เราที่ทำงานไปซักอายุ 30 กลางๆ คนรุ่นปัจจุบันหลายคนก็เริ่มรู้สึกว่า เราเองถึงมีครอบครัวก็อาจจะไม่มีลูก ภาพของบั้นปลายที่เราเริ่มจะผูกพันกับการมีลูกหลานมาดูแลก็เริ่มเลือนๆ ไป ที่ทำได้ตอนนี้ก็คงทำงานเก็บงานเพื่อเกษียณอย่างไม่น่าเกลียดนัก
แต่เกษียณแล้วจะไปอยู่ไหน แน่นอนว่า ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ที่พูดๆ กันสุดท้ายไม่ใช่คำเท่ๆ แต่เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราอย่างที่สุด และเป็นสิ่งที่กำลังเกิดและเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ หลายที่เริ่มวางแผนหรือกระทั่งเตรียมรับมือไว้บ้างแล้ว หนึ่งในนั้นที่เริ่มเห็นคือการสร้างโครงการบ้าน – Housing ที่ออกแบบสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
เบื้องต้นประเด็นเรื่องบ้าน เป็นเรื่องที่รัฐมักจะเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะการมีบ้านสัมพันธ์กับพื้นฐานของเมือง สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของผู้คน รัฐอาจจะอุดหนุนให้คนมีบ้านเช่นออกมาตรการส่งเสริมให้ซื้อบ้านได้ เช่าบ้านที่เหมาะสมได้ หรือกระทั่งรัฐเองอาจจะลงทุนสร้างบ้านในหลายระดับเป็นโครงการบ้านของรัฐ (Social Housing) ในแง่นี้ถ้าเราพูดถึงบ้านของรัฐ อาจจะเน้นไปที่การสงเคราะห์ การมีโครงการบ้านผู้มีรายได้น้อยเป็นสำคัญ แต่การลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยจากรัฐนั้น หลายที่อยู่ในระดับ affordable housing คือบริการพื้นที่อยู่อาศัยที่ผู้คนสามารถจ่ายได้ หลายที่ออกแบบอย่างสวยงามและมีราคาถูก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังจากที่หลายประเทศและหลายเมืองใหญ่รับรู้ว่าสังคมผู้สูงอายุกำลังก้าวเข้ามาอย่างรุนแรง และบางที่ถือว่ามาเร็วเกินคาด วิถีชีวิตของผู้คนเริ่มเปลี่ยนจากครอบครัวใหญ่กลายเป็นครอบครัวขนาดเล็ก บ้างก็อยู่กันตามลำพัง เราเองก็จะเริ่มเห็นโปรเจ็กต์โครงการบ้านของรัฐที่เน้นออกแบบด้วยแนวคิดและสาธารณูปโภคพิเศษที่คิดสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เรียกได้ว่าบางที่คือทำงานวันนี้ พอแก่ไปก็มีบ้านอยู่ ในพื้นที่คอมเพล็กที่รัฐทำใว้ให้นั้นเราเองก็จะมีห้องของตัวเองเหมือนกับซื้อคอนโดมิเนียม แต่สาธารณูปโภคส่วนกลางทั้งหมดจะเน้นบริการด้านสุขภาพ บางที่เช่นสิงคโปร์มีศูนย์ฟอกไต ส่วนใหญ่ก็จะเน้นสร้างชุมชนสำหรับผู้สูงอายุให้มีกิจกรรมทำ ทั้งยังเน้นการอยู่อย่างมีสุขภาพดีด้วยการอยู่กับธรรมชาติที่สวยงาม
บ้านและความเป็นอยู่ที่ดี ความหมายและความจำเป็นใหม่ของผู้สูงอายุ
กระแสเรื่องการอยู่ตามลำพังเมื่อตอนแก่กำลังกลายเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมร่วมสมัย และแน่นอนว่าอาจจะเป็นสิ่งที่หลายคนเริ่มมองตัวเองว่าอาจจะต้องใช้ชีวิตคนเดียวไปจนเมื่อเกษียณ ปรากฏการณ์ที่เรียกรวมๆ ว่าสังคมผู้สูงอายุในด้านหนึ่งคือความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตที่ต้องการพื้นที่กายภาพและสาธารณูปโภคแบบใหม่ๆ
‘บ้าน’ เป็นพื้นที่ที่ฟังดูเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ทว่าบ้านและการส่งเสริมให้มีบ้านถือเป็นภารกิจหนึ่งของรัฐ ถ้าเรามีบ้านที่ดี เราก็จะรักและผูกพันกับเมืองนั้นๆ นำไปสู่การเป็นประชากรที่มีคุณภาพที่เติบโตอย่างแข็งแรงต่อไป แต่โจทย์สำคัญหลังจากนี้คือถ้าเราอยู่กันอย่างเดียวดายมากขึ้น ต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ‘บ้าน’ ที่เราหวังจะอยู่กันบั้นปลายควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
ทั้งหมดนี้คือโจทย์ที่ดูเหมือนว่าทั้งรัฐ นักออกแบบ ไปจนถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เริ่มตอบรับ โจทย์สำคัญคือการสร้างที่พักอาศัยที่ส่งเสริมมิติทางสุขภาพทั้งกายและใจ ทั้งนี้บ้านของผู้สูงอายุยังต้องคำนึงเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี การออกแบบที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยดูแลตัวเองได้ มอบกิจกรรมและความเคารพตัวเองหลังเกษียณ มีสาธารณูปโภคที่เฉพาะเจาะจงโดยเฉพาะบริการด้านการแพทย์ พื้นที่รับประทานอาหาร พื้นที่ส่วนกลางเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่รอบด้าน
คำว่าบ้านหลังเกษียณหรือบ้านผู้สูงอายุจึงไม่ได้หมายถึงบ้านพักคนชราน่าเศร้า แต่คือบ้านที่เราพอจ่ายได้ มีสภาพชีวิตที่เกษียณไปแล้วยังใช้ชีวิตอย่างแข็งแรงได้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะกับอายุและสภาพร่างกาย โดยเฉพาะการคำนึงถึงการอยู่ลำพังโดยที่ไม่ถือเป็นเรื่องแปลก ไม่ได้นับว่าถูกทอดทิ้ง
อยู่กับธรรมชาติ บ้านที่มีศูนย์การแพทย์ด้านล่าง ตัวอย่างจากสิงคโปร์
การออกแบบและสร้างตัวบ้านผู้สูงอายุก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ขนาดนั้น แต่การออกแบบโดยถือว่าการอยู่ลำพังตอนแก่อาจจะกลายเป็นกระแสหลักถือว่าเป็นสิ่งที่ภาครัฐของหลายประเทศเริ่มขยับตัวเพื่อรับมือและวางแนวทางสาธารณูปโภคไว้ให้กับพลเมืองอย่างจริงจัง ภาพรวมของบ้านผู้สูงอายุหรือบ้านหลังเกษียณคือไม่เศร้า ไม่ทึบทึมและเป็นตัวแทนของการถูกทิ้งจากสังคม แต่มักเป็นพื้นที่ที่ได้รับการออกแบบอย่างดี เป็นบ้านหรือห้องพักขนาดกะทัดรัดที่สว่างสดใส มีส่วนกลางสวยงาม ส่วนใหญ่มักเน้นไปที่สวน การมีพื้นที่ปลูกผักผลไม้ ไปที่ส่วนกลางสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจและทำกิจกรรมร่วมกัน
ระยะหลัง เราจะเริ่มเห็นโครงการบ้านที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐที่ออกไว้บริการให้กับประชาชน หนึ่งในนั้นแน่นอนว่าคือสิงคโปร์ ประเทศขนาดเล็กที่เน้นการลงทุนโดยรัฐและเน้นความเป็นอยู่ของผู้คน สิงคโปร์เองมีโครงการบ้านสำหรับผู้สูงอายุมาแล้วสองสามโครงการ แต่ล่าสุดก็เพิ่งเปิดตัวและเปิดจองโครงการชื่อ vertical kampung ในย่าน Yew Tee คือตัวอาคารขนาด 68 หลังคาเรือนนี้จะเน้นออกแบบเป็นบ้านสำหรับผู้สูงอายุ หน้าตาอาคารซ้อนกันขึ้นเหมือนภูเขา มีส่วนกลางเป็นสวน แซมด้วยต้นไม้ และที่สำคัญคือด้านล่างจะมีสาธารณูปโภคเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ
นึกภาพว่าถ้าเราแก่ไป เราเองก็มีความต้องการเฉพาะมากขึ้น เบื้องต้นที่สุดคือการออกแบบพื้นที่พักอาศัย ลักษณะห้องก็จะมีการออกแบบเฉพาะเช่นระบบป้องกันการลื่น ลักษณะทางลาด หรือการที่เราไม่ต้องการเดินทางไปไหนไกลๆ บ้านและโครงการที่เราอยู่นี่แหละจะเป็นสิ่งที่เราใช้ชีวิตเป็นหลัก ตัวโครงการ vertical kampung เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่พักอาศัยทางตะวันตกของสิงคโปร์ ตัวห้องจะมีขนาดประมาณ 36 และ 46 ตารางเมตร ผังห้องเป็นแบบยืดหยุ่นเลือกได้ตั้งแต่จอง คือจองก่อนสร้างทีหลัง
จุดเด่นของตัวอาคารคือการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางที่เน้นพื้นที่สีเขียว ตัวอาคารจะเต็มไปด้วยลานสนาม สวน แกนหลักหนึ่งคือบันไดที่พาขึ้นไปสู่ลานกว้างที่ร่มรื่น ตัวบันไดนี้จะออกแบบเพื่อกระตุ้นให้ผู้สูงอายุได้เดินขึ้นลง ทั้งนี้ตัวสวนยังจะมีทั้งสวนขนาดใหญ่ มีสวนผักผลไม้ที่เราสามารถปลูกและเก็บกินได้ มีสวนเฉพาะที่เน้นกระตุ้นผัสสะและการรับรู้ นอกจากสวนแล้วเรื่องอาหารและกิจกรรมก็สำคัญ ตัวอาคารจะมีศูนย์อาหารที่รวมเอาอาหารแผงลอยที่มีชื่อเสียงของย่านเข้ามาไว้ ทั้งยังจะมีส่วนที่เป็น community club ที่ให้ผู้อยู่อาศัยได้มาใช้เวลาร่วมกัน
ที่พิเศษที่สุดของ vertical kampung คือการมีหน่วยบริการด้านสุขภาพเป็นเหมือนศูนย์การแพทย์ย่อมๆ ที่ดำเนินงานโดยหน่วยงานของมหาวิทยาลัยแพทย์ National University Polyclinics ตัวศูนย์การแพทย์ประกอบไปด้วยศูนย์ฟอกไต คลินิก มีพื้นที่ให้บริการทั้งสำหรับโรคเรื้อรัง พื้นที่ดูแลสุขภาพและคัดกรองเบื้องต้น รวมถึงบริการด้านการแพทย์ที่จำเป็นอื่นๆ ครบครันในตึกพักอาศัยเดียว
ตัว vertical kampung เป็นโครงการของ Housing Board (HBD) หรือการเคหะสิงคโปร์ เปิดจองเมื่อราวเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ผู้ที่เข้าจองได้ต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป ตัวโครงการคาดว่าจะเสร็จในปี 2027 ลักษณะการสัญญาเป็นระยะสั้นที่ 15-45 ปี ตัวห้องเริ่มต้น 38 ตารางเมตรเริ่มต้นที่ราคา 72,000 ดอลล่าสิงคโปร์ หรือประมาณ 1 ล้าน 6 แสนบาท
นอกจากสิงคโปร์ เราก็จะเห็นโครงการคล้ายๆ กัน ถ้าเป็นทางยุโรปอาจจะมีโครงการดูแลผู้สูงอายุที่เฉพาะเจาะลงไปเช่นโครงการบ้านพักอาศัยสำหรับผู้ป่วยโรคทางสมองเช่นสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ ก็จะเน้นสวนที่กระตุ้นการรับรู้ เน้นการออกแบบที่มีความปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัย ที่เกาหลีก็มีโครงการ HAESIMDANG เป็นอาคารพักอาศัยที่เน้นธรรมชาติด้วยการออกแบบแนว biophilic พร้อมพื้นที่กิจกรรมส่วนกลางที่ทุกครอบครัวจะมาใช้เวลาร่วมกัน มีคาเฟ่ที่ราคาไม่แพง มีสวนต้นไม้ดอกไม้
อันที่จริง บ้านเราเองทางกรมธนารักษ์ก็มีโครงการบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ออกแบบโดยสตูดิโออาศรมศิลป์ เป็นที่พักอาศัยคนชรา ตัวอาคารก็เป็นเทรนเดียวกันคือเน้นอยู่ร่วมกับธรรมชาติ สร้างคอมมูนิตี้ของผู้สูงอายุ มีบริการทางการแพทย์ที่ร่วมกับโรงพยาบาลรามา ตัวโครงการตั้งอยู่ที่บางพลี สมุทรปราการ ราคาเริ่มต้นที่ 1.8 ล้านบาท สัญญา 30 ปี เข้าซื้อได้เมื่ออายุ 58 ปี และเข้าอยู่ได้เมื่ออายุ 60 ปี
ประเด็นสำคัญของคำว่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุคือการปรับแนวคิดว่า ชีวิตปลายทางร่วมสมัยเราอาจจะไม่ต้องให้ใครดูแล แต่เราเองสามารถจะดูแลตัวเองด้วยเงินของเราได้ การอยู่ตามลำพัง การไม่มีลูก และการค้ำจุนตัวเองเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าการจะมีชีวิตบั้นปลายที่ดีบางครั้งเราก็ต้องการสาธารณูปโภคบางอย่างเช่นการรวมกลุ่มเพื่อรับบริการทางการแพทย์ หรือการสร้างชุมชนที่เราจะมีชีวิตต่อไปเมื่อไม่ได้ทำงานแล้ว บางที่คิดถึงขนาดว่าเมื่อแก่ไปแล้วอยู่ลำพังเราอาจกินอาหารที่ดีน้อยลง ตัวโครงการก็จะมีศูนย์อาหารเล็กๆ มีครัวส่วนกลางที่ทำให้เราไม่ต้องกินข้าวหงอยเหงาในห้องแคบๆ
การอยู่ตามลำพังเมื่อยามแก่เฒ่า ดูเป็นเรื่องน่าหมองหม่น แต่เราสามารถวางแผนและลงทุนในระยะยาวเพื่อชีวิตที่ดีของเราเอง และแน่นอนว่าบางส่วน รัฐเองก็อาจจะต้องช่วยเราบ้าง เพื่อให้เกิดสุขภาวะและสังคมที่ดีตามมา
อ้างอิงข้อมูลจาก