“โมเมนต์นั้นมันเหมือนกับว่าเรามีญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพเทิดทูนท่านหนึ่งที่อยู่โรงพยาบาล แล้วเราติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดว่าท่านกำลังป่วยหนัก ซึ่งเมื่อข่าวประกาศออกมา แน่นอนว่า เราทั้งใจหายและเสียใจ แต่ผมคิดว่ามีสิ่งที่น่าชื่นใจเช่นกัน เพราะเราได้เห็นว่าผู้ใหญ่ที่เราเคารพรักมากท่านนี้ มีคนที่รักมากจริงๆ เราเห็นคนร้องไห้ เห็นคนเสียใจ เห็นคนไทยเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวเพื่อไปแสดงความอาลัยต่อท่าน ผมมองว่าพระองค์เป็นสัญลักษณ์ของชาติ ประเทศของเราเท่ากับท่าน”
ธนกฤต รุ่งโรจน์ชัยพร
อดีตนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง / Princeton University สาขาวิศวกรรมการเงิน (ปริญญาตรี)
“วันนั้นผมไปหาหมอที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์พอดี ไปรักษาโรคส่วนตัว จริงๆ โมเมนต์นั้นมันเหมือนกับว่าเรามีญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพเทิดทูนท่านหนึ่งที่อยู่โรงพยาบาล แล้วเราติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดว่าท่านกำลังป่วยหนัก ซึ่งเมื่อข่าวประกาศออกมา แน่นอนว่า เราทั้งใจหายและเสียใจ แต่ผมคิดว่ามีสิ่งที่น่าชื่นใจเช่นกัน เพราะเราได้เห็นว่าผู้ใหญ่ที่เราเคารพรักมากท่านนี้ มีคนที่รักมากจริงๆ เราเห็นคนร้องไห้ เห็นคนเสียใจ เห็นคนไทยเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวเพื่อไปแสดงความอาลัยต่อท่าน ผมมองว่าพระองค์เป็นสัญลักษณ์ของชาติ ประเทศของเราเท่ากับท่าน ตอนเด็กๆ เรารู้จักพระองค์ผ่านทางสื่อ ผ่านทางข่าวในพระราชสำนัก และสัมผัสได้ว่าพระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมของทุกอย่างด้วย ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความเชื่อมั่น เหมือนท่านเป็นหัวจิตหัวใจของคนในประเทศ เพราะฉะนั้นเวลาท่านทรงทำอะไรก็แล้วแต่ เราก็อยากศึกษาในสิ่งที่ท่านทรงทำ พอเรามองว่าพระองค์คือประเทศของเรา เราก็อยากทำทุกอย่างเพื่อท่าน ทำทุกอย่างในแนวทางของท่าน”
“แล้วพอมาเข้าเรียนมัธยมฯ ปลาย ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผมได้รู้จักทุนเล่าเรียนหลวง (หรือที่เรียกกันว่า ‘ทุนคิง’ [King’s Scholarship] ทุนการศึกษาสำหรับการศึกษาต่อต่างประเทศที่มอบให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีการแข่งขันสูงมากในแต่ละปี—พระราชทานครั้งแรกโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนถูกยกเลิกไปใน พ.ศ. 2476 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และถูกรื้อฟื้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2508 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช) จากรุ่นพี่คนหนึ่ง เอาตรงๆ คือตอนนั้นไม่ได้มีไอเดียเลยว่าอยากจะเรียนอะไร แต่อยากได้ทุนนี้เพราะมองว่ามันเป็นเกียรติยศสูงสุดเท่าที่นักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่งจะได้รับ เป็นเกียรติยศของตัวเองและวงศ์ตระกูล ก็เลือกไปเรียนด้านวิศวะการเงิน เพราะโดยพื้นฐานเป็นคนชอบเรียนเลข ชอบคณิตศาสตร์แนวประยุกต์ ชอบเศรษฐศาสตร์ ชอบการเงิน ผสม ๆ กันเลยกลายเป็นวิศวะการเงิน”
“ตอนนั้นรู้สึกดีใจมากๆ รู้สึกว่าความพยายามของเราได้รับผลตอบแทน คือผมตั้งใจมาก ตั้งใจอ่านหนังสือ ตั้งใจฝึกทำข้อสอบเก่าๆ แล้วมันเปลี่ยนชีวิตของเราไปค่อนข้างมาก ถ้าพูดถึงชีวิตในเชิงสังคม ถ้าอยู่ประเทศไทย พ่อแม่เขาจะมีกรอบบางอย่าง ซึ่งทำให้เราไม่ค่อยได้ตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเอง แต่โอกาสที่เราได้รับให้ไปเรียนต่างประเทศมันทำให้ความเป็นคนของเราเติบโตขึ้น เราสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง เป็นชีวิตที่เราเลือกเอง โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องรับส่ง ไม่ต้องทำนู่นทำนี่ให้ แล้วเราก็อยู่ได้ดีในระดับหนึ่งด้วย ซึ่งผมมองว่านี่คือจุดสำคัญมากกว่าการศึกษาที่ได้รับเสียอีก”
“พอโตมาเราได้รับรู้ว่าในหลวงเป็นคนที่สมัยใหม่มาก ณ จุดนั้นท่านจะมองข้อดีต่างๆ จากต่างประเทศ และนำเข้ามาเพื่อปรับให้เหมาะกับสภาพสังคมของคนที่อาจจะไม่ได้เหมือนกันเป๊ะๆ เพราะฉะนั้นแต่ละที่มันก็ต้องมีวิธีใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ผมเลยมองว่าถ้าเราจะพัฒนาอะไรสักอย่าง มันต้องให้เหมาะกับชีวิตของคนและสภาพสังคมนั้นๆ ดังนั้น แนวคิดจากในหลวงจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เรานำไปปรับใช้เสมอ”
ภูมิพงศ์ วัฒนะประกรณ์กุล
อดีตนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง / Massachusetts Institute of Technology สาขาคอมพิวเตอร์ (ปริญญาตรี–โท)
“ณ จุดนั้นทางเลือกของคนที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมันมีไม่กี่อย่าง ดังนั้นเราเลยต้องหาทางเลือกอื่น ซึ่งถ้าผมต้องออกเงินไปเรียนเองคงไม่มีปัญญาอยู่แล้ว เราก็ต้องได้ทุนเพื่อไปเรียน ตอนนั้นผมเลือกเรียนด้านคณิตศาสตร์ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เพราะเราสามารถเปลี่ยนได้กลางคันถ้าคิดว่ามันไม่ใช่ คือถ้าวันนั้นเกิดไม่ได้ทุนขึ้นมา ผมคงไม่ได้ทำในสิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ แล้วโอกาสตรงนั้นค่อนข้างเปลี่ยนวิธีคิดต่างๆ ของเราไปเหมือนกันนะ เพราะเมื่อเราได้เปิดหูเปิดตา เราจะพบว่าจริงๆ โลกมันใหญ่กว่าประเทศไทยเยอะ พอได้เห็น เราก็คิดว่าประเทศเราน่าจะดีกว่านี้ได้ ดังนั้นโอกาสที่เราได้ไปศึกษาตรงนั้น เราคิดว่าเราสามารถนำกลับมาทำให้ชีวิตของคนในประเทศเราดีขึ้นได้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็ทรงเป็นแบบอย่างของเราได้เป็นอย่างดี”
“ครั้งแรกที่ผมได้เห็นในหลวงกับตาตัวเองจริงๆ คือตอนที่ท่านไปเปิดอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แถวคลองสานข้างๆ บ้าน วันนั้นคนเยอะมากนะครับ ไม่แน่ใจว่ามาจากไหนกันมากมาย เพราะจริงๆ แถวนั้นไม่มีคนอยู่อาศัยมากมายอะไร แล้วเราก็รู้สึกว่าประชาชนน่าจะรักพระองค์มาก นั่นคือตอนเด็กๆ ที่ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย พอโตมาเราได้รับรู้ว่าในหลวงเป็นคนที่สมัยใหม่มาก ณ จุดนั้นท่านจะมองข้อดีต่างๆ จากต่างประเทศ และนำเข้ามาเพื่อปรับให้เหมาะกับสภาพสังคมของคนที่อาจจะไม่ได้เหมือนกันเป๊ะๆ เพราะฉะนั้นแต่ละที่มันก็ต้องมีวิธีใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ผมเลยมองว่าถ้าเราจะพัฒนาอะไรสักอย่าง มันต้องให้เหมาะกับชีวิตของคนและสภาพสังคมนั้นๆ ไม่ใช่ว่าเราไปหยิบของมาแบบหนึ่ง แล้วก๊อบปี้มาแปะอีกที่หนึ่ง นั่นคือสิ่งที่ท่านทำ และเราก็นำแนวคิดของท่านมาใช้”
“วันที่ทราบข่าว ก่อนหน้านั้นผมไปประชุมที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ออกมาสักสี่ห้าโมงเย็น เริ่มได้ยินข่าวลือ ก็รู้สึกตกใจ แต่ก็ยังคิดว่าคงไม่จริง จนตอนค่ำๆ ทีวีก็ตัดภาพมาว่าข่าวลือที่ผมไม่อยากให้เป็นจริงเป็นจริง ผมก็เสียใจ เสียใจมาก แต่เราเข้าใจได้นะ คือถ้าเรารักใครคนหนึ่งมากๆ ก็ย่อมต้องเสียใจมากเป็นธรรมดา แต่เมื่อถึงวันหนึ่ง ทุกคนก็ต้องทำหน้าที่ตัวเองต่อไป สุดท้ายต้องผ่านไปได้สักทางหนึ่ง พัฒนาสังคมของเรากันต่อไป”
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีวิสัยทัศน์ทางการศึกษาสูงมาก พระองค์ทรงเลือกที่จะให้ทุนด้านปัญญา มองเห็นการสร้างต้นทุนทางปัญญาของประเทศ มากกว่าจะให้ทุนเรื่องทรัพย์สิน”
ณัฐชา อัศวชนานนท์
อดีตนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง / Stanford University สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ (ปริญญาตรี–โท)
“เราเห็นรุ่นพี่ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงมาตั้งแต่สมัยอยู่มัธยมฯ ต้น แล้วเราก็จะคิดว่าทุนนี้ถือเป็นเกียรติคุณของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่จะได้รับพระราชทาน ในความรู้สึกส่วนตัวคือมันเป็นความสำเร็จสูงสุดในฐานะนักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่ง เพราะทุนเล่าเรียนหลวงมีแค่ 9 ทุนต่อปี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักคือ วิทย์-คณิต, ศิลป์-คำนวณ, และศิลป์-ภาษา ซึ่งพอเราได้รับเราก็ดีใจและภูมิใจ เพราะเราคิดว่าเราจะได้รับโอกาสที่จะได้ไปศึกษาในระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เราสามารถเลือกประเทศได้ และต้องไปสมัครเข้ามหาวิทยาลัยเอง ซึ่งเราเลือกไปสหรัฐฯ เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Stanford เรียนเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ประยุกต์ เพราะส่วนตัวเราอยากเรียนอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว”
“พอมองย้อนกลับไปพิจารณาทุนเล่าเรียนหลวง เราจะรู้สึกว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีวิสัยทัศน์ทางการศึกษาสูงมาก พระองค์ทรงเลือกที่จะให้ทุนด้านปัญญา มองเห็นการสร้างต้นทุนทางปัญญาของประเทศ มากกว่าจะให้ทุนเรื่องทรัพย์สิน เช่น ในระดับนักเรียนก็จะมีหลายแบบ ทั้งทุนการศึกษารายบุคคล รวมถึงทุนที่ให้แก่โรงเรียน หรือถ้าเป็นประชาชนทั่วไป ท่านก็จะสนับสนุนให้มีความรู้ติดตัวในการประกอบอาชีพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่จะติดตัวพวกเราหรือพสกนิกรของพระองค์โดยไม่มีใครสามารถพรากไปได้”
“ตั้งแต่สมัยเด็กๆ เราจะเห็นพระองค์จากข่าวพระราชสำนักทุกวัน แล้วเราสังเกตเห็นว่าพระองค์ทรงทำงานหนักมากๆ มาโดยตลอด เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เรา นอกจากเป็นผู้ตรากตรำทำงานอย่างไม่หยุดหย่อน ถ้าสังเกตพระบรมราโชวาทต่างๆ เราจะพบว่าพระองค์ทรงมีแนวคิดทางศีลธรรมสูงมากอีกด้วย ตอนทราบข่าว เราทั้งตกใจและเสียใจ คิดว่าต่อไปไม่ว่าอย่างไร ทั้งชีวิตของเราและของคนในประเทศก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนแต่ละคนในประเทศของเราจะผูกพันกับในหลวงมาก ไม่ว่าจะประสบการณ์ส่วนตัวของเรา หรือคนอื่นที่ได้รับการช่วยเหลือต่างๆ จากพระองค์ หรือที่ผูกพันจากการได้ยิน ได้ดูผ่านวิทยุ โทรทัศน์ เราคิดว่าไม่ว่าอย่างไรทุกคนก็จะคิดถึงพระองค์”
บทสัมภาษณ์โดย ฆนาธร ขาวสนิท