ในขณะที่คุณกำลังคุยแชตกับคนที่แอบชอบแบบลื่นไหล แถมบทสนทนาก็กำลังไปได้สวย จนกระทั่งอยู่ดีๆ เขาก็รีแอคกลับมาด้วยการ ‘กดไลก์’ แต่ไร้ซึ่งข้อความตอบกลับ แบบนี้มันหมายความว่าอะไรนะ?
หากคุณเคยเจ็บปวดจากประสบการณ์ที่อยู่ดีๆ คนคุยก็หาย ไลน์ไม่ตอบ มาดูเทรนด์การจบบทสนทนารูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้หายไปไหน แต่แค่มา ‘กดไลก์’ ข้อความเฉยๆ ทำเอาคนส่งเกิดอาการ ‘งง’ เล่นๆ
ใจร้ายกว่าการหายไปคือ ‘กดไลก์’ เฉยๆ
เมื่อคนที่แอบชอบมากดไลก์รูปที่คุณโพสต์บน instagram ทำให้คุณรู้สึกหัวใจพองโต คิดไปไกลว่าเขาจะต้องมีใจให้คุณแน่ๆ แต่พอมันมาเกิดขึ้นกับข้อความใน direct message ทำไมความรู้สึกช่างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นั่นอาจเป็นเพราะมันกำลังหมายความว่า บทสนทนาของคุณและเขาได้ ‘สิ้นสุด’ ลงแล้ว
ตั้งแต่ที่โปรแกรมแชตต่างๆ เริ่มพัฒนาให้มีฟีเจอร์ ‘กดไลก์’ หรือ ‘รีแอค’ ข้อความได้ อย่าง direct message ใน instagram ที่เมื่อ ‘ดับเบิ้ลแท็ป’ ก็จะมีรูปหัวใจขึ้นมา ก็ได้สร้างทางเลือกใหม่ในการตอบกลับข้อความแบบน่ารักๆ โดยมีนัยว่า “ฉันอ่านข้อความนี้แล้วนะ แต่ไม่รู้จะตอบอะไรดี งั้นส่งหัวใจเฉยๆ แล้วกัน” ซึ่งวิธีนี้ก็ได้เอื้อให้เรา ‘จบบทสนทนา’ กับคนอื่นได้ง่ายขึ้น โดยที่ไม่ดูเป็นการเสียมารยาท
‘Soft Ghosting’ เป็นคำศัพท์อธิบายพฤติกรรมที่พัฒนามาจากพฤติกรรม Ghosting ที่อยู่ดีๆ คนคุยของเราก็หายตัวไป ไม่บอกไม่กล่าว ปล่อยให้เรางงว่าเกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ครั้งนี้ แต่ Soft Ghosting มีการทิ้งร่องรอยเอาไว้ด้วยรูปหัวใจ หรือเป็นการหายตัวไปในเวอร์ชั่น ‘นิ่มนวล’ กว่าเดิม
Overheard LA ได้ให้คำนิยามพฤติกรรม Soft Ghosting นี้ว่า เป็นการที่อีกฝ่ายตอบโต้ข้อความของเราโดยการแค่ ‘กดไลก์’ ข้อความล่าสุด เพื่อทำให้ดูเหมือนกับว่าเขาเป็นคนสุดท้ายที่ตอบแชท และต้องการจะสื่อว่า “ฉันไม่ได้หายไปไหนเหมือนพวก ghosting ที่อ่านแล้วไม่ตอบซะหน่อย” ส่วนที่เหลือก็ให้เราไปตีความเอาเองว่าที่เขากดไลก์นั้น เขาต้องการจะสื่ออะไร ซึ่งหลังจากที่ได้มีการโพสต์นิยามคำศัพท์นี้ออกมา ก็มีคอมเมนต์มากมายบอกว่าพวกเขาเองก็เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็เป็นคนทำซะเอง
การดับเบิ้ลแท็ปเพื่อกดไลก์ข้อความอาจดูเป็นวิธีที่ ‘สุภาพ’ ที่ใครๆ ก็ทำกัน ซึ่งถ้าเป็นเพื่อนหรือคนรู้จักอาจจะไม่คิดอะไรมาก แต่ถ้าเป็นความสัมพันธ์แบบคนที่กำลังคุยๆ หรือจีบกันอยู่ มันก็อาจทำให้รู้สึกเจ็บจี๊ดขึ้นมาได้ เพราะพฤติกรรมนี้สามารถตีความได้ว่าเขากำลัง ‘หลีกเลี่ยง’ เราอยู่ หรือคิดว่าควรจบบทสนทนานี้ได้แล้วเพราะมันเริ่ม ‘น่าเบื่อ’ และไม่รู้จะต่อประโยคว่าอะไรดี ดังนั้นสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำก็คือการ ‘จบบทสนทนา’ กับเรานั่นแหละ เพียงแค่ทำแบบอ้อมๆ ไม่บอกกันตรงๆ
แม้การกดไลก์จะทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้โดนเมินหรือถูกเพิกเฉย แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องที่อาจจะสร้างความไม่พอใจและน่าอึดอัดพอสมควร เพราะการตอบโต้แบบนี้ทำให้เรา (ที่เป็นฝ่ายส่งข้อความไปคนสุดท้าย) ถึงกับทำตัวไม่ถูกว่า เอ๊ะ สรุปมันคือยังไง? ควรจะ ‘พอ’ หรือ ‘ต่อ’ บทสนทนาดี ซึ่งในภาษาอังกฤษก็มีชื่อเรียกเหตุการณ์อันลำบากใจนี้ว่า ‘Risk double-texting’ ที่อธิบายถึงความเสี่ยงหากคุณส่งข้อความไปอีกเป็นครั้งที่สอง เพราะมันอาจจะทำให้อีกฝ่ายมองว่าคุณน่ารำคาญได้
แชนทัล ไฮด์ (Chantal Heide) โค้ชสอนออกเดต อธิบายไว้กับเว็บไซต์ HuffPost ถึงเหตุการณ์แบบนี้ไว้ว่า “เคสแบบนี้มีบ่อยมาก เพราะการสื่อสารสมัยนี้มีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เนื่องจากพวกเราพยายามที่จะบาลานซ์ชีวิตในโทรศัพท์กับชีวิตจริง”
อ้าว แล้วแบบนี้เราควรจะรับมือกับสถานการณ์ว้าวุ่นใจยังไงดีล่ะ? แชนทัลได้แนะนำว่า ทางที่ดีเราควรจะพยายาม ‘ยอมรับ’ สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ต้องไปหาข้อสรุปอะไรทั้งสิ้น และ ‘ให้เวลา’ อีกฝ่ายในการตอบ เพราะถึงแม้เขาจะสามารถตอบข้อความเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะ ‘ว่าง’ ตอบตลอดเวลาสักหน่อย
ถ้าเขาคิดอะไรกับเราจริงๆ เดี๋ยวเขาก็ตอบกลับมาเองนั่นแหละ
อาจดูเป็นวิธีที่รักษาน้ำใจอีกฝ่าย แต่ก็สร้างความกำกวมชวนฉงนไม่น้อย จะดีกว่ามั้ยถ้า ‘สื่อสารกันออกไปตรงๆ’ เพื่อสร้างความกระจ่างและไม่เป็นการเสียเวลาของทั้งสองฝ่าย
อ้างอิงข้อมูลจาก