เคยสงสัยไหมว่าอะไรทำให้การพูดของคนเราแตกต่างกัน บางคนพูดช้า บางคนพูดเร็ว บางคนพูดชัดถ้อยชัดคำ ขณะที่อีกคนออกเสียง ส เสือ ร เรือไม่ได้ หรือบางทีอาจจะมีพูดติดอ่างคำเดิมซ้ำๆ บ้างก็เสียงดังหรือเบาจนเกินไป
ความแตกต่างเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ทั้งบุคลิกภาพ ความไม่มั่นใจ หรือสภาพแวดล้อม ณ ขณะนั้น แต่หากถ้าเกิดขึ้นซ้ำๆ จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะเกิดจากพัฒนาการที่ล่าช้า หรือความผิดปกติของระบบประสาท นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าเราควรต้องไปพบ ‘นักแก้ไขการพูด’
‘นักแก้ไขการพูด’ คือผู้ทำหน้าที่ตรวจ ประเมิน วินิจฉัย และแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย โดยทำหน้าที่ต่อหลังจากหมอวินิจฉัย และจะทำงานคู่กับนักแก้ไขการได้ยิน ทว่าอาชีพนี้แทบจะไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปและยังเป็นอาชีพที่กำลังขาดแคลนอยู่ เพราะมีบัณฑิตในระดับปริญญาตรีราวๆ 15 คนต่อปีเท่านั้น รวมถึงในขณะนี้ ทั้งประเทศมีนักแก้ไขการพูดประมาณ 250 คน
The MATTER จึงนัดหมายกับนิตยา เกษมโกสินทร์ อาจารย์จากภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมายฯ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความผิดปกติทางการพูด และทำความรู้จักกับอาชีพนี้ให้มากขึ้น
‘ความผิดปกติทางการภาษา และการพูด’ เกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย
ถ้าถามว่าใครบ้างที่ควรมาพบนักแก้ไขการพูด จริงๆ แล้วมีหลากหลายช่วงวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ซึ่งหลักๆ จะเกิดจากการทำงานของระบบประสาท โครงสร้างของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงผิดปกติ หรือการได้ยินที่ผิดปกติ
“คนไข้ที่เราดูแลจะมีกลุ่มภาษาผิดปกติ ได้แก่ คนไข้เด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้า อันมีสาเหตุมาจากการสูญเสียการได้ยิน กลุ่มอาการออทิสติก กลุ่มอาการที่มีสติปัญญาบกพร่อง กลุ่มสมองพิการ กลุ่มที่มีความบกพร่องทางการใช้ภาษาและการสื่อความ กลุ่มเด็กที่การเรียนรู้บกพร่องหรือที่เราเรียกกันว่า LD (learning disability) แล้วก็ยังมีกลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้า”
ส่วนผู้ใหญ่ก็มีหลากหลายกลุ่มเช่นกัน ทั้งคนที่ได้รับการบาดเจ็บทางสมอง หรือมีอาการเจ็บป่วยบางอย่าง คนที่ใช้เสียงผิดวิธีจนเสียงเริ่มผิดปกติ รวมทั้งคนที่พูดติดอ่าง
“คนไข้พูดติดอ่างเนี่ย ในสมัยก่อนเขาบอกว่าไม่รู้สาเหตุ แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของความบกพร่องทางระบบประสาท จากสมองส่วนที่ควบคุมการพูด บางคนก็มีเรื่องของสภาวะจิตใจ ลักษณะของอาการพูดติดอ่างจะไม่เหมือนกัน บางคนพูดซ้ำคำ เช่น “ปะๆๆๆๆ ไป ไป ไปนะ” หรือถ้าซ้ำหน่วยเสียงก็ “พะๆๆๆ พ่อ” ถ้าเป็นซ้ำวลี เช่น “จะไปไหน จะไปไหน จะไปไหน” หรือบางคนอาจจะพูดลากเสียง “ผมมมม… จะไปแล้ว” หรืออาจจะพูดอ้อม อย่างคนไข้บางคนพูดคำที่ตั้งใจพูดไม่ออก จึงใช้คำอื่นแทน
ตัวอย่างคนไข้คนหนึ่งจะพูดคำว่า ‘กรมอุตุนิยมวิทยา’ แต่พูดไม่ได้ เขาจะบอกว่าไปที่ๆ พยากรณ์อากาศแทน บางคนก็พูดไม่ออกเลย แล้วไปแสดงออกที่ร่างกาย ที่ใบหน้า ไปกระทืบเท้า ตบโต๊ะก่อนพูด มันเป็น Second Characteristics (ลักษณะเฉพาะรองลงมา) ที่เกิดขึ้นในคนไข้พูดติดอ่างได้ หรือบางคนใช้คำเฉพาะช่วยก่อนพูด เช่น “อืม” “อา อา” ลักษณะแบบนี้คนทั่วไปก็มีใช้ แต่ผู้มีอาการพูดติดอ่างจะใช้มากเกินไปจนผิดสังเกต
นิตยาเล่าเสริมว่า สำหรับบางคนที่เกิดอาการนึกคำไม่ออกชั่วคราว พูดเสียงเบา หรือดังเกินไป ถ้าไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ หรือเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ก็นับว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้และไม่ถึงขั้นผิดปกติ หรือบางทีอาจจะเป็นบุคลิกภาพที่แตกต่างกันของแต่ละคน แต่หากไม่แน่ใจก็สามารถมาตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อวินิจฉัยได้เช่นกัน
เพราะการพูดไม่ใช่แค่การ ‘เปล่งเสียง’ แต่เป็นการ ‘สื่อความหมาย’
เวลาได้ยินคำว่านักแก้ไขการพูด บางคนอาจจะนึกถึงภาพคล้ายกับการสอนภาษาหรือเรียนรู้คำศัพท์ แต่การพูดในที่นี้ไม่ใช่แค่การเปล่งเสียงออกมา หากเกิดจากความคิด ความเข้าใจของคนๆ นั้นอย่างแท้จริง
“จุดหมายคือทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น เพราะการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญต่อการดำรงอยู่ เราไม่ได้สอนแค่ให้พูดออกมา แต่นักแก้ไขการพูดช่วยให้คนไข้ได้แสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึกและ ความคิดของเขาด้วย อย่างเช่น การฝึกเด็กออทิสติกที่ยังไม่สื่อความไม่ว่าจะเป็นภาษากาย หรือภาษาพูด และไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของอีกคนหนึ่ง เพราะความผิดปกติในสมองเกี่ยวกับระบบประสาทสัมผัสของเด็กเองหรือการประมวลผลสิ่งที่เห็นหรือได้ยิน เราก็จะต้องมีวิธีการที่ทำให้เด็กคนนั้นเกิดการรับรู้ แล้วแสดงออกมาด้วยศักยภาพของเด็ก ณ ขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาษากาย น้ำเสียง ภาษาพูดมีความหมายว่าอย่างไร เวลาฝึกเราจะให้ผู้ปกครองจะเข้าไปด้วย แล้วทำให้เห็นว่า ตอนนี้ลูกเป็นอย่างนี้นะแม่ แม่ต้องทำแบบนี้นะ พ่อต้องทำแบบนี้นะ ในรายที่เราเห็นว่าพ่อ หรือแม่พอเข้าใจก็จะโค้ชให้เขาทำให้ดู แล้วชี้ให้เห็น ตีความหมายการสื่อสารของลูกให้เป็นเพื่อนำไปสู่การตอบสนองที่ตรงกับความต้องการของเด็ก เมื่อเขากลับบ้านพ่อแม่ไม่แน่ใจการสอนลูกว่าถูกไหม หรือไปอย่างไรต่อ ด้วยปัจจุบันมีเทคโนโลยี แอดไลน์ได้ เราก็ให้เขาส่งการบ้านมาแล้วเดี๋ยวเรามาคุยกัน เหมือนเราโค้ชไปด้วย ทำไปด้วย
เป้าหมายของการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษา การสื่อสาร นักแก้ไขการพูดจะต้องฝึกเด็กคนนั้นจนถึงขั้นที่เขาต่อรองกับคนอื่นได้ เช่น วันนี้แม่บอกให้พับผ้าที่เด็กไม่อยากทำ ถ้าเด็กรู้ความต้องการเขาก็จะต่อรองกับแม่ได้ว่าจะพับกางเกงนะ ไม่พับเสื้อของพ่อ เพราะเสื้อของพ่อตัวใหญ่ พับยาก” เด็กบางคนอ่านสีหน้าเพื่อนไม่ออก ไม่ทันเกมของเพื่อน แต่อยากเล่นกับเพื่อน เพื่อนก็แกล้งเด็กสั่งเด็กว่าให้ไปใต้บันไดดูว่าเพื่อนผู้หญิงที่กำลังลงจากบันได ใส่กางเกงในสีอะไร แล้วจึงจะให้เป็นเพื่อนด้วย” เด็กก็ทำไปเพราะอยากมีเพื่อน ดังนั้นถ้าไม่สอนให้ถูกวิธี เด็กก็คิดเองไม่ได้ เช่นสอนแบบภาษาสคริปต์ให้เด็กจำ หรือท่องเป็นนกแก้ว นกขุนทอง อย่าง ‘การใช้มีดปลายแหลมเป็นสิ่งไม่ดีจะทำให้เกิดอันตราย เราไม่ควรเล่นมีดนะครับ’ การฝึกพูดที่ทำอยู่คือฝึกผ่านการเล่นสมมติ เมื่อพัฒนาการทางอารมณ์ที่ใช้การได้ของเด็กถึงขั้นการเล่นสมมติ เราก็ใช้การเล่นสมมติเป็นเวทีของการฝึก เพื่อกระตุ้นการแก้ปัญหา ทำให้เด็กเอ๊ะใจ และคิดได้เองโดยผู้ใหญ่ไม่ต้องพากษ์หรือบอกบทเพื่อให้จำ เราต้องทำให้เขารู้ว่า เขาจะโต้ตอบได้ยังไง ระหว่างการเล่นเด็กเกิดอารมณ์ ความรู้สึกคู่ไปกับคำ หรือความคิดเขาก็จะใช้ได้เองในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนาการใช้เหตุผลในอนาคตด้วย
อาชีพที่ได้ย้อนกลับมาเรียนรู้และเข้าใจตัวเอง
นิตยาเป็นหนึ่งในคนที่ทำอาชีพนี้มาอย่างยาวนานทั้งในฐานะนักแก้ไขการพูด และอาจารย์สอนนักแก้ไขการพูด ซึ่งเธอบอกว่าไม่เคยรู้สึกเบื่อหรืออยากจะเปลี่ยนสาย เพราะอาชีพนี้ตรงกับความชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และยังทำให้เธอได้กลับมาเรียนรู้ตัวเองอยู่เสมอ
“เราชอบอาชีพนี้เพราะมันเหมือนสอนตัวเราเองด้วย เราได้พัฒนาตัวเองตลอด แล้วเราเป็นคนชอบเรียน มีอะไรใหม่ๆ เราก็เอามาอ่าน มาเรียน เรียนเสร็จแล้วเราก็เอามาใช้ เชื่อมโยงกับทฤษฎีที่เรามี แล้วมันก็สนุก แต่ละคนก็จะมีความแตกต่างระหว่างบุคคลที่เราจะต้องใส่หลักการ ใส่วิธีการลงไป การฝึกพูดในคนแต่ละคนแม้ในกลุ่มอาการเดียวกันก็ไม่ได้ฝึกแบบเดียวกัน”
“พอสิ่งที่เราใส่ลงไปมันทำให้เขาก้าวหน้า เราก็ดีใจแล้ว ซึ่งทุกอย่างมันกลับมาสอนที่ตัวเราทั้งสิ้นเลย แม้กระทั่งเราสอนให้คนไข้คิดเป็น ตัวเราเองจากคนที่คิดไม่เป็นระบบ เราก็ต้องฝึกตัวเองให้เป็นระบบ จากคนที่ไม่ตั้งใจฟัง ก็กลายเป็นคนที่นิ่งขึ้นแล้วฟัง คอยสังเกต แล้วก็รอจนเราเข้าใจคนไข้ได้ จากคนที่ไม่เคยรู้ว่าตัวเองรู้สึกยังไง โกรธก็ไม่รู้ เสียใจก็ไม่รู้ พอเราต้องฝึกเด็กออทิสติกคนหนึ่งให้เขาเข้าใจคำว่า โกรธ คำว่าเสียใจ ตัวเราเองเราก็ต้องฝึก แล้วเราก็เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเราไปด้วย”
“อาชีพนี้ทำให้เรานิ่งขึ้น ฟังคนมากขึ้น รอคอยมากขึ้น สังเกตเห็นรายละเอียดบางอย่างมากขึ้น พอทำมาถึงอายุนี้แล้วเนอะ มันเลยเหมือนมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ไวต่อสิ่งรอบตัวได้ง่าย บางทีแค่หันไป เด็กกำลังคิดอะไร เรารู้ทันที แม่เด็กก็ถาม อาจารย์รู้ได้ไงว่าลูกกำลังต้องการอย่างนี้ เพราะมันค่อยๆ ซึมซับเข้าไปอยู่ในตัวเราเอง เลยรู้สึกสนุกกับมัน คือความท้าทายใหม่ๆ เป็นสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน พอทำแล้วมันดี มันก็เป็นคุณค่ากลับมาให้เรา เหมือนกลับไปกลับมา เราไม่ได้ให้อย่างเดียว แต่เขาให้เรากลับมาด้วย”
เส้นทางที่ไม่ง่ายของนักแก้ไขการพูด
หากย้อนกลับไปก่อนที่นิตยาจะเดินมาถึงเส้นทางของนักแก้ไขการพูด จริงๆ แล้วเธอเริ่มต้นมาจากการเรียนจิตวิทยาคลินิก แล้วได้รู้จักกับอาชีพนี้ระหว่างการทำงาน จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทเพื่อเข้ามาทำงานในฐานะนักแก้ไขการพูด (ในตอนนั้นยังไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี)
แต่ในปัจจุบันคนที่สามารถสอบใบประกอบโรคศิลปะ รวมทั้งเรียนต่อปริญญาโทได้ จะต้องจบปริญญาตรีจากหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมายนี้โดยตรง ที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมายฯ ซึ่งอยู่ในสังกัดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยแต่ละปีจะรับนักศึกษาที่เรียนด้านแก้ไขการพูด 15 คนและแก้ไขการได้ยิน 15 คน โดยช่วงที่เรียนจะต้องเก็บชั่วโมงให้ได้ครบ 350 ชั่วโมง เพื่อไปยื่นสอบใบประกอบโรคศิลปะ ก่อนจะเข้ามาเป็นนักแก้ไขการพูด
“ถ้าปัจจุบันนี้ต้องจบในสาขาเพราะคนที่จะเข้าเรียนต่อปริญญาโท จะต้องมีใบประกอบโรคศิลปะ แต่ถ้าเรียนปริญญาเอก เรากำลังคุยกันอยู่ว่าในอนาคตเราอาจจะรับสาขาใกล้เคียง เช่น กิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด พยาบาล” ทว่าความท้าทายสำคัญกลับไม่ใช่เรื่องจำนวนบุคลากรในระบบการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียว หากเป็นเส้นทางอาชีพต่อจากนั้น
“ปัญหาอีกอย่างของอาชีพนี้คือ การกำหนดกรอบตำแหน่ง ให้กับนักแก้ไขการได้ยินหรือนักแก้ไขการพูด ในโรงพยาบาลที่เขารับ ก็จะมีแผนกโสตศอนาสิกวิทยา แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ แต่บางที่รับได้แค่ตำแหน่งเดียวก็อยู่โสตศอนาสิกก่อน แล้วรับคนไข้ทุกอย่างเข้ามาจากหลายๆ แผนก ตามที่กล่าวมาแต่แรกว่าคนไข้ที่นักแก้ไขการพูดบำบัดมีตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา แต่ละเคสต้องใช้เวลาการรักษาต่อเนื่อง ดังนั้นการมีนักแก้ไขการพูดเพียง 1 คนรองรับคนไข้ที่มาจากหลากหลายสาเหตุ หลายแผนกในช่วงเวลาเดียวกันจึงให้้บริการได้ไม่เพียงพอกับผู้มารับบริการในแต่ละครั้งใช้เวลา 30-45 นาที คนไข้จำนวนมากจึงต้องรอคิวนานเดือนละครั้ง บางคนสองเดือนครั้ง โชคดีหน่อยก็สองสัปดาห์ครั้ง อีกเรื่องหนึ่งคือ เนื่องจากการจัดการของรัฐบาลกำหนดให้กรอบตำแหน่งบางที่ไม่ใช่ข้าราชการ อย่างพนักงานของกระทรวงสาธารณสุข ถ้าเข้าไปแล้ว สมมุติว่า เขาอยากพัฒนาตัวเอง เขาอยากเรียนต่อ เขาก็ต้องลาออก แต่ถ้าตรงไหนที่เป็นพนักงานราชการก่อนนะแล้วเดี๋ยวหนึ่งปีหาทางลงให้ บัณฑิตจบใหม่ก็ไปได้”
“แล้วเรื่องที่หนักสำหรับบางคน อย่างลูกศิษย์ที่เขามีอุดมการณ์ เราได้ฟังเรื่องของเขามา มี 2 คนคือนักแก้ไขการพูดกับนักแก้ไขการได้ยิน เขาอยู่โรงพยาบาลใหญ่เลยแหละ ช่วงต้นๆที่เขาไปอยู่ใหม่ๆเพราะแพทย์ที่ต้องการนักเวชศาสตร์สื่อความหมายไปช่วยงานให้ครบวงจร แต่พอไปแล้วไม่มีงบจ้าง ซึ่งได้วันละกี่ร้อยก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าเขานับจำนวนวันทำงาน ส่วนเสาร์อาทิตย์จะไม่นับ เขาเล่าให้เราฟังว่า อาจารย์เชื่อไหม เรา 2 คน ต้องหารกันซื้อกับข้าว ต้องคิดว่าวันนี้เราจะทำอะไร จะได้พอกินเดือนนี้ไหม เขาใช้ชีวิตแบบนี้อยู่หลายเดือนมาก แต่ด้วยความที่อยากจะช่วยคน แถวนั้นมีภูเขา มีกลุ่มชนกลุ่มน้อย มีอะไรอย่างนี้เขาเลยยังอยู่ แล้วพ่อแม่ก็ถามว่า ทำไมไม่กลับมา แต่เขารู้สึกว่า เขาอยู่ที่นี่เขาได้ช่วยคนด้อยโอกาส เด็กบางคนมาจากพื้นที่ห่างโรงพยาบาลที่เขาทำอยู่ 300 กว่ากิโลเมตร ถ้าเราไม่ทำใครจะทำ มันเป็นการสร้างคุณค่าบางอย่างกับผู้มารับบริการรวมทั้งตนเองนะ”
“จริงๆ คงไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนี้ เพราะกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ หลายๆ กลุ่มก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน กลุ่มแพทย์เองก็ยังเจอ ที่ช่วงนี้มีข่าว มีการให้สัมภาษณ์เยอะตามที่รู้กัน แต่กลุ่มนักแก้ไขทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักแก้ไขการพูด นักแก้ไขการได้ยิน นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด พยาบาล ก็ยังเจอปัญหาอัตรากำลังมันกระจายไม่ถึง แล้วพอเขาจบมา เขามีทางเลือก โรงพยาบาลเอกชนเองก็ต้องการ เขาก็ไปที่เอกชน แทนที่เขาจะอยู่ในรัฐบาลเพื่อดูแลตรงนั้น เพราะฉะนั้นจุดนี้เป็นปัญหาของประเทศเราอย่างยิ่งเลย แพทย์เองก็งานหนัก บุคลากรเหล่านี้ก็งานหนักเช่นกัน”
“เราคิดว่าอย่างน้อย รัฐควรจะทำให้เขารู้ว่า อนาคตเขาอยู่ที่ไหน ถ้าคนที่มีอุดมการณ์ เขาพร้อมที่จะลุยอยู่แล้ว แต่กลายเป็นว่าลุยแล้วไปถึงจุดที่เขาต้องกัดก้อนเกลือกิน เขาบอกว่าหนูไม่รู้เหมือนกันว่าหนูอยู่ได้ยังไง พอเขามาเล่าแล้วเราต้องชมเลยว่า เก่งมากเลยนะที่พวกหนูอยู่เพื่อคุณค่าบางอย่าง แต่พอถึงจุดหนึ่งทุกคนมันก็ต้องหาทางไปต่อ”
ส่วนในมุมคนไข้เอง การมีบุคลากรที่น้อยลงย่อมเกิดผลกระทบต่อการรักษา เพราะคนไข้หลายคนต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัดและมีข้อจำกัดหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย การแก้ปัญหาในตอนนี้ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจึงเป็นการปรับใช้บริการแบบทางไกล (telecare) ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อลดระยะเวลาและงบประมาณที่ใช้ในการเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ หรือในตัวเมืองแทน ขณะเดียวกันก็นัดให้มาพบกันในคลินิกด้วยสอง สามเดือนครั้ง”
เราเชื่อว่านอกจากนิตยาและนักแก้ไขการพูด ยังมีอีกหลายคน หลายอาชีพที่มีความฝัน แล้วลงมือทำในสิ่งที่ให้คุณค่าต่อตัวเองและคนอื่นๆ แต่คงจะดีกว่านี้ ถ้าระบบเอื้อให้คนที่มีทั้งอุดมการณ์ ความสามารถ และความตั้งใจ ได้มีโอกาสลงมือทำสิ่งอยากทำได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องพะวงเรื่องการเส้นทางเติบโต รวมทั้งความมั่นคงในชีวิต