ตอนที่เกิดเรื่องในปี 2554 เธอยังเป็นเพียงนักศึกษาปี 2 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่กลับต้องเดินสายไปยื่นหนังสือติดตามความคืบหน้า ทวงความยุติธรรมให้กับน้าชายแท้ๆ ที่ถูกซ้อมทรมานในค่ายทหารจนเสียชีวิต อย่างไม่หยุดหย่อน
เธอสารภาพว่า ช่วงนั้นเหนื่อยมากๆ จนหลั่งน้ำตาออกมาในห้องเรียน
แต่เหตุผลที่ยังสู้ไม่หยุด บุกยื่นหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้องอยู่เรื่อยๆ เป็นเพราะคำพูดจากนายทหารที่มาเจรจาในงานศพ เสนอเงินชดเชย 3 ล้านบาท โดยพูดในทำนองว่า “เท่ากับรายก่อนหน้า” นั่นแปลว่า นี่ไม่ใช่ศพแรกและอาจไม่ใช่ศพสุดท้าย
ประกอบกับสภาพบาดแผลบนร่างกายของญาติ ที่มีผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายหลังว่า เกิดจากการถูกตบหน้า ให้กินพริกสดกับข้าว ถูกกระทืบ ใช้เกลือทาแผล ใช้ผ้าขาวห่อตัวเหลือแค่ใบหน้าพร้อมมัดตราสังข์ให้เหมือนศพ ให้นั่งบนก้อนน้ำแข็ง จนร่างกายบอบช้ำทนไม่ไหว และไปเสียชีวิตที่ รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ด้วยวัยเพียง 26 ปี
เมย์-นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ จึงทำทุกทางเพื่อนำตัวผู้เกี่ยวข้องกับการตายของ ‘พลทหารวิเชียร เผือกสม’ น้าชายแท้ๆ ของเธอ ในเดือน มิ.ย.2554 หลังสึกจากการเป็นพระและสมัครเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) จ.นราธิวาส ให้มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
แต่การถามหาความยุติธรรมในประเทศนี้ โดยเฉพาะเมื่อคู่กรณีเป็นคนในเครื่องแบบ แถมบางคนมีบุพการีเป็นผู้มียศใหญ่ ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญ ยังมี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’
เพราะไม่เพียงเธอจะพบว่า มีกลไกช่วยเหลือกันตั้งแต่ต้นทาง ให้คู่กรณียศ ‘ร้อยโท’ (นายทหารสัญญาบัตรชั้นยศสูงสุดในคดีนี้) หลุดจากการเป็นผู้รับผิดชอบในข้อหาร้ายแรง
เมื่อพยายามยื่นหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ในกองทัพ ทั้ง ผบ.พล.ร.15, แม่ทัพภาคที่ 4, ผบ.ทบ. หรือกระทั่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษขณะนั้น ก็พบว่า หลายคนไม่ทราบเรื่องเลย เพราะลูกน้องไม่ได้รายงานขึ้นมา
เวลาผ่านไป เธอก็ถูกคู่กรณียศร้อยโทคนนั้นฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งชุดจับกุมของตำรวจบุกมาจับกุมเธอถึงที่ทำงานในกรมหนึ่ง โดยไม่มีการออกหมายเรียกมาก่อน
ไม่รวมถึงการถูกข่มขู่คุกคาม ส่งกระสุนปืนในซองธูป ส่งคนปลอมตัวเป็นขายไอศครีมไปตามหาบ้าน หรือขับรถติดตาม
แต่นริศราวัลถ์ยังบอกว่า ในกองทัพเองใช่ว่าจะมีแต่คนไม่ดี หรือคิดถึงแต่การช่วยเหลือพวกพ้องโดยไม่สนใจความยุติธรรม เพราะก็มีคนคอยช่วยส่งข้อมูล ติดต่อหาเบอร์ผู้เกี่ยวข้อง หรือกระทั่งช่วยการันตีความปลอดภัยให้กับตัวเธอและครอบครัว
ในการยื่นขอให้พักราชการคู่กรณีกับพวก รวม 9 คน ครั้งแรกอาจไม่ได้ผล แต่ครั้งต่อมา เมื่อผู้มีอำนาจในกองทัพได้รับทราบข้อเท็จจริง ก็สั่งพักราชการผู้เกี่ยวข้อง โดยให้งดจ่ายเงินเดือนและค่าเช่าบ้าน ตั้งแต่ปี 2559
คดีแพ่งฟ้องเรียกค่าเสียหาย ที่ใครๆ เคยพูดว่า ฟ้องไปก็ไม่ชนะ ปรากฎว่ากองทัพบกยอมทำสัญญาประนีประนอม จ่ายเงินกว่า 7 ล้านบาทให้กับเธอ
แถมเธอยังมารู้ภายหลังว่า กรณีที่เธอลุกขึ้นมาต่อสู้ ถูกนายทหารระดับสูงนำไปบอกกับลูกน้องว่า อย่าคิดว่าทำอะไรกับทหารเกณฑ์แล้วจะไม่มีใครรู้ แถมยังมีการออกคำสั่งห้ามแตะเนื้อต้องตัวทหารเกณฑ์ตามมา
ที่แม้หลังจากนั้น จะยังมีข่าวการซ้อมทรมานหรือย่ำยีศักดิ์ศรีทหารเกณฑ์ออกมาอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้หายไปซะทีเดียว
แต่สำหรับตัวนริศราวัลถ์กลับมองว่า การดูแลสวัสดิภาพของทหารเกณฑ์และการให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกละเมิดก็ดีขึ้นกว่าสมัยก่อน ทว่าการจะเปลี่ยนแปลงระบบที่ปัญหาหมักหมมมายาวนานไม่ใช่เรื่องง่าย
10 ปีผ่านไป ในที่สุด เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2564 ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 ก็มีคำสั่งรับฟ้องร้อยโท (ปัจจุบันยศ ‘พันตรี’) กับพวกรวม 9 ราย ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของพลทหารวิเชียร เผือกสม
กระบวนการคืนความเป็นธรรมให้กับผู้สูญเสีย กำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย
The MATTER นัดคุยกับนริศราวัลถ์ ที่ร้านกาแฟในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านรังสิต วันนี้เธอดูสงบกว่าที่เคยเห็นตามข่าวในอดีต
“คืออยู่ๆ มันก็หายไปเองเรื่องความรู้สึกโกรธเกลียด เหลืออยู่แค่ว่าจะทำยังไงเพื่อพิสูจน์ความยุติธรรม ที่คนรอบตัวบอกว่ายังไงก็ไม่มีทางชนะ ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่เราก็ได้พิสูจน์อะไรหลายๆ อย่างแล้ว เช่นเรื่องคดีแพ่งที่ทุกคนบอกว่าฟ้องไปก็ไม่ได้เงิน แต่เราก็สามารถผ่านมาได้ทั้งที่เราก็เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่ไปมีเรื่องกับคนมีสี
“เหตุมันเกิดขึ้นแล้วยังไงเราก็ไม่สามารถคืนชีวิตให้กับผู้ตายได้ สิ่งที่จะทำได้ก็คือจะทำยังไงให้คนตาย ‘ตายอย่างมีค่า’ ต่อให้เอาคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายมันก็เท่านั้น เพราะน้าของเราก็ฟื้นมาไม่ได้อยู่แล้ว แต่อยากทำให้เขารู้สึกว่าเขาตายแล้วมันเกิดประโยชน์กับคนอื่น”
บรรทัดถัดไป จะเป็นบทสนทนากับ ‘หลานสาว’ ของพลทหารวิเชียร เผือกสม ผู้ที่ใช้เวลากว่า 1/3 ของชีวิต ทวงถามความยุติธรรมให้กับคนในครอบครัว โดยหวังว่าความตายของน้าชายจะช่วยเปลี่ยนแปลงระบบ “ที่ใครๆ บอกว่ามันแย่มาก” ให้ดีขึ้น และจะช่วยรักษาชีวิตทหารเกณฑ์รุ่นหลังๆ ให้ไม่ต้องประสบการณ์กับชะตากรรมเดียวกัน
ตอนนี้ยังเหลือคดีอะไรอยู่บ้าง
เหลือแค่คดีอาญา ที่ยังอยู่ในชั้นของศาลทหาร
คือคดีของพลทหารวิเชียรมันแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ คดีแพ่งกับคดีอาญา สำหรับคดีแพ่งมันจบไปแล้วตั้งแต่ปี 2557 กองทัพบกและสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกันชดเชยสินไหมให้กับครอบครัวเป็นเงิน 7 ล้านกว่าบาท และขั้นตอนสุดท้ายคือกองทัพต้องไล่เบี้ยเงินเอาไปคืนให้กับรัฐ ซึ่งเขาก็พยายามไล่เบี้ยคืนแล้ว แต่ในส่วนของคดีอาญาตอนนั้นยังเพิ่งผ่าน ป.ป.ท. ทางผู้เสียหายเองเขาก็ร้องขอความเป็นธรรม จะไปบังคับให้เขาชดเชยไม่ได้เพราะศาลยังไม่ตัดสิน ก็มีการไปร้องกับศาลปกครองว่าคำสั่งของกองทัพบกไม่ชอบ เลยกลายเป็นกองทัพบกเองต้องรอให้คดีอาญาจบก่อน แล้วถึงค่อยมาว่ากันด้วยคดีแพ่งที่ต้องไปไล่เบี้ยเงินคืน
ในคดีอาญาก็ต้องรอศาลทหารอย่างเดียวเลย ก็เป็นไปตามขั้นตอนเลยคือศาลให้จำเลยประกันตัวและส่งคำให้การมา ระหว่างนี้ก็จะเป็นการตรวจคำให้การว่าครบถ้วนหรือไม่ หลังจากนั้นจะเปิดโอกาสให้จำเลยหาพยานหลักฐานมาภายใน 30 วัน และจะนัดมาตรวจสอบพยานหลักฐานแล้วกำหนดวันสืบพยาน ดังนั้นหลักๆ ก็น่าจะอยู่ที่การสืบพยาน ซึ่งขั้นตอนล่าสุด จำเลย 1 ใน 9 คนรับสารภาพ แต่คนอื่นที่เหลือก็ยังสู้คดีเหมือนเดิม
การพิจารณาคดีในศาลทหารจะมีกี่ขั้น
มีขั้นเดียวเลย เพราะขณะเกิดเหตุอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีการประกาศกฎอัยการศึก ก็คิดว่าในปีหน้าน่าจะสืบพยานทุกปากเสร็จสิ้น
หากเทียบกับคดีแพ่งที่ยังไม่ได้ขึ้นพิจารณาคดี แต่จบในชั้นของการประนีประนอม ยังต้องใช้เวลาถึง 2 ปีกว่า แต่ในส่วนของคดีอาญา ยังไม่เห็นความล่าช้าจากกระบวนการพิจารณาคดี อาจจะช้าเพราะ COVID-19 ทั้งการที่เราไม่สามารถลงไปหาพยานหลักฐานในพื้นที่ได้ หรือมีหนึ่งในจำเลยที่ถูกจับอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถส่งตัวลงไปได้ ก็จะมีความล่าช้าในส่วนของตรงนี้ แต่เท่าที่ดูศาลเองก็พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่
ในคดีอาญาเราไม่สามารถจะเป็นโจทก์ได้ เราเป็นได้แค่ผู้เสียหาย อัยการทหารจะเป็นโจทก์ได้อย่างเดียว เพราะอันนี้เป็นคดีเกี่ยวกับศาลทหาร คือถ้าเป็นศาลพลเรือนเราสามารถร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องได้ แต่ท่านก็ให้เราดูสำนวนทุกอย่างเพียงแต่ไม่มีสิทธิจะคัดสำเนาออกมาภายนอกได้ ง่ายๆ เลยคือเราไม่ใช่โจทก์แล้ว เราต้องวางหน้าที่ของโจทก์ลงเพราะเราเป็นแค่ผู้เสียหาย ทำให้เราไม่กล้าฟันธงว่ากระบวนการจะเป็นอย่างไรไม่เหมือนกับคดีแพ่งที่มีชื่อเราเป็นโจทก์ทุกอย่าง ทำให้ในคดีอาญาหากเราจะเปิดเผยข้อมูลที่ได้มาก็กลัวว่าจะกระทบกับทางอัยการทหาร เพราะจริงๆ เราไม่มีสิทธิแต่ท่านก็ให้เราดู
มุมมองส่วนตัวก็เลยค่อนข้างพอใจกับการทำงานเพราะไม่เหมือนกับที่มีคนมาพูดว่า หากเป็นคดีอยู่ในศาลทหารเราจะเข้าไปยุ่งไม่ได้เลย แต่อันนี้ทุกขั้นตอนทางอัยการทหารก็จะให้ดู เพียงแต่ไม่สามารถคัดสำเนาออกมาได้
โดยสรุป ตอนนี้คดีแพ่งก็จบแล้วเหลือแค่คดีอาญาอย่างเดียว
ใช่ค่ะ เพราะเขาก็ให้เงินชดเชยกับครอบครัวไปแล้ว
หลังจากนี้ทางกองทัพบกก็ต้องไปรีบไล่เบี้ยกับทางผู้ก่อเหตุเอาเอง ไม่เกี่ยวข้องกับเรา ใช่หรือไม่
เราก็ต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเพราะสิ่งที่ทางกองทัพบกจะไล่เบี้ยเป็นเงินภาษีของประชาชน
แล้วเราจะเข้าไปช่วยอย่างไรได้บ้าง
ก็ทำหนังสือถามกับทางกองทัพบกไปว่าดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ซึ่งก็มีคำสั่งออกมาแล้ว แต่ทางฝ่ายผู้ก่อเหตุก็ไปร้องกับศาลปกครองทำให้ต้องรอผลการพิจารณาคดีอาญาจบก่อน ซึ่งก็สามารถออกได้ 2 ทาง คือเขามีความผิด กับเขาไม่มีความผิด ที่หากผลคดีออกมาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ตัวเขาจะเปลี่ยนจากจำเลยเป็นผู้เสียหายทันที เขาก็ต้องไปฟ้องร้องกองทัพบก หรืออาจจะฟ้องร้องเราด้วยซ้ำ ซึ่งเราก็บอกเสมอว่าเราทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ที่หากมีการพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐานแล้วพบว่าเขาไม่ผิดก็สามารถที่จะใช้สิทธิของเขาได้
ก็รอดูกัน ส่วนตัวก็รับได้ไม่ว่าจะตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด แต่ขอให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้พยานหลักฐานเพราะเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เราไม่รู้ว่าใครทำบ้าง ทุกอย่างต้องอาศัยพยานหลักฐาน ที่ผ่านมาที่เราต่อสู้เพราะเหมือนเรามีหลักฐานว่าคนนี้ทำทำไมเขาไม่โดนลงโทษ คือ ‘ความยุติธรรมมันเลือกพรรคเลือกพวก’ เราไม่ชอบแบบนั้นอยากให้ทุกอย่างมันเท่าเทียมกัน
คดีอื่นเมย์อาจจะไม่สนใจนัก แต่คดีนี้มันเกิดขึ้นกับครอบครัว สิ่งที่เราเลือกได้คือเราจะเลือกไปต่อตามอุดมการณ์หรือเลือกที่จะปล่อย สุดท้าย เราก็เลือกตามอุดมการณ์คืออยากพิสูจน์ว่า ความยุติธรรมความถูกต้องมันยังมีอยู่นะ แล้วเราก็อยากพิสูจน์ว่าต่อให้คุณมีอำนาจมากแค่ไหนแต่ถ้าไปช่วยคนผิด ยังไงมันก็ไม่สามารถทำได้ อยากพิสูจน์ให้เห็นตรงนั้นมากกว่า
เท่าที่ได้ดูพยานหลักฐานที่ทางอัยการทหารรวบรวมมาคิดว่าน่าจะนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำผิดได้หรือไม่
ต้องมีคนรับผิดชอบอยู่แล้ว เหลือแค่ว่าจะผิดมากหรือผิดน้อย ในข้อหาร่วมกันกระทำจนทำให้มีผู้เสียชีวิตอาจจะไม่โดนลงโทษทั้ง 9 คนหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน แต่ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 157 ยังไงทั้ง 9 คนก็ผิดอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นกองทัพบกก็คงไม่สั่งพักราชการ
ก็ต้องมาพิสูจน์กัน แต่น่าจะมีแค่เคสทหารชั้นสัญญาบัตรที่ยังต่อสู้ว่าเขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ในมุมของเมย์เองยังไงเขาก็ต้องรับผิดชอบ และจากหลักฐานที่อยู่ในมือเรา ชี้ชัดว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์และเป็นคนสั่งการ และเราได้ยื่นตรงนั้นเข้าไปด้วยที่ศาลทหารก็รับไว้เป็นพยานหลักฐาน
ส่วนตัวมองว่า ที่คดีนี้ล่าช้าใน ป.ป.ท.อยู่หลายปี เป็นเพราะคดีนี้มีคำว่า ‘อิทธิพลกับพวกพ้อง’ เข้ามาเกี่ยวข้อง หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหามีพ่อเป็นบุคคลมีตำแหน่งใหญ่โต มีการแยกออกเป็น 2 สำนวน สำนวนแรกมีผู้ถูกกล่าวหา 9 นาย ตั้งแต่ร้อยตรีลงมา (ไม่มี ‘ร้อยโท’) โดนข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต และอีกสำนวน โดนข้อหาแค่ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา คือมันมีการช่วยเหลือกันตั้งแต่แรก และคนที่ทำคดีก็มีความยากลำบาก พอถูกส่งต่อมาที่ ป.ป.ท.กับ ป.ป.ช.ที่เป็นองค์กรอิสระก็สามารถเข้าไปคลุกวงในได้ง่ายกว่าคนในพื้นที่
แต่ที่ช้าจริงๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากกลไกการทำงานของ ป.ป.ท.เอง เพราะเขาจะแบ่งการทำงานเป็นเขตต่างๆ และต้องส่งเอกสารกลับไปกลับมาอยู่หลายครั้ง บางอย่างเช่นเปลี่ยนเลขมาตรา ทางเขตก็ต้องส่งกลับมาให้ส่วนกลางพิจารณาแล้วค่อยส่งกลับไปที่เขต จนใช้เวลาอยู่ 1 ปีเต็มๆ ที่เรารู้สึกว่ามันนานไป แต่ถ้าไม่มีเค้า เราก็เอาทั้ง 9 คนมาขึ้นศาลไม่ได้ ทั้งเรื่องของอำนาจและอิทธิพล ตัวผู้ปฏิบัติงานเองที่อาจจะไม่มีความปลอดภัย
ที่คดีช้าส่วนหนึ่งมาจากองค์กรอิสระ
ใช่ค่ะ ใช่ ก็อยากจะให้เขาเปลี่ยนระบบลดขั้นตอนให้เร็วขึ้น
ไปเสียเวลาใน ป.ป.ช.หรือ ป.ป.ท. อันไหนมากกว่ากัน
ตอนแรกส่งไปให้ ป.ป.ช.ก่อน แต่เขาก็วินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นไม่ใช่ข้าราชการระดับสูง ต้องอยู่ในอำนาจ ป.ป.ท. แต่ก็ใช้เวลา 6 เดือนในการส่งเรื่อง ตอนนั้นก็เพิ่งตั้ง ป.ป.ท.มาพอดี เราก็ต้องไปตามที่ ป.ป.ช.ขอให้เขาช่วยโอนเรื่องมา ป.ป.ท. ซึ่งเขาก็ยอมโอนเรื่องให้ แต่ไปพร้อมๆ กับคดีอื่นอีกพันสำนวน เราก็ต้องไปตามเรื่องที่ ป.ป.ท.ก่อน กลายเป็นว่าต้องติดตามทุกขั้นตอนจริงๆ
ถ้าปล่อยไปมันก็เรื่อยๆ จริงๆ แต่ถ้าไปจี้มันก็อาจจะเร็วขึ้น
แต่นี่ขนาดจี้แล้วนะยังใช้เวลาเป็น 10 ปีเลย (ยิ้ม) ก็ไม่เข้าใจขั้นตอนต่างๆ ของเขาเหมือนกัน คือเราเองก็เคยทำราชการมา ก็พยายามทำให้ทุกอย่างมันเร่งด่วนที่สุดเพื่อตอบสนองผู้ใช้บริการ แต่พอเป็นองค์กรในกระบวนการยุติธรรมกลับใช้เวลานาน เช่นเคสที่ตัวเองตกเป็นผู้ต้องหา ผ่านขั้นตอนต่างๆ มาหมดแล้วรอแค่อัยการสูงสุดชี้ แต่ก็ยังใช้เวลาปีกว่า ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน
คนที่เป็นผู้ต้องหาก็ใจตุ้มๆ ต่อมๆ ว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง
ไม่ได้ซีเรียสว่าจะโดนฟ้องหรือเปล่า เพราะคิดว่าสิ่งที่เราทำทุกอย่าง พร้อมที่จะรับผลของมันอยู่แล้ว เราพยายามใช้สิทธิของเราเขาเองก็สามารถใช้สิทธิของเขาได้ แต่เราติดอย่างเดียวคือความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม ว่าทำไมมันถึงมีความล่าช้าขนาดนี้
อย่างคดีที่เราตกเป็นผู้ต้องหา ก็มีความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้จับกุม (เธอถูกจับกุมในสำนักงาน เมื่อปี 2559 โดยไม่มีหมายเรียกมาก่อน) เราก็ไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้จับกุมตัวและพนักงานสอบสวน ผ่านไป 5 ปี ทาง ป.ป.ท.ถึงเพิ่งแจ้งกลับมาว่าตัวชุดจับกุมตัวไม่ได้มีความผิดเพราะเขาปฏิบัติตามหน้าที่เพียงแต่วิธีการอาจจะผิดเธอไม่ได้เข้าหาผู้บังคับบัญชาเพื่อขอจับกุมเรา แต่กลับใช้วิธีการจับกุมซึ่งหน้า แต่ในส่วนของพนักงานสอบสวน ทาง ป.ป.ท.เห็นว่ามีมูลความผิดอาจจะปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก็มีการตั้งกรรมการสอบอยู่ เราก็รอดูอยู่ว่าสุดท้ายมันจะผิดไหม แล้วหลังจากนั้นเราจะดำเนินการอีกขั้นตอนหนึ่งกับทางตำรวจ
เรื่องคดีอาญา คิดว่ามันช้าเพราะกระบวนการ เพราะความเป็นราชการ หรือเพราะมีคนไปบล็อก
(ตอบเร็ว) ส่วนหนึ่ง เชื่อว่าเพราะมีคนไปบล็อก คือแต่ละขั้นตอนถ้าอยากได้ความยุติธรรมต้องไปลุยเองทุกขั้นตอน หรือต่อให้ตัวเองบางครั้งก็ติดขัด อย่างเช่นเราเคยทำเรื่องขอให้พักราชการ ‘ร้อยโท’ ครั้งแรก กองทัพบกก็แจ้งกลับมาว่าจะไม่พัก
เราเองก็เหนื่อยเพราะได้ยื่นหลักฐานทุกอย่างไปแล้วว่าเขาผิด แต่เราทราบว่าในหน่วยงานเองมีการช่วยเหลือกันตั้งแต่แรกก็เลยไปขึ้นสู่ที่สูงกว่าอย่างกองทัพบก ปรากฏว่าทางกองทัพบกกลับไม่รับทราบข้อมูลเลย ต้องกลับไปดึงข้อมูลเดิมๆ ที่เป็นข้อมูลซึ่งไม่ถูกต้องมาตั้งแต่แรก เราเองก็เลยต้องนำข้อมูลที่ผ่านการสืบสวนไปยื่นให้ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่พักราชการ ที่ก็ไม่รู้ว่ามีการนำพยานหลักฐานทั้งหมดไปให้กับผู้บังคับบัญชาหรือไม่ หรือจะยึดเฉพาะสิ่งที่เขาเชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริง จนต้องไปดักเจอ ผบ.ทบ. แม่ทัพภาค 4 ผบ.พล เพื่อให้เขาได้รับข้อมูลจากมือเราจริงๆ เราถึงจะได้รับความเป็นธรรม
ตัวของผู้ปฏิบัติงานเองก็มีส่วนสำคัญจริงๆ ว่าคุณจะเลือก ‘พวกพ้อง’ หรือคุณจะเลือก ‘ความถูกต้อง’ อันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่เรามองจะทำยังไงถึงจะเปลี่ยนระบบนี้ได้บ้าง มันก็เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากจะสู้ให้ถึงที่สุด ไม่ว่าศาลจะตัดสินออกมาอย่างไร ที่ผ่านมา ตัวเองก็คิดว่าพยายามวางตัว ‘เป็นกลาง’ ที่สุดแล้วอารมณ์ของความโกรธแค้นหรือสูญเสีย หากผู้กระทำสามารถอ้างพยานหลักฐานที่จะแก้ข้อกล่าวหาได้ เพราะเราก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แล้วแต่ละคนก็ให้ข้อมูลไม่ตรงกัน หากคุณสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองได้ เราก็พร้อมที่จะโอเค
แต่ถ้าศาลตัดสินออกมาแล้วเราเพราะว่าขัดแย้งกับพยานหลักฐาน ก็คิดไว้ล่วงหน้าว่าพร้อมที่จะหมิ่นศาล ถ้าเลือกที่จะเดินตรงนี้แล้วก็ต้องพร้อมที่จะยอมแลก หากดูข้อเท็จจริงแล้วคำตัดสินออกมามันยังไม่ใช่ เรายังรู้สึกติดใจหรือติดขัด ก็พร้อมที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับศาล แม้อาจแลกด้วยข้อหาหมิ่นศาล แต่เราเลือกที่จะเดินทางแบบนี้แล้ว
ผลคดีนี้ ‘อย่างน้อยที่สุด’ ที่อยากให้เป็นคือยังไง
อย่างน้อยที่สุดคือจำเลยทั้งหมดจะต้องโดนข้อหา ป.อาญา มาตรา 157 คือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ส่วนตัวไม่ได้ติดใจว่าแต่ละคนจะโดนโทษจำคุกคนละกี่ปี ถ้าเขาเป็นคนผิดจริงๆ การปล่อยให้คนผิดลอยนวลจะเป็นการคืนคนไม่ดีสู่สังคม วันนี้คุณกระทำความผิดขนาดนี้แล้วแต่คุณมีอำนาจ วันข้างหน้าเขาจะไม่ยิ่งกระทำผิดมากกว่าเดิมหรือ การที่เรามาทำอย่างนี้เราอยากกำจัดคนไม่ดีออกมาจากตรงนั้น หลายคนก็ถามว่าทำไมไม่ให้โอกาสเขาได้กลับตัว เราก็บอกว่าโอกาสควรจะมาพร้อมกับความ ‘สำนึกผิด’ แล้วแก้ไขในสิ่งที่ทำผิดไป แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนสิ่งที่ผิดให้มาเป็นถูก มันเป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้
ถ้าคุณทำผิดคุณก็รับผิดในสิ่งที่ทำไป แล้วหลังจากนั้นคุณออกมาจะทำอย่างไร เราก็จะไม่ติดใจ
เท่าที่เคยคุยกับเขา เขาสำนึกผิดบ้างแล้วหรือยัง
ไม่เลย เขายังไม่ได้สำนึกอะไร ตัว ‘ร้อยโท’ ก็บอกว่าเขาไม่ได้ผิด แต่กับ ‘ร้อยตรี’ ที่เขาบอกว่าอยู่ในเหตุการณ์ ก็มาบอกว่าสำนวนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เราก็บอกว่าพี่ก็ต้องสู้เพื่อตัวพี่เอง
แต่ลักษณะการต่อสู้เราก็อยากจะให้ต่อสู้กันซึ่งๆ หน้า ไม่ใช่การลอบกัด เช่นไปฟ้องหาว่าเราหมิ่นประมาทแล้วให้คนมาจับกุมตัว คือคุณมีสิทธิฟ้องได้ แต่พนักงานสอบสวนก็ควรจะทำอย่างตรงไปตรงมาด้วย ไม่ใช่อยู่ๆ มาจับกุมตัวทั้งที่ไม่เคยได้รับหมายเรียกจากศาลมาก่อน เอาคนมาจับกุมเราที่กรม ทั้งที่เราก็พยายามที่จะไม่มีตัวตน เพราะที่มาทำงานในกรม เราเองก็เหนื่อยรู้สึกไม่อยากจะไป ‘ตาต่อตาฟันต่อฟัน’ แล้ว รอ ป.ป.ท.ดำเนินการ เราก็อุตส่าห์หันมาตั้งหน้าตั้งตาทำงานแล้ว แต่เขาก็ยังไม่ยอมปล่อย
เขามาฟ้องเราเหมือนจะเล่นแง่ว่าถ้าอยากจะให้ถอนฟ้อง ก็ให้ยุติคดีของพลทหารวิเชียร ให้ปล่อยไปตามขั้นตอน ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าถ้าปล่อยไปตามขั้นตอนก็จะมีบางคนหลุดรอดไป
แต่มองอีกแง่หนึ่งการที่เราถูกจับกุมตัวครั้งนั้น มันก็ทำให้สื่อและสังคมกลายมาเป็นเกราะคุ้มกันเรา จากที่ก่อนหน้านี้เราทำอะไรจะต้องระวังตัว ทั้งเรื่องการถูกข่มขู่หรือถูกทำร้าย ซึ่งหากยังอยู่ในวงแคบก็อาจมีโอกาสถูกอุ้มหายได้ แต่พอกลายเป็นข่าวใหญ่ สื่อและสังคมก็หันมาให้ความสนใจเรา มันก็เลยกลายเป็นว่าเรากล้าลงไปมากกว่าเดิม
สิ่งที่เขาทำเลยกลายเป็นผลอีกแบบหนึ่ง
ใช่ และจากที่เคยขอพักราชการมารอบแรกแล้วกองทัพบกสั่งไม่พัก พอกลายเป็นข่าว ก็มีคนช่วยจัดให้ได้ยื่นหนังสือกับ ผบ.ทบ. ที่พอท่านเห็นหลักฐานก็สั่งพักราชการ ถึงตอนนี้ก็ถูกพักมา 5 ปีแล้ว เขาก็ไม่ได้รับเงินเดือน เรามองว่าเราก็ช่วยหลวง แต่ถ้าศาลตัดสินมาว่าเขาไม่ผิด ทางหน่วยงานก็ต้องชดเชยเขา
สุดท้ายก็ต้องรอดูว่าศาลทหารจะว่าอย่างไร เป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่ทุกคนมองว่าศาลทหารอาจไม่มีความยุติธรรม พอคดีของเราเป็นข่าว หากผลการตัดสินออกมาว่าคดีนี้มีความยุติธรรม ก็จะช่วยแย้งคำพูดดังกล่าวได้ แต่ถ้าออกมาแล้วไม่มีความยุติธรรม สังคมจะได้ช่วยกันกดดันต่อไป
เอาจริงๆ แล้วเมย์ก็เหมือนกับใช้สื่อใช้สังคมร่วมกันกดดัน เพราะเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองคนเดียวได้ วัตถุประสงค์หลักของเรา เราไม่ได้ต้องการแก้แค้นเลย แต่เราต้องการการเปลี่ยนแปลงกับระบบอะไรบางอย่างของประเทศไทยที่ทุกคนพูดกันว่ามันแย่มาก คือในเมื่อคุณบอกว่ามันแย่ แต่คุณไม่คิดจะลงมาเปลี่ยนแปลงอะไร สุดท้ายก็ได้แต่บ่น แต่พอมันเกิดขึ้นกับเราก็พยายามที่จะทำ และจะไม่พยายามไปยุ่งกับการเมือง เพราะเรารู้ว่าจุดมุ่งหมายของเราอยู่ที่ไหน หากลงไปยุ่งกับการเมืองก็อาจจะถูกโจมตีจากบางฝ่ายได้
ที่สำคัญเรากลับกองทัพไม่ได้มีอะไรกัน เอาจริงๆ เราช่วยกองทัพด้วยซ้ำ ดังนั้นการที่จะบอกว่าเราเป็นศัตรูกับกองทัพจึงตัดไปได้เลย
เคยมีคนจากกองทัพบอกว่าเอ็นจีโอใช้เราเป็นเครื่องมือ เราก็บอกว่าจะใช้เราได้ยังไง เพราะเราก็ปกป้องกองทัพมาตลอด เช่นไปเวทีเสวนาเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เราก็ไปบอกว่ายังสนับสนุนให้มีการเกณฑ์ทหาร เพียงแต่อยากให้ดูแลคุณภาพชีวิตของพลทหารให้มันดีขึ้น แต่ถ้ามันเกิดกรณีเหมือนเคสน้องเมย (ภคพงษ์ ตัญกาญจน์) จะให้เราเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ มันก็ไม่ใช่ คือเหมือนทำดีเราก็ชมทำไม่ดีเราก็ด่าจริงๆ
เหมือนว่าเป้าหมายของเราชัดเจนมาตั้งแต่แรกคือเราอยากจะเปลี่ยนแปลงระบบที่ทำให้เกิดเคสพลทหารวิเชียร แล้วผ่านมา 10 ปี มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
การซ้อมพลทหารมันก็ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่พอมีการซ้อมพลทหาร เกือบทุกเคสจะได้รับความยุติธรรมหมดเลย ทั้งที่เกิดหลังพลทหารวิเชียรทุกเคส แต่เอาไปเถอะ ให้เขาได้ไป แต่เราคงจะเป็นเคสที่เปลี่ยนแปลงจริงๆ แม้ผ่านมา 10 ปีจะยังไม่ได้รับความเป็นธรรม
คือมันยากนะกับการที่จะไม่ให้เกิดขึ้นเลย เพราะแม้จะมีนโยบายว่าห้ามแตะเนื้อต้องตัวพลทหาร แต่พอมันไปถึงชั้นข้างล่าง มันอาจจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญก็คือพลทหารจะต้องรู้ตัวเองว่ามีสิทธิอย่างนี้อยู่และไม่เพิกเฉยต่อกันและกัน หากเห็นเพื่อนโดนถ้าเรารวมตัวกันซะ 200 คนใครจะมาทำอะไรเราได้ หรือสมมติครูฝึกคนนี้มีปัญหาเราก็แค่ไปฟ้องคนที่ใหญ่กว่า มันมีอยู่หลายวิธีแต่จะต้องผ่าน ‘ความกลัว’ ไปให้ได้ เหมือนอย่างเราเองเราก็มีเรื่องกับลูกนายพล แต่เราก็พยายามไปหาคนที่น่าจะสามารถช่วยเราได้ ไม่ว่าจะเป็นตามขั้นตอนของกฎหมาย หรือด้วยคอนเน็กชั่นส่วนตัว เช่น พยายามขอให้ พล.อ.เปรมช่วย
เชื่อว่าในกองทัพก็น่าจะยังมีคนที่เป็นคนดีจริงๆ และพร้อมช่วยเหลือคนที่แม้ไม่รู้จักกัน เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา เราก็ได้ผู้ใหญ่และคนในกองทัพช่วยเหลือทั้งที่ไม่รู้จักกัน กระทั่งบางคนที่น่าจะเป็นพวกพ้องกับผู้ก่อเหตุ ก็เลือกที่จะปกป้องเรา เป็นเกราะป้องกันให้ไม่มาคุกคามครอบครัวหรือตัวเรา
คนในกองทัพเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการใช้กำลังกับพลทหารทุกราย
แต่หลายคนก็ไม่สามารถเปิดเผยตัวได้ เพราะต้องยอมรับว่ากองทัพเองก็มีระบบ ‘พี่น้อง’ การจะออกมาซึ่งๆ หน้าก็จะไปปะทะกับอีกฝั่งทันที
ทุกอย่างเราก็ไม่ได้รู้ไปทั้งหมด เช่นที่เคยยื่นหนังสือขอให้พักราชการ ผบ.พล.ร.15 ก็มีคำสั่งว่าจะไม่พักราชการ แต่กว่าเราจะรู้ต้องรอรายงานไปถึงกองทัพบก พอหนังสือจะไปถึงกองทัพภาคที่ 4 ก็มีคนบอกมาว่า จะไม่พักราชการนะ เราก็รู้ว่าจะต้องทำอะไรบางอย่าง ก็พยายามหาเบอร์ ผบ.พล.ร.15 แต่ก็ถูกวนไปวนมาในหน่วยจนไม่ได้คุย ตอนนั้นมีคนแนะนำให้ฟ้องศาลปกครอง ซึ่งถ้าเราฟ้องไปจะมีผลกับท่านที่กำลังจะขึ้นเป็นรองแม่ทัพภาค 4 แต่เราอยากคุยกับเขาก่อน ก็มีคนช่วยหาเบอร์ให้จนได้คุยกันเป็นการส่วนตัวว่า ป.ป.ท.ชี้มูลมาแล้วว่าเขาผิด ผบ.พล.ร.15 ก็บอกว่าไม่มีข้อมูลตรงนี้เลย เราก็บอกว่าถ้ายังยืนยันจะใช้คำสั่งเดิมคือไม่พักราชการ เราก็จะขอใช้คำสั่งนี้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนะ ท่านก็บอกว่าให้ ผบ.พล.ร.15 คนใหม่ เป็นคนตัดสิน เพราะกำลังจะย้ายแล้ว สุดท้ายก็มีการดึงเรื่องกลับมา ตั้งกรรมการสอบ
คือจริงๆ ตัวของผู้บังคับบัญชาเขาก็โอเคนะแต่กลายเป็นว่าสารมันไปไม่ถึงเขา พอมันมีคนใดคนนึงช่วยเหลือสุดท้ายแล้วความยุติธรรมมันก็ไม่เกิดขึ้น
ย้อนกลับไปที่พูดตอนต้นว่า ถึงตอนนี้ได้ตัดอารมณ์ความรู้สึกออกไปแล้ว ทำอย่างไรถึงสามารถตัดออกไปได้
ช่วงแรกๆ เราต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมแบบ ‘ตาต่อตาฟันต่อฟัน’ คือใครค้านมาเราก็พร้อมชน แรงมาก็แรงกลับ แล้วเรารู้สึกว่ามันเหนื่อย กลายเป็นเหมือนว่าแทนที่เราจะมีศัตรูแค่ไม่กี่คน แต่เรากลับมีศัตรูเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพียงแค่ความเห็นเราไม่ตรงกัน แล้วเรารู้สึกเหนื่อย แล้วเราเองก็เรียนคณะสังคมสงเคราะห์ ที่มันจะไปเน้นเรื่องการแก้ไข
เหตุมันเกิดขึ้นแล้วยังไงเราก็ไม่สามารถคืนชีวิตให้กับผู้ตายได้ สิ่งที่จะทำได้ก็คือจะทำยังไงให้คนตาย ‘ตายอย่างมีค่า’ ต่อให้เอาคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายมันก็เท่านั้น เพราะน้าของเราก็ฟื้นมาไม่ได้อยู่แล้ว แต่อยากทำให้เขารู้สึกว่าเขาตายแล้วมันเกิดประโยชน์กับคนอื่น
ก็เลยมาเปลี่ยนแผน จากที่เมื่อก่อนใช้วิธีเข้าหาแบบตรงๆ ก็รอมาใช้วิธีที่มันอ้อมกว่า แต่จุดมุ่งหมายมันเหมือนกัน เช่นจะทำยังไงให้กองทัพมันดีขึ้น ก็มีการออกกฎว่าห้ามแตะเนื้อต้องตัวพลทหาร ถ้ามีเคสเหล่านี้ขึ้นมาเราก็พยายามจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ อย่างน้อยๆ ก็เป็นกำลังใจ หากมีเวทีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เราก็พยายามจะไป เรารู้สึกว่าการแก้ไขมันดีกว่า จะทำยังไงให้มันเป็นรูปธรรมและมีการเปลี่ยนแปลง
คืออยู่ๆ มันก็หายไปเองเรื่องความรู้สึกโกรธเกลียด เหลืออยู่แค่ว่าจะทำยังไงเพื่อพิสูจน์ความยุติธรรม ที่คนรอบตัวบอกว่ายังไงก็ไม่มีทางชนะ ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่เราก็ได้พิสูจน์อะไรหลายๆ อย่างแล้ว เช่นเรื่องคดีแพ่งที่ทุกคนบอกว่าฟ้องไปก็ไม่ได้เงิน แต่เราก็สามารถผ่านมาได้ทั้งที่เราก็เป็นแค่คนธรรมดาคนนึงที่ไปมีเรื่องกับคนมีสี เรารู้สึกว่าถ้าทำตรงนี้ให้คนเห็นได้ ถึงวันหนึ่งผู้คนก็จะกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้
แต่เราอยู่ตรงนี้ก็พร้อมที่จะสละตัวเอง เคยคุยกับนายว่าถ้าต้องตกเป็นผู้ต้องหาจริงๆ ก็จะขอพักราชการ แต่นายก็บอกว่ามันไม่ใช่ข้อกล่าวหาร้ายแรง แค่หมิ่นประมาทและ พรบ.คอมฯ ซึ่งก็ต้องไปพิสูจน์กัน เขาก็ไม่ให้พักราชการ พอตัวของเจ้านายเราโอเค เราก็มีแรงทำต่อ ตอนนี้ทุกคนก็จะตั้งคำถามว่าจะสู้ได้จริงเหรอในศาลทหาร แต่ตัวเรามั่นใจว่าทางอัยการทหารโอเคจากที่เคยสัมผัสมา แต่รู้หน้าอาจไม่รู้ใจ ก็ต้องไปว่ากันในเรื่องของข้อเท็จจริง เราก็พร้อมที่จะมีประเด็นด้วย เพราะก็เคยร้องเรียนอัยการทหารคนเก่าไปเนื่องจากทำคดีล่าช้า และสั่งฟ้องผู้ต้องหาไม่กี่ราย ก็เลยทำหนังสือขอความเป็นธรรมขอให้เปลี่ยนตัวอัยการทหาร เดินทางกองทัพเองเขาก็พร้อมให้ความยุติธรรม แต่ถ้าไม่มีการตามหรือเข้าไปแทรกแซง เขาก็จะทำไปเรื่อยๆ ของเขาเลยจริงๆ
แล้วอะไรทำให้กัดไม่ปล่อยขนาดนี้ ติดตามทุกกระบวนการ
อยากจะทำให้เห็นว่าถ้าพยายาม ต่อให้มันยากแค่ไหน แต่ถ้าเราสู้กับมันเราจะทำมันได้
เพราะมีแต่คนพูดคำว่า “ยังไงก็ไม่ชนะหรอก”
ใช่ เราเจอคำนี้มาตั้งแต่น้าตายใหม่ๆ เลย ว่าให้รับเงินไปแล้วก็จบ เราก็รู้สึกว่าสมมุติรับเงินไปแล้วศพต่อไปกลายเป็นคนใกล้ชิดเราอีก เช่นน้องชายไปเกณฑ์ทหารแล้วถูกซ้อมจนตาย ก็ไม่ต้องไปรับต่ออีก 3 ล้าน 5 ล้านเหรอ จะทำยังไงให้มันลดน้อยลงหรือดีขึ้น มองตรงนั้นมากกว่า เราก็เลยพยายามที่จะเปลี่ยน ทั้งที่จริงๆ ครอบครัวก็ไม่ได้มีฐานะอะไรเลย ตอนสู้คดีแพ่งแม้ไม่ต้องเสียเงินวางศาลก็จริง แต่มันก็ยังต้องมีค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เวลาเราไปยื่นหนังสือก็ต้องลาจากการเรียน เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งเรียนอยู่รู้สึกว่าอาจารย์สอนอะไรไม่รู้เรื่องเลย เดินออกมาก็ร้องไห้เลย เพราะมันไม่ไหวแล้วจริงๆ เราแทบจะไม่ได้เข้าเรียนเลย แล้วเราก็กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่พอนึกถึงหน้าของน้า เขาคิดว่าถ้ารับเงินแล้วให้มันจบแค่นี้ เขาจะอยู่สงบสุขจริงๆ ไหมหรือยังวนเวียนอยู่
คือเราเชื่อในเรื่องของบุญกุศล ถ้าเราทำให้เขาได้รับความยุติธรรมอาจทำให้หลุดพ้นจากตรงนั้น หรือต่อให้มีเรื่องของบุญกรรมก็ยังสามารถทำให้ชื่อของคนนี้สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ เรามองอย่างนั้นมากกว่า
นี่คือเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้ติดตามคดีนี้เป็น 10 ปียังไม่ย่อท้อ หรือยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย
ปัจจัยจริงๆ คือเป็นคนที่เชื่อและศรัทธาในความดีกับความถูกต้อง เป็นคนที่ดื้อถ้าเชื่ออะไรแล้วก็จะเชื่ออย่างนั้นจนกว่าจะทำแล้วรู้สึกเหนื่อยจนเราไม่ไหวแล้วจริงๆ แต่ทุกครั้งที่ถึงจุดที่เหนื่อยแล้วจริงๆ มันก็จะมีอะไรบางอย่างมาบอกให้เราต้องสู้ต่อ เพราะไม่ได้ทำแค่เพื่อตัวเรา ก็พยายามพิสูจน์ว่าสุดท้ายจะได้รับความยุติธรรมไหม แต่ก็พร้อมจะแลกทุกอย่างนะ พูดไว้เผื่อว่าอาจต้องยื่นฟ้องศาลทหาร หรือจนกว่าจะมีพยานหลักฐานว่าเขาไม่ผิดจริงๆ เราถึงตัดยอมรับได้
ช่วงแรกๆ ยังเป็นคนชนิดตาต่อตาฟันต่อฟันเพราะยังรู้สึกสูญเสียว่าทำไมต้องมาเกิดกับครอบครัวเรา แต่พอเวลาผ่านไปก็รู้ว่ามันเป็นการต่อสู้กับระบบ เราทำให้กองทัพเป็นมิตรกับเราได้ดีกว่าทำให้กองทัพเป็นศัตรูกับเรา แล้วพอได้สัมผัสกับกองทัพเองก็พบว่าคนดีๆ ก็ยังมีอยู่ คือเราไปเจอคนไม่ดีแค่บางคนแต่คนนั้นดันเป็นคนที่มีอำนาจ คนดีที่พร้อมจะช่วยมันก็ยังมีอยู่ คือความจริงเป็นคนที่รักกองทัพอยู่แล้ว ก็คิดว่าถ้าเรารักเขาต้องไม่ทำร้ายเขาสิ เราต้องช่วยเขาดีขึ้น จะรับหรือไม่รับก็แล้วแต่
เป็นคนที่พร้อมสู้ในสิ่งที่ตัวเองศรัทธาและเชื่อ ซึ่งก็เชื่อว่าหากได้เข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่านี้จะทำอะไรได้อีกเยอะแยะ แต่ก็เป็นห่วงครอบครัว เพียงแต่ถ้าเป็นกรณีพลทหารวิเชียร ก็ไม่มีอะไรที่น่าห่วงแล้ว เพราะเราได้สร้างทุกอย่างทิ้งไว้แล้ว หมดห่วงแล้ว ไม่ชอบที่จะอยู่ไปจนถึง 90 ปี โดยไม่ได้ทำอะไรให้สังคมไว้กับ กับมีอายุแค่ถึง 40 ปีแต่ได้เปลี่ยนอะไรบางอย่าง เมย์จะเลือกอย่างหลัง
ชีวิต ณ จุดนี้ ถือว่าพอใจแล้ว
เรื่องคดีก็อาจจะต้องรอ แต่จุดมุ่งหมายจริงๆ คืออยากเดินไปไกลกว่านี้ อยากเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง
คิดว่าการเสียชีวิตของพลทหารวิเชียร การต่อสู้ที่ผ่านมาของเรา ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดขึ้นในกองทัพบ้าง
อย่างน้อยก็มีเรื่องคุณภาพชีวิตของพลทหาร ที่อาจไม่ถึงขั้นถอนรากถอนโคนแต่มันก็สั่นอะไรได้บางส่วนอยู่ แต่มันยังสั่นได้ไม่เต็มที่จนกว่าศาลทหารจะบอกว่าเขาผิดที่จะช่วยสร้างบรรทัดฐานอะไรบางอย่าง ซึ่งสุดท้ายจะทำให้มันมีคนกล้าลุกขึ้นมาเพิ่มอีก เพราะเราได้ทำสิ่งที่ยากที่สุดที่ทุกคนบอกว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ ไว้ให้แล้ว
คือเราเป็นแค่ลูกชาวนาจริงๆ แต่กล้าลุกขึ้นมาสู้กับลูกนายพล มันจะเป็นตัวบอกว่า ทำได้นะ แค่ก้าวพ้นความกลัวออกมา