นับแต่จัดตั้งมาช่วงกลางปี 2563 ‘พรรคกล้า’ ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.อย่างน้อย 3 สนาม และยังไม่ประสบชัยชนะแม้แต่สนามเดียว
เลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 3 – ได้คะแนนมาเป็นอันดับสาม ห่างจากผู้ชนะกว่า 3.9 หมื่นคะแนน
เลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 – ได้คะแนนมาเป็นอันดับสาม ห่างจากผู้ชนะกว่า 4.1 หมื่นคะแนน
เลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา เขต 6 – ได้คะแนนมาเป็นอันดับสี่ ห่างจากผู้ชนะกว่า 4.4 หมื่นคะแนน
การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 ที่ ‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’ เลขาธิการพรรคกล้า ในฐานะอดีต ส.ส.กทม. 2 สมัย กระโดดลงสมัครรับเลือกตั้งเองจึงมีความสำคัญ ทั้งในการปักธงเก้าอี้ ส.ส.ตัวแรกของพรรค และในการเปิดตัวพรรคอายุขวบเศษๆ นี้ บนสนามการเมืองไทย ท่ามกลางการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมีถึง อย่างช้าช่วงต้นปี 2566
The MATTER ขอแทรกคิวหาเสียงที่วุ่นวาย นั่งคุยกับอรรถวิชช์ผ่านซูมถึง ‘เดิมพัน’ ของพรรคกล้า ที่พยายามชูจุดยืนว่าเรื่องปฏิบัตินิยม-เน้นนโยบายเศรษฐกิจ และชูว่าจะแตกต่างจากพรรคอื่นๆ เพราะจะไม่กระโดดลงไปท่ามกลางความขัดแย้ง
เดิมพันของพรรคกล้าคืออะไร? และเหตุใดจึงกล้าออกมาทำพรรค? ในช่วงเวลาที่การเมืองเข้มข้นเช่นนี้
ไปฟังคำตอบได้จากเลขาธิการพรรคกล้า ชื่ออรรถวิชช์
พร้อมกับการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้แค่ไหน
ก็พร้อมเต็มที่เพราะทำงานการเมืองมา 17 ปี ลงพื้นที่ตลอดไม่เคยว่างเว้น ช่วงวิกฤต COVID-19 ก็ตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนในเขตเลือกตั้งนี้ (เขตหลักสี่และเขตจตุจักร ยกเว้นแขวงจตุจักรและจอมพล) ชื่อว่า ‘กล้าหาเตียง’ เราช่วยคนหาเตียงทางโทรศัพท์มากกว่า 7,000 ราย เราทำโครงการ ‘กล้าเติมอิ่ม’ แจกอาหารไปมากกว่า 150,000 กล่อง แล้วก็ตั้งศูนย์พักคอยชั่วคราวไปอีก 36 ศูนย์
ผมคิดว่าเราก็ทำอะไรไปเยอะ แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 ตัวผมเองก็ไม่ได้ลงเลือกตั้งในเขตนี้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ส่ง พล.ต.วิชัย สังข์ประไพซึ่งเคยทำงานด้วยกันตอนเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ลงเลือกตั้ง แล้วผมก็ขยับไปในเขตที่ยากขึ้นอีกนิดนึง (เขตราชเทวี เขตพญาไท และเขตจตุจักร เฉพาะแขวงจตุจักรและจอมพล) มันทำให้งานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาผมไม่ได้เจาะจงแค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ทำหมดทั้งเขตหลักสี่ พญาไท และจตุจักร แต่ถ้าใครจำได้ช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ผมก็ทำงานเต็มที่กับเขตจตุจักรและมีผลงานในสภา ร่วมออกกฎหมายมากกว่า 20 ฉบับ นอกจากนี้ยังช่วยประสานงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่เยอะมากต่างๆ ก็คิดว่าผลงานเก่าๆ บ้างทั้งในและนอกสภา
เดิมพันในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.ครั้งนี้ต่อพรรคกล้ามันมากน้อยแค่ไหน ถึงขนาดเอาตัวเลขาธิการพรรคมาลงเอง
เดิมพันคราวนี้ ถ้าเทียบกับทุกพรรคการเมือง ผมคิดว่าของพรรคกล้าสูงที่สุด เพราะเราเป็นพรรคเศรษฐกิจแล้วจะไม่ไปอยู่ในเกมการแบ่งแยกคน เป็นซ้าย-ขวา เราไม่ไปอยู่ตรงนั้น จะนำเสนอการเมืองแบบสร้างสรรค์และมีคุณภาพ ที่ผ่านมา เราก็รวบรวมมือเศรษฐกิจเข้ามาอยู่ในพรรคค่อนข้างเยอะ เช่น คุณหมู-วรวุฒิ อุ่นใจ ก็เป็นมืออีคอมเมิร์ซ คุณเชาวน์-สมคิด จิรานันตรัตน์ ที่เป็นคนทำแอพฯเป๋าตังค์ และมีคนต่างอาชีพวิศวกรสถาปนิกเยอะมาก
เมื่อแนวทางของพรรคกล้าเป็นแบบนี้ แต่บริบททางการเมืองไทยในปัจจุบันยังเป็นการแบ่งแยกข้างกันอยู่ เห็นได้จากวลีที่ใช้ในการเลือกตั้ง “ไม่เลือกเราเขามาแน่” “รักสงบจบที่ลุงตู่” “ให้มันจบที่รุ่นเรา” จึงเป็นคำถามว่าอารมณ์แบบนี้มันยังอยู่ในสังคมไทยหรือเปล่า แล้วพรรคที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจจะไปได้ไหม การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่า เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยได้หรือไม่ เพราะไม่ว่าจะเลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มันก็จะยังเป็นเหมือนเดิม แล้วอย่าลืมว่า นอกจากพรรคกล้า ในปีนี้จะมีพรรคเกิดใหม่อีก 2-3 พรรค ที่จะชูเรื่องเศรษฐกิจเหมือนกัน ซึ่งเขาก็คงรอดูว่าแนวทางแบบนี้มันจะไปได้ไหม
ทีนี้ ผมก็เห็นว่าถ้าไม่ลงเลือกตั้งเองแต่ส่งน้องๆ คนอื่นที่ยังไม่ชำนาญพื้นที่ก็อาจจะเผชิญกับความยากลำบาก เพราะมันเป็นตัวชี้วัดสำคัญ จึงตัดสินใจลงเอง และไม่ได้กลัวความพ่ายแพ้ เพราะการที่เคยเป็น ส.ส.มา 2 สมัย หรือเคยเป็นประธานกรรมาธิการในสภา มันเป็นอะไรที่อยู่ข้างหลัง เป็นประวัติที่เอาไว้พูดในงานศพ สิ่งที่สนใจกว่าคือข้างหน้าว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ นี่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับผม
ไม่มีความกลัวเรื่องพ่ายแพ้ทั้งสิ้น เพราะการเมืองมันมีทั้งแพ้และชนะ
คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันจะเชื่อมไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงในปีนี้ หรืออย่างช้าที่สุดในปีหน้าอย่างไร
มันเชื่อมแน่ เพราะแนวทางของพรรคกล้าที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นบริบทใหม่ทางการเมือง ต่างกับช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ถ้าสมมุติบริบทนี้มันผ่าน ประเทศก็จะไปสู่การเมืองอีกชั้นหนึ่งแล้ว คือเป็นการเมืองที่แข่งกันโดยนโยบายอย่างแท้จริง ผมอยากเห็นการเลือกตั้งที่หลุดพ้น จากการเลือกด้วยความเกลียดหรือความกลัว
เห็นคุณอรรถวิชช์ออกมาพูดเรื่องการซื้อเสียง เลยอยากถามว่าในพื้นที่ กทม.การซื้อเสียงมีผลมากน้อยแค่ไหน
เอาจริงๆ คน กทม.ซื้อไม่เข้าหรอก แต่การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้มีผู้สมัครที่ค่อนข้างสูสีกัน คะแนนมันจึงอาจจะเบียดกันมาก แพ้หรือชนะน่าจะอยู่ที่หลักพันเท่านั้น การซื้อเสียงก็อาจจะมีผลตรงนี้ แต่ที่ว่าจะเข้าแล้วทำให้คะแนนฉีกไปเลย ผมไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น
แล้วกลไกรัฐมีผลต่อการเลือกตั้งใน กทม. มีผลมากน้อยแค่ไหน เช่น อาจจะช่วยผู้สมัครบางราย
(หัวเราะ) เยอะสิ ส่วนมากจะมีผลในเขตของทหาร ในหน้าหน่วยของทหารจะเห็นได้ว่าแทบจะเลือกเบอร์เดียวกันดิ่งมาเลย แทบจะไม่มีเบอร์อื่นปน คือเข้าใจแหละว่าอำนาจรัฐอยู่ในมือของรัฐบาล แต่ว่าผมขอได้ไหม (ยกมือไว้) เที่ยวนี้ขอให้อำนาจอยู่ในมือของชาวบ้านได้ไหม ให้มันเห็นให้มันวัดคะแนนความนิยมของกระแสว่าเป็นยังไง เพราะถ้าปล่อยตามธรรมชาติแล้วเห็นว่าพรรคกล้ามีคะแนนมาเท่าไร สมมุติคะแนนมาดีจนถึงขั้นชนะเลย ก็จะทำให้พรรคที่ทำการเมืองแนวเศรษฐกิจที่หวังทำการเมืองคุณภาพมันจะไปได้ มันอาจจะหลุดพ้นจากวิธีคิดเดิมๆ
เพราะถ้าพรรคกล้าไปได้ หลายพรรคการเมืองใหญ่ก็อาจจะต้องปรับวิธีคิดเหมือนกัน
คุณอรรถวิชช์มักพูดเสมอว่าพรรคกล้าจะเน้นแนวทางเศรษฐกิจ เน้น ‘ปฏิบัตินิยม’ แต่คนจำนวนมากก็ยังมองว่าเป็นพรรค ‘อนุรักษ์นิยม’ ส่วนตัวคิดว่าอย่างไร
คือพรรคกล้า เรายึดมั่นในชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และเชื่อมั่นเรื่องรากเหง้าของสังคม ถ้าเราตัดกันแค่นี้แล้วบอกว่าพรรคกล้าเป็นพรรคที่อนุรักษ์นิยม มันก็แล้วแต่คนจะคิด
แต่หากให้ผมมองตัวเอง ผมคิดว่าพรรคกล้าเป็นพรรคเสรีประชาธิปไตยที่ยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ อันนี้ผมชัดเจนมาก เพราะทั้ง 2 แนวคิดนี้มันสามารถไปด้วยกันได้ มันไม่จำเป็นต้องเป็น liberal หรือต้องเสรีจนถึงขั้นตรงข้ามกับการรักสถาบันพระมหากษัตริย์
ผมอยากชวนย้อนไปในอดีตว่า ถ้าพรรคการเมืองไหนบอกว่าเชื่อในชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มันก็คงเป็นเรื่องปกติ แต่ทำไมวันนี้พอพูดแบบนี้ มันจึงถูกมองว่าต้องอยู่คนละอย่าง ระหว่างประชาธิปไตยกับเรื่องของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทั้งที่มันก็อยู่ร่วมกันได้ พรรคกล้าเราเป็นเสรีประชาธิปไตยที่ยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่แค่ยึดมั่น แต่ผมรักในสถาบันพระมหากษัตริย์
เป็นเพราะว่าช่วงหลังมีบางกลุ่มนำเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้หาประโยชน์ในทางการเมืองหรือไม่ เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็น
ผมรู้จักพี่ๆ หลายคนที่มีแนวคิดขวา บางคนผมก็เลยโทรศัพท์ไปหาเป็นการส่วนตัว เอาจริงๆ เวลาพูดคุยผมจะพยายามหาทางออกเสมอ ผมคุยกับ อ.ปิยบุตร (แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่) ก็พยายามจะหาทางออก ผมเชื่อมั่นในรากเหง้า และขอย้ำว่าประเทศนี้ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้หรอก ในทางปฏิบัตินิยม 1.เวลาเกิดความขัดแย้งทางการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์จะลงมาช่วยยุติความขัดแย้งให้เราได้ 2.การศึกษาวิจัยและพัฒนา (R&D) ในบางเรื่อง ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลเองก็คงไม่สามารถทำได้ โครงการในพระราชดำริถึงมีมากกว่า 4,000 โครงการ เพราะเป็นโครงการที่ทำต่อเนื่องยาวนานมา
สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยจะต้องอยู่ต่อไปเพราะมันอยู่ในโครงสร้างการเมืองไทยที่เหนียวแน่นแล้ว ถ้าไม่มีลำบากเลย เราจะไม่มีองค์กรยุติความขัดแย้ง เราจะไม่มีการวิจัยและพัฒนาที่ทำอย่างต่อเนื่อง ผมยึดมั่นในสิ่งนี้มาก
แต่ที่บอกว่าผมเป็นเสรีประชาธิปไตย เพราะผมยึดมั่นในกลไกตลาดที่มันแข่งขันกัน ผมไม่เชื่อในธุรกิจที่ผูกขาดหรือมีสัมปทานที่ผูกขาด ผมเชื่อในการแข่งขัน ยิ่งมากผู้เล่นยิ่งได้ประโยชน์ ผมเชื่อในความหลากหลายของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าเป็นความหลากหลายที่เขามีสิทธิ์จะเลือกได้เอง
พรรคกล้า มันเป็นพรรคแนวนี้ เพราะเวลาเราจะมุ่งสู่การเป็นปฏิบัตินิยม มันต้องมองที่เป้า ถ้าเป้าหมายของเราคือการกินดีอยู่ดี ก็ต้องเดินไปสู่เป้า ไม่ว่าด้วยวิธีไหนก็ต้องเดินไปสู่เป้าให้ได้
อีกคำพูดหนึ่งที่น่าจะถูกถามบ่อยๆ ว่า พรรคกล้าคือ ปชป.สาขา 2 หรือไม่
(ยิ้ม) พรรคกล้าไม่มีวันจะเป็น ปชป.สาขา 2 เด็ดขาด ผมเคยอยู่ ปชป.ก็พบว่าเป็นพรรคการเมืองที่ดี มีรากฐานที่ดี แต่เมื่อผมเลือกที่จะไม่อยู่กับ ปชป.อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากแนวความคิดของเรามันเป็นอีกอย่าง 1.เราไม่อยู่ในวงจรความขัดแย้งแล้ว 2.เรามุ่งหน้าไปสู่แนวความคิดปฏิบัตินิยม เราพยายามรวบรวมคนใหม่ๆ เข้ามาสู่เส้นทางการเมือง ส่วน ปชป.มีรากฐานทางการเมืองมายาวนาน ฉะนั้นมันจึงมีเรื่องของความผูกพัน เช่น คุณพ่อคุณปู่เคยลงเลือกตั้งให้กับพรรคนี้ก็อาจจะต้องต่อไปเรื่อยๆ ให้กับทายาท เป็นสายตระกูลมา แต่พรรคกล้าเราอยากเปิดพื้นที่ให้กับคนใหม่ๆ เข้า ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมือง
ฉะนั้นแนวทางการเมืองจึงแตกต่างกัน พรรคกล้าจึงไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์สาขา 2 แล้วจะไม่มีวันเป็นด้วย และถ้าสังเกตเราก็ส่งคนลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ทุกที่ แม้กระทั่งในภาคใต้ที่เป็นฐานเสียงสำคัญของ ปชป.
นอกจากนี้พรรคกล้ายังอยากสู้กับระบบราชการที่ล้าหลัง ดังนั้นบางสิ่งที่เราจะพูดต่อไปในอนาคต ก็อาจจะกระทบกับนโยบายที่เคยทำกันมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคไหนก็แล้วแต่
นโยบายสำคัญอะไรที่พรรคกล้าจะชูในการเลือกตั้ง
เราจะไปแก้ไขปัญหาเรื่องระบบราชการล้าหลัง แล้วเรื่องที่เราจะเข้าไปแก้มันก็เป็นสิ่งที่แก้ยากทั้งสิ้น เพราะว่าเป็น red tape (ระเบียบราชการที่วุ่นวายจุกจิก) หรืออะไรที่มันไม่บูรณาการ
เอาทีละเรื่องนะ หนึ่ง งานด้านการสาธารณสุข คนอื่นจะไปพูดเรื่องงบประมาณ เช่น เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่เราจะไปรีดเรื่องศักยภาพ ผมอยากให้มีเวชระเบียนข้อมูลทางการแพทย์เป็นของเรา เพราะเมื่อมันเป็นของเราแล้วเราจะสามารถแชร์และส่งต่อได้ ยกตัวอย่างประวัติข้อมูลผมอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน กทม. แต่สมมติผมเกิดรถชนที่ต่างจังหวัด ผมก็จะสามารถเอาเวชระเบียนที่ถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ใหญ่โหลดลงมาในมือถือแล้วส่งให้โรงพยาบาลในพื้นที่สามารถดูได้ เป็นสิทธิ์ของผม ไม่ใช่ว่าผมต้องวิ่งไปที่โรงพยาบาลต้นทางเพื่อขอข้อมูลไปให้โรงพยาบาลในพื้นที่ดู มันไม่ทันการ ในวิกฤตโรคระบาดและในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีมันไปได้แล้ว ซึ่งเรื่องนี้เชื่อไหมว่าถ้าทำ คนในวงการสาธารณสุขเขาบ่นอุบแน่นอน คือเขาอาจจะไม่ให้ข้อมูล ซึ่งอันนี้เป็นการสู้กับระบบราชการที่ล้าหลัง แต่เชื่อผมเถอะเรื่องนี้ถ้าทำได้สำเร็จ ในอนาคตจะดีทั้งกับประชาชนและดีต่อตัวคุณหมอเอง เพราะคุณหมอคนที่ 2 ที่มาวินิจฉัยคนไข้จะได้มีข้อมูลมาประกอบการวินิจฉัยว่าคนไข้เคยเป็นอะไรมาบ้าง เวลามองเรื่องแบบนี้มันจึงดูเหมือนเรื่องเล็กทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องใหญ่โคตร แล้วก็เป็นเรื่องที่ทำยากซึ่งต้องใช้การเจรจา ผมจึงตั้งใจว่าเวลา 1 ปีของสภาที่เหลืออยู่ หากชนะการเลือกตั้งผมจะเดินหน้าทำเรื่องนี้
สอง เกี่ยวกับระบบการศึกษา เราต้องการลดแรงกดดันที่อยู่กับเด็ก ครู และผู้ปกครองลง ผมจะทำการศึกษาแบบ ‘สบายใจ’ รุ่นผมเข้ามหาวิทยาลัยปี 2538 ที่นั่งในมหาวิทยาลัยยังมีน้อยเราจึงต้องติวเพื่อให้ได้เข้าไปเรียน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ในปัจจุบัน ที่นั่งในมหาวิทยาลัยว่างเป็นแสนที่ต่อปี แล้วทำไมเด็กถึงเครียดกว่ารุ่นผม ถ้าเราดูเด็กรุ่นนี้ติวไม่รู้กี่ตัว ผมว่ายุคนี้เป็นยุคที่ผู้ใหญ่รังแกเด็กในทางการศึกษา คือแต่ละมหาวิทยาลัยก็ต้องการเอาตัวรอดด้วยเพราะที่นั่งมันเหลือเยอะ ก็เลยเปิดการสอบตรงหรือเปิดนั่น แต่ทุกอย่างมันทำให้เด็กและผู้ปกครองเกิดความเครียด ผมจึงต้องการให้การศึกษามันเกิดความสบายใจ ฉะนั้นเรื่องนี้จะเป็นอีกเรื่องที่ต้องฟาดฟันแน่นอน
เมื่อลงมาดูระดับมัธยม การสอบ o-net ถ้าผมได้มีโอกาสไปดูกระทรวงศึกษาธิการผมยกเลิกแน่นอน เพราะมันเป็นการให้เด็กสอบเพื่อไปประเมินโรงเรียน คือปีหนึ่งใช้เงินกว่า 700 ล้านบาทเพื่อไปหาค่ามาตรฐานของโรงเรียน ทั้งที่จริงๆ o-net ตั้งขึ้นมาเพื่อให้การศึกษามันพัฒนาขึ้น แต่เดี๋ยวนี้กลับใช้เพื่อประเมินโรงเรียนเพียงอย่างเดียว ซึ่งผมว่าไม่ใช่ ต้องเปลี่ยนวิธีคิด คราวที่แล้วขนาดว่าโดน COVID-19 มีโรงเรียนที่จัดสอบได้บ้าง จัดสอบไม่ได้บ้าง เขายังบอกเลยว่าให้สอบ o-net ให้ได้ด้วย แล้วถามว่ามันจะได้ค่ามาตรฐานสำหรับการจัดประเมินโรงเรียนได้ยังไงเพราะมันไม่ได้สอบทุกคน แต่คุณก็ใช้ระบบที่มันล้าหลัง เสียเงินไปกว่า 700 ล้านบาทเพื่อจัดสอบ
ฉะนั้นการเพิ่มแรงกดดันเพิ่มการแข่งขันโดยไม่มีประโยชน์ จะทำต่อไปไม่ได้ครับ และการศึกษาไทยควรจะเลยยุคของการศึกษาทั่วถึงเท่าเทียมไปแล้ว มันจะต้องเข้าสู่ยุคของการศึกษาที่ ‘เป็นเลิศ’ เรียนแล้วได้ใช้จริง เรื่องการเรียนฟรีมันเกิดขึ้นอย่างทั่วถึงไปแล้ว ฉะนั้นเรื่องการศึกษาที่ทั่วถึงและมาตรฐานที่เท่าเทียมผมว่าเมืองไทยมีแล้ว โดยเฉพาะในโลกที่เราอยู่ในโลกดิจิทัล แต่ขณะนี้เรากำลังขาดความเป็นเลิศและขาดเอกลักษณ์ของโรงเรียน จบมาแล้วทำงานได้จริงเรายังไม่มี
สาม เรื่องที่เรานั้นอยู่แล้วคือเรื่องของเศรษฐกิจ เราจะนำประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เน้นเรื่องการค้าขายออนไลน์ให้มาก แล้วอะไรที่เป็นจุดแข็งของประเทศ เช่น wellness ธุรกิจเรื่องสุขภาพ เราจะเน้นเรื่องนี้ ผมว่ารัฐบาลอาจจะลืมจุดแข็งของเราไป ทั้งการเป็น medical hub ของเวชศาสตร์เขตร้อน และเรื่องของการท่องเที่ยวด้วย ทั่วโลกมาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทยเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ รัฐบาลควรจะทำตัวเป็นเอเจนซี่ คือ match (จับคู่) ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ อาจจะผ่าตัดกับโรงพยาบาลใหญ่ที่ชำนาญการแล้วมาพักฟื้นกับผู้ประกอบการรายย่อย เช่น รีสอร์ต โฮมสเตย์ ผมคิดว่าการทำจุดแข็งของเราให้แข็งโป๊กเรื่องของการท่องเที่ยวและการเป็น medical hub สำคัญมาก รูปแบบของการเศรษฐกิจมันเปลี่ยน
เวลาจะพูดเรื่องพัฒนาระบบราชการที่ล้าหลัง หนึ่งในหน่วยงานที่ถูกวิจารณ์มาตลอดคือกองทัพ พรรคกล้ามีแนวทางจากพัฒนากองทัพยังไงบ้าง
เอาจริงๆ เขาคงไม่ให้คนจากพรรคกล้าไปดูกระทรวงกลาโหม ถ้าในอนาคตเราไปทำงานการเมืองได้เขาคงให้พรรคกล้าไปทำเรื่องของเศรษฐกิจ หรือไม่ก็เรื่องของการศึกษา แต่คงไม่ใช่เรื่องกลาโหมแน่นอน เพราะฉะนั้นปล่อยให้ผู้ชำนาญการดีกว่า ซึ่งพรรคของเราไม่มีผู้ชำนาญการด้านกลาโหม พูดกันตรงไปตรงมา
เอาเรื่องที่อยากให้สนับสนุนดีกว่า ที่ผมเคยพูดมานานแล้ว ว่ากองทัพมีสถาบันพัฒนาอาวุธเป็นองค์การมหาชน ที่ผมก็อยากให้กองทัพทำให้สถาบันพัฒนอาวุธของคนไทยเองเติบโตขึ้นมา ถ้าทำขึ้นมาได้มันก็มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ที่แน่ๆคือเขาไม่ให้พรรคกล้าไปอยู่กระทรวงกลาโหมอยู่แล้วครับ
ตัวคุณอรรถวิชช์มักจะถูกนำรูปสมัยไปร่วมการชุมนุม กปปส.มาตอกย้ำ ส่วนคุณกรณ์ (จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า) ก็ถูกโจมตีเรื่องที่เคยไปเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เมื่อปี 2562 คิดว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อพรรคกล้าในการเลือกตั้งต่อไปอย่างไรบ้าง
สำหรับผมเองก็ยืนยันว่าไปร่วมชุมนุมกับ กปปส.จริงและขึ้นเวทีเกือบทุกคืนเพื่อให้ความรู้คนว่าโครงการจำนำข้าวมันขี้โกงกันยังไง แล้วก็มีคนติดคุกไปแล้วหลายคน ผมขึ้นเวทีเพื่อจะบอกว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมันไม่ใช่การล้างผิดธรรมดา มันให้ประหนึ่งเหมือนกับว่าไม่เคยทำความผิดมาก่อนเลย แล้วที่ตรวจสอบกันมาทั้งหมดก็จะให้หายไปหมดเลย ผมก็คิดว่าสิ่งที่ผมทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แล้วผมก็มั่นใจได้ว่าถ้าน้องๆ นักศึกษาในยุคนี้ไปอยู่กับพี่ในยุคนั้นเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ผมว่าน้องก็เดินกับพี่นี่แหละ
ฉะนั้น มันมีข้อเท็จจริงบางอย่างในประวัติศาสตร์ที่มันหายไป สาเหตุเพราะอะไรครับ อันนี้ต้องบอกว่าเพราะรัฐบาลที่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ไปดูในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้เลย ท่านพูดแต่ว่ามีการทะเลาะเบาะแว้งกันสองฝ่ายแล้วก็ต้องเข้ามา ท่านไม่ได้พูดถึงสาเหตุที่ทำให้ประชาชนต้องออกมาเดินขบวนว่าเพราะอะไรบ้าง ถ้าไม่มีการโกงจำนำข้าวกันแบบมโหฬารมหาศาล มันก็ไม่ไปถึงวันนั้น ถ้ามันไม่มีการโกงเสร็จปั๊บจะออกกฎหมายมาล้างผิดตัวเองเหมือนไม่เคยทำผิดมาก่อนเลย ผมว่าถ้าน้องๆ อยู่กับพี่ในยุคนั้น น้องก็จะออกมาเดินกับผม หลายคนที่เคยร่วมชุมนุมกับ กปปส. และชัตดาวน์กรุงเทพฯด้วยกัน ก็ยังออกมาร่วมชุมนุมกับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ผมจึงอยากชวนตั้งคำถามกลับว่าเรากำลังสู้กับอะไร เรื่องการเมืองเราต้องสู้กับความไม่ถูกต้องไม่ว่ามันจะมาใน พ.ศ.ไหน
ฉะนั้นหากถามถึงการไปร่วมชุมนุมในขณะนั้น ผมก็ยืนยันว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ตั้งใจ ส่วนเรื่องการยึดอำนาจทำรัฐประหารโดยทหาร ไปย้อนดูหรือถอดเทปคำปราศรัยที่ไหนก็ได้ ผมไม่เคยเชิญชวนทหารให้เข้ามา เพราะผมต้องการชัยชนะที่เกิดโดยประชาชน ผมไม่ต้องการการทำรัฐประหาร ตอนที่ผมลงเลือกตั้งในปี 2562 ผมก็อยู่กับ ปชป. ผมไม่ได้ไปอยู่กับพรรคที่สนับสนุนการทำรัฐประหารใดๆ ทั้งสิ้น มันเป็นความชัดเจน
แล้วสุดท้ายเราก็มาทำพรรคกล้าเอง แล้วเลือกที่จะเดินทางสายนี้เพราะอะไรรู้ไหม ประเทศนี้ถ้าจะอยู่ในวังวนความขัดแย้ง สำหรับผมนะ เลือกด้วยความเกลียดความกลัวต่อไปมันไม่ได้หรอก มันพอแล้ว “รักสงบจบที่ลุง” ก็ไม่ใช่ “จับปากกาฆ่าเผด็จการ” ก็ไม่จริง ถ้ายังอยู่ในบริบทแบบนี้บ้านเมืองมันก็ไม่ไป
แล้วผมก็เคยผ่านทั้งงานสภาทั้งการเดินบนถนนมา พูดได้เลยว่าเลือกเป้าหมายเถอะ อยากเห็นประเทศเจริญรุ่งเรือง มีเศรษฐกิจที่ดี สู้กับระบบราชการที่ล้าหลัง รัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารก็มักจะผูกขาดโดยธรรมชาติ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกล้าชนไหม กล้าถามเรื่องปฏิรูปตำรวจทหารไหม ก็ไม่กล้าหรอกครับ สำคัญที่สุดคือไม่แบ่งแยกคน ไม่เช่นนั้นเราก็จะยังอยู่ในวงจรการเมืองแบบเดิมๆ แยกเป็น 2 ฝ่าย-ทะเลาะกัน-รัฐประหาร-เลือกตั้ง (พูดซ้ำ 3 รอบ) ไอ้วังวนแบบนี้ ผมไม่เอาด้วยแล้วครับ
เห็นเคยพูดว่า พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ไม่เหมาะกับการเป็นนายกฯ ต่อไปแล้ว อยากให้อธิบายขยายความหน่อย
ผมพูดอย่างนี้ว่า ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ก็มีคุณูปาการ คือคนเราก็มีคุณูปการในการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงเวลาหนึ่ง อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าท่านทำให้บ้านเมืองสงบจริง แล้วท่านก็บริหารราชการแผ่นดินมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ พัฒนาขึ้นมาเยอะ แต่ในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้มันทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตามมาด้วย แล้วเศรษฐกิจยุคนี้การที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางมาได้ มันต้องเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ และต้องสู้กับระบบราชการล้าหลังให้ได้ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าไม่ใช่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ถนัด จะให้ท่านมาพูดเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลหรือการสู้กับระบบราชการที่ล้าหลัง ผมว่ามันไม่ใช่ท่าน แต่ถ้าพูดเรื่องของความมั่นคงหรือการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ผมว่า พล.อ.ประยุทธ์พอจะพูดได้
มันเหมือนกับประเทศผ่านห้วงเวลาหนึ่งไปแล้ว คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็มีคุณูปการในแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ในอนาคตโลกมันเปลี่ยน ก็ต้องเป็นนายกฯ ที่มีความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะสู้กับระบบราชการที่มันล้าหลังอยู่ในขณะนี้
เรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีเสียงเรียกร้องให้แก้ไข แต่คุณอรรถวิชช์เสนอให้ปรับวิธีใช้ดีกว่า ช่วยขยายความหน่อย
ความเป็นปฏิบัตินิยมของพรรคกล้าคือการหาทางออกทุกครั้งที่มีการถกเถียง เราต้องยอมรับว่าขณะนี้เรื่องของการหมิ่นสถาบันมันเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และบรรยากาศมันเปลี่ยนแปลงไปมากสำหรับเรื่องนี้ คุณไปดูในโรงหนังได้เลย คนยืนหรือไม่ยืนมีกันอย่างละครึ่ง มันมีความคิดอย่างนี้อยู่ผมเลยกลับมานั่งคิดว่าจะทำยังไงให้มีวิธีที่สามารถปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ในรูปแบบใหม่ๆ บ้าง ทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือคนที่มีเจตนาดีในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ไม่ต้องโดนคดี 112 เพราะขณะนี้แม้แต่สื่อมวลชนเองก็มีความเสี่ยง ผมเลยคิดว่ามันมีแนวฎีกาคดี 112 อยู่เยอะแยะ ทำไมไม่รวบรวมแนวฎีกา แล้วตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมานำแนวฎีกาพรุ่งนี้ไปให้ความเห็นกับตำรวจ ซึ่งการบริหารงานยังอยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทำไมรู้ไหม เพราะแนวฎีกาคดี 112 มันไม่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ถึงขนาดไม่มีการตีพิมพ์ออกมาด้วยซ้ำไป เพราะไม่เช่นนั้นมันจะเป็นการพิมพ์ซ้ำทำซ้ำ พวกเราก็เลยจะไม่ค่อยได้เห็นแนวฎีกาพวกนี้ จะเห็นเฉพาะในนักวิชาการบางกลุ่มเท่านั้น
สิ่งที่ผมเสนอไปก็คือการเอาแนวฎีกาคดี 112 ในอดีตเป็นตัวตั้ง แล้วก็มีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำกับตำรวจ ตำรวจจะทำหรือไม่ทำก็ได้ไม่ได้ไปแทรกแซงเขา อันนี้ผมเห็นว่าหลายคนจะไม่เห็นสิ่งที่ผมเคยเสนอไปแล้วท่านนายกฯ ลงนามเห็นชอบ ที่ยังอยู่ภายใต้ สตช. ซึ่งผมคิดว่าเป็นทางออกนะ หลายคนอาจจะคิดว่าการตั้งกรรมการกลั่นกรองจะทำให้คดี 112 มันช้าหรือไม่ ซึ่งต้องบอกว่าไม่ใช่นะครับ เราต้องปกป้องคนที่แนวคิดปกป้องสถาบัน เช่นกรณีของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เคยโดนคดี 112 เพราะเอาคำพิพากษาในคดีดา ตอร์ปิโด (ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล) มาพูดต่อ ทั้งที่เราก็รู้อยู่ว่าคนส่วนที่มีเจตนาเพื่อจะปกป้องอยู่แล้ว แต่กว่าจะชนะคดีก็ต้องรอถึงชั้นศาลฎีกา ต้องใช้เวลาสู้กี่ปี แต่ถ้ามันเคยมีแนวฎีกาแบบนี้ ก็ให้เขารู้ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนเลย ไม่ต้องให้คดีไปถึงศาล แต่แน่นอนว่าคนไหนที่ผิดก็โดนไปสิครับเต็มๆ รวมไปถึงคนที่คดีในชั้นศาลแล้ว เราเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ หรือถ้าศาลตัดสินไปแล้วก็ไม่ได้เป็นเหตุของการลดโทษใดๆ ทั้งสิ้น คือถ้าเราเข้าใจกันแบบลึกซึ้ง ก็จะรู้ว่าทำไว้ดีกว่า
หรืออย่างการทำงานข่าว ถ้าไปดูในห้องทำงานผมจะเห็นว่ามีรูปในหลวง ร.9 และ ร.10 เต็มไปหมดเลย แต่เวลาจะไปสัมภาษณ์กันในห้องทำงาน สื่อที่มาเขาจะบอกว่านั่งคุยกันที่ห้องนี้ไม่ได้ พอเขาจะไม่ยอมให้มีรูปในหลวงอยู่ข้างหลังเลย คำถามคือทำไมจะมีไม่ได้ผมไม่เข้าใจ หรือแม้กระทั่งสารคดีต่างๆที่สำคัญ รถแห่ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ต้องออกมาจากช่องทางที่เป็นทางการ เช่น จากสำนักพระราชวัง ทำไมเราทำฟุตเทจของตัวเองไม่ได้ล่ะ ยกตัวอย่างถ้าผมเป็นยูทูปเบอร์ ผมก็จะไปเล่าว่าสมัยก่อนสนามม้านางเลิ้งเป็นยังไง มันเป็นที่แข็งมาก แล้วก็มีมาเฟียเข้ามาคุม แต่วันนี้มันกำลังจะกลายเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ แล้วผมไปถ่ายก็อยากจะเอามาใช้แล้วใส่กราฟฟิกต่างๆ ทำไมเดี๋ยวนี้ไม่มีคนทำ ทำไมต้องรอให้ออกมาจากสำนักพระราชวังเคียง ทำไมมันออกมาจากคนทั่วไปไม่ได้ล่ะ เขาไม่ค่อยกล้าทำเพราะเขากลัวไง เดี๋ยวมันจะใช่หรือเปล่า รายงานถูกไหม
โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ฉะนั้นการตั้งกรรมการขึ้นมากลั่นกรองคดี 112 ว่าใครมีเจตนาที่ดีบ้างในการปกป้องสถาบันจึงมีความจำเป็น หากถามว่าจุดยืนของผมต่อเรื่องนี้เป็นยังไง ก็อย่างที่บอกว่าสไตล์ของพรรคกล้าคือเป็นปฏิบัตินิยม เราต้องทันยุคสมัย ที่สำคัญคือเรารักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ฉะนั้นแนวทางในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จึงแตกต่างกัน
สุดท้ายแล้ว พรรคที่ชื่อ ‘กล้า’ มีอะไรที่กล้ามากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ
เรากล้านำเสนอแนวทางใหม่ที่ไม่เป็นการแบ่งแยกซ้ายหรือขวา เรากล้านำเสนอการเมืองสร้างสรรค์การเมืองคุณภาพ และที่สงสัยว่าเรากล้าไหม ศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ทุกสนาม เราลงชนกับพรรคการเมืองใหญ่ทุกครั้ง ไม่กลัว ผมเป็นเลขาธิการพรรคผมยังลงเลือกตั้ง ส.ส.เขตเอง ทางที่ตามปกติแล้วเขาจะให้ลง ส.ส.บัญชีรายชื่อ
นี่คือการเมืองใหม่ที่กำลังจะเปลี่ยน แล้ววันที่ 30 ม.ค.2565 ก็จะเป็นตัวชี้วัดว่าพรรคกล้าจะผ่านหรือเปล่า ถ้าไม่ผ่านก็ต้องยอมรับว่าแนวทางแบบนี้มันอาจจะเปลี่ยนการเมืองไม่ได้ ซึ่งพรรคใหม่ๆ ที่กำลังจะตั้งขึ้นมาและจะชูเรื่องเศรษฐกิจก็อาจจะต้องดูไว้ด้วย ว่าจะต้องเป็นการเมืองแบบแบ่งข้างเหมือนเดิมหรือเปล่า เราจะต้องติดอยู่ในวังวนแบบเดิมๆ ไหม มันจึงเป็นเดิมพัน เพราะการตั้งพรรคการเมืองนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งเรื่องการหาเงินทุน การถูกก่นด่าจากคนที่ไม่เข้าใจ การถูกเตะตัดขาอยู่เรื่อย หรือการโดนบั่นทอนกำลังใจ มันเป็นได้โดยตลอด แต่มันอยู่ที่ใจ กล้าไหมที่จะทำการเมืองแบบนี้ ผมกล้าครับ
ถ้าจะ take side ฝั่งซ้ายหรือขวามันก็ง่ายเนอะ แต่มันไม่นำไปสู่การเมืองใหม่ เรามาลองดูกันว่าการเมืองแบบใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่