“ผมคิดหนักอยู่ว่าผมจะให้สัมภาษณ์ดีหรือไม่ ..เพราะผมเชื่อว่าถ้าบทสัมภาษณ์นี้เผยแพร่ ผมก็ต้องถูกด่า โดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าผมทำอะไรอย่างไร”
คือคำพูดของ ‘คำนูณ สิทธิสมาน’ สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งพูดอยู่หลายครั้งระหว่างที่นั่งสนทนากับเรา นี่อาจเป็นข้อบ่งชี้ว่า ส.ว.ชุดปัจจุบันเองก็ตระหนักว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยมองภาพลักษณ์การทำงานของพวกเขาอย่างไร
The MATTER อยากสนทนากับ ส.ว. มาระยะหนึ่งแล้ว หลังจากสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ตั้งฉายาให้กับวุฒิสภาเมื่อปลายปี พ.ศ.2563 ด้วยถ้อยคำรุนแรงว่าเป็น ‘สภาปรสิต’
ชื่อของคำนูณถูกหยิบยกขึ้นมา ในฐานะหนึ่งในคนที่เราคิดว่าน่าจะพูดคุยได้ด้วยอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากที่สุดคนหนึ่ง
ตลอดระยะเวลา 15 ปีหลัง นับแต่รัฐประหารปี พ.ศ.2549 คำนูณมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำคัญๆ ผ่านการ ‘แต่งตั้ง’ หลายครั้ง ทั้งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (พ.ศ.2549-2551) ส.ว.สรรหา ภาควิชาการ (พ.ศ.2551-2557) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (พ.ศ.2557-2558) กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ (พ.ศ.2557-2558) และล่าสุด ส.ว.ซึ่งแต่งตั้งโดยคนของ คสช. (พ.ศ.2562-ปัจจุบัน)
เรานัดหมายพูดคุยกับคำนูณ 1 วัน ก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับของ คสช.) ในวาระที่สาม ซึ่งหลายคนน่าจะรู้ผลไปแล้วว่า ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติ ‘คว่ำ’ ร่างดังกล่าว โดย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจำนวนหนึ่ง และ ส.ว.แต่งตั้ง ร่วมกันใช้วิธี ‘งดออกเสียง-ไม่ประสงค์ลงคะแนน’ จนทำให้ได้รับเสียงเห็นชอบไม่ถึงเกณฑ์
สถานที่สนทนาคือ ‘สัปปายะสภาสถาน’ – ที่ที่คำนูณมองว่า จะเข้ามา “ทำประโยชน์ให้บ้านเมือง” แม้มีเสียงก่นด่าต่อว่ามากมาย
นักการเมืองแต่งตั้งจำเป็นแค่ไหนในระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีนักการเมืองเช่นนี้ต่อไปหรือไม่ เหตุใดถึงไม่ไว้วางใจให้ประชาชนได้มีสิทธิกำหนดอนาคตของตัวเองทั้ง 100% – คือประเด็นหลักที่เราเตรียมไปพูดคุย
และนี่คือบทสนทนาที่คำนูณพูดอยู่เป็นระยะ “คิดหนัก” ว่าจะให้สัมภาษณ์ดีหรือไม่
เป็นเพราะอะไร ไปติดตามอ่านกันดู
ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการ ‘แต่งตั้ง’ มีบทบาทหน้าที่อย่างไรในระบอบประชาธิปไตยไทย
ก็แล้วแต่ว่ารัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้ว่าให้มีหรือไม่มี ที่ผ่านมาต้องเข้าใจว่า ส.ว.ตั้งแต่ พ.ศ.2492 ก็มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด โดยนายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ พูดง่ายๆ ก็คือ นายกฯเป็นคนแต่งตั้ง เพิ่งมามีตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ที่ให้มี ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ก็แบ่งเป็นครึ่งๆ ครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละคน ครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา พอมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ในบททั่วไป ก็เป็นการเลือกกันเองทั้งหมด 200 คน มีเฉพาะบทเฉพาะกาลแรก 250 คนนี่แหละ ที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้
ฉะนั้น เมื่อบ้านเราออกแบบให้มีการเมืองระบบรัฐสภาที่มี 2 สภา สถานะและหน้าที่ของแต่ละสภาก็ควรจะแตกต่างกัน ถ้าจะมาจากการเลือกตั้ง ก็ควรจะมาจากการเลือกตั้งคนละระบบ เพื่อให้ได้ตัวแทนปวงชนชาวไทยมีความต่างกันและสมบูรณ์มากขึ้น และก็อยู่กับการออกแบบหน้าที่ของแต่ละสภาว่าควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็เป็นวิวัฒนาการที่เป็นมาโดยตลอด
ปัญหาก็คือ ส.ว.ชุดแรกตามบทเฉพาะกาล ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. 194 คน เป็นโดยตำแหน่งอีก 6 คน (ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร.) และมาจากการเลือกกันเองจาก 200 คน ก่อนที่จะให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน รวมเป็น 250 คน ต้องบอกว่า ตั้งแต่มีบทเฉพาะกาลนี้ขึ้นมา ส.ว. ที่เข้ามาถูกมองในแง่ลบมาโดยตลอด เพราะตามบทเฉพาะกาลของ ส.ว. ชุดแรกมันมีมากกว่าอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ปกติ และเป็นอำนาจหน้าที่ที่ไม่เคยมีมาก่อน คือการโหวตเลือกนายกฯ ในที่ประชุมร่วมกันรัฐสภา
ฉะนั้นก็เรื่องธรรมดาอยู่แล้ว ในกระแสของการต่อต้าน คสช. และการเรียกร้องประชาธิปไตย การเป็น ส.ว.โดยตัวของมัน ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังไม่ต้องทำอะไรก็ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบอยู่แล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องยอมรับ
ถ้าตัดเรื่องตัวบทเฉพาะกาลต่างๆ ออกไป ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจากการแต่งตั้ง ยังควรจะมีอยู่ไหม
บ้านเราต้องยอมรับว่า อาจจะเหลือเป็นประเทศเดียวในโลก ที่บังคับว่า ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ถ้าไม่สังกัดพรรคการเมืองลงสมัครไม่ได้ มันมีข้อจำกัด และเมื่อเข้ามาอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทย ความเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยของ ส.ส. ทั้งหมด จึงมีข้อจำกัด และเป็นผู้แทนโดยพื้นที่ เพราะฉะนั้น มันทำให้ผู้แทนที่ควรจะมาจากระบบอื่น เพื่อเสริมความเป็นแทนของปวงชนชาวไทยในรัฐสภาให้มีความสมบูรณ์ขึ้นกลับขาดไป
อย่างเช่น คุณมณเฑียร บุญตัน (ส.ว.แต่งตั้ง ซี่งเป็นผู้พิการทางสายตา) ถ้าทุกอย่างมากจากเลือกตั้ง คุณมณเฑียรก็คงไม่มีโอกาสเป็น ส.ส. หรือคงไม่ไปรับสมัครเป็น ส.ส. ผมเอง ด้วยความเคารพ คือผมอยากจะทำงานเป็นสมาชิกสภา แต่ว่าถ้ามีแต่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ต้องยอมรับว่าตัวเองไม่ถนัด ภูมิศาสตร์ของตัวเราเองเป็นคน กทม. และเราไม่ใช่คนทำงานในพื้นที่ เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะได้รับการเลือกตั้งตามระบบเลือกตั้งจึงค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ผมจึงน่าจะไม่มีโอกาส ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด
เมื่อสถานการณ์ทำให้ได้เข้ามาในรัฐสภา ก็รู้อยู่ว่าจุดอ่อนของตัวเราเองไม่ได้มากจากการเลือกตั้ง คำที่เจ็บปวดมาโดยตลอดคือ ‘พวกลากตั้ง’ แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อเราเข้ามาทำหน้าที่ เราก็พยายามจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
มีข้อวิจารณ์ว่า “ใครตั้งคุณมา คุณก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเขา” เรื่องนี้เป็นจริงแค่ไหน
จริงๆ รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุให้ทำเช่นนั้น ใครจะตั้งเรามาก็แล้วแต่ เราก็ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่ว่าจะพูดอย่างไรให้คนเชื่อเรา มันก็คงเป็นไปไม่ได้ คนย่อมเชื่อว่า “ใครตั้งเรามา เราก็ต้องทำเพื่อเขา” ผมว่ามันต้องพิสูจน์กันยาวๆ ในเมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดให้เรามีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกฯ และบทบัญญัตินั้นมีที่มาที่ไปจากการทำประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559 ที่มีทั้งการรับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 และการรับคำถามเพิ่มเติมที่มาจาก สปท. และ สนช. ในขณะนั้น ก็ด้วยความเชื่อที่ว่า จะทำให้สถานการณ์ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของระบอบการเมืองและการปฏิรูปประเทศตามบังคับรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ด้วยดี
แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป มันจะเป็นไปตามเป้าหมายที่แท้จริงหรือไม่ ผมเชื่อว่าเราทุกคนเองก็มีความคิดอยู่ในใจ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ เวลามันก็ผ่านมาพอสมควร และบทบัญญัตินั้นก็เหลือระยะเวลาอีกไม่นาน โดยเฉพาะตัวผมเอง ต่อให้บทบัญญัตินี้ยังคงอยู่ แล้วยังมีการเลือกนายกฯครั้งต่อไป ผมเองจะงดออกเสียงแน่นอน เพราะการโหวตนายกฯครั้งแรก เราอ้างต่อสาธารณะว่าเพื่อตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศ แต่เอาเข้าจริงก็ต้องยอมรับว่า การปฏิรูปประเทศไม่ได้เดินหน้าไปตามที่คาดหวังเอาไว้
แปลว่าคุณเองก็เสียใจที่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ไม่ได้เสียใจ ในขณะนั้นผมก็เขียนแสดงความเห็นว่า ผมเลือกท่านเพราะอะไร และอันที่จริงคือ ต่อให้ ส.ว.ไม่เลือกท่าน ท่านก็สามารถที่จะรวบรวมเสียงใน ส.ส.ได้อยู่แล้ว แม้ว่าจะหวุดหวิดอย่างไรก็ตาม แต่โดยสรุป ผมเห็นว่ามันไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร ที่เอา ส.ว.ไปร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะว่าอย่างไรเสีย นายกฯก็ต้องทำงานในสภาผู้แทนราษฎร ต้องมีเสียงข้างมากใน ส.ส.
ผมไม่เชื่อว่า ส.ว.จะไปดำเนินการใช้เสียงของตัวเอง เพื่อเลือกนายกฯที่มีเสียงข้างน้อยในสภา เพราะต่อให้เลือกเขาเป็นนายกฯได้ เขาก็บริหารประเทศไม่ได้ งบประมาณไม่ผ่านแน่นอน ผมมองว่าบทบัญญัตินี้ไม่ควรจะมี แต่ถ้ายังมีอยู่ ผมเองก็จะไม่ใช้สิทธิร่วมเลือกนายกฯอีกครั้งหนึ่ง ผมคงงดออกเสียง อันนี้ชัดเจน เพราะเป็นเรื่องที่ผมพูดต่อสาธารณะไปแล้ว
ปลายปีที่ผ่านมา มีการตั้งฉายาให้ ส.ว. ว่า ‘สภาปรสิต’ คิดอย่างไรกับฉายานี้
ผมคิดว่าโลกนี้มันไม่มีอะไรได้ทุกอย่าง เมื่อเราได้เข้ามาทำหน้าที่ตามระบบแบบนี้ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะถูกมองในเชิงลบเช่นนั้น
คำอธิบายที่มาของฉายานี้ มาจากเหตุผลว่า ส.ว.แต่งตั้ง พยายามถ่วงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ผมคงตอบแทนคนอื่นไม่ได้ แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมก็มีความเห็นแตกต่างจาก ส.ว.คนอื่นมาตั้งแต่ต้น เพิ่งจะมามีความเห็นที่ตรงกันกับเขาหลังจากมีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญออกมา (คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564) ที่ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง ส.ส.ร. จะต้องจัดทำประชามติก่อนเริ่มดำเนินการ และคำวินิจฉัยดังกล่าวผูกพันกับทุกองค์กร รวมถึงสมาชิกรัฐสภา
คำวินิจฉัยดังกล่าวได้วางหลักการสำคัญเกี่ยวกับ ‘อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ’ ไว้ ซึ่งจะเป็นคุณต่อประชาชนในอนาคต แต่สำหรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาในวาระหนึ่งและสองไปแล้ว จะเดินหน้าต่อไม่ได้
แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เสมือนไปแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสียเอง เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ไม่ได้มีบทบัญญัติที่ว่า
ในเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผมก็ดี คุณก็ดี เราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย มันเป็นสิทธิของเรา แต่ว่ามันเป็นเด็ดขาด อุทธรณ์ที่ไหนไม่ได้ และมันมีผลผูกพัน อย่างน้อยก็คือผมในฐานะสมาชิกรัฐสภา มีผลผูกพันสมาชิกทุกคน มันก็ไม่สามารถเป็นอื่นไปได้
ทำไมรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ถึงฉีกง่าย แต่แก้ยากมาก
ผมเชื่อว่าไม่มีใครเห็นชอบกับการรัฐประหารทั้งสิ้น แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว และไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ตอนนี้เป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรที่เราจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ผมเข้าใจความคิดที่ว่า กว่าจะเขียนฉบับใหม่ขึ้นมาช่างยากเสียจริง แต่การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการทำรัฐประหารมันทำได้ง่าย ก็ไม่ผิด แต่พอมันมาถึงจุดนี้ เราต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไรต่อ
ผมจึงอยากชวนคิดอีกมุมว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญเอาทฤษฎีอำนาจนสถาปนารัฐธรรมนูญมาบัญญัติไว้ในคำวินิจฉัยที่ 4/2564 จะเป็นคุณูปการในระยะยาว เทียบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ.2555 ศาลเพียงใช้คำว่า ‘ควร’ แต่ครั้งล่าสุดใช้คำว่า ‘ต้อง’ ถ้าวันใดวันหนึ่ง ท่านได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 แล้วรัฐบาลนั้นอยากจะแก้ไขปัญหาบ้านเมืองด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ การจะทำประชามติสอบถามประชาชนก็ย่อมทำได้ ส่วนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราก็สามารถทำได้ทันที ไม่ได้มีข้อห้ามอะไร
แต่หลักเกณฑ์นี้เหมือนวางไว้บังคับเฉพาะกรณีรัฐบาลปกติ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลรัฐประหาร ทุกอย่างจะดูง่ายไปหมด อยากฉีกอยากแก้อะไรก็ได้
เวลารัฐประหารเขาใช้อำนาจ ใช้กำลังบังคับ ประเทศเราถือหลักว่า “ถ้าทำสำเร็จ ไม่มีผู้ต่อต้าน ก็ถืออำนาจรัฐไป” แต่ก็มีบางครั้งที่ทำไม่สำเร็จ ก็กลายเป็นกบฎไป เช่น กรณีกบฏเมษาฮาวายในปี พ.ศ.2524 หรือกบฎ 9 กันยายน พ.ศ.2528 หรือก่อนหน้านั้นก็มีอีกหลายครั้ง มันก็เป็นทฤษฎีการเมืองปกติทั่วไป ที่ว่าถ้าหากว่าคุณยึดอำนาจรัฐได้ คุณก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์
ทีนี้มันก็ขึ้นอยู่กับวิวัฒนาการของสังคม หรือถ้าว่าประชาชนไม่ยอม สถานการณ์มันก็จะเป็นไปในอีกทางหนึ่ง แต่ขณะนี้ เราไม่ควรพูดถึงด้านเดียว การรัฐประหารมันไม่ดีหรอก แต่การรัฐประหารมันเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าสถานการณ์ก่อนการรัฐประหารมันไม่เอื้ออำนวยในเกิดการรัฐประหารขึ้นมา ถ้าเราพูดถึง 2 ด้านนี้พร้อมกัน แล้วเราอยากหาทางออกร่วมกัน ที่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก
ฟังคล้ายกับว่า คุณคำนูณมองว่า ‘เงื่อนไข’ มอบ ‘ความชอบธรรม’ ให้แก่การทำรัฐประหาร
ผมว่าไม่มีใครอยากทำรัฐประหารอยู่ในทุกลมหายใจ เพราะการทำรัฐประหารก็มีความเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จ และความรับผิดชอบมันมีสูงมาก แต่ว่าในบางสถานการณ์ มันจะทำได้ต่อเมื่อมีปัจจัยเอื้ออำนวย เช่น บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปตามปกติไม่ได้ รัฐบาลบริหารประเทศต่อไม่ได้ คือมันคุยกันได้เป็นวันๆ อย่างก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 มันก็มีเหตุไม่สงบมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2556 แล้ว และมันก็มีต่อเนื่องกันมาโดยตลอด เช่นเดียวกันกับเมื่อ พ.ศ.2549 ที่มีเหตุการณ์การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้นต่อเนื่องกันมาเป็นปี มันก็มีเหตุที่คุยกันได้หมด
แต่คนรุ่นใหม่อาจมองว่า รัฐประหารคือความเลวร้ายสมบูรณ์ในตัวของมันเอง
ก็มองได้ แต่ว่าเราไปกำหนดมันไม่ได้เพราะเราไม่ใช่ผู้ทำ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราจะทำอย่างไร มันมีราคาที่บ้านเมืองของเราต้องจ่ายไป จะทำอย่างไรให้มันคุ้มค่ามากที่สุด
ตัวคุณเองก็เข้าไปทำงานให้กับผู้ทำรัฐประหาร แล้วมันจะตัดวงจรราคาที่ต้องจ่ายของบ้านเมืองได้ไหม
ผมไม่ทำก็มีคนอื่นทำ ต่อให้ผมลาออกวันนี้ ก็มีคนอื่นรอคิวมาทำแทน เพราะมีชื่อสำรองอยู่แล้ว
เมื่อผมตัดสินใจว่าผมรับ เพราะผมเชื่อว่า ผมก็อยากจะทำประโยชน์ให้บ้านเมืองตามสมควรแต่กรณี มันก็ไม่มีอะไรที่ได้มาอย่างเดียว ผมก็ต้องรับภาระที่ต้องถูกมองในอีกด้านหนึ่งไปด้วย ไม่ว่าจะชี้แจงอย่างไรก็คงไม่สามารถทำให้ทุกคนเข้าใจเราได้
เวลาสื่อทำโผนักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งยาวนานที่สุด มักมีชื่อคุณคำนูณติดมาด้วยตลอด
(ตอบทันที) ผมติดโผลำดับต้นๆ เสมอ.. คือทุกคนเข้ามาด้วยเจตนาอันแรงกล้าว่า ในเมื่อมีรัฐประหารแล้ว บ้านเมืองเสียหายไป เราจะทำอย่างไรให้การทำรัฐประหารในครั้งนี้มันเป็นครั้งสุดท้าย ก็มีการกำหนดแนวทางการปฏิรูปประเทศขึ้นมา
ผมเองตั้งความหวังเอาไว้สูงว่าอยากจะเข้ามาร่วมร่างรัฐธรรมนูญ แล้วก็ได้เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุด อ.บวรศักดิ์ ถามว่าผมผิดหวังไหมว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นถูกคว่ำโดย สปช. ที่ทุกคนตั้งใจทำกันอย่างเต็มที่ แต่ดูเหมือนว่าการตอบสนองมันอาจจะไม่มากเท่าที่ควร มันก็จบลงไป เป็น สปช. ก็เข้าใจว่าการปฏิรูปประเทศมันขับเคลื่อนไปได้ค่อนข้างช้า
แค่ผมกลับพบว่า ก็มีผลงานที่น่าภูมิใจเป็นการส่วนตัว คือได้เข้าร่วมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายที่ อ.บวรศักดิ์เป็นประธาน เราสามารถทำร่างกฎหมายคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากสำเร็จ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี หลังจากที่เรื่องนี้ถูกผลักดันกันมายาวนานตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 มันก็มีประโยชน์อยู่
เมื่อมีการสรรหา ส.ว.แต่งตั้งชุดใหม่ ผมตัดใจอยู่พอสมควรทีเดียวว่า เราจะเอายังไงดี สุดท้ายก็ตัดสินใจที่จะรับ รู้สึกว่าชีวิตไม่เหมือนเดิม มันไม่เหมือนการเป็น ส.ว.สรรหา ช่วง พ.ศ.2551-2554 เพราะมันติดลบตั้งแต่เข้ามา ก็เข้าใจ แต่ผมคิดว่าจะพยายามทำให้ดีที่สุด
ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า เข้ามาเป็น ส.ว.แบบค่าเริ่มต้นติดลบ เหตุใดถึงยังรับ
สังคมไทยมันแบ่งเป็น 2 ฟาก ฟากหนึ่งก็มองลบอย่างเดียว และเขาคงไม่ดูหรอกว่าผมพูดอะไร เป็น ส.ว.ก็คือมันเลวมาตั้งแต่เกิด และผมเชื่อว่าเดี๋ยวถ้าลง The MATTER ผมก็ต้องถูกด่า โดยที่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าผมทำอะไรอย่างไร ผมคิดหนักอยู่ว่าผมจะให้สัมภาษณ์ดีหรือไม่ เพราะสังคมมันเป็นอย่างนี้
ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่ง ก็จะด่าคนอีกกลุ่มหนึ่งแบบสาดเสียเทเสียเช่นกัน เพราะฉะนั้น ตราบใดที่สังคมเป็นแบบนี้ มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนตอนที่ผมเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตอนผมแสดงความเห็นออกมา คนที่ด่าผมกลุ่มเดิมก็ยังด่าผมอยู่ คนที่เคยสนับสนุนผมหรือเคยด่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง ก็เริ่มจะลังเลในตัวผมว่าผมเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า
บางครั้งการดำรงอยู่ด้วยความพยายามที่จะเป็นตัวของตัวเอง ในชีวิตจริงมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
ถ้าเราอยู่นอกภาครัฐ เราจะทำอะไรก็ทำไป แต่เมื่อเรามาอยู่ในภาครัฐ เป็นบุคคลสาธารณะที่กินเงินค่ายังชีพจากภาษีอากรของประชาชน มันยากที่จะเป็นที่พอใจของคนทั้ง 2 กลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมคิดว่าสังคมไทยไม่เคยแตกแยกหนักหน่วงขนาดนี้มาก่อน และนับวันมันก็จะแตกแยกมากขึ้นเรื่อยๆ
พูดถึงการดำรงอยู่ให้เป็นตัวของตัวเอง ทุกวันนี้รู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากน้อยแค่ไหน
ที่จริงมันไม่ใช่แค่เรื่องตำแหน่งหน้าที่อะไร สมัยผมยังเป็นวัยรุ่น ผมเข้ามหาวิทยาลัยตอน พ.ศ.2516 ซึ่งผมเจอกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ด้วยความเคารพ ความคิดของผมในตอนนั้นไม่ต่างอะไรไปจากเยาวชนที่ชู 3 นิ้วในทุกวันนี้หรอก แต่เพราะในวันนั้น เราไม่ต้องคิดถึงเรื่องอื่นเลย เรามีความคิดความเชื่อ มีอุดมการณ์อย่างหนึ่ง ที่เรากระตือรือร้นจะให้มันเกิดขึ้นจริงให้ได้ แต่เมื่อวันเวลามันผ่านไป เรามีภาระเพิ่มขึ้น เรามีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น การที่เราจะทำอะไรตามใจเราทั้งหมด มันถูกจำกัดลงไปทีละน้อย ที่สำคัญที่สุด เมื่อเราพบกับโลกของความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น บางครั้งสิ่งที่เราเคยยึดมั่น สิ่งที่เราเคยเชื่อ มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป
ผมอยู่ในยุคที่แนวความคิดซ้ายในขณะนั้น ไม่ใช่ประชาธิปไตยในขณะนี้ เพราะแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์กำลังแพร่หลาย เพราะสังคมถูกกดทับมานาน เราเลยมีความเชื่อว่าสังคมมันจะมีความเท่าเทียมกัน การต่อสู้เพื่อให้มีสังคมที่เท่าเทียมกันจะเกิดขึ้นได้ แต่สุดท้าย เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปไม่กี่ปี วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ก็เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ในประเทศไทย เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร
แต่เหตุการณ์สำคัญในโลกอย่างหนึ่งก็คือเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในที่สุด เราก็เห็นพรรคคอมมิวนิสต์จีนตัดการให้ความช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเพื่อมาคบหาสมาคมกับรัฐบาลไทย เราเห็นประเทศจีนกับประเทศเวียดนามทำสงครามกัน เราเห็นประเทศไทยตระหนักจากภัยของเวียดนาม หลังเวียดนามแตก แล้วไปขอความช่วยเหลือจากประเทศจีน สิ่งเหล่านี้คือความเป็นจริงของโลก การเมืองภายในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งมันสลับซับซ้อนกว่าความคิดความเชื่ออันบริสุทธิ์ของเยาวชนคนหนุ่มสาวในแต่ละยุคแต่ละสมัย
ผมมีเพื่อนที่เขารับเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ เขาก็ไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับโลก เมื่อก่อนโลกสังคมนิยมเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ต่อมาจีนทะเลาะกับรัสเซีย จีนทะเลาะกับเวียดนาม พรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่เคยอยู่ในดินแดนจีนถูกขับไล่ออกมา สถานีวิทยุเสียงประชาชนไทยของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในเมืองคุนหมิงถูกปิด พรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่เคยอยู่ในลาวในเวียดนามถูกขับไล่ออกมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2516 เติ้งเสี่ยวผิง ขึ้นเป็นผู้นำ ก่อนจะเดินทางมาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 มากราบพระแก้วมรกต ตอนนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ไทยจบเลย
นักศึกษาที่เข้าป่าไปหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็อยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยไม่ได้ เพราะคิดต่างกันหมด ความเป็นจริงที่เจอในป่า เจอกับสหายพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ความเป็นจริงที่อ่านจากหนังสือ หรือสิ่งที่เขาเคยเชื่อว่าโลกมันสดใสสวยงาม ในที่สุดก็ต้องออกจากป่ามา กลับมาเรียนหนังสือ กลับมามีอาชีพก้าวหน้าตามระบบเก่า จนถึงทุกวันนี้ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป
โลกแห่งความเป็นจริงในบางครั้ง หรือในหลายครั้ง มันไม่เหมือนกับโลกที่สวยงามตามอุดมการณ์ของเราเสมอไป แต่มันมีข้อจำกัดและมุมมองที่หลากหลาย
ถ้าเอาเรื่องอุดมการณ์กับโลกแห่งความเป็นจริงมาเทียบกัน มีอะไรอยากบอกเยาวชนรุ่นนี้ไหม
ผมไม่กล้าบอกหรอก เพราะว่าท่านคงไม่ฟัง ผมเองเคยให้สัมภาษณ์มาตั้งแต่ช่วงกรกฎาคม-สิงหาคมปี พ.ศ.2563 ว่า จุดที่น่าสนใจของขบวนการต่อสู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในตอนต้นปี พ.ศ.2563 เป็นช่วงที่ขึ้นสู่กระแสสูง จะถูกหรือไม่ถูก ผมไม่พูดถึง แต่ถ้าเป้าหมายคือการต่อต้านเผด็จการ การต่อต้านการสืบทอดอำนาจ และต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ เพียงเท่านี้ผมเชื่อว่าเดินไปได้ไกล แต่ดันมาชะงักเพราะ COVID-19 ระลอกแรก
จุดเปลี่ยนผมว่ามันมาเริ่มในช่วงสิงหาคม พ.ศ.2563 ที่มีการประกาศ 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมพูดมาโดยตลอดว่า ผมไม่เห็นด้วย เพราะในที่สุด มันจะกลายเป็นตัวที่ไปทำลายความชอบธรรมของข้อเรียกร้องในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือข้อเรียกร้องที่ตั้งเป้าโจมตีไปที่การสืบทอดอำนาจ แต่สำหรับเยาวชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งผมไม่รู้ว่าคือกลุ่มไหน เนื่องจากไม่มีแกนนำ ถ้าท่านปักใจเชื่อว่าประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์คือประเด็นสำคัญที่ท่านชูขึ้นมาโดยตลอด จนกระทั่งเป็น 1 ใน 3 ของข้อเรียกร้องสำคัญ แล้วถ้าเราไล่ไปดูความเป็นจริง ผมว่าการต่อสู้ถดถอยลงมาเป็นลำดับจนกระทั่งปัจจุบัน
การที่ขบวนการต่อสู้มันถดถอยลงมานั้น จริงๆ แล้วผมว่ามันเป็นแนวร่วมด้านกลับของรัฐ ถ้าขบวนการต่อสู้ของคุณยิ่งอ่อนลงเรื่อยๆ จากคนที่ทำไปได้ถึงหลักหมื่น ลงมาเหลือหลักพัน ลงมาถึงหลักร้อย เดี๋ยวนี้บางทีไม่ถึงร้อย มันก็ทำให้มีผลต่อดุลพลังทางการเมืองอยู่เหมือนกัน ผมว่าคนไทยจำนวนมากยังคงจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมาพูดถึงเรื่องนี้
คนจำนวนมากไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้เต็มที่ หลายคนมีความเบื่อ ซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะท่านก็อยู่มา 6-7 ปีแล้ว แต่พอเขามาเห็นว่า ในขบวนการต่อต้านของคนรุ่นใหม่ ท่านดันเอาทุกเรื่องมาผูกพันกันหมด แล้วท่านไปไกลถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ท่านเอาทุกเรื่องแม้กระทั่งวัฒนธรรม การศึกษา มารวมกันหมด ต่อต้านหมดทุกอย่าง แทนที่คนที่เขาเบื่อรัฐบาลจะเข้ามาร่วมด้วย เขาก็ไม่เข้าไปร่วมกับขบวนการต่อสู้ในที่สุด
ผมพูดไปก็คงจะถูกด่าอีก แต่ก็ไม่เป็นไร ท่านก็ต้องสรุปบทเรียนจากตัวเอง แต่ใครจะสรุปล่ะ เพราะพอไม่มีแกนนำ ใครจะทำหน้าที่สรุปบทเรียน ผมยังแยกไม่ออกเลยว่ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มไหน แต่ภาพรวมมันออกมาเป็นแบบนั้น
ในมุมมองส่วนตัวคุณคำนูณ คิดว่าการเคลื่อนไหวของเยาวชนจะตกลงแล้วตกเลย หรือมีโอกาสจะกลับขึ้นมาอีก
การเมืองก็เหมือนหยดน้ำที่อยู่บนจาน มันก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อย่าลืมว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันก็ไม่ได้มีความเข้มแข็งอะไรมากนัก แต่เผอิญว่าฝ่ายค้านทั้งในสภาและนอกสภาก็ไม่มีความเข้มแข้งมากนักเช่นกัน ผมเชื่อว่าถ้าแยกเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ออกไป น้ำหนักจะเพิ่มมากกว่านี้ หรือว่ามีขบวนที่ชัดเจนควบคุมกันได้ ให้ข้อเรียกร้องหรือภาพลักษณ์แนวทางการประพฤติปฏิบัติมันอยู่ในกรอบพอสมควร ซึ่งท่านอาจจะบอกว่าเป็นกรอบของคนรุ่นเก่าก็ได้ แต่ว่าเรากำลังทำงานการเมืองเพื่อเรียกให้แนวร่วมเขาเข้ามาสนับสนุนเรา เราก็ต้องเข้าไปอยู่ในใจของเขาด้วย
ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลก็จะอยู่ต่อไปได้ แล้วก็อยู่มา 2 ปีแล้ว แต่จะอยู่จนครบวาระอีก 2 ปีหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ มันขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ต่างๆ และการปฏิบัติของรัฐบาลด้วย
แล้ว ส.ว.แต่งตั้ง จะเป็นตัวแปรในเรื่องนี้ได้ไหม
ส.ว.โดยธรรมชาติ จากอายุ คุณสมบัติ และการเลือกเข้ามา เราก็ต้องยอมรับว่าเราเป็นตัวแทนความคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมอยู่แล้ว อันที่จริง การที่ ส.ว.เป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีมาในทุกยุคทุกสมัย ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าการมี 2 สภา ก็เป็น 2 สภาที่คานซึ่งกันและกัน แต่ประเด็นที่เป็นมาโดยปกติก็คือ ส.ส.เขามีอำนาจมากกว่า หรือที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า say the last word แต่พอเราออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้ ส.ว.มีอำนาจมากขึ้น มันเลยกลายเป็นประเด็นใหญ่ แต่โดยหลักแล้ว ส.ส.ก็เหมือนเหยียบคันเร่งให้รัฐนาวาก้าวไปข้างหน้า ส.ว.ก็เหมือนกับคอยแตะเบรก เพราะบางครั้งถ้ามันเร็วไป ก็อาจประสบอุบัติเหตุเป็นอันตรายได้
ถ้าย้อนมาดูสถานการณ์ปัจจุบัน เหมือนคันเร่งจะช้ามาก แต่เหยียบเบรกแรงเกินไป
จะพูดว่าเหยียบเบรกมากไป มันก็สัมพัทธ์กับฝ่ายก้าวหน้าที่เหยียบคันเร่งไปไกลและแรงมาก ผมว่าข้อเสนอหลายๆ ข้อเสนอที่ถูกเสนอ หรือพฤติกรรมที่ปรากฏออกมารายวัน ก็เป็นการเหยียบคันเร่งที่แรงมากเช่นกัน มันเลยเป็นธรรมดาที่จะโดนเบรก
มีผู้เสนอมาว่า ประเทศไทยควรจะเป็น ‘สภาเดี่ยว’ ไปเลย คือยกเลิก ส.ว. ให้เหลือแต่ ส.ส.
ผมเชื่อว่าการมี 2 สภายังดีกว่า การมีสภาเดียว เวลามันไป มันไปเลยนะ แต่ถ้ามีอีกสภาหนึ่ง แล้วเราออกแบบให้มีอำนาจที่แตกต่างกัน มีที่มาที่แตกต่างกัน ถ้าสรรหาก็สรรหาจริงๆ ไม่ใช่เลือกเอาแต่พรรคพวกเพื่อนพ้องเข้ามา ผมเชื่อว่ายังจะดีกว่า การที่ได้ 2 กระแสใหญ่เข้ามาประสานกัน ผมว่ามันน่าจะเป็นเรื่องที่ปลอดภัยกว่าสำหรับชาติบ้านเมือง
หรือว่าถ้าจะให้มีการเลือกตั้งทั้ง 2 สภา แต่ออกแบบระบบเลือกตั้งให้มันได้ผู้แทนที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ว่าให้วุฒิสภาเป็นสาขาสองของสภาผู้แทนราษฎร ผมยอมรับนะ อย่างการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่ แล้วประชาชนเลือกคนเดียว ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ที่มีการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรก ในปี พ.ศ.2543 เราก็จะเห็นได้ว่าเราได้คนเล็กคนน้อยเข้ามาจำนวนหนึ่ง แต่มันตอบโจทย์สำหรับจังหวัดที่มีสมาชิกคนเดียว มันยังมีความคิดว่า แบ่งประเทศเป็นเขตใหญ่ๆ สักเขตละ 10 คน แล้วประชาชนเลือกได้คนเดียว มันก็จะมีความหลากหลายจากทุกกลุ่มความคิดเข้ามา
โดยสรุปคือ มี 2 สภา แต่ให้มีอำนาจที่แตกต่างกัน เพื่อเสริมให้การทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนชาวไทยมันสมบูรณ์ขึ้น แทนที่จะมาจากการเลือกตั้งระบบเขตเลือกตั้งอย่างเดียว แม้แต่ระบบของ ส.ส. ทำไมเขาต้องออกแบบระบบส.ส.บัญชีรายชื่อล่ะ ก็เพราะถ้ามันมี ส.ส.เขตอย่างเดียว มันก็จะมีข้อจำกัด คนที่มีความคิดความอ่าน บางทีเขาก็ไม่มีความถนัดที่จะไปลง ส.ส.เขต เพราะฉะนั้น การออกแบบให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงเป็นการเลือกตั้งในอีกรูปแบบหนึ่งอยู่แล้ว
ถ้าวันนี้ เลือกกำหนดชีวิตตัวเองได้ ระหว่างทำงานเป็น ส.ว.แต่งตั้ง ที่คุณคำนูณบอกว่าอุทิศตัวเองเพื่อทำงานบ้านเมือง กับกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านกับครอบครัวอย่างเรียบง่าย อยากจะเลือกแบบไหน
ผมเดินอยู่ในหนทางนี้มากว่า 15 ปีแล้ว เอาเข้าจริง ผมเคยตั้งความหวังว่าจะเป็น ส.ว.สรรหา ใน พ.ศ.2554 ซึ่งจะหมดวาระลงใน พ.ศ.2560 ผมว่าผมก็จะพอแล้ว แต่พอมันมีการเปลี่ยนแปลง เรากลับรู้สึกว่ามันยังคงมีอะไรค้างๆ อยู่ มันก็ไม่ใช่ข้ออ้างอะไรหรอก แต่ผมก็รู้สึกว่ามันค้างมาเรื่อย แต่เที่ยวนี้โดยอายุโดยวัยแล้ว ผมคิดว่าเมื่อหมดสมัยนี้ ไม่ว่าจะเต็มสมัย หรือจะไม่เต็มก็แล้วแต่ ผมคิดว่าผมพอแล้ว
เพราะโดยวัยแล้ว ผมว่าบ้านเมืองเป็นเรื่องของอนาคต เป็นเรื่องของคนรุ่นอายุน้อยกว่าผม ที่จะออกแบบบ้านเมืองไปอย่างไร เราไม่ควรจะไปผูกขาดเอาไว้ แค่นี้ก็ถูกด่าจนหูชาแล้ว
Proofread by Pongpiphat Banchanont
Photo by Asadawut Boonlitsak
Illustration by Krittaporn Tochan