“การศึกษาไทยต้องเป็นของทุกคน ทุกคนต้องมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา และไม่ใช่แค่เข้าถึง จะต้องมีส่วนร่วมกับการจัดการศึกษาของตัวเองด้วย การศึกษาไทยควรจะต้องเคารพทุกคนที่อยู่ในระบบการศึกษา”
ฤดูประกาศผลแอดมิชชั่นเพิ่งผ่านมาหมาดๆ กระแสการรับน้องว่ายังสมควรมีอยู่หรือไม่ก็กำลังร้อนแรง และดราม่าเรื่องสถาบันใครเด่น สถาบันใครดีก็กำลังถาโถม ทั้งหมดนี้สร้างแรงกระเพื่อมไปทั้งประเทศ วินาทีนี้เรื่อง ‘การศึกษา’ จึงกลายเป็นอีกประเด็นสำคัญที่สังคมกำลังจับตามอง The MATTER ก็เช่นกัน
นอกจากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและกระทรวงศึกษาธิการแล้ว เสียงที่เราจะละเลยไปไม่ได้คือเสียงของนักเรียน นักศึกษา วันนี้ The MATTER ชวนคุยกับคนรุ่นใหม่ที่ถ้าแหลมคมกว่านี้ก็คงเป็นมีดแล้วล่ะ!
ขอเสียงปรบมือต้อนรับ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิ้น นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กับคำถาม 8 ข้อเรื่องทิศทางการศึกษาไทยในสายตาคนรุ่นใหม่ + อีก 1 คำถามสุ่มเสี่ยงที่ต้องสั่นคลอนไปทั้งประเทศ
The MATER : เพิ่งผ่านการประกาศผลแอดมิชชันมาสดๆ ร้อนๆ เพนกวิ้นคิดยังไงเวลามีดราม่าว่ามหาวิทยาลัยนั้นดีกว่ามหาวิทยาลัยนี้ หรือโรงเรียนนี้ดีกว่าโรงเรียนนั้น
เพนกวิ้น : เป็นผลจากลัทธิชุมชนนิยมในสถาบันการศึกษา จะเรียกว่าสถาบันนิยม หรือบ้านๆ กว่านั้นก็ลัทธิคลั่งโรงเรียน คลั่งมหาวิทยาลัย
The MATTER : อื้อหือ ถ้าจะเปิดมาชวนดราม่าขนาดนี้นะ ความคลั่งนี่อยู่ๆ มันก็มาของมันเองยังงี้หรอ?
เพนกวิ้น : อันที่จริงแนวความคิดแบบนี้มันก็เป็นกรอบเดียวกับแนวคิดชาตินิยม แค่เปลี่ยนขอบเขตจาก ‘ชาติ’ เหลือแค่ ‘โรงเรียน-มหาวิทยาลัย’
เรื่องความรักพวกพ้องมันก็พอจะเข้าใจได้ แต่พอมันมากเข้า สุดท้ายแนวความคิดแบบนี้มันจะกลืนกินความเป็นตัวเองของนักเรียน-นักศึกษา ซึ่งมันก็จะขัดแย้งกับปรัชญาการศึกษาที่จะต้องส่งเสริมให้ทุกคนได้พัฒนาในแบบของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ถ้าสถาบันไหนไม่สามารถเติมเต็มหน้าที่ส่วนนี้ได้ก็ไม่จำเป็นต้องมีอยู่ อาจต้องชั่งน้ำหนักระหว่างศักดิ์ศรีที่สร้างขึ้นหรือการคงอยู่ของสถาบัน
The MATTER : ฟังแล้วต้องรีบส่องกระจกมองตัวเองเลยว่าตกลงเข้าไปเรียนแล้วกำลังพัฒนาตัวเองหรือกำลังยึดติดกับสถาบันการศึกษาที่ตัวเองอยู่ แต่นอกจากคนที่กำลังภูมิใจกับการสอบได้ที่ที่ตัวเองตั้งใจไว้ ขณะเดียวกันก็มีกระแสเรื่องการเฉลยของสอบผิดออกมาให้หดหู่เบาๆ
เพนกวิ้นคิดอยางไรกับคำพูดนายกฯที่ว่าให้เห็นใจคนออกข้อสอบบ้าง ยืนยันโอเน็ตผิดแค่ข้อเดียว ข้อสอบเยอะก็ต้องผิดบ้าง ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย
เพนกวิ้น : สงสารคนที่อนาคตพัง แอดมิชชั่นไม่ติดเพราะเฉลยผิดข้อเดียว จริง ๆ ก็ไม่ควรสงสาร ควรเอาพลังที่ทุ่มกับความสงสารไปกดดันให้ลงโทษคนออกข้อสอบผิดแทน
The MATTER : เวลาเราพูดอะไรแรงๆ ที่คนส่วนใหญ่รับไม่ค่อยได้ หรือทำแคมเปญแต่ละครั้ง ทั้งการไปชูป้ายเพื่อสื่อสารข้อความบ้าง เขียนข้อความลงบนมือบ้าง ส่งสารเปิดผนึกบ้าง แล้วมีคนมาบอกว่าเอาเวลาไปตั้งใจเรียนเถอะ เด็กก็อยู่ส่วนเด็ก เรารับมือกับคำพูดแบบนี้ยังไง มีอะไรอยากบอกฝากบอกพวกเขามั้ย ?
เพนกวิ้น : ส่วนตัวก็ไม่รับมือยังไง ปล่อยผ่านพวกเขาไป
“คนที่ปิดประตูใส่เราเพียงเพราะอายุก็ไม่น่าใช่คนที่ตั้งใจจะรับสารจากเราอยู่แล้ว ที่ทำได้ดีที่สุดก็คือทำเนื้อสารและวิธีการสื่อสารให้เหมาะสม เผื่อจะสะกิดใจใครบางคน”
อันที่จริงแล้ว ด้วยตรรกะเดียวกันนั้น เราก็อาจพูดได้ว่า ผู้ใหญ่ก็ควรเอาเวลาที่มาไล่ดุไล่ด่าผมไปทำงาน เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ผู้ใหญ่ก็อยู่ส่วนผู้ใหญ่ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น สุดท้ายสังคมก็จะหยุดนิ่ง ผู้มีอำนาจก็จะทำอะไรได้ตามใจเพราะทุกคนหลับตา และเมื่อหลับตานานๆ เข้า สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมตาบอด
The MATTER : หลายคนชอบบอกว่า โห ทำไมชอบออกมาเรียกร้องนั่น เสนอนี่จัง จริงๆ แล้วเราอยากให้สังคมการศึกษาไทยในอนาคตเป็นอย่างไรกันแน่ ?
เพนกวิ้น : เรื่องการศึกษาไทยควรจะเป็นอย่างไรนั้น ถ้าจะให้อธิบายให้ครบถ้วนก็คงจะยืดยาวมาก
The MATTER : เอาแบบย่อๆ ก่อนก็ได้
เพนกวิ้น : ในเบื้องต้น การศึกษาไทยต้องเป็นของทุกคน ทุกคนต้องมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา และไม่ใช่แค่เข้าถึง จะต้องมีส่วนร่วมกับการจัดการศึกษาของตัวเองด้วย การศึกษาไทยควรจะต้องเคารพทุกคนที่อยู่ในระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ผู้ปกครอง รวมไปถึงคนในสังคมที่จะต้องอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมสังคมที่เป็นผลผลิตจากระบบการศึกษาอีกด้วย
ดังนั้น การศึกษาไทยจะต้องออกแบบให้เข้ากับความต้องการของทุกคนมากๆ จะต้องไม่กีดกันคนออก ทั้งในแง่คุณภาพและการเข้าถึง
The MATTER : แรงกระเพื่อมเรื่องล่าสุดที่เพนกวิ้นทำ คือการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีตั้งคำถามว่าทำไมสิทธิที่จะได้เข้าถึงการศึกษาจึงไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ
เราจะอธิบายให้คนที่ไม่เข้าใจ เข้าใจได้ยังไงว่า สิทธิที่จะเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานส่งผลต่อชีวิตและอนาคตทางการศึกษา?
เพนกวิ้น : ชีวิตคนเราตั้งหกสิบเจ็ดสิบปี ส่วนมากก็ถูกกำหนดด้วยช่วงเวลาแค่สิบกว่าปีในชีวิตการศึกษา ใครได้รับการศึกษาดีก็มีแต้มต่อชีวิตดีไปกว่าครึ่ง
ถึงแม้ว่าคนใหญ่ ๆ ในโลกนี้จะคว้าความฝันของตัวเองได้โดยไม่ต้องง้อระบบการศึกษา แต่ก็ต้องพูดต่ออย่างโลกไม่สวยว่าหลายความฝันมันก็ไม่มีทางไปถึงถ้าไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เด็กหลายคนอาจมีความฝันอยากเป็นวิศวกรสร้างตึกสูงระฟ้า แพทย์ที่คิดค้นวัคซีนแบบใหม่ ฯลฯ
ผมก็จินตนาการไม่ออกว่าถ้าพวกเขาไม่มีโอกาสเข้าถึงได้แม้กระทั่งการศึกษาขั้นพื้นฐาน ความฝันของพวกเขาจะปรากฏเป็นรูปธรรมได้อย่างไร
ยิ่งสังคมไทยปัจจุบันนี้จะตื่นตาตื่นใจกับวุฒิการศึกษาเป็นพิเศษ จะเป็นแพทย์ วิศวกร พนักงานบัญชี พนักงานส่งของ พนักงานรักษาความปลอดภัยหรือแรงงานในโรงงาน ทุกวันนี้ส่วนมากก็มีเงื่อนไขวุฒิการศึกษาขั้นต่ำทั้งนั้น
ถ้าตัดโอกาสเข้าถึงการศึกษาของเด็กออก ก็เหมือนขัดขานักวิ่งให้ล้มตั้งแต่เพิ่งเริ่มออกตัว
The MATTER : เอ แต่ล่าสุด เมื่อวานนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็กำลังเสนอให้นายกฯ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกกฎหมายเรียนฟรีตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าแล้ว
คนก็คิดว่า อ้าว นี่ยังไม่พอใจอีกเหรอ จะเอาไงอีกอ่ะ? เราจะบอกเขายังไงให้เข้าใจว่าสิทธิที่จะได้เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานมันควรอยู่ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่ ระดับ พ.ร.บ?
เพนกวิ้น : โอกาสเข้าถึงการศึกษาไม่ได้เป็นโอกาสของปัจเจกบุคคล แต่เป็นโอกาสของสังคมด้วย
ระดับความมีการศึกษาที่ดีย่อมหมายถึงคุณภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอีกด้วย แรงงานที่มีทักษะและความรู้ความสามารถสูงมีโอกาสที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าแรงงานที่มีทักษะและความรู้ความสามารถต่ำ
รัฐจึงมีหน้าที่ต้องส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่ นอกจากจะเพื่อสิทธิของประชาชน ยังเพื่อความก้าวหน้าของรัฐเองด้วย
ประเทศจะไปได้ไกลขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งก็คือคุณภาพของการศึกษา
ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา สิทธิในการเข้าถึงการศึกษาจึงถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดโดยตลอด เพื่อรับประกันว่าประชาชนจะต้องได้เรียนฟรีไม่ว่าจะอยู่ในวาระรัฐบาลไหน หากลดการคุ้มครองลงไว้เพียงระดับพระราชบัญญัติ ต่อไปรัฐบาลต่าง ๆ ก็อาจรบกวนสิทธิการศึกษาของประชาชนได้มากขึ้น
ยิ่งประเทศไทยนั้น ความเป็นรัฐสมัยใหม่และระบบราชการมันเกิดก่อนแนวคิดเรื่องสิทธิประชาชนไทยเสียอีก ประชาชนยิ่งจำเป็นต้องมีเสาหลักที่แข็งแรงพอไว้ยึดเป็นฐานสำหรับการเรียกร้องสิทธิของตัวเองจากรัฐ ซึ่งเสาหลักที่แข็งแรงขนาดที่จะยันกับรัฐบาลได้ ก็เห็นจะมีแต่รัฐธรรมนูญเท่านั้น (ตราบเท่าที่มันไม่ถูกฉีก)
The MATTER : เรื่องการศึกษาในรัฐธรรมนูญ มีความกังวลเรื่องไหนที่ต้องจับตามองอีก?
เพนกวิ้น : อันที่จริงมาตรา 54 (มาตราการศึกษา) ถูกสับได้ทุกวรรคทุกประโยคเลยทีเดียว ในวรรคสี่บัญญัติว่า “การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ…” ซึ่งเป็นที่ทราบตรงกันว่าคำเหล่านี้นั้นเลื่อนลอย ไม่มีนิยามที่แน่นอน และดูจะส่งเสริมลัทธิชาตินิยมมากกว่าความเป็นตัวของตัวเอง สังเกตว่าการศึกษามุ่งเน้นจะให้ผู้เรียนยอมรับใน ‘หน้าที่’ แต่ไม่ได้กล่าวถึง ‘สิทธิ’ และ ‘เสรีภาพ’ เลยแม้แต่น้อย คิดเล่นๆ อีกอย่างหนึ่ง รัฐธรรมนูญนี้ทำให้วิชาหน้าที่พลเมือง (aka ค่านิยม 12 ประการ ฯลฯ) ชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่น่ากลัวอีกประการหนึ่งคือวรรค 3 กำหนดให้รัฐ “ดำเนินการ ส่งเสริม กำกับและสนับสนุน” ให้การศึกษาที่ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนมีคุณภาพ ซึ่งน่าจับตาว่า “ดำเนินการ ส่งเสริม กำกับและสนับสนุน” คือการให้อำนาจรัฐผ่านกระทรวงศึกษาธิการเข้าไปควบคุมการศึกษาทั้งระบบหรือเปล่า
ถ้าเป็นเช่นนั้น เท่ากับว่ารัฐจะผูกขาดการศึกษาให้เป็นไปในแบบรัฐได้สะดวกมือมากขึ้น เมื่อรัฐควบคุมการศึกษาได้ รัฐก็ควบคุมความคิดของคนได้ ประกอบกับในวรรคนี้ได้กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายการศึกษาให้มีการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติมากำกับการศึกษาไทยแล้ว ยิ่งชัดเจนว่า อำนาจรัฐที่ครอบงำระบบการศึกษาจะยิ่งใหญ่ขึ้นอีก ในยุคที่การศึกษาควรออกจากมือรัฐไปสู่มือของท้องถิ่นและประชาชนมากขึ้น สุดท้ายกระทรวงศึกษาธิการจะกลายเป็นยักษ์ที่ใครก็ยากจะโค่นล้มได้
The MATTER : ในฐานะเป็นคนรุ่นใหม่ เราอยากบอกอะไรกับผู้ใหญ่ คนรุ่นลุง รุ่นปู่ซึ่งความคิดและการกระทำของพวกเขาส่งผลต่อเราบ้าง?
เพนกวิ้น : ผมเคารพในความเป็นมนุษย์ที่ผ่านโลกมาระดับหนึ่ง
แต่สุดท้ายสิ่งที่สำคัญคือคุณภาพของตัวความคิด ไม่ใช่ประสบการณ์ของผู้คิด ดังนั้น ก็ควรจะเปิดใจฟังเสียงของทุกๆ คน คนบางคนมีประสบการณ์น้อยแต่เรียนรู้ได้มาก บางคนมีประสบการณ์มากแต่ก็เรียนรู้อะไรมาน้อย ผมไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนที่ดำรงตำแหน่งสูง ๆ แต่หมายถึงทุกคน
The MATTER : เดินทางมาถึงคำถามสุดท้าย ถ้าไม่ถามคำถามนี้คงขาดความเข้มข้น รู้ลึกตามสไตล์ The MATTER ไปมาก เรารู้ว่าเป็นคำถามที่เสี่ยงจะโดนวิพากษ์วิจารณ์และคำตอบที่ได้รับอาจสร้างแรงกระเพื่อมไปในวงกว้าง คำตอบนี้ไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน และเราขอน้อมรับคำติชมแต่เพียงผู้เดียว
.
.
.
.
.
.
.
.
เพนกวิ้นใช้โฟมล้างหน้ายี่ห้ออะไรอ่ะ ทำไมหน้าไซ้ใส
โชโกบุตสึเท่านั้นที่ครองโลก วะฮ่าฮ่า