เมื่อกล่าวถึงปัญหา ‘ผู้ลี้ภัย’ หลายคนอาจเบือนหน้าหนีตั้งแต่แรก เพราะฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว
จากข้อมูลในประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยถึง 93,000 คน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ ผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยบริเวณชายแดนไทย-พม่า เช่น ชาวกะเหรี่ยง มอญ และผู้ลี้ภัยในเมือง (urban refugee) จากประเทศปากีสถาน เวียดนาม และแถบตะวันออกกลาง โดยมีถึง 6,000 คน กระจายตามเขตต่างๆในกรุงเทพ เช่น ดินแดง ประชาอุทิศ สะพานใหม่ บางแค
เราอาจสงสัยว่า คนต่างแดนที่ต้องหนีจากบ้านตนเองเพราะสาเหตุจากศาสนา อัตลักษณ์ หรือความรุนแรงทางการเมืองต่างๆ เกี่ยวข้องอะไรกับเรา แล้วการเข้ามาของพวกเขาจะก่อให้เกิดปัญหาอะไรหรือเปล่า
โต้ง—ศักดิ์ดา แก้วบัวดี ที่หลายคนอาจรู้จักในฐานะนักแสดงหนังชื่อดังหลายเรื่องของ เจ้ย อภิชาติพงศ์ แต่อีกบทบาทหนึ่ง เขาก็ได้ทำงานกับผู้ลี้ภัยมากมาย ด้วยความเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ โดยเขาได้ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยด้วยตัวเองมามากว่า 3 ปี ผ่านการไปเยี่ยม นำอาหารไปแจกจ่ายแก่ครอบครัวผู้ลี้ภัยที่กระจายในหลายพื้นที่ของกรุงเทพ รวมถึงได้เปิดรับบริจาคทางเฟซบุ๊คเพื่อระดมทุนช่วยส่งผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม ซึ่งประสบความสำเร็จไปหลายเคส
Young MATTER จึงไปคุยกับคุณโต้ง เกี่ยวกับประสบการณ์การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย รวมถึงมุมมองความเป็นมนุษย์ที่ไร้พรมแดน กระแสสิทธิมนุษยชน นิยามการช่วยเหลือใต้ความเป็นชาตินิยมของคนไทย ด้วยเรื่องราวปนความตื้นตัน หดหู่ สะเทือนใจ และความหวังที่ว่าจะมีการยอมรับผู้ลี้ภัยมากขึ้น ทั้งในทางทัศนคติ และกฎหมาย
ตอนนี้การทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเป็นยังไง ต้องทำอะไรบ้าง
ช่วงนี้มันไม่เหมือนช่วงก่อนที่จะมีโควิด ช่วงนี้ก็จะออกไปเยี่ยมชาวม้ง ชาวปากีสถาน และอีกหลายประเทศตามจุดต่างๆ ของกรุงเทพ ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่สะพานใหม่ สุขุมวิท บางนา ประชาอุทิศ ดินแดง โดยผมจะแพ็คอาหารใส่ถุงใส่ท้ายรถ และไปหาเขาถึง 40-50 ครอบครัวและไปแจกเขา ช่วงเดือนนี้เป็นช่วงที่เขาไม่มีงานทำ เป็นช่วงโควิด จริงๆ แล้วช่วงที่ไม่มีโควิดเขาก็ไม่มีงานทำเหมือนกัน แต่ว่าปัญหาช่วงโควิดมันจะยากกว่า เขาแทบจะอดตายกันไปเยอะ
อะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้คุณโต้งเริ่มช่วยผู้ลี้ภัย และยังทำมาเรื่อยๆ?
ตอนแรกผมไม่ได้มีแรงผลักดันอะไรเลย แต่เพื่อนผมชื่อ Emmanuel เป็นคนฝรั่งเศส เป็นเพื่อนกับ Eric ชาวคองโกที่โดนคนไทยปลอมเป็นบริษัทหางานหลอกและปล่อยลอยแพในประเทศไทย จึงโดนขังในตม.ข้อหาเป็นคนหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย คือ Emmanuel เขามาเมืองไทยได้แค่ระยะเดียว ไม่นานมาก เขาก็เลยชวนผมไปช่วยเยี่ยม Eric หน่อย จนพอมีโอกาสไป พอไปแล้วมันไม่ใช่อย่างที่ผมคิด คนถูกขังหลายร้อยคน จากที่เห็นด้วยตา แล้วทุกคนดูทรมาน แล้วไม่ได้มีแค่ผู้ใหญ่อย่างเดียว เด็ก 1 2 3 ขวบถูกขังอัดกัน เห็นแล้วเป็นอะไรที่น่าเวทนามาก รู้สึกว่าไม่ต้องเยี่ยมแค่เพื่อนของเพื่อนแล้ว เลยขอเจ้าหน้าที่ตม.เยี่ยมคนอื่นด้วย
การเยี่ยมคนที่ตม.ต้องรู้ข้อมูลเขา 4 อย่าง คือ ชื่อ สัญชาติ หมายเลขตม.หรือ IDC number (ย่อมาจาก Immigration Detention Center) และห้องที่โดนขัง
ผมเลยต้องติดต่อคนข้างนอกที่เข้ามาเยี่ยมด้วยให้ขอรายชื่อจากในตม. หลังจากนั้นช่วงสัปดาห์แรกสุ่มไปเยี่ยมทุกวันเลย คือการมาเยี่ยมแบบไม่รู้ชื่อ ไม่รู้ว่าคนนี้คือใคร บางคนก็พูดอังกฤษไม่ได้ เข้าไป เอาอาหารไปให้
หลังจากนั้นเราก็เริ่มรู้ว่าคนที่ถูกขังในนี้ไม่ได้มีแค่หลักร้อย มีเป็นพันคน ไม่ได้มีแค่คนที่โดนขัง แต่มีครอบครัวเขาที่หลบหนีอยู่ข้างนอกตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพ ผมก็เลยเริ่มถามว่าครอบครัวคุณอยู่ตรงไหนในกทม. ผมอยากไปเยี่ยมมาก เพราะว่าครอบครัวที่หลบหนีอยู่ก็มาเยี่ยมเขาไม่ได้เหมือนกัน เพราะถ้ามาเยี่ยมก็โดนจับ
ผมก็เลยเริ่มจากการไปเยี่ยมคนด้านนอก แล้วถามว่าอยากฝาก/พูดอะไรกับคนข้างใน อยากเขียนจดหมายอะไรไหม ผมจะเป็นสื่อกลางให้ ส่วนคนด้านนอกผมก็ช่วยโดยนำอาหารไปให้ ล่าสุดก็ช่วยส่งผู้ลี้ภัยไปประเทศที่สาม
สิ่งที่คนชอบเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยคืออะไร
ที่เจอบ่อยมากคือ ผู้ลี้ภัยเข้ามาสร้างความเดือดร้อน ก่ออาชญากรรม แล้วถ้าทางรัฐบาลไทยเซ็นกฎหมายยินยอมให้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย คนไทยต้องเอาภาษีไปจ่ายช่วยเหลือผู้ลี้ภัยด้วย ซึ่งตรงนี้เข้าใจผิดอย่างมาก เพราะในกฎหมายสากล ถ้ารัฐบาลไหนมีกฎหมายผู้ลี้ภัย รัฐบาลนั้นไม่ต้องจ่ายเงินเลย UNHCR เขาจะมีทุนช่วย ดังนั้นการที่คนไทยคิดว่าต้องเสียเงินช่วยเหลือ นั่นเป็นการเข้าใจผิดครับ อีกอย่างหนึ่งที่บอกว่า ผู้ลี้ภัยเข้ามาก่อความเดือดร้อน หาเงิน หางานแย่งคนไทย มันไม่ใช่ทั้งหมด มันอาจมีจริงๆ แต่เป็นส่วนน้อยมาก ส่วนใหญ่ที่มาเพราะว่าต้องหนีเอาชีวิตรอด
ตอนนี้คุณโต้งช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในองค์กรไหนอยู่บ้าง
ไม่มีครับ ต้องบอกก่อนว่าเนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมายผู้ลี้ภัย องค์กรผู้ลี้ภัยอย่าง UNHCR, Refugee Center จึงไม่สามารถออกตัวได้ชัดเจน อย่าง UNHCR ก็รู้ว่ามีผู้ลี้ภัยประมาณ 6 พันคน แต่เขาออกมาพูดไม่ได้ เพราะจะขัดกับรัฐบาลไทยโดยตรง แล้วจะมีปัญหา เพราะฉะนั้นผมเลยคิดว่าผมทำตัวคนเดียวมันง่ายกว่าที่จะอยู่องค์กร เพราะมันจะติดกฏข้อนู้นข้อนี้
ผมทำคนเดียวจนสามารถส่งผู้ลี้ภัยไปประเทศที่ 3 ได้หลายเคส ซึ่งถ้าเป็นคนในองค์กรอย่าง UNHCR จะไม่สามารถทำได้ และผมคิดว่า ถ้าผมเข้าไปในองค์กรใดๆ ผมต้องได้รับคำสั่งจากบอส ดังนั้นจะไม่สามารถทำอะไรได้อย่างอิสระครับ
พอทำคนเดียว เคยท้อหรือเปล่า
ในช่วง 6 เดือนแรกที่เริ่ม ไม่ท้อเลย ทำทุกวันเป็นงานประจำ แล้วเรารู้สึกว่าเราได้ช่วยเขา ได้เห็นเขายิ้ม วันไหนได้เยี่ยมเด็ก แค่เอาตุ๊กตาไปให้เขาก็ดีใจร้องลั่นแล้ว ก็รู้สึกพอใจแล้ว จนกระทั่งช่วงหลังก็เริ่มมีคนไทยกันเองโจมตีลงเฟซบุ๊ก หาว่าผมมาขอรับบริจาคเพื่อเอาผลประโยชน์เข้าตัวเองหรือเปล่า
เรื่องเงินบริจาคเนี่ยผมต้องบอกก่อนว่า ในเดือนแรกผมใช้เงินของผมเอง และของแฟน มันไม่ใช่แค่หลักร้อยพันนะ เป็นหลักแสน ซึ่งไม่สามารถออกไหวจริงๆ แค่การพาหนึ่งครอบครัวไปฝรั่งเศส 6 คน ค่าเครื่องบิน ค่า overstay คนละอีก 2 หมื่น แค่นี้ก็หมดไปครึ่งล้านแล้ว ผมเลยตัดสินใจโพสต์บนเฟซบุ๊ก แล้วคนก็เริ่มมาโจมตี
คำถามที่คนไทยชอบถามตลอด ทั้งทางเฟซบุ๊ก ทั้งโทรมา มักจะถามว่าทำไมไปช่วยพวกนี้ ทำไมไม่ช่วยคนไทยกันเองก่อน คนไทยมีคนจนเยอะแยะมากมาย ตอนแรกผมไม่ชินกับคำถามพวกนี้มาก่อน ผมเลยเงียบ ไม่ตอบ จนกระทั่งมันมีคำถามเดิมซ้ำๆ ผมก็เลยคิดว่า ทำไมคนไทยชาตินิยมจัง ก็เลยตอบกลับไปว่า
ที่ผมช่วยผู้ลี้ภัย ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนประเทศอะไร คนไทยหรือเปล่า
ผมช่วยเขาเพราะเขาเป็นมนุษย์คนนึง
มนุษย์ทุกคนควรได้รับสิทธิการช่วยเหลือเท่าเทียมกัน
กับพอพูดถึงเรื่องความท้อและการโจมตีจากคนไทยอีกอย่างคือในเฟซบุ๊กผมก็เปิดตัวว่าผมเป็นเกย์ ก็จะมีการโจมตีถึงขนาดที่พูดว่า ไอ้โต้งช่วยเหลือเพราะอยากมีอะไรกับผู้ลี้ภัยรึเปล่า ซึ่งมันออกนอกประเด็นไปโจมตีเรื่องเซ็กส์แล้ว มันหนักมากจนผมรับไม่ไหว ก็เลยหยุดไปประมาณเดือนนึง
นอกจากนั้นก่อนหยุดไปผมโดนตม.โจมตีด้วย เขาเรียกไปคุยในตม.เกี่ยวกับการส่งตัวว่า ให้หยุดพูดเรื่องนี้บนเฟซบุ๊ก เพราะทำให้ภาพลักษณ์ตม.เสียหาย เขาบอกผมว่าให้ ‘หุบปาก’ หลังจากนั้น ก็มีอีกครั้งนึงที่โดนเรียกเข้าไปอีกที ครั้งนี้หนักสุดเลย เขาบอกว่าจะฟ้องผม ผมเลยถามว่าคดีอะไร เขาก็บอกว่า การที่ผมเอาอาหารไปให้ผู้ลี้ภัยทุกวันนี้เป็นการขัดกับหลักกฎหมาย เพราะผู้ลี้ภัยเป็นคนผิดกฎหมาย การที่ผมเอาอาหารไปให้ถือว่าผมสนับสนุนคนที่ผิดกฎหมายให้ยังอยู่ในประเทศไทย นี่คือเขาสามารถจับผมเมื่อไหร่ก็ได้ ทั้งหมดนี้เลยทำให้ผมท้อ และหยุดไปเลย 1 เดือน เพราะจากหลายสาเหตุ ทั้งคนไทยและตม. ที่โจมตี แล้วพอหยุดไปก็มีผู้ลี้ภัยติดต่อมาขอความช่วยเหลือ ว่าไม่มีอาหารกินแล้ว ลูกไม่มีนมกิน ฝากเยี่ยมสามีให้หน่อย ผมก็เลยคิดว่า ถึงหยุดไป แต่ความช่วยเหลือมันไม่ได้หยุด มันมีมาเรื่อยๆ ผมเลยฮึดขึ้นมาอีกทีนึง
จริงๆ ปัญหาผู้ลี้ภัยก็เป็นปัญหาใกล้ตัวเราใช่มั้ย
จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้มองว่าเป็นคนเชื้อชาติใดเชื้อชาตินึง มองแค่ว่าเขาต้องการความช่วยเหลือเท่านั้นเอง ซึ่งตอนช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศสเมื่อ 5 ปีก่อน ไปเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยที่ฝรั่งเศส ระหว่างที่เดินทางไปเรียนในมหาลัย เจอคนไร้บ้านเยอะมากตามข้างถนน ด้วยความที่อยากช่วยทำอะไรได้บ้าง ผมก็ทำอย่างที่พูดมาทั้งหมด ทำข้าวใส่กล่อง ทำใส่ถุง ระหว่างที่เราเดินทางตอนเช้าไปมหาลัยเราก็เอาอาหารที่ทำไปแจกพวกเขา ไปวางไว้ ทำอย่างนั้นเรื่อยมา มันก็เลยเหมือนเป็นเรื่องธรรมดามากเลยที่คิดว่าชีวิตคนไร้บ้านที่ฝรั่งเศสกับผู้ลี้ภัยมันคล้ายๆ กัน ผู้ลี้ภัยก็คือคนเดือดร้อนคนหนึ่งที่ต้องการความช่วยเหลือ อีกอย่างหนึ่งคือ ชีวิตของผมสมัยช่วงเด็กๆ ก็มีความคล้ายกับผู้ลี้ภัยอย่างหนึ่ง ก็เลยมองชีวิตผู้ลี้ภัยเหมือนวัยเด็กของตัวเอง
นอกจากได้มาเล่นหนังของพี่เจ้ยแล้ว การได้ช่วยผู้ลี้ภัยเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของชีวิตเลยใช่ไหม
ใช่ครับ ต้องขอบคุณหนังพี่เจ้ยด้วยที่ทำให้ชีวิตผมมาอยู่ในจุดที่สามารถช่วยเหลือคนได้ อาจจะต้องย้อนกลับไปก่อนวันที่ผมจะเจอพี่เจ้ย ผมทำงานจบม.6 จากต่างจังหวัด แล้วด้วยความที่ผมเป็นลูกชาวไร่ ผมเลยเข้ามาหาเงินเรียนต่อมหาวิทยาลัย ผมก็เริ่มทำจากงานก่อสร้าง ขายพวงมาลัย ทำงาน KFC ก็ยังไม่มีเงินพอที่จะเรียนมหาลัยได้ จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยจนจบปริญญาตรี ผมไม่มีโอกาสนั้นเลย แต่ด้วยความที่พอมารู้จักพี่เจ้ยปุ๊บ ชีวิตผมเปลี่ยนไป ได้เล่นหนังแล้วก็จากชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้ถ้าไม่เจอพี่เจ้ยตอนนี้ชื่อผมคงไปอยู่ตามโรงงานที่ไหนซักแห่ง และคงไม่ได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ดังนั้นพอผมมาอยู่จุดนี้แล้ว ผมมีโอกาสช่วย ผมก็เลยช่วยเหลือ
ผู้ลี้ภัยเขาไม่มีทรัพย์สินอยู่แล้วก่อนมา หรือเคยมีแล้วต้องสูญเสียทุกอย่างตอนย้ายประเทศ
มีหลายเคสครับ มีทั้งที่จนอยู่แล้วและคนที่รวยอยู่แล้วด้วย ถ้าเท่าที่ผมช่วยมา ยกตัวอย่างแบบแรกก็เป็นชาวคองโกชื่อ Eric ที่เล่าไปข้างต้น
อีกเคสนึงคือของคนที่รวยมาก ชื่อว่า บ็อกเซอร์ ชื่อเก่าคือ มัดซุม เขาเป็นนักมวยโอลิมปิกของประเทศปากีสถาน โด่งดังจนขนาดที่ว่าคนปากีสถานที่ 95% เป็นมุสลิม พอเห็นว่าบ็อกเซอร์นับถือศาสนาคริสต์ เลยอยากให้เขาเปลี่ยนมานับถืออิสลามด้วย ก็เลยมากดดันให้เขาเปลี่ยนศาสนา
แต่มัดซุมบอกว่า ไม่ได้ เพราะเกิดมาเขาก็เป็นคริสต์แล้ว รวมถึงทั้งครอบครัวเขาด้วย หลังจากนั้นคนเลยไม่พอใจ และเริ่มโจมตี ทำร้ายร่างกาย จับเมียเขาหักนิ้ว จับลูกชายตัดลิ้น มัดซุมเลยคิดว่า อยู่ที่นี่ยังไงก็ไม่รอด ตายแน่นอน ก็เลยหนีจากปากีสถานมาไทย เพราะตอนนั้นที่ไทยเข้าง่ายกว่าประเทศที่รับผู้ลี้ภัยแบบถูกกฎหมายอย่างแคนาดา แต่พอเขาติดต่อสถานทูตปากีสถานเพื่อโยกย้ายเงินและทรัพย์สิน กลับถูกโดนยึดทรัพย์หมดเลย บ้านที่ปากีสถานก็โดนเผาทำลาย
ระหว่างที่อยู่ไทยก็มีตม.มาจับตัวภรรยามัดซุม เอาไปขังในนั้น แล้วลูกๆ ทั้ง 3คน ยังเด็กอยู่เลย อายุ 14 16 17 ไม่สามารถมาเยี่ยมแม่ตัวเองได้เพราะจะโดนจับ คนที่เยี่ยมได้คือ มัดซุม เพราะยังมีวีซ่าอยู่ และผมก็เจอมัดซุมที่นั่น เลยได้รับรู้ว่าเรื่องราวเขาเป็นยังไง ก็ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ แถมครอบครัวมัดซุมก็โดน UNHCR ปฏิเสธหมดเลยว่าไม่ให้ไปประเทศที่สาม ให้กลับไปประเทศตัวเอง ผมเลยเขียนจดหมายถึงท่านทูตฝรั่งเศส และแคนาดา แล้วก็ให้น้องๆ ทั้ง 3 คนมาช่วยเขียนจดหมาย ประวัติตัวเองเป็นลายมือเพื่อให้ดูจริงใจในการขอความช่วยเหลือ รวมกับจดหมายที่ผมเขียน เกี่ยวกับประวัติของบ็อกเซอร์ ข่าวของมัดซุมในหนังสือพิมพ์ ส่งทุกอย่างเป็นซองไปให้กับสถานทูตแคนาดา หลังจากนั้นผมก็ได้รับการตอบรับจากสถานทูตแคนาดาว่าขอสัมภาษณ์มัดซุมและครอบครัว หลังจากสัมภาษณ์ปุ๊บ เขาก็โอเค จะรับครอบครัวนี้ลี้ภัยไปแคนาดาเพราะเขาสอบสวนไปแล้วพบว่าเป็นเรื่องจริง
แม้ว่าตอนนี้หลายคนจะตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เแต่บางคนก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องผู้ลี้ภัยเท่าไหร่ เป็นเพราะอะไร
คือคนส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยพูดถึงเรื่องผู้ลี้ภัยมากนักเพราะเขาคิดว่าผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาที่ไกลตัวเขามากเกิน แล้วเขาก็ไม่รู้ว่ามีผู้ลี้ภัยอยู่เยอะขนาดนี้ที่เมืองไทย ไม่รู้ว่าชีวิตของผู้ลี้ภัยหนักหนาสาหัสขนาดนั้น ส่วนใหญ่ที่แอนตี้เลยก็คือปัญหาเรื่องชาตินิยม ซึ่งกลายเป็นประเด็นหลักที่เขาไม่เข้าใจความรู้สึก ไม่เคยพูดถึงผู้ลี้ภัย แล้วก็ไม่แชร์เรื่องนี้ในเฟสบุ๊กต่างๆ
ปกติแล้วคนไทยชอบพูดเรื่องการมีน้ำใจ การช่วยเหลือกัน แต่เหมือนจะไม่ใช่กับเคสผู้ลี้ภัย
ก็อาจจะมองได้ว่าการช่วยเหลือ มีน้ำใจ อย่างใส่ซองทำบุญ ก็เพื่อหวังสิ่งตอบแทนอย่างเช่น ให้ถูกหวย หรือได้บุญกลับมา เราก็เข้าใจได้นะ การที่เราเติบในวัฒนธรรมศาสนาพุทธ การทำบุญก็เลยเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเขา แล้วเป็นสิ่งที่เขามองว่าเป็นการทำดี พูดถึงการทำดีในประเทศไทยก็จะพูดถึงการทำบุญแล้วก็การบริจาคช่วยเหลือคนยากจน ดังนั้นผมก็ไม่เข้าใจว่าแล้วมันแตกต่างกับผู้ลี้ภัยยังไง ผู้ลี้ภัยยิ่งกว่าคนยากจนซะอีก นอกจากไม่มีอะไรกินแล้วยังไม่มีแผ่นดินให้อยู่อีก ผมเองก็ยังหาคำตอบไม่ได้เหมือนกันว่าคนจนกับผู้ลี้ภัยต่างกันยังไง หรือเขาคิดว่าช่วยผู้ลี้ภัยแล้วเขาไม่มีผลอะไรกลับมา เขาก็เลยอาจจะไม่ช่วย
การช่วยผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืนต้องทำยังไงบ้าง ต้องผ่านองค์กรเท่านั้นมั้ย
คำถามนี้เป็นคำถามโลกแตกมากเพราะว่า ทุกคนถามว่าจะช่วยผู้ลี้ภัยได้จริงๆ เหรอในเมืองไทย บอกได้เลยว่ายากมาก ถ้าตามกฏหมายข้อแลกเปลี่ยน หมายถึงถ้ากฏหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยผ่าน พวกเขาจะกลายเป็นคนถูกกฎหมายหมด แต่ใครจะยอม รัฐบาลคนไหนเขาจะยอมผ่านกฏหมายนี้ เพราะว่า หนึ่ง ถ้าทำขึ้นมาต้องต่อสู้กับทัศนคติคนไทย ซึ่งทัศนคติที่ใช้ในเมืองไทยก็จะโดนถามว่าจะไปมีกฏหมายตรงนี้เพื่อผู้ลี้ภัยทำไม เขาจะต้องเดือดร้อนมาจ่ายภาษีให้กับผู้ลี้ภัยทำไม สอง คือรัฐบาลชุดนี้ก็โดนคนไทยเกลียดไปด้วยประมาณนี้ ดังนั้นก็จะไม่มีใครที่จะกล้าผ่านกฎหมายให้ถูกเกลียดไปอีก ละก็อีกอย่างหนึ่ง ตอนนี้คนไทยและรัฐบาลเรายังมีความคิดที่ชาตินิยมมากๆ ดังนั้นจะมองแค่ว่าคนไทยต้องช่วยเหลือคนไทย ต้องเป็นคนไทยเท่านั้น ใครก็ตามที่เป็นผู้ลี้ภัยต่างชาติ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะได้รับการยอมรับขึ้นมา
เท่าที่คุณโต้งได้ทำงานช่วยเหลือด้านนี้มา มีเคสไหนที่ impact จิตใจที่สุด
มีอยู่เคสหนึ่ง เขาเป็นคนเวียดนาม ชื่อนายเหนีย แล้วก็เป็นคนนับถือศาสนาคริสต์ ตอนนั้นเมื่อ 14 ปีก่อน เขามีลูกสาว 3 คน ยังเล็กมาก ด้วยความที่รัฐบาลของเวียดนามไม่สนับสนุนการนับถือศาสนาคริสต์ เขาก็เลยโดนตำรวจจับไปขังในคุกที่เป็นห้องขังไม้อัด แล้วก็ถูกทำร้าย ทั้งเอาไม้ตี ทั้งทุบกระโหลก ฟื้นขึ้นมา ก็รู้ตัวอยู่แล้วว่าอาจจะต้องตาย ก็เลยแหกคุกแล้วก็หนีไปหาเมียเขา แล้วพาลูก 3 คนหนีไปที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว อยู่ที่ลาวได้ 4 ปี จนกระทั่งทางการของเวียดนาม ตำรวจเวียดนาม ตามเข้ามาจับ ระหว่าง 4 ปีที่อยู่ลาว เขาก็มีลูกอีก 2 คน เขาจึงต้องหอบลูกทั้ง 5 คน หนีข้ามมาฝั่งไทย แล้วก็มาลงที่กรุงเทพ ที่ดินแดง ในระหว่างที่เดินทางจากออฟฟิศของ UN ที่นายเหนียไปติดต่อขอความช่วยเหลือ เพื่อมาที่ห้องพักที่ดินแดง ก็โดนตำรวจ ตม. จับ
เขาโดนจับปี ค.ศ.2004 จนกระทั่งปี ค.ศง2019 เขาถูกขังอยู่ทั้งหมด 9 ปีครึ่ง ลูกๆ ทั้ง 5 คนและเมีย ไม่มีใครสามารถไปเยี่ยมได้เลย ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ จะโดนจับ แล้วลูกคนที่โดนตอนจับเนี่ย อายุ 2 เดือน และในเวลา 9 ปีครึ่ง ตีเป็น 10 ปี ลูกไม่เคยเจอหน้าพ่อเลย ลูกโตขึ้นมาอายุ 10 ขวบ คือไม่รู้ว่าพ่อเป็นใคร จนกระทั่งผมมารู้จักกับครอบครัวนี้ เพราะว่าผมไปเยี่ยมนายเหนียในตม. ถึงรู้ว่าโดนขังมาจะ 10 ปีแล้ว ผมก็เลยขอที่อยู่ครอบครัวเขา แล้วก็เป็นตัวกลางส่งจดหมายให้ระหว่างคนในครอบครัว ในระยะเวลา 10 ปีที่เขาโดนขังอยู่ เขาขอยื่นเรื่องกับทาง UNHCR เพื่อลี้ภัยไปที่ประเทศที่สาม UNHCR ปฏิเสธทุกครั้ง ผมก็เลยต้องไปขอกับทางสถานทูตฝรั่งเศส บอกว่าช่วยดูครอบครัวนี้หน่อย พวกเขาไม่ไหวแล้วเพราะโดนขังมา 10 ปี ทางสถานทูตฝรั่งเศสจึงมีการสัมภาษณ์และสอบสวนว่าทั้งหมดเป็นเรื่องจริงหรือเปล่าก่อนจะรับทั้งครอบครัวไปฝรั่งเศส
แต่ตม.ก็แจ้งว่า ต้องให้ทุกคนมารับโทษก่อน เพราะเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย เด็กทุกคน เมียเขา ต้องมาถูกขังก่อน พอถึงวันที่ผมพาเขาไปมอบตัวที่ ตม. มีการส่งฟ้องศาล โดนขัง จนถึงวันที่เดินทาง ผมก็คิดว่าถ้าให้เขาไปกันเองเนี่ย เขาคงไปเองไม่ได้ พูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ บินไปทาง ตม. ฝรั่งเศสยังไงก็ผ่านไม่ได้ ผมก็เลยเป็นคนถือเอกสารของสถานทูตฝรั่งเศสไปด้วยกับเขา ตอนนี้ครอบครัวนี้ได้อยู่ที่ฝรั่งเศส เด็กๆ ได้เข้าเรียนในโรงเรียนเรียบร้อย เมื่อสองอาทิตย์ก่อนก็ได้รับข่าวดีว่าได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเรียบร้อย
ตอนช่วยเสร็จ ผมรู้สึกโล่งใจเพราะว่า มีครั้งนึงที่ทำให้ทุกคนน้ำตาตกหมดเลยเพราะผมไม่ได้บอกน้องๆ ว่าพ่อจะมาด้วย เก็บเป็นความลับตลอด พอกำลังนั่งรออยู่ในสถานทูต คงรู้และว่านายเหนียกำลังเดินเข้ามา นายเหนียถึงแล้วก็ผลักประตูเข้ามาในห้องเจอลูกตัวเอง เขาก็ร้องไห้ ลูกก็ร้องไห้ ยกเว้นเมียเขาที่เดินเข้าไปกอดสามีเขา แล้วก็ลูกคนเล็กสุดคืออายุ 10 ขวบซึ่งไม่รู้จักพ่อ ก็ถามว่าใครหรอ อันนี้เป็นสิ่งที่สะเทือนใจมาก คือทุกคนวิ่งไปกอดพ่อยกเว้นลูกคนเล็กที่นั่งอยู่เฉยๆ
หลังจากวันที่ผมช่วยเขาไปฝรั่งเศสแล้ว พอจากลากัน ก็รู้สึกเหมือนเอาเขาไปทิ้งที่ฝรั่งเศส เราก็กลับมาประเทศไทย เด็กๆ แล้วก็นายเหนียเขาก็ร้องไห้แล้วก็มากอดผม บอกว่าอย่ากลับเมืองไทยเลย ผมก็บอกว่าไม่ได้ ต้องกลับเมืองไทย ช่วงแรกๆ เขาก็โทรมาวิดีโอคอลกันบ่อยมาก ล่าสุดที่คุยกันเพิ่งจะเมื่อ 2 วันก่อนนี่เอง
พูดถึงผู้ลี้ภัย ที่ใกล้ตัวมากๆ ก็มีโรฮิงญา คุณโต้งมีมุมมองยังไงกับเรื่องนี้
ส่วนตัวผมรู้จักผู้ลี้ภัยจากโรฮิงญา รู้จักส่วนตัวแล้วก็ทำงานด้วยกัน เพราะเขาเป็นเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือ แต่ว่าผมไม่เคยช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโรฮิงญา เพราะเขามีองค์กรของเขาอยู่แล้ว ถ้าความคิดส่วนตัวเลยคือ เขาควรจะมีสิทธิที่จะมาอยู่ มาขอความช่วยเหลือจากประเทศที่สามได้ เช่นประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเขาด้วย ก็อย่างว่าแหละการที่มีเข้ามาเรื่อยๆ ทัศนคติคนไทยก็คือด่าทอและต่อว่า จะมาอยู่เมืองไทยทำไม สร้างความเดือดร้อนให้คนไทย ก็ในเมื่อเขาอยู่ประเทศเขาไม่ได้ เขาโดนล้างเผ่าพันธ์ุ เขาโดนฆ่า ไม่ให้เขาหนีมาเมืองไทย จะให้เขาไปที่ไหน ในเมื่อมันเป็นประเทศที่มีชายแดนติดกัน สิ่งที่ดีที่สุดที่เขาทำได้คือหนีมาเพื่อเอาตัวรอด ดังนั้นผมก็เลยอยากจะให้คนไทยเข้าใจด้วยว่าเขาลำบากทางชีวิตจริงๆ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เขาอยากมาเดินเล่นในเมืองไทยซะหน่อย
สุดท้ายแล้ว เราจะช่วยผู้ลี้ภัยยังไงได้บ้าง
ได้เยอะมากเลย ถ้าไม่ได้ช่วยเรื่องการเงิน ไม่ได้ช่วยเรื่องอาหาร อย่างน้อยแค่คิดกับผู้ลี้ภัยในแง่บวกก็ยังดี เพราะว่าหลายคนรังเกียจผู้ลี้ภัย คือไม่อยากพูดถึงด้วยซ้ำ แต่ผู้ลี้ภัยที่เขาเห็นบางคนที่อยู่ตามข้างถนน มาขายของกับพื้น หรือทำงานแบบผิดกฎหมาย คนไทยก็จะอี๋ หรือรังเกียจเขา แค่เปลี่ยนทัศนคติว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้ลี้ภัยกลุ่มนึงที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ แค่ไม่รังเกียจเขา ยอมรับเขาในสังคม แค่นี้ก็ช่วยเหลือได้มากแล้ว แล้วถ้าพอมีกำลัง มีทรัพย์สินหน่อยก็แบ่งปันในเรื่องอาหารก็ได้
นอกจากนี้ สิ้นปีนี้ผมจะต้องย้ายถิ่นฐานกลับไปอยู่ฝรั่งเศสแล้ว ผมกับแฟนผมจดทะเบียนกันเป็นคู่ชีวิตตามกฎหมายฝรั่งเศส สิ้นปีนี้ก็จะสิ้นสุดงานเขา ผมก็ต้องกลับไปอยู่กับเขา ตอนนี้ก็เลยกำลังหาคนมาสานต่องานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ผมทำไว้กว่า 3 ปี ถ้าหากมีคนมาช่วยตรงนี้จะดีมากๆ และสามารถติดต่อผมมาได้เลยครับที่เฟซบุ๊ก Sakda Kaewbuadee Vaysse