วันนี้มีข่าวน่าเศร้าเกี่ยวกับการตัดสินใจจากไป จริงๆ แค่การรายงานข่าวเนื่องจากเป็นครอบครัวของดาราดังก็ว่าแปลกแล้ว เพราะการจากไปของคนในครอบครัวออกจะเป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากๆ การที่บุคคลในครอบครัวเสียชีวิตก็เป็นเรื่องที่หนักหน่วงแล้ว แต่ต้องนำมาเผยแพร่ออกสู่สาธารณะก็คงแย่เข้าไปใหญ่ ที่เลวร้ายที่สุดคือ เมื่อเรื่องส่วนตัวกลายเป็นเรี่องสาธารณะ จึงก่อให้การวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกระทำของผู้จากไปอย่างไม่รู้สึกรู้สา
สังคมไทยเป็นสังคมที่แปลก เราบอกว่าเราเป็นคนพุทธ แต่เรากลับเป็นสังคมมักตัดสินและชอบเอาตัวเองไปทาบทับคนอื่น
ในหลายๆ กรณีมันก็พอทนทานแหละเนอะ แต่กรณีของความตายที่มาจากความเจ็บป่วยทางใจมันเป็นเรื่องอ่อนไหวและต้องการความเข้าใจอย่างมาก
น่าแปลกที่สำหรับเมืองพุทธอย่างเราๆ ดูเหมือนว่าหลักธรรมอย่างเมตตาธรรมหรือการวางอุเบกขาจะเป็นธรรมที่ลบลืมไป เรากลับพร้อมที่จะเข้าชี้ชวนกันบอกว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายนั้นช่างอ่อนแอเสียเหลือเกิน ช่างไม่คิดถึงบุญคุณ ไม่รู้จักมองคนที่แย่กว่า หรือไม่ก็ไม่รู้จักเป็นชาวพุทธที่ดี ที่ฝึกจิตฝึกใจให้เข้มแข็งได้ (จริงๆ โดยนัยมันเหมือนกำลังบอกว่าฉันนี่แหละคือคนที่รอด แข็งแกร่ง เธอทำไมไม่แข็งแกร่งเหมือนฉัน)
ประเด็นสำคัญของ ‘โรคซึมเศร้า’ คือมันไม่ใช่แค่เรื่องของอารมณ์ หรือความเศร้าธรรมดาที่มาแล้วก็ไป แต่มันเป็นเรื่องของอาการ เป็นความผิดปกติที่มีความซับซ้อนและสัมพันธ์กับสารเคมีในสมองด้วย เมื่อเป็นซึมเศร้าเลยต้องมีการบำบัดรักษาด้วยผู้เชี่ยวชาญหรือการใช้ยาต่างๆ ช่วย
สรุปคือ ซึมเศร้าเป็นอาการที่ต้องการความเข้าใจและการบำบัดอย่างถูกต้องเหมาะสม
แน่นอนว่า ไอ้การใช้คำพูดทั้งปลอบหรือวิพากษ์มันเลยเป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวังนิดหนึ่ง คือการวิพากษ์มันก็จะเกี่ยวกับความเชื่อข้างบนที่มองแค่ว่าซึมเศร้าเป็นเรื่องของภาวะอ่อนแอทางอารมณ์ ซึ่งการให้กำลังใจบางที ถ้าเป็นภาวะปกติเราก็จะมีการให้กำลังใจแบบแง่ลบแต่หวังผลเชิงบวกใช่ปะ ซึ่งทั้งหมดนี้มันอาจจะยิ่งไปให้ผลเชิงลบไปกันใหญ่ คือยิ่งไปทำร้ายคนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า ดังนั้น มาดูคำพูดที่เราอาจจะประสงค์ดีแต่มีผลร้ายกับคนซึมเศร้ากัน
“ไปเข้าวัดนั่งสมาธิสิ”
แนวปฏิบัติในพุทธศาสนาเป็นแนวทางที่ดีครับ แต่ปัญหาคือคงไม่มีแนวทางใดในโลกที่เป็นคำตอบสำหรับทุกสิ่ง แนวคิดพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังการแนะนำการนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมอยู่ที่ความเชื่อเรื่องจิตที่แยกออกจากกาย และเป็นการให้ความสำคัญกับการฝึกจิตหรือจิตใจให้เข้มแข็งขึ้น แต่อย่างที่บอกว่าโรคซึมเศร้าคือโรค ที่สัมพันธ์กับความผิดปกติของสารเคมีในสมองอย่างซับซ้อน ไม่ใช่ภาวะทางอารมณ์ธรรมดา
“ไม่สงสารพ่อแม่หรอ”
หนึ่งในคำพูดที่แม้แต่พูดกับคนที่อารมณ์ปกติยังมีนัยรุนแรงเลยเนอะ คือเข้าใจแหละว่าอยากจะให้มีพลังด้วยการพูดถึงคนที่รักเรา อยากให้เราแข็งแกร่งขึ้นเพื่อคนที่เลี้ยงเรามา แต่ฟังๆ ดู ถ้าพูดถึงคนที่ตัดสินใจจากไป มันก็เป็นการตำหนิที่รุนแรงเนอะ ไม่จำเป็นก็อย่าทำร้ายกันเลยดีกว่า
“ดูคนที่เขาลำบากกว่าสิ”
อีกหนึ่งในหลักคิดแห่งการให้กำลังใจยอดนิยมของบ้านเรา แต่ถ้าคิดดีๆ มันเป็นการให้กำลังใจแบบแง่ลบ สมการลบเจอลบเป็นบวกมั้ง คือมองความหายนะของคนอื่นแล้วบอกว่าเออ เรานี่โชคดีแค่ไหน ยิ่งสำหรับคนที่เผชิญหน้ากับความเจ็บป่วยไม่ได้แค่รู้สึกแย่ประเดี๋ยวประด๋าว การใส่พลังลบเข้าไปเลยอาจจะไม่ได้ออกมาเป็นบวกก็ได้ ดังนั้นความสำคัญไม่ได้อยู่ที่การชี้ให้เห็นว่ายังมีคนอื่นแย่กว่าเรา หรือเรามีสิ่งดีๆ มากแค่ไหน แต่อยู่ที่การบอกว่าเธอไม่ได้อยู่เดียวดายในโลกนี้นะ ยังมีคนอื่นๆ เคียงข้างอยู่
“คิดบวกสิ!”
ความป่วยไข้ไม่ใช่เรื่องของทัศนคติ และอย่างที่บอกมันคือโรคและความผิดปกติของสารเคมีและสื่อไฟฟ้าในสมอง อีกอย่าง เรื่องของความคิดนี่มันก็ซับซ้อนเนอะ ไม่ได้แค่ง่ายๆ แบบ เออปรับมุมมองสิ เหมือนเดินจากมุมหนึ่งไปอีกมุมหนึ่งแล้ว ทาด้า! เกิดดวงตาเห็นธรรม จากโลกมืดกลายเป็นสว่าง ถ้ามันง่ายแบบนั้นคงไม่ต้องทุกข์ใจกันแล้วเนอะ แถมถ้าสารเคมีในสมองไม่สมดุลอยู่ จะไปหาความคิดเชิงบวกจากที่ไหนละฟะ
“ไปออกกำลังกาย”
กีฬากีฬาเป็นยาวิเศษ ฮ้าไฮ้… แต่ก็ไม่วิเศษขนาดนั้น การออกกำลังให้ร่างกายและจิตใจแข็งแกร่งได้ผลดีกับคนที่ไม่ได้มีปัญหากับสารในสมอง แถมคนที่มีอาการซึมเศร้าก็อาจจะไม่ได้มีร่างกายแข็งแรงที่จะลุกขึ้นไปออกกำลังได้ทันทีทันใดด้วยแหละ
“เดี๋ยวมันจะดีขึ้น”
อาการป่วยอย่างซึมเศร้าไม่ได้มีลักษณะที่เยียวยาตัวเองได้ง่ายๆ ความป่วยไข้ไม่ได้หายไปได้ด้วยตัวเองแต่ต้องใช้การรักษาทางการแพทย์ อันนี้คงหมายถึงการให้กำลังใจแบบที่ว่า เอ้อ เดี๋ยวแผลก็หาย ความเศร้า เหงา อกหัก เวลาอาจจะเยียวยาได้ แต่สำหรับอาการซึมเศร้า ทางที่ดีควรเข้ารับการบำบัดทางการแพทย์
“เราเข้าใจเธอนะ”
อันนี้เจตนาดี แต่ผลอาจจะต้องระวังนิดหนึ่งเนอะ เพราะการเปรียบเทียบความรู้สึกของคนที่ไม่สบายใจเฉยๆ หรือเศร้าๆ ไปตามเรื่องตามราวกับคนที่มีอาการซึมเศร้าที่เป็นความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ไม่โอเค แต่ละคนมีประสบการณ์ที่เผชิญอาการซึมเศร้าแตกต่างกันออกไป อีกอย่างเรื่องจิตใจเป็นเรื่องซับซ้อน เอาว่าภาวะปกติธรรมดาบางทีตัวเราเองยังไม่สามารถเข้าใจได้ดีเลย ดังนั้นกับจิตใจของคนอื่น จะบอกว่าเข้าใจจริงๆ นี่ยากเนอะ เรื่องตัดสินนี่ไม่ต้องพูดถึง…อย่าเลย หัวใจเราบอบบางและซับซ้อนกันออก
“แล้วฉันพูดอะไรได้ไหม”
พออ่านมาถึงตรงนี้ ก็อย่าเพิ่งใจร้ายว่า โว้ย! มันอะไรกันนักหนา คือยังไงก็ต้องอย่าลืมเนอะว่าคำพูดมีพลังแล้วอยู่กับคนฟังไปอีกนาน ประเด็นคือแล้วเราจะพูดอะไรได้บ้างไหม จริงๆ The MATTER เองก็อยากแนะนำว่าถ้ามีคนใกล้ตัวที่เป็นซึมเศร้า ก็ควรพูดคุยฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า เพราะการดูแลพูดคุยกับผู้ป่วยซึมเศร้าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและอาจส่งผลเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้ป่วยนั้นๆ อนึ่ง สิ่งที่สำคัญคือเราเห็นว่าด้วยความไม่รู้เลยเกิดการใช้คำพูดที่น่ากลัว จึงอยากชวนให้หยุดทบทวนให้มากขึ้น และก็ไม่ได้หมายความว่าจะพูดอะไรไม่ได้เลย เพราะสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยซึมเศร้าคือกำลังใจ ดังนั้นการที่เราแสดงออกว่าเราเป็นกำลังใจให้ เป็นคนที่อยู่เคียงข้าง เน้นว่าไม่ได้อยู่เดียวดาย เป็นคนคอยรับฟัง แชร์ความรักและกำลังใจ แค่ว่าจะพูดอะไรก็พูดอย่างรอบคอบนิดหนึ่ง คือไม่ให้ความหวังพร่ำเพรื่อ หรือพูดส่งๆ แค่เรามีใจให้อย่างจริงใจ และพูดอย่างที่เราเจตนา คอยอยู่ข้างๆ สวมกอด
ยังไงมนุษย์เราก็สามารถเยียวยาให้กันได้ ไม่มากก็น้อยแหละเนอะ อย่าทำร้ายกันเพิ่มก็พอ
อ้างอิงข้อมูลจาก