“โตขึ้นอยากเป็นอะไร”
“ยังไม่รู้เลยครับ”
“รีบรู้ซะสิ”
“โตขึ้นอยากเป็นอะไร” เอาจริงก็เป็นคำถามที่ตอบยากเหมือนกันนะ ไม่ว่าจะสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะทุกวันนี้เราก็ยังตอบคำถามนั้นไม่ได้เลย ว่าที่จริงเราอยากเป็นอะไรกันแน่ ดังนั้นการที่ไม่รู้ว่าอยากโตไปเป็นอะไรก็ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ในเมื่อประเทศนี้ไม่ได้ให้โอกาสเด็กๆ ในการสำรวจเส้นทางอาชีพขนาดนั้น
ประเทศนี้ไม่ได้มีพื้นที่ให้เรียนรู้ขนาดนั้น
มีงานศึกษาใหม่ล่าสุดที่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเด็กเข้าสู่ช่วงอายุ 8 ปี พวกเขาจะเริ่มมีความสนใจในเรื่องของอาชีพในอนาคต และมีความทะเยอทะยานที่จะไปให้ถึงจุดที่คิดไว้ ถ้าในช่วงเวลานี้พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ ก็จะทำให้เส้นทางอาชีพของพวกเขาชัดเจนขึ้น รู้ว่าต้องพัฒนาทักษะไหนบ้าง และพอถึงเวลาที่ต้องเลือกอาชีพ พวกเขาจะโดดเด่นกว่าใคร
ซึ่งสอดคล้องกับอีกหนึ่งงานศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าเด็กนักเรียนส่วนใหญ่เรียนจบออกมาโดยไม่รู้ว่าตัวเองอยากจะทำอะไรต่อไป ดังนั้นไม่ว่าโรงเรียนหรือผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เรื่องอาชีพต่างๆ ตั้งแต่เด็กยังอยู่ในช่วงชั้นประถม ซึ่งวิธีการอาจจะเป็นการลองเรียนรู้ทักษะใหม่ เผื่อว่าพวกเขาจะเจอสิ่งที่ชอบ พาไปดูสถานที่ทำงานจริง หรือลองเป็นลูกมือของผู้ใหญ่สักวันหนึ่ง
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรู้ว่าตัวเองอยากโตขึ้นแล้วเป็นอะไรในประเทศนี้ เพราะไม่มีพื้นที่ให้ได้ทดลอง ชีวิตของเด็กนักเรียนคนหนึ่ง ทุกวันคือการไปเรียน 8-9 คาบ ต่อด้วยเรียนพิเศษ กลับบ้านมาทำการบ้าน และวันเสาร์อาทิตย์ก็ยังคงต้องไปเรียนพิเศษ เด็กนักเรียนไม่มีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์นอกห้องเรียน ไม่ได้ลองทักษะใหม่ๆ และไม่รู้ว่าตัวเองชอบ หรือไม่ชอบอะไร
คำถามที่ยิ่งโต ยิ่งตอบยาก
ดังนั้น “อยากโตไปเป็นอะไร” ก็เป็นคำถามที่คำตอบสามารถเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา และมันจะตอบยากขึ้นเมื่อเราโตขึ้น ตอนอนุบาลชอบร้องเพลงกับเพื่อน เราก็อาจจะตอบว่าอยากโตไปเป็นนักร้อง พอขึ้นชั้นประถมได้ดูการ์ตูนเกี่ยวกับการแข่งรถ คำตอบอาจจะเปลี่ยนไปเป็นนักแข่งรถก็ได้ แต่พอขึ้นมัธยม เราก็จะได้รับเครื่องบดขยี้ความฝันมาเครื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะฝันอะไรไว้ในวัยเด็ก เราก็จะได้รู้ว่ามันยากที่จะเป็นจริง
อยากเป็นนักร้องใช่ไหม เรียนไปก่อน ร้องเพลงเป็นงานอดิเรกก็พอ ตั้งใจเรียนเข้าสิ จะได้มีอาชีพที่มั่นคง อยากเป็นนักแข่งรถเหรอ บ้านเราไม่มีเงินขนาดนั้นหรอก แล้วสุดท้ายจะเหลืออะไรให้เราฝัน เราก็ทำได้เพียงแต่เดินตามเส้นทางที่ระบบการศึกษาสร้างเอาไว้ให้ นั่นคือการเรียน เลือกสายการเรียน สอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังให้ได้ และไปแข่งขันกันเพื่อจะได้ตำแหน่งงานในบริษัทที่มั่นคง จะได้มีชีวิตที่สบาย พอเวลาล่วงเลยผ่านไป มาถามกันตอนนี้ก็ตอบไม่ได้แล้วว่าโตขึ้นอยากจะเป็นอะไร เพราะมันไม่มีทางเลือกรออยู่ข้างหน้า
แล้วเราจะทำยังไงดี
โทนี่ ร็อบบินส์ (Tony Robbins) นักพูดให้กำลังใจเคยกล่าวเอาไว้ว่า “การตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองคือก้าวแรกของการทำให้สิ่งที่เรามองไม่เห็นมันเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ซึ่งมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า ถ้าเราฝึกให้ตัวเองคิดว่าเราต้องการอะไรในชีวิต และจะทำอย่างไรเพื่อให้ก้าวไปถึงจุดนั้นได้ สมองของเราจะสั่งการโดยอัตโนมัติเพื่อทำให้ภาพเหล่านั้นเป็นจริงขึ้นมา ถ้าเราทำได้ ก็คือเราทำได้ แต่ถ้าเราทำไม่ได้ สมองก็จะยังคงสั่งให้เราทำต่อไปจนกว่าจะทำได้
แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะกำหนดเป้าหมายยังไงดี เราสามารถใช้วิธี ‘E-E-E’ มาช่วยกำหนดเป้าหมายได้ ซึ่งวิธีนี้ถูกพูดถึงในวารสาร American Psychological Association เป็นการกำหนดเป้าหมายโดยใช้ตัวเราเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะช่วยให้เรากำหนดเส้นทางชีวิตได้ง่ายขึ้น
- Enlighteningขั้นตอนแรกคือ การสำรวจเข้าไปในใจตัวเอง เรามีจุดแข็งและจุดอ่อนเป็นอะไรบ้าง ตอนนี้เราทำอะไรอยู่ เราทำมันได้ดีหรือเปล่า แล้วเราทำอะไรได้ดีบ้าง ถ้าตัดเรื่องอื่นออก เราทำอะไรแล้วรู้สึกมีความสุขบ้างนะ เราต้องการอะไรในชีวิต ซึ่งการถามคำถามเหล่านี้กับตัวเอง อาจทำให้เราได้คำตอบตั้งแต่ขั้นตอนนี้เลยก็ได้
- Encouraging ให้กำลังใจตัวเอง เชื่อในตัวเองว่าเราจะต้องทำได้ เพื่อที่เราจะได้วางแผนและทำตามแผนให้ได้สำเร็จ ถ้าเรารู้แล้วว่าอยากเป็นอะไร แต่ก็รู้ตัวเหมือนกันว่าความสามารถเรายังไม่ถึงแน่ ก็ต้องเชื่อไว้ก่อนว่าต่อให้วันนี้เรายังทำไม่ได้ แต่เดือนหน้าเราก็จะทำได้ดีกว่าตอนนี้อย่างแน่นอน ถ้าเราฝึกฝนมันอย่างต่อเนื่อง เราก็จะเห็นผลของความพยายามในสักวัน
- Enabling ถึงขั้นตอนการลงมือทำ ถ้าเรารู้แล้วในวันนี้ว่าที่จริงเราอยากเป็นนักดนตรีนี่เอง การที่เราเก็บสิ่งที่คิดในขั้นตอนแรก และขั้นตอนที่ 2 ไว้ในใจเสมอจะช่วยให้เราแบ่งสมดุลได้ว่า นี่คือสิ่งที่เราคิดไว้ และนี่คือสิ่งที่เป็นจริง ตอนนี้เราอาจจะยังเล่นเครื่องดนตรีเป็นเพลงไม่ได้สักนิด ก็เริ่มเลย วันละนิดหน่อยก็ได้ เดี๋ยวก็เก่งขึ้น ถ้าเราซ้อมสม่ำเสมอ
หรือถ้าตอนนี้ยังคิดไม่ออกว่าอยากเป็นอะไรก็ไม่ต้องกดดันตัวเองขนาดนั้น โฟกัสกับความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจที่จะหางานอดิเรกทำสักหน่อย หรือความตั้งใจที่จะดูแลสุขภาพ ถึงวันที่พร้อมแล้วค่อยมาคิดหาคำตอบก็ได้นะ
ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือวัยทำงานแล้ว เราเชื่อว่าไม่เคยมีคำว่าสายสำหรับการที่เพิ่งรู้ว่าเราอยากจะโตไปเป็นอะไร
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Manita Boonyong
Proofreader: Runchana Siripraphasuk