วิกฤติการณ์โรฮิงญา วนกลับมาเป็นข่าวเด่นที่ถูกพูดถึงบนเวทีโลกอีกครั้ง ทั้งจากการที่ชนกลุ่มน้อยนี้ถูกเผาบ้าน ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงการอพยพ ที่ตอนนี้มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากถึง 5 แสนคนแล้ว
แต่ไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ปี ข่าวโรฮิงญาที่ยังดูไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้ ท่ามกลางความเข้าใจในแง่ลบ มายาคติเกี่ยวกับชนกลุ่มนี้ หรือการเหยียดเชื้อชาติที่มีมาให้เราได้เห็น ได้ยินตลอดเมื่อมีข่าวชาวโรฮิงญา
The MATTER จึงได้มาพูดคุยกับ ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า ว่าแท้จริงแล้วคนพวกนี้เป็นอย่างมายาคติที่ว่าไหม ในวิกฤติการณ์นี้มีเหตุผลอะไรมากกว่าเรื่องเชื้อชาติอยู่เบื้องหลังหรือไม่ และการแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่ดีที่สุดคืออะไร
The MATTER: ปัญหาความขัดแย้งของชาวโรฮิงญากับพม่าเกิดขึ้นเพราะอะไร
ดร. ลลิตา: มันไม่ใช่อคติทางด้านศาสนาอย่างเดียว แต่มันคืออคติทางด้านชาติพันธุ์ด้วย และสำหรับเรานี่คือการต่อสู้กันของเรื่องเล่า 2 ชุด ของประวัติศาสตร์ 2 ชุดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ประวัติศาสตร์ของโรฮิงญาก็จะบอกว่าบรรพบุรุษเค้า เป็นพ่อค้าจากอินเดีย เปอร์เซีย อพยพมาหลายร้อยปีแล้ว หรือว่าถ้าไม่หลายร้อยปี อย่างน้อยก็เข้ามาในยุคอาณานิคม อังกฤษเอาคนพวกนี้เข้ามา แล้วชายแดนพม่ากับบังกลาเทศมันกั้นเพียงแค่แม่น้ำบางๆ และการอพยพเข้ามาทางเรือจึงง่าย สะดวก และไม่มีการควบคุมอะไรมากมาย เค้าก็จะมองว่าบรรพบุรุษเค้าเข้ามาเป็น 100 ปีแล้ว เค้าเป็นคนดั้งเดิม แต่ก็จะมีคนโรฮิงญาที่สุดโต่งมาก ที่มองว่าเค้าเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้ แผ่นดินอาระกันเป็นของโรฮิงญา เรื่องเล่าแบบนี้ก็จะทำให้ชาวพุทธในรัฐอาระกันไม่สบายใจ เพราะพวกเค้าก็มองว่านี่เป็นแผ่นดินของปู่ ย่า ตา ยาย มานานแล้ว ตั้งแต่ยุคเจ้าต่างๆ ปกครอง
ส่วนเรื่องราวของชาวพุทธในพม่า โดยเฉพาะคนยะไข่ ประการแรกเค้าไม่ยอมรับคำว่าโรฮิงญา แต่จะเรียกว่าเบงกาลี มองว่าคนพวกนี้อพยพมาจากแคว้นเบงกอล ประเทศบังกลาเทศ อย่างภาษาที่คนโรฮิงญาพูดเป็นหนึ่งในกลุ่มภาษาที่พูดกันแถบๆ จิตตะกองด้วย เค้าก็ยิ่งมองว่า คุณไม่ใช่คนของเรา อย่างน้อยคนของเราก็ต้องหน้าตาเหมือนเราบ้าง แต่ว่านี่คุณหน้าเหมือนแขก ผิวคล้ำ และพอเค้าไม่เหมือนเราก็ผลักเค้าออกไป และบอกนี่ไม่ใช่คนของเราแน่นอน ทั้งจะปฏิเสธเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงญาแน่นอน 100 % อ้างประวัติศาสตร์ว่านี่คือแผ่นดินของเรา
สงคราม ความขัดแย้งคราวนี้ ในเชิงทฤษฎีมันคือความขัดแย้งของเรื่องเล่าสองชุด ที่ไม่เหมือนกันเลย แต่ถ้าจะสรุปก็คือ เป็นเรื่องเล่าที่อ้างว่า คือแผ่นดินพ่อแม่ของฉัน คนยะไข่ก็จะบอกว่า โรฮิงญาเบงกาลีเข้ามาใหม่ เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ก็สมควรแล้วสิ ที่จะกลายเป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย ที่รัฐบาลพม่าจะไม่ให้สวัสดิการอะไรเลย มันก็คือการชิงพื้นที่ว่า ใครทำเราก่อน
ในด้านของโรฮิงญา กลุ่มติดอาวุธ ARSA ก็จะบอกว่า เพราะคุณจะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เราก่อน เราจึงต้องติดอาวุธ เราจะเห็นภาพของโรฮิงญาที่ถูกกระทำ ถูกเผาบ้าน สภาพที่หดหู่ แต่ถ้าฝ่ายชาวพุทธพม่า ก็จะมีข้อความที่เขาต้องการสื่อว่า คนพวกนี้เผาบ้านตัวเอง พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สถานะผู้ลี้ภัย เพื่อจะออกไปต่างประเทศ อยู่ดีกินดีได้ หรือตอนนี้ เขาก็จะมองว่าข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ อย่าง BBC, CNN, Human right watch พวกนี้เป็นข่าวลวงที่ได้รับจากคนโรฮิงญา ในมุมมองของคนพม่าจะน้อยใจมากว่าทำไมชาวโลกเลือกจะตีพิมพ์ข่าวโรฮิงญาอย่างเดียว ทั้งๆ ที่จริงๆ ก็มีคนพม่า คนฮินดู อื่นๆ ที่ถูกฆ่าตายเหมือนกัน
The MATTER: ความขัดแย้งกับชาวโรฮิงญา เพิ่งเกิดรุนแรงในยุคสมัยนี้ หรือมีปัญหากันมาตั้งแต่เมื่อไหร่
ดร. ลลิตา: ชาวโรฮิงญาเค้าก็จะมีเรื่องเล่า ซึ่งเรามองว่าอันนี้โรฮิงญาพูดถูก คือในสมัยรัฐบาลเนวิน ช่วงสังคมนิยม จะมีกฎหมาย Citizen Law เนวินออกกฎหมายนี้ว่า ถ้าคุณมีสิทธิจะได้รับการเป็นพลเมืองของพม่า คุณต้องมีหลักฐานว่าบรรพบุรุษอพยพมาในช่วงปลาย ค.ศ. 1824-25 ซึ่งเป็นสมัยที่คนอังกฤษทำสงครามกับพม่าครั้งแรก เป้าหมายของเนวิน แน่นอนก็เพื่อที่จะผลักคนอินเดีย คนจีนบางส่วน และก็ฝรั่งออกไป สิ่งที่เรียกว่า Xenophobia หรือเกลียดชังชาวต่างชาติมันไม่ใช่เพิ่งมาเกิดแค่ช่วงนี้ แต่เกิดมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมแล้ว
สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนพม่าไม่โอเคกับคนอินเดีย คนจีน และฝรั่ง โดยเฉพาะคนอินเดียและมุสลิมมีหลายเหตุผล เพราะเขามองว่าคนอินเดียมาเอาเปรียบเขา ในผลประโยชน์ทางธุรกิจ ช่วงยุคอาณานิคม คนพม่าถูกผลักให้เป็นคนชายขอบ ในขณะที่ คนอินเดียกลายเป็นเจ้าของกิจการ คนปล่อยเงินกู้ และปล่อยดอกเบี้ยดอกสูงๆ เรื่องเล่าแบบนี้เกิดมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม และสืบต่อกันมา เค้าจึงมองว่าเค้าไม่โอเคกับแขก ทำให้คนพม่ามีอคติกับแขกเยอะมาก อย่างที่สอง จะเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นในยุคหลังๆ มาจากการที่ชาวพุทธพม่ามองว่าคนมุสลิมไม่คุมกำเนิด และเวลาแต่งงานกับมุสลิม ชาวพุทธก็ต้องเปลี่ยนศาสนาไปเป็นมุสลิม ซึ่งตรงกับการสร้างวาทกรรม ที่ไม่ได้มีแค่ในพม่าเท่านั้น แต่ยังมีในศรีลังกา หรือในไทยด้วย คือวาทกรรมว่า คนมุสลิมจะพยายามมากลืนแผ่นดินที่เป็นของคนพุทธ ด้วยการมีลูกเยอะนั่นเอง
The MATTER: ในเมื่อสภาพของชาวโรฮิงญาในพม่าถูกเลือกปฏิบัติ ถูกทำให้เป็นคนนอก ทำไมเค้าถึงไม่เลือกย้ายออกไปที่อื่น
ดร. ลลิตา: เราชอบเปรียบเทียบชาวโรฮิงญากับชาวซีเรีย มันคล้ายคลึงกัน ซีเรียเกิดสงครามกลางเมือง จนคนเขาไม่สามารถเข้าไปอาศัยได้ แต่อย่างที่สื่อต่างประเทศต่างๆ เค้าชอบถ่ายทอด ทำสารคดีตามไปดูคนซีเรียที่อพยพไปประเทศต่างๆ แล้วมีอาชีพ ไปเป็นช่างทำผม ช่างตัดเสื้อมีฝีมือ คือไปเป็นประโยชน์ในสังคมตะวันตก แต่คนโรฮิงญาที่ผ่านมากี่ปีมาแล้ว เขาไม่มีการศึกษาเลย เพราะรัฐบาลพม่า ไม่ส่งเสริมให้พวกเขาได้รับการศึกษา อย่างถ้ารัฐบาลพม่าตัดถนนเข้าไปในหมู่บ้านโรฮิงญา คนพุทธยะไข่ก็จะทำการประท้วงกันเลย เพราะเขามองว่าเราต้องได้ก่อนสิ เราเป็นคนของประเทศ ทำให้ถนน ประปา สาธารณสุขต่างๆ ในหมู่บ้านโรฮิงญาไม่มีเลย แต่เค้ายังอยู่ที่เดิมคือเขายังไม่ไปไหนเพราะไปไหนไม่ได้ บอกตรงๆ คือคนโรฮิงญาไม่มีทักษะ ไม่มีการศึกษาเลย ยกเว้นคนที่กระเสือกกระสนจริงๆ เพื่อมีสถานะที่ดีกว่า คือมันก็มีคนแบบนี้นะ ที่ไม่ได้รอรับการช่วยเหลืออย่างเดียว แต่ก็ต้องมองด้วยว่ามันเป็นไปได้ยากสำหรับเขา
อย่างสมัยก่อนคนโรฮิงญาเคยอาศัยอยู่ทั่วรัฐยะไข่ แต่ตอนนี้ก็ถูกผลักไสขึ้นไปให้อาศัยอยู่แค่รัฐยะไข่ตอนบน เพราะคนยะไข่ไม่สบายใจ จึงมีกระบวนการที่ผลักคนโรฮิงญาขึ้นไปอาศัยอยู่แถบชายแดนพม่ากับบังกลาเทศ แต่ถามว่าทำไมคนโรฮิงญาถึงไม่อพยพออกนอกรัฐยะไข่ เพราะว่ารัฐยะไข่กับพม่า คือพม่าตอนบนและตอนกลางมันถูกกั้นด้วยเทือกเขาขนาดใหญ่ คืออาระกันโยมา มันจึงทำให้การอพยพจากรัฐยะไข่ไปสู่รัฐอื่นในพม่า ค่อนข้างยาก แต่อพยพจากบังกลาเทศมายะไข่ นั้นง่าย ชาวโรฮิงญาจึงกระจุกตัวอยู่ตรงนั้น
เราเคยถามคนโรฮิงญาว่าทำไม รู้ทั้งรู้ว่าที่นี่อันตราย แต่ทำไมยังอยู่ เค้าตอบว่าเค้าถูกพ่อแม่สอนมาว่า แผ่นดินอาระกันสมบูรณ์มาก จะปลูกอะไรก็ขึ้น จับปลาในแม่น้ำมากินก็ได้ เค้าเลยเลือกจะอยู่ในพื้นที่นี้ แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป คนโรฮิงญาที่เคยบอกว่าจะไม่ออกจากแผ่นดินแม่ ก็อพยพมาแล้วกว่า 500,000 คน แต่ถ้าถามว่าแล้วคนมุสลิมอื่นๆ ยังอยู่ได้ไหม อยู่ยังไง คือมุสลิมในย่างกุ้ง ก็ยังอยู่ได้ ยังทำพิธีกรรมต่างๆ ได้ บรรยากาศจะต่างจากปี 2012 อย่างปีนั้นมันเกิดจากกระบวนการปลุกปลั่น แอนตี้ ต่อต้านมุสลิมด้วย ช่วงนั้นคือมุสลิมในย่างกุ้งอยู่ยาก แต่ตอนนี้เหยื่อไม่ใช่มุสลิมอื่นๆ แต่มุ่งเป้าไปที่โรฮิงญา มันคือ โรฮิงญา = ก่อการร้าย ทำให้มุสลิมอื่นๆ ยังอยู่ได้ แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าเหตุการณ์รุนแรงจะไม่เกิดขึ้น
The MATTER: ในพม่ามีชนกลุ่มน้อยเยอะแยะมากมาย แต่ทำไมชาวโรฮิงญาถึงเป็นเป้าหมายพิเศษที่โดนโจมตี
ดร. ลลิตา: หนึ่งเป็นมุสลิม สองหน้าตาไม่ดี ในความหมายของคนพุทธพม่าคือ หน้าตาไม่เหมือนกับเรา คนฉาน คะฉิ่น ถึงจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม แต่ก็ยังมีหน้าตาคล้ายคลึงกัน และอีกประการต่อมาคือ อาจจะด้วยกระแส Anti-Muslim และการเข้ามามีบทบาทของขบวนการฝ่ายขวาระดับโลก ขบวนการเหล่านี้ชี้ให้สังคมที่ไม่พอใจมุสลิมอยู่แล้ว มองว่ามุสลิมเป็นภัยคุกคาม ทั้งในพม่ายังมีพระสงฆ์ที่เทศน์ปลุกปั่นตามหมู่บ้าน ว่ามุสลิมจะเข้ามายึดครองคนพม่า และคนพม่าติดพระเทศน์มาก ไม่ว่าไปไหน ก็จะฟังพระเทศน์ มีช่องทีวี วิทยุธรรมมะ รวมถึงบางทียังมีการเทศน์แบบ hate speech ที่พระพูดถึงคนโรฮิงญาว่าอย่างหยาบคายเช่น กินข้าวทางก้นรึเปล่า อะไรแบบนี้ และคนพม่าก็เชื่อพระเทศน์ด้วย ซึ่งถ้าเราไปพูดที่โลกตะวันตกก็จะโดนกฎหมายโจมตีไปแล้ว
มันก็ทำให้เราคิดเป็นเรื่องอื่นไม่ได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางเชื้อชาติอะไรหรอก มันคือการปลุกปลั่นความเกลียดชังเพื่อให้คนพม่าและชาวพุทธในรัฐยะไข่ผลักคนเหล่านี้ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนออกไป เราว่ายังไงก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์
The MATTER: ทำไมชาวมุสลิมถึงโดนโจมตีมากกว่า ฮินดู หรือคริสต์ อะไรคือประเด็นความขัดแย้ง
ดร. ลลิตา: ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ มีสงครามกับรัฐบาลพม่ามานาน แต่ต้องเข้าใจว่าคนพม่า และคนยะไข่พุทธก็เกลียดทหารเหมือนกัน เขาจึงรู้สึกว่า เขาเห็นใจชนกลุ่มน้อย คนพม่าไม่ได้เกลียดชนชังคนไทยใหญ่ คนไทยใหญ่ก็ไม่ได้เกลียดชังคนพม่า แต่เกลียดกองทัพ ทำให้ในตอนนั้นมันมีศัตรูร่วมกัน คือกองทัพ แต่ตอนนี้สถานการณ์พลิก ชนกลุ่มน้อยที่เคยเกลียดรัฐบาลพม่า เกลียดกองทัพพม่า ตอนนี้กลับพูดว่า เราสนับสนุนกองทัพให้จัดการชาวโรฮิงญา อ้าว เมื่อสองปีที่แล้วยังเกลียดเค้าอยู่เลย
หรืออย่างในหมู่กระเหรี่ยงคริสต์ พุทธไทยใหญ่ คะฉิ่นคริสต์ ก็ร่วมเกลียดโรฮิงญาด้วยกันหมดเลย อย่างเพื่อนเรา เป็นคนคริสต์กระเหรี่ยง ก็บอกเราว่าเกลียดโรฮิงญา ด้วยให้เหตุผลว่า นี่คือคนเถื่อน คนนอก ทำไมต้องให้การปกป้องคนพวกนี้ ตอนนี้ช่วงหลังๆ กระเหรี่ยง คะฉิ่น ฉิ่น มอญ ฉาน ชนกลุ่มน้อยต่างศาสนาทั้งหลายจะใช้คำว่า ‘Our Land’ (แผ่นดินของเรา) คือสหภาพเมียนมาทั้งหมด เพื่อสร้างให้เราเป็นประชากรของสหภาพเมียนมา
ในขณะเดียวกันก็มีอีกกลุ่มนึงที่ถูกมองว่า ไม่ใช่คนของแผ่นดินนี้ ดังนั้นคนโรฮิงญาก็ถูกมองว่า ไม่ใช่คนของเรา แต่ถ้าเป็นสมัยก่อนในช่วงที่มีสงครามชาติพันธุ์เยอะๆ คำว่า ‘Our Land’ คือ พื้นที่กระเหรี่ยง พื้นที่ฉาน พื้นที่แค่ของกลุ่มเราเท่านั้น ตอนนี้มันเปลี่ยนโลกทรรศ์ ศัตรูร่วมเปลี่ยนเป็นโรฮิงญา แต่ในที่สุดเรื่องของโรฮิงญาก็จะซา และชนกลุ่มน้อยพวกนี้ก็จะกลับมาเหมือนเดิม มีศัตรูเป็นรัฐบาลเหมือนเดิม
อีกเรื่องนึงคือ ทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของอาระกัน ในเพจ ‘Arakan Oil watch’ มีการพูดไว้เลยว่า ที่ตรงนี้คือ แหล่งน้ำมันสำรองที่มากที่สุดของโลก และพื้นที่ที่สามารถที่จะขุดน้ำมันได้อย่างเมืองมองดอว์ ในรัฐยะไข่ เป็นพื้นที่ของโรฮิงญาหมดเลย บวกกับเหตุการณ์ขับไล่ชนกลุ่มนี้ในตอนนี้ คุณคิดว่ามันจะบังเอิญไปรึเปล่า
The MATTER: อย่างนี้การผลักโรฮิงญาออกไปรอบนี้ เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพยากรด้วยใช่ไหม
ดร. ลลิตา: เราว่าเกี่ยวข้อง คือลองคิดดูนะว่าเป็นเรื่องบังเอิญไหม อย่างข่าวล่าสุด เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว พอมีข่าวโรฮิงญาลี้ภัยอพยพออกไป รัฐบาลมองดอว์เซ็น MOU กับบริษัทต่างชาติ เพื่อที่จะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เมืองมองดอว์ทันที เขารีบเหมือนกลัวเราไม่รู้ ว่านี่คือนัยยะที่ซ่อนอยู่ มันก็ทำให้เราคิดเป็นเรื่องอื่นไม่ได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางเชื้อชาติอะไรหรอก มันคือการปลุกปลั่นความเกลียดชังเพื่อให้คนพม่าและชาวพุทธในรัฐยะไข่ผลักคนเหล่านี้ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนออกไป เราว่ายังไงก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์
ปัจจุบัน มันก็มีสถิติและงานวิจัยออกมาว่า ประเด็นเรื่องการยึดพื้นที่คนยากจนเพื่อมาให้นายทุนในประเทศกำลังพัฒนานั้นมีเยอะมาก และเยอะขึ้นอย่างรวดเร็ว เราเลยมาดูที่สถิติในพม่า ก็เห็นว่ามันก็มีจริงๆ แต่เราก็ฟันธงไม่ได้ว่าคนพม่าหรือ คนพุทธยะไข่ถูกหลอก ถูกปลุกปั่น จริงๆ ในพม่าเอง ก็ไม่ได้มีแต่ฝ่ายที่มองว่าคนโรฮิงญาเป็นคนนอก เป็นคนเถื่อนผิดกฎหมายอย่างเดียว มันก็มีฝ่ายที่มองเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย แต่ปัญหาคือ กลุ่มนี้มีน้อยมาก มีไม่ถึง 5% เลยด้วย
อย่างความน่าสนใจของงานวันนั้นที่ซูจีพูดคือ มีการถ่ายทอดทางทุกช่อง เฟสบุ๊กสื่อดังๆ ทุกแห่ง แต่การพูดภาษาอังกฤษของเธอนั้น ไม่มีซับไตเติลภาษาพม่าเลย เราสามารถตีความไปได้อย่างไร หนึ่ง ข้อความนี้สำหรับฝรั่งและนานาชาติเท่านั้น สอง เราไม่อยากให้คนพม่ารับรู้ในสิ่งที่เราพูดเป็นภาษาอังกฤษ
The MATTER: คนไทยมักมองว่า เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องช่วยเหลือปัญหานี้ พม่า และบังกลาเทศ หรือประเทศมุสลิมอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียต้องจัดการ อาจารย์มองว่าจริงไหม และไทยควรมีจุดยืนอย่างไรกับปัญหานี้
ดร. ลลิตา: ประเทศไทยของเราไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะรับผู้อพยพ เราไม่ได้เป็นประเทศภาคี หรือสมาชิกที่จะรับได้ พวกค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ ที่อยู่ตามชายแดน คือแค่ที่พักพิง ‘ชั่วคราว’ ซึ่งคนพวกนี้มีอยู่ 3 ทางเลือกด้วยกัน คือหนึ่ง ไปประเทศที่ 3 สองคือผลักดันกลับประเทศแม่ และสามคือการทำเรื่องเอกสารทางการอะไร เพื่อให้อยู่ในประเทศไทยได้ อย่างกรณีโรฮิงญา ตอนนี้คือเราไม่สามารถผลักดันกลับประเทศแม่ได้ หรือการทำเอกสารอะไรก็เป็นไปไม่ได้ ก็เหลือเพียงต้องผลักดันไปประเทศที่ 3 และจะไปไหน ก็คือตอนนี้ก็มีบังกลาเทศ
แต่เรื่องนี้ อย่างการช่วยเหลือจากต่างประเทศ หรือ Humanitarian Aid ทั้งหลาย ก็มีการเมืองอยู่ บังกลาเทศรับคนโรฮิงญาเข้าไป 5 แสนคน แปลว่าเงินช่วยเหลือจาก NGO ทั้ง Unicef, Human Right Watch หรือองค์กรต่างๆ ก็หลั่งไหลเข้าไปในประเทศด้วย เพื่อนเราที่เป็นคนบังกลาเทศตอนนี้ลงสมัครงานวันต่อวันเลย รับเจ้าหน้าที่ รับคนประสานงานด่วน มันก็เป็นการเมืองแบบหนึ่งของวิกฤติการณ์ผู้อพยพ มีการสร้างงาน มีรายได้ที่ถูกสร้างขึ้นมา ซึ่งตอนนี้บังกลาเทศก็คือรับผู้อพยพชั่วคราว แต่จะให้รับถาวรคงทำไม่ได้
The MATTER: อาทิตย์ที่แล้ว ซู จีออกมาพูดถึงกรณีเป็นครั้งแรก จากที่เธอบอกว่า จะให้มีกระบวนการพิสูจน์เชื้อสาย และให้ชาวโรฮิงญากลับมา อาจารย์มองว่าจะแก้ไขปัญหาได้จริงไหม
ดร. ลลิตา: แก้ไม่ได้หรอก อย่างความน่าสนใจของงานวันนั้นที่ซูจีพูดคือ มีการถ่ายทอดทางทุกช่อง เฟสบุ๊กสื่อดังๆ ทุกแห่ง แต่การพูดภาษาอังกฤษของเธอนั้น ไม่มีซับไตเติลภาษาพม่าเลย เราสามารถตีความไปได้อย่างไร หนึ่ง ข้อความนี้สำหรับฝรั่งและนานาชาติเท่านั้น สอง เราไม่อยากให้คนพม่ารับรู้ในสิ่งที่เราพูดเป็นภาษาอังกฤษ สาม มีการตีความว่าไม่มีคำว่าโรฮิงญาปรากฏขึ้นเลยในการปราศัยครั้งนี้เลย และสี่ เรามองว่า นี่เป็นการพูดแบบขอไปที ให้มันจบๆ นี่ไงพม่ามีทางออก มีการพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่อย่างไรก็ดี มีการบอกว่ากลับมาเลย เราพร้อมให้การช่วยเหลือ สมมติรัฐบาลพม่าพร้อม คนยะไข่พุทธก็ไม่พร้อม ไม่เอาด้วย สุดท้ายเรามองว่าเดี๋ยวเรื่องนี้ก็จะเงียบ แต่ก็จะวนกลับมาเกิดอีกทุกๆ 5 ปี หรืออาจะเร็วกว่านั้น ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามมีเรื่องทรัพยากรมาเกี่ยวข้อง
The MATTER: จากคนที่เคยถูกมองจากคนโรฮิงญาว่าเป็นผู้ที่จะแก้ปัญหา เข้ามาช่วยเหลือ กลับถูกมองว่าเป็นคนโกหก หลังจากนี้ซู จีจะเรียกความเชื่อใจจากชาวโรฮิงญากลับมาได้ไหม
ดร. ลลิตา: ไม่มีทางเลย ซู จี รู้ข้อจำกัดของเขา เลยเลือกที่จะเงียบ ยังไงซู จีก็คือนักการเมืองคนนึง และรัฐบาลพม่าตอนนี้ก็ยังถูกกองทัพค้ำหัว ไม่เพียงแค่นั้นยังมีกลุ่มธุรกิจภายในและภายนอกประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยที่ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมาย หรือทำประชารัฐอะไร
การแก้ไขปัญหาหรือประชาธิปไตยในพม่ามีปัญหามาก เพราะกระบวนการนี้ตกอยู่ในมือของคนแก่ พรรครัฐบาลส่วนมากมีคนอายุ 60-70 กว่าปีหมดเลย และคนพวกนี้ในยุคนึงอยู่ในคุกมา 10 กว่าปี คนบางคนใช้อินเทอร์เน็ตไม่ได้ อีเมล์ยังไม่มี โทรศัพท์ไม่ได้ใช้ คิดดูว่าแล้วทัศนคติของคนเหล่านี้ จะทำให้พม่าพัฒนาไปได้เมื่อไหร่
The MATTER: อย่างนี้มองว่า ซู จี ถูกใช้เป็นหุ่นเชิดได้ไหม
ดร.ลลิตา: มองในแง่ดีหน่อย เธอไม่ใช่หุ่นเชิดหรอก แต่ในสภาพการที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกแบบนี้ พรรค NLD ของรัฐบาลทำอะไรมากไม่ได้หรอก ดูอย่างคนคิดจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็ถูกยิงตายไปเมื่อต้นปี ไม่ใช่เพราะเป็นมุสลิม แต่เพราะเป็นปฏิปักษ์กับกองทัพ ด้านซู จีเอง ต่อจากนี้เธอเหยียบเรือสามแคมอย่างไรให้ประสบความสำเร็จและให้อยู่รอดไปวันๆ คือ หนึ่ง ต้องไม่ทำให้กองทัพไม่พอใจ สอง ต้องไม่ทำให้ประชาคมโลกไม่พอใจจนเกินไป และสาม ต้องเอาอกเอาใจคนในชาติ ทำให้คนในชาติพอใจ ความเงียบของเธอจึงเป็นคำตอบ เพราะนักข่าวก็จะเอาไปตีความก็ไม่ได้ นี่ก็ดีมากแล้วที่เธอออกมาแถลง แต่ลึกๆ ก็คือการแถลงที่จะยืนยันความเงียบ
The MATTER: ในมุมมองของอาจารย์ ปัญหานี้ควรถูกแก้ไขอย่างไร
ดร. ลลิตา: เรามองว่าโรฮิงญาคือ Stateless ไร้รัฐ เค้าคงอยากมีรัฐสักรัฐที่อาศัยอยู่ แต่สำหรับพม่าเรามองไม่เห็นหนทางเลย รัฐบาลพม่าตอนนี้จงใจ ที่จะผลักโรฮิงญาออกไป ถ้าไม่ผ่านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งถูกคนด่า ก็คือการค่อยๆ ผลักออกนอกประเทศ จะไปที่ไหนก็ได้ไม่แคร์ ไปโลกที่ 3 ก็ได้ ก็คือช่วยทำเอกสารต่างๆ ด้วยซ้ำ
แต่การแก้ปัญหา เรามองว่าคนโรฮิงญาต้องกลับไปอยู่รัฐอาระกัน และรัฐบาลพม่าจะจับไปอยู่ค่าย หรืออย่างไรก็แล้วแต่จะจัดการ อย่างล่าสุดมีบทความที่เขาพูดว่า แปลกนะ เวลาพูดถึงชาวโรฮิงญา เราที่ไม่เห็นประชาคมโลกพูดถึงการกลับไปคว่ำบาตรพม่าเลย อเมริกาตอนนี้ออกมาพูด วิจารณ์มากมาย แต่ก็ไม่เห็นออกมาพูดว่าจะคว่ำบาตรพม่าเลย เพราะมันมีผลประโยชน์ เรามองว่าถ้านานาชาติรวมตัวกันเพื่อกดดันพม่า และกลับไปคว่ำบาตรพม่า ปัญหาโรฮิงญาก็อาจจะถูกจัดการอย่างถูกต้อง แต่เค้าไม่ทำ เพราะเค้ากลัวพม่าโกรธ
The MATTER: คนไทยมีมุมมองต่อคนโรฮิงญาเหมือนคนพม่าไหม
ดร. ลลิตา: เราว่าทัศนคติของคนไทยกับคนพม่าใกล้เคียงกัน คนไทยคงไม่ได้มองว่า เค้ามาแย่งบ้านเรา แย่งแผ่นดินเรา แต่ทัศนคติโดยรวมเหมือนกัน ว่าคนพวกนี้สกปรก แพร่พันธุ์เยอะ วันๆ ไม่ทำอะไร ขี้เกียจ แล้วก็ไปตรงกับเรื่องการรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ อย่างคนพม่าก็จะพูดว่า คนพวกนี้จงใจให้ตัวเองดูน่าสงสาร จะได้ความช่วยเหลือ ไม่ต้องทำอะไร
The MATTER: คนไทยจะเปลี่ยนมุมมอง มายาคติหรือทัศนคติที่มีต่อชาวโรฮิงญาได้ไหม
ดร.ลลิตา: ยาก ยากมาก เวลาก็ไม่ช่วยอะไร คนไทยต้องมีภูมิคุ้มกันทั้งด้านจิตวิญญาณและด้านสติปัญญา แต่เราว่าถึงแม้มีความรู้เยอะ อ่านเยอะ ก็เป็นคนที่เกลียดมุสลิมได้ สังคมมันต้องมีตัวกรองอย่าง Critical Skill คนไทยก็ไม่ได้เกิดมากับการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยธรรม หรือสิทธิเสรีภาพอะไร ขนาดอยู่ภายใต้เผด็จการมานานยังไม่รู้เลยว่าตัวเองถูกจำกัดสิทธิ เราก็โทษคนไทยไม่ได้ สิงคโปร์ก็เป็น และเค้าก็ไม่ออกมาประท้วงเลย
เราอาจจะบอกได้ว่าคนในภูมิภาคนี้มีความเคยชินกับอคติทั้ง ด้านเชื้อชาติ ด้านเพศ ทุกๆ เรื่อง และเลือกที่จะไม่ตีโพยตีพาย เลือกจะพิทักษ์สิทธิของตัวเอง แต่ถ้าเป็นสิทธิของคนอื่นที่ไม่ตรงจริตกับเรา ก็เลือกที่จะไม่ปกป้องให้เขา เหมือนคนพม่าที่บอกว่าต้องปกป้องประชาธิปไตย ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ พวกนักเคลื่อนไหวทั้งหลาย
สุดท้ายคนพวกนี้ก็กลายเป็นคนที่เหยียดเชื้อชาติกันเอง ในสภาวะวิกฤติแบบนี้ทำให้เราได้เห็นธาตุแท้ของคนจริงๆ
Photo by. Asadawut Boonlitsak