คนที่ทำได้หลายอย่าง ชอบหลายอย่าง มากกว่าจะเลือกเชี่ยวชาญในสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวไปเลย มักจะถูกเรียกกันแบบคุ้นชินไปแล้วว่า ‘เป็ด’ หรือถ้าใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษก็มีคำเรียกว่าเป็น ‘Jack of all trades’
แม้เราจะมีความเข้าใจในเรื่องการเป็นเป็ดกันมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว แต่เชื่อว่าทุกวันนี้ คนที่เป็นเป็ดหลายคน ก็มักจะถูกมองว่าเป็นคนไม่ชัดเจน ไม่จริงจังกันอยู่บ่อยๆ
ในวันที่เรากำลังคุยกันถึงเรื่องเป็ดๆ แบบนี้ มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ออกมาโดย ‘นัดเป็ด’ ธนิษฐ์ เจียรสวัสดิ์วัฒนา Content Creator ในโลกออนไลน์ที่มักสร้างงานสนุกๆ เกี่ยวกับชีวิตการเป็นเป็ดออกมาอยู่บ่อยๆ
‘Super Pro Duck Thep’ คือหนังสือที่เขาตั้งใจให้เป็นคู่มือและคู่ใจคนที่มีชีวิตแบบเป็ดด้วยกัน
วันนี้เราจึงชวนนัดมาคุยกัน ถึงเรื่องชีวิตความเป็นเป็ดในแบบของเขา
นัดเริ่มรู้ตัวว่าเป็นเป็ดเมื่อไหร่
ตั้งแต่ตอนประมาณมัธยมปลาย มันมาจากว่า พอเราเข้าโรงเรียนก็จะมีอะไรให้ทำหลายอย่าง ทั้งการเรียน กีฬา ดนตรี วิชาการต่างๆ แล้ววิธีการดำเนินชีวิตของเรา เราทำได้ทุกอย่าง เราเรียนดนตรี แต่ไม่ได้โดดเด่น แม้เรียนก็ไม่ได้ห่วย แต่เราก็ไม่ได้เก่งขนาดที่ได้ลำดับต้นๆ เราเลยรู้สึกว่า เราเป็นเหมือนค่าเฉลี่ยของทุกๆ อย่างเลย สมมติว่ามีคนสิบคนกำลังทำสิ่งเดียวกัน เราจะเป็นคนกลางๆ ที่ทำได้ไม่ได้แล้วก็ไม่แย่
การเป็นคนกลางๆ มันมีข้อดีเสียยังไงบ้าง
ข้อเสียคือทำให้คนที่เป็นเป็ดบางคนรู้สึกถึงความไม่มีคุณค่าในตัวเอง พอเราไปคุยกับคนบางคนที่มีความถนัดเฉพาะ เราจะรู้สึกถึงความชัดเจนในตัวเขาคนนั้น สมมติว่าเราเจอคนเล่นดนตรีหรือกีฬาเก่งมากๆ เราก็จะดูว่าเขาโดดเด่นดีจัง แล้วย้อนกลับมาดูตัวเองจะรู้สึกว่า มันไม่ได้มีอะไรที่นิยามตัวเราเองจริงๆ คนเป็นเป็ดส่วนใหญ่เลยรู้สึกขาดความมั่นใจ ไม่กล้าออกแอคชั่นอะไร เพราะกลัวว่าเราจะทำได้ไม่ดี แต่ข้อดีของมนุษย์เป็ด มันเปรียบเหมือนน้ำครึ่งแก้วนะ
การที่อยู่ตรงกลางๆ บางคนก็จะเจ็บปวดเพราะไปผูกติดความสำเร็จของตัวเองกับคนรอบข้างที่ดูสมบูรณ์แบบรึเปล่า
มนุษย์เป็ดอยากจะหลุดจากความเป็นเป็ดของตัวเอง ไม่พอใจความเป็นเป็ดของตัวเอง รู้สึกว่าการที่จะเป็นคนสมบูรณ์แบบได้มันต้องเพอร์เฟ็กต์สักด้านหนึ่ง แต่ว่าจริงๆ แล้ว คนเป็นเป็ดแบบเรา ก็ยังเป็นเป็ดตัวเดิม ไม่ต้องเป็นคนอื่น แต่เป็นเป็ดที่ดีกว่าเดิมได้
คนอื่นอาจจะมองว่าความสมบูรณ์แบบคือการทำสิ่งๆ หนึ่งให้มันโดดเด่น ให้มีคนพูดถึง แต่ความสำเร็จของมนุษย์เป็ด คือการนำสิ่งธรรมดาๆ ให้มันมีเสน่ห์ในตัวมันเองได้ เช่น ถ้านำสิ่งธรรมดาๆ มาผสมผสานกัน เอาความรู้สองอย่างมาผสมกัน เพื่อนำไปสู่สิ่งใหม่
ขณะเดียวกันก็มีมนุษย์เป็ดหลายคนที่รู้สึกเจ็บปวดเพราะถูกหาว่าเหลาะแหละ นัดเคยรู้สึกอย่างนั้นไหม
คนรอบข้างมนุษย์เป็ด ชอบมองว่าเค้าเหลาะแหละ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ทำอันนี้ก็ได้อันนั้นก็ได้ ทำไมไม่โฟกัสกับบางสิ่งบางอย่างจริงๆ ไปเลย ซึ่งจริงๆ แล้วตามธรรมชาติของมนุษย์เป็ดอย่างๆ เราอาจจะเป็นจำเป็นต้องโฟกัสกับอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่มองภาพรวมเป็นหลัก โดยเอาเอาสิ่งที่เราทำหลายๆ อย่างเพื่อภาพรวมสิ่งเดียวก็ได้
ยกตัวอย่างได้ไหม
ยกตัวอย่างผมเอง ผมเปิดเพจเฟซบุ๊ก เป็นคนทำคอนเทนต์ ซึ่งชีวิตประจำวันของผมก็จะทำอะไรหลายอย่าง เช่น นั่งคิดงานคอนเทนต์ วาดรูป เขียนสคริป รวมไปถึงศึกษาเรื่องความรู้ออนไลน์ต่างๆ ซึ่งถ้ามองดูแล้วจะเห็นว่าทำอะไรหลายอย่างมาก แต่ในภาพรวมคือเรากำลังทุ่มเทกับการเป็นคนทำงานด้านคอนเทนต์อยู่
เราอาจจะต้องหาจุดยืนของตัวเอง หาที่ที่เราสามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่ เพราะว่างานบางอย่างมันเรียกร้องความสามารถของเราในหลายๆ ด้าน
หมายถึงว่าอาจจะต้องรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร แล้วหาทักษะหลายๆ อย่างมารวมกัน
ใช่ มันหมายถึงการปะติดปะต่อความสามารถหลายๆ อย่างของเราให้มันสามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่ สมมติเรารู้ตัวเองว่า เราไม่โดดเด่นสักอย่าง แต่เราถนัดอยู่สองสามอย่าง เช่น เรารู้ว่า เราชอบทำอาหาร ชอบนำเสนอ เรามีความรู้เรื่องออนไลน์ พอเป็นแบบนี้ เราก็จะสามารถนำความถนัดนี้ไปทำงานอื่นๆ ต่อไปก็ได้ เช่น ทำเพจในออนไลน์ หรือทำคอนเทนต์เรื่องอาหาร ที่สำคัญคือ เราต้องหาจุดยืนในงานที่มันต้องการความสามารถหลายอย่างจากมนุษย์เป็ด
แล้วนัดหาจุดยืนแบบนั้นเจอได้ยังไง
หาจากความชอบของตัวเองก่อนเลย ผมเริ่มจากสิ่งที่เราชอบก่อน เช่น มานั่งดูว่า อะไรคือสิ่งที่เราอยากตื่นมาทำในทุกเช้าด้วยตัวเอง แล้วไม่ได้ทำมันเพราะคนอื่นสั่งให้เราทำ พอได้สิ่งที่เราชอบมาแล้ว ก็ต้องถามตัวเองต่อว่า เราทำสิ่งนั้นได้ดีรึเปล่า สมมติ ผมชอบทำอาหาร เราอยากทำให้มันไปถึงฝั่ง เราก็ต้องฝึกมันให้ดีขึ้น สุดท้ายแล้ว เราก็ต้องต่อยอดมันไปให้ได้ไกลกว่าเดิม เช่น ต่อยอดให้มันเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น หรือยึดมันเป็นอาชีพได้รึเปล่า
ที่สำคัญคือต้องไม่ยอมแพ้ไปก่อนรึเปล่า
ผมคิดว่าคนเรามันต้องลองทำไปเรื่อยๆ ยิ่งเป็นมนุษย์เป็ดยิ่งต้องลอง มนุษย์เป็ดอย่างเราๆ ที่ทำอะไรได้หลายอย่างจะมีจุดเด่นของการหยิบจับอะไรแล้วเรียนรู้ได้ไวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บางคนอาจจะไม่มั่นใจ เพราะกลัวว่าทำได้ไม่ดี แต่บางที บางความสามารถไม่ได้เรียกร้องความสมบูรณ์แบบขนาดนั้น มันต้องการความครบเครื่องมากกว่า
มนุษย์เป็ดอาจจะได้เปรียบตรงที่ว่า เราอาจจะไม่ได้ทำบางอย่างเก่งมาก แต่เรามีความรู้รอบในเรื่องอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน มันเหมือนกับเมนูอาหารนึง บางวัตถุดิบอาจจะไม่ได้สวยหรูหรือราคาแพง แต่วัตถุดิบหลายๆ อย่างที่มารวมกัน มันก็กลายเป็นอาหารที่อร่อยได้
คิดว่าที่ทางของมนุษย์เป็ดในยุคนี้อยู่ตรงไหน
ยุคนี้เป็นยุคของมนุษย์เป็ดอย่างแท้จริงเลย ถ้าย้อนไป 20-30 ปีก่อน เรามักจะทำงานอยู่ในกรอบขององค์กรใหญ่ ที่จัดวางตำแหน่งไว้ให้เราอย่างเจาะจงเป็นหลัก ซึ่งการทำงานเป็นเส้นตรง มันทำให้มนุษย์เป็ดค่อนข้างลำบาก แต่พอมาสมัยนี้ ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป บริษัทแนวสตาร์ทอัพเริ่มมีบทบาทมากขึ้น รวมถึงอาชีพใหม่ๆ ที่มากขึ้น การรับงานอิสระมีมากขึ้น อาชีพใหม่ๆ นี้ทุกอย่างล้วนต้องการคนที่สามารถทำงานได้แบบ Multi-function ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ความสามารถที่รู้ได้รอบด้านก็จะถูกผลักดันให้เฉิดฉายขึ้น แต่เมื่อไหร่ที่เราเติบโตในหน้าที่การงานไปจุดหนึ่งแล้ว เราอาจจะต้องเปลี่ยนจากการเป็ดเป็ดที่รู้หลายอย่าง ไปสู่การเป็นเป็ดที่สามารถบริหารในหลายเรื่องได้แทน
ผมเขียนไปในหนังสือว่า การเป็นเป็ดในช่วงแรกอาจจะทำได้ทุกอย่าง แต่พอมาถึงช่วงหนึ่ง คุณอาจจะต้องบริหารได้ทุกอย่างแทน อาจจะต้องมีความรู้เบื้องต้นเพียงพอที่จะคุยกับทีมงานของตัวเองได้
ส่วนงานฟรีแลนซ์เองในยุคสมัยนี้ เราก็อาจจะเลือกงานไม่ได้มากนัก หมายถึงว่าเราอาจจะมีอาชีพหลักเป็นคนทำงานด้านบัญชี แต่รับงานฟรีแลนซ์ได้ด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งการที่เราสามารถทำอะไรได้อย่าง รู้อะไรในหลายอย่างก็อาจจะเหมาะกับการทำงานในรูปแบบนี้ด้วยเหมือนกัน
หรือช่วงนี้เรามักจะเห็นนักศึกษาที่ทำงานข้ามฝั่งกันเยอะขึ้น ซึ่งก็ไม่มีใครข้ามฝั่งได้ดีไปกว่ามนุษย์เป็ด
พูดในทางกลับกัน นัดกำลังจะหมายความว่าการรู้อะไรลึกๆ เพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้อยู่รอดได้ยากในยุคนี้แล้วรึเปล่า
เพราะการเป็ดเป็นอะไรที่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหนก็น่าจะอยู่รอดได้ ปรับตัวได้กับความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างดี อย่างเช่น ผมรู้สึกเพื่อนคนหนึ่งที่ทำงานสายเฉพาะทางที่เก่งมากๆ แล้วอยู่ดีๆ สายงานที่เขาทำมันถูกระบบ AI กลืนกินไป เพื่อนบางคนเรียนบัญชีเก่งมากๆ แต่สุดท้ายแล้วโดน Mobile banking กลืนกินเข้าไปก็มี แต่มนุษย์เป็นเหมือนคนที่ไม่ได้มีหลอดเลือดเดียว อาจจะไม่ได้มีหลอดเลือดที่ใหญ่เท่าคนอื่น แต่มีหลอดเลือดสำรองเอาไว้เยอะมาก
การชอบหลายๆ อย่าง ถึงแม้จะไม่สุดสักอย่าง มันทำให้เราเป็นคนที่รู้จักความคิดสร้างสรรค์ที่รวบรวมสิ่งต่างๆ ที่เรารู้มาไปสิ่งใหม่ได้ คุณค่าของมนุษย์เป็ดคือการที่เราได้ปะติดปะต่อความสามารถในชีวิต ให้มันไปได้สุดทางกว่าเดิม
สิ่งที่จะทำให้มนุษย์เป็ดมีความสุขที่สุด คือการลองใช้ความสามารถกลางๆ กว้างๆ ที่เรามีให้มันเกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด คือถึงแม้จะรู้ว่าตัวเองไม่ถนัดแบบลึกๆ แต่ก็ใช้ประโยชน์จากความรู้แบบกว้างๆ ที่เรามีได้ เราจะสร้างจินตนาการได้ไม่รู้ชอบ
เราสามารถเป็นเป็ดที่เก่งขึ้นได้ เป็ดที่เก่งขึ้นจะสามารถปะติดปะต่อความสามารถของตัวเองได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นเป็ดที่จะสามารถสร้างอะไรใหม่ๆ ที่เราไม่เคยสามารถสร้างได้
ในฐานะคนที่เป็นเป็ด คิดว่าสังคมเข้าใจอะไรผิดเกี่ยวกับการเป็นเป็ดมากที่สุด
คนที่เป็นเป็ดมักถูกมองว่าไม่ชัดเจน ไม่โฟกัส เพราะคนรอบข้างมักจะมองว่า วันนึงเห็นเราทำแบบนึง อีกวันทำอีกอย่าง เขาไม่เห็นจุดโดดเด่นในตัวเรา เขาคิดว่าเราไม่ได้ยืนหยัดเพื่ออะไรสักอย่าง หรือไม่เป็นคนที่มุ่งมั่นกับอะไรมากพอ
ผมก็มักจะถูกมองว่า ทำไมไม่มุ่งมั่นกับสิ่งๆ หนึ่งแล้วทำมันให้ดีไปเลย ทำไมไม่เอาเวลาทั้งหมดไปทุ่มเทกับสิ่งๆ เดียวไปเลย แต่ธรรมชาติของเรามันไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่เราเป็นคนที่ชอบทำอะไรหลายๆ เพื่อที่จะไปถึงเป้าหมายที่เป็นภาพรวมมากกว่า
หลายคนที่เป็นเป็ดก็เผชิญกับสถานการณ์ที่ ก็รู้ตัวนะว่า ตัวเองไม่ชอบอะไร แต่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรด้วย นัดจะให้คำแนะนำเขายังไงดี
ส่วนตัวผมรู้สึกว่า บางทีเราอาจจะยังหาความชอบไม่เจอ อาจจะเพราะว่าเรายังลองมันได้ไม่มากพอ บางทีเราไปตีกรอบว่าไม่ชอบโดยที่ยังไม่ได้ลองทำด้วยซ้ำ แต่จงอย่าลืมว่า การเป็นมนุษย์เป็ดอาจจะต้องลองและทดสอบกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าลองตามหาสิ่งที่ชอบไปเรื่อยๆ แล้ว
ผมเชื่อมนุษย์เราก็ต้องเจอความชอบสักอย่างในท้ายที่สุด และเราต้องไม่ยอมหยุดลองหาสิ่งใหม่ๆ
หากใครสนใจหนังสือของ ‘นัดเป็ด’ สามารถอ่านตัวอย่างบางตอนและสั่งซื้อได้ที่ : https://store.minimore.com/banluebooks/items/ped