นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติก็จะวนมาอีกครั้ง ในวันที่ 29 มีนาคม – 9 เมษายน 2560 โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 45 และถึงแม้ใครต่อใครจะกังวลว่าสถานการณ์ของสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ปีที่แล้วจะไม่ค่อยดีนัก แต่กับวงการหนังสือเล่มก็ยังมีหนังสือใหม่ๆ ทยอยออกมาเรื่อยๆ ที่ซื้อไปครั้งที่แล้วยังอ่านกันไม่หมดเลยใช่มั้ย ไม่เป็นไรก็ซื้อไปประดับชั้นหนังสือก่อน ว่างๆ ค่อยหยิบมาอ่านก็ได้
Young MATTER จะพาไปคุยกับสำนักพิมพ์อิสระ บอกเล่าถึงตัวตนและมุมมองในเรื่องสิ่งพิมพ์ ว่าแต่ละสำนักพิมพ์มีความเห็นอย่างไรกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ เปิดไฟให้สว่าง หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาแล้วพลิกหน้าต่อไปพร้อมๆ กันเลย
1. สำนักพิมพ์สมมติ
The MATTER : คาแรกเตอร์ของสำนักพิมพ์คุณเป็นยังไงบ้าง
สำนักพิมพ์สมมติ : บางครั้งก็เกรี้ยวกราด บางทีก็สยบยอม บางคราก็มีหยดน้ำตา หลายครั้งมีความสุขล้น หลายทีอยู่อย่างโดดเดี่ยว และหลายคราก็เหงาสัสๆ
The MATTER : คิดว่าทำไมคนถึงยังซื้อหนังสือ แม้จะมี E-book หรือเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามา แต่หลายคนก็ยังเลือกหนังสือเล่ม
สำนักพิมพ์สมมติ : ชีวิตในโลกสมัยใหม่ ทำให้ปัจเจกมีทางเลือกอยู่เสมอ
The MATTER : คิดว่าอะไรที่เป็นเสน่ห์ของสิ่งพิมพ์
สำนักพิมพ์สมมติ : กระดาษมีกลิ่น กริยาการอ่านเป็นสากล และหนังสือเล่มยังเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของผู้อ่านเสมอ
The MATTER : อยากให้ลองจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีสิ่งพิมพ์อยู่ว่าตัวคุณและโลกเป็นอย่างไร
สำนักพิมพ์สมมติ : ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หลายสิ่งสูญหาย และหลายสิ่งคงอยู่ โลกยังหมุนรอบตัวเองและยังโคจรรอบดวงอาทิตย์ มีดวงดาวอีกมากมายที่เรายังไม่รู้จักแต่มีอยู่ #หนังสือคงไม่ต่างกัน
The MATTER : งานหนังสือที่จะถึงนี้จะมีอะไรออกบ้าง
สำนักพิมพ์สมมติ : โปรดรอคอย แต่ยืนยันได้เสมอว่า เราจะปรนเปรอผู้อ่านของเราให้ดีที่สุด
2. สำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์
The MATTER : คาแรกเตอร์ของสำนักพิมพ์คุณเป็นยังไงบ้าง
สำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์ : ขรึมและนิ่ง เปิดรับความเป็นไปได้แบบต่างๆ ด้วยท่าทีจริงจังแต่ก็รักอารมณ์ขัน ถ้าเป็นคนก็อาจจะเป็นพวกเนิร์ดในห้องเรียนที่รีดเชิ้ตเรียบมาโรงเรียนแต่ก็เลือกใส่ผ้า oxford และอาจจะถุงเท้าเขียว ชอบอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ก็แอบยืมนิยายเพี้ยนๆ จากเพื่อนโต๊ะข้างๆ มาอ่านบ้างเหมือนกัน
The MATTER : คิดว่าทำไมคนถึงยังซื้อหนังสือ แม้จะมี E-book หรือเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามา แต่หลายคนก็ยังเลือกหนังสือเล่ม
สำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์ : อย่างหนึ่งที่คิดออกคือ เป็นความเคยชิน เราเองยังชอบบรรยากาศการเดินร้านหนังสือที่มีหนังสือให้หยิบจับอยู่ตามชั้นวางและโต๊ะแสดงหนังสือใหม่ ซึ่งประสบการณ์แบบนี้คงยังไม่มีกับเว็บขายอีบุ๊ค (หรือถึงมีก็ยังไม่เห็นได้โดยทั่วไป) นั่นคือความหมายของการช้อปปิ้งหนังสือในวันสุดสัปดาห์ของเรา อีกอย่าง การยื่นหนังสือให้ใครสักคนอ่านมันให้ความอบอุ่นหัวใจมากกว่ากด send a gift นะ อย่างน้อยก็ในตอนนี้ แต่เราก็เริ่มเห็นตัวอย่างที่น่าสนใจในการผสานโลกอีบุ๊กกับสื่อกระดาษ เราว่ามันก็เป็นการทดลองเปิดความเป็นไปได้ที่น่าตื่นเต้นดี
The MATTER : คิดว่าอะไรที่เป็นเสน่ห์ของสิ่งพิมพ์
สำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์ : ตอบแบบทื่อๆ ไปเลยว่า ‘กระดาษ’ ทั้งกลิ่น ทั้งสัมผัส สำนักพิมพ์เราเองก็เป็นหนึ่งในสำนักพิมพ์ที่ตื่นเต้นกับขั้นตอนเลือกกระดาษปกและกระดาษเนื้อในมากๆ มันเป็นวัสดุบอบบางที่มีเสน่ห์ มีทั้งข้อจำกัดในการออกแบบแต่ก็เปิดโอกาสให้กับการออกแบบด้วยเช่นกัน ถามว่ามันสำคัญกับเนื้อหาขนาดไหน ก็คงไม่มาก จะอ่าน E-book ก็ได้ แต่สำหรับพวกเรา ทุกรายละเอียดนี้สร้างความหมายให้หนังสือเล่มหนึ่งได้หมด เช่น กระดาษปก Revenge (โยโกะ โอกาวะ เขียน) ที่มีพื้นผิวเป็นริ้วและมีสีชมพูอ่อนเหมือนหนังมนุษย์ สื่อถึงร่างกายของตัวละครต่างๆ ในเรื่อง เรามองสิ่งพิมพ์นี้เป็นงานศิลปะทั้งวรรณศิลป์และศิลปกรรม
The MATTER : อยากให้ลองจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีสิ่งพิมพ์อยู่ว่าตัวคุณและโลกเป็นอย่างไร
สำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์ : เราคงคิดถึงการหาเอกสารโดยใช้มือคุ้ยๆ หานะ ต่อไปทุกอย่างคงมีแต่ช่อง search ซึ่งมันไม่ใช่ว่าดีหรือแย่กว่า อาจจะประหยัดเวลาไปโขก็ได้ แต่เราคงคิดถึงมัน คิดถึงการบังเอิญเจอสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจหาในกองหนังสือเก่าของพ่ออะไรแบบนั้น แต่โลกอนาคตคงหาทางจัดการกับอารมณ์ลักษณะนี้ได้ในอีกรูปแบบ คล้ายๆ เรื่องสั้นบางเรื่องใน SUM ของเดวิด อีเกิลแมน นี่อาจจะเป็นบท ‘ชีวิตหลังความตายของกระดาษ’ ก็ได้
The MATTER : งานหนังสือที่จะถึงนี้จะมีอะไรออกบ้าง
สำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์ : หนังสือที่ออกคราวนี้คือ แดงรวี ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ หนังสือที่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเกือบห้าสิบปีก่อน (สมัยที่พ่อแม่พวกเราเป็นวัยรุ่น) แต่ล้ำอย่างไม่น่าเชื่อ มีทั้งการทำนายความตายโดยคอมพิวเตอร์ มหาเศรษฐีที่ทุกข์ด้วยโรคใจยิ่งกว่าโรคกาย ปริศนาเกี่ยวกับผู้หญิงที่มีอดีตหลากหลายเวอร์ชัน ไนต์คลับบาร์เกย์แซ่บพริกกะเหรี่ยง ฯลฯ สำหรับ SUM เล่มแรกของไจไจบุ๊คส์อาจเป็นการค้นหาความเป็นไปได้ในอนาคต แต่กับเล่มนี้ พวกเราค้นหาความเป็นไปได้ในอดีต ความเป็นไปได้ที่ว่าหนังสือดีเล่มหนึ่งอาจถูกเวลากลืนหาย แต่มันก็ยังควรค่าที่จะนำมาพลิกอ่านให้อัศจรรย์ใจเล่น ว่าเออ โลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะ แต่หลายอย่างก็ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย
3. ไต้ฝุ่น สตูดิโอ
The MATTER : คาแรกเตอร์ของสำนักพิมพ์คุณเป็นยังไงบ้าง
ไต้ฝุ่น สตูดิโอ : ไต้ฝุ่นเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็กตลอดกาลที่พิมพ์หนังสือน้อยและพิมพ์ตามความสนใจอันจำกัดของผู้พิมพ์ แต่หวังว่ามันจะเป็น ‘ทางเลือก’ เล็กๆ ให้กับนักอ่านที่แสวงหาความแตกต่าง
The MATTER : คิดว่าทำไมคนถึงยังซื้อหนังสือ แม้จะมี E-book หรือเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามา แต่หลายคนก็ยังเลือกหนังสือเล่ม
ไต้ฝุ่น สตูดิโอ : คนยังซื้อหนังสือเล่ม เพราะหนังสือเล่มมีเสน่ห์ และมีคุณสมบัติในตัวเองที่การอ่านแบบอื่นไม่มีหรือให้ไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องผิวสัมผัสและความเป็นวัตถุ เป็นงานออกแบบ เป็นสิ่งเก็บสะสม หนังสือเล่มมีทั้งความเป็นข้อมูลซึ่งเป็นนามธรรมและความเป็นสิ่งของที่เป็นรูปธรรม และถึงแม้จะอาจฟังดูขัดแย้งหรือแปร่งแปลก แต่หนังสือเล่มมีแนวโน้มที่จะอยู่ได้นานกว่า E-book ดังที่เราเห็นตามพิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุดเก่าๆ ว่าหนังสืออายุนับร้อยนับพันปีก็ยังคงอยู่กับเรา
The MATTER : คิดว่าอะไรที่เป็นเสน่ห์ของสิ่งพิมพ์
ไต้ฝุ่น สตูดิโอ : เหมือนข้อ 2
The MATTER : อยากให้ลองจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีสิ่งพิมพ์อยู่ว่าตัวคุณและโลกเป็นอย่างไร
ไต้ฝุ่น สตูดิโอ : โลกที่ไม่มีสิ่งพิมพ์ ถ้ายังมีการเล่าเรื่อง มีการสร้างและสืบสานจินตนาการในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ก็อาจยังน่าอยู่ได้เช่นกัน
The MATTER : งานหนังสือที่จะถึงนี้จะมีอะไรออกบ้าง
ไต้ฝุ่น สตูดิโอ : งานสัปดาห์หนังสือฯ ปีนี้สำนักพิมพ์ Sunday Afternoon ในเครือไต้ฝุ่นสตูดิโอ มีหนังสือเล่มใหม่โดยคุณปาลิดา พิมพะกร ชื่อเรื่อง Summer Mountain Walk และมีหนังสือรวมเรื่องสั้นยุควัยหนุ่มของปราบดา หยุ่น ที่นำกลับมาพิมพ์ใหม่หลังจากที่หายไปนาน ชื่อ อุทกภัยในดวงตา
4. สำนักพิมพ์ JLIT
The MATTER : คาแรกเตอร์ของสำนักพิมพ์คุณเป็นยังไงบ้าง
สำนักพิมพ์ JLIT : เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนเล็กๆ ที่รักในหนังสือ และมีประสบการณ์ในการทำหนังสือแปลญี่ปุ่น เราจึงตั้งใจอยากเป็นกลุ่มคนที่ส่งผ่านหนังสือญี่ปุ่นให้ผู้อ่านคนไทย สร้างชุมชนคนรักหนังสือญี่ปุ่น และเปิดพื้นที่เสนอเรื่องราววัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านหนังสือญี่ปุ่น เพื่อเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ชื่อของสำนักพิมพ์ JLIT มาจากคำว่า J = Japan หรือญี่ปุ่น Lit = Literature หรือวรรณคดี มีความตั้งใจที่จะผลิตวรรณกรรมแปลภาษาญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นไปที่วรรณกรรมคลาสสิกในยุคสมัยใหม่ของญี่ปุ่น โดยแปลจากภาษาต้นทางคือภาษาญี่ปุ่นโดยตรง และหนังสือที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นอื่นๆ ในอนาคต
The MATTER : คิดว่าทำไมคนถึงยังซื้อหนังสือ แม้จะมี E-book หรือเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามา แต่หลายคนก็ยังเลือกหนังสือเล่ม
สำนักพิมพ์ J LIT : หนังสือกระดาษเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ต้องการเครื่องมืออื่นๆ ไม่ต้องการแท็บเล็ตหรือเครื่องอ่าน ไม่ต้องการการชาร์จไฟ ถ้าเมืองไทยมี Kindle ภาษาไทย E-book ของไทยอาจจะเป็นที่นิยมมากกว่านี้
The MATTER : คิดว่าอะไรที่เป็นเสน่ห์ของสิ่งพิมพ์
สำนักพิมพ์ J LIT : สัมผัสอื่นๆ ในการอ่าน ที่ไม่ได้มีเพียงแค่การมองเห็นเพื่ออ่าน แต่สัมผัสของกระดาษเวลาพลิกหรือจับอ่าน กลิ่นของกระดาษ รวมไปถึงเสียงการพลิกหน้ากระดาษหรือเสียงที่กระดาษสีกัน การอ่านเป็นเล่มที่เห็นด้วยตาว่าจบเล่มนั้นสร้างความพึงพอใจในการบรรลุเป้าหมายของผู้อ่านอีกด้วย
The MATTER : อยากให้ลองจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีสิ่งพิมพ์อยู่ว่าตัวคุณและโลกเป็นอย่างไร
สำนักพิมพ์ J LIT : ไม่สามารถจะจินตนาการได้ เพราะเมื่อพูดถึงสิ่งพิมพ์แล้วนั่นไม่ได้หมายถึงหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงทุกสิ่งซึ่งหีบห่อบรรจุภัณฑ์ ปฏิทิน เครื่องมือการโฆษณา ใบปลิว ใบปิด ทุกสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งพิมพ์ จึงไม่สามารถจะจินตนาการได้ว่าโลกนี้จะไม่มีสิ่งพิมพ์ได้อย่างไร
The MATTER : งานหนังสือที่จะถึงนี้จะมีอะไรออกบ้าง
สำนักพิมพ์ J LIT : มีผลงานของเอโดะงาวะ รัมโป บิดาแห่งอาชญนิยายญี่ปุ่น 2 เล่ม เป็นซีรีส์ของนักสืบชื่อดังมาก ซีรีส์ยอดนักสืบอาเคจิ โคโกะโร ตอนฆาตกรรมบนเนินD และ ตอนดวงดาวแห่งเงามืด
5. P.S. Publishing
The MATTER : คาแรกเตอร์ของสำนักพิมพ์คุณเป็นยังไงบ้าง
P.S. Publishing : ถ้าเป็นคน ก็คงเป็นคนหยิ่ง เป็นคนบ้า เป็นคนคลั่งรัก บางครั้งเป็นมิตร บางครั้งแปลกแยก เป็นตัวของตัวเอง ช่างสังเกต สนใจความเป็นไปของสังคม ดูหนัง ฟังเพลง ชอบการสนทนาในประเด็นร่วมสมัย รวมๆ คือเป็นคนมีหลายบุคคลิก ไปอ่านสิ หนังสือแต่ละเล่มของเรามีบุคลิกซับซ้อนนะ แต่ที่สำคัญคือเป็นคนชอบเรียกร้องความสนใจ มันแสดงออกมาที่การแต่งตัว เห็นไหมเราตั้งใจออกแบบปกหนังสือและรูปเล่มกันมาก อยากให้เป็นหนังสือที่สวยและคนอยากจับจองเป็นเจ้าของ
The MATTER : คิดว่าทำไมคนถึงยังซื้อหนังสือ แม้จะมี E-book หรือเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามา แต่หลายคนก็ยังเลือกหนังสือเล่ม
P.S. Publishing : คนยังซื้อหนังสือเพราะว่าสิ่งที่อยู่ข้างในหนังสือ เนื้อหาที่ถูกจริต ภาพประกอบสวยจากศิลปินหรือคนทำภาพประกอบที่ชอบ ดังนั้นถ้าสิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นรูปแบบ E-book และบางคนรู้สึกว่ามันฟังก์ชั่นกว่า ก็ไม่ต้องซื้อหนังสือเล่มก็ได้ เราไม่เคยมีปัญหากับ E-book คนอ่านเลือกซื้อหนังสือเล่มหรือ E-book ก็ขึ้นอยู่กับฟังก์ชั่น สุดท้ายคนตัดสินที่เนื้อหามากกว่า
The MATTER : คิดว่าอะไรที่เป็นเสน่ห์ของสิ่งพิมพ์
P.S. Publishing : เชยมาก เป็นคำถามที่เชยมาก เราไม่ต้องโรแมนติกกับสิ่งพิมพ์ขนาดนั้นก็ได้ เรื่องเสน่ห์อะไรนั่นเป็นเรื่องที่เราให้คุณค่าไง แต่ในมุมหนึ่งเราก็ต้องมองเรื่องของฟังก์ชั่น บางคนอยากนอนพลิกกระดาษอ่าน มีบ้านกว้าง อยากมีชั้นหนังสือสวยๆ หนังสือเป็นของสะสมด้วย แต่บางคนอยู่คอนโดจะเอาหนังสือไปเก็บไว้ไหน บางเล่มโหลดเป็นอีบุ๊คมาอ่านดีกว่า บางคนเดินทางรอบโลกจะหอบหนังสือไปด้วยก็ไม่ได้ วิถีชีวิตคนเรามันเปลี่ยน ดังนั้นก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามกลไกที่มันควรจะเป็น อย่าโหยหาหรือให้ค่าสิ่งหนึ่งล้นเกินจนลดทอนอีกสิ่งหนึ่งเลย เพราะสองสิ่งนี้จริงๆ แล้วคือสิ่งที่ส่งเสริมกัน
The MATTER : อยากให้ลองจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีสิ่งพิมพ์อยู่ว่าตัวคุณและโลกเป็นอย่างไร
P.S. Publishing : จินตนาการเหรอ? อืม ก็อย่างที่บอกแหละ สิ่งสำคัญมันคือคอนเทนท์ ตราบใดที่คุณมีข้อมูลที่น่าสนใจ มีความแหลมคมในประเด็นที่กำลังสื่อสาร จะอยู่ในรูปแบบไหนก็ยังเป็นที่สนใจเสมอ ไม่เห็นต้องกังวลหรือกลัวเลยว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย จะตายเหรอ ตายไปเลยสิ โลกเรามีวิวัฒนาการเสมอมา สิ่งเก่าไป สิ่งใหม่มา อะไรอ่อนแอก็แพ้ไป ปรับตัวไม่ได้ก็สมควรตายไป นั่นเป็นเรื่องที่ถูกแล้ว หากว่าวันหนึ่งโลกเราจะไม่มีสิ่งพิมพ์อยู่แล้ว เพราะเราอาจจะสามารถเสียบ E-book ต่อตรงไปยังสมองเลยก็ได้ แล้วเรื่องราวมันก็อาจจะฉายเป็นฉากๆ มีตัวละคร มีบทสนทนา เราสามารถอ่านหนังสือในรูปแบบใหม่ อ่านโดยที่ไม่ต้องอ่าน ดีกว่าอีก ดังนั้นอย่าไปเสียดายเลย เพราะว่าความสำคัญอยู่ที่คอนเทนท์
The MATTER : งานหนังสือที่จะถึงนี้จะมีอะไรออกบ้าง
P.S. Publishing : เล่มคุณคือดวงจันทร์ ฉันสิคนบ้า รวมเรื่องสั้นของฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ เรื่องราวซึ่งเจือจางไปด้วยละอองอารมณ์และบรรยากาศร่วมสมัย สั้นกระชับซึ่งดูเหมือนเป็นฉากหนึ่งในเรื่องราวยืดยาวของใครสักคน เป็นบางห้วงเวลาในความสัมพันธ์ที่มักมีฝ่ายหนึ่งอยู่ในฐานะคลับคล้ายดวงจันทร์อยู่เสมอ คำถามคือ แล้วแบบนี้ อีกฝ่ายจะตกอยู่ในฐานะอะไร? แค่คำถามโดยรวมของหนังสือก็โดนแล้ว เพราะฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ สนใจการดำรงอยู่ของดวงจันทร์ เฝ้ามองและตั้งคำถามเชื่อมโยงกับชีวิตในวัยกึ่งกลางระหว่างยี่สิบและสามสิบ นานวันจนรวบรวมและเรียบเรียง รวมทั้งฉีกทึ้งตัวเองเพื่อประกอบเข้าไปในเรื่องเล่าหลายต่อหลายส่วน และความพิเศษอย่างยิ่งก็คือ เรื่องและภาพที่สอดคล้องต้องกันด้วยจริตอันวิจิตรและรู้จิตรู้ ใจระหว่างฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ และ นักรบ มูลมานัส ทำให้ LUNAR LUNATIC คุณคือดวงจันทร์ ฉันสิคนบ้า เป็นหนังสือที่คุณจะหลงรัก ไม่ว่าในความสัมพันธ์คุณจะสว่างไสวดุจดวงจันทร์หรือบ้าคลั่งดั่งคนบ้า