หากเอ่ยชื่อ ออง ซาน ซู จี ออกไป เมื่อช่วงก่อนที่เธอจะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษรัฐบาล เธอคือความหวังของการในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด ซึ่งการันตีได้โดยรางวัลด้านสันติภาพต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี ค.ศ.1991
แต่ตอนนี้ เธอคือตัวแทนของเมียนมา ไปขึ้นศาลโลก ที่เนเธอร์แลนด์ เพื่อรับฟังการพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ซึ่งจะใช้เวลาในการไต่สวน 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา
เรื่องราวมันกลายมาเป็นแบบนี้ได้อย่างไร ทำไมเธอถึงมาเป็นตัวแทนต่อสู้ในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ใครที่เป็นคู่ความในคดีนี้ และหลังจากเดินทางไปขึ้นศาลแล้ว ฝ่ายเมียนมาให้การว่าอย่างไรบ้าง? The MATTER ขอชวนทุกคนไปร่วมหาคำตอบกัน
ทำไม ออง ซาน ซู จี ต้องเดินทางไปขึ้นศาลโลก?
ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.2017 คณะไต่สวนของสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า การกระทำของรัฐบาลเมียนมา ที่ขับไล่ชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม กว่า 700,000 คนออกจากประเทศ ด้วยการปรามปราบจากกองทัพเมียนมา ถือว่าเป็นความพยายามในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (UN Genocide Convention 1948) ดังนั้น หากรัฐไหนฝ่าฝืนอนุสัญญาฯ นี้ ก็สามารถถูกฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) ได้
นี่จึงเป็นสาเหตุ ที่ทำให้รัฐบาลเมียนมาถูกฟ้องร้องใน ICJ อยู่ แต่คำถามที่หลายคนอาจสงสัยกันคือ แล้วการฟ้องร้องรัฐบาลเมียนมา เกี่ยวอะไรกับการที่ออง ซาน ซู จี ต้องเดินทางไปขึ้นศาลโลกด้วย?
ขอย้ำก่อนว่า คนที่ถูกฟ้องร้องในคดีนี้ คือเมียนมา ไม่ใช่ตัวออง ซาน ซู จี
ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจจำภาพของอองซานซูจี เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ปัจจุบัน เธอคือที่ปรึกษาพิเศษรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา นั่นทำให้เธอสามารถเป็นตัวแทนของรัฐบาลเมียนมา และเดินทางไปรับฟังการพิจารณาคดีที่ ICJ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้
ใครเป็นคนฟ้องร้องเมียนมา?
โจทก์ที่ยื่นฟ้องทางการเมียนมาต่อ ICJ คือ ‘แกมเบีย’ ประเทศมุสลิมในทวีปแอฟริกา ในนามของรัฐสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ที่มีสมาชิก 57 ประเทศ ยื่นคำฟ้องหนา 46 หน้า ต่อ ICJ ไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นความพยายามให้นำเข้าสู่การพิจารณาตามกฎหมายระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก
ข้อกล่าวหาที่แกมเบียฟ้องร้องต่อ ICJ ก็คือ ละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งทั้งแกมเบียและเมียนมาก็ลงนามเซ็นสัญญาในอนุสัญญาฯ นี้กันด้วย
ในคำให้การของพยานฝ่ายแกมเบีย ยังเล่าอีกว่า “มีศพเต็มพื้นไปหมด เป็นเด็กๆ ในหมู่บ้านของเรา พอฉันเข้าไปในบ้าน ทหารก็ล็อคประตู ทหารคนหนึ่งข่มขืนฉัน เขาแทงเข้าที่ท้ายทอยและท้องของฉัน ฉันพยายามที่จะช่วยลูก เขาเพิ่งอายุได้ 28 วัน แต่พวกเขาโยนลูกของฉันลงพื้น แล้วลูกฉันก็ตาย”
สิ่งที่แกมเบียขอจาก ICJ ก็คือ ให้ออกคำสั่งฉุกเฉินที่ระบุว่า ชาวโรฮิงญากำลังเผชิญความเสี่ยงจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยกองทัพของเมียนมา และขอให้ยุติการโจมตีชาวโรฮิงญาในทันที ขณะเดียวกันก็ขอให้มีการเก็บรักษาหลักฐานเพื่อใช้เอาผิดผู้เกี่ยวข้อง และดำเนินการชดเชยให้ผู้เสียหายสำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วย
คำให้การของออง ซาน ซู จี ในศาลโลก
หลังจากการพิจารณาคดีวันที่ 2 ออง ซาน ซู จี ตัวแทนของเมียนมา ปฏิเสธคำกล่าวหาของแกมเบียที่ระบุว่า ปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่เมื่อปี ค.ศ.2017 เป็นความพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาให้หมดสิ้นนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่สร้างความเข้าใจผิด
“เป็นที่น่าเสียใจว่า ข้อกล่าวหาที่แกมเบียนำเสนอต่อศาลนั้น ให้ภาพความเป็นจริงที่ไม่ครบถ้วน และทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ในเมียนมา ให้ภาพความเป็นจริงที่ไม่ครบถ้วน จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่ศาลจะต้องประเมินสถานการณ์ ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ อย่างถูกต้องและไม่ใช้ความรู้สึก”
นอกจากนี้ เธอยังระบุอีกว่า ปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่เป็นเรื่องที่ซับซ้อน และเกิดขึ้นมานานหลายร้อยปีแล้ว
อย่างไรก็ดี เธอยอมรับว่า เมียนมาอาจใช้กำลังรุนแรงเกินกว่าเหตุกับชาวโรฮิงญาอยู่บ้าง และอาจจะไม่ได้แบ่งแยกการปฏิบัติระหว่างพลเรือน-พลรบ แต่นี่ก็เป็นความขัดแย้งภายในประเทศ เมียนมาจึงควรเป็นคนจัดการเอง และผู้ที่ทำผิดก็ต้องมาขึ้นศาลเมียนมา
นอกจากคำให้การของ ออง ซาน ซู จี แล้ว ศาสตราจารย์วิลเลียม เชบัค (William Schabas) จากมหาวิทยาลัยมิลเดิลเซ็กซ์ (Middlesex University) ก็ขึ้นให้การใน ICJ ด้วยว่า คำว่าเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นคำที่หาข้อพิสูจน์ได้ยากมาก ยิ่งในกรณีนี้ UN ก็ไม่สามารถหาข้อพิสูจน์ว่า เมียนมามีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาได้
ขณะเดียวกัน คริสโตเฟอร์ สเตเกอร์ (Christopher Staker) ทนายความของฝ่ายเมียนมา เริ่มมาด้วยประเด็นว่า แกมเบียมายื่นฟ้องเมียนมาในนามของ OIC ดังนั้น หากศาลให้แกมเบียฟ้องร้องได้ เท่ากับให้องค์กรระหว่างประเทศมาเป็นคู่ความ ซึ่งตามเจตนารมณ์แล้ว องค์กรระหว่างประเทศจะมาเป็นคู่ความไม่ได้ และแกมเบียเอง ก็ไม่ได้มีข้อขัดแย้งอะไรกับเมียนมา ดังนั้น แกมเบียจะฟ้องเมียนมาไม่ได้
นอกจากนี้ การขอเรียกร้องต่างๆ ที่แกมเบียขอมานั้น ก็ไม่อาจทำได้ เช่น ข้อเรียกร้องที่ขอให้เมียนมาหยุดฝ่าฝืนกฎหมาย แต่ศาลเองก็ยังไม่ได้ตัดสินเลยว่า เมียนมากระทำผิดจริง ดังนั้น การเรียกร้องต่อศาลเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ICJ ยังไม่ได้ประกาศคำตัดสินของคดีนี้ออกมา แต่การพิจารณาคดีอาจนำไปสู่การคว่ำบาตร ทั้งยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง และเศรษฐกิจที่สำคัญต่อเมียนมาได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิงจาก