เดินเล่นในห้างอยู่ดีๆ จู่ๆ ก็มีคนเดินมาชนอย่างแรง แต่เราดันเป็นฝ่ายพูดว่า “ขอโทษ” ซะงั้น หรือบางทีจะทวงเงินที่เพื่อนยืมไปเป็นชาติ แต่เริ่มต้นประโยคด้วยคำว่า “ขอโทษนะ แต่อยากรู้ว่าเมื่อไหร่เงินที่ยืมไปจะได้คืน” แปลกมั้ย? บางครั้งเราก็เผลอขอโทษคนอื่นแบบไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ก็ไม่ใช่ความผิดของเราซะหน่อย
คำ 3 คำที่เรามักจะถูกสอนว่าควรจะพูดให้ชินปากนั่นก็คือ ‘สวัสดี’ ‘ขอบคุณ’ และ ‘ขอโทษ’ เป็นสามคำที่แสดงถึงมารยาทเวลาเข้าสังคม คำว่า สวัสดี และ ขอบคุณ ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรเท่าไหร่ เพราะเป็นคำที่มีความหมายเชิงบวกในตัวอยู่แล้ว แต่คำว่า ‘ขอโทษ’ นี่สิ เป็นคำที่บางคนพูดออกมาย้ากยาก กลัวตัวเองจะเสียฟอร์มเอา แต่กับบางคนทำไมถึงพูดออกมาได้อย่างง่ายดาย และพูดบ่อยซะเหลือเกิน ราวกับว่าถูกตั้งโปรแกรมมายังไงยังงั้น
แม้การกล่าวคำขอโทษดูจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลเวลาเราทำผิดพลาดต่อคนอื่น เพราะเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกผิดและเสียใจที่เรามี แต่ ‘การขอโทษที่มากเกินความจำเป็น’ (over-apologizing) ขอโทษในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือขอโทษแม้กระทั่งเรื่องที่ไม่ใช่ความผิดของตัวเองด้วยซ้ำ สิ่งที่คิดว่าเป็นมารยาทที่ดีมาตลอด ก็อาจกลายเป็น ‘นิสัยเสีย’ อย่างหนึ่งที่จะทำให้ตัวเราไม่มีความสุขเอาได้
ความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำว่าขอโทษที่มากเกินไป
บางครั้งการพูดคำว่าขอโทษก็ไม่ได้ออกมาจากความรู้สึกจริงๆ แต่มันออกมาโดยปฏิกิริยาตอบกลับแบบอัตโนมัติ (automatic reaction) เหมือนเป็นสิ่งที่คิดว่าเราจำเป็นจะต้องพูด ทำให้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เอะอะก็จะพูดขอโทษไว้ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งอาการนี้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า ‘Sorry Syndrome’
นักจิตวิทยาคลินิก ซูซาน ไฮท์เลอร์ (Susan Heitler) กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งของพฤติกรรมนี้อาจเกิดจากความรู้สึก ‘ไม่ปลอดภัย’ ที่มีต่อความสัมพันธ์ อย่างความรุนแรงทางร่างกายหรือทางวาจาของอีกฝ่าย ที่ทำให้ผู้พูดรู้สึกว่าต้องขอโทษทุกครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่รุนแรง หรือเกิดจากความกดดันในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอยู่ เช่น ครอบครัวที่เข้มงวด โรงเรียนที่เข้มงวด หรือที่ทำงานที่เข้มงวด ซึ่งทำให้คนคนนั้นเติบโตมาโดยที่ติดอยู่กับความกลัวและความรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา จนต้องพูดคำว่าขอโทษออกมาบ่อยๆ เพื่อแสดงออกถึงการเห็นด้วย การยอมรับ และไม่ต้องการโต้เถียงใดๆ
หรือในอีกแง่หนึ่ง มันอาจบ่งบอกได้ว่าตัวผู้พูดมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ เพราะพวกเขามักจะคิดว่าทุกอย่างเป็นความผิดของตัวเองไปซะทั้งหมด ไม่มีความเชื่อมั่นในการตัดสินใจของตัวเอง หรือชิงตัดสินไปก่อนแล้วว่าตัวเองจะเป็นฝ่ายผิดเสมอ
แต่การขอโทษที่มากเกินไปนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น ยังจะทำให้ตัวคนนั้นดูไม่น่าเคารพในสายตาผู้อื่นอีกด้วย “ถึงแม้ว่าเราจะคิดว่าการขอโทษจะทำให้เราดูเป็นคนดีที่ใส่ใจความรู้สึกคนอื่น แต่จริงๆ แล้ว มันทำให้เราดูขาดความมั่นใจและดูเหมือนยอมคนอื่นไปหมดมากกว่า” เบเวอร์ลี่ เอนเจล (Beverly Engel) นักจิตบำบัดกล่าวไว้ในหนังสือ The Power of an Apology ซึ่งเธออธิบายว่าการขอโทษที่มากเกินไป ก็ไม่ต่างกับการกล่าวคำชมที่มากเกินไป (over-compliment) ที่บ่งบอกถึงความไม่มั่นใจของตัวผู้พูด และทำให้พวกเขาดูขาดภาวะการเป็นผู้นำไปอีกด้วย ยิ่งถ้าเป็นคนที่พูดขอโทษอยู่ฝ่ายเดียวตลอดเวลา จะยิ่งทำให้คนนั้นถูกกดทับอำนาจไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว
หากร้ายแรงกว่านั้น มันอาจนำไปสู่ความวิตกกังวลโดยที่เราไม่รู้ตัว การพูดว่าขอโทษบ่อยๆ จะทำให้ผู้พูดรู้สึกเหมือนถูกพรากพลังในตัวเองไป มัวแต่กังวลกับความผิดพลาดจนไม่กล้าทำอะไรสักอย่าง เพราะบางครั้งคำว่าขอโทษสามารถแปลได้ว่า “ขอโทษนะที่ฉันเป็นคนแบบนี้ คิดแบบนี้ ทำแบบนี้ หรือพูดแบบนี้” ซึ่งเมื่อพูดบ่อยเข้า ก็เหมือนเป็นการสะกดจิตตัวเองว่าเราไม่มีอะไรดี ทำอะไรก็ผิดเสมอ ส่งผลให้เกิดสภาวะซึมเศร้าตามมาได้
ขอโทษมากไปไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น
ไม่ว่าใครก็คงอยากได้รับคำว่าขอโทษเวลาโดนทำไม่ดีใส่ อย่างเวลาโดนเหยียบเท้า ทำน้ำหกใส่เสื้อ หรือมีใครก็ตามเผลอถามถึงแฟนเก่า เรารู้ดีแหละว่าคนคนนั้นไม่ได้ตั้งใจ แค่พูดขอโทษมาเราก็พร้อมให้อภัยแล้ว แต่ในบางสถานการณ์คำขอโทษอาจไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นอย่างที่คิด แม้ว่าเจตนาของคนที่ขอโทษจะต้องการแสดงออกถึงความรู้สึกเสียใจก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เข้าใจได้ การพูดขอโทษขอโพยแบบไม่จบสิ้นที่ดูจะทำให้เหมือนว่าเป็นเรื่องใหญ่โต (ที่ผู้พูดคิดว่ามันจะทำให้อีกฝ่ายเชื่อว่าตัวเอง ‘รู้สึกผิดจริงๆ’) ก็อาจเปลี่ยนเป็นความรู้สึกอึดอัดหรือรำคาญแทน เพราะอีกฝ่ายไม่รู้จะบอกยังไงว่าพวกเขาก็ ‘ไม่เป็นไรจริงๆ’ เหมือนกัน
เคยโดนขอโทษก่อนบอกเลิกมั้ย? ช่างน่าหงุดหงิดซะเหลือเกิน ในเมื่อตั้งใจจะมาขอเลิกอยู่แล้ว จะขอโทษเหมือนว่ารู้สึกผิดทำไมกันนะ จากผลการศึกษาในวารสาร Frontiers of Psychology พบว่า การพูดขอโทษหลังจากที่เรา ‘ตั้งใจ’ ปฏิเสธใครสักคน อย่างการยกเลิกนัด หรือการบอกเลิกแฟน จะสร้างบาดแผลหรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ไปมากกว่าเดิม เพราะพวกเขารู้อยู่แล้วว่าคำขอโทษนั้น บางครั้งก็ไม่ได้มาจากความจริงใจของผู้พูดเสมอไป และด้วยค่านิยมในสังคมที่ว่า เราควรจะรับคำขอโทษและให้อภัยคนนั้นสิ ทำให้ใครก็ตามที่ตกอยู่ในสถานะนี้ถูกคาดหวังว่าจะต้องยกโทษให้ หรือพูดว่า “เห้ย ชั้นไม่เป็นไร ไม่ต้องคิดมาก” ทั้งๆ ที่ในใจไม่ได้รู้สึกอยากจะยกโทษให้เลยสักนิด
นอกจากนี้ ในเรื่องของความสัมพันธ์ แม้การขอโทษจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่มันกลับทำให้เราหลงลืมที่จะพูดคุยกันด้วยเหตุและผล เพราะถ้าอีกฝ่ายชิงขอโทษขึ้นมาก่อนแบบตัดบท แสดงว่าเขายอมรับผิดแต่โดยดี และหวังจะให้เรื่องนั้นจบไป ซึ่งดูเป็นการโยนความผิดไปที่คนคนเดียว แทนที่หาจุดที่ควรจะปรับปรุงแก้ไขร่วมกัน
ขอโทษแค่ไหนให้พอดี?
ในบางสถานการณ์ เมื่อลองพิจารณาดูดีๆ แล้ว มันก็ไม่ใช่ความผิดหรือเรื่องอะไรที่เราจะต้องขอโทษเลยแม้แต่นิด แต่ลึกๆ ก็อดรู้สึกผิดไม่ได้อยู่ดี งั้นลองเปลี่ยนจากคำว่าขอโทษเป็นคำอื่นดูมั้ย? โดยเฉพาะคำที่ไม่ได้เปลี่ยนความหมายที่ต้องการจะสื่อไปสักเท่าไหร่นัก แถมอาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ อย่างลองไปใช้คำว่า ‘ขอบคุณ’ ที่สื่อความหมายในเชิงบวกแทนก็ได้ เพราะเป็นคำที่ผู้ฟังได้ยินก็คงจะรู้สึกดี และผู้พูดเองก็จะไม่รู้สึกแย่กับตัวเองด้วย
ยกตัวอย่างเหตุการณ์เช่น เวลาเดินเข้าไปในลิฟต์ที่มีคนเบียดกันแน่น แทนที่จะพูดว่า “ขอโทษนะคะ” เพราะรู้สึกผิดที่ไปเบียดคนอื่น ลองเปลี่ยนไปใช้คำว่า “ขอบคุณนะคะ” เพื่อแสดงความขอบคุณที่มีคนเว้นที่ว่างให้เรายืน หรือเวลาบังเอิญเดินเข้าประตูพร้อมใครสักคน แทนที่จะพูดว่า “ขอโทษครับ” เพราะรู้สึกผิดที่ไปแย่งเข้าประตู ลองเปลี่ยนเป็นผายมือออกไปและใช้คำว่า “เชิญก่อนเลยครับ” เพื่อแสดงความยินดีในการให้เขาเดินไปก่อน
หรือหากรู้สึกผิดต่อสิ่งไหนมากๆ จนไม่อาจสะบัดมันออกไปจากหัวได้ ลองเลือกปรับโฟกัสหรือเบี่ยงเบนความสนใจใหม่ ตามทฤษฎีทางจิตวิทยาชื่อ spotlight effect ที่เราคิดว่าคนอื่นจะสนใจกับดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ของเราตลอดเวลา (ในที่นี้ก็คือความผิดพลาด) แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนก็เหมือนๆ กับเรานั่นแหละ ที่มักจะง่วนอยู่แต่การสนใจตัวเองซะส่วนใหญ่ ดังนั้นความผิดเล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านมาแล้วก็ควรมองข้ามมันไปบ้าง ไปให้ความสนใจกับดีเทลอื่นๆ ในเรื่องราวนั้นแทน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เราผ่อนคลายและวางความกังวลต่างๆ ได้ดีมากขึ้น
แต่ละวิธีก็เป็นวิธีที่อาจต้องอาศัยการฝึกฝนเป็นประจำ และต้องคอยเตือนตัวเองย้ำๆ ว่าอะไรกันแน่ที่ควรพูดขอโทษจริงๆ หรือลองนับดูเล่นๆ ก็ได้ว่าในหนึ่งวันเราพูดคำว่าขอโทษไปมากเท่าไหร่ แล้วจะรู้สึกตกใจเมื่อลองเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะจำนวนครั้งที่เรา ‘ควร’ จะพูดขอโทษจริงๆ อาจมีไม่ถึงครึ่งของจำนวนที่เราพูดออกไปเลยด้วยซ้ำ
คำขอโทษบางครั้งก็เป็นกับดักที่ทำให้เราเองไม่มีความสุข เพราะไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราจะต้องรู้สึกเสียใจไปกับมัน ปล่อยให้ตัวเองได้คิดหรือทำอะไรโดยปราศจากความรู้สึกผิดบ้าง มันก็อาจจะดีกับสุขภาพจิตไม่ใช่น้อย
อ้างอิงข้อมูลจาก