เวลาพูดคำว่า ‘ดีเบต’ (debate) สังคมไทยจะนึกภาพไม่ค่อยออกว่ามันคืออะไรกันแน่ ภาพแรกๆ ที่เรานึกขึ้นมาได้ มักจะเป็นภาพแบบ ‘โต้คารมมัธยมศึกษา’ ซึ่งส่วนใหญ่คือการ ‘โต้วาที’ ในแบบที่ใช้ความพริ้งพรายของภาษา การเหน็บ เสียดสี กระแทกแดกดัน และเทคนิคอื่นๆ อีกหลายอย่างในด้านภาษา คารม (ซึ่งก็คือ ‘วาทศิลป์’) เพื่อเอาชนะกัน
ในยุคที่ผมเป็นนักโต้วาทีสมัยเรียนมหาวิทยาลัย นักโต้วาทีที่ถือกันว่า ‘เก่ง’ นั้น ส่วนใหญ่จำเป็นจะต้องไม่มีความคิดความเชื่ออะไรอยู่ในหัวมาก่อน เพราะต้องไป ‘จับฉลาก’ ว่าในแต่ละญัตตินั้นจะเป็นฝ่ายค้านหรือเสนอ แล้วสุดท้ายก็จะเจอญัตติประเภทที่ไม่รู้ว่าเถียงกันไปแล้วจะเกิดประโยชน์อะไร เช่นที่เคยเจอสมัยก่อนก็คือ ‘เป็นเอดส์เมื่อไหร่ตายดีกว่า’ หรือ ‘อกหักดีกว่ารักไม่เป็น’ ทว่าก็ต้องพยายามหาข้อมูล หลักการ และ ‘วิธีการ’ เพื่อทำให้ตัวเองชนะการถกเถียงนั้น
ส่วนใหญ่ – ชัยชนะคือเรื่องที่ได้มาด้วยคารม
แต่ในสากลโลก การ ‘ดีเบต’ คือการ ‘ถกเถียง’ กันอย่างเป็นทางการ (เรียกว่า formal discussion) ในหัวข้อ ประเด็น หรือญัตติเฉพาะบางเรื่อง โดยใช้ทั้งเหตุผล ตรรกะ วิธีพูด ที่วางอยู่บน ‘ฐาน’ ของความเชื่อในเรื่องนั้นๆ อย่างแน่นแฟ้นจริงๆ
ดังนั้น การ ‘ดีเบต’ หรือ ‘โต้วาที’ ในที่นี้ จึงแตกต่างจากการ ‘โต้คารม’ โดยสิ้นเชิง พูดอีกอย่างก็คือ การโต้คารมนั้นเอาชนะกันที่ ‘วาทศิลป์’ แต่การโต้วาทีนั้นคือเรื่องที่เอาชนะกันที่ ‘วาทกรรม’
วาทศิลป์ (rhetoric) คือศิลปะแห่งการใช้วาทะ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ซับซ้อนลึกซึ้งอย่างหนึ่ง แต่วาทกรรม (discourse) คือ ‘กรอบความคิด’ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ผ่านการ ‘ทำให้เป็นสถาบัน’ (institutionalized) มาแล้ว คือเป็นกรอบคิดที่มีการสืบทอดต่อเนื่องกันมา เพราะฉะนั้น สองอย่างนี้จึงไม่เหมือนกัน น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ คนทั้งประเทศ รวมไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในหลายวงการ โดยเฉพาะวงการการเมือง ต่างเข้าใจสับสนระหว่าง ‘วาทศิลป์’ (rhetoric) กับ ‘วาทกรรม’ (discourse) กันไปหมดแล้ว หลายคนใช้คำว่าวาทกรรมในฐานะวาทะ (เฉยๆ) ที่ไม่มีแม้กระทั่งศิลปะ
ดังนั้น จึงเป็นความเข้าใจผิดแบบนี้นี่แหละครับ ที่ทำให้หลายคนในสังคมไทยบอกว่าไม่อยากไป ‘ดีเบต’ กับใคร รวมทั้งเห็นว่าการดีเบตเป็นเรื่องที่ไม่มี ‘สารัตถะ’ ด้วยซ้ำ ซึ่งก็ ‘เข้าใจ’ ความเข้าใจผิดแบบนี้ได้นะครับ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่เติบโตมากับ ‘โต้คารม’ อย่างเดียว แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็น ‘ดีเบต’ ในรูปแบบอื่นๆ จนอาจเห็นว่าดีเบตมีรูปแบบเดียวเท่านั้นคือการโต้คารม โดยเฉพาะการโต้คารมในแวดวงการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมี ‘สารัตถะ’ จริงๆ เสียด้วย
แต่คำถามก็คือ แล้วถ้าเป็นการ ‘ดีเบต’ จริงๆ ในแบบที่สากลโลกเขาทำกันล่ะ มันจะมีประโยชน์ต่อความเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า?
เราจะเห็นได้เลยนะครับ ว่าในประเทศที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตยทั้งหลายในโลก (ที่เห็นชัดๆ ก็คือสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร) เวลามีการเลือกตั้ง จะต้องมีการดีเบตกันระหว่างผู้เข้าชิงตำแหน่งต่างๆ เสมอ และเวทีดีเบตก็มีทั้งเล็กทั้งใหญ่ นั่นแปลว่า ‘การดีเบต’ โดยตัวของมันเอง (โดยยังไม่ต้องพูดถึงเนื้อหาในการดีเบตด้วยซ้ำ) ต้องมี ‘สารัตถะ’ บางอย่างซ่อนอยู่ในนั้นแน่ๆ
เรื่องนี้ นักปรัชญาการเมืองทั่วโลกบอกตรงกันนะครับ ว่าปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยในโลก ก็คือการต้อง ‘เปลี่ยน’ ผู้คนทั่วไปที่ยุ่งอยู่กับการทำมาหากิน ให้กลายมาเป็น ‘ผู้เข้าร่วมที่กระตือรือร้น’ (active participants) ในกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งก็คือการเลือกตั้ง
ถ้าเราเชื่อใน ‘วาทกรรม’ ที่บอกว่า – คนส่วนใหญ่ที่หาเช้ากินค่ำไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษา ไม่มีข้อมูลมากพอที่จะใช้ตัดสินใจ (จนบางคนคิดว่าหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเป็นเรื่องไม่แฟร์ เพราะเสียงของด็อกเตอร์น่าจะเจ๋งกว่าเสียงของคนไม่รู้หนังสือ) ก็แปลว่าเรายิ่งต้องทำให้ผู้คนทั้งประเทศสามารถ ‘เข้าถึง’ และ ‘รับรู้’ ข้อมูลต่างๆ จากแต่ละฟากข้างที่อาสาเข้ามาเป็นตัวแทนในระบอบประชาธิปไตยให้มากขึ้น
และวิธีหนึ่งที่ดีที่สุด ใช้เวลาน้อยที่สุด กระจ่างที่สุด ‘เห็น’ และ ‘ตัดสินใจ’ ได้ดีที่สุด ก็คือสิ่งที่เรียกว่า public debate หรือดีเบตสาธารณะนี่เอง
บางคนอาจจะบอกว่า การดีเบตแปลว่าคนพูดเก่งจะชนะ ดังนั้น การดีเบตจึงเป็นเรื่องที่เอื้อประโยชน์ให้แต่กับคนพูดเก่ง ซึ่งเรื่องนี้มีการศึกษาจำนวนมากที่บอกว่า การ ‘พูดเก่ง’ อย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ชนะดีเบตนะครับ เพราะพูดเก่งอาจหมายถึง ‘โต้คารม’ หรือใช้วาทศิลป์เก่งก็ได้ แต่หากปราศจากหลักฐานหรือเหตุผลมารองรับ รวมทั้งไม่สามารถโน้มน้าวนำเสนอซึ่ง ‘วาทกรรม’ ของตัวเองได้ ก็อาจไม่ได้ชัยชนะเสมอไป ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ สังคมไหนเป็นสังคมที่ ‘คารม’ ชนะเหตุผลได้บ่อยๆ ก็เป็นดัชนีบอกได้เหมือนกันว่าสังคมนั้นมีระดับของวิจารณญาณอย่างไร
ย้อนกลับมาที่คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ กันอีกที นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า คนในยุคปลายๆ ศตวรรษที่ 20 นั้น มักจะมองภาพว่า ‘ประชาธิปไตย = การเลือกตั้ง’ แต่เพียงอย่างเดียว คือแค่มีการเลือกตั้งก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย เราจะพบว่า ประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่มักจะถูกลดรูปเหลือแค่การเลือกตั้ง (ซึ่งก็คือประชาธิปไตยสามนาที คือมีอำนาจแค่ตอนอยู่ในคูหา) มักเป็นประชาธิปไตยแบบที่สร้าง ‘ประชาชนหัวอ่อน’ (passive citizens of democracy) ขึ้นมา เพราะทำให้ผู้คนทั่วไปไม่ได้เป็น ‘ผู้เล่น’ ที่แท้จริง เป็นได้แค่คนกาบัตรที่แทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากาไปทำไม และประชาชนหัวอ่อนแบบนี้นี่แหละครับ ที่เป็นปัญหาใหญ่ ก่อให้เกิด dilemma ในการถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยมาตลอด จนในที่สุดก็เกิดวิกฤตของประชาธิปไตยแบบตัวแทนขึ้นมาในหลายที่หลายยุคสมัย
วิกฤตของประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เกิดขึ้นบ่อยๆ จึงยิ่งทำให้การดีเบตกลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก้าวเข้าสู่ยุค 90s ซึ่งเป็นยุคหลังสงครามเย็นที่โลกาภิวัตน์มีอัตราเร่งสูงมาก ผู้คนจึงตื่นตัว และอยากเห็นว่าคนที่ตัวเองจะเลือกเข้าไปเป็นตัวแทน (ไม่ว่าในฐานะไหน) มี ‘กึ๋น’ มากน้อยเพียงใดผ่านการดีเบต
ถ้ามองอย่างนี้ การดีเบตจึงมีส่วนทำให้เกิด ‘ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม’ ขึ้น แม้จะไม่ถึงขั้นมีส่วนร่วมโดยตรง แต่ก็เปิดเปลือยให้เห็นเนื้อในทางความคิดของผู้อาสาเข้ามาเป็นตัวแทน และคนทั่วไปก็มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหลังจากการดีเบตได้มากขึ้น นักรัฐศาสตร์หลายคนบอกตรงกันว่า การดีเบตช่วยผลักประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ตายซาก (และอาจกลายเป็นธนาธิปไตยได้) ให้เดินไปสู่ประชาธิปไตยแบบอื่นๆ อีกหลายๆ แบบ เช่น Deliberative democracy, Participatory democracy, Powerful democracy, Radical democracy หรือแม้กระทั่ง Direct democracy เอง (ขออภัยที่ไม่ได้อธิบายประชาธิปไตยแบบต่างๆ เหล่านี้นะครับ เพราะพื้นที่ไม่อำนวย แต่สามารถค้นหาได้ไม่ยากนัก)
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดีเบตเป็นตัวจุดประกายให้เกิด ‘การทดลองทางสังคม’ ผ่าน ‘ข้อเสนอ’ ใหม่ๆ ขึ้นมาได้หลายแบบ เพราะดีเบตทำให้คน active มากขึ้น อาจไม่ได้ active ถึงขั้นออกมาเดินขบวนบนท้องถนน แต่นักประสาทวิทยาบอกว่าการได้ ‘เห็น’ และ ‘ฟัง’ ดีเบต ส่งผลลึกลงไปถึงการทำงานในสมอง คือเกิดการตื่นตัวทางความคิด การสำรวจตัวเอง และการ ‘เลือก’ ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ข้างไหน
อย่างไรก็ตาม ตรงนี้มีประเด็นที่ต้องระวังนิดหน่อยนะครับ เพราะการเห็น public debate หรือการโต้วาทีสาธารณะ อย่างเช่นนักการเมืองมาโต้แย้งกันด้วยเหตุผล (และมีการแบ่งเวลากันอย่างชัดเจน) นั้นไม่เหมือนกับการ ‘ดีเบต’ หรือโต้เถียงกันในครอบครัว หรือในพื้นที่ส่วนตัวสักเท่าไหร่
เรื่องนี้แปลกดี เพราะมีการศึกษาทางประสาทวิทยา (ด้วยการสแกนสมอง) พบว่าการดีเบตในครอบครัว (เช่น พ่อแม่ลูกหรือพี่น้องมีความชอบทางการเมืองไม่ตรงกัน) ส่วนใหญ่แล้วไม่มีใครยอมเปลี่ยนความคิดใดๆ เลย คนอเมริกันถึงเตือนกันนักหนาว่า เวลากินข้าววันขอบคุณพระเจ้าที่มีการรวมญาติ ต้องอย่าคุยเรื่องการเมืองเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นอาจมีปัญหาครอบครัวหนักหนาสาหัสได้
เรื่องนี้แตกต่างจากการนั่งฟังดีเบตสาธารณะจากคนที่ ‘แปลกหน้า’ กับเรานะครับ เพราะเวลาอยู่กับครอบครัว สมองส่วนที่ทำงานมากๆ ของเราจะเป็นสมองส่วนที่เก่าแก่กว่า (เช่นส่วนที่เรียกว่าอะมิกดาลา ซึ่งรับผิดชอบปฏิกิริยาแบบสู้หรือหนี ซึ่งมีลักษณะแบบขาวดำ) ทำให้เราใช้เหตุผลน้อยลง และมีการ ‘ต่อต้าน’ คนที่เรารัก (หรืออย่างน้อยก็คิดว่าควรจะรักเพราะเป็นคนในครอบครัว) มากกว่าปกติ และสุดท้าย ดีเบตทางการเมืองในครอบครัว (ที่ไม่ใช่ public debate) ก็มักลงเอยกลายเป็นการ ‘โต้คารม’ มากกว่าการโต้วาทีที่ใช้เหตุใช้ผลมาหักล้างกัน
ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ เริ่มมีนักวิเคราะห์บางคนมองว่า การดีเบตในครอบครัวกับการดีเบตในโซเชียลมีเดียนั้น – มีอะไรบางอย่างคล้ายคลึงกันไม่น้อย
การดีเบตทางโซเชียลมีเดียน้ัน อาจเริ่มต้นด้วยการ ‘โต้วาที’ ด้วยเหตุและผล เช่น มีคนตั้งสเตตัสขึ้นมาแล้วมีคนไม่เห็นด้วย จึงเข้ามาโต้แย้ง แต่สุดท้ายจะมีคนอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย และมักจะลงเอยเกิดการ ‘ผลัก’ กันและกันให้กลายเป็นสองขั้ว (ตามวิธีทำงานของอะมิกดาลา) และที่สุดก็กลายเป็นการ ‘โต้คารม’ ที่ไม่มีฝ่ายใดเปลี่ยนแปลงแนวคิดไปเท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่จะยึดติดอยู่กับแนวคิดเดิมของตัวเอง แล้วทวีความรุนแรงใน ‘น้ำเสียง’ ที่มีลักษณะ ‘เผ็ดร้อน’ (sharper) มากขึ้นเรื่อยๆ
บางคนมองว่า การที่ดีเบตเรื่องการเมืองในโซเชียลมีเดียกับดีเบตเรื่องการเมืองในครอบครัวนั้นมีลักษณะคล้ายกันนั้น ปัจจัยเรื่องความเป็นสาธารณะกับความเป็นส่วนตัว (คือการอยู่ใน private sphere ขณะโต้เถียงกัน) น่าจะมีส่วนสำคัญ
สังคมที่คุ้นเคยกับการดีเบตสาธารณะ ส่วนใหญ่คือสังคมที่คุ้นเคยกับการตรวจสอบและวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้คือพื้นฐานสำคัญอีกสองอย่างของความเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่คนที่เติบโตมากับสังคมโต้คารม (เช่นคนที่ไม่ค่อยอยากดีเบตกับคนอื่น) มักจะเป็นพวกที่คุ้นเคยกับการดีเบตส่วนตัว การล็อบบี้ข้างหลังฉาก การสั่งและรับคำสั่งแบบลับๆ ที่ปราศจากการตรวจสอบ จนไม่เห็นความสำคัญของดีเบตสาธารณะที่มีแก่นแกนอยู่ตรงการตรวจสอบ
ที่จริงแล้ว ยิ่งมีดีเบตที่เป็น ‘สาธารณะ’ มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้คน ‘ฟัง’ โดยใช้อารมณ์ดิบๆ (ที่มาจากการทำงานของสมองส่วนที่เก่าแก่) น้อยลง แม้คนฟังจะอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว (เช่น ดูคลิปอยู่ที่บ้าน) แต่ดีเบตสาธารณะจะเปิดโอกาสให้เกิดการ ‘ค่อยๆ ครุ่นคิด’ โดยยังไม่ต้องรีบตอบโต้ฉับพลันเหมือนเวลาดีเบตกับครอบครัวหรือดีเบตในโซเชียลมีเดีย และแตกต่างจากการ ‘รับคำสั่ง’ ในแบบที่ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการครุ่นคิดด้วย
ด้วยเหตุนี้ ดีเบตสาธารณะจึงสำคัญในหลายระดับ คือสำคัญต่อการสร้างประชาธิปไตยโดยรวม และสำคัญต่อการสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นกับสมองและวิธีคิดของเราด้วย
ในด้านกลับ การไม่เห็นความสำคัญของดีเบตสาธารณะ – ก็อาจส่อแสดงให้เห็นความไม่เป็นประชาธิปไตยที่ฝังลึกลงไปถึงระดับสมอง วัฒนธรรม การบ่มเพาะเลี้ยงดู และวิธีคิดดั้งเดิมได้เช่นเดียวกัน