เคยเห็นพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของใครสักคนเปลี่ยนไปมั้ย?
โพสต์มากขึ้น น้อยลง หรือหายไปเลย ภาษาเปลี่ยน รูปแบบเนื้อหาเปลี่ยน แนวคิดเปลี่ยน อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากอายุที่มากขึ้น อาจจะการเปลี่ยนแปลงจากการเปลี่ยนสายงาน สถานทางสังคม หรืออีกหลากหลายปัจจัย แต่หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นบ่อยมากๆ คือพฤติกรรมการเล่นโซเชียลมีเดียที่เปลี่ยนแปลงไปจากการมีลูก โพสต์เกี่ยวกับลูกมากขึ้น เกี่ยวกับความเป็นแม่มากขึ้น และหลายๆ ครั้ง เป็นตัวเองน้อยลง
ทำไมคนเป็นแม่จำนวนหนึ่งถึงโพสต์เรื่องลูกเยอะ? บางครั้งอาจมีการ ‘อวดลูก’ บ่อยขึ้น?
ก่อนจะไปกันต่อ นี่ไม่ใช่บทความที่ใช้ตัดสินความถูกผิดของการถ่ายรูปลูกลงโซเชียลมีเดีย แต่เป็นการอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจในการกระทำและผลของมัน
เพราะมีลูกเลยโดดเดี่ยว?
เมื่อบางครั้งการมีลูกก็ทำให้โดดเดี่ยวกว่าที่คิด ใครจะคิดว่าการมีคนคนหนึ่งเพิ่มเข้ามาในครอบครัวสามารถทำให้เราเหงาขึ้นได้ เพราะสิ่งที่มาพร้อมกับลูกคือความรับผิดชอบที่มากับการต้องเลี้ยงพวกเขา และเพราะการเลี้ยงลูกแทบจะเป็นงานเต็มเวลา ความรับผิดชอบสามารถกินพื้นที่ส่วนอื่นๆ ในชีวิตของผู้ปกครอง (หรือโดยเฉพาะแม่) ได้ เวลาการออกไปเจอเพื่อนวัยเดียวกันน้อยลง หรือถึงจะมีเวลาก็อาจจะเหนื่อยเกินไปที่จะออกไปเจอใคร
นอกจากนั้นการมีลูกสามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (postpartum depression) ได้ ซึ่งโดยมากจะเกิดขึ้นหลังจากการคลอดลูกภายในราวๆ 4 สัปดาห์ เวอร์ชั่นเบาจะมีชื่อเรียกว่า Baby Blue ที่จะอยู่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ แต่หากเกิดจากนั้นจะเรียกว่าภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งมีอาการเช่น ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน ไม่อยากอาหาร นอนลำบาก เหนื่อยง่าย หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล รู้สึกตัวเองไม่อาจเชื่อมสัมพันธ์กับลูกได้ ฯลฯ โดยภาวะนี้สามารถผลักดันให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวทวีคูณเข้าไปอีกได้
หากเป็นเมื่อก่อนหากเป็นเช่นนี้วิธีการแก้ไขเดียวที่เราสามารถทำได้คือการโทรนัดเพื่อนมาบ้าน แต่ปัจจุบันเรามีหนทางใหม่ที่สามารถช่วยให้เราเชื่อมโยงกับมนุษย์ได้อยู่ที่ปลายนิ้วแล้ว นั่นคือโซเชียลมีเดียนั่นเอง แต่นั่นแปลว่าปัญหาจบลงแล้วหรือไม่?
แล้วฉันเป็น ‘แม่ที่ดี’ หรือยัง?
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงบนวารสารรวบรวมงานวิจัยสตรีนิยม Sex Roles หัวข้อ Doing Gender Online: New Mothers’ Psychological Characteristics, Facebook Use, and Depressive Symptoms เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กของคนเป็นแม่ผู้คลอดบุตรเป็นครั้งแรกเล่าว่าในการเก็บข้อมูลทั้งพ่อและแม่เด็กในระยะแรกที่ลูกเพิ่งคลอด แม่จะเป็นคนที่ใช้โซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับลูกมากกว่า
นอกจากนั้นเมื่อแยกย่อยกลุ่มคนที่โพสต์รูปลูกออกจากกันแล้ว แม่บางกลุ่มต้องการการยอมรับจากคนรอบข้างว่าพวกเขาเป็นแม่ที่ดีพอ เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าสังคมรอบตัวของเขากำลังคาดหวังให้เขาเป็นแม่ที่ดี กลุ่มกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่โพสต์บ่อยที่สุด และเป็นกลุ่มที่มีปฏิกิริยากับการมีส่วนร่วมจากคนรอบข้าง เช่น การไลก์และคอมเมนต์จากคนรู้จัก มากที่สุด และการใช้มากนั้นสามารถนำไปสู่ความเครียดเพิ่มเติมได้
และเช่นเดียวกันกับทุกคน โซเชียลมีเดียนั้นทำให้เราเอาตัวเองเทียบกับผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ การเป็นแม่มือใหม่มักพาให้เราเข้าไปอยู่ในกลุ่มของแม่ๆ มากมาย เห็นคนนั้นเลี้ยงลูกดีจัง คนนี้เสื้อผ้าสวยกว่าเราตั้งเยอะ ห้องสวยกว่า ใกล้กับคำว่าสมบูรณ์แบบกว่าเราตั้งเท่าไหร่ ฯลฯ
ในการวิจัยโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Brigham Young, Illinois State และ Loyola ในสหรัฐอเมริกาเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างการเปรียบเทียบความเป็นแม่บนโซเชียลมีเดียและสุขภาพจิตของผู้ปกครอง พบว่ายิ่งผู้เป็นแม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นบนโซเชียลมีเดียมากขนาดไหน คุณแม่จะยิ่งมีภาวะซึมเศร้ามาก ยิ่งรู้สึกว่าแบกรับภาระของการเป็นผู้ปกครองมากกว่า และมีประสิทธิภาพใหนการเป็นผู้ปกครองต่ำกว่า
กล่าวคือการเลี้ยงลูกเหนื่อย เครียด และซึมเศร้าอยู่แล้ว แต่โซเชียลมีเดียที่ดูเหมือนจะเป็นทางออกของปัญหากลับสร้างเพิ่มความตึงเครียดอีกชั้นให้กับคนเป็นแม่
ถอยออกมา แล้วตั้งคำถามว่าการเลี้ยงลูกเลี้ยงเพื่อใคร
‘กรุณาสวมหน้ากากออกซิเจนให้กับตัวท่านเองก่อนแล้วจึงสวมให้กับเด็ก’ ประโยคที่คุ้นเคยหากได้ฟังการสาธิตมาตรการความปลอดภัยบนเครื่องบิน และน่าแปลกที่ประโยคนี้อาจเป็นหนึ่งในคำแนะนำที่ดีสำหรับการเลี้ยงลูก ใจความที่แท้จริงของมันคือ ก่อนเราจะสามารถดูแลใครสักคนได้ เราต้องดูแลตัวเองให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้การได้ก่อน
การถอยออกมาสักก้าวสามารถนำไปสู่การทบทวนการเลี้ยงลูกของตัวเองในภาพกว้างขึ้นได้ คำถามที่ว่าเลี้ยงลูกเพื่อใครนั้นเป็นคำถามสำคัญที่พ่อแม่ต้องสามารถตอบกับตัวเองได้ และแม้คำตอบจะต่างกันออกไป คำตอบที่พึงมีแน่ๆ คือเพื่อลูก และคำตอบที่ไม่ควรมีเลยคือเพื่อคนอื่นบนโซเชียลมีเดีย
แม้ว่าการเปรียบเทียบและความต้องการเป็นแม่ที่ดีขึ้นนั้นมาจากความตั้งใจดีในการพัฒนาตัวเองเพื่อลูก บางครั้งหากไม่มองให้กว้างออกไปถึงผลกระทบ ความตั้งใจดีอาจนำไปสู่ผลเสียได้
และหากว่าการโพสต์รูปเหล่านั้นสร้าง digital footprint ให้กับลูกก่อนที่เขาจะมีสิทธิมีเสียงในการปฏิเสธ และหยิบยื่นการหลั่งโดปามีนเล็กๆ น้อยๆ เป็นครั้งคราวเพื่อลดความรู้สึกโดดเดี่ยวเพียงชั่วครู่ชั่วครู่ เพื่อแลกกับความตึงเครียดที่กดดันให้ตัวแม่และผู้ปกครองเครียดมากขึ้น รู้สึกไม่ดีพอ การเปรียบเทียบที่มากจนเบียดบังความสามารถในการเลี้ยงดูลูกของตัวเอง
คำถามที่ต้องถามต่อมาที่ผู้ปกครองอาจต้องตอบคงจะเป็นคำถามว่าแล้วมันคุ้มค่ามากแค่ไหน?
อ้างอิงข้อมูลจาก