ในช่วงที่ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อยากให้ประเทศเดินหน้า สิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายทั้งประชาชน และนักการเมืองเห็นตรงกันว่า จะเริ่มการเปลี่ยนแปลง หรือปลดล็อกหลายๆ อย่างไปได้ ต้องเริ่มต้นที่การ ‘แก้รัฐธรรมนูญ’
ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นี้ ก็เป็นที่รู้กันว่า เป็นใจกลางของปัญหาหลายๆ อย่างทางการเมือง และเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช. รวมถึงยังมีหลายมาตราที่เป็นข้อกังขาของสังคม และไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเลือกสรร ส.ว. 250 คน และอำนาจของ ส.ว.ที่สามารถเข้ามาโหวตเลือกนายกฯ ได้ด้วย เป็นต้น
แต่เส้นทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ไม่ได้ง่ายดาย เพราะตัวรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เองนั้น ได้มีการเขียนขึ้นเพื่อป้องกันตัวมันเอง ให้การแก้เป็นไปได้ยาก ต้องผ่านหลายขั้นตอน ทั้งยังต้องมีเสียงรับรองจาก ส.ส. และ ส.ว.จำนวนหนึ่งด้วย เงื่อนไขเหล่านี้เป็นอย่างไร ตั้งแต่การเสนอแก้ ไปถึงแต่ละขั้นตอนต้องมีเสียงสนับสนุนเท่าไหร่ The MATTER ขอพาไปดูกัน
การแก้ไขรัฐธรรมนูญในขั้นตอนแรก ต้องมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยผู้มีสิทธิเสนอนั้น ได้แก่
- คณะรัฐมนตรี
- ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 (98 คน ขึ้นไป)*
- ส.ส. + ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของทั้งสองสภา (ส.ส. + ส.ว. = 148 คนขึ้นไป)*
- ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน
โดยในตอนนี้ มีผู้เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ได้แก่ 5 พรรคฝ่ายค้าน ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้มีการบรรจุเข้าสู่วาระประชุมเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่ญัตติของพรรคก้าวไกลมีมุมมองที่แตกต่างจากฝ่ายค้าน และยังมี ส.ส.ไม่ครบจำนวนขั้นต่ำที่สามารถยื่นได้ ทำให้ยังให้ไม่สามารถยื่นญัตติได้ด้วย รวมถึงวิปของฝั่งรัฐบาล ที่ตอนนี้ก็เตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกัน ซึ่งอยู่ในกระบวนการที่ ส.ส.ของพรรคร่วมจะลงชื่อ
ด้านของภาคประชาชน ก็มีการเคลื่อนไหวเช่นกัน นำโดย iLaw ที่เปิดตัวแคมเปญ ‘ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรนูญ’ ซึ่งกำลังรวบรวมรายชื่อของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ครบ 5 หมื่นคน ซึ่งตอนนี้มีผู้มาลงชื่อเกือบ 35,000 คนแล้วด้วย (อัพเดทข้อมูลเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563)
หลังจากการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ก็จะเป็น 3 วาระของการพิจารณาของรัฐสภา
วาระแรก – ขั้นรับหลักการ
ในขั้นนี้ ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกของสองสภา (ส.ส. + ส.ว.) หรือประมาณ 370 เสียง* โดยในจำนวนนี้ ยังต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด คือ 84 คน
วาระที่สอง – ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา
ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ หรือ 370 เสียง* เสียง แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระ 3
วาระที่สาม – ขั้นสุดท้าย
ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกของสองสภา (ส.ส. + ส.ว.) หรือประมาณ 370 เสียง* และในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. หรือ 84 คนแล้ว รวมถึงยังต้องมีเสียง ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาหรือรองประธานผู้แทนฯ หรือ ส.ส. ฝ่ายค้าน เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน
ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด
หลังจากที่ผ่านทั้ง 3 วาระแล้ว จะเป็นขั้นที่ ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาด โดย
1) ส.ว.เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 (ไม่น้อยกว่า 25 คน) หรือ
2) ส.ส. เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 (ไม่น้อยกว่า 50 คน) หรือ
3) ส.ส.+ส.ว. เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 (ไม่น้อยกว่า 75 คน)
สามารถเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภา ว่าร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 255 คือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่
ซึ่งประเด็นที่หากแก้ไข ต้องมีการทำประชามติได้แก่
- หมวดทั่วไป
- หมวดพระมหากษัตริย์
- วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
- คุณสมบัติพรรคการเมือง
- อำนาจศาล และองค์กรอิสระ
โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่การรับเรื่องด้วย
*หมายเหตุ – จำนวน ส.ส. ณ ปัจจุบัน = 489 คน, ส.ว. = 250 คน
อ้างอิงจาก