วันนี้คุณมีความสุขแล้วหรือยัง
เพราะวันนี้ (20 มีนาคม) เป็นวันความสุขสากล (International Day of Happiness) ที่ทางสหประชาชาติกำหนดไว้เนื่องจากเห็นว่าการแสวงหาความสุข (The Pursuit of Happiness) เป็นเป้าหมายพื้นฐานในชีวิตของมนุษย์ แน่นอนว่าการ ‘มีความสุข’ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนพอสมควร โอเค อาจจะเป็นเรื่องแล้วแต่คน แต่การที่ประชากรจะมีความสุขได้มันก็ย่อมเกี่ยวข้องกับสภาวะแวดล้อมหรือการมี ‘ชีวิตที่ดี’ ที่มาส่งเสริมให้มีความสุขนั้นได้
ไม่นานมานี้ดูเหมือนว่าข้อสอบระดับชาติของเราก็มีประเด็นเรื่องความสุข มีคำถามเรื่องคุณภาพชีวิตเหมือนกัน จากตัวเลือกของคำตอบก็มักจะเน้นไปที่มุมมองของคนคนนั้น ซึ่งก็ดูปนเประหว่างทัศนคติอย่าง เป็นคนดี มีเมตตา มีเพื่อนเยอะ มีงานสุจริต ไปจนถึงลักษณะที่เป็นรูปธรรมมากหน่อย อย่าง ร่ำรวย มีสุขภาพแข็งแรง หรือการศึกษาสูง
การมีชีวิตที่ดีนี่เป็นเรื่องนิยามยากเหมือนกัน แถมในระดับใกล้ๆ ตัว แบบในชีวิตประจำของเรา ดูเหมือนว่าเราเองก็มีชีวิตเพื่อที่จะ ‘มีความสุข’ เพื่อ ‘มีชีวิตที่ดี’ ซึ่งการมีชีวิตที่ดี…บางที มันก็เหนื่อยเหมือนกัน วันไหนกินอาหารขยะก็รู้สึกแย่กับตัวเอง ไม่ได้ออกกำลังก็เริ่มไม่สบายใจ ปีไหนไม่ได้ไปเดินทางท่องเที่ยวหาประสบการณ์ใหม่ๆ ก็เริ่มคิดแล้วว่าใช้ชีวิตไม่คุ้มมั้ยเนี่ย หรือเอาง่ายๆ วันไหนนอนดึก จะนอนไม่ถึงตามที่กำหนด 7-8 ชั่วโมง ก็เริ่มเครียดแล้ว รู้สึกผิด
ความสุข บางทีมันกลายเป็น ‘ข้อกำหนด’ ของชีวิตไปซะอย่างนั้น
‘ชีวิตที่ดี’ วัดจากอะไร?
ในปี 2016 มีรายงานของ BCG(Boston Consulting Group) ทำการสำรวจภาวะชีวิตที่ดีในประเทศต่างๆ ผู้สำรวจเองก็บอกว่าจริงๆ แล้วคำว่าการมีชีวิตที่ดีมันค่อนข้างซับซ้อนนะ ไม่ใช่ว่ารวยอย่างเดียวแล้วจะติดอันดับต้นๆ ได้ สำหรับ BGC บอกว่าจะดูทั้งหมด 3 ปัจจัยหลักคือ ทางเศรษฐกิจ ดูว่าเศรษฐกิจมีการเติบโตดีมั้ย มั่นคงดีหรือเปล่า รายได้ของประเทศเป็นยังไงบ้าง ทางการลงทุน คือรัฐบาลเอาเงินไปลงทุนกับอะไรบ้าง ลงทุนกับสุขภาพของประชาชนไหม เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเสมอภาคมั้ย ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน การจราจร การสื่อสาร มันดีหรือเปล่า ทางความยั่งยืน (ได้ยินบ่อยๆ เนอะ) มีไหม ความยั่งยืนที่ว่าก็เช่นรายได้ของประชาชนมีความเท่าเทียมไหม การใช้อำนาจปกครองของรัฐมีความมั่นคง เชื่อถือได้ โปร่งใสหรือเปล่า พลเมืองเป็นยังไงบ้าง มีสิทธิมีเสียง มีความเสมอภาคทางเพศแค่ไหน
ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดคือได้ถึง 100 คะแนนเต็ม สำหรับประเทศไทยได้คะแนนที่ 45.3 ซึ่งก็อยู่ในระดับกลางๆ ส่วนกลุ่มประเทศที่มีคะแนนต่ำๆ ก็เช่น เอธิโอเปีย รวันดา
ราคาของชีวิตที่ดี
‘ชีวิตที่ดี’ (well being) จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ ‘ตัวบุคคล’ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าต้องเป็นคนดี มีการศึกษา แต่การที่พลเมืองจะมีชีวิตที่ดีได้ก็ต้องสัมพันธ์กับสิ่งที่รัฐจัดหาหรือจัดการให้ เช่นว่า อาจจะเป็นคนดีมากๆ ทัศนคติดีแค่ไหน แต่ถ้าโลกนี้ไม่มีอะไรให้เลย น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง เดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งต้องใช้เวลาแสนยาวนาน ก็อาจมีชีวิตที่ดีได้ยาก
ถ้ามองอย่างสมจริง ด้วยความที่เราก็อยู่ในระบบทุนนิยมเนอะ การจะได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเฉพาะในดินแดนที่ต้องดิ้นรนด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ก็ต้องอาศัยเงินในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาเป็นหลัก เช่น ถ้าเราอยากใช้ชีวิตที่ดี เราก็ต้องมีรถเพราะขนส่งมวลชนมันไว้ใจไม่ได้ ต้องมีบ้านในย่านที่เหมาะสมเพื่อประหยัดเวลาการเดินทาง หรือเพื่อความปลอดภัยในชีวิต
การเมืองเรื่องคุณภาพชีวิต
ทุกวันนี้เรามีภาพของการมีชีวิตที่ดีชุดหนึ่ง การมีภาพชีวิตที่ดีนั้นดูจะเป็นสิ่งที่เราต่างไขว่คว้า เป็นสิ่งที่เรา ‘ต้อง’ ทำ ไม่งั้นจะเริ่มรู้สึกว่าไม่ค่อยดีแล้ว
เอาง่ายๆ คือ ทุกวันนี้เราต่างใช้ชีวิตโดยมีชีวิตที่ดีเป็นเป้าหมาย เราต้องทำงาน ต้องมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ ต้องกินอาหารที่ดี ต้องไปออกกำลัง ต้องนอนให้พอ นอนให้ถูกเวลา ต้องอ่านหนังสือ ต้องเดินทางไปค้นหาความหมายชีวิต
การใช้ชีวิตเพื่อชีวิตที่ดี สุขภาพที่ดีมันก็ดีนะ แต่สุดท้ายมันกลายเป็นข้อปฏิบัติที่มากดดันรูปแบบการใช้ชีวิตของเรา คือเหมือนว่าเราทุกคน ‘ต้อง’ มีชีวิตที่ดี ใครที่ทำตามไม่ค่อยไหว ก็จะไม่ค่อยโอเค จนเรียกว่าเป็นอาการ ‘wellness syndrome’ หรือเสพติดชีวิตที่ดี
เอาง่ายๆ ว่าวันไหนถ้าเราเริ่มกินของที่ไม่เป็นไปตามระเบียบที่ตั้งไว้ นอนไม่ตรงเวลา หรือเครียด นอนไม่หลับ เราจะเริ่มคิดแล้วว่า เฮ้ย จะนอนไม่พอแล้วเนี่ย รู้สึกผิดจัง แล้วในเชิงความรู้สึก ก็จะยิ่งรู้สึกแย่ถลำเข้าไปใหญ่โต
ทำไมความสุขมันทำให้เป็นทุกข์ซะงั้น