ดูเหมือนคำว่า ‘gentrification’ จะถูกหยิบมาพูดถึงบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีนิทรรศการ Bangkok Design Week 2024 เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 ที่มาในธีมพัฒนาเมือง
เป็นปกติที่นิทรรศการหนึ่งจะมีทั้งเสียงชื่นชมและเสียงวิจารณ์ บางส่วนชื่นชมว่าเป็นงานที่เปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้แสดงผลงานและฝีมือด้านการออกแบบ บางส่วนชื่นชมว่าเป็นงานที่ทำให้เมืองมีชีวิตและกระตุ้นเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่จัดงาน ขณะที่บางส่วนชื่นชมว่าเป็นการออกแบบที่ช่วยพัฒนาเมืองได้
อย่างไรก็ดี มีคนส่วนหนึ่งเช่นกันที่ตั้งคำถามว่า นิทรรศการเหล่านี้ยั่งยืนต่อชุมชนอย่างไร เป็นแค่งานจัดไฟ–ติดตั้งผลงานศิลปะทั่วเมืองเฉยๆ หรือเปล่า แค่ทำให้ย่านใดย่านหนึ่งกลายเป็นย่าน ‘ฮิปสเตอร์’ หรือไม่ ไปจนถึงคำถามทำนองว่า นิทรรศการเหล่านี้สร้างผลประโยชน์ให้คนในพื้นที่มากแค่ไหน หรือเป็นแค่สนามเด็กเล่นของใครบางคน?
และอีกข้อถกเถียงสำคัญของประเด็นนี้ คือ gentrification บางคนวิจารณ์ว่านิทรรศการอาจทำให้พื้นที่ถูก gentrification จนราคาค่าครองชีพในย่านสูงขึ้น ว่าแต่ gentrification ที่เขาพูดถึงกันมันคืออะไรนะ? The MATTER ชวนเข้าใจความหมายไปด้วยกัน
บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาฯ ม.ธรรมศาสตร์ นิยาม gentrification ในภาษาไทยว่า ‘การทำให้เมืองกลายเป็นย่านผู้ดี’ ซึ่งก็สอดคล้องกับที่พจนานุกรม cambridge นิยามว่า ‘กระบวนการที่พื้นที่แห่งหนึ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ในเมือง เปลี่ยนจากพื้นที่ยากจนสู่พื้นที่ที่ร่ำรวยกว่า และกลายเป็นพื้นที่ที่ชนชั้นฐานะทางสังคมสูงกว่าเข้ามาอยู่อาศัย‘
ขณะที่มนสิชา เพชรานนท์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ให้ความหมายว่า gentrification คือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนเก่าในเมืองที่เสื่อมโทรมตามเวลา ผู้อาศัยเดิมส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มรายได้น้อย ต่อมาเมื่อคนภายนอกเข้ามาซื้อบ้าน–อาคาร และปรับปรุงจนมีสภาพดีขึ้น จึงส่งผลให้ชุมชนเริ่มเป็นที่สนใจและดึงดูดให้กลุ่มอื่น (ซึ่งเป็นกลุ่มที่สถานะทางสังคมและการเงินดีกว่าคนในพื้นที่เดิม) เริ่มโยกย้ายเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น
นั่นทำให้สภาพเดิมของชุมชนเปลี่ยนแปลงไป และทำให้ราคาบ้าน–ที่ดิน–ค่าเช่าในย่านนั้นเพิ่มสูงขึ้น ท้ายที่สุดกลุ่มผู้อาศัยดั้งเดิมส่วนใหญ่ที่รายได้น้อยก็อยู่ในย่านเดิมต่อไม่ไหว จนต้องย้ายออกไป
คล้ายกับที่ ประภาส ปิ่นตบแต่ง อดีต อ.รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เคยอธิบายระหว่างเสวนา ‘ความหวังอยากมีบ้าน’ ว่า gentrification คือ การทำให้เมืองเป็นสินค้ามากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างพื้นที่สลัมและพื้นที่ซอยตลาดน้อย ว่าเป็นพื้นที่ที่แต่เดิมเคยพัฒนาโดยผู้อยู่อาศัยเดิมโดยที่ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ประภาสกล่าวด้วยว่า การพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้พื้นที่นั้นเป็นย่านชิค เป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีข้อดีคือทำให้ร้านรวงดูดีขึ้น สะอาด ถนนหนทางดีขึ้น อาชญากรรมในพื้นที่ลดลง และสร้างรายได้และพัฒนาการทางเศรษฐกิจ แต่อีกแง่หนึ่งอาจเป็นการขับถีบกลุ่มคนที่เคยอยู่อาศัยมายาวนานให้ออกจากพื้นที่
สรุปมันดีหรือไม่ดี? บางคนอธิบายว่า gentrification คือเรื่องดีๆ เพราะพื้นที่ย่านนั้นก็จะมีความปลอดภัยขึ้น มีสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในขณะที่บางคนแย้งว่า เม็ดเงินในกระบวนการนี้อาจส่งถึงมือคนพื้นที่ไม่มากนัก ทั้งยังเป็นกระบวนการที่ถีบผลักให้คนฐานะต่ำต้องย้ายออกเพราะอยู่ไม่ไหว และอาจนำมาสู่การลบเลือนวัฒนธรรม และทำให้ค่าครองชีพในพื้นที่ที่สูงขึ้น
บทความนี้ไม่ได้ตอบคำถามว่า เทศกาลสร้างสรรค์ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการ gentrification หรือไม่ อย่างไร เพียงแต่ชวนเข้าใจความหมาย รวมถึงข้อดีข้อเสียที่เคยถูกวิเคราะห์ไว้ …แล้วคุณละ คิดว่ากระบวนการ gentrification มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง แล้ว bangkok design week ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการนั้นหรือเปล่า?
อ้างอิงจาก
https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/gentrification#google_vignette
https://waymagazine.org/gentrification-push-the-movie/
https://theactive.net/read/gentrification/
https://digital.car.chula.ac.th/cgi/viewcontent.cgi?article=7435&context=chulaetd
https://www.investopedia.com/terms/g/gentrification.asp#:~:text=Gentrification%20is%20a%20process%20of,costs%20brought%20about%20by%20gentrification.
https://education.nationalgeographic.org/resource/gentrification/
https://www.teenvogue.com/story/what-is-gentrification-how-works
https://robertsmith.com/gentrification-pros-and-cons/#:~:text=Some%20of%20the%20benefits%20of,living%2C%20especially%20for%20underserved%20communities.