มองขึ้นไปบนท้องฟ้า คุณเห็นอะไร? พระอาทิตย์ ก้อนเมฆ ดวงจันทร์ ดวงดาว เครื่องบิน กระต่าย? สุดแล้วแต่จะจินตนาการ แต่มีเด็กกลุ่มหนึ่งเห็น ‘ความชอบ’ ของตัวเองอยู่เหนือขอบฟ้านั่น
แล้วเด็กกลุ่มนั้นก็ไม่ยอมปล่อยให้ความชอบบนอวกาศเป็นแค่อากาศ แต่มารวมตัวกันสร้าง spaceth.co บล็อกรวมบทความเกี่ยวกับอวกาศและการสำรวจนอกโลก ที่เพิ่งได้รับรางวัล Best New Blog ในงาน Thailand Best Blog Award 2017 มาเมื่อเร็วๆ นี้
The MATTER เลยชวน เติ้ล-ณัฐนนท์ และ กร-กรทอง สองเด็กไทยผู้หลงใหลเรื่องราวในอวกาศ และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ spaceth.co มาคุยกันเกี่ยวกับความชอบและบล็อกที่พวกเขาทำขึ้นมา ชวนสนทนาเกี่ยวกับเรื่องอวกาศ ไปจนถึงสังคมและการศึกษา ในฐานะเด็กไทยที่ออกสำรวจไปไกลกว่าขอบโลก
The MATTER : spaceth.co เกิดขึ้นมาได้ยังไง
เติ้ล : มันเริ่มจากการที่มาเจอกันของคนที่มีความสนใจด้านดาราศาสตร์ อวกาศอยู่แล้ว แล้วเรารู้สึกตรงกันว่ามันไม่มีค่อยมีพื้นที่ที่พูดถึงความสนใจแบบนี้ เราสองคนก็เลยตัดสินใจทำเว็บนี้ขึ้นมา แค่อยากให้มีพื้นที่ในการบอกเล่าเรื่องราวที่เราสนใจเฉยๆ แล้วก็ชวนคนรอบตัวมา ตอนนี้มีสมาชิกทั้งหมด 6 คน อยู่ในวัยเรียนทั้งนั้นเลย
The MATTER : เริ่มสนใจเรื่องอวกาศตั้งแต่เมื่อไหร่
เติ้ล : อ่านหนังสือเกี่ยวกับอวกาศครั้งแรกน่าจะตอน 3 ขวบครับ แม่ทำงานกลับบ้านดึก ก็เลยซื้อหนังสือทิ้งไว้ให้อ่าน แล้วดึกๆ ก็มาคุยกัน ก็เลยกลายเป็นคนชอบอ่านชอบเล่า พอโตขึ้นมาความชอบมันก็มีหายๆ ไปบ้าง แต่พอเจอเพื่อนกลุ่มที่สนใจเรื่องเดียวกัน ความชอบที่เคยมีก็กลับมา
กร : เวลาอ่านหนังสือเรียน กรจะชอบเปิดไปหน้าท้ายๆ เพราะมันมีเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ ทีนี้คือความชอบมันมาชะงักลงตรงที่ว่าข้อมูลมันมีอยู่นิดเดียว มันทำให้เราอ่านไป เราเจอว่า Neil Amstrong ไปดวงจันทร์ จบ มีอยู่แค่นั้น เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นให้กรเริ่มหาข้อมูล เริ่มหาอะไรแปลกๆ เข้ามา
The MATTER : มีวิธีการเล่าเรื่องอวกาศใน spaceth.co ยังไง
เติ้ล : ทำให้เขาอยากรู้หรือไม่ก็ทำให้เขารู้มากกว่าที่คิดว่าเขารู้ครับ อย่างคอนเทนต์ตอนเปิดเว็บเป็นเรื่องไลก้า ในหนังสือเรียนจะเขียนว่าไลก้าเป็นสุนัขตัวแรกที่ได้ขึ้นไปบนอวกาศ แต่จริงๆ แล้วที่ขึ้นไปเป็นแค่ศพของมัน เพราะไลก้าเสียชีวิตตั้งแต่ส่งขึ้นไปแล้ว คนก็รู้สึกว่าเป็นความรู้ใหม่ ซึ่งจริงๆ มันไม่ได้แตกต่างจากเดิมมาก แค่รู้เพิ่มจากสิ่งที่เขาเคยรู้
กร : หรืออย่างคอนเทนต์เมื่อเร็วๆ นี้ ที่เป็นเรื่องแหวนของนักบินอวกาศที่ทำหล่นออกไปนอกยาน ถ้าอ่านตามในหนังสือเรียน จะไม่มีข้อมูลเชิงลึกพวกนี้ ในตำราก็จะพูดถึงแค่มิชชั่นหลักๆ ที่ว่า ไปเหยียบดวงจันทร์เรียบร้อย แล้วก็กลับมาบนโลก จะไม่เล่าจุดเล็กๆ ที่มันน่าสนใจระหว่างทาง ทั้งที่นักบินอวกาศก็ไม่ได้เป็นแพทเทิร์นเดียวกันหมด มันจะมีความเป็นมนุษย์ที่น่าสนใจ น่าตื่นเต้นระหว่างทาง เราก็จับเอาตรงนั้น มาเล่า มาบอกต่อว่ามันมีอย่างนี้อยู่นะ มันมีคนที่ทำแหวนหายนะ มันมีคนสวมนาฬิกาขึ้นไปบนดวงจันทร์นะ
The MATTER : หาความรู้หรือเกล็ดที่บอกว่าไม่มีหนังสือเรียนมาจากไหน
เติ้ล : เว็บต่างประเทศครับ เพราะในต่างประเทศ เว็บเกี่ยวกับอวกาศค่อนข้างเป็นที่สนใจ และเป็นหนึ่งใน Pop Sci ที่คนชอบมาก เว็บด้านเทคโนโลยีก็จะมีเซ็กชั่นเกี่ยวกับอวกาศแทบทุกเว็บ
The MATTER : แล้วในประเทศไทยไม่ค่อยมีเหรอ
เติ้ล : ส่วนมากน่าจะเป็นเว็บไซต์ของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านนี้ แต่ผมมองว่าวิธีการสื่อสารอาจจะยังไม่ถูกจริตของคนอ่านบนโลกออนไลน์เท่าไหร่ อย่างเรา เราเล่าในฐานะคนที่ชอบ คนที่สนใจ ไม่ได้เป็นทางการมาก ก็อาจมีวิธีพูดคุยที่เข้าใจกันได้มากกว่า
The MATTER : การมีพื้นที่ที่พูดถึงเรื่องอวกาศอยู่น้อย อาจเพราะว่าคนไทยมองว่าอวกาศเป็นเรื่องไกลตัวหรือเปล่า
กร : ผมว่าอวกาศมันเริ่มเข้าใกล้กับมนุษย์มากขึ้น อย่างในยุค 1960 คนก็จะคิดว่าอวกาศเป็นของรัฐบาล เห็นแค่มนุษย์ไม่กี่คนที่บินขึ้นไป แต่ในปัจจุบัน เอกชนก็เริ่มเข้ามามีส่วนร่วม เด็กนักเรียนก็สามารถปล่อย CubeSat ปล่อยดาวเทียมขึ้นไปได้ สามารถส่งโครงงานขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศได้ คือมันแทบจะมาเป็นส่วนหนึ่งกับชีวิตของเราแล้ว
เติ้ล : คนที่ชอบอวกาศ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบินอวกาศ ไม่จำเป็นต้องทำงาน NASA เขาแค่มีความชอบ ที่อาจจะเป็นความชอบในวัยเด็กของเขา เขาอาจจะเอามาพัฒนาต่อ เขาอาจจะสร้างอาชีพใหม่ๆ หรือช่องทางใหม่ๆ ที่มีความชอบเรื่องนี้อยู่ด้วยก็ได้ เพราะฉะนั้นอวกาศมันรวมเข้ากับชีวิตประจำวันได้ มีนักวิทยาศาสตร์อวกาศคนนึงชื่อ Carl Sagan เคยบอกไว้ประมาณว่า เราโชคดีมากที่เกิดมาในยุคที่สำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะครบทุกดวงภายในช่วงชีวิตของคนๆ นึง เราอยู่ในยุคนี้ ถ้าไม่สนใจอวกาศ แล้วจะสนใจอะไร
The MATTER : จะเห็นว่า spaceth.co มีการเชื่อมโยงกับประเด็นสังคมอยู่เรื่อยๆ (อย่างเช่นเรื่องแหวน เรื่องนาฬิกา หรือว่าเรื่องเลือกตั้งบนอวกาศ) กำลังพยายามแสดงความเห็นต่อสังคมอยู่ด้วยหรือเปล่า
เติ้ล : จริงๆ เรื่องการแฝง ส่วนหนึ่งก็เป็นวิธีที่เราใช้ดึงความสนใจของคนในสังคมในตอนนั้นให้เข้ามา เอาสิ่งที่เขาสนใจ ณ ตอนนั้น แล้วดึงมันเข้ามาที่เรื่องอวกาศ แต่อีกนัยยะหนึ่งเราก็ต้องการให้คนรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกด้วย ส่วนตัวแล้วผมไม่ชอบคำพูดที่บอกว่าไทยเป็นประเทศโลกที่สาม เพราะโลกมันก็มีแค่ใบเดียว เพียงแค่ว่าเราสนใจประเทศอื่นที่เขาอยู่ในโลกเดียวกับเราหรือเปล่า เรารู้ไหมว่าต่างประเทศเนี่ย แม้กระทั่งอยู่บนวงโคจร เขาก็ยังให้นักบินของเขาเลือกตั้งได้
อ่านเรื่องแหวนหายในอวกาศได้ที่ http://bit.ly/2CbBp6z
ส่วนเรื่องเลือกตั้งบนอวกาศอยู่นี่ http://bit.ly/2l1uNh5
The MATTER : ตอนที่ได้ยินประกาศว่า spaceth.co ได้รับรางวัล ตอนนั้นรู้สึกยังไง
เติ้ล : อึ้งครับ ขอบคุณผู้ใหญ่ที่ให้โอกาส ก็ถือว่าเป็นกำลังใจให้คนในทีมทำสิ่งที่เราชอบต่อไป
กร : ดีใจครับ เพราะเว็บเราเคยถูกปรามาสไว้ว่าเป็นเว็บขายฝัน เคยมีผู้ใหญ่บอกว่าเอาเวลาทำเว็บไปเรียนดีกว่า ตอนนั้นเขาทำให้เรารู้สึกว่าเป็นว่าการทำอะไรตามความชอบ แต่ไม่ใช่กิจกรรมในระบบนั้นเป็นเรื่องผิด แต่พอมีผู้ใหญ่มองเห็นความตั้งใจของเรา เราก็รู้สึกดีใจ
The MATTER : ที่บอกว่าเจอมา กลายเป็นว่าระบบการศึกษาไทยไปตีกรอบความชอบของเด็กหรือเปล่า
กร : อย่างชีวิตมัธยมของกร มันอยู่ในยุคที่ทุกคนต้องไปเรียนพิเศษ การศึกษามันดันไปอยู่ที่โรงเรียนพิเศษ พอกรไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่เรียนพิเศษ ก็โดนกดดัน ทั้งที่ความชอบของเรา ตัวตนของเราไม่สามารถตัดสินได้ด้วยตัวเลขบนกระดาษที่ใช้ยื่นเข้ามหาวิทยาลัย อย่างดาราศาสตร์มันอาจจะมีการแข่งขันในระดับโรงเรียนก็จริง แต่พอเข้าไปอยู่ในระบบแล้ว มันกลายเป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของวิชาวิทยาศาสตร์เท่านั้นเอง
เติ้ล : ผมว่าเด็กไทยเอาแต่เรียนพิเศษ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปเรียนเต้น เอาเวลาที่ไหนไปเล่นดนตรี เอาเวลาที่ไหนไปเขียนบล็อก โอเค การเรียนมันสำคัญ แต่มันก็เป็นช่วงหนึ่งของชีวิตเท่านั้น ส่วนความชอบเนี่ย มันจะอยู่กับเราได้จนวันตาย
The MATTER : ความสนุกของการได้สำรวจและเล่าเรื่องเกี่ยวกับอวกาศคืออะไร
เติ้ล : พอได้รู้ว่าโลกปัจจุบันเขาพัฒนาไปถึงไหนแล้ว มันรู้สึกสะใจ สะใจที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่อยู่ในยุคนี้ ยุคที่มนุษย์พยายามจะก้าวเท้าออกไปจากดวงดาว และส่ิงนี้มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มันพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เวลาที่รู้สึกเสียใจหรือเวลาที่รู้สึกว่า เฮ้ย อะไรกันนักหนาวะสังคมนี้ เราพยายามมองคนกลุ่มนึง คนที่กำลังจุดจรวดขึ้นไปบนดาวต่างๆ คนที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมต่างๆ คนที่กำลังโคจรอยู่รอบโลก อยู่เหนือหัวเราขึ้นไป 400 กม. เนี่ย เราชื่นชมคนเหล่านี้ เราอยากเอาสิ่งที่พวกเขาทำมาบอกเล่า แค่นั้นก็รู้สึกว่าเราได้ทำอะไรแล้ว
กร : ของกรก็จะเป็นการที่เรามองเห็นว่า อดีตที่ผ่านมาเราได้เจออะไรมาบ้าง ในปัจจุบันกำลังทำอะไรอยู่ และในอนาคตที่ว่ามนุษย์เราจะเป็นสิ่งมีชีวิตบนดาวหลายดวง เราไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดบนโลก และโดนจำกัดนิยามว่าเราจะต้องตายบนนี้
Photos by Asadawut Boonlitsak