วันก่อนผมเห็นข่าวว่า อีกไม่นานจะเกิดวิกฤติมหาวิทยาลัยไทยที่เปิดมาเยอะมาก แต่ไม่มีนักศึกษาเข้าเรียน เห็นพาดหัวแล้วก็ได้แต่คิดว่า อืม ก็ไม่แปลกนะครับ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเปิดเยอะเกินอุปสงค์ อีกส่วนต่อให้ไม่มีมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ก็คงยังลำบากรากเลือดอยู่ดีครับ เพราะจะหวังให้มีเด็กเกิดใหม่เพิ่มขึ้นนี่คงเป็นเรื่องยากลำบากจริงๆ
ปัญหาที่คล้ายๆ กันนี้ ชาติที่พบกับความลำบากยากเย็นยิ่งกว่าเราหลายเท่าก็คือประเทศญี่ปุ่น ผมเองก็เคยพูดหลายครั้งเหมือนกันว่าญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหากลายเป็น ‘สังคมชราภาพ’ อย่างหนัก เพราะเด็กเกิดใหม่ลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่คนชราก็อายุยืนยาวขึ้น จำนวนประชากรทั้งหมดกำลังหดตัว ซึ่งก็เป็นปัญหาระดับชาติแน่นอนครับ ถ้าไม่มีเด็กเกิดใหม่ก็ไม่มีแรงงานในระบบ ไม่มีประชากรที่จะบริโภคสินค้าบริการต่างๆ ทำให้การไหลเวียนของเงินในระบบลดลง เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจแน่นอน ซึ่งคำว่า 少子化 หรือ การเปลี่ยนไปสู่สภาวะเด็กลดน้อยลง ก็เป็นคำที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นปวดหัวกันเพราะก็ไม่รู้ว่าแนวทางไหนที่มันเวิร์กจริงๆ นะครับ
ทั้งแจกเงินให้คนคลอดบุตร พยายามหาทางจูงใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
แต่ก็ใช่ว่าเขาจะปล่อยให้รัฐบาลกลางปวดหัวอยู่คนเดียวนะครับ ด้วยการบริหารแบบแบ่งอำนาจปกครองให้ท้องถิ่น ทำให้แต่ละท้องถิ่นก็พยายามหาไอเดียมาแข่งขันกัน เพื่อที่จะดึงเอาประชากรหนุ่มสาวเข้าไปอาศัยในเขตของตน ไม่ใช่แค่การเตรียมสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่นความปลอดภัย สวนสาธารณะ หรือการขนส่งสาธารณะ แต่ยังมีการแข่งกันเรื่องสวัสดิการเพื่อครอบครัวที่มีบุตรด้วย และหลายที่ก็ประสบความสำเร็จ พ่อแม่บางคนก็เลือกย้ายถิ่นที่อยู่เพื่ออนาคตของลูกตัวเอง เอาไม่ไกลก็เพื่อนเกาหลีของผมที่ทำงานอยู่ในญี่ปุ่น ตอนที่เขาจะมีลูกก็เลือกละเอียดว่าย้ายไปเขตไหนแล้วจะได้รับเงินอุดหนุนและสวัสดิการสูงสุดนั่นเอง ซึ่งก็อยากจะยกตัวอย่างว่าแต่ละเมืองเขามีไอเดียอะไรมาแข่งกันบ้างครับ
เมือง Atsugi จังหวัด Kanagawa
ในเมืองนี้ ถ้าใครมีลูกมากกว่า 1 คน ตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไป ก็จะได้รับการช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายซื้อผ้าอ้อมกระดาษในช่วง 1 ปีแรก ซึ่งก็จะมาในลักษณะแค็ตตาล็อกให้เลือกเอาตามแต้มที่ได้ในแต่ละเดือน นอกจากผ้าอ้อมกระดาษแล้ว ก็ยังมีกระดาษเช็ดก้นหรือทิชชู่เปียกให้เลือกด้วย แม้จะมีลิมิตที่ 4,500 เยนต่อเดือน แต่ก็ถือว่าช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวรุ่นใหม่ได้ครับ นอกจากนี้ในจังหวัด Kanagawa ถ้าหากมีลูก ก็จะได้รับ ‘พาสปอร์ตคนเลี้ยงลูก’ เอาไว้ยื่นเพื่อรับส่วนลดจากร้านค้าต่างๆ ในจังหวัดได้ครับ
เมือง Bungotakada จังหวัด Oita
เมืองที่ได้รับการโหวตให้เป็นเมืองบ้านนอกที่น่าอยู่ที่สุดอันดับหนึ่งในปี 2014 ซึ่งบริการสำหรับครอบครัวที่มีลูกในเมืองนี้ก็คือ ให้เช่าเบบี้คาร์ในราคาที่ถูกมากๆ เดือนละ 200 ถึง 800 เยนเท่านั้น คือ ผมหมุนไข่ของเล่นยังแพงกว่านี้เลยครับ ซึ่งสำหรับพ่อแม่แล้วก็ถือว่าช่วยได้มาก เพราะของอย่างนี้ซื้อมาแล้วก็ใช้ได้ไม่นาน (ที่ญี่ปุ่นถึงมีคนเอามาขายต่อเยอะ ก็ส่งมาเมืองไทยอีกที) หรือบางทีขายไปแล้ว เอ้า ดันมีลูกอีกคน ก็ช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ตรงจุดครับ
นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนค่าบริการสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อนฟรีตลอด 3 ปีแรกสำหรับลูกคนที่ 2 ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่ช่วยให้คนคิดอยากจะมีลูกคนที่ 2 ได้ เพราะว่าค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็สูงเช่นกัน ถ้าท้องถิ่นมาช่วยแบ่งเบาก็สบายใจขึ้นเยอะครับ แถมยังมีบริการเปิดโรงเรียนกวดวิชาที่เรียนได้ฟรีๆ สำหรับเด็กในเมืองอีกด้วย ต่อให้อยู่บ้านนอกก็ไม่ขาดโอกาสรับการศึกษาที่ดีครับ
ตำบล Hayakawa จังหวัด Yamanashi
จังหวัดที่ติดกับโตเกียวแต่กลับค่อนข้างเงียบจังหวัดนี้ มีเมือง Hayakawa ที่มีประชากรน้อยที่สุดในญี่ปุ่น ทำให้พวกเขามองว่าเด็กคือสมบัติของตำบล จึงมีระบบการสนับสนุนเรื่องการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่ประถมถึงมัธยมต้นจะไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย ทั้งค่าเล่าเรียน ค่าตำราเรียน รวมไปถึงค่าอาหารกลางวัน ถือว่าช่วยเหลือครอบครัวได้มาก จำนวนนักเรียนในโรงเรียนที่ผมเคยดูในรายการทีวีก็มีแค่หลักสิบนะครับ อาจารย์ดูแลทั่วถึงแน่นอน และเพราะว่าตัวตำบลอยู่ไกลจากเมืองทำให้เด็กได้รับการศึกษาแบบอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เหมาะกับครอบครัวสายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมครับ
ตำบล Minamifurano จังหวัด Hokkaido
หลายคนน่าจะคุ้นชื่อจากทุ่งลาเวนเดอร์ชื่อดังบ้าง เมืองนี้จัดเต็มให้กับครอบครัวที่มีลูกจริงๆ ครับ ขอแค่อยู่ที่เมืองนี้ 6 เดือนก่อนที่จะตั้งครรภ์ ก็จะมีเงินช่วยคลอดบุตรถึง 100,000 เยน และถ้าใครมีบุตรยากก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ โดยจะมีเงินช่วยครั้งและ 150,000 เยน ปีละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 ปีเลยทีเดียว เรียกได้ว่ากระตุ้นให้มีบุตรกันเต็มที่
ตำบล Fukushima จังหวัด Hokkaido
ในจังหวัดเดียวกัน ตำบลอื่นก็ไม่ยอมน้อยหน้าครับ ที่ตำบลนี้ถ้ายื่นเอกสารว่าต้องการเลี้ยงลูกในเมืองนี้ คลอดคนแรกก็จะได้เงินสนับสนุน 50,000 เยน คนที่ 2 ได้ 200,000 เยน คนที่ 3 นี่ 1,000,000 เยนเลยครับ แต่ก็ไม่ได้เงินสดเต็มๆ นะครับ 30% จะเป็นคูปองเอาไปแลกสินค้าที่จำเป็นในเมือง แต่ก็ถือว่าหรูสุดๆ แล้ว สมกับที่ได้ยินมาว่าจังหวัดนี้แข่งกันเรื่องสร้างสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงลูกจริงๆ
นอกจากที่ยกมา ก็ยังมีจังหวัดหรือเมืองอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่นเมือง Oga ในจังหวัด Akita ที่นอกจากเงินสนับสนุน 100,000 เยน ยังให้บริการตรวจครรภ์และสุขภาพฟันของแม่ฟรีนะครับ (ตรวจฟันเพราะฮอร์โมนเปลี่ยน ส่งผลกระทบถึงฟันครับ) หรือจังหวัด Fukuoka ที่ตั้งเป้าให้เป็นจังหวัดที่ใจดีต่อครอบครัว มีบริการต่างๆ เพื่อครอบครัวที่มีบุตรพร้อมร่วมมือกับห้างร้านต่างๆ และสถานที่ราชการให้เตรียมสถานที่ให้นมเด็ก เมนูอาหารเด็ก ห้องน้ำสำหรับเด็ก รถเข็นเด็ก รวมไปถึงส่วนลดบริการต่างๆ ที่ทำให้เรียกได้ว่า ยิ่งมีลูกยิ่งคุ้มครับ
ไล่อ่านการแข่งขันกันของท้องถิ่นนี่ก็สนุกดีนะครับ แต่ละคนช่างหาไอเดีย หาจุดเด่นมาแข่งกัน ก็เป็นระบบที่ส่งผลดีต่อผู้บริโภค เพียงแต่นี่ไม่ใช่บริษัทเอกชน แต่เป็นหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น ก็ถือว่าได้ผลดีกว่าปล่อยให้รัฐบาลกลางสั่งการอย่างเดียวเพราะแต่ละเมืองก็มีลักษณะไม่เหมือนกัน ส่วนของบ้านเรา ก็อยากรู้ว่าจะปรับตัวเตรียมรับกับปัญหานี้อย่างไร
จะแจกโฟเลตให้กินเพื่อเตรียมตั้งครรภ์อย่างเดียวก็คงไม่ใช่ล่ะครับ ก็รู้ว่ามีนโยบายอื่นช่วยอีก แต่จะกระตุ้นให้คนมีบุตรแบบมีคุณภาพได้อย่างไรนี่สิครับ ปัญหาใหญ่จริงๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
kosodate-mise.pref.fukuoka.lg.jp