ข้าราชการต้องเชื่อฟังคำสั่งนาย ต้องทำงานตามคำสั่งเบื้องบน ห้ามแสดงความเห็นแตกต่าง ต้องทำตัวกลืนไปกับระบบ แหกกฎได้ยาก
‘ราชการ’ คืออาชีพหนึ่งที่คนมักมีกรอบความคิด และภาพจำถึงอาชีพนี้ ซึ่งนอกจากภาพระบบงานที่ต้องรับคำสั่งจากข้างบนแล้ว ยังมีภาพจำจากประชาชนไม่ว่าจะเรื่องระบบการทำงานที่ล่าช้า เช้าชามเย็นชาม มีเรื่องของระบบอุปถัมป์ หรือการคอร์รัปชั่น
แต่ในกระแสที่คนรุ่นใหม่ต้องการปลดแอก ทั้งจากการโครงสร้างสังคม และระบบต่างๆ ในวงการราชการเองก็มีกลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง และแสดงตัวว่า แม้จะถูกคำสั่งจากเบื้องบน แต่พวกเขาก็มองว่า ราชการควรสามารถแสดงความคิดเห็นที่สนับสนุนประชาธิปไตยได้
The MATTER พูดคุยกับ 2 จาก 3 แอดมินจากเพจ ‘ข้าราชการปลดเอก’ เพจที่เริ่มจากกลุ่มข้าราชการที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และมองว่า ข้าราชการต้องรับใช้ประชาชน ซึ่งพวกเขาต้องการสื่อสารผ่านเพจ และนำเสนอว่ายังมีข้าราชการที่สนับสนุนประชาธิปไตยอยู่
อะไรเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเพจ ‘ข้าราชการปลดแอก’
แอดมิน 1 : เรารู้สึกกับเหตุการณ์วันที่ 16 ตุลา ที่ผ่านมา เรื่องการสลายการชุมนุมค่อนข้างเยอะ วันนั้นมันมีคำสั่ง มาในไลน์ของที่ทำงานเลยว่า ‘ให้ข้าราชการปฏิบัติตามกฎหมายที่เคร่งครัด ห้ามไปชุมนุมเกินห้าคน’ เราเลยคิดเหมือนกันว่า ถ้าราชการต้องทำตามกฎแบบนี้ แปลว่าข้าราชการไม่ใช่ประชาชนเหรอ เราคิดว่า เราเป็นประชาชน เราก็มีสิทธิที่จะออกความเห็นทางการเมือง และไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกับสิ่งที่รัฐบาลบังคับให้เราเชื่อเสมอไป รวมถึงเหตุการณ์วันนั้นที่สลายการชุมนุม มันค่อนข้างสะเทือนใจหลายๆ คน หลังจากนั้น วันที่ 19 ตุลา น้องอีกคนก็ทักมาเลยว่า พี่สนใจทำเพจนี้หรือเปล่า แล้วประมาณตอนเที่ยงโลโก้ก็ออกมาแล้ว ก็ถือว่าเกิดขึ้นรวดเร็วมาก
ในตอนที่ทำเพจกันขึ้นมา เป้าหมายของเพจเราคืออะไรบ้าง และคำว่า ‘แอก’ ที่อยากปลดของราชการ หมายถึงอะไร
แอดมิน 1 : อยากจะให้สังคมได้รู้ว่า ข้าราชการก็มีคนที่มีหัวใจเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน เราต้องการให้เห็นว่า เราไม่ได้ต้องทำตามคำสั่ง หรือต้องมีแนวคิดแบบเดิมๆ แอกในคำว่า ‘ปลดแอก’ ของข้าราชการ ผมอาจนิยามว่าเป็นระเบียบที่มันทำให้ข้าราชการมีความคิดที่ไม่เสรี แล้วทำให้ประเทศมันเดินต่อไปไม่ได้ บางทีเราถูกบังคับว่าเราต้องจงรักภักดีต่อสถาบัน แต่ถ้าการจงรักภักดีต่อสถาบันตรงนั้น มันทำให้ประเทศเดินหน้าไม่ได้ ก็ไม่น่าจะเป็นระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ
เราติดกับคำว่า ‘ราช’ และ ‘สถาบัน’ แต่เราอยากให้ราชการต้องรับใช้ประชาชนจริงๆ สิ่งที่เราถูกสอน ถูกอบรมมา เขาพยายามจะปลูกฝังว่า เราต้องรับใช้เบื้องบน ต้องสานต่อปณิธานของกษัตริย์ แต่จริงๆ เราควรเปลี่ยนมุมมองดีกว่าไหม เราควรเน้นทำประโยชน์ให้ประชาชนมากที่สุดดีกว่าไหม นี่แหละ คือแอกที่คิดว่าอยากจะนำเสนอให้สังคมได้รับรู้
แอดมิน 2 : หลักๆ ก็ค่อนข้างเห็นตรงกันนะคะ เรารู้สึกถูกจำกัดเรื่องพื้นที่การแสดงความคิดเห็น แล้วคิดว่ามีเพื่อนร่วมอาชีพจำนวนมากที่อยากจะพูด มีความอึดอัดในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ว่าไม่สามารถพูดได้ในที่สาธารณะ เพราะอาจกระทบกับหน้าที่การงาน และปัญหาของสังคมมันชัดแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น แต่กลับต้องอยู่ในภาวะที่ต้องแสดงออกในทิศตรงข้าม ทั้งๆ ที่เป็นหนึ่งในกลไกที่จะผลิตซ้ำความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากภาครัฐด้วยซ้ำ
เราเชื่อว่า หลายคนที่เข้ามารับราชการ มีความหวังดีกับบ้านเมือง อยากเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกลับแสดงออกได้ไม่มาก พอทำงานไปนานๆ ก็กลายเป็นว่าอาชีพนี้กลายเป็นตัวเลือกเดียว เลยเกิดความยากขึ้นไปอีก คิดว่าถ้าเพจเป็นช่องทางสื่อสารว่า ข้าราชการไม่ได้ความคิดไปในทิศทางเดียวกับความคิดอย่างเป็นทางการ ก็น่าจะช่วยทำให้ในยามที่สถานการณ์เริ่มสุกงอม ข้าราชการกล้าที่จะออกมาเปลี่ยนแปลง หรือว่าออกมาขัดขืนคำสั่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเข้าใจว่า จริงๆ มีเพื่อนที่คิดเหมือนกันอยู่เยอะนะ และกระแสสังคม กับกระแสคนร่วมอาชีพเป็นไปในทางเดียวกัน
จากการทำอาชีพข้าราชการ คิดว่าอะไรคือ pain point และความทุกข์ที่ข้าราชการรุ่นใหม่ มีร่วมกันต่อระบบนี้บ้าง
แอดมิน 2 : pain point อย่างแรกเลยคือพูดไม่ได้ แล้วคำว่าความเป็นธรรม หรือความเป็นกลางทางการเมืองเนี่ย แม้ว่ามันต้องมีเพื่อที่จะทำให้ข้าราชการเป็นแขนขาของรัฐบาล ทำงานให้กับฝั่งรัฐบาลที่มาจากทุกฝ่ายได้อย่างเต็มความสามารถก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันกลับมีความคิดฝั่งเดียว ที่ข้าราชการสามารถที่จะแสดง และปฏิบัติตามเพื่อส่งเสริมความคิดชุดนั้นได้ แต่ความคิดชุดตรงข้ามกลับส่งเสริมไม่ได้ สรุปคือระบบ และวัฒนธรรมของระบบผูกขาดความคิดเอาไว้ข้างเดียว
อีกอย่างก็คือ ในระบบเอง คนที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจก็อยู่กันเป็นเครือข่าย และความเป็นเครือข่ายตรงนี้ทำให้คนในเครือข่ายมีอิทธิพลเหนือระบบการเมือง และการตรวจสอบ ไม่ได้พูดถึงตัวสถาบันสูงสุดอย่างเดียว แต่ว่าพูดถึงในส่วนของข้าราชการระดับสูงที่มีความคิดว่าบ้านเมืองต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย และอีกแง่หนึ่งก็คือการจำกัดอิสรภาพในการให้ความเห็นต่อนโยบายอย่างตรงไปตรงมา
แอดมิน 1 : เนื่องจากเราโชคดีที่อยู่ในหน่วยงานที่ค่อนข้างเสรี เพราะงั้นเรื่องนโยบาย ผู้ใหญ่ หรือผู้น้อยก็มีส่วนร่วมในนโยบายไม่แพ้กัน คือเขาก็ฟังเรา เราก็ฟังเขา ไม่ได้ต้องเดินตามผู้ใหญ่ 100% เราสามารถเสนอ และผู้ใหญ่ก็พร้อมฟัง แต่มันก็ไม่ใช่ส่วนใหญ่แน่นอน เพราะระบบราชการส่วนใหญ่ มันใกล้เคียงกับระบบทหาร หัวหน้าว่าอย่างไร ก็ต้องว่าตามนั้นลงมา ลูกน้องก็ต้องฟังอย่างเดียว
แล้วก็อีกอย่างก็คล้ายๆ กับแอดมิน 2 คือ มันมีมุมมองแบบทางการ มีข้อหนึ่งที่เหมือนเป็นระเบียบบอกว่า ‘ข้าราชการต้องเลื่อมใสการมีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ซึ่งข้อนี้เรารับได้นะ แต่ว่าถ้าไปดูใน พ.ร.บ. หรือจริยธรรมของราชการจริงๆ เหมือนว่า เขาบังคับให้เราศรัทธาในตัวพระมหากษัตริย์และสถาบันโดยรวม พูดง่ายๆ คือห้ามวิจารณ์ ต้องเคารพ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันสวนทางกับสิ่งที่คนรุ่นใหม่คิด
จากที่คุย และสัมผัสกับคนรุ่นใหม่ พวกเขาคิดว่า การจะเชื่อมันต้องมีเหตุผล มันไม่เหมือนคน Gen Y ตอนกลางอย่างเรา เพราะคน Gen Y ตอนปลาย เขาจะตั้งคำถามว่าทำไมฉันต้องเชื่อตามนี้ แต่ว่าข้าราชการส่วนใหญ่ที่รุ่นเดียวกับเราก็จะคิดเหมือนๆ กันว่า ก็ฉันถูกสอนมาแบบนี้ก็เชื่อไปสิ เราไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ตั้งคำถาม แต่ว่าเด็กรุ่นหลังเขาตั้งคำถามตลอด
เราก็เลยเห็นกรณีกลุ่มนักเรียนเลว เขาเห็นว่า กฎระเบียบที่มีไม่โอเค แต่ในขณะที่คนรุ่นเก่าจะมองว่า กฎก็คือกฎ ทำตามไปเถอะ ประเทศจะได้เดินได้ สังคมจะได้สงบ แต่คนรุ่นใหม่จะตั้งคำถามเสมอว่า กฎถูกออกมาเพื่อใครกันแน่ ซึ่งเราว่าในกลุ่มข้าราชการที่ออกไปม็อบ เพราะเขารู้สึกถึงความอยุติธรรมของกฎหมายตรงนี้ด้วย บางทีมันเป็นกฎระเบียบที่ไม่ได้เอื้อให้ประเทศเจริญหรอก แต่เราไม่รู้ว่ามันเอื้อประโยชน์ใคร หรือเพื่อให้ปกครองง่ายหรือเปล่า
แม้ว่าแอดมินจะเป็นข้าราชการส่วนกลางหมดเลย แต่ปัญหาความทุกข์ของข้าราชการส่วนกลาง กับส่วนภูมิภาคมีอะไรต่างกันไหม
แอดมิน 2 : มองในมุมคนนอก ส่วนกลางกับภูมิภาค ความแตกต่างไม่น่าจะเยอะมาก เพราะว่าส่วนภูมิภาคก็เป็นแขนขาที่คุมจากส่วนกลางโดยตรง ส่วนท้องถิ่นอาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าความที่แอดมินทั้งสามคนอยู่ในหน่วยงานจัดทำนโยบาย ทำให้สัมผัสกับการปฏิบัติงานจริงค่อนข้างน้อย แล้วเท่าที่ทำเพจมา ก็ได้เห็นหลังไมค์มาจากคนที่อยู่ส่วนภูมิภาค และต้องเป็นผู้ปฏิบัติคำสั่งจากส่วนกลาง โดยเฉพาะที่มันไม่ค่อยจะตรงกับบริบทของพื้นที่ หรือว่ามีคำสั่งมาแล้ว อำนาจต่อรองจะค่อนข้างน้อย คือส่วนภูมิภาคมักจะมีสายบังคับบัญชาที่ยาวกว่า แม้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งที่เท่ากัน
ส่วนท้องถิ่น จะเป็นอีกเรื่องราวนึงเลย เพราะว่าท้องถิ่นกระจายอำนาจไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ฉะนั้น อำนาจมันอยู่ที่ผู้บริหารในระดับท้องถิ่นเสียมากกว่า การปฏิบัติก็จะหลากหลายกันไปแล้วแต่พื้นที่
พูดถึงระบบราชการ แค่พูดคำว่าข้าราชการคนก็จะมี mindset ถึงอาชีพนี้แล้วว่า ทำงานช้า มีเรื่องระบบอุปถัมภ์ใต้โต๊ะ หรือคอร์รัปชั่นต่างๆ ในฐานะที่เป็นข้าราชการรุ่นใหม่ประมาณหนึ่ง เรามองวาทกรรมพวกนี้ว่าอย่างไรบ้าง
แอดมิน 1 : คำว่าช้าเนี่ย ส่วนหนึ่งคือระบบที่ทำให้มันช้า ราชการจะมีความเซฟตัวเองค่อนข้างเยอะ บางทีเราจะไม่ทำอะไร ถ้าคุณไม่มีหนังสือมา ต้องมีหนังสือทางการ มันเป็น mindset ที่ไม่ดีนะ เพราะจริงๆ การขอข้อมูลหรืออะไรอย่างนี้ บางเรื่องข้อมูลไม่ได้ลับ และไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นทางการ ถ้าส่วนตัวเรา ถ้าเรารู้จักระดับหนึ่ง หรือคนที่ขอข้อมูลเป็นคนที่เชื่อถือได้ระดับหนึ่ง เราก็จะไม่เพิ่มขั้นตอนโดยไม่จำเป็น คือมีอะไรก็ส่งไปให้เขาเลย
ต้องบอกว่า มันก็จะแล้วแต่ mindset ของแต่ละคนด้วย บางคนแบบราชการจ๋าๆ ถ้าไม่มีหนังสือฉันก็ไม่ส่งให้คุณ แต่บางคนเพื่อความรวดเร็วก็ส่งให้ทางอีเมล์ หรือทางไลน์ ซึ่งจริงๆ มันอยู่ที่ระบบ และสิ่งที่เราถูกสอนมาด้วยความทางการนี่แหละที่ทำให้มันช้า และอีกอย่างก็คือเรื่องของ format ที่หนังสือต้องเป๊ะ ตราครุฑต้องอยู่ตรงนี้ กั้นหน้ากั้นหลัง ซึ่งทำให้โฟกัสถูกดึงจากเนื้อหา ไปที่รูปแบบมากกว่า
เราไม่ปฏิเสธเรื่องความช้า แต่เราเห็นทิศทางมันก็ดีขึ้นบ้าง เทคโนโลยีก็มีผลให้กระบวนการหลายๆ อย่างเร็วขึ้น แต่ว่าน่าจะดีได้มากกว่านี้ ส่วนเรื่องใต้โต๊ะ เราอยู่ในหน่วยงานที่ไม่มีผลประโยชน์อะไรเลย เพราะงั้นก็เลยไม่เคยเห็นเรื่องแบบนี้ แต่ก็เคยเห็นที่อื่น และมันก็มีจริงๆ ว่า ยื่นแล้วทำงานได้เร็วขึ้น
แอดมิน 2 : โดยรวมเราค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยมกว่าแอดมิน 1 ถ้าเรื่องระบบระเบียบการส่งเอกสาร เราว่ามันมีความจำเป็นอยู่ในทางกฎหมาย คืออย่างแรกเลย ถ้าคุณส่งเอกสารแล้วเขาเอาไปใช้อ้างอิง แล้วบอกเป็นหน่วยงานอะไร แล้วหาที่มาที่ไปไม่ได้ คุณก็อาจโดนว่าว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มาขอตามรูปแบบ เราต้องเข้าใจว่าอีกฝ่ายจะเอาไปทำอะไร จึงจะมีความระมัดระวังค่อนข้างเยอะ แล้วตัวเอกสารที่ต้องมีครบ ตามแบบแผน ก็คือถูกกำหนดในกฎหมาย
ฉะนั้น ความงี่เง่าของราชการที่เราพบเห็นเวลาที่ไปติดต่อราชการ ก็จะมาจากกฎหมายที่จะคุมเขาไว้ตรงนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน อย่าลืมว่าในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมาของประวัติศาสตร์การเมืองและระบบราชการไทย ราชการมีอิทธิพลเหนือนักการเมืองมานาน กฎหมายที่ออกมา มักออกมาจากกระทรวง คือกฎหมายจะมีสองประเภท ประเภทที่สภาเป็นคนร่าง กับประเภทที่ ครม. เป็นคนเสนอให้สภาพิจารณา ประเภทหลังก็คือร่างโดยนิติกรในกระทรวง
พอกระทรวงเป็นคนร่างเอง เขาก็จะร่างสิ่งที่ทำให้ตัวเองใช้วิจารณญาณได้เยอะที่สุด เพิ่มขั้นตอนเพื่อทำให้ flow การทำงานของตัวเองเปลี่ยนไปน้อยที่สุด แล้วนอกจากตัวกฎหมายแล้ว วิธีปฏิบัติต่างๆ ก็จะถูกคุมด้วยหนังสือราชการที่เป็นหนังสือเวียน เป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งแม้ไม่ใช่กฎหมาย แต่ก็เป็นคำสั่งที่ต้องปฏิบัติตามจนมีสภาพเสมือนกฎหมายแล้ว หนังสือเวียนเหล่านี้เยอะแยะไปหมดเลย เยอะในระดับที่ว่าคนทำก็ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง เพื่อจะป้องกันตัวให้ได้มาก ก็จะเป็นช่องที่ทำให้แหกกฎได้ยาก
จริงๆ รัฐบาลก็มีการพูดถึง regulatory guillotine (ลดความซ้ำซ้อนของกฎเกณฑ์) คือคุณมีกฎระเบียบอยู่สักร้อยกฎ ก็ดูเลยอะไรจำเป็นเอาไว้ ที่เหลืออีก 80 กฎ เอาออกให้หมด แต่ว่าคุณก็จะเจอแรงต้านจากภายในอยู่ดี ที่เขาเสียอำนาจในการใช้วิจารณญาณตรงนี้ไป เอาง่ายๆ มันนำไปสู่การคอร์รัปชั่น แล้วมันก็คือผลประโยชน์ของเครือข่ายนั่นแหละ ส่วนความช้า จริงๆ หลายหน่วยก็ทำเต็มที่
แต่พูดกันตรงๆ คือ ระบบไม่ทันสมัย อย่างประกันสังคม ระบบมัน overload แล้วเขาต้องทำงานกัน 24 ชั่วโมงเลย รวมถึงผู้บริหารก็ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงด้วย มันก็นำมาสู่สถานการณ์ที่ว่าระบบราชการกลายเป็นล่าช้า
ส่วนตัว เราค่อนข้างเชื่อในระบบตลาด อะไรที่แปรรูปในระดับบริการได้ก็แปรรูปไป ไม่ใช่เพียงแปรรูปในระดับรัฐวิสาหกิจ อย่างการทำพาสปอร์ตที่ขั้นตอนต่างๆ รวดเร็วแค่ 10 นาที ก็เพราะเป็นบริษัทเอกชนเข้ามารับ outsource ไม่ใช่ขั้นตอนของข้าราชการเจ้าหน้าที่ของเอกชนเอกชนมาถ่ายรูป มาถามข้อมูลจากเรา ซึ่งกระบวนการอย่างนี้มันลงไปที่สำนักงานเขต หรือกระบวนการอนุมัติได้ที่เป็นงาน routine ได้ และข้าราชการก็ไม่ต้องยุ่งกับระบบที่ล่าช้า ตั้งเงื่อนไขว่าทำส่วนไหน ก็จะลดช่องทางวิจารณญาณ และลดช่องทางคอร์รัปชั่น
แอดมิน 1 : ส่วนตัวมองว่า อาจไม่ถึงกับเป็นขั้นต้องแปรรูปทุกอย่าง แต่ว่ามันมีบทเรียนมากมายที่เราเรียนรู้จากเอกชนได้ สมมติถ้าใครไปม็อบ และดูการลงชื่อร่างรัฐธรรมนูญของ iLaw เขาทำเร็วมาก ใช้คนเป็นเหมือนสายพานการผลิต อีกคนให้เซ็น อีกคนหนึ่งปั๊ม อีกคนเก็บเอกสาร ทำให้เราทึ่งเลยว่าทำไมเขาถึงล่ารายชื่อได้เป็นแสน เพราะว่ามันมีระบบที่ง่ายและเร็ว
ซึ่งแม้แต่การออกแบบและร่างนโยบายสาธารณะบางอย่างก็ให้เอกชนหรือองค์กรกึ่งรัฐมาช่วยดำเนินการแทนได้ ซึ่งจะช่วยลดบทบาทข้าราชการ ในการกำหนดนโนบายที่มักหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลง และลดอำนาจฝ่ายการเมืองได้
แต่ในบางหน่วยงานที่เขาบริการประชาชน อย่างที่เคยไปดูงาน อย่างกรมการขนส่งทางบก เขาก็มีการปรับตัวให้ทันสมัย เริ่มมีขั้นตอนที่รวดเร็วขึ้น การต่อใบขับขี่ ต่อทุกอย่างคือ drive-through ได้เลย แต่อันนี้มันก็อาจเป็นโชคดีของหน่วยงานด้วย ที่เขามี mindset อยากมีความรวดเร็วด้านการบริการให้ประชาชน แต่ในหน่วยงานที่ทำนโยบายเป็นหลัก อาจไม่ได้มองตรงนี้
จากที่ฟังมา เหมือนว่า ปัญหาหลายๆ อย่างมันก็เกี่ยวพัน สอดคล้องกันไปหมดด้วยใช่ไหม
แอดมิน 1 : อย่างเรื่องความช้าบางทีก็ไม่เกี่ยวกับคอร์รัปชั่นเสมอไป ระเบียบต่างๆ บางทีมันออกมาเพื่อป้องกันการโกงได้นะ แต่จริงๆ สุดท้ายมันไม่ได้เป็นแบบนั้น สุดท้ายมันก็ออกมาเพื่อให้งานมันช้า อย่างที่บอก เจตนาอาจดีแหละ แต่ทางปฏิบัติอาจไม่เวิร์ก จริงๆ ถ้าเกิดระบบมันเร็วกว่านี้ บางทีมันอาจมีช่องให้โกงก็ได้นะ บางทีคุณอาจข้ามระเบียบตัวนี้ ลัดขั้นตอนนี้ได้ กลายเป็นตรวจสอบได้ยากขึ้น แต่เรื่องใต้โต๊ะจริงๆ ก็อยู่ที่จิตสำนึกด้วย อยู่ที่ mindset ว่าถูกสอนมาอย่างไร
ถ้าถูกสอนมาเพื่อให้รับใช้เบื้องบน แต่ว่าในภาษาอังกฤษข้าราชการคือ civil servant เพราะงั้นคุณต้องรับใช้ประชาชน อันนี้คือสิ่งที่เป็น pain point หนักที่สุด ซึ่งเราเคยไปยืนชูป้ายในม็อบว่า ‘ฉันคือข้าประชาชน ฉันไม่ใช่ข้าราชการ’
บางครั้ง การรับใช้นาย มันอาจไม่ใช่การรับใช้สถาบัน แต่มันคือการรับใช้คนที่ทำให้เราโตได้ ซึ่งอันนี้มีความเกี่ยวโยงกับการคอร์รัปชั่น สมมติว่าเราหาผลประโยชน์มาให้นาย เราได้เลื่อนขั้นเร็วอย่างนี้ มันก็คือคุณมองบน ไม่ได้มองล่าง ทั้งๆ ที่ จริงๆ ควรมองระดับที่มันเท่ากัน มองว่าคุณกับประชาชนอยู่ระดับเท่ากัน ซึ่งเราต้องปรับ ถ้าปรับได้ เรื่องคอร์รัปชั่นก็จะหาย เรื่องความล่าช้าก็จะเร็วขึ้น เพราะถ้าเกิดช้าแล้วประชาชนไม่มีกินจะทำยังไง
แอดมิน 2 : จาก mindset ปัจจุบันที่รัฐมองว่า ข้าราชการเป็นคนสงเคราะห์ประชาชนให้ได้ตามสมควร ซึ่งแตกต่างจากการให้สวัสดิการที่เป็นสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับ ระบบก็มีความพยายามที่จะสงเคราะห์ให้ได้ดีขึ้นนะ หากไม่มีระบบ National E-payment ถ้าไม่มี เราก็จะทำโครงการ 5,000 บาทไม่ได้ ทำคนละครึ่งไม่ได้ หรือว่าบริการภาครัฐกับประชาชนที่พยายามปรับประสิทธิภาพมาในระดับหนึ่ง มันก็เป็นตัว พิสูจน์ว่าระบบปรับตัวได้ เพียงแต่ว่า mindset ขั้นพื้นฐานในระดับระบบ มันยังเปลี่ยนช้ากว่าสังคม
ที่ผ่านมาระบบก็เปลี่ยนแหละ แล้วมันมีคนทำงานหนักจำนวนมากที่ตั้งใจจะเปลี่ยน อย่าลืมว่าการผลักเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่ง คนข้างหลังไม่ได้ทำงานง่าย ส่วนตัวอยู่ในหน่วยนโยบาย และเราก็เห็นคนหลายๆ คน ในระดับผู้ดำเนินนโยบายที่เขาทำงานหนักจริงๆ
โมเดลแบบราชการ หรือกระทรวงในหลายประเทศที่เขา digitalize งานหลายๆ อย่าง มันเป็นไปได้ไหมที่เราจะปรับให้มันเป็น digitalize มากกว่านี้ ทั้งเรื่อง data หรือเอกสารต่างๆ
แอดมิน 1 : ส่วนหนึ่ง mindset ของผู้บริหารก็สำคัญ ว่าคุณใจกว้างขนาดไหน ที่คุณจะยอมละทิ้งความทางการลงไปบ้าง เพื่อความรวดเร็ว แต่จริงๆ การ digitalize ไม่ได้แปลว่าเราจะตามสืบไม่ได้ว่าเอกสารนี้ใครทำ ใครเซ็นมาบ้าง
ที่ทำงานเรา เขาจะมีการประกวดสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรม และมีรางวัลให้ น้องคนหนึ่งก็เคยคิดเหมือนกันว่าอยากทำทุกอย่างเป็น digital อย่างบันทึกที่เราต้องเซ็นกัน 4-5 คน ไปจนถึงรัฐมนตรีอย่างนี้ อยากให้มัน digitalize ทั้งหมด เป็นลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ เหมือนส่งตามระบบไปให้ได้ แต่ว่าผู้บริหารไม่ปลื้ม สุดท้ายน้องคนนั้นก็เลยลาออกไปทำเอกชนดีกว่า
บางทีเราก็ไม่รู้ว่าทำไมเขาไม่กล้าเปลี่ยนแปลงในเรื่องแบบนี้ สมมติว่าถ้าคุณกลัวมาก คุณอาจให้มันใช้เฉพาะเอกสารที่ไม่ได้ลับมากก็ได้ คือเอกสารที่มันต้องเป็นไปตามขั้นตอน แต่ตอนนั้นผู้บริหารไม่ได้เปิดใจรับความทันสมัยที่เข้ามา
เราจะเห็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องบอกว่าเฟี้ยวมานาน เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา เขาเล่นได้เต็มที่ ไม่ต้องอยู่ในกรอบที่ว่าราชการมันต้องเรียบ เลยทำให้สิ่งที่เราเสนอมันดูล้าสมัย แต่จริงๆ ถ้าเราได้ผู้บริหารที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือเป็นคนที่เข้าใจคนรุ่นใหม่ มันเปลี่ยนแปลงได้ เราก็คิดว่าความ digitalize มันก็จะมาจากตรงนี้เหมือนกัน เพราะเอาจริงๆ มันก็เป็น pain point ของคนรุ่นใหม่เหมือนกัน
แต่ว่าพออยู่ไปนานๆ เรากลับชินกับมันจนเราเริ่มไม่ตั้งคำถาม ไหนๆ ก็ทำมา 10 ปีแล้ว ก็ทำต่อไปละกัน ซึ่งเป็น mindset อันตราย เพราะว่าบางทีการไม่ยอมเปลี่ยนอะไรเลย มันก็ทำให้เราย่ำอยู่กับที่
แอดมิน 2 : ปัญหาเชิงระบบอย่างหนึ่ง คือข้าราชการเลื่อนตำแหน่งตามอายุงาน แล้วก็การลาออก เข้าใหม่ หรือรักษาอายุงาน และเงินเดือน ทำได้ยาก (แต่ถ้าเป็นคนพิเศษก็ทำได้) นี่เป็นปัจจัยที่คนในระบบราชการอยู่ตลอดชีวิต และทำให้คนที่อยู่เอกชนไม่เข้ามาในระบบ คือมันไม่มีการแลกเปลี่ยนความรู้กันมากเท่าที่ควร แล้วก็คนในระบบมักจะเคยชิน
ขนาดเราอยู่มา 5-6 ปี เรายังเริ่มชิน จากภาษาไทยแบบราชการที่ตอนแรกเราเขียนไม่ได้ เรายังกลับชอบ และอยากเขียนอย่างนี้ต่อไป เพราะมองว่าฝึกมานาน อันนี้ส่วนตัวเลยคือ ถ้าได้ออกไปอยู่เอกชนแล้วมีโอกาสกลับเข้ามาราชการได้ ก็อยากทำ มันน่าจะเป็นทางที่ได้ประสบการณ์สองทาง และได้ทำอะไรให้บ้านเมืองด้วย
อีกอย่าง การที่เราไม่ออกไปอยู่ที่อื่น เวลาเราคุยกับเพื่อนนอกองค์การ ความคิดเราจะหลุดมากขึ้นเรื่อยๆ ระยะห่างระหว่างสิ่งที่เขาคิด กับสิ่งที่เราเห็นจะไม่เหมือนกัน เรามีแนวโน้มอนุรักษ์นิยมขึ้น กล้าเปลี่ยนแปลงน้อยลง มีแนวโน้ม และอยู่ในโมเดลที่ต้องเคารพกฎ
เรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่กลืนกินอุดมการณ์ง่ายเหมือนกันใช่ไหม
แอดมิน 2 : ค่ะ ต้องไปหาทางเช็กตัวเองตลอดเวลากับคนนอกวงการ ซึ่งเขาจะไม่ทำกันหรอก
ที่ถูกลืนกินอุดมการณ์ง่าย เพราะกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ที่มันไม่ค่อยเปลี่ยนด้วยใช่ไหม
แอดมิน 2 : อย่าใช้คำว่ามันง่าย ใช้คำว่าการทำอย่างอื่นมันยาก และมันเสี่ยงผิด
แอดมิน 1 : การเปลี่ยนแปลงมันยุ่งยากกว่าการไหลตามน้ำที่เขาเคยทำกันมา
แอดมิน 2 : ทั้งที่ความเชื่องช้ารายวันที่เกิดขึ้นเนี่ย มันสะสมเป็นต้นทุนที่สูงกว่าการเปลี่ยนแปลงอีกนะ
แอดมิน 1 : แต่อย่างเราเป็นคนแปลกอย่างหนึ่ง ปกติคนเรา ยิ่งแก่ก็ยิ่งขวา แต่ของเราคือ ยิ่งแก่ก็ยิ่งซ้าย พอเห็นว่าอยู่มา 10 ปีแล้วยังไม่เปลี่ยนแปลง เราก็รู้สึกหงุดหงิด และเราก็ยังไม่ถึงกับหมดไฟ ยังอยากลุย อยากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง อย่างน้อยฝั่งของเราเอง เราก็จะไม่ทำงานให้ล่าช้า หรือว่าถ้ามีอันไหนที่มันลัดขั้นตอนแล้วทำให้งานไปเร็วขึ้น เราก็จะโอเค เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ควรหยุดนิ่งแบบนี้
แล้วยิ่งเราได้สัมผัสกับน้องๆ ข้าราชการรุ่นใหม่ เราก็มีความหวังอยู่บ้างนะ อย่างน้อยเราหวังว่าจะขยับระบบนี้หรือหล่อลื่นระบบนี้ได้ แต่ถามว่ากลืนกินไหม ขอตอบว่ามันได้ไม่หมดละกัน เพราะเราก็เห็นความแย่ของสังคม ซึ่งเป็นตัวทำให้เราไม่อยากอยู่เฉยๆ อยากทำให้สังคมมันดี
พูดถึงอาชีพข้าราชการ ก็มักจะเป็นอาชีพนึงที่ถูกพูดกันว่า เป็นความคาดหวังของพ่อแม่ เพราะมีสวัสดิการ และมั่นคง ผู้ใหญ่มองว่าเป็นอาชีพที่อยากให้ลูกตัวเองเข้าไป มองเรื่องนี้ว่าอย่างไรบ้าง
แอดมิน 1 : โคตรจริงเลย ของเราพ่อแม่รับราชการทั้งคู่ และพูดอย่างนี้มาตลอดว่า แก่ไปมันสบาย แต่ส่วนตัวเรามีปัญหากับการอยู่เอกชนอยู่แล้ว เพราะว่าเราไม่สามารถทำเงินให้คนอื่นได้ และรู้สึกว่าเอกชนไม่ตอบโจทย์เราเท่าไร ถ้าเราจะออกจากราชการ คือต้องการเอกชนที่ทำเพื่อสังคม ซึ่งมันมีไม่เยอะ เรารู้สึกว่าถึงแม้ราชการจะไม่ตอบโจทย์ด้านอุดมการณ์ขนาดนั้น แต่ว่าอย่างน้อยนโยบายบางอันก็ทำเพื่อประเทศจริงๆ
มันก็สะท้อนจริงๆ นะ อย่างช่วงโควิดนี่เห็นชัดเลยว่าอาชีพอื่นตายไปจริงๆ โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งมันเป็นความน่ากลัวเหมือนกันนะ เราก็ไม่รู้ว่าเด็กรุ่นใหม่จะอยากรับราชการมากขึ้นหรือเปล่า เพราะว่าเขาเติบโตมา และเห็นช่วงโควิดนี้ ซึ่งเราก็ไม่ปฏิเสธว่า มันยังเป็นมุมมองที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่คิดอยู่ แล้วเด็กรุ่นใหม่เราไม่รู้ว่าเขาจะคิดไหมนะ เพราะมันก็ปลอดภัย ถึงแม้บางคนจะบอกว่าเงินเดือนราชการเท่ากับเงินทอนก็ตาม แต่คนก็ยังเลือกความมั่นคง
แอดมิน 2 : คิดเหมือนกันว่าน่าจะเป็นอาชีพยอดฮิต แต่ว่ามันก็มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ ครอบครัวที่ลูกรับราชการ ส่วนมากเป็นครอบครัวที่พ่อแม่เคยรับราชการ หรือว่ามี mindset ไปทางอนุรักษ์นิยมมาก แล้วลูกที่ยอมมารับราชการก็จะมีความเชื่อฟังในระดับหนึ่ง
ปัญหาของจุดนี้คือบุคลากรที่เข้ามาในระบบ แม้จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ คนที่เป็นอนุรักษ์นิยม จะ self-select ตัวเองเข้ามาในระบบ คนที่ก้าวหน้าจะ self-deselect ตัวเองไม่เข้ามาในระบบ และระบบมันก็จะถูกขับเคลื่อนไปด้วยอนุรักษ์นิยมรุ่นใหม่ต่อไป
แอดมิน 1 : มันอาจถูกผลักดันด้วยนีโอสลิ่ม ซึ่งก็น่ากลัว แต่เอาจริงของบ้านพี่ พ่อแม่ไม่ค่อยอนุรักษ์นิยมเท่าไร ทางบ้านเห็นตรงกันเรื่องการเมืองหมดเลย แต่เขาก็จะมีความอนุรักษ์นิยมในเรื่องการใช้ชีวิต บางทีเขาก็ชอบเตือนว่า เราเป็นราชการอย่าไปออกตัวแรง หรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะเขาอยู่ในวัฒนธรรมความกลัว อยู่ในรุ่นที่การพูดถึงสถาบัน แม้แต่อยู่ในบ้านก็ยังต้องกระซิบกัน เลยทำให้เขาจะกังวลว่าการที่เราออกตัวมาทำอะไรแบบนี้ เราจะโดนด้วยหรือเปล่า เราจะสูญเสียความมั่นคงตรงนี้ไปไหม เขาก็กังวล
แต่ส่วนตัว หน่วยงานเราให้อิสระพอสมควร แม้เขาจะไม่รู้ว่าเราเป็นแอดมินเพจอยู่ ซึ่งถ้าวันหนึ่งที่ความก้าวหน้าในที่ทำงานของเรามันต้องเสียไป เพราะการที่เรายืนฝั่งประชาชน เราก็จะมองแล้วว่า หน่วยงาน หรืองานราชการนี้ไม่เหมาะกับเราก็ได้ แต่เราก็ไม่คิดนะว่าเราจะโดนทำร้ายด้วยเรื่องแบบนี้
แอดมิน 2 : มันอยู่ที่อำนาจต่อรอง ถ้าคุณเป็นคนที่สำคัญในระบบ คุณจะทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าคุณเป็นใครก็ไม่รู้ และทำงานตาม routine เป็นแขนขาธรรมดา สิ่งที่เราเสนอให้เขา คือความจงรักภักดี มันไม่มีสิ่งอื่นแล้ว นั่นคือสาเหตุที่ทำไมหลายคนถึงรู้สึกว่าถูกจำกัด แต่ส่วนตัวอยู่ในองค์กรที่มีวัฒนธรรมไม่พูด เพราะว่าทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายการเมืองค่อนข้างมาก ก็มักจะเป็นการมองตาแล้วรู้ใจ หรือไม่รู้ใจมากกว่า
ที่ผ่านมา แอดมินทั้งสองก็เล่าว่า ราชการถูกจำกัดให้แสดงออกถึงความเห็นในฝั่งเดียว แล้วประเด็นที่ช่วงที่ผ่านมา มีการเกณฑ์คนทั้งราชการเอง หน่วยงานต่างๆ ไปใส่เสื้อเหลือง ในฐานะราชการ รู้สึกอย่างไรบ้าง
แอดมิน 1 : หน่วยงานเราก็มีโดนเกณฑ์นะ แต่เราโชคดี ถ้าเกิดโดนก็คงบอกเลยว่าไม่ไป เพราะวันนั้นเราก็ลางานไปม็อบ ของเรามีการเกณฑ์คนไปประมาณ 20 คน ซึ่งเราก็ได้รับฟังจากคนที่ไปมาจริงๆ ซึ่งเขาก็เป็นคนที่อยู่ฝั่งเสื้อเหลือง เขาก็บอกตรงๆ เลยว่า การเกณฑ์ ไม่ได้มีจุดประสงค์บอกชัดเจนว่าไปทำไม หรือจะให้ไปรับเสด็จตรงไหน สุดท้ายคือมารู้จริงๆ ว่าเกณฑ์ไปเพื่อให้คนเสื้อเหลืองดูเยอะ เอามาคานกับม็อบ คือด้วยความไม่ชัดเจน รถตู้ที่นำส่งข้าราชการก็วิ่งวนไปมา จนหัวหน้าที่ไปบอกว่า ทุกคน เรากลับที่ทำงานกันเถอะ อย่าให้เราถูกเหมาว่าเป็นมวลชนเสื้อเหลือง ซึ่งเราก็ไม่คิดว่าหัวหน้าเขาจะคิดแบบนี้ เพราะมันคือการแหก ไม่ทำตามคำสั่ง สุดท้ายไม่ไป เราจึงให้เครดิตเขามากๆ ว่าต้องแบบนี้สิ
เรามองว่ามันคือความกบฏ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เราต้องการในระบบราชการ คือถ้าคุณเห็นว่าคำสั่งมันไม่โอเค คุณต้องแสดงความต่อต้าน ความกระด้างกระเดื่องได้บ้าง และส่วนตัวมองว่ามันน่าเกลียดนะ อย่างกรณีที่ต่างจังหวัดบางแห่งใส่ชุดข้าราชการไปเดินพาเหรดกันตอนกลางวันเลย เอาเวลาราชการไปแสดงความจงรักภักดี ซึ่งเอาจริงก็ไม่ต่างอะไรกับการเกณฑ์คนใส่เสื้อเหลืองไปรับเสด็จหรอก ในขณะที่ก็ต้องทำงานอื่น แต่เมื่อ mindset คุณมองขึ้นบนอย่างเดียวว่า คุณต้องจงรักภักดี แต่คุณกำลังมองข้ามประชาชนอีกหลายสิบล้านเหรอ ซึ่งอันนี้คือความอันตราย เพราะว่าข้าราชการที่เป็นสลิ่มเขาก็จะมี mindset แบบนี้ว่า ฉันทำเพื่อประชาชนได้ แต่ถ้าให้เลือก สถาบันต้องมาก่อน ซึ่งมันไม่โอเคเลย
แอดมิน 2 : เวลานี้ทุกคนคงเข้าใจกันว่า การที่คุณเกณฑ์คนไป ไม่ใช่หน้าที่ของข้าราชการ และความเห็นส่วนตัวในฐานะราชการ รู้สึกว่าถูกเหยียดหยามมาก เสียศักดิ์ศรีมากที่สามารถถูกสั่งให้ไปทำอะไรเพื่อรับใช้คนบางกลุ่มที่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง หรือเพื่อรับใช้การเมืองในแบบที่น่ารังเกียจกว่าการแทรกแซงของรัฐบาลประชาธิปไตยทุกรัฐบาล โดยใช้ทั้งการสั่งการ และใช้ทรัพยากรของรัฐ มันเกินจุดที่จะยอมรับได้แล้ว การที่ถูกบังคับให้ไปมีส่วนร่วม การถูกบังคับทางความคิด มันรุนแรง ต่อให้เหตุการณ์นี้เกิดในยุคไหนก็ตาม
แอดมิน 1 : บางทีเหตุการณ์เรื่องการเกณฑ์ก็สะท้อน mindset คนรุ่นใหม่ ตอนนั้นก็มีการไลน์หากันว่า ต้องการอาสาสมัครในสำนักกี่คน แต่ประเด็นคือเด็กรุ่นใหม่เงียบหมดเลย ไม่มีใครเต็มใจไปตรงนี้ ทั้งๆ ที่ปกติในราชการ เด็กๆ ก็จะยอมไป ถ้าผู้ใหญ่สั่งให้ไป อาสาไปก่อน แต่ครั้งนี้ไม่มีจริงๆ จนผู้ใหญ่ต้องไปให้แทน หรือมีนโยบายว่าจับฉลากไปกัน
นี่คือความกบฏของที่ทำงานเรา ซึ่งมันทำให้มันมีความราชการน้อยกว่าที่อื่น คือมันก็มีคนที่ทำงานเพื่อรับใช้หัวหน้า รับใช้นักการเมือง แต่ส่วนใหญ่เราจะมองคนเท่ากันมากกว่า จะไม่ค่อยมีลำดับขั้น ซึ่งทั้งเราและแอดมิน 2 ก็มีประสบการณ์ไปเรียนต่างประเทศมา เราก็จะรู้สึกไม่โอเคกับภาพโค้งคำนับ ล้อมหน้าหลังผู้ใหญ่ เรามองว่า คนต้องเท่ากัน และนั่นคือแอกที่ต้องปลด
คำว่าปลดแอกตรงนี้ก็ไปสะท้อนกับน้องๆ เยาวชนปลดแอก กับกลุ่มอื่นๆ ที่ในม็อบ เขาเน้นคำว่าคนเท่ากันเยอะมาก และทุกอย่างในประเทศสามารถวิจารณ์ได้หมด ซึ่งสำหรับเรามันถือเป็นความน่าทึ่งของสังคมไทยนะ ย้อนไป 7-8 ปีก่อนเรายังไม่กล้าพูดอะไรแบบนี้เลย ตอนนี้คนกล้าพูดตรงๆ ซึ่งถึงแม้มันจะมีกฎหมาย และรัฐบาลก็พร้อมจะใช้ทุกมาตรา แต่เราว่ามันเหมือนการปลุกความกบฏในตัวคนไทย และไปปลุกความเป็นกบฏในราชการบางส่วนด้วย
ในม็อบก็จะมีข้อเรียกร้องเยอะมาก ไม่ว่าจะการปฏิรูปอะไรหลายๆ อย่าง แล้วถ้าหากเราพูดกันถึง ‘การปฏิรูประบบราชการ’ คิดว่าจะต้องเริ่มที่จุดไหนดี
แอดมิน 1: mindset สำคัญที่สุด เปลี่ยน mindset จากการรับใช้เบื้องบนเป็นรับใช้ประชาชน เปลี่ยนได้ปุ๊บ ทุกอย่างปลดล็อกทันที คุณเป็นข้าประชาชนนะหรือใช้คำว่าเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ แต่ถ้าคุณมองว่าประชาชนคือกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนคือคนที่คุณต้องดูแล ระบบมันจะไปได้ ถ้าระบบมันจะเร็วขึ้น ก็เพื่อประชาชนจะได้รับบริการที่เร็วขึ้นดีขึ้น จะปลดล็อกไปได้เอง
ตอนนี้ ข้าราชการในระเบียบจะใช้คำว่า ‘ผลประโยชน์ของชาติ’ แต่ชาติคือใคร คุณไม่เคยนิยาม ชาติคือสถาบันทหาร พระ นักการเมือง หรือชาติคือบริษัทใหญ่ ?
เอาจริงๆ ถ้าบอกว่าคือ ‘ประชาชน’ เพราะสุดท้ายแล้วประชาชนคือคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ประโยชน์ เราควรจะตีความคำว่าชาติกันใหม่ ว่าชาติของคุณคืออะไร แต่สำหรับเราชาติคือประชาชน และไม่มีนิยามอื่น
แอดมิน 2: อาจให้ข้อเสนอที่ practical กว่านี้ และ controversial กว่านี้ คือ ยกเลิกสวัสดิการสุขภาพ และยกเลิกบำนาญ ของสองอย่างนี้ทำให้คนเข้ามาเพื่อถูกชุบเลี้ยง คนเก่าๆ ยกเลิกไม่ได้หรอก แต่คนใหม่ที่เข้ามาหลังจากนี้จะมีสภาพการจ้างเปลี่ยนไปเลย อาจเพิ่มเงินเดือน และลดจำนวนรับ ซึ่งก็จะช่วยดึงคนที่มาแล้วพร้อมแข่งขันในระบบได้ ไม่ใช่มาเพื่อถูกชุบเลี้ยงไปวันๆ
แล้วมันแทบจะเป็นคำพูดของคนในระบบ หรือคนที่อยู่ในระบบมานานเลย ที่แนะนำเวลาอยากจะลาออก ว่าต้องเกาะสวัสดิการสุขภาพ กับบำนาญไว้ให้แน่นเลย
มีความหวังไหมว่าระบบราชการจะค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้
แอดมิน 1 : การที่แอดมิน 2 พูดว่าคนรุ่นใหม่เหมือนนีโอสลิ่ม ที่เขาก็เลือกตัวเองเข้ามาในระบบราชการ อันนี้เราก็เริ่มกังวลนิดๆ หน่วยงานเรานีโอสลิ่มน่าจะน้อย และเด็กที่เข้ามาทุกคนก็คือมีความเห็นไปในทางเดียวกับม็อบหมดเลย ซึ่งถ้าเรามีคนที่อยู่ฝั่งนี้เยอะจริงๆ ระบบมันน่าจะเปลี่ยนได้ เพราะสุดท้ายคนรุ่นเก่าก็ต้องตาย อย่างที่บอกว่าเวลามันอยู่ข้างเราเนอะ เป็นแนวคิดแบบนี้มากกว่า แต่ระบบมันก็กลืนกินอุดมการณ์ และทำให้คนหนืดได้ อันนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง
เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นบางอย่าง ด้านการบริการประชาชนก็เริ่มเร็วขึ้น ถ้าการ digitalize มันเกิดจริงๆ มันก็น่าจะทำให้เด็กรุ่นนี้ไม่หมดไฟไปก่อน ถ้าเขาได้ระบบที่กระชับขึ้น เขาก็น่าจะมีความพอใจกับงานราชการมากขึ้น และก็ยังหวัง ถ้าไม่หวังก็คงไม่มาทำเพจหรอกครับ ก็คือหวังแต่ยังไม่กล้าหวังมากเกินไป
แอดมิน 2 : คุณไม่สามารถพูดได้ว่า ครั้งนี้ชนะแล้วคุณจะเปลี่ยนระบบราชการได้ตามใจชอบ ต่อให้วิธีเปลี่ยน ระบบราชการเดิม คนทำงานเดิม และกฎหมายเดิมยังอยู่ คุณไม่สามารถที่จะยกเครื่องแล้วเอากฎหมายใหม่ ข้าราชการใหม่เอี่ยมเหมือนเปลี่ยนเครื่องยนต์รถยนต์ทั้งเครื่องลงไปได้หรอก เจ้าของประเทศใหม่ต้อง co-opt กับระบบราชการให้ได้ ต้องเอาเขาเข้ามาร่วมมือให้ได้ และต้องให้ประโยชน์ที่สมกัน เพื่อให้ระบบดำเนินต่อไป แต่อาจต้องทำใจว่าการเปลี่ยนแปลงมันอาจเกิดน้อยกว่าที่ทุกคนหวังไว้ก็ได้
เปิดเพจมาได้เดือนกว่าๆ ได้เรียนรู้อะไรจากการทำเพจข้าราชการปลดแอกบ้าง
แอดมิน 1 : ต้องบอกว่ายังมีสลิ่มอยู่ไม่น้อย และข้าราชการก็ยังโดนมองด้วยวาทกรรมที่เราคุยกันมาหมดเลย ทั้งภาพเช้าชามเย็นชาม ล่าช้า เกาะกินสวัสดิการอยู่ เรายังรู้สึกว่ามุมมองของราชการที่ประชาชนมองเข้ามาก็ยังไม่ดี ยังเหมือนกับ 40-50 ปีที่แล้วเลย ซึ่งส่วนหนึ่งเรามองว่า เราเองก็สมควรโดนด่าในหลายๆ ครั้ง
แต่เราเองก็พยายามนำเสนอเหมือนกันว่า มีข้าราชการหัวสมัยใหม่อยู่ ที่พร้อมจะไม่ต้องทำตามคำสั่งอย่างเดียว ที่พร้อมจะออกมานำเสนอมุมมองที่ไม่ใช่ทางการ และก็ได้รู้ว่ามีคนที่คิดเหมือนเราอยู่เยอะ แต่อาจด้วยวัฒนธรรมองค์กร ทำให้เขาไม่กล้าออกตัว มีกลุ่มคนที่หลังไมค์มาค่อนข้างเยอะ มาให้กำลังใจ ระบายความอัดอั้นตันใจบ้าง แต่อันนี้คือสิ่งที่ได้เรียนรู้นะ