“คนอเมริกันคิดว่าพวกเราคนจีนเป็นคนเขียนข้อความในคุกกี้พวกนี้”
“แต่พวกเราไม่เคยพูดถึงอะไรแบบนั้นกันเลยนะ”
ใน The Joy Luck Club (1989) นวนิยายของ Amy Tan นักเขียนหญิงที่มักเล่าเรื่องราวของหญิงชาวจีนที่อพยพไปเติบโตในอเมริกัน ก็มีตอนหนึ่งพูดถึงคนอเมริกันเชื้อสายจีนที่ไปทำงานในโรงงานคุกกี้ทำนาย
อธิบายก่อนว่า ในอเมริกาเจ้าคุกกี้ทำนายเป็นวัฒนธรรมอาหารที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมจีน โดยมักเสริฟคู่หรือไปขายอยู่ตามร้านที่ดูจีนๆ แล้วถ้าเป็นในหนัง ด้วยพลังลี้ลับจากโลกตะวันออก ข้อความนั้นก็มักนำไปสู่เหตุการณ์บางอย่าง
แต่พอเอาเข้าจริง คนจีนในอเมริกาเองก็งงว่า เอ้อ ในดินแดนบ้านเกิดที่เราจากมาไม่เห็นมีแบบนี้ ในนวนิยายถันเลยให้ภาพปฏิสัมพันธ์ของชาวจีนกับวัฒนธรรมคุกกี้ที่ทำแบบตลกขบขัน ก่อนจะบอกว่า ไอ้ข้อความในไส้คุกกี้ มันไม่ได้มีประโยชน์อะไรสักกะนิด นักประวัติศาสตร์ก็พยายามไปสืบว่า ไอ้เจ้าคุกกี้ทำนายนี้มันมาจากไหนกันแน่ ในเมื่อเมืองจีนก็ไม่เห็นจะมี
ข้อเสนอสำคัญบอกว่า เจ้าคุกกี้และความเฟื่องฟูนี้เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นเวลาที่วัฒนธรรมและร้านอาหารของคนจีนเริ่มลงหลักปักฐานและรุ่งเรืองขึ้นในอเมริกา นักวิชาการต่างก็สงสัยว่าเจ้าคุกกี้ทำนายที่กลายมาเป็นขนมและประเพณีสำคัญของอาหารจีนในอเมริกาว่ามาจากไหนกันแน่ ต้นตอที่เก่าแก่ที่สุดพบได้ในญี่ปุ่น นอกจาก BNK (หรือ AKB ในญี่ปุ่น) แล้ว ขนมหน้าศาลเจ้าแถวเกียวโตก็ทำคุกกี้ทำนายกันมาเนิ่นนานแล้ว
ที่ญี่ปุ่นมีขนมเซ็มเบชนิดหนึ่งชื่อ Tsujiura senbei เป็นขนมแป้งกรอบที่ขายกันในบางภูมิภาคของญี่ปุ่น ที่ดังๆ แถวๆ ศาลเจ้าฟูชิมิอินาริก็มีขาย เจ้าเซ็มเบนี้หน้าตาเหมือนคุกกี้ทำนายในอเมริกาเลย เพียงแค่มีขนาดใหญ่กว่า และปรุงรสด้วยงาและมิโซะ (ฉบับอเมริกาใช้เนยและน้ำตาล) ภายในคุกกี้บรรจุกระดาษทำนายยาวๆ แบบที่เราเห็นใช้กันตามศาลเจ้า – ซึ่งก็ไม่แปลกที่เจ้าตัวขนมนี้จะต้องทำให้มีแขนยาวๆ สองข้าง ซึ่งโดยหลักฐานภาพเขียนพบภาพพิมพ์การทำขนมประเภทนี้ตั้งแต่สมัยเอโดะ ประมาณศตวรรษที่ 17 โน่น – ถ้าเปรียบเทียบก็คล้ายๆ ทองม้วนบ้านเราที่พับเป็นช่องไว้ใส่กระดาษ
แล้วขนมโบราณจากแดนญี่ปุ่นนี้เดินทางมาที่อเมริกาได้อย่างไร เพราะความสัมพันธ์ของญี่ปุ่น จีน และอเมริกาเริ่มมายุ่งอีรุงตุงนังในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง Yasuko Nakamachi นักศึกษาทางคติชนวิทยาและประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคานากาวะ ใช้เวลาหกปีหาความเชื่อมโยงระหว่างขนมญี่ปุ่นที่เข้าไปอยู่ในร้านอาหารจีนได้สำเร็จ จุดเดินทางสำคัญคือ ร้านขนมญี่ปุ่นในแคลิฟอร์เนียที่เสริฟขนมทำนายที่ปรับเป็นแบบหวาน
ในยุคแรกคุกกี้ทำนายจึงเรียกว่าเป็นขนมแกล้มน้ำชา สมัยนั้นพวกทหารประจำการซานฟรานซิสโกพอกลับไปบ้าน ก็ไปบอกร้านจีนที่บ้านเกิดว่า ทำขนมแบบที่ร้านในซานฟรานซิสโกสิ ประจวบกับครัวจีนเองอ่อนแอเรื่องขนมหวานอยู่แล้ว ตรงนี้เองเลยทำให้ขนมแบบญี่ปุ่นที่ดูจะถูกปากคนตะวันตกเติบโตเฟื่องฟูขึ้นพร้อมๆ กับร้านอาหารจีนที่บูมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
จากเจ้าคุกกี้ที่เป็นเพลง ไปสู่ความเข้าใจที่นึกว่ามีรากเหง้าจากแดนมังกร แต่เจ้าคุกกี้กลับเป็นอีกหนึ่งการผสมผสานทางวัฒนธรรมของอเมริกา ดินแดนที่เต็มไปด้วยชาติพันธุ์และภูมิหลังทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย เป็นประวัติศาสตร์ขนมหวานและการทำนายที่ให้ภาพอันอีรุงตุงนังของวัฒนธรรมตะวันตกและเอเชียทั้งญี่ปุ่นและจีนที่รวบยอดเข้าด้วยกัน
ว่าแล้วก็คล้ายๆ วงของไทยที่เอาความไทยๆ ผสมเข้ากับไอเดียแบบญี่ปุ่น ปรุงรสออกมาได้กลมกล่อม น่ารักดี ให้คุกกี้ทำนายกัน!
อ้างอิงข้อมูลจาก