การชุมนุมทางการเมืองที่นำโดย ‘กลุ่มเยาวชนปลดแอก’ และ ‘สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย’ (สนท.) เมื่อ 18 กรกฎาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกหลังจากสถานการณ์โควิดในประเทศไทยดีขึ้นมาสักระยะ
‘หยุดคุกคามประชาชน’ ‘ร่างรัฐธรรมนูญใหม่’ และ ‘ยุบสภา’ คือความต้องการพวกเขาที่บอกต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นข้อเรียกร้องที่ดังขึ้นภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ท่ามกลางคำห้ามปรามว่า “ตอนนี้ไม่ใช่เวลามาเรียกร้องอะไร” ทั้งที่ขณะนั้นไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมาหลายวันแล้ว
ย้อนไปก่อนหน้านั้น กลุ่มนิสิตนักศึกษาและประชาชนหลากกลุ่มหลายพื้นที่เคยออกมาส่งเสียงไม่พอใจการเข้าสู่อำนาจและการบริหารงานของรัฐบาลนี้ ก่อนจะหยุดชะงักไปจากสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ เมื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพมีมากขึ้น ความอึดอัดเลยค่อยๆ ปรากฏตัวในที่สาธารณะผ่าน ‘แฟลชม็อบ’ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และเป็นเช่นนั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
3 สิงหาคม 2563 กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสด นัดรวมตัวจัดกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันนั้น ‘อานนท์ นำภา’ ทนายความสิทธิมนุษยชน ได้ขึ้นปราศรัยถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ อธิบายสภาพปัญหาต่างๆ ผ่านหลักกฎหมายที่เขาร่ำเรียนมา คำพูดราวครึ่งชั่วโมงเรียกทั้งเสียงชื่นชมและก่นด่า แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เพดานในการส่งเสียงต่อเรื่องที่ (เคย) ต้องห้ามได้ขยับออกพอสมควร ก่อนที่ 10 สิงหาคม 2563 การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จะเน้นย้ำประเด็นเดิมอีกครั้งผ่าน 10 ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
บ่ายวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2563 อานนท์ นำภา และภาณุพงศ์ จาดนอก โดนหมายจับและถูกจับกุมจากตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ระบุความผิดหลายข้อหา เช่น ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเรื่องเกี่ยวกับการชุมนุม ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ก่อนจะได้ประกันตัวในเวลาต่อมา
ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ภาพรายชื่อ 31 คนที่คาดว่าอาจโดนดำเนินคดีปรากฏตามสื่อต่างๆ อย่างแพร่หลาย พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมเมื่อ 18 กรกฎาคม 2563 บางคนขึ้นปราศรัย และบางคนขึ้นไปร้องเพลง
3 จาก 31 รายชื่อนั้น คือ จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธาน สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ลัลนา สุริโย รักษาการประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และ ณัฐพงษ์ ภูแก้ว หนึ่งในสมาชิกของวงสามัญชน ที่ The MATTER นั่งคุยกันยาวๆ ไม่กี่วันก่อนการชุมนุมใหญ่ 16 สิงหาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
หากข่าวสารคือคำอธิบายตัวตนของใครได้ครบถ้วน บางคนอาจมองว่า พวกเขาเป็นแกนนำหัวรุนแรงที่ทำเรื่องกระทบกระเทือนความมั่นคงของประเทศไทย ไม่เช่นนั้นคงไม่มีรายชื่อว่าถูกเพ่งเล็กออกมา แต่ว่ากันตามตรง บางข่าวสารก็อาจไม่ตรงกับข่าวจริง อีกทั้งชีวิตคนก็มีรายละเอียดมากกว่านั้น
ก่อนจะปักใจเกลียดชังใคร เราอยากชวนคุณมารับฟังความคิดและชีวิตของพวกเขาเสียก่อน
นอกจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ปัจจุบันแต่ละคนทำอะไรกันบ้าง
จุฑาทิพย์ – เราเรียนอยู่ปี 3 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าเรียนที่ท่าพระจันทร์เกือบทุกวัน และเป็นประธาน สนท. (สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย)
ลัลนา – เราเรียนอยู่ปี 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ตอนนี้รักษาการประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และอยู่ในกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน เคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ที่ จ.ลำปาง พอมีม็อบก็เข้ามากรุงเทพฯ บ่อย ช่วงนี้ฝึกงานอยู่กรุงเทพฯ ด้วย
ณัฐพงษ์ – ผมเคยเรียนที่วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม พระจอมเกล้าพระนครเหนือ แต่ไม่จบการศึกษา ช่วงนั้นแม่ป่วยแล้วกระทบการหารายได้ของครอบครัว ผมไปขอดร็อป อยากเว้นระยะไปตั้งหลัก แต่อาจารย์ไม่ให้ ไม่รู้เขามีเหตุผลอะไร เราเรียนมา 4 ปีแล้ว ถ้าดร็อปไม่ได้ก็ต้องโดนรีไทร์ งั้นลาออกละกัน ดูเท่กว่า (หัวเราะ) ปัจจุบันทำงานอยู่มูลนิธิโกมลคีมทอง เป็นผู้ประสานงานโครงการลดยาสูบและอุบัติเหตุในชุมชน อีกงานคือดูแลส่วนงานเยาวชนให้เครือข่ายสลัมสี่ภาค
แบ่งเวลามาทำงานการเมืองยังไง
ณัฐพงษ์ – ของผมไม่ใช่งานประจำที่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน สามารถประสานงานผ่านโทรศัพท์ได้ แต่เอาจริงๆ ผมไม่ได้ทำบ่อยขนาดนั้น เวลามีม็อบก็ไปร้องเพลง ม็อบชาวบ้านบ้าง ม็อบนักศึกษาบ้าง ช่วงนี้จะบ่อยหน่อย ผมเคยทำค่ายอาสา เล่นดนตรีเปิดหมวก ก็มีทักษะติดตัวมา ร้องเพลงได้ แต่งเพลงได้
ลัลนา – เรามองว่าการเคลื่อนไหวกับการเรียนทำควบคู่ไปได้ เวลาเรียนก็ทุ่มเต็มที่ เวลาทำกิจกรรมก็ทุ่มเต็มที่เหมือนกัน แต่เราให้เวลากับกิจกรรมมากกว่า สิ่งที่ทำคือการเคลื่อนไหวทางสังคม
เราอยากผลักดันให้สังคมดีขึ้น อีกอย่างการเรียนกฎหมายสามารถกลับไปอ่านหรือฟังเทปย้อนหลังได้ เราบอกที่บ้านตลอด “ทำกิจกรรมอยู่นะ ช่วงนี้ไม่ได้เรียนนะ” เขาเข้าใจนะ แต่ก็บ่นตลอด (หัวเราะ)
จุฑาทิพย์ – ช่วงแรกเราเลือกเรียนมากกว่า แต่พอสถานการณ์ทางการเมืองเข้มข้น เรามีบทบาทนำบ้าง เลยทำกิจกรรมควบคู่ไปด้วย เนื่องจากเรียนสายสังคมอยู่แล้ว หลายวิชามีเรื่องการเมือง ประสบการณ์ทำกิจกรรมทางการเมืองก็ส่งเสริมการเรียน รวมไปถึงเรื่องชีวิต วัฒนธรรม ผู้คนก็เชื่อมโยงกันได้ เลยไม่ได้กระทบอะไรมาก เราจะวางแผนให้กิจกรรมไม่กระทบการเรียน ถ้าเรียนทั้งเช้าและบ่าย ก็นัดประชุมกิจกรรมตอนเย็น ตอนนี้ยังทำควบคู่กันไปได้อยู่
แต่ละคนเริ่มสนใจการเมืองตอนไหน
จุฑาทิพย์ – เราสนใจมาตั้งแต่ประถมแล้ว เริ่มอ่านหนังสือได้ก็อ่านหนังสือพิมพ์ ติดตามข่าวสาร แต่ยังเป็นข่าวกระแสหลัก พอโตขึ้นมาหน่อย เราเริ่มอยากรู้เพิ่มเติม ก็อ่านหนังสือการเมืองการปกครองของประเทศไทย พอ ม.4 แม่ให้ไปเรียน ม.ราม แบบพรีดีกรี ทำให้ได้อ่านมากขึ้น แต่ไม่ได้เรียนต่อจนจบนะ (หัวเราะ) ช่วงนั้นเราอ่านหนังสือแล้วเจอชื่อ ‘เตียง ศิริขันธ์’ (อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสกลนคร และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยภาคอีสาน) สงสัยว่าทำไมนามสกุลเดียวกัน พอไปถามพ่อแม่ ถึงได้รู้ว่าเขาเป็นน้องชายของปู่ทวด ไล่อ่านอัตชีวประวัติก็สนใจสิ่งที่เขาทำ
ปี 2560 เราเรียนอยู่ ม.ขอนแก่น ตอนนั้นกระแสการเมืองยังไม่แรงมาก ที่นั่นกิจกรรมค่อนข้างน่ารัก ขณะที่เราจะฮาร์ดคอร์หน่อย รู้สึกว่าไม่ค่อยท้าทาย เลยไปบอกที่บ้านว่าอยากซิ่ว เขาก็เข้าใจ แม่อยากให้เรียนธรรมศาสตร์อยู่แล้วด้วย ปี 2561 เราเข้ามาธรรมศาสตร์ ปรากฏว่าไม่มีกิจกรรมอะไรเลย (หัวเราะ) เวลาผ่านไปจนช่วงเลือกตั้งสภานักศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อนของเพื่อนตั้งพรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยชื่อพรรค ‘โดมปฏิวัติ’ งานพรรคการเมืองทำให้รู้จักคนมากขึ้น เข้าค่ายกิจกรรมทางการเมือง พอเลือกตั้งเสร็จก็ได้เป็นสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัย เริ่มรู้จักเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย คนในวงการการเคลื่อนไหว ก็ชวนกันไปทำกิจกรรม เราชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว ทำให้ง่ายที่จะต่อยอดไปทำกิจกรรมทางการเมือง
ณัฐพงษ์ – ช่วงปี 2549 มีเรื่องเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ตอนนั้นผมยังเรียนอยู่ ตัวเองไม่ใช่คนรวย ถ้าค่าเทอมแพงขึ้น เด็กหลายคนอาจไม่มีโอกาสได้เรียน เป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องโดยตรง ผมอยู่ในชมรมอนุรักษ์พัฒนา ก๊วนในชมรมเป็นตัวตั้งตัวตี ก็ประสานงานกับหลายมหาวิทยาลัย ช่วงนั้นผมไล่ทักษิณด้วย เชื่อมโยงเอง (หัวเราะ) อธิการบดีแย่มากในสายตาเรา เขาจะเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เขาเป็นเพื่อนทักษิณ เลยคิดว่าทักษิณเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ผมนอนค้างคืนที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มากันหลายมหาวิทยาลัยเลย
หลังจากนั้นก็ไปประเด็นการเมืองอื่น ผมเริ่มออกห่างจากเหลือง ยังไม่เข้าใจเรื่องนายกพระราชทานหรอก แต่เห็นรุ่นพี่หลายคนเดินออก ความคิดค่อยๆ เปลี่ยน มาชัดช่วงปี 2553 ผมไปม็อบแดงที่ราชประสงค์แค่ 2 ครั้ง แต่การไปทำงานต่างจังหวัดแล้วเห็นบรรยากาศการพูดคุย คนถอนจากเหลืองไปแดง ก็ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น เห็นข่าว เสธ.แดง โดนยิง ก็คิดแล้วว่าบ้านเมืองนี้โหดมาก หลังจากนั้นเริ่มมาทางฝั่งประชาธิปไตย ถามว่าผมเป็นเหลืองไหม เป็น ถามว่าผมเป็นแดงไหม ก็ไม่ใช่ เราไม่ได้มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน แค่เข้าร่วมไม่กี่ครั้ง ไม่ใช่ว่ารังเกียจอะไร ผมแค่รู้สึกว่าตัวเองยังไม่มากพอจะเป็น
ลัลนา – พ่อแม่เคยเป็นผู้ร่วมชุมนุมการเมืองในอดีต เขาพาเราไปทั้งแดงและเหลือง แต่ไม่ได้อินอะไร เพราะตอนนั้นยังเด็กมาก พ่อชอบอ่านหนังสือ อ่านข่าว เราก็อ่านด้วย พอขึ้นมหาวิทยาลัย เรายังสนใจแต่ตัวเอง อยากมีชีวิตสนุกๆ ในมหาวิทยาลัย พอปี 1 เทอม 2 รุ่นพี่มาชวนไปเข้าพรรคการเมืองชื่อ ‘เสรีเทยเพื่อธรรม’ ตั้งมาเพื่อสมัครเลือกตั้งองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่ชนะเลือกตั้ง ปีต่อมามีรุ่นพี่มาชวนอีก ไม่รู้ว่าเขาเห็นอะไรในตัวเรา คราวนี้ชื่อพรรค ‘วีร์’ เราได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค ช่วงนั้นแวดล้อมด้วยนักเคลื่อนไหว ก็คุยเรื่องการเมืองตลอด ค่อยๆ ซึมซับ แล้วอยากไปต่อ มันคงมีจุดของเราอยู่แล้ว การเลือกเรียนกฎหมายก็อยากเป็นนักกฎหมายที่ดีในสังคม
นักกฎหมายที่ดีคืออะไร
จุฑาทิพย์ และลัลนา – (หัวเราะพร้อมกัน)
ลัลนา – คำถามนี้ตอบโคตรยากเลย ขอไม่ตอบได้ไหม (หัวเราะ)
จุฑาทิพย์ – มันเป็นคำถามอภิปรัชญา นิยามความดีมีหลายแบบ เราคิดว่านักกฎหมายที่ดี คือนักกฎหมายที่ไม่ใช้กฎหมายในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่ใช้กฎหมายเป็นกฎเพื่อจัดระเบียบและช่วยเหลือคนในสังคม ไม่ใช่เอากฎหมายมาไล่หมายหัวแบบที่พวกเรากำลังโดน
ลัลนา – ใช่ๆ นั่นแหละค่ะ ทำนองนั้น (หัวเราะ)
ถ้าไม่นิยามผ่านสีเสื้อหรือกลุ่มม็อบ พวกคุณเชื่อในอะไร
ณัฐพงษ์ – หลักการที่ผมยึดๆ อยู่ คือ ความเท่าเทียมเป็นธรรม สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยจากฐานราก
ลัลนา – เราเชื่อในประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน เสรีภาพ ความเท่าเทียม และความเสมอภาค
จุฑาทิพย์ – คล้ายกัน เรายึดเรื่องความเท่าเทียมมาตลอด อยากให้ทุกคนเป็นคนเสมอหน้ากัน เราเชื่อว่าคนจะเท่าเทียมได้ต้องแก้ที่โครงสร้าง เลยเชื่อประชาธิปไตยแบบฐานรากด้วย
หลังการเลือกตั้งปี 2562 แต่ละคนมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองยังไงบ้าง
จุฑาทิพย์ – หลังการเลือกตั้ง ตอนนั้นม็อบยังไม่เยอะมาก จนเดือนธันวาคม 2562 เกิดแฟลชม็อบที่สกายวอล์ค ตอนนั้นคนเยอะมาก หลังจากนั้นก็เงียบไป พอพรรคอนาคตใหม่โดนยุบ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นช่วงที่ทวิตเตอร์หาแฮชแท็คร่วมเพื่อขับเคลื่อนในโลกออนไลน์ แล้วผลักดันมาสู่โลกข้างนอก คืนวันที่ 21 ทาง สนท. ประกาศจัดแฟลชม็อบที่ลานปรีดี (ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) ตัดสินใจกันแค่สิบห้านาที คนมาร่วมเต็มลาน การปราศรัยเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ระบบการปกครอง การรัฐประหาร ประชาธิปไตย สิ่งที่เกิดขึ้นสดใหม่และเข้าถึงง่าย ไม่ใช่คนที่มีบทบาทมาก่อน หลังจากนั้นก็เกิดแฟลชม็อบตามมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ละที่จัดกันเองเลย จนกระทั่งเกิดเรื่องโควิดก็ต้องหยุดไป
แฟลชม็อบเหล่านั้นเริ่มจากพรรคอนาคตใหม่โดนยุบ แต่เวลาผ่านไปเป็นเรื่องประชาธิปไตย เรื่องโครงสร้างทางสังคม เราบอกตลอดว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่การแสดงออกทางการเมืองทำได้ยากมาก ตอนนั้นไม่มีใครเปิดช่องว่าการเรียกร้องในมหาวิทยาลัยทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุม มันคือพื้นที่ปลอดภัยของนักเรียน นิสิต นักศึกษา แล้วม็อบเปลี่ยนไปจากอดีตแล้ว คือสามารถถ่ายทอดการชุมนุมไปทางออนไลน์ ถ้าเนื้อหาดีคนอาจดูเป็นล้านก็ได้
ลัลนา – หลังจากอนาคตใหม่โดนยุบ สภานักศึกษาก็ออกแถลงการณ์ เราเห็นท่าพระจันทร์จัดแฟลชม็อบ ก็ตั้งกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน ตั้งเพจ แล้วเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ตอนนั้น จัดแฟลชม็อบที่ลำปางวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 คนเข้าร่วมพอสมควร ทำปุบปับเหมือนกันเลย ปัญหาก็เรื่องเดียวกัน คือความไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นจุดร่วมของหลายๆ ม็อบ
ณัฐพงษ์ – ถ้าบทบาททางการเมือง ผมเป็นนักดนตรีเป็นหลัก พอประกาศยุบพรรค ก็เล่นดนตรีหน้าตึกไทยซัมมิตเลย (หัวเราะ) ม็อบส่วนใหญ่เป็นตอนเย็น ผมเลยไปได้บ่อย เพลงของเราไม่คุ้นหูก็ต้องอธิบาย เผลอไผลก็พูดเรื่องอื่นด้วย เนื้อหาของเพลงไม่ต่างจากหลักการ 3 อย่าง อธิบายเพลงก็ภายในกรอบนี้ มากกว่านั้นก็อาจเอาข้อมูลบางอย่างมาพูด อ่านหนังสือมา ดูคลิปมา ฟังจากวงเสวนามา เช่น คุณคิดว่าหลักศิลาจารึกใช่ของจริงไหม โยนไปให้คนตั้งคำถาม
ผมมองว่าดนตรีคืองานวัฒนธรรม ผมเชื่อ จึงทำ และใช้มัน อาจอยู่ในช่วงเดินไปแนวปะทะ ปลอบประโลมยามอ่อนล้า หรือสนุกสนานยามเลี้ยงฉลอง
การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องสื่อสารกับคนในครอบครัวมากน้อยแค่ไหน
ลัลนา – เราบอกเกือบทุกอย่าง อะไรที่น่ากังวลก็ไม่ได้บอก แต่ตอนนี้รู้หมดแล้วล่ะ (หัวเราะ) ตอนมีข่าวว่าเราอยู่ลำดับที่ 3 ของรายชื่อ ก็โทรไปบอกเลยว่า “พ่อ หนูอยู่อันดับต้นๆ เลยนะ อาจจะโดนอะไร แต่ไม่ต้องกังวล” พ่อไม่ได้ว่าไม่ได้ห้ามอะไร บอกให้ระวังตัว เขาซัพพอร์ทอยู่ไกลๆ แต่คนที่กังวลคือแม่ เขาพูดว่า “ทำไมรัฐต้องทำกับลูกขนาดนี้” พ่อแม่ให้พื้นที่กับเรา มองว่าโตแล้ว ตัดสินใจอะไรได้เอง การไม่ห้ามก็ช่วยให้มีพลังในการขับเคลื่อน
จุฑาทิพย์ – ที่บ้านทราบเรื่องการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่แรก แต่แม่จะไม่ชอบเวลามีคดี อยากให้ระมัดระวัง เราต้องอธิบายว่า “มันเลี่ยงไม่ได้ รัฐเป็นคนทำ เราไม่ได้วิ่งไปหา” เขาก็เข้าใจมากขึ้น เขาสนับสนุนเต็มที่ แต่เรื่องโดนคดี เลี่ยงได้ขอให้เลี่ยง เพราะโดนแล้ววุ่นวาย ทั้งค่าปรับ ค่าเดินทางไปศาล เยอะแยะไปหมด ตอนมีรายชื่อใน 31 คน แม่บอกว่า ไล่ฟังปราศรัยย้อนหลังแล้ว ไม่มีอะไรเสี่ยงเลย เขาก็บอกว่า “มีสตินะ” “อย่าตกใจนะ” “ค่อยๆ ทำไปนะ”
เวลาตำรวจไปบ้านที่ จ.อำนาจเจริญ ยายจะต้อนรับมาก บอกว่า “ทำไมตำรวจน่ารักจัง” เพราะบุคลิกของตำรวจคล้ายลูกชายของยาย คือน้าของเรา เขาเอ็นดูตำรวจ (หัวเราะ) ตำรวจเข้าไปในบ้าน เดินดูกรอบรูป ยายก็เล่าความเป็นมา เขาภูมิใจมากว่าหลานเรียนธรรมศาสตร์ อวดใหญ่เลย (หัวเราะ) เหมือนเพื่อนบ้านมาหา จนวันหนึ่งตำรวจมาพร้อมหมายเรียก (ข้อกล่าวหา “ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย” ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการจัดกิจกรรม “ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิม” ที่สกายวอล์คหน้าห้างมาบุญครอง เมื่อ 5 มิถุนายน 2563) ยายเริ่มตกใจแล้ว แต่พอมาอีกครั้งแบบไม่มีหมายอะไร เขาก็ต้อนรับเหมือนเดิม (หัวเราะ)
ณัฐพงษ์ – ผมทำอะไรแบบนี้มานานแล้ว ค่อยๆ ขยับให้เขารู้เล็กๆ เขาถามก็บอกว่า “ม็อบชาวบ้าน เล่นดนตรีเฉยๆ ไม่มีอะไรหรอก” ถ้าอะไรตูมๆ ก็อาจรู้จากข่าวหรือคนรอบตัวบอก แม่จะพูดตลอดว่า “ดูแลตัวเองนะ ขอให้ลูกปลอดภัย” แต่รอบล่าสุดที่ขึ้นเวที (18 กรกฎาคม 2563) น่าจะหนักสุดแล้ว เพราะเขาดูไลฟ์อยู่ด้วย คืนนั้นมีการปะทะสองสามครั้ง เขากลัวเจ้าหน้าที่มาอุ้ม กลัวระเบิด หลังจากนั้นก็โทรมา “ไปทำอะไรน่ะลูก แม่ดูอยู่ หัวใจจะวาย ขี้จะแตกเยี่ยวจะแตก นอนไม่หลับทั้งคืนเลย” เรื่องผมอยู่ในรายชื่อก็บอกไปว่า “ถ้ามีหมายไม่ต้องตกใจนะ หรือถ้ามีคนมาบ้าน เจ้าหน้าที่มาก็อย่าตกใจนะ ถ่ายรูปถ่ายวีดีโอไว้ได้ก็ถ่ายนะ มีอะไรโทรมานะ พวกผมเตรียมตัวไว้แล้ว เดี๋ยวทนายวิ่งไปหา” ทำเป็นเรื่องโจ๊กไป ไม่ให้เขาตื่นเต้นมาก
ผลกระทบหนักๆ ที่แต่ละคนเจอคืออะไร
ณัฐพงษ์ – ไม่ค่อยมีอะไรนะ เพราะผมจะเซฟท่าทีและคำพูด บทบาทของเราคือเล่นดนตรี มีครั้งนี้แหละที่หนักสุด
ลัลนา – ยังไม่เจออะไรหนักนะคะ ถ้าในโลกออนไลน์ก็ด่าเราบ้าง เป็นนักกฎหมายทำไมไม่เคารพกฎหมายล่ะ ถ้าโลกความเป็นจริงก็มีชื่ออยู่ใน 31 คน หวั่นๆ ว่าเขาจะทำอะไรกับเราเหมือนกัน
จุฑาทิพย์ – มีมาตลอด โดนคุกคามมาตั้งแต่ทำแฟลชม็อบที่ธรรมศาสตร์ พอมีโควิดก็ไม่ได้มีบทบาทมาก แต่เราผุดแคมเปญทางออนไลน์บ้าง ช่วงนั้นมีตำรวจมาหาที่บ้าน เรากลับไปอยู่บ้านพอดี พอกลับมากรุงเทพฯ ก็ทำแคมเปญต่อ ตำรวจเริ่มมาหาเยอะ พอเรื่องวันเฉลิม (ผู้ลี้ภัยที่ถูกอุ้มหายตัวไป) ก็โดนหนักหน่อย มีคำขู่ผ่านคนรู้จักมา
ณัฐพงษ์ – ประเด็นนี้มันแรง แต่เขาเล่นทางกฎหมายไม่ได้
จุฑาทิพย์ – ใช่ๆ เป็นประเด็นแรง เราไม่ได้กลัวมาก ออกมาขนาดนี้แล้วก็ต้องสู้ให้ชนะ แค่กังวลว่าจะส่งผลต่อครอบครัวหรือเปล่า ช่วงหลังๆ เรื่องวันเฉลิมไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมแล้ว เพราะเจอค่าปรับบ่อย (หัวเราะ) พ.ร.บ.ความสะอาด ครั้งละ 2,000 บาท ถ้าไป 3 คนก็ 6,000 บาท เราจ่ายไม่ไหวแล้ว ก็คงต้องหยุดงานออนกราวด์มาเคลื่อนไหวออนไลน์ แล้วไปงานเสวนาต่างๆ ที่คนอื่นจัด ปล่อยให้เขารับผิดชอบไป เราไปพูดอย่างเดียว (หัวเราะ)
ตอนมีรายชื่อใน 31 คน ก็กังวลเหมือนกัน เพราะมีหมายจับทนายอานนท์ (อานนท์ นำภา) กับพี่ไมค์ (ภาณุพงศ์ จาดนอก) ไปแล้ว ต้องคุยกันหนักหน่อยว่าจะเอายังไง ตำรวจก็ชอบติดตาม มาบอกผ่านทนายที่ดูเคสเราว่า “ติดตามนักกิจกรรมหญิงอยู่นะ” อยู่ตรงนั้นตรงนี้ บอกถูกด้วย (หัวเราะ)
เขาชอบขู่ ชอบใช้จิตวิทยา แต่ทำได้ก็ทำไป ยังไงเราก็ใช้ชีวิตปกติ แค่ระมัดระวังตัวมากขึ้น บางวันก็เห็นรถตำรวจมาอยู่แถวหอ แต่เราเชื่อมั่นตลอดว่าตัวเองจะปลอดภัย เพราะไม่ได้ทำอะไรที่เป็นภัยต่อประเทศเลย
ข้อเสนอ ณ ปัจจุบันคืออะไร
จุฑาทิพย์ – หลักๆ ตอนนี้มี 3 ข้อเรียกร้อง คือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา 2 จุดยืน คือ ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ ไม่เอารัฐประหาร และ 1 ความฝัน คือ การมีระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทั้งหมดเป็นข้อเสนอภาพใหญ่ ผลักดันจากภาคประชาชน โดยรัฐบาลต้องช่วยผลักดัน ตั้ง สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พูดคุยกันในสภาพแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตย คนเห็นด้วยและคนเห็นต่างได้พูด ไม่ถูกคุกคามจากรัฐ แล้วค่อยแก้ไขตามข้อเสนอต่างๆ ไป
ข้อเรียกร้องที่ว่ามาสำคัญยังไง
จุฑาทิพย์ – ข้อเสนอที่ว่า หยุดคุกคามประชาชน เราทำเพื่อป้องกันพวกเราเอง บอกรัฐว่าคุณไม่มีสิทธิ์มาคุกคามเรา ทั้งทางกฎหมาย ทางร่างกาย หรือทางจิตวิทยา เพราะเราแสดงออกโดยสันติ เราไม่อยากเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นอีกแล้ว ข้อกฎหมายที่แปะหน้าเราแล้วบอกว่า คุณผิด ทั้งที่เราไม่ได้ผิด ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนขึ้นโดยคนกลุ่มเดียว ช่วงการลงประชามติก็มีการคุกคามประชาชน เอาผิดคนไม่เห็นด้วย จับกุมด้วยข้อหาต่างๆ การลงประชามติก็เพื่อฟอกขาวให้คนเขียนรัฐธรรมนูญ เนื้อหามีเรื่อง ส.ว. 250 คนที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง รวมทั้งข้อกฎหมายที่ไม่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เราเลยอยากร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เป็นความต้องการของประชาชน และเป็นการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ลัลนา – พอรัฐธรรมนูญใหม่ที่ผ่านมือประชาชนจริงๆ ออกมาแล้ว หลังจากนั้นคือการยุบสภา เพื่อให้ได้ ส.ส. ที่มาจากอำนาจของประชาชนจริงๆ ไม่มีเทคนิคที่ไม่ชอบธรรมมาช่วย ส่วน 2 จุดยืน คือ ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และไม่เอารัฐประหาร สองเรื่องนี้ทำให้ประชาธิปไตยไม่เกิดขึ้นจริง รัฐประหารก็แน่นอน เขาคือเผด็จการ ส่วนรัฐบาลแห่งชาติ ก่อนจะเป็นรัฐบาลได้ก็ต้องเป็น ส.ส. มาก่อน แต่รัฐบาลแห่งชาติไม่ได้มาจากประชาชน มาจากไหนก็ไม่รู้ มันคือการลดทอนอำนาจของประชาชน
จุฑาทิพย์ – การที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องพื้นฐานมาก หลายประเทศก็เป็นแบบนี้ เช่น อังกฤษ เราอยากเห็นการใช้งบประมาณต่างๆ ตรวจสอบกันได้ เหมือนที่ตรวจสอบรัฐบาล เหมือนที่ตรวจสอบฝ่ายค้าน พระมหากษัตริย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ถ้าพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประเทศจะมีความผาสุกร่มเย็น
ลัลนา – ภาพจำของประชาชนทั่วไป พระมหากษัตริย์คือศูนย์รวมจิตใจ ถ้าเขาเท่ากับทุกคน มันทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เราว่าน่าศรัทธามากขึ้นอีก คนในประเทศจะยิ่งซัพพอร์ท
ณัฐพงษ์ – มันไม่ใช่การอยู่ภายใต้ความเกรงหรือกลัว แต่เรารู้สึกเหมือนนับถือผู้ใหญ่คนหนึ่ง
จุฑาทิพย์ และลัลนา – ใช่ (พูดพร้อมกัน)
ณัฐพงษ์ – พระมหากษัตริย์ควรจะอยู่ร่วมกันกับประชาชนในฐานะผู้ปกครองด้วยความรัก เห็นคนเป็นคน เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และอยู่ร่วมกันด้วยความรักเพื่อนมนุษย์ ไม่ใช่การใช้ความกลัวหรืออำนาจ และกฎหมายบังคับข่มขู่คุกคามให้รัก เราต้องไม่บิดเบือนความหมายของคำว่ารักด้วยความหวาดกลัวใดๆ
เวลาได้ยินคำว่า “ล้มเจ้า” คุณคิดยังไง
จุฑาทิพย์ – เรามองว่าการล้มเจ้าไม่มีอยู่จริง
ลัลนา – คำแบบนี้เอามาพูดกับคนอื่นได้ด้วยเหรอคะ
ณัฐพงษ์ – ผมคิดถึงป๊อกเด้งแหละครับ (หัวเราะ)
บางคนคนบอกว่า อะไรๆ ก็โทษการเมือง พวกคุณโดนกดขี่อะไรนักหนา อยากบอกอะไรไหม
จุฑาทิพย์ – มันคือการแสดงออกว่าพวกเรายังมีเสรีภาพ คือการแสดงออกว่าพวกเราพูดได้ เราไม่ได้พูดเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่พูดเพื่อสังคมด้วย เราอยากให้สังคมดีขึ้นจริงๆ เลยออกมาทำตรงนี้ อย่างเรื่องการศึกษา เราอยู่ต่างจังหวัด โรงเรียนประจำอำเภอไม่ได้มีคุณภาพเท่ากับในเมืองหรือในกรุงเทพฯ อย่างเรื่องขนส่งสาธารณะ บ้านเราแทบไม่มีเลย ต้องทำงานหนักเพื่อซื้อรถมาใช้เดินทาง อย่างเรื่องระบบสาธารณสุข โรงพยาบาลแถวบ้านยังไม่มีห้องผ่าตัดเลย เราเคยทำงานพาร์ทไทม์ แค่ค่าข้าวค่ารถก็หมดแล้ว ทุกวันนี้ค่าครองชีพเท่าไร ค่าแรงขั้นต่ำเท่าไร เด็กในต่างจังหวัดจะมีความฝันไม่กี่อย่าง เป็นข้าราชการ ทำงานบริษัท ไม่รู้ว่าจะไปยังไงต่อ สภาพแวดล้อมไม่เอื้อ ต้องพยายามมากกว่าคนอื่น มันเกี่ยวกับการเมืองแน่นอน คนกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ จัดสรรทรัพยากร วางนโยบายก็คือรัฐบาล เขาคือคนที่ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น บ้านเราเป็นระบบประชาธิปไตยตัวแทน ก็อยากให้คนที่เลือกมาพัฒนาประเทศ แต่กลับได้อะไรก็ไม่รู้
ลัลนา – สิ่งที่เรียกร้องคือการให้รัฐบาลปรับโครงสร้างทางสังคมที่คนโดนกดขี่และเหลื่อมล้ำ บ้านของเราอยู่ จ.ชลบุรีชานเมืองหน่อย ไม่ได้ห่างจากกรุงเทพฯ แต่ความเป็นอยู่ต่างกันเลย กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้า มีทุกอย่าง แต่บ้านเราไม่มีอะไรเลย ระบบขนส่งสาธารณะยากมาก ค่าครองชีพก็สูง ญาติที่ไปรักษาพยาบาลต้องนั่งรอหลายชั่วโมง รัฐบาลเป็นคนกำหนดนโยบาย สามารถสั่งการให้ที่ต่างๆ เหล่านั้นดีขึ้นได้
ณัฐพงษ์ – ไม่รู้จะพูดอะไร ปรากฏการณ์ทางสังคมมันฟ้องอยู่แล้ว ถ้าจะยกตัวอย่างว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผมยังไง แม่ของผมได้รักษาเพราะบัตรสามสิบบาท ถ้าไม่มีบัตรสามสิบบาท แม่อาจตายไปแล้วก็ได้
บางคนบอกว่า ความเท่าเทียมเป็นอุดมคติ ไม่มีอยู่จริงหรอก ชีวิตจริงมีใครเท่าเทียมบ้าง กลับไปตั้งใจทำมาหากินดีกว่าไหม ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย คนที่ต้นทุนต่ำยังเติบโตเป็นเศรษฐีได้เลย
จุฑาทิพย์ – ต้องถามว่ากี่คนที่ทำแบบนั้นได้
ลัลนา – ใช่ แล้วโอกาสที่คนในสังคมได้รับมีมากน้อยขนาดไหน เราถามตัวเองก็ได้ ทุกวันนี้เรามีโอกาสได้เข้าถึงระบบสาธารณะต่างๆ แค่ไหน ถ้ามันยังน้อยอยู่ แปลว่าประเทศยังมีความเหลื่อมล้ำ
จุฑาทิพย์ – แล้วคนที่ไม่ประสบความสำเร็จล่ะ เขาอยู่ตรงไหนในสังคม
ณัฐพงษ์ – ตรรกะว่า ห้านิ้วยังไม่เท่ากันเลย คนสวยคนหล่อ คนขาวคนดำ เป็นตรรกะวิบัติมาก ความหมายของเราไม่ใช่ความเท่าเทียมแบบนั้น แต่คือความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ โอกาสในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ผู้มีอำนาจมองเราเป็นมนุษย์หน่อย คนอีกฝั่งเห็นต่างแล้วแย้งได้นะ แต่คุณมองเป็นมนุษย์หน่อย อย่าด่าทอเราถึงขนาดว่า ไอ้เหี้ยพวกนี้สัตว์นรกส่งมาเกิด ถ้าสังคมมีบรรทัดฐานเรื่องความเท่าเทียม เรื่องอำนาจและอิทธิพลจะค่อยๆ หายไป ผมเชื่อว่ามันส่งผลต่อกัน
จุฑาทิพย์ – หลายครั้งที่พวกเราโดนบูลลี่ โดน Body Shamingคุณยังมองพวกเราไม่เป็นมนุษย์เลย แล้วมาบอกว่าพวกเราร้องหาความเท่าเทียมอะไร คุณคือส่วนหนึ่งที่สร้างความไม่เท่าเทียมในสังคมเลย
คุณอยากเห็นประเทศไทยเป็นยังไงในอนาคต ถ้าเป็นแบบนั้นขึ้น ชีวิตของคุณและคนอื่นๆ จะเป็นยังไง
ลัลนา – เราไม่อยากให้ประเทศไทยเหลื่อมล้ำมากเหมือนในปัจจุบัน อยากให้ทุกชนชั้นเข้าถึงระบบสาธารณะ เกิดรัฐสวัสดิการที่ใฝ่ฝัน ถ้าเกิดแบบนั้นขึ้น คนคงยิ้มมีความสุข เรายังเป็นนักศึกษา แค่เรียนก็เหนื่อยแล้ว แต่ต้องเจอระบบสาธารณะแบบนี้อีก ถ้าประเทศไทยเปลี่ยนไปแบบนั้น เราคงไม่ต้องประสาทแดกกับเรื่องพวกนี้
จุฑาทิพย์ – เราอยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดความฝัน มีสวัสดิการถ้วนหน้า ถ้าเกิดขึ้นได้จะเป็นอะไรที่ดีมาก เด็กรุ่นใหม่มีความคิดความฝัน อยากพัฒนาประเทศ ทุกคนพูดได้ คิดเห็นอะไรก็ถ่ายทอดได้โดยไม่ถูกจำกัด เป็นประเทศที่มีความเท่าเทียม ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น
ณัฐพงษ์ – ผมอยากให้เหมือนฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ ฯลฯ ที่มีสวัสดิการที่ดี รัฐดูแลเลี้ยงดู คนอยู่ได้โดยไม่ต้องดิ้นรนกับหน้างานจนลืมไปว่า ตัวเองมีศักยภาพด้านอื่นด้วย เขาได้คิด ได้สร้างสรรค์สิ่งอื่นๆ ให้กับสังคม ถ้าวันนั้นมาถึง ผมคงเขียนเพลงได้หลายเพลง แต่ไม่แน่อีก ผมอาจต้องเขียนเพลงจากการถูกกดทับก็ได้ (หัวเราะ) ผมคงสบาย มีเวลาไปสร้างสรรค์สิ่งอื่น ไม่ต้องออกมาม็อบ ไม่ต้องเรียกร้องอะไรมากมาย ไม่โดนคุกคาม มีบ้างที่เจ้าหน้าที่บอกว่า “คุณขับรถฝ่าไฟแดงนะ” ผมก็จ่ายค่าปรับ ไม่ใช่ว่า “พี่ๆ ให้ผมช่วยไหม สองร้อย” ประเทศที่ดีจะทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องมาเก็บส่วยกับประชาชน