แม้วิกฤติโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อผู้คนทุกชนชั้น แต่ระดับความรุนแรงที่คนต่างฐานะต้องเจอนั้นย่อมไม่เท่ากัน
หลายวันมานี้เราได้ยินคำว่า ‘Social distancing’ ที่หมายถึงนโยบายที่ให้ผู้คนใช้ชีวิตโดยรักษาระยะห่างระหว่างกันมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งการเก็บตัวอยู่ที่บ้าน และไม่ออกเดินทางไปไหนถ้าไม่จำเป็น เพื่อลดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในบ้านเรา
แต่ถึงอย่างนั้น เราคงแทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Social distancing และการกักตัวเองอยู่แต่ภายในบ้านนั้น มันมีราคาที่ต้องจ่าย และไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถแบกรับกับสถานการณ์ที่ได้อย่างเทียมกันแน่ๆ ยิ่งกับกรณีผู้ที่มีฐานะยากจน และจำเป็นต้องหาเช้ากินค่ำแล้ว เพียงแค่เอาตัวรอดในหนึ่งวันก็อาจจะเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องดิ้นรนอย่างหนัก การออกไปหารายได้จากนอกบ้านเป็นรายวันคือหนทางในการใช้ชีวิตอยู่ต่อไป
อาชีพหาเช้ากินค่ำในวิกฤติโควิด-19
“อย่าเพิ่งพูดเรื่องกักตุนสินค้าเลย แค่เอาตัวรอดให้พรุ่งนี้มีเงินพอกินข้าวก็ดีใจแล้ว” พี่ศุภชัย อาชีพขับรถแท็กซี่เล่าให้ผมฟังในวันที่กรุงเทพฯ เริ่มยกระดับมาตรการควบคุมไวรัส และส่งผลให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยออกไปซื้อสินค้า
“พี่ไม่กลัวโรคระบาดเหรอครับ” ผมถาม
“กลัวสิ แต่กลัวลูกอดตายด้วยเหมือนกัน” พี่ศุภชัยตอบ เขาอธิบายให้ฟังว่า ในแต่ละเดือนเขามีรายจ่ายไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท แต่เดิมนั้นรายได้จากการขับแท็กซี่ในแต่ละวัน เมื่อถูกแบ่งมาใช้สำหรับค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงดูลูกซึ่งอายุยังน้อยที่บ้านแล้ว ก็แทบไม่เหลือให้ใช้อะไรเพิ่มเติม
สถานการณ์ของพี่ศุภชัยยังหนักขึ้นกว่าเดิมตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา “3 เดือนมานี้ ผู้โดยสารลดลงไปเยอะมาก ส่วนเดือนนี้รายได้หายไปเกินครึ่ง” เขาเล่าว่า เมื่อวานนี้เขาขับรถแท็กซี่ทั้งวันและได้เงินกลับมาทั้งหมดรวม 400 กว่าบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นออกไปแล้ว เหลือเพียง 200 กว่าบาทเท่านั้น
เมื่อรถแท็กซี่เคลื่อนตัวผ่านย่านรัชดา พี่ศุภชัยชี้นิ้วไปตรงทางเข้าตลาดนัดที่อยู่ใกล้กับห้างสรรพสินค้า เขาเล่าว่า ถ้าเป็นเมื่อก่อนถ้าขับผ่านตลาดนัดรถไฟ ยังไงก็น่าจะได้ลูกค้าคนจีนสักเที่ยว แต่ตอนนี้บรรยากาศกลับเงียบเหงามาก และไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวเลย เพราะคนไทยเองก็หายไปเยอะ
“ตอนนี้ที่อู่ (แท็กซี่) มีแต่คนจอดรถทิ้งไว้เยอะมาก คนอื่นเขากลับบ้านกันไปหมดแล้ว”
“ถ้าต้องกักตัวอยู่ในบ้าน พี่จะทำยังไง” ผมชวนคุยต่อ
“ไม่ไหว” คือคำตอบสั้นๆ ของพี่ศุภชัย
เรื่องราวและเหตุผลของพี่ศุภชัย คล้ายคลึงกับความคิดเห็นของคนขับรถสามล้อที่ผมเห็นผ่านรายงานข่าวจากช่อง ThaiPBS ในรายงานชิ้นนั้น นักข่าวได้ไปสอบถามความเห็นของคนขับรถสามล้อที่ย่านพัฒน์พงศ์ ที่ตัดสินใจว่าจะเดินทางกลับต่างจังหวัดในสัปดาห์หน้า เพราะสู้สภาวะที่เป็นอยู่ไม่ไหวแล้ว
นักข่าวถามว่า คนขับรถสามล้อจะลองสู้กันอีกสักรอบหนึ่งไหม—ในความหมายที่ผมเข้าใจคือ สู้ต่อด้วยการขับรถสามล้อต่อและไม่เดินทางกลับบ้านเกิดในต่างจังหวัด
“สู้กันมาเป็นเดือนแล้วครับ ก็เป็นแบบเดิมเป็นเดือนแล้วครับ ไม่ไหวครับ” คนขับรถสามล้อ ระบุ “ถ้าอยู่กรุงเทพฯ ไหนจะค่าห้อง ค่ากิน ค่าเช่ารถ มันเยอะแยะหลายอย่าง” เมื่อเป็นเช่นนั้นเพื่อนร่วมอาชีพของเขาหลายคน จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาของตัวเองแล้ว เพื่อหารายได้ใหม่ที่นั่น
เข้าใจภาระที่แรงงานนอกระบบต้องแบกรับ
สุจินต์ รุ่งสว่าง หรือที่รู้จักกันว่า ‘ป้าสุจินต์’ คนทำงานกับเรื่องสวัสดิการของ ‘แรงงานนอกระบบ’ มาโดยตลอด ตอนนี้เธอทำงานอยู่ในฐานะประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบในกรุงเทพมหานคร
ผมโทรหาคุณป้าสุจินต์ เพื่อให้ช่วยอธิบายสถานการณ์ที่แรงงานนอกระบบต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้
“เมื่อเขาไม่มีงาน อยู่ที่กรุงเทพต่อก็เสียค่าเช่าบ้าน แล้วรายจ่ายมันต้องเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้องเลือกที่จะเดินทางกลับบ้าน เพราะว่าอย่างน้อยที่บ้านก็ยังมีข้าว มีผัก มีอะไรที่เขาประทังชีวิตได้” ป้าสุจินต์ เริ่มต้นอธิบาย
“ป้ามองว่า การกักตัวอยู่บ้าน มันคงทำไม่ได้ทุกคน คนที่พอมีเงิน มีทุนอยู่บ้าง เขาก็ยังสามารถอยู่บ้านได้ 14 วัน แต่สำหรับคนที่ไม่มีทุนอยู่เลย เพราะต้องหาวันกินวัน เขาจะอยู่ในบ้านเฉยๆ ทั้ง 14 วันมันคงยาก”
ป้าสุจินต์บอกว่า แรงงานนอกระบบหลายคนเข้าใจในสถานการณ์ของโรคระบาด แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องหาหนทางเพื่อเอาชีวิตรอดในแต่ละวันด้วย
“คนจนมักจะถูกมองว่าเป็นคนผิดเสมอ เพราะเขาเข้าไม่ถึงกฎหมายที่จะคุ้มครอง เนื่องจากพวกเขาขาดความรู้ เข้าไม่ถึงระบบการคุ้มครอง หรือถ้าเข้าถึง เราก็ไม่มีกำลังที่จะจ่าย ในระยะยาว พวกเราควรจะรื้อระบบกันใหม่ ให้มันควรจะให้คนยากคนจน เข้าถึงได้ง่ายขึ้น”
ผมถามต่อว่า แล้วภาครัฐควรจะมีมาตรการอย่างไร เพื่อที่จะช่วยเหลือแรงงานนอกระบบได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ป้าสุจินต์เสนอว่า รัฐควรให้ความสำคัญกับคนที่ประกอบอาชีพแบบวันต่อวัน เช่น แท็กซี่ คนวินมอเตอร์ไซต์ หรืออาชีพต่างๆ ที่เป็นรายวัน โดยเข้าไปช่วยในเรื่องการชำระหนี้
“รัฐควรมีนโยบายสั่งพักชำระหนี้ เพราะนโยบายที่ออกมาตอนนี้ มันเน้นเรื่องลดดอกเบี้ย แต่ปัญหาคือ ตอนนี้แรงงานหลายคนไม่มีรายได้พอส่งต้นอยู่แล้ว มันควรเน้นความสำคัญเรื่องการพักหนี้ไปก่อนช่วงนี้ เพื่อช่วยกันประคองให้คนผ่านสถานการณ์ไปได้” คุณป้าสุจินต์ ระบุ
ความเห็นจากคุณป้าสุจินต์ สอดคล้องกับประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค นุชนารถ แท่นทอง ที่ให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าวชายขอบ ถึงสถานการณ์ของแรงงานและคนยากจนที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ว่า
“คนอื่นๆ เขาไปซื้อข้าวปลาอาหารกักตุนกัน แต่พวกเราไม่มีอะไรจะตุนเพราะไม่มีเงินซื้อ แค่หากินวันต่อวันก็ลำบากแล้ว ไหนจะต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยและหนี้สินนอกระบบร้อยละ 20 อีก แค่ไม่มีรายได้วันเดียวก็ส่งผลกระทบต่อเนื่อง เจ้าหนี้ก็ตามมาทวงแล้ว” ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค บอกกับ สำนักข่าวชายขอบ
ส่วนทางด้านวิชาการนั้น มีความเห็นที่น่าสนใจจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อย่าง อ.เดชรัต สุขกำเนิด ที่ระบุถึงข้อเสนอเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เอาไว้ว่า “ให้รัฐบาลช่วยเยียวยาลูกจ้างที่ยังไม่อยู่ในระบบ โดยผ่านกองทุนประกันสังคมนี่แหละ โดยให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกตามมาตรา 40 และให้รัฐบาลชดเชยเป็นพิเศษผ่านกองทุนประกันสังคม (ใช้งบประมาณของรัฐบาล) และในระยะต่อไป แรงงานเหล่านี้ก็จะจ่ายเงินสมทบตามกลไกปกติด้วย”
ความเหลื่อมล้ำทำให้คนแบกรับปัญหาได้ไม่เท่ากัน
เมื่อวานนี้ (22 มีนาคม พ.ศ. 2563) เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สุทธิพล ทวีชัยการ ได้บอกว่า ได้เสนอแนวคิดเรื่องแผนการจัดทำประกันภัยโควิด-19 สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนกว่า 14.6 ล้านคน ให้กระทรวงการคลังพิจารณาเรียบร้อยแล้ว
สาระสำคัญของแผนการนี้ คือรัฐบาลจะรับผิดชอบเบี้ยประกันภัยให้ทั้งหมดโดยใช้งบประมาณกว่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ต้องจ่ายเลย
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้ทำงานด้านสวัสดิการแรงงานบอกคือ สิ่งสำคัญมากๆ ในเวลานี้ คือคือมาตรการที่เข้าไปถึงภาคแรงงานโดยตรง ในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องขาดแคลนรายได้จากการที่ต้องหยุดงานเป็นเวลานาน และมาตรการที่ต้องจับตากันอีกเรื่องคือ ความช่วยเหลือจากรัฐในกรณีของผู้ว่างงานนอกระบบ
ที่ผ่านมา มีงานวิจัยและผลการศึกษาหลายชิ้นที่พบว่า ในช่วงเวลาที่ไวรัสกำลังแพร่ระบาดนั้น กลุ่มคนที่ยากจนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักมากกว่าคนในฐานะอื่นๆ
หรือพูดอีกทางหนึ่งได้ว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนยากจน ต้องดิ้นรนในช่วงเวลาที่ไวรัสระบาดอย่างหนัก ทั้งจากปัญหาด้านการเข้าถึงระบบสาธารณสุข และการต้องหาหนทางดิ้นรน เพื่อประทังชีวิตอยู่ต่อไปในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ เราคงไม่สามารถปฏิเสธการมองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่นเดียวกับความยากจนในสังคมไทยไปได้ หรือการโยนภาระทั้งหมดไปให้เขาแบกรับ ตลอดจนโทษด้วยถ้อยคำแรงๆ ว่าพวกเขาขาดจิตสำนึกขนาดนั้น
เพราะสำหรับบางคนนั้น การอยู่รอดในวันปกติก็ยากแล้ว
ยังไม่ต้องพูดถึงการเอาตัวเองให้รอดในภาวะโรคระบาด