เราทักไปขอสัมภาษณ์เธอ ในวันที่ถูกตำรวจจับขณะเดินทางไปพักผ่อนที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
หลังจากนั่งคุยกันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (ระบุสถานที่ได้ เพราะมีสัญลักษณ์ในกำไล EM ซึ่งเธอสวมตรงข้อเท้า ที่ระบุว่ามีคนกำลังดูจุดที่เธออยู่ตลอดเวลา) ไม่กี่วันถัดมา เธอก็ถูกตำรวจบุกจับอีกครั้งถึงที่พัก
‘พฤติกรรมร้ายแรง’ ที่เจ้าหน้าที่รัฐทำราวการจับกุมตัวอาชญากรใน ‘คดีอุกฉกรรจ์’
เกิดจากการทำโพลด้วยสติ๊กเกอร์ และแชร์โพสต์บนเฟซบุ๊ก
The MATTER นัด ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ สมาชิกกลุ่มทะลุวัง พูดคุยถึงเหตุผลที่ออกมาทำกิจกรรมการเมือง และเส้นทางชีวิตในอนาคต
อะไรในสังคมไทย ที่ทำให้การตั้งคำถามกลายเป็นเรื่องต้องห้าม และต้องแลกมาด้วยคดีร้ายแรงหลายคดี
อยากให้แนะนำตัวเองหน่อย
สวัสดีค่ะ ชื่อ ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ อยู่ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ตอนนี้อยู่กลุ่มทะลุวัง
ไปก่อตั้งกลุ่มนี้ได้ยังไง
ตอนแรกก็เป็นนักกิจกรรมอิสระ ไม่ได้สังกัดไหน กิจกรรมแรกๆ ก็คือการทำโพล เราทำโพลเกี่ยวกับสถาบันมาเรื่อยๆ ก็คิดได้ว่าอยากจะตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อเน้นประเด็นนี้โดยเฉพาะ ชื่อกลุ่มก็ชัดเจนว่าเราต้องการพุ่งเป้าไปที่ประเด็นไหน
หลายปีหลังมีคนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ มากมาย ทำไมเราจับประเด็นนี้
รู้สึกว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นและรากของปัญหาที่แท้จริงที่ไปกระทบส่วนอื่นๆ คือตอนแรกที่เราผลักดันเรื่องเพศมาก่อน แต่ยังเป็นความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย ยังไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวจริงๆ จังๆ เพราะที่บ้านไม่ให้ออกมา แต่หลังจากเราออกมาเคลื่อนไหวแล้ว แรกๆ ก็ไปกับ Car MOB ซึ่งเรื่องอื่นเราก็ยังเคลื่อนไหวอยู่บ้าง แต่เรื่องหลักที่เราชูคือสถาบัน เพราะคิดว่าถ้าแก้ปัญหาตรงนี้ได้ จุดอื่นๆ ก็จะแก้ตามไปด้วยได้
ตอนที่เคลื่อนไหวเรื่องเพศ เราชูประเด็นไหน
เป็นเฟมินิสต์ ต่อต้านปิตาธิปไตย คือประเด็นหลักๆ แต่ตอนนั้นก็อยู่แค่ในโซเชียลฯ
ที่บอกว่าพ่อแม่ห้ามออกมาทำกิจกรรม เพราะอะไร
ครอบครัวมีความคิดเห็นทางด้านการเมืองไม่ตรงกัน เขาก็เลยไม่สนับสนุนให้ออกมา แต่บังเอิญเราซิ่วจากมหาวิทยาลัยอีกที่หนึ่งมาเข้าที่ มธ. ตอนแรกเราเรียนวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สายบริหารธุรกิจ แต่เรารู้สึกว่าสนใจสังคมการเมืองอยู่แล้ว ก็เลยมาอยู่ที่ มธ. จำได้เลยว่าวันแรกที่เคลื่อนไหวคือ มธ.เพิ่งเปิดเทอม ก็ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเลย แล้วก็ตัดขาดจากที่บ้าน
คือครอบครัวห้าม เพราะปัจจัยเรื่องทัศนคติทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องความปลอดภัย
เขาอยากให้หยุด ถ้าจะเคลื่อนไหวเรื่องการศึกษา เรื่องเพศ เรื่องอะไรก็ได้ แต่ไม่อยากให้แตะต้องเรื่องสถาบัน แต่เรามองว่าเป็น “สิ่งที่ควรจะพูดได้” ก็ยืนยันจะทำต่อ ไม่หยุด
แสดงว่าตอนที่เคลื่อนไหวประเด็นอื่นๆ เขาก็ไม่ได้ห้าม
ตอนนั้นยังทำอยู่ในโซเชียลฯ ด้วย ไม่ได้ออกมาข้างนอก แต่พอออกมา ก็เหมือนว่าเขาค่อยๆ ลดกำแพงลง แต่ก็เตือนว่าอย่าไปแตะต้องเรื่องสถาบันนะ เพราะเขารับรู้ว่ามันมีคดี 112 รู้ว่าเราจะโดนอะไรบ้าง ถ้าทำอะไรต่อไป แล้วก็มีตำรวจไปขู่ที่บ้าน ไปคุยกับญาติ เขากลัวมากเรื่องนี้ ก็บอกว่า ขอแค่เรื่องนี้ได้ไหม แต่เราก็ไม่ยอม
เคยจับเข่าคุยกับที่บ้านไหมว่า ทำไมเราต้องออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้
พยายามที่จะพูด เคยส่งลิงก์ ส่งข่าวต่างๆ ให้อ่านแล้ว เรียกว่าพยายามเบิกเนตร แต่เขาก็ยังอ้างนู่นนี่นั่น คือไม่เปิดใจที่จะฟังด้วย และยังรู้สึกว่าเราไม่ควรทำอยู่ดี ก็เลย โอเค ขอให้เขาเคารพพื้นที่เรา ถ้าจะคิดต่างก็ไม่เป็นไร แต่อย่ามาห้าม เราก็ยังเลือกที่จะทำต่อ
ตอนนี้ก็เลยอยู่ห่างๆ กัน
ด้วยความที่อยู่หอที่ มธ.รังสิตอยู่แล้วไม่ได้อยู่บ้าน และพอมาทำกิจกรรมกับกลุ่มทะลุวัง ก็เลยอยู่กับกลุ่มนี้แทน
ก่อนจะออกมาเคลื่อนไหว เชื่อว่าใบปอกับเพื่อนๆ น่าจะถูกเตือนว่ามันเสี่ยงนะ เราประเมินความเสี่ยงในการขับเคลื่อนประเด็นนี้ไว้ระดับไหน
จากที่เห็นและตามข่าวพี่ๆ หลายคนที่โดนคดี มีการคุกคาม ก็เห็นและรับรู้ว่ามันจะมีแบบนี้เกิดขึ้น เราก็ศึกษาด้วยว่าถ้าทำถึงตรงขอบเขตตรงนี้ เราจะโดนคดีอะไรบ้าง
อย่างโพลเราก็ไม่คิดว่าจะโดน 112 ด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ได้เข้าข่าย ไม่ได้ผิดตามที่เขาตีความตามกฎหมายเลย แต่สุดท้ายเราก็ยังได้คดีจากการทำโพลอยู่ดี
หรือล่าสุดอย่างที่โดนบุกจับเลย* (วันที่ 22 เม.ย.2565 ใบปอกับเพื่อนๆ กลุ่มทะลุวัง ถูกตำรวจจับระหว่างขับรถไปพักผ่อนที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าทำผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ) ก็ไม่คิดว่าเขาจะออกหมายจับเลย เพราะปกติมันควรจะมีหมายเรียกมาก่อน 2 ครั้ง บางอย่างเราประเมินไว้แล้ว แต่มันก็ยังผิดคาดอยู่ดี ไม่คิดว่ามันจะปุบปับขนาดนั้น
*การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2565 ซึ่งใบปอกับเพื่อนจะถูกจับอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่บุกไปถึงที่พัก ในวันที่ 28 เม.ย.2565
คือเราศึกษามาแล้วประมาณนึง แต่สุดท้ายก็ยังโดนอยู่ดี
ใช่ค่ะ
รู้สึกว่าเขาตีความกว้างกว่าเดิมมาอีก จากที่มันกว้างอยู่แล้ว ก่อนที่จะทำโพลขบวนเสด็จ เราก็เคยทำโพลเกี่ยวกับการยกเลิก 112 กับโพลรับปริญญาที่ มธ.รังสิต เราก็ยังไม่โดนคดีอะไรเลย แค่มีตำรวจมาตามสอดส่อง แต่ที่โดนหนักๆ คือโพลขบวนเสด็จ เขาเขียนในสำนวนว่าเราเป็นแกนนำ เราจัดม็อบ เราสร้างความวุ่นวาย ทั้งที่จริงเราแค่ทำโพลสำรวจความคิดเห็น เขาพยายามเขียนสำนวนให้มันเข้า แต่พออ่านแล้วมันก็ยังไม่ได้เข้าอยู่ดี เพราะมันเป็นการตั้งคำถาม
พอโดนคดี มีการใช้กฎหมายกว้างขึ้น เราต้องกลับมาประเมินความเคลื่อนไหวใหม่ไหม
มันก็เป็นข้อห้ามจากการที่โดนคดีวันนั้น ห้ามประพฤติผิดซ้ำ ห้ามไม่ให้โพสต์หรือแชร์ข้อความอะไรที่จะเสื่อมเสียกับสถาบัน แต่เราก็คิดว่ามันเป็น free speech ไม่ควรจะมีใครมาห้าม ก็คิดว่ายังพูดได้ แต่เราก็ปรึกษากับทนายความเหมือนกันว่า เราจะเคลื่อนไหวยังไงไม่ให้ผิดเงื่อนไข เขาก็แนะนำว่าให้พยายามทำเป็นแนววิชาการ หลังจากเราโดนติด EM ถ้าไปดูในเพจทะลุวังก็จะเห็นว่าเป็นการให้ข้อมูล แต่ก็โดนยื่นขอถอนประกันอยู่
เคยคิดจะเลิกทำโพลไหม
ก็อยากให้ไม่ได้มีแค่เราที่ทำ แต่มีคนอื่นๆ เอาไปทำ มันไม่ควรจำกัดว่ามีแค่เราที่ทำ แต่ประชาชนคนไหนก็ทำได้ ถ้าคุณอยากสำรวจความคิดเห็น มีกระดาษแผ่นหนึ่งก็ทำได้แล้ว และเรารู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้จริงๆ เป็นเสียงของเขาจริงๆ ใครเห็นด้วยก็เข้ามาแสดงความเห็น เหมือนตอนเลือกตั้ง ที่คุณมีสิทธิได้ลงคะแนนว่าจะเลือกใคร
ถึงตอนนี้ เราโดนไปกี่คดีแล้วจากการทำโพล
ถ้าจากการทำโพล น่าจะเรื่องโพลขบวนเสด็จ ส่วนคดี 112 กับ พรบ.คอมฯ ที่โดนจับเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2565 โดนจากการแชร์โพสต์ (ล่าสุดเธอกับเพื่อนกลุ่มทะลุวัง ยังโดนคดี 112 จากการทำโพลเมื่อวันที่ 18 เม.ย.2565)
แปลกใจไหมว่า แค่เอากระดาษไปถามคน ชวนให้คนเอาสติ๊กเกอร์มาติด กลับโดนคดีร้ายแรงแบบนี้
50:50 ตรงที่เขาพยายามอ้างว่า โพลเรามันไม่เป็นเชิงวิชาการ เราลองเทียบสำนวนตอนแจ้งข้อหา 112 แรกๆ เขาเขียนแค่เป็นแกนนำม็อบ แต่ตอนที่ยื่นถอนประกัน เริ่มอ้างว่าเป็นไปอย่างไม่สุจริต การทำโพลไม่ใช่วิชาการ
ก่อนหน้านั้นมี Clubhouse และเชิง ผอ.โพลแห่งหนึ่งมาด้วย คิดว่าตำรวจน่าจะฟังวันนั้นด้วย เพราะ ผอ.โพลที่เชิญมาพูดว่า ถ้าเป็นเขาจะไม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบัน แล้วก็พยายามอ้างเรื่องเชิงวิชาการ เราก็จะเห็นเลยว่าสำนวนหลังจากนั้นจะอ้างเรื่องไม่เป็นไปในเชิงวิชาการ เป็นไปอย่างไม่สุจริต ชี้นำ และทำให้สถาบันเสื่อมเสีย
คิดว่าทำไมการ ‘ตั้งคำถาม’ ถึงได้รับผลสะท้อนกลับมาแบบนี้
เพราะมันเป็นการตั้งคำถามที่ค่อนข้างรุนแรง คำถามมันตรงๆ เลย เราไม่ได้อ้อม และมันอาจเป็นเรื่องที่ใหม่ด้วย เพราะเวลาพูดถึงการยกเลิกมาตรา 112 เราไม่ได้ตีไปถึงคนที่ได้รับประโยชน์โดยตรง
เป้าหมายในการตั้งคำถามผ่านโพลเหล่านี้คืออะไร
เราอยากจะแสดงภาพว่า นี่คือเสียงของประชาชนจริงๆ ที่เข้ามาแสดงความเห็นว่า เขาต้องการอะไร เขาเห็นด้วยหรือไม่
แต่มันก็ไม่ใช่แค่ตั้งคำถามอย่างเดียว เพราะด้านหนึ่งเราก็เอาชุดข้อมูลไปเผยแพร่ผ่านเพจของกลุ่มทะลุวังด้วย เช่น โพลยกบ้าน ก็มีเรื่องของการเวนคืน การใช้งบประมาณต่างๆ ดังนั้นนอกจากการตั้งคำถาม ก็จะมีข้อมูลให้คุณได้อ่านได้พิจารณาด้วย
สิ่งที่เราทำอยู่ คิดว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ระดับไหน
มันเป็นกิจกรรมที่ทำให้ได้เห็นเสียงของประชาชนได้เยอะว่า แต่ละคำถามมีคนมาร่วมแสดงความเห็นมากขนาดไหน ตอนแรกก็คิดกันว่าอยากจะส่งโพลไปให้เขา แต่ล่าสุดก็ถูกยึดโพลไปหมดแล้ว โกรธมาก โมโหมาก แต่มันก็มีภาพ มีหลักฐานในโซเชียลฯ อยู่ว่า มันเคยเกิดขึ้น และมีคนแสดงความคิดเห็นยังไง ตรงนี้มีคนจะเอาไปต่อยอดได้เยอะ ไม่ใช่แค่เรื่องประเด็นสถาบัน แต่รวมถึงประเด็นอื่นๆ ด้วย ที่จะสามารถตั้งคำถามมาให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความเห็น
ใบปอเขียนไว้ในสเตตัสตอนที่ถูกยึดโพลว่า “สังคมไทยไม่ชอบให้คนตั้งคำถาม” คิดว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น
มันมาจากครอบครัวเองที่ถูกกดมาจากสังคมอีกที เราคิดออกเลยว่าพ่อแม่เป็นแบบนี้เพราะอะไร มันไม่ใช่ความคิดของเขาอย่างเดียว แต่เป็นเพราะสังคมที่หล่อหลอมให้เขามีชุดความคิดแบบนี้ มันเลยทำให้ค่านิยมเก่าๆ ยังติดอยู่กับคนหลายช่วงอายุ หลายครั้งจะถูกสอนให้เชื่อฟัง พ่อแม่ก็จะบอกว่าเราดื้อ ชอบเถียง ก็กลายเป็นว่า เราแค่อยากพูด อยากแสดงความเห็น แต่เขาไม่รับฟัง ก็โดนกดด้วยความเป็นเด็ก เขาอาบน้ำร้อนมาก่อน แล้วเขาจะรักชื่นชมคนที่เชื่อฟังว่า เด็กคนนี้ไม่ดื้อเลย
มันไม่ใช่แค่เรื่องสังคมโดยรวม กระทั่งในองค์กรต่างๆ คนก็มักจะชอบคนที่เชื่อฟัง ไม่ได้ค้านหรือเถียงออกมา มันกลายเป็นว่า สังคมไทยให้คนพวกนี้ (ที่ชอบตั้งคำถาม) เป็นคนก้าวร้าว เป็นเด็กมีปัญหา เป็นคนไม่รักดี ถ้าเป็นสมัยก่อนก็คงจะตีตรา ล่าแม่มด แล้วกีดกันคนแบบนี้ออกไปจากสังคม แต่ตอนนี้มันก็เปลี่ยนไปเยอะแล้ว คนก็เริ่มตาสว่างและคิดได้ เขามีความคิดเป็นของตัวเองแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้มีคนมาชักจูง หรือคอยชี้นำอะไรแล้ว
สังคมไทยพยายามกดให้คนอื่นอยู่ต่ำกว่าด้วย เหมือนที่เขาพูดกันว่า คนไทยชอบเป็นทาส พยายามด้อยค่าตัวเอง เราอยากให้มั่นใจในตัวเองว่า เราเองก็มีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องไปตามใคร
ฟังจากที่เล่า เหมือนสังคมเราโดนกดมาเป็นชั้นๆ
ใช่ มันเริ่มตั้งแต่ระดับเล็กไปจนถึงระดับที่ใหญ่ขึ้น
มีอย่างหนึ่งที่สนใจคือ เราเองก็อยู่ภายใต้บรรยากาศแบบนี้ อะไรทำให้เราหลุดออกมา หรือคิดแตกต่างจากคนอื่นๆ
เมื่อก่อนเคยไปม็อบ กปปส. เพราะครอบครัวพาไป แล้วมันจะมีช่วงที่เราอยู่ ม.ต้น สุเทพ (เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯ กลุ่ม กปปส.) ออกไปบวชและบอกว่าจะไม่กลับมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก แต่สุดท้ายเขาก็กลับมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เราก็เริ่มเอ๊ะแล้ว คือก่อน ร.9 จะเสีย มันเป็นช่วงที่คนยังไม่ตาสว่าง กระแสม็อบยังไม่มีตอนนั้น เราก็เริ่มตามข่าวในโซเชียลฯ เริ่มคิดแล้วว่ามันไม่ใช่ ก็เริ่มค้นคว้าหาอะไรมาตลอด
และการที่เราโดนกดแล้วเราไม่ยอมด้วย เห็นหลายอย่างที่มันไม่ใช่ อยากจะหลุดออกไปจากกรอบที่พ่อแม่ตีไว้ โดนกดเยอะมาก เพราะที่บ้านเคร่ง เป็นลูกสาวคนเดียวด้วย ก็ถูกห้ามโน่นนี่นั่น แล้วเรารู้สึกไม่ชอบ อยากใช้ชีวิตแบบอิสระ หลังจากนั้นมันก็เริ่มพยายามที่จะออกนอกกรอบ จนมาได้รู้เรื่องการเมือง ก็คิดว่าเรามีสิทธิมากกว่าที่เป็น อะไรที่จะทำได้ ก็ทำ เลยสลัดออกมาเลย
ยกอย่างตัวอย่างหน่อยว่า การเป็นลูกสาวคนเดียว พ่อแม่ทำอะไรให้เรารู้สึกอึดอัด
อย่างเวลาเราไปม็อบ เขาก็ไม่อยากให้ไป หรือไม่อยากให้ไปไหนมาไหนตอนกลางคืน หรือวัฒนธรรม การล้างจาน ซักผ้า ฯลฯ ทำไมต้องให้ผู้หญิงทำ ทั้งที่จริงๆ ผู้ชายก็ทำได้ หรือมีเพื่อนหลายคนที่พ่อแม่ปล่อย แต่พ่อแม่เรากลับกดไว้อยู่ ก็เกิดการเปรียบเทียบ
ข้ามมาเรื่องสถาบัน อะไรที่ทำให้สนใจเรื่องนี้ถึงขนาดออกมาเคลื่อนไหว
ตอนแรกชอบอ่านเรื่องการตายของ ร.8 เราเรียนประวัติศาสตร์ก็รู้ว่า ร.8 ครองราชย์อยู่ไม่นาน ก็มีคำถาม ที่บ้านก็หัวรุนแรงทางการเมือง แต่จะเป็นฝั่งของเขา เราก็รับฟังมา และไปตามในโซเชียลฯ ในทวิตเตอร์ ก็จะมีช่วงแฮชแท็กบูมๆ จะพูดกันเรื่องราชวงศ์เยอะมาก เราก็ตามไปอ่าน ไปฟัง มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และเห็นว่าเชื่อมโยงกับทุกอย่างเลย คิดว่าต้องตีเรื่องนี้ แต่ทำไมไม่เห็นมีใครออกมาพูดอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพราะเขากลัวกัน ทำไมเราถึงยอมให้มีคนมากดเรา
ก็เลยหยิบเรื่องนี้มาเคลื่อนไหว
ใช่ ด้วยความที่ตัวเองชอบอิสระ ก็เลยไม่เข้าใจว่าทำไมคนไม่เท่ากัน
ไม่รวมถึงสารพัดข่าวในตอนนี้อีก ที่เขาพยายามปิดปาก ไม่ให้มีใครพูด
มีอะไรที่เป็น ‘จุดเปลี่ยน’ จนต้องออกมาแสดงตัวด้วยการทำโพล หรือมันเกิดจากการสะสมมาเรื่อยๆ
ที่เราใช้วิธีทำโพล เพราะเห็นว่ามันมีกิจกรรมหลายแบบเกิดขึ้นแล้ว ก็เลยพยายามหากิจกรรมใหม่ๆ ที่คนมีส่วนร่วมด้วย
ที่ออกมา เพราะรู้สึกว่าเราทำอะไรได้มากกว่าอยู่เฉยๆ แค่ในโซเชียลฯ มันไม่พอแล้ว ต้องมาทำอะไรบางอย่าง และคิดว่าเราทำได้ มันมั่นหน้ามากๆ ก็เลยเริ่มออกมา (ยิ้ม) และพอดีรู้จักกับคนที่อยู่ในวงการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว และเริ่มไปม็อบ ไปนู่นไปนี่ ไปทำกิจกรรมมากขึ้น
มันค่อยๆ สะสม จนถึงตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่ามีอะไรต้องเรียนรู้ ต้องไปทีละสเต๊ป ไม่ใช่แค่ทำเรื่องนี้ตรงๆ แล้วหยุด ยังรู้สึกว่าถ้าเราเรียนรู้ต่อได้ ก็อาจจะคิดหาวิธีผลักประเด็นใหม่ออกมา
เคยมีคำถามไหมว่า ทำไมคนอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่ทำงานการเมืองในระบบ ถึงไม่ออกมาพูดประเด็นนี้
อาจจะเรื่องการโดนคดีด้วย เราเข้าใจหลายคนว่าอยากจะออกมาเคลื่อนไหวแบบเรา แต่เขาไม่กล้าโดนคดี บางคนมี passion เยอะมาก แต่เขาออกมาไม่ได้ ยังมีหลายอย่างที่เขาติด ยังเป็นห่วงอยู่ มีหลายอย่างที่เขารู้สึกว่าไม่พร้อมที่จะเสีย ไม่พร้อมที่จะแลก ถ้ามาทำตรงนี้อาจจะมีผลเสียมากกว่าผลดี อาจจะเรื่องกับครอบครัว กำลังเงิน เพราะเคลื่อนไหวแต่ละครั้งต้องมีค่าใช้จ่าย
แต่ละคนมันมีปัจจัยต่างกัน เราก็พยายามเข้าใจเขา ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะโดนคดี 112 หรือแม้แต่คดีอื่นๆ เขาก็มีเหตุผลที่ไม่สามารถโดนได้
ส่วนคนทำงานการเมือง วิธีต่อสู้อาจจะคนละแบบกับเราด้วย
ก่อนจะออกมาทำกลุ่มทะลุวัง ความฝันของเราคืออะไร
ที่บอกว่าซิ่วมารอบนึง ตอนนั้นก็หาตัวเองนานมาก ตอน ม.5 เทอมสอง จนถึง ม.6 ก็คิดว่าอย่างเข้าคณะบริหาร เรื่องการเมืองก็คุยกับเพื่อนมาตั้งแต่มัธยมแล้ว แต่ไม่ได้ศึกษาลึก เพราะอย่างที่รู้ว่า เรื่องราชวงศ์มันมีเรื่องก็อสซิป แต่ยังไม่ได้เท่ากับตอนม็อบเดือดๆ ก็เข้าคณะบริหารไป คือเรียนแบบอินเตอร์ด้วย เรื่องโลจิสติกส์ ก็รู้สึกชอบ ไปได้ เรียนได้ แต่มันก็ต้องใช้ความคิดเยอะ ยังไม่ใช่ตัวเอง 100% ก็คิดว่าอยากจะหาอะไรที่สุดได้มากกว่านี้ พอจะยื่น มธ. ตอนแรกก็อยากเข้าด้านสังคมสงเคราะห์ จนได้มาเข้าวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มันเป็น active learning แล้วมีเวลาว่างเยอะ เป็นคณะที่เน้นการทำกิจกรรม ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นผลดี มีเวลาให้เราได้ทำกิจกรรมการเมือง (ยิ้ม)
ยังไม่ได้คิดไกลถึงขนาดว่า หลังเรียนจบจะทำอาชีพอะไร
ก็อยากทำอะไรที่ได้ผลักดันเคลื่อนไหวสังคมต่อไป แต่ก็ยังคิดว่า อยากเรียนเกี่ยวกับบริหารต่อ หรือจิตวิทยา
พอเรามีคดี ต้องติดกำไล EM มันจะทำให้สิ่งที่เราคิดไว้ยากขึ้นไหม จะทำให้การใช้ชีวิตเราอิสระน้อยลงไหม
เรื่องปัญหาสายตาคน เราค่อนข้างภูมิใจในตัวเองว่า เราสู้ ไม่ได้อายในการติดกำไล EM แต่ก็มีปัญหาคือต้องมาคอยชาร์จแบต เวลาเรากดก็จะรู้ว่าเขาตามอยู่หรือเปล่า (โชว์กำไล EM ที่ข้อเท้าให้ดู) เพราะมันจะมี 2 จุด มันจะมี GPS กับลิงก์ เราก็ชอบกดเพื่อดูว่าเขาตามอยู่หรือเปล่า เพราะจุด GPS เป็นสีเขียวก็แปลว่า เขากำลังดูอยู่ว่าเราอยู่ที่ไหน เขาระบุตำแหน่งเราอยู่ เขากด manual ด้วย ไม่ได้สุ่มกด มันก็จะมีความรู้สึกว่า กำลังโดนละเมิดสิทธิส่วนบุคคลไหม
คิดว่าเป็นปัญหายิบย่อยในการใช้ชีวิตมากกว่า บางคนอาจจะมองว่าติดอะไร แต่เราไม่คิดว่ามันเป็นปัญหาตรงจุดนั้น โอเค อาจมีบางคนเหยียด แต่เราก็ไม่ได้คิดว่า เขามองด้วยความเกลียดชังอะไร ตราบใดที่ไม่ได้มาทำร้ายหรือตะโกนด่า
เขาก็มีสิทธิคิดต่างจากเรา
ใช่ เขามีสิทธิคิด มีสิทธิจะทำในพื้นที่ของเขา ที่ไม่ได้มากระทบเรา
กลัวผลกระทบเรื่องอนาคตหน้าที่การงานหรือเปล่า จากสังคมที่เป็นอยู่ตอนนี้
คิดว่าในอนาคตมันจะเปลี่ยนไป มั่นใจว่ามันจะเปลี่ยนไป และในอนาคต เรื่องการทำงานต่างๆ เชื่อว่า เราก็คงจะเคลื่อนไหวผลักประเด็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของสังคมอยู่ดี เพราะหลังจากซิ่วมา ได้อยู่คณะนี้ ได้มาทำตรงนี้ด้วย ก็รู้สึกว่า นี่คือที่ของเรา
เมื่อก่อนจะอยู่ในสังคมที่เขาไม่ค่อยสนใจประเด็นทางการเมือง แต่พอมาอยู่ตรงนี้ รู้สึกว่าไม่ได้พูดปัญหา แชร์สิ่งที่มันเกิดขึ้น แล้วเข้าใจสิ่งนั้นจริงๆ เหมือนพูดภาษาเดียวกัน เขาเข้าใจสิ่งที่เราเจอ จะได้ผลักสิ่งต้องการต่อไป
อย่างครอบครัวใบปอ เวลาคุยด้วยเหตุผล เขาก็ไม่ได้เปลี่ยนความเชื่อ แล้วสังคมโดยรวมที่มีคนหลากหลาย จะทำอย่างไรให้เขาเปลี่ยน หรืออย่างน้อยๆ รับรู้ปัญหาแบบที่ใบปอกับเพื่อนๆ อยากให้รู้
มันอยู่ที่ตัวเขาด้วยว่าจะเปิดใจรับฟังแค่ไหน เพราะแม้มันจะมีชุดความจริงต่างๆ อยู่ แต่ถ้าเขาไม่เปิดใจรับฟัง มันก็ยาก แต่ก็อย่างที่บอกว่า ถ้าเขาไม่ได้มาทำอะไรรุนแรง จะใช้กำลังกับเรา มันก็เป็นสิทธิของเขา เราก็พยายามจะทำกิจกรรมหลายๆ อย่างที่จะทำให้คนเข้าถึงประเด็น หรือเห็นภาพชัดๆ ว่ายังมีคนที่คิดต่างจากเขา มันยังมีข้อมูลแบบนี้อยู่ และควรจะเปิดใจรับฟังตรงนี้บ้าง
คนที่ไม่เปลี่ยนเราก็เคารพ
ใช่ เราก็ไปบังคับเขาไม่ได้ แต่ถ้าเขาไม่ได้มาก้าวล้ำพื้นที่ ก็ไม่มีปัญหาอะไร อย่างเราเคยทำโพลที่ดินที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วก็มีกลุ่มคนรักสถาบันมาทำกิจกรรมในเวลาใกล้เคียงกัน วันนั้นต่างคนต่างทำ ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ไม่มีการปะทะ
ก็แสดงให้เห็นว่า ก็อยู่กันได้นี่ ถ้าไม่มีใครก้าวล้ำพื้นที่ใคร และเคารพกันและกัน