คนหนึ่งที่มองรัสเซียแบบ ‘หยั่งทะลุ’ มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1939 สมัยที่ยังร่วมรบกันในมหาสงครามโลกครั้งที่สอง – ก็คือวินสตัน เชอร์ชิล
เชอร์ชิลเคยบอกว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่า ไม่มีอะไรที่พวกเขา [รัสเซีย] ชื่นชมมากไปกว่าความแข็งแกร่ง และไม่มีอะไรที่พวกเขาไม่เคารพนับถือยิ่งไปกว่าความอ่อนแอ โดยเฉพาะความอ่อนแอทางทหาร”
คำพูดนี้ยิ่งเข้มข้นในความจริงมากขึ้น เมื่อถึงยุคของวลาดิเมียร์ ปูติน
กล่าวกันว่า ปูตินไม่ได้ชอบประธานาธิบดีคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต คือ มิคาอิล กอร์บาชอฟ สักเท่าไหร่ หรือพูดให้ตรงกว่านั้นก็คือ เขาไม่ชอบกอร์บาชอฟเลยก็ว่าได้ ปูตินโทษกอร์บาชอฟ ที่ทำให้สหภาพรัสเซียอัน ‘ยิ่งใหญ่’ ต้องล่มสลาย แตกออกเป็นรัฐเล็กๆ ถึง 15 รัฐ ในช่วงทศวรรษ 90 อันเป็นสิ่งที่ปูตินเรียกว่า Major Geopolitical Disaster of the Century หรือหายนะทางภูมิศาสตร์การเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ
หลายคนอาจงุนงง ว่าทำไมรัสเซียถึงลุกขึ้นมามีปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครนในปัจจุบัน เรื่องนี้มีคำตอบจากหลากหลายแง่มุม เราอาจตอบด้วยเรื่องทางการทูตร่วมสมัยก็ได้ ตอบด้วยประวัติศาสตร์การเมืองย้อนกลับไปราวสิบหรือยี่สิบปีก็ได้ หรือแม้แต่จะตอบด้วยจิตวิทยาผู้นำ ที่กระเทาะลึกลงไปถึงก้นบึ้งทางจิตของผู้นำอย่างปูตินก็ได้อีกเหมือนกัน
แต่ละแง่มุมมีสิ่งที่อธิบายได้และอธิบายไม่ได้มากน้อยแตกต่างกันไป
แต่ในที่นี้ อยากชวนคุณมาลองมองสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกแง่มุมหนึ่ง
นั่นคือแง่มุมทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือมองจากสิ่งที่ ‘ใหญ่’ และ ‘ยาวนาน’ เอามากๆ เพื่อใช้ความใหญ่และยาวนานนี้มาอธิบายติ่งของผลลัพธ์เล็กๆ ที่ผลิขึ้นมาในยุคสมัยของเรา – ท้ังที่หลายคนมองว่าสงครามแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว
ถ้าถามว่า ‘ความเป็นรัสเซีย’ หรือ ‘รัสเซีย’ ในฐานะที่เป็น ‘คอนเซ็ปต์’ ร่วม (ซึ่ง เบน แอนเดอร์สัน อาจเรียกว่าเป็น ‘ชุมชนจินตกรรม’ แบบหนึ่ง) เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มีผู้อธิบายเอาไว้ว่า น่าจะเกิดขึ้นอย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ซึ่งในตอนนั้นเกิดการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของชนเผ่าสลาวิกตะวันออก (East Slavic) หลายเผ่า
ซึ่งพอมารวมตัวกันเข้า ก็เรียกตัวเองว่า เคียฟแวน รัส (Kievan Rus)
คำว่า Kievan Rus นี้น่าสนใจเอามากๆ นะครับ เพราะคำหนึ่งก็คือคำว่า ‘เคียฟ’ อันเป็นคำเดียวกับชื่อเมืองหลวงของยูเครนในปัจจุบันนั่นแหละ ส่วนคำว่ารัส ต่อมาก็กลายเป็นรัสเซีย ซึ่งนักประวัติศาสตร์บอกว่า ชนเผ่าที่รวมตัวกันแล้วเรียกตัวเองว่า ‘เคียฟแวนรัส’ นี้ มีลักษณะเป็นคล้ายๆ สมาพันธรัฐหรือ Fedeeration แบบหลวมๆ ประกอบไปด้วยชนชาติทั้งสลาวิกตะวันออก (อย่างที่ว่าไปข้างต้น) แล้วก็มีชาวบอลติกกับชาวฟินนิก (Finnic) รวมอยู่ด้วย โดยมีที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำด์นีเพอร์ (Dnieper River) ซึ่งไหลผ่านเมืองเคียฟ
ดังนั้นจึงพูดได้เลยว่า ‘รัสเซีย’ ในฐานะที่เป็น ‘คอนเซ็ปต์ร่วม’ หรือ ‘ความเป็นรัสเซีย’ ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรก ในพื้นที่ที่ของยูเครนปัจจุบัน และจำเพาะเจาะจงลงไปได้ด้วยซ้ำว่าคือเคียฟ
อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์พัดพาผู้คนให้กระจัดกระจายไป ชาวมองโกลที่บุกมาถึงยุโรป แผ่ขยายจักรวรรดิของตัวเอง และโจมตีภูมิภาคนี้จากหลายทิศทาง จนที่สุดก็ยึดครองดินแดนแถบนี้ได้ ผลักดันให้ ‘ชาวรัสเซีย’ (ในฐานะคอนเซ็ปต์) หนีขึ้นไปตั้งเมืองใหม่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันก็คือมอสโคว์แทน
ดังนั้น เราจะเห็นเลยว่า รัสเซียกับยูเครนนั้นมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันมากมาเป็นพันๆ ปีแล้ว ด้านหนึ่งคือในฐานะคอนเซ็ปต์ที่เป็นนามธรรม อีกด้านหนึ่งคือในฐานะพื้นที่ที่เป็นรูปธรรม
รัสเซียมายิ่งใหญ่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ที่ได้ชื่อว่า ‘มหาราช’ หลายองค์ ที่ทำให้ดินแดนของรัสเซียแผ่ออกไปกว้างขวาง โดยเฉพาะในยุคของอีวานมหาราช ตั้งแต่ขึ้นครองราขย์ในปี ค.ศ.1533 ทำให้ดินแดนของรัสเซียแผ่ออกไปจนถึงเทือกเขายูราลทางตะวันออก ทางใต้ลงมาถึงทะเลแคสเปียนและทะเลดำ ส่วนทางเหนือก็ไปถึงอาร์คติกเซอร์เคิล ยิ่งมาถึงยุคของปีเตอร์มหาราช ผู้สถาปนา ‘จักรวรรดิรัสเซีย’ (หมายถึงตัวเองได้เป็นจักรพรรดิด้วย) ข้ึนมาในปี ค.ศ.1721 รัสเซียก็ยิ่งขยายดินแดนกว้างขวางขึ้น ส่วนยุคของแคทเธอรีนมหาราชก็สำคัญ เพราะมีการขยายอำนาจไปทางตะวันตก เข้าไปในยุโรป ผ่านทั้งการค้าและการสร้างความชาตินิยมขึ้นมา
การ ‘มุ่งหน้าตะวันตก’ ทำให้รัสเซียได้กลับไปครองดินแดนอย่างยูเครนอันเป็นดินแดนต้นกำเนิด ‘คอนเซ็ปต์ร่วม’ ของความเป็นรัสเซียอีกครั้ง รวมไปถึงรัฐในแถบคาบสมุทรบอลติกอย่างลิธัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนียด้วย
รัสเซียไม่เคยไว้วางใจยุโรปตะวันตก เพราะในช่วงเวลาห้าร้อยปี
รัสเซียถูกยุโรปตะวันตกบุกหลายครั้งมาก
ตั้งแต่จากโปแลนด์, สวีเดน, ฝรั่งเศส และเยอรมนีในสงครามโลกทั้งสองครั้ง ทั้งที่มอสโคว์นั้น ในทางภูมิศาสตร์แล้วเรียกได้ว่าอยู่ ‘ห่างไกล’ เอามากๆ จนหากมีกองทัพมาถึงมอสโคว์ได้เมื่อไหร่ กองทัพนั้นก็จะต้องอ่อนระโหยโรยแรง หรือมีเสบียงอาหารไม่พอ ดังที่เราจะเห็นได้จากการบุกรัสเซียของนโปเลียนในปี ค.ศ.1812 และฮิตเลอร์ในปี ค.ศ.1941 ซึ่งทั้งสองครั้งล้มเหลวไม่เป็นท่า
ทิม มาร์แชล (Tim Marshall) ผู้เขียนหนังสือ Prisoners of Geography เคยบอกว่า ถ้ามองในแง่ภูมิศาสตร์ เราจะเห็นได้เลยว่า รัสเซียที่เชื่อมกับยุโรปนั้น มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมเหมือนลิ่ม หรือเหมือนกับพิซซ่าหนึ่งชิ้น โดยตรงปลายของลิ่มหรือปลายพิซซ่านั้น ก็คือโปแลนด์
พูดแบบนี้อาจจะดูงงๆ เพราะถ้าเราดูยุโรปทั้งทวีป เราจะพบว่า ที่ราบที่เรียกว่า North European Plain นั้น กินพื้นที่ตั้งแต่ฝรั่งเศสไล่ขึ้นเหนือไปจนถึงเทือกเขายูราล ซึ่งเทือกเขานี้นี่แหละ ที่เป็นตัวแบ่งระหว่างยุโรปกับเอเชีย และรัสเซียก็อยู่ในพื้นที่ที่ราบขนาดใหญ่นี้ด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ถ้าลองไปกดดู Google Maps แล้วเลือกโหมดภูมิประเทศหรือ Terrain เราจะเห็นเลยว่า ใต้โปแลนด์ลงมานั้น จะเป็นเทือกเขา (ขนาดเล็กกว่ายูราล) ที่มีชื่อว่า คาร์เพเธียน () ซึ่งจะวนเป็นรูปคล้ายๆ เครื่องหมาย ) หรือตัว C กลับข้าง คอยทำหน้าที่ ‘กั้น’ ระหว่างรัสเซียกับยุโรปเอาไว้ ดังนั้น จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญจริงๆ ระหว่างรัสเซียกับยุโรป ก็คือโปแลนด์ โดยที่ด้านหลังภูเขาคาร์เพเธียน ก็คือยูเครน
พื้นที่เหล่านี้ เดิมอยู่ใต้ปกครองหรืออย่างน้อยก็อยู่ใต้อาณัติของสหภาพโซเวียต ซึ่งสหภาพโซเวียตนั้นมีรากมาตั้งแต่การปฏิวัติรัสเซียในปี ค.ศ.1917 โน่นแล้ว โดยมีเลนินเป็นผู้นำ ตามด้วยสตาลิน ผู้สร้างยุคเผด็จการคอมมิวนิสม์ที่โหดร้าย และมีแนวคิดสังคมนิยมแบบ ‘นารวม’ (จริงๆ คือ Collectivization) โดยบีบบังคับให้ทุกอย่างเป็นของรัฐทั้งหมด และเขตแดนของสหภาพโซเวียตก็กินไปไกล รวมไปถึงกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออกที่เรียกว่า Eastern Bloc ซึ่งมีตั้งแต่โปแลนด์, เยอรมนีตะวันออก, โรมาเนีย, เชคโกสโลวาเกีย, ฮังการี, บัลแกเรีย และอัลแบเนีย
ถ้าย้อนกลับไปดู Google Maps อีกที จะเห็นว่าประเทศในกลุ่ม Eastern Bloc นั้น อยู่เลยเทือกเขาคาร์เพเธียนมาทั้งหมด นั่นแสดงให้เห็นว่า รัสเซียต้องการให้กลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นเสมือน ‘กันชน’ ระหว่างรัสเซียกับยุโรปมานานแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็คือตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
แต่ก็อย่างที่เรารู้กันอยู่ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เกิด ‘สงครามเย็น’ ขึ้น สงครามเย็นทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตก กลายเป็นองค์การนาโต้ หรือ North Atlantic Treaty Organization ในปี ค.ศ.1949 โดยไม่ได้มีแค่ประเทศในยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีคู่แข่งทางอุดมการณ์กันรัสเซียด้วย
นั่นทำให้รัสเซียยอมไม่ได้ ต้องหาพันธมิตรบ้าง จึงก่อตั้งเป็น ‘สนธิสัญญาวอร์ซอ’ (Warsaw Pact) ในปี ค.ศ.1955 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาร่วมมือกันในทางการทหารและความช่วยเหลือระหว่างกัน จนเกิดเป็น ‘ม่านเหล็ก’ ขึ้นมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัสเซียนั้น ‘กังวล’ กับประเทศทางฝั่งตะวันตกมากทีเดียว
ซึ่งก็อาจทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า อ้าว!
แล้วทางอื่นของประเทศล่ะ ไม่กังวลหรือ เช่นจีน หรือเอเชียกลาง
คำตอบก็คือ รัสเซียทางฝั่งเอเชียนั้นไม่ต้องกลัวใครจะมายึด เพราะมันใหญ่มาก แห้งแล้งมาก หนาวมาก แม้จะมีแร่ธาตุ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ แต่ก็เข้าถึงยากมาก ส่วนทางเอเชียกลางนั้นน่าสนใจ เพราะสตาลินได้ ‘จัดการ’ เอาไว้เรียบร้อยแล้ว ด้วยการลากเส้นขีดแบ่งรัฐต่างๆ โดยเฉพาะที่ลงท้ายด้วย ‘สถาน’ เช่น ทาจิกิสถาน ให้แต่ละรัฐมีชนกลุ่มน้อยจากรัฐอื่นมาผสมอยู่ด้วย ดังนั้น รัฐเหล่านี้จึงอ่อนแอ ไม่สามารถจะทำอะไรรัสเซียได้ ด้วยเหตุนี้ ด้านเดียวที่รัสเซียระแวงระวังมากๆ ก็คือด้านตะวันตก
หลังม่านเหล็กขึ้นสนิมจนพังทลาย สหภาพโซเวียตกลายเป็นประเทศใหม่สิบห้าประเทศแล้ว สนธิสัญญาวอร์ซอก็จบสิ้นลงไปด้วยพร้อมกับการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินในปี ค.ศ.1989
ทั่วโลกคิดว่าน่าจะมาถึงยุคสงบสุขได้แล้ว แต่อย่างที่บอกว่ามีหลายประเทศมากที่เป็นเหมือนดินแดน ‘กันชน’ ระหว่างรัสเซียกับยุโรป เมื่อประเทศเหล่านี้หลุดออกจากสหภาพโซเวียตแล้ว หลายประเทศ ‘ค่อยๆ’ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสนธิสัญญานาโต้ รวมถึงประเทศที่รัสเซีย ‘อ้าง’ ว่าเคยสัญญาว่าจะไม่เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นเชค, ฮังการี และโปแลนด์ (ซึ่งชื่อเมืองหลวงของโปแลนด์คือวอร์ซอ) ที่เข้าร่วมในปี ค.ศ.1999, กลุ่มประเทศบอลติกอย่างเอสโตเนีย ลัตเวีย ลิธัวเนีย และกลุ่มประเทศที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของเทือกเขาคาร์เพเธียน อย่างโรมาเนียและบุลกาเรีย ที่เข้าร่วมในปี ค.ศ.2004 และอัลแบเนียในปี ค.ศ.2009
เราอาจแบ่งกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตออกได้เป็นสามกลุ่ม คือกลุ่มที่เป็นกลาง ได้แก่ อุซเบกิสถาน, อาเซอร์ไบจาน และเติร์กมินิสถาน ซึ่งผลิตพลังงานได้เองมากพอสมควร จนไม่ต้องไปพึ่งพิงฝั่งไหนทั้งสิ้น กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ ‘โปรรัสเซีย’ ได้แก่คาซักสถาน, คีร์กิสถาน, ทาจิกิสถาน, เบลารุส และอาร์เมเนีย ซึ่งกลุ่มนี้เศรษฐกิจของประเทศจะพึ่งพิงรัสเซียเป็นหลัก ซึ่งก็มีการก่อตั้งเป็น Eurasian Economic Union (คล้ายๆ สหภาพยุโรป) ขึ้นมาด้วย
ส่วนกลุ่มที่ ‘โปรตะวันตก’ ได้แก่ โปแลนด์, ลัตเวีย, ลิธัวเนีย, เอสโตเนีย, เชค, บุลกาเรีย, ฮังการี, สโลวาเกีย, อัลแบเนีย และโรมาเนีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ตอนอยู่กับรัสเซียถูกกระทำค่อนข้างมาก จึงไม่ค่อยอยากจะอยู่กับรัสเซียมากเท่าไหร่
ที่จริงแล้ว กลุ่ม ‘โปรตะวันตก’ ยังมีอีกสามประเทศ คือจอร์เจีย ยูเครน และมอลโดวา แต่เป็นสามประเทศที่ ‘ออกหน้าออกตา’ ไม่ค่อยได้ ยูเครนอยู่ชิดติดกับรัสเซียเลย มอลโดวาอยู่ถัดออกมาหน่อย แล้วถึงจะมีเทือกเขาคาร์เพเธียนกั้น
จึงพูดได้ว่าอยู่ใน ‘ที่ราบเดียวกัน’ จะขยับตัวอะไรก็ยาก
ส่วนจอร์เจียถึงจะอยู่ไกล แต่ก็มีทหารรัสเซียอยู่
ทั้งสามประเทศนี้ ถ้าหากว่านาโต้ ‘เคลื่อนไหว’ ให้เข้ามาร่วมด้วยละก็ รัสเซียจะไม่พอใจอย่างยิ่ง ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงปี ค.ศ. 2013-2014 กับยูเครน เพราะตราบใดที่รัฐบาลยูเครนยังคงอยู่กับรัสเซีย รัสเซียก็จะรู้สึก ‘สบายใจ’ ว่ามีดินแดนกันชนอยู่ คอยรักษา ‘ที่ราบยุโรปเหนือ’ เอาไว้ได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ยูเครนเข้าไปอยู่กับนาโต้หรือตะวันตก ก็อาจเกิดอะไรข้ึนได้อีกมากมายที่รัสเซียไม่ต้องการ เช่น มี ‘ฐานทัพเรือ’ ริมฝั่งทะเลดำ ซึ่งก็เท่ากับสหรัฐอเมริกาเอามีดมาจ่อคอหอยของรัสเซียกันเลยทีเดียว นั่นย่อมทำให้รัสเซียยอมไม่ได้
ถ้ามองในภาพเล็ก เราอาจเห็นประเด็นต่างๆ ยิบย่อย เช่น บางแคว้นต้องการเป็นอิสระ มีชาวรัสเซียอยู่ในแคว้นนั้นๆ และต้องการแยกตัวจากยูเครน ฯลฯ แต่ถ้ามองภาพใหญ่อย่างเรื่องของภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ เราจะ ‘เข้าใจ’ ได้เลยว่าปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย รวมถึงการ ‘วางแผน’ ต่างๆ นั้น เกิดขึ้นมาเพราะอะไร
แต่การ ‘เข้าใจ’ ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกับการ ‘ยอมรับได้’ และการยอมรับได้หรือไม่ได้ของคนอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ไม่ได้แปลว่าจะ ‘ทำอะไรได้’ กับสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้น
เว้นเสียแต่การจับตามอง โดยมี ‘ราก’ แห่งความเข้าใจที่ฝังลึกอยู่ใน ‘ภาพใหญ่’ ในภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง
อ่านเพิ่มเติม
Prisoners of Geography: Ten Maps that Explain Everything About The World โดย Tim Marshall