“อย่าคิดสั้น” “ทำไมคิดสั้นอย่างนี้” “ไม่น่าคิดสั้นเลย”
หลายครั้งเราจะได้ยินประโยคเหล่านี้ หลังจากเห็นใครสักคน ‘คิด’ ที่จะลงมือฆ่าตัวตาย หรือ ‘ตัดสินใจ’ กระทำการฆ่าตัวตายไปแล้ว ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ
และจะสังเกตเห็นว่า หลายคนเลือกใช้คำว่า ‘คิดสั้น’ เพื่ออธิบายการกระทำที่เกิดขึ้น ซึ่งคำว่าคิดสั้นในที่นี้ ก็หมายถึงการ ‘จบปัญหา’ ที่หลายคนมักจะมองว่ามีทางออกอีกเยอะแยะมากมาย แต่เพราะการคิดที่ไม่มากพอ จึงทำให้คนๆ หนึ่งเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองแทน
แต่แท้จริงแล้วการฆ่าตัวตายคือผลลัพธ์จากการคิดสั้นจริงมั้ย? เพียงแค่อารมณ์ชั่ววูบที่ว่า “ไม่ไหวแล้ว อยากตาย” ก็สามารถทำให้ใครสักคนตัดสินใจจบชีวิตได้เลยหรือ? เราขออธิบายเรื่องนี้ให้เข้าใจง่ายๆ โดยเปรียบเทียบกับการเดินทางบนถนนสายหนึ่ง
การเดินทางที่ยาวนาน บนถนนที่ยาวไกล
“มันไม่ใช่การคิดสั้นหรืออารมณ์เพียงชั่ววูบ” นี่คือประโยคที่ทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยาจากแพล็ตฟอร์มออนไลน์ Ooca เน้นย้ำคล้ายๆ กัน หลังจากที่เราโยนคำถามไปว่า “การฆ่าตัวตายคือการคิดสั้นจริงหรือไม่?”
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งสองได้อธิบายให้เราเข้าใจว่า กลุ่มคนที่เลือกจบปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย แท้จริงแล้วพวกเขาผ่านการเดินทางบนถนนที่ยาวไกลมานานพอสมควร ทั้งถนนที่เรียกว่า ‘ชีวภาพ’ และ ‘จิตใจ’ จนกระทั่งเดินมาถึงจุดหนึ่งที่พวกเขาหมดแรงไปต่อ จึงกลายเป็นการตัดสินใจจบชีวิตลงในที่สุด
อ.พญ.กิติกานต์ ธนะอุดม จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ความคิดอยากฆ่าตัวตายนั้นเป็นเรื่องปัจเจกมาก ซึ่งในบริบทของโรคที่พบบ่อยคือ ‘โรคซึมเศร้า’ มักไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน หรือเป็นเพียงแค่อารมณ์ชั่ววูบ แต่จะเป็นอาการที่ค่อยๆ ดำเนินไปสักระยะหนึ่ง จนกระทั่งเกิดเป็นความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากฆ่าตัวตาย
“หากพูดถึงปัจจัยทางชีวภาพ สาเหตุที่ทำให้คนฆ่าตัวตายอาจเกิดได้จากการที่สารเคมีในสมองทำงานบกพร่องไป หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้คนคนนั้นรู้สึกเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกผิดที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ หรือรู้สึกไม่อยากมีชีวิตถึงขั้นที่ทนไม่ไหวแล้ว สารเคมีนั้นก็อย่างเช่น เซโรโทนิน (serotonin) หรือนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine) และรวมไปถึงโดปามีน (dopamine) สารที่ทำให้คนเรามีความสุข ซึ่งถ้าสารนี้ลดลง ก็มีส่วนทำให้อารมณ์ที่เคยปกติกลายเป็นความเศร้าได้
แต่พฤติกรรมการฆ่าตัวตาย ก็อาจพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหุนหันพลันแล่นร่วมด้วย เช่น จากการใช้สารเสพติด สมาธิสั้น (ADHD) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder)”
แต่นอกเหนือจากการต่อสู้กับสารเคมีในสมอง ความคิดหรือกระบวนการทางจิต ก็เป็นอีกอุปสรรคที่พวกเขาจะต้องเผชิญเช่นกัน โดย ดร.ฐิติกาญจน์ บุญรักษา อินทาปัจ อาจารย์จากสาขาจิตวิทยาการปรึกษาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวในมุมของจิตวิทยาว่า การคิดฆ่าตัวตายคือการสั่งสมความรู้สึกขัดแย้ง (conflict) ภายในจิตใจมาเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งเลือกตัดสินใจลงมือทำ เพราะรู้สึกแบกรับไม่ไหวแล้ว
“ในทัศนะของจิตวิทยาการปรึกษา การฆ่าตัวตายอาจเกิดจากการที่คนคนนั้นพบเจอกับความขัดแย้งที่เป็นโจทย์ในชีวิตกับคนที่มีความสำคัญ หรือ significant person เช่น เพื่อน ครอบครัว คนรัก หรือคนในสังคม แล้วได้รับการกระทำบางอย่างที่ไม่เป็นไปตามที่ตนคาดหวังไว้ ส่งผลให้เกิดเป็นความโกรธหรือโทสะ ซึ่งโทสะก็แสดงออกได้หลายอาการ เช่น ความน้อยใจ เสียใจ หรือผิดหวัง แล้วความรู้สึกเหล่านี้สั่งสมไว้จนสุดท้ายมันย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง”
“มันไม่ใช่การคิดสั้นหรือการคิดนิดเดียว
แต่ผ่านการสะสมทับถมมาเรื่อยๆ ระยะหนึ่งเลย
อาจจะสั้นหรือยาวไม่เท่ากัน แต่มันก็ผ่านการสะสม”
ดร.ฐิติกาญจน์
ด้วยเหตุนี้ จึงอธิบายได้ว่าการฆ่าตัวตายนั้นตรงกันข้ามกับการคิดสั้น แต่ผู้ป่วยเหล่านั้นคิดมานาน คิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า คิดจนกระทั่งรู้สึกดำดิ่งและเหนื่อยกับความคิดที่ไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อไหร่ ซึ่งถึงแม้ภายนอกจะแสดงออกว่าร่าเริงสดใส แต่ภายในใจพวกเขากำลังต่อสู้กับสิ่งที่คนในสังคมไม่มีทางมองเห็น และถูกตัดสินไปว่าไม่ได้พยายามอะไรเลย
อุปสรรคระหว่างทาง
ด้วยบริบทของสังคมในปัจจุบันที่มีทั้งเทคโนโลยีเข้ามา ผู้คนแยกกันอยู่มากขึ้น ดำเนินชีวิตด้วยตัวคนเดียวมากขึ้น ทำให้การเดินทางบนถนนที่ไกลสุดลูกหูลูกตาของใครบางคน ‘โดดเดี่ยว’ กว่าที่ควรจะเป็น หรือนั่นเป็นปัจจัยภายนอกที่เสริมให้คนเรามีความคิดอยากจบชีวิตเร็วขึ้น? ดร.ฐิติกาญจน์ กล่าวว่า แม้ความโดดเดี่ยวจะมีส่วน แต่แท้จริงแล้วมันมีสาเหตุที่มากกว่านั้น นั่นก็คือ ‘ความคาดหวัง’ ในจิตใจของผู้ป่วย ที่มีต่อคนสำคัญในชีวิตพวกเขา
“ถึงแม้สังคมสมัยนี้จะอยู่กันแบบเดี่ยวๆ หรือปัจเจกมากขึ้น แต่ความโดดเดี่ยวนั้นก็ซ่อนความคาดหวังในความสัมพันธ์กับใครสักคนอยู่ดี เราอาจจะคิดว่าเขาเลือกตัดสินใจแบบนี้ เพราะเขาต้องเผชิญหน้ากับปัญหาคนเดียว ต้องแก้ไขปัญหาคนเดียว เจอความเครียดจากการทำงานคนเดียว แต่จริงๆ ในนั้นมันซ่อนความรู้สึกที่อยากจะให้ใครสักคนเข้ามาอยู่ข้างๆ ไม่ให้เขาต้องผ่านไปอย่างลำพัง มีคนมารับฟัง ไม่พูดจาทิ่มแทงใจ ซึ่งมันเป็นขั้วที่เขายึดติดหรือคาดหวังอยู่ แต่พอเขาไม่ได้รับการกระทำเหล่านั้นอย่างที่คิดหวังไว้ ก็เกิดเป็นความเศร้า ความหดหู่” ดร.ฐิติกาญจน์ กล่าว
ด้าน อ.พญ.กิติกานต์ เสริมว่า การฆ่าตัวตายสามารถเกิดขึ้นในช่วงที่คนไข้มีปัจจัยเหนี่ยวนำหรือมี ‘ตัวกระตุ้น’ (trigger) อย่างอื่นแทรกเข้ามา ซึ่งทำให้ความคิดอยากฆ่าตัวตายมีมากขึ้นเรื่อยๆ
“นอกจากปัจจัยทางชีวภาพ ปัจจัยภายนอกสามารถเป็นตัวกระตุ้นให้ความคิดที่มีอยู่แล้ว รุนแรงมากขึ้นได้ เช่น การเห็นข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย หรือปัจจัยแวดล้อม เช่น ความกดดันเรื้อรัง คำพูดเชิงลบที่ไม่สร้างสรรค์ คำตำหนิที่รุนแรง ซึ่งทำให้คนคนนั้นมักตีความว่าตัวเองหมดวัง หรือไม่มีหนทางที่จะปรับเปลี่ยนให้ดีกว่านี้ได้ และนำไปสู่การฆ่าตัวตาย”
“จะเห็นได้ว่ามีสาเหตุและปัจจัยหลายๆ อย่างรวมกัน
ที่ผลักดันให้ความคิดและพฤติกรรมเหล่านี้
เกิดขึ้นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า”
อ.พญ.กิติกานต์
เปลี่ยนเส้นทางผ่านการหันเข็มทิศ
เมื่อทราบกันแล้วว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือบุคคลที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่ส่งผลให้ความคิดนั้นเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เพียงแค่ความคิดชั่ววูบหรือการคิดเพียงแค่ไม่กี่นาที ดังนั้น การช่วยเหลือระหว่างทางย่อมมีความหวัง ทั้งจากตัวผู้ป่วยเอง จากคนรอบข้าง และจากกระบวนรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด
“กระบวนการรักษา คือ การเข้าไปเปลี่ยนแปลงปัจจัยต่างๆ ทั้งปัจจัยทางชีวภาพ ปัจจัยทางสภาพแวดล้อม และปัจจัยภายในผู้ป่วย ทั้งมุมมองและความคิด ซึ่งผลของการรักษามักจะค่อยเป็นค่อยไป แต่เชื่อว่าเมื่อเริ่มรักษาหรือมีการเปลี่ยนปัจจัยต่างๆ ก็จะช่วยให้ความผิดปกติของสารสื่อประสาทที่กล่าวไป และอาการต่างๆ รวมถึงความคิดฆ่าตัวตายลดลง ปัจจัยทางชีวภาพที่มีคนพูดถึงมากขึ้น ได้แก่ การรับประทานยารักษาโรคทางจิตเวช เช่น ยาต้านเศร้าสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการใช้กระแสไฟฟ้า ซึ่งจะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากกว่า” อ.พญ.กิติกานต์ กล่าว
ดร.ฐิติกาญจน์ ในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษา แนะนำเพิ่มเติมว่า เมื่อสังเกตสัญญาณบางอย่างในตัวเอง เช่น เริ่มมีความรู้สึกดิ่ง หรือมีความคิดไม่อยากที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ นั่นเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะช่วยให้เราเข้าสู่กระบวนการปรึกษาและพูดคุยกับนักจิตวิทยาได้ทันท่วงที เพื่อสะท้อนสภาวะจิตใจของตัวเองว่าความเศร้าหรือความเครียดที่กำลังเผชิญอยู่ มีต้นตอมาจากไหน และควรจะจัดการกับมันอย่างไร
และคนใกล้ตัวซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่อาจหันเข็มทิศของผู้ป่วยได้ทุกเมื่อ ก็สามารถมีส่วนช่วยในการพาคนคนนั้นเดินไปในเส้นทางที่เจ็บปวดน้อยที่สุดด้วยเช่นกัน โดยการรับฟังอย่างไม่ตัดสิน ไม่วิจารณ์หรือตอกย้ำซ้ำเติมในสิ่งที่เขาได้กระทำพลาดไป ทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง และชี้ให้เขาเห็นถึงคุณค่าที่มีอยู่ในตัวเองเสมอ
เมื่อเราเข้าใจว่าการเดินทางของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือคนที่อยากฆ่าตัวตายนั้น ทั้งยาวนานและแสนเจ็บปวด ต่อไปเราก็คงเลิกตัดสินปัญหาหรือทางออกของใครบางคนจากสิ่งที่เห็นเพียงแค่ผิวเผิน หรือบอกว่านั่นคือผลพวงจากการคิดสั้น เพราะเราไม่มีทางรู้ได้อย่าง 100% ว่าที่ผ่านมาเขาต่อสู้กับความคิดอะไรบ้าง