แม้แต่กุ้งยังเหยียด นับประสาอะไรกับใจคน
มันใช่ที่ไหนเล่า!
เรามีสิทธิที่จะไม่สนุกรึเปล่า เหมือนกับที่นักร้องนำไม่ค่อยสนุกเอาไปล้อเลียนกับความขบขันของเน็ตไอดอล
ชาวเน็ตพูดกันหนาหูว่า ‘เหยียด’ เลยชักจะเริ่มงงแล้วว่า แบบนี้ใช่อาการเหยียดรึเปล่า
ขอไวท์บอร์ด แก้โจทย์ เริ่ม!
เริ่มจากในโลกนี้มีคุณพี่นะแห่งวงโพลีแคท และคุณพี่เทพพิทักษ์แห่งดินแดนเน็ตไอดอล อยู่มาวันหนึ่งมีคุณอีกคนหนึ่งเอารูปสองคนนี้แปะเคียงกัน ประมาณว่าเหมือนกัลเลยเนอะ ดูดิๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ผลคือ พี่นะก็แสดงอาการเคืองการกระทำดังกล่าวของแฟนคลับ
ผลกลายเป็นว่า ‘ชาวเน็ต’ (ใครบ้างละเนี่ย) เปิดประเด็น เฮโลรุมจวกว่า ทำไมอะ ล้อเล่นแค่นี้ไมไม่พอใจอะ ไม่ได้หรอ เหยียดอีกคนหรอ ไม่ดีตรงไหน บอกว่าหน้าเหมือนกันแค่นี้ ทำไมต้องโกรธอะ นักร้องวงไรอะไม่เห็นรู้จัก เน็ตไอดอลน่ารักออก ทีเทียบกับเซเลปไม่เห็นโกรธเลย ทำไมอะ (โว้ย!)
เอาจริงๆ คิดว่าตรรกะที่กำลังบริหารอยู่มีข้อผิดพลาดในระดับหนึ่ง แต่ก่อนอื่น ขอเอาคำว่า ‘เหยียด’ ออกไปก่อน เพราะคิดว่าไม่ใช่การเหยียด แต่น่าจะเป็นเรื่องการขำ หรือ หัวเราะบางสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันตลก คือเป็นเรื่องเส้นแบ่งของความตลกมากกว่า แล้วลึกๆ มันก็มีความมืดมนแฝงอยู่ในเสียงหัวเราะ เออ หรือการที่เราหัวเราะเขาฝ่ายเดียว มันก็คือการเหยียดเหมือนกัน โอ้ย ยากจัง
คือถ้ามองแบบเรียบที่สุด การที่นายเอ ไม่ชอบที่จะถูกเอาไปเทียบกับ นายบี ในเชิงของความขำขัน แล้วนายเอ จะบอกว่าเฮ้ยนี่ไม่ชอบ ไม่เล่นนะ มันก็น่าจะเป็นสิทธิของนายเอ ที่จะไม่ตลกไปกับมุกที่เอาตัวเขาไปพัวพันรึเปล่า คือแค่นี้จริงๆ
จริงๆ แล้ว กรณีของเน็ตไอดอลเทพพิทักษ์ คือว่ากันตรงๆ ก็มาสายตลกจริงมั้ย คือตัวพี่เขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจตลก แต่ ‘ชาวเน็ต’ เห็นว่าหน้าตา การแต่งกาย สไตล์ หรือพฤติกรรม (เช่นการแช่ในอ่างน้ำแล้วถ่ายคลิปส่องเซลฟี่) มันดูแล้วตลกดี ก็เลยแชร์มาให้เพื่อนๆ มาร่วมขำสิ่งที่พี่เทพพิทักษ์ทำ แบบเฮ้ย ฮาดีเนอะแกร ซึ่งคุณพี่เทพพิทักษ์ก็มีความน่ารักในตัวเองแถมยังโอเคกับความขำขันตรงนี้
การไม่ถือตัวและช่วยสร้างรอยยิ้มให้ผู้คนถือว่าพี่เขาได้ทำบุญด้วยการมอบความสุข แล้วตัวเองก็มีความสุขไปด้วย แบบนี้ถือได้ว่าเป็นการหัวเราะร่วมกัน เป็นอุดมคติอย่างหนึ่ง
แต่ในทางกลับกัน การที่พี่นะถูกเอาเข้ามาอยู่ท่ามกลางเสียงหัวเราะที่มีพี่เทพพิทักษณ์เป็นตัวเทียบเคียง แค่พี่นะเองไม่สามารถที่จะรับมือหรือหัวเราะร่วมไปกับคนที่มาหัวเราะใส่ตัวเองได้ มันก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นบาปนะ จริงมั้ย
ความบาปมันน่าจะอยู่ที่ ‘การบังคับ’ มากกว่า บังคับให้คนที่ถูกหัวเราะเยาะต้องไม่โกรธ ต้องไม่ถือสา
การล้อเล่น บางทีมันก็เป็นเรี่องจริงจังสำหรับใครบางคน
จริงอยู่ว่าเส้นแบ่งระหว่างความขำมันมีเส้นที่สัมพัทธ์ไปตามแต่ละคน บางคนรับบางเรื่องได้ แต่รับบางเรื่องไม่ได้ ประเด็นมันเลยอยู่ที่ว่า เล่นแล้ว ฟังท่าทีด้วย ว่าเขาสนุกด้วยไหม ถ้าไม่ ก็ต้องเคารพในสิทธิที่จะไม่ตลกอันนั้นด้วย
ประเด็นที่มักถูกกล่าวถึงคือการเป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งบุคคลสาธารณะมันมากับสิ่งที่เรียกว่าผลประโยชน์ของสาธารณะ (public interest) การล้อเลียน วิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ แน่ล่ะว่าไม่ใช่ว่าอะไรก็ถ่มถุยใส่ไปได้ หรือภาพอะไรของเขาก็เอามาเสนอได้ มันต้องนำไปสู่ประโยชน์อะไรบางอย่าง และที่สำคัญคือ เสรีภาพในการพูด (free speech) ต้องไม่นำไปสู่ความเกลียดชัง (hate speech)
ในแง่ของความเป็นสาธารณะ การล้อเลียนในด้านหนึ่งมันสามารถหวังผลในการวิพากษ์วิจารณ์ด้วย เช่นการตัดต่อหรือล้อเลียนลัทธิ ในด้านหนึ่งก็อาจจะเป็นการวิพากษ์แง่มุมที่ผู้ล้อเลียนนั้นเห็นว่าไม่เหมาะสม และในขณะเดียวก็เป็นการเซาะอำนาจหรือความชอบธรรมของลัทธิดังกล่าวไปในตัวด้วย พูดง่ายๆ คือ เห็นว่าลัทธิหนึ่งๆ เริ่มเรืองอำนาจ การหยิบเอาพลังอำนาจนั้นมาล้อเลียน ก็เป็นการต่อต้าน ลดทอนความชอบธรรมอย่างหนึ่ง