“ทำอะไรไว้ ขอให้สักวันหนึ่งกรรมตามทัน”
ด้วยกฎหมายที่ทันสมัยและรัดกุม พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือการศึกษาที่ลงลึกมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลากหลายแขนง จึงเป็นธรรมดาที่มนุษย์จะเชื่อว่าตัวเรา ณ ปัจจุบัน คือเวอร์ชั่นที่ศิวิไลซ์ที่สุดที่สปีชีส์ของเราเคยเป็น อย่างไรก็ตาม การพูดทำนองว่า “ทำอะไรไว้ ขอให้สักวันหนึ่งกรรมตามทัน” นั้นดูเป็นคำพูดที่อาจจะมาจากเมื่อวาน หรือ 100 ปีก่อนหน้านี้ แม้เวลาเปลี่ยนไป แต่การสาปแช่งบางรูปแบบยังอยู่ในสังคมของเราเสมอ
เราหลายๆ คนอาจมองว่า การสาปแช่งเป็นสิ่งงมงายที่จะจางหายไป เมื่อมนุษย์รู้เรื่องทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทว่าเช่นเดียวกันกับความเจริญเติบโตของสายมู และความเชื่อทางจิตวิญญาณ นับวันเรายิ่งเห็นการเติบโตของความเชื่อรูปแบบนี้ นับวันมนุษย์ยิ่งรับรู้ศาสตร์ของการสาปแช่งนอกเหนือจากวัฒนธรรมที่ตัวเองอยู่ จากเบสิกเช่นการด่าว่า ‘ขอให้ชาติหน้าเกิดเป็นหมา’ รู้ตัวอีกทีเราอาจเริ่มเรียนรู้การใช้ตุ๊กตาวูดู หรือเรียนรู้การสาปแช่งใครสักคนผ่านศาสตร์แม่มด
ยิ่งนึกถึงความแอดวานซ์ของความเชื่อเหล่านี้ คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วทำไมเมื่อเราสามารถพิสูจน์อะไรต่างๆ ในโลกได้ผ่านหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้ว มนุษย์ยังคงเชื่อในการสาปแช่งที่ไม่มีหลักฐานใดๆ รองรับ? มีอะไรในการสาปแช่งมากกว่าที่ตาเราเห็นหรือไม่? ก่อนที่จะตอบคำถามเหล่านั้นได้ เราอาจต้องไปดูภาพรวมกันก่อนว่า เมื่อเราพูดถึงการสาปแช่งในสังคมไทย เรากำลังหมายถึงอะไร?
เวลาเราสาปแช่ง เราใช้ความเชื่ออะไร? นั่นคงไม่ใช่คำตอบที่ตอบง่ายขนาดนั้น วันหนึ่งเราอาจจะเลือกวิธีการสาปแช่งที่จะมีผลกระทบในชาติหน้า อีกวันหนึ่งอาจจะเลือกเสกหนังควายเข้าท้องใครสักคน หรือบางวันอาจเลือกการเผาพริกเผาเกลือเพื่อสาปแช่ง ซึ่ง 3 ตัวอย่างที่เราให้ไปนั้นล้วนมาจากคนละความเชื่อทั้งหมด แต่กลับอยู่ใต้ร่มเดียวกันได้ เพราะมันคือการส่งต่อความหวังร้ายให้แก่ใครสักคนผ่านวิธีการเหนือธรรมชาติ เพียงเท่านี้เราอาจจะสังเกตเห็นได้แล้วว่า ความเชื่อเกี่ยวกับการสาปแช่งในสังคมไทยนั้นวางอยู่บนความหลากหลาย
มีงานวิจัยที่เก็บรวบรวมตัวอย่างการสาปแช่งที่หลากหลายเชิงวัฒนธรรมนี้ คือวิทยานิพนธ์เรื่องรูปแบบและหน้าที่ของการสาบานและสาปแช่งในวาทกรรมการเมืองไทย โดยวิกานดา เกียรติมาโนชญ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์เพื่อการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งงานวิจัยนี้รวบรวมและตีความการสาบาน และการสาปแช่งภายใต้การปราศรัยของบุคคลสาธารณะในการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2551-2557 และแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่ตัวอย่างที่ผู้วิจัยเลือกมาล้วนสามารถปรับใช้ได้กับสังคมของเราเกือบทั้งสิ้น
ในหัวข้อที่ผู้วิจัยพูดเกี่ยวกับโครงสร้างและรูปแบบของคำพูดสาบานและการสาปแช่ง สิ่งที่น่าสนใจคือทั้งการสาปแช่งและการสาบาน จะมีการกล่าวอ้างถึงพยานอยู่ในหลายๆ รูปแบบ ซึ่งเมื่อเราลองนำคำสาปแช่งเหล่านั้นมาอนุมานด้วยตัวเอง เราอาจพูดได้ว่าพยานเหล่านั้นที่ผู้พูดกล่าวอ้าง คือสิ่งที่ผู้พูดเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นที่เคารพยำเกรง เช่นนั้นแล้วการจะดูว่าใครบ้างที่อยู่ในฐานะพยานอาจบอกเราได้ว่า การสาปแช่งวางอยู่ตรงไหนในความเชื่อสังคมไทย
“ถ้อยคำแสดงการสาบานและสาปแช่งในวาทกรรมการเมือง แสดงให้เห็นความเชื่อที่หลากหลายในสังคมไทย”
หนึ่งในประโยคที่ผู้วิจัยเขียนไว้ในหัวข้อย่อยเรื่อง ‘การสาบานและสาปแช่งกับความเชื่อทางพุทธ พราหมณ์ และไสยศาสตร์’ ก่อนจะจำแนกพยานจากความเชื่อต่างๆ ดังนี้
- ศาสนาพุทธ เช่น หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด หลวงพ่อโตวัดระฆัง หลวงปู่ชอบ ฯลฯ
- สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เช่น องค์พระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง เจ้าพ่อหลักเมือง ฯลฯ
- สิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ดวงวิญญาณของทหารหาญทั้งหลาย ทวยเทพ ยมบาล ฯลฯ
ผู้วิจัยยังเขียนต่อว่า “ทั้งนี้อาจเพราะคนไทยมิได้แบ่งแยกความศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาต่างๆ ออกจากกันโดยเด็ดขาด แต่เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์สามารถให้คุณและโทษได้เหมือนกัน” แล้วอธิบายว่าการที่สิ่งเหล่านั้นอยู่ในความเชื่อของคนไทยไม่ใช่เรื่องแปลกปลอม เนื่องจากการบูชาผีและสิ่งเหนือธรรมชาติ ถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่มนุษย์ในฐานะเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจก่อนจะมีศาสนาใดๆ เข้ามาด้วยซ้ำ และในส่วนของความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอื่นๆ ผู้วิจัยเล่าว่าประเทศในอุษาคเนย์จำนวนหนึ่ง เช่น เมียนมาและกัมพูชา มีการผสมผสานของความเชื่อพราหมณ์-ฮินดูเข้ามา และเมื่อพุทธศาสนาเข้าไปในประเทศเหล่านั้นจึงได้ “รับเอาไสยศาสตร์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมาเป็นส่วนหนึ่งของตนด้วย”
นอกเหนือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางความเชื่อแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ พยานที่ถูกอ้างถึงอาจเป็นปูชนียบุคคล ผู้ไม่ได้มีตำนาน หรือปาฏิหาริย์อะไร แต่ถูกขนานนามให้เป็น ‘บุคคลศักดิ์สิทธิ์’ เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือท้าวสุรนารี โดยผู้วิจัยตั้งข้อสันนิษฐานว่า บุคคลเหล่านี้ได้รับการยกย่องว่าศักดิ์สิทธิ์ มาจากการเป็นคนที่ “สร้างคุณงามความดีและคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศอย่างมหาศาล”
“แม้ตัวจะละจากโลกนี้ไปแล้ว แต่คุณงามความดีนั้นก็ยังดำรงอยู่ตลอดไป ไม่สูญหายไปไหน คนรุ่นหลังจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์หรือศาลเพื่อเป็นอนุสรณ์” เขียนโดยผู้วิจัย และหากเราลองมองไปยังอนุสาวรีย์คนสำคัญต่างๆ ตามสถาบันในประเทศ บ่อยครั้งพื้นที่เหล่านั้นมักมีของเซ่นไหว้วางอยู่ให้เห็นได้บ่อยๆ อย่างไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกอะไร เนื่องจากการยกย่องและการสักการะเป็นสิ่งที่อยู่ข้างเคียงกันเป็นธรรมดาในสังคมของเรา
ทั้งหมดที่กล่าวมา เราอาจเรียกได้ว่าการสาปแช่งนั้นข้ามไปข้ามมาระหว่างความเชื่อภายในสังคมของเราทั้งหมด แม้แต่ในศาสนาที่ไม่ได้มีโครงสร้างสนับสนุนให้สาปแช่งใครเลยด้วยซ้ำ และดูเหมือนว่าหากเราตีความจากคำตอบที่ได้มา นั่นแทบจะเรียกได้เลยว่า การหยิบใช้การสาปแช่งนั้นทรงพลังกับใจของเรามากพอที่เราจะใช้อะไรก็ตามที่ตัวเราและคนรอบตัวมองว่าศักดิ์สิทธิ์ เช่นนั้นแล้วคำถามต่อมาคือ อะไรเป็นที่มาของแรงผลักดันนั้นๆ? และการสาปแช่งทำหน้าที่อะไรในสังคมของเรา?
ในงานวิจัยชิ้นดังกล่าวยังให้คำตอบในบริบทของการใช้คำสาปแช่งเชิงการเมืองด้วย เช่น
- การแช่งตัวเอง เพื่อปฏิเสธข้อกล่าวหา
- การแก้ข้อกล่าวหา และการแสดงความบริสุทธิ์ใจ
- การย้ำความจริง
- การสัญญาและการเตือน
- การลดความน่าเชื่อถือ และการโจมตีฝ่ายตรงข้าม
แม้จะเป็นคำตอบที่น่าสนใจ แต่การใช้การสาปแช่งดังกล่าวอาจคับแคบเกินไปสำหรับสิ่งที่เราพยายามหาคำตอบอยู่ เพราะเราทุกคนไม่ใช่นักการเมืองผู้จะใช้การสาปแช่งในรูปแบบนั้นๆ เช่นนั้นแล้วเราอาจต้องมองย้อนไปในอดีต และกว้างออกไปจากการเมือง โดยอีกหนึ่งงานวิจัยที่อาจช่วยเราได้คือ “การสาปแช่ง” ในจารึกสุโขทัย โดยปารมิตา นิสสะ งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่พาเราย้อนไปดูการสาปแช่งในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐสุโขทัยผ่านการศึกษาจารึกสุโขทัย ดังนั้น อ่านถึงตรงนี้แล้วเราอาจจะสงสัยว่า การย้อนไปไกลขนาดนั้นมันจะตอบโจทย์คำถามปัจจุบันของเราได้ยังไง? แต่ผลการวิจัยอาจทำให้เราประหลาดใจก็เป็นได้
เช่นเดียวกันกับงานวิจัยชิ้นก่อนหน้าที่ผู้วิจัยกล่าวว่า การสาปแช่งวางอยู่บนหลากหลายวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี ในงานวิจัยนี้พาไปเราดูหน้าที่ของการสาปแช่งผ่านหลากหลายมุมมอง ซึ่งสำหรับมุมของรัฐ การสาปแช่งถือเป็นเครื่องมือในการควบคุมสังคม โดยรัฐสุโขทัยจะใช้การสาปแช่งเพื่อแสดงอำนาจของผู้กล่าวคำสาป และแม้จะมีการลงโทษทางกฎหมายไว้อยู่แล้ว แต่การสาปแช่งคือการทำหน้าที่ตักเตือนให้ประชาชนหวั่นเกรงก่อนกระทำผิด เช่น การสาปแช่งบุคคลที่ทำลายทรัพย์สมบัติของศาสนา สาปแช่งผู้ยึดเอาที่ดินหรือข้าโอกาสของสงฆ์มาเป็นของตน หรือการสาปแช่งคนที่ขุดทำลายศาสนสถานให้ต้องตกนรกหมกไหม้
“การสาปแช่งน่าจะเป็นพฤติกรรมของคนทั่วไปในสังคม ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เฉพาะกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น แต่การสาปแช่งของประชาชนทั่วไปอาจจะปรากฏอยู่ในรูป ‘มุขปาฐะ’ ไม่ได้มาการจารึกไว้เป็นหลักฐานประเภท ‘ลายลักษณ์’ ในจารึก”
ผู้วิจัยเขียนไว้ ซึ่งข้อสันนิษฐานข้างต้นได้รับการสนับสนุนกลายๆ อยู่ในหัวข้อย่อยเรื่อง ‘ผลของการสาปแช่ง’ ที่พบในจารึกสุโขทัย แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ นั่นคือ
- คำสาปแช่งให้วิบัติในทางโลก – สาปแช่งขอให้อย่าได้เป็นใหญ่ สาปแช่งขอให้ตายตกในอบายภูมิสาป สาปแช่งขออย่าให้ครองเมืองอยู่ได้นาน และสาปแช่งขอให้พินาศ
- คำสาปแช่งให้วิบัติในทางธรรม – สาปแช่งขออย่าได้พบศาสนา สาปแช่งขออย่าได้เป็นสัตบุรุษ สาปแช่งขออย่าให้พระสงฆ์รับบิณฑบาต และสาปแช่งขอให้ก่ออนันตริยกรรม
เห็นได้ว่าคำสาปแช่งหลายๆ รูปแบบที่กล่าวไปข้างต้นเป็นคำสาปที่เล็งไปยังผู้มีอำนาจทั้งสิ้น และเมื่อผู้วิจัยยกตัวอย่างจารึกกฎหมายในสมัยสุโขทัย ได้แก่ จารึกพ่อขุนรามคำแหง จารึกลักษณะโจร และมังรายศาสตร์ของล้านนามาประกอบ เราอาจเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นว่า การสาปแช่งทำหน้าที่อะไรในสังคมสมัยนั้นจากการ “พบว่ายังมีข้อกฎหมายบางข้อที่ไม่อาจเอาผิดบุคคลบางจำพวกได้ เช่น บุคคลที่มีอำนาจในสังคม” ผู้วิจัยกล่าว ก่อนจะยกตัวอย่างความผิดของควาญช้างที่ปล่อยให้ช้างหรือม้าไปกินข้าวในไร่ของผู้อื่นว่า “มังรายศาสตร์กล่าวว่า หากเจ้าของช้างเป็นผู้เป็นใหญ่ก็ให้ตามไปชดใช้กันในชาติหน้า”
จากตัวอย่างข้างต้น ผู้วิจัยได้เรียกการสาปแช่งว่าเป็น “การผ่อนคลายความอึดอัดคับข้องใจของผู้ถูกล่วงละเมิดในสิทธิ์ของตน ในกรณีที่ผู้ถูกล่วงละเมิดไม่สามารถเอาผิดผู้ละเมิดได้ด้วยข้อกฎหมายใดๆ”
ในแง่มุมหนึ่ง การสาปแช่งจึงเป็นการพยายามหาบทลงโทษในสิ่งที่กฎหมายไม่อาจควบคุมหรือแตะต้องได้
เมื่อเดินขึ้นมาให้ใกล้ปัจจุบันขึ้นสักเล็กน้อย ผู้วิจัยได้พูดถึงการสาปแช่งในสมัยอยุธยาว่า มันถูกฝังอยู่ในกฎหมายตราสามดวงในฐานะการควบคุมพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น การดำน้ำลุยเพลิง แต่แล้วจะคืออะไรได้ หากนี่ไม่ใช่การสาปแช่งเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์?
แล้วทั้งหมดที่กล่าวไปจะโยงกลับมาหาปัจจุบันยังไง? เราลองมองย้อนกลับไปไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 หลังจากพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนเสียงไม่มากพอในการโหวตเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการเขียนชื่อ สส. และ สว. ที่ ‘โหวตสวนมติประชาชน’ ก่อนจะนำผ้าที่เขียนชื่อเหล่านั้นไปเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งตามความเชื่อที่มาจากฮินดู
กาลเวลาผ่านมานานนับจากสมัยสุโขทัย บริบททางสังคมของเราก็เปลี่ยนแปลงไปมาก และแม้กฎหมายยุคปัจจุบันจะละทิ้งการสาปแช่งออกไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว แต่แก่นของการสาปแช่งกลับไม่เปลี่ยนไปเลยสำหรับคนที่รู้สึกไร้อำนาจ ในระดับหนึ่งเราบางคนยังคงสาปแช่งเนื่องจากความอยุติธรรม จากความโกรธแค้นที่ไม่อาจเอาผิดในสิ่งที่รู้สึกว่าไม่ถูกต้อง หรือจากการพยายามหาบทลงโทษให้แก่สิ่งที่เกินเอื้อมของเรา
สิ่งที่ตลกร้ายอีกหนึ่งอย่างที่พบได้ในงานวิจัยเรื่องการสาปแช่งในวาทกรรมการเมืองไทย คือผู้วิจัยเขียนในบทสรุปถึงสิ่งหนึ่งที่นักการเมืองมักเลือกใช้เป็นพยานในการสาบานและสาปแช่ง เป็นสิ่งที่พวกเขา ‘บอก’ กลายๆ ว่าสามารถเทียบเท่ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ นั่นคือ ‘ประชาชน’ ในกรณีนี้ผู้วิจัยยกตัวอย่างคำพูดของสนธิ ลิ้มทองกุล ที่พูดว่า “ผมสาบานต่อหน้าเสด็จพ่อ ร.5 เสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรฯ และต่อหน้าประชาชนทุกคนว่า ตราบใดที่ลูกคนนี้ยังมีลมหายใจอยู่ ผมจะต้องเอานพดลให้ตายให้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนจะต้องเอามาติดคุกจนตาย ไม่ว่าจะไปเสวยสุขกับเงินที่ได้ที่ไหนก็ตาม ก็จะลากคอมาติดคุกจนตาย”
ผู้วิจัยตีความว่า หลักการใช้คำว่าประชาชนเป็นพยานในการสาบานและสาปแช่งนี้ คือการสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชนที่มาร่วมชุมนุม และแสดงออกถึงมุมมองของนักการเมืองต่อประชาชนได้ ทั้งนี้ผู้วิจัยยังได้เขียนประโยคสุดท้ายก่อนเข้าหัวข้อใหม่ว่า “ในบริบทการเมือง เสียงของประชาชนจึงเปรียบดั่ง ‘เสียงสวรรค์’ ที่สามารถชี้ชะตาและกำหนดอนาคตทางการเมืองของนักการเมืองได้นั่นเอง”
น่าตลกดีที่สุดท้ายแล้ว หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของประเทศนี้ยังคงต้องพึ่งการสาปแช่งให้เดินหน้าสู้ต่อไปได้
อ้างอิงจาก
ethesisarchive.library.tu.ac.th