สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาความไม่สมดุลของจำนวนผู้สูงอายุกับคนรุ่นใหม่ เสมือนพีระมิดหนักอึ้ง (แถมหัวกลับ) ลูกๆ จึงถูกคาดหวังให้เป็นที่พึ่งสุดท้ายของพ่อแม่ ท่ามกลางปัจจัยบีบคั้นและการถูกตั้งคำถามถึงความ ‘กตัญญู’ ทำให้พวกเราเจ็บหนักกว่า
เป็น Talk of The Town ระดับแซ่บเว่อร์เบียดการชิงตำแหน่งผู้นำโลกซะตกขอบเวที ในกรณีข้อพิพาทของดาราสาวสวยยอดนิยมและแม่แท้ๆ ของตัวเอง ที่ดูเหมือนแม่จะทำหน้าแบบ ‘อำนาจเบ็ดเสร็จ’ อยู่ไม่น้อยในการควบคุมชีวิตลูกสาว ผู้เป็นกระแสรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงครอบครัว (แม้แต่การใช้บัตร ATM ยังถูกควบคุม) ร่วมถึงการเข้าไปมีอิทธิพลในสายสัมพันธ์ของลูกสาวที่มีแนวโน้มจะทำให้ปริมาณงานบันเทิงลดลง และต้องแบกรับภาระหน้าที่รับผิดชอบไว้เพียงผู้เดียว
เป็นดาราก็อย่าหวังว่าทุกอย่างจะไหลลื่นไปเสียหมด เพราะต่อให้เป็นคนธรรมดาอย่างเราๆ ก็ถูกครอบครัวคาดหวังไว้สูงลิ่ว สวนทางกับความเป็นจริงของสังคม บีบคั้นเราให้เผชิญหน้ากับทางเลือกที่น้อยนิดนัก คุณจะเหนื่อยและรู้สึกไร้ความหมาย อย่าเสียใจไป คุณไม่ได้รู้สึกคนเดียว
เราทุกคนปรารถนาให้พ่อแม่มีสุขภาพชีวิตที่ดีกันทั้งนั้น ในฐานะลูกหลานที่ถูกเลี้ยงจนเติบใหญ่ได้ขนาดนี้ก็ผลาญพลังงานกิโลแคลอรี่เป็นพันล้านหน่วย และเงินจำนวนไม่ต่ำกว่า 7 หลัก เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม การทดแทนบุญคุณ ก็เป็นรูปแบบการจัดการทางสังคมที่ใครๆก็พึงปฏิบัติ และการถูกปลูกฝังความกตัญญู ตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้คุณไม่สามารถมองข้ามพ่อแม่ไปได้
แต่ปัจจัยทางสังคมสวนทางกับทรัพยากรที่มี ชีวิตไม่เคยง่ายเหมือนแต่ก่อน ต่อให้คุณวิ่งหัวหมุนรับงานฝิ่นเป็นร้อยๆ ก็ไม่เพียงพออยู่ดี เรากำลังเผชิญหน้ากับสังคมผู้สูงอายุแบบเต็มขั้น เป็นกลุ่มประเทศที่ก้าวผ่านเร็วที่สุดในโลก โดยไทยมีประชากรสูงวัยร้อยละ 12 จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 63 ล้านคน คาดการณ์ว่าในปี 2050 ไทยจะติดอันดับเป็น 1 ใน 20 ของโลกที่มีผู้สูงอายุเกิน 65 ปี
หรือเฉลี่ยแล้ว มีคนในวัยแรงงาน 1 คน ต้องดูแลผู้สูงอายุถึง 6 คน!
แต่ที่น่ากลัวคือ เราแทบไม่มีการเตรียมแผนไว้ในระยะยาว ผู้สูงอายุไม่ได้เตรียมแผนการเงินไว้สำหรับภาวะเกษียณอายุ ไม่มีการบริหารจัดการรายได้และทรัพยากรในขณะที่ยังมีแรง ภาระจึงต้องตกไปที่การฝากความหวังให้ลูกหลานเลี้ยงดู โดยใช้อิทธิพลของคำว่า กตัญญู บีบให้คนรุ่นใหม่ไม่มีทางเลือกมากนัก และการที่คุณเป็นลูกคนเดียวในครอบครัวขนาดใหญ่ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจอันฝืดเคืองสนิมกิน ถ้าไม่มีโชคจริงๆ คุณไม่มีทางเลี้ยงคนที่บ้านได้เพียงพอ หากยังคงดันทุรังทำงานคนเดียว Concept ความกตัญญูที่รู้อยู่เต็มอก แต่ทำให้ไม่ได้จริงๆ
กลายเป็นความวิตกกังกล (Anxiety) ของหนุ่มสาว Gen ปัจจุบัน ที่ต้องพยายามสร้างความก้าวหน้า แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
ความกตัญญู (Gratitude)
ความกตัญญูรู้คุณ เป็นสิ่งดี ไม่มีใครเถียงแน่นอน มันดีต่อสุขภาพจิตและสุขภาพใจ มันช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่การที่ถูกปลูกฝังจากการเลี้ยงดูด้วยฐานความเชื่อของความกตัญญู มีหลายวิจัยหลายๆ ชิ้นมองไปในทางเดียวกันว่า ไม่ใช่เรื่องดี และกลายเป็นปัญหาค้างเติ่งในภายหลัง
กตัญญู ต่างจาก ‘การติดหนี้’ (Indebtedness)
เป็นเรื่องเจ็บปวดที่พ่อแม่หลายครอบครัว มองลูกเป็นการลงทุนระยะยาว (Long Term Investment) เป็นสินทรัพย์ที่มีราคา มีสินสอดในราคาโขกสับซึ่งล้วนต้องการภาวะคืนทุนในภายหลัง ทำให้ลูกหลานรู้สึกถึงสภาวะการเป็นหนี้ทางใจ (Indebtedness) ที่ต้องทดแทนไปมาเป็นสภาวะถาวร ใครช่วยมาต้องช่วยกลับ ต่อให้เขาร้ายแค่ไหนก็ตาม แต่หากคุณสับสน Concept ระหว่าง ‘กตัญญูกับการเป็นหนี้’ คุณจะต้องเหนื่อยกว่าเดิมเป็นทวีคูณ
เพราะความวิตกกังวล มักเกิดขึ้นเมื่อความคาดหวังระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ไม่มีทางเติมเต็มให้กันได้ หรือสวนทางกัน บุญคุณไม่มี Currency rate หรือ อัตราแลกเปลี่ยน ไม่แปลกเมื่อถึงจุดหนึ่งคุณจะเผชิญหน้ากับจุดแตกหักทางความสัมพันธ์และข้อพิพาทจำนวนมาก เพียงเพราะคุณ จ่ายดอกเบี้ยได้ไม่ดีพอ
อย่าใช้ความกตัญญูหลีกเลี่ยงปัญหาที่แท้จริง
คนรุ่นใหม่มีเป้าหมายที่แน่นอนว่าพวกเขาจะนำชีวิตครอบครัวไปสู่จุดที่คาดหวังอย่างไร แต่กระบวนการไปถึงจุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สังคมไทยติดกับดักความคิดเรื่องผู้สูงอายุและบ้านพักคนชรา ถูกมองว่าเป็นสถานที่ไร้หวังสำหรับลูกหลานที่ไม่มีปัญญาเลี้ยงดู แต่กลายเป็นว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากถูกทอดทิ้งในบ้านโดยไม่มีใครดูแล เพราะทุกคนต้องออกไปทำงานกันหมด กลายเป็นความโดดเดี่ยวของชีวิตที่ไม่มีคนรุ่นเดียวได้สนทนา และหากเกิดปัญหาสุขภาพกะทันหันก็แทบไม่มีใครสามารถจัดการได้ทันท่วงที คุณจะเห็นลูกหลานหลายครอบครัว ให้เทคนิคส่งต่อ ‘ไม้ผลัด’ ช่วยกันดูแลผู้สูงอายุในบ้านสลับกันไปมา แต่หากคุณเป็นลูกคนเดียว จะทำอย่างไรล่ะ?
ผู้สูงอายุในบ้านมักมีรูปแบบกิจกรรมซ้ำๆ และขาดการออกกำลังกาย ทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าระยะยาว รู้สึกไร้ค่า และมันจะเลวร้ายกว่าเดิม เมื่อคุณกลับมาเหนื่อยๆ แต่ต้องเผชิญหน้าทางอารมณ์กับคนแก่ที่ไม่ได้ทำอะไรเลย กลายเป็นว่าผู้สูงอายุกลายเป็นพื้นที่รองรับอารมณ์คนในบ้านอย่างถาวร
เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ คนแก่ยุคหน้าต้อง ‘สู้เป็น ออมเป็น’
ผลกระทบจากสังคมสูงวัยในด้านเศรษฐศาสตร์ประชากร ทำให้ไทยอยู่ในช่วงการปันผลทางประชากรระลอกแรก มีคนวัยแรงงาน 42 ล้านคน ส่วนใหญ่จบการศึกษาป.6 และมีวัยแรงงาน 1 คนต่อการดูแลผู้สูงอายุ 6 คน
ผู้สูงอายุต้องเรียนรู้วิถีแห่งการออมด้วยตัวเอง (ที่ไม่ใช่เม้มเงินลูกทุกเดือน) เพื่อใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาล เพราะเงินประกันสังคมไม่เพียงพอ ต่อให้รัฐบาลเปลี่ยนผ่านกี่สมัย มันก็ไม่มากไปกว่านี้ เลิกฝันล้มๆ แล้งๆ ไปได้เลย
เพราะขนาดองค์กรเอง ก็ยังต้องเตรียมตัวรับมือกับการเพิ่มจำนวนของพนักงานสูงวัยรุ่นเดอะที่มีแต่เพิ่มจำนวน ไม่ได้สมดุลกับคนรุ่นใหม่ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับโครงสร้างสังคมทั้งตลาดแรงงานและการเงิน เพราะขณะนี้ไทยอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่จะก้าวสู่สังคมสูงวัยแบบเต็มพิกัด
วางแผนการเงินและการลงทุนที่ดีโดยเริ่มจากวินัยการออม ซึ่งนักลงทุนสูงอายุจะถือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยลง เช่น เล่นหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ และการลงทุนด้านสุขภาพก็ไม่ควรมองข้าม พ่อแม่บางคนไม่เคยดูแลสุขภาพตัวเองเลย กลายเป็นปัดภาระให้ลูกหลานต้องดูแลทั้งหมด ซึ่งกว่าจะฟื้นฟูสุขภาพเอาภายหลัง ก็ใช้เงินไม่ต่ำกว่า 7 หลัก และมันก็ไม่ดีเท่าเดิม
เตรียมตัวแก่ไปด้วยกัน
วันหนึ่งพวกเราก็ต้องแก่ และมีลูกหลานสืบทอดเจตนารมณ์ต่อไป มันจึงอยู่ในจุดสำคัญแล้วว่า คุณจะบริหารความสัมพันธ์ระยะยาวกับพวกเขาอย่างไร คุณสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่พวกเขาหรือยัง และคุณเตรียมตัวเองได้ดีแค่ไหนที่จะมีชีวิตบั้นปลายที่สมบูรณ์ไม่สร้างความหนักใจให้ใคร
ความกตัญญูเป็นสิ่งสวยงาม แต่ไม่ใช่ข้ออ้างในการผลักภาระอันหนักอึ้งให้ใครเพียงคนใดคนหนึ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
โต้คลื่นสังคมสูงวัย : โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว. )