และแบบคู่ โดยให้ผู้ร่วมทดลองบอกชื่อเมืองในสหรัฐบนแผนที่ให้ถูกต้อง แต่นอกจากจะต้องตอบคำถามภูมิศาสตร์แล้ว ผู้ร่วมทดลองยังต้องลอง ‘ให้คะแนนความสามารถ’ ของตัวเอง และความสามารถของคู่ที่ร่วมทำแบบทดสอบด้วย (แต่เป็นการให้คะแนนอย่างลับๆ กล่าวคือ คู่ร่วมทดลองไม่รู้ว่าอีกคนให้คะแนนตัวเองเท่าไร) – ผลก็คือ คนส่วนใหญ่มักจะประเมินความสามารถของตัวเองเกินจริง (ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ) แต่ผลที่น่าประหลาดใจมากกว่านั้นคือ หากคนไหนให้คะแนนความสามารถตัวเองสูงๆ เขาก็มีแนวโน้มที่จะได้คะแนนด้าน “ความน่าเชื่อถือ ความนิยม และความสามารถในการตัดสินใจ” จากคู่ร่วมทดสอบด้วย
พูดอีกอย่างคือ ผลการทดลองนี้กำลังบอกว่า ยิ่งมั่นใจในตัวเองมากๆ เกินไปเท่าไร ก็จะยิ่งได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากชาวบ้านมากเท่านั้น ไม่ว่าจะมาจากเหตุผลด้วยท่าที หรือการแสดงออกต่างๆ ก็ตาม (เหรอ!)
ยังเคยมีการวิจัยเชิงสถิติเรื่อง ‘ความหลงตัวเองกับความสำเร็จ’ โดยม.เพนน์ สเตต ที่ศึกษาบทสัมภาษณ์ของ CEO ของแต่ละบริษัท ว่าให้สัมภาษณ์โดยมีสรรพนามแทนตัวเองว่า ‘ผม’ หรือ ‘เรา’ แบบไหนมากกว่ากัน (เพื่อวัดความหลงตัวเอง เช่น ถ้าใช้ ‘ผม’ แทนตัวบริษัท ก็อาจมีความหลงตัวเองมากกว่า นักวิจัยก็ยอมรับว่า จริงๆ แล้วเป็นการวัดที่ยากมาก เขาจึงต้องใช้วิธีนี้แทนที่จะให้กรอกแบบสอบถาม) ผลปรากฏว่าเมื่อพล็อตกราฟกับ ‘ระดับความสำเร็จของบริษัท’ แล้วได้กราฟออกมาเป็นรูปตัว U
นั่นคือ พวก CEO ที่หลงตัวเอง ถ้าไม่ประสบความสำเร็จมากๆ ไปเลย ก็ล้มเหลวมากๆ ไปเลย เมื่อเทียบกับ CEO ที่ไม่หลงตัวเอง นักวิจัยพยายามอธิบายว่า ‘เพราะ CEO ที่หลงตัวเอง มีแนวโน้มที่จะเสี่ยงมากกว่า’
อีกงานศึกษาหนึ่ง ชื่อ How Norm Violators Gain Power in the Eyes of Others (คนที่แหกขนบทรงพลังได้อย่างไรในสายตาของผู้อื่น) ให้ผลออกมาว่า ยิ่งคนแสดงออกหยาบคายเท่าไร คนรอบๆ ยิ่งรู้สึกว่าเขาหรือเธอมีอำนาจ (powerful) มากเท่านั้น (จึงไม่ต้อง ‘เคารพกฎ’ ตามที่คนอื่นๆ เขาทำ) – นักวิจัยทีมนี้ทดลองโดยการให้ผู้ร่วมทดลองอ่านบทความเกี่ยวกับคนที่ไม่ทำตามกฎ เช่น ลูกค้าที่จู่ๆ เดินเข้าออฟฟิศมาแล้วกินกาแฟที่มีไว้ ‘สำหรับพนักงานเท่านั้น’ หรืออ่านบทความเรื่องพนักงานบัญชีที่แหกกฎอย่างโจ่งแจ้ง หลังจากอ่านแล้ว พวกเขาก็ให้คะแนน ‘ความมีอำนาจ’ และ ‘ความสามารถในการควบคุม’ (Control) ของคนเหล่านี้ ผลออกมาบอกว่า ผู้ร่วมทดลองให้คะแนนคนที่แหกกฎมากกว่า รวมไปถึงอีกการทดลองหนึ่งที่ให้ผู้ร่วมทดลองดูวิดีโอผู้ชายที่เอาขาขึ้นเก้าอี้ในร้านคาเฟ่ริมทาง และพูดจากับพนักงานเสิร์ฟแบบหยาบคาย ซึ่งผู้ร่วมทดลองก็บอกว่าผู้ชายคนนี้ “ดูมีอำนาจในการตัดสินใจ” และ “มีความสามารถในการทำให้คนอื่นรับฟัง” มากกว่าวิดีโอผู้ชายคนเดียวกัน แต่แสดงท่าทีเรียบร้อย
ถึงแม้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะดู ‘หยาบคาย’ หรือ ‘เหี้ย’ อย่างไรก็ตาม แต่ผู้ร่วมทดลองก็ยังรู้สึกว่า ‘คนเหี้ย’ เหล่านี้ทรงอำนาจอยู่ดี (คล้ายกับว่ามองความเหี้ยกับอำนาจแยกออกจากกัน)
Jeffrey Pfeffer ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจที่สแตนฟอร์ด ให้สัมภาษณ์กับ The Atlantic ว่า “พวกเราอยากจะเชื่อว่าคนที่ถ่อมตัว จริงใจ และมีคุณสมบัติที่ดีอื่นๆ นั้นจะเป็นที่ต้องการ แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า คุณสมบัติร้ายๆ ทั้งหลายที่แหละ ที่กลายเป็นตัวที่ใช้ทำนายได้ดีกว่า ว่าเขาคนนั้นจะมีเงินเดือนสูงๆ ไหม หรือจะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าไหม” เขายังเสริมด้วยว่า “นักเรียนของผมเนี่ยมักจะมีปัญหาเพราะพวกเขาไนซ์เกินไป”
อย่างไรก็ตาม ‘ความสำเร็จ’ ที่ได้มานั้นอาจจะไม่ยั่งยืนนัก เช่นแบรนด์หรูบางแบรนด์ที่พนักงานปฏิบัติแย่ๆ กับลูกค้า (ที่ดูไม่ ‘สมควร’ จะใช้แบรนด์นั้น เช่น ใส่รองเท้าแตะเข้าร้านแล้วพนักงานมองเหยียด) อาจได้ลูกค้าที่ซื้อของเยอะๆ เพื่อ ‘ลบคำครหา’ ก็จริง (หลายคนคงเคย ‘ซื้อประชดพนักงาน’ ซึ่งนี่เป็นปรากฏการณ์ที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียศึกษาไว้ในปี 2014) แต่ผลลัพธ์ในระยะยาวก็คือ ลูกค้าอาจจะไม่เดินเข้าร้านนั้นอีกในครั้งต่อมา (ซื้อประชดครั้งเดียวพอ)
เช่นเดียวกับการเป็น ‘คนเหี้ย’ ที่อาจจะทำให้ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ แต่ ‘คนเหี้ย’ ก็มักจะเหยียบเท้าใครต่อใครตามรายทางเต็มไปหมด และถ้าเขาล้มเมื่อไหร่ ก็มีคนพร้อมที่จะ ‘ซ้ำ’ เสมอ
สุดท้ายนี้ Jerry Useem เสนอว่า การ ‘เหี้ย’ นิดๆ หน่อยๆ อาจมีประโยชน์ในสามสถานการณ์ คือ: 1) ในการงาน หากเป็นการพบเจอกับใครสักคนเพียงครั้งเดียวและผลกระทบด้านชื่อเสียงที่ตามมานั้นไม่มากมาย 2) ในสถานการณ์ที่กลุ่มรวมตัวกันแล้ว แต่ยังไม่มีการ ‘กำหนดลำดับขั้น’ ในกลุ่มอย่างชัดเจน (เช่น เปิดเทอมวันแรก) และ 3) เมื่อสถานการณ์นั้นๆ จะส่งผลถึงความอยู่รอดของกลุ่ม และต้องการการตัดสินใจที่รวดเร็ว ความเหี้ยที่โพล่งขึ้นมาโดยไม่สนใจคนอื่น (แต่ทำเพื่อประโยชน์โดยรวม) ก็อาจช่วยรักษาให้กลุ่มอยู่รอดได้
แถม: คุณเป็นคนเหี้ยหรือเปล่า?
Eric Schwitzhebel นักปรัชญาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่ศึกษาเรื่องความเหี้ยมาอย่างเข้มข้น ออกแบบสอบถามห้าข้อที่อาจช่วยให้คุณตรวจสอบตัวเองได้ว่าจริงๆ แล้วคุณน่ะ เหี้ยหรือเปล่า : ลองถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้
คุณกำลังต่อคิวซื้อยาอยู่ ขณะต่อคิวคุณคิดอะไร
- เราลืมซื้ออะไรหรือเปล่านะ
- เราต้องซื้อไอบูโปรเฟน หรืออะเซตามินาเฟนนะ ลืมเรื่อยเลย
- อ๊ะ ขอโทษครับ ไม่ได้ตั้งใจชน
- คนพวกนี้แม่งโง่ชิบหาย ทำไมกูต้องมาเสียเวลากับคนพวกนี้ด้วยวะ
ในที่ประชุม ปีเตอร์บอกว่าข้อเสนอของคุณคงใช้ไม่ได้ คุณคิดว่า
- ก็มีประเด็นนะ แต่มั่นใจว่าเราแก้ปัญหาที่บอกมาได้แน่นอน
- ลอเร็ตต้ามองปีเตอร์อีกและ เธอชอบเขาแน่ๆ เลย แย่ชะมัด แต่ยังไงเราก็คิดว่าข้อเสนอของเราดีกว่าปีเตอร์ชัวร์
- เออ ปีเตอร์พูดถูก เราน่าจะคิดได้ก่อน
- ปีเตอร์แม่งเหี้ย แม่งพูดแบบนี้เพราะอยากเลื่อนขั้นอะดิ แล้วชาวบ้านก็ฟังมันซะด้วยนะ
คุณเห็นชายอายุสามสิบใส่แว่นตาสไตล์สตรีมพังก์ ทำหัวสีชมพู สวมสนีกเกอร์เก่าๆ ทาลิปสติกสีแดงเปรอะๆ คุณคิดว่า
- คนเราก็แตกต่างกันไปเนอะ
- มีร้านโดนัทเปิดใหม่ตรงหัวมุมอ๊ะเปล่าหว่า
- โห กล้าจัง เราน่าจะกล้าแบบนั้นบ้าง เขาต้องเป็นคนสนุกแน่ๆ เลย
- ไปหางานทำไป๊ กูยังทาลิปสติกได้สวยกว่ามึงอีก
ที่ทางม้าลาย มีคนกำลังข้ามถนนข้างหน้ารถของคุณ คุณคิดว่า
- สถานีวิทยุนี้เปิดเพลงเพราะจัง
- เจ้านายต้องฆ่ากูแน่ๆ ถ้าไปสายอีก โอ๊ย ทำไมต้องตื่นสายด้วยวะ
- เธอ (คนที่เดินข้ามถนน) ดูผ่านอะไรมาเยอะนะ
- ไอ้งั่งนี่จะเดินเร็วๆ กว่านี้ไม่ได้หรือไงวะ ยืดยาดชิบหาย
พนักงานเสิร์ฟลืมว่าคุณสั่งแฮมเบอร์เกอร์ชิลลี (สตูเนื้อรสเผ็ด) แล้วเสิร์ฟแฮมเบอร์เกอร์ที่ไม่ใส่ซอสเผ็ดมา คุณคิดว่า
- ช่างมัน คราวหน้าค่อยกิน แบบนี้ก็อ้วนน้อยกว่าด้วย
- โห่ ไม่ได้ใส่ซอสมา เดี๋ยวบอกเขาให้เอาไปทำใหม่ดีกว่า
- ร้านนี้คนแน่นจัง พนักงานเสิร์ฟก็ดูยุ้งยุ่ง เดี๋ยวเธอเดินมาแล้วค่อยบอกดีกว่าว่าทำผิด
- แม่งเป็นแบบนี้ไงเลยเป็นได้แค่พนักงานเสิร์ฟ ถ้ากูเป็นเจ้าของร้านนี้ละก็นะแม่งไล่ออกเดี๋ยวนี้เลย
คงไม่ต้องบอกนะครับว่า ข้อไหนคือความคิดของคนเหี้ย แต่ Eric เขาก็กำหนดมาตรวัดมาง่ายๆ ดังนี้ ว่าถ้าคุณตอบข้อ 4)
0 ข้อ – Eric ไม่เชื่อหรอก คุณโกหก จะไม่ตอบเลยสักข้อได้ยังไง
1-2 ข้อ – คุณเป็นปกติ เหมือนๆ กับมนุษย์ทั่วไป
3-4 ข้อ – โหย คุณคิดอย่างนี้ตลอดเวลาเหรอเนี่ย คุณใจร้ายกับตัวเองมากไปเปล่า
5 ข้อ – ถ้าไม่ใช่ว่าคุณใจร้ายกับตัวเองสุดๆ ละก็ คุณก็เป็นตัวเหี้ยสุดๆ เลยแหละ เชิญรับรางวัลความเหี้ยครับ!
อ้างอิง / อ่านเพิ่มเติม
Why are we overconfident
https://blogs.wsj.com/ideas-market/2012/08/16/why-are-we-overconfident/
Breaking the Rules to Rise to Power: How Norm Violators Gain Power in the Eyes of Others
http://citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/download?doi=10.1.1.844.1734&rep=rep1&type=pdf
Assholes: A Theory by Aaron James
https://www.goodreads.com/book/show/13517138-assholes
It’s All about Me: Narcissistic Chief Executive Officers and Their Effects on Company Strategy and Performance
https://www.jstor.org/stable/20109929?seq=1#page_scan_tab_contents
Snobby staff can boost luxury retail sales
http://news.ubc.ca/2014/04/29/snobby-staff-can-boost-luxury-retail-sales/