20 มีนาคม 2564
กลุ่ม REDEM นัดหมายการชุมนุมในวันนั้นเวลา 18.00 – 21.00 น. ที่ ‘สนามหลวง’ (แต่พวกเขาเรียกพื้นที่ตรงนั้นว่า ‘สนามราษฎร์’) โดยวันและเวลาเกิดจากการโหวตผ่านแอพฯ Telegram
ตั้งแต่ช่วงกลางคืนก่อนวันนัดหมายที่ลากยาวมาจนรุ่งเช้า เจ้าหน้าที่ทยอยขนตู้คอนเทนเนอร์มาวางขวางกลางสนามหลวง เสริมความแน่นหนาด้วยลวดหนามหีบเพลงที่กางออกวางเป็นแนวยาวข้างกัน ไม่ใช่เพียงแค่นั้น บริเวณโดยรอบยังถูกวางขวางด้วยสิ่งเดียวกัน ปิดทุกทางสัญจรราวกับว่าอีกไม่กี่นาทีจะเกิดสงครามรุนแรงที่ใจกลางพระนคร
เมื่อถึงเวลาที่ตกลงกันไว้ การชุมนุมที่ไม่มีแกนนำดำเนินไปอย่างคาดการณ์อะไรไม่ได้ การขยับก้าวที่พร่าเบลอค่อยๆ ชัดเจน จุดโฟกัสในคืนนั้น คือตู้คอนเทนเนอร์ที่มวลชนกำลังพยายามจะรื้อถอน
โครม!… ตู้เหล็กขนาดใหญ่ถูกผูกเชือกแล้วใช้แรงมนุษย์ดึงลงมา เสียงเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ชุมนุมหยุดการกระทำ และหลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการฉีดน้ำแรงดันสูงเข้ามายังผู้ชุมนุม เสียงระเบิดดังขึ้นเป็นระยะ มวลชนวิ่งหนีกระจัดกระจาย และหลายชั่วโมงของค่ำคืนนั้นก็เต็มไปด้วยการปะทะกันของผู้ชุมนุมและตำรวจควบคุมฝูงชน
กุ้ย-ศรายุธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวภาคสนามของสำนักข่าวประชาไท ใช้สมาร์ตโฟนยืนถ่ายทอดสดเหตุการณ์ตั้งแต่การรื้อถอนตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อมวลชนกระจัดกระจาย จุดสุดท้ายของเขาในคืนนั้นอยู่บริเวณถนนข้าวสาร ใกล้กับสี่แยกคอกวัว
ฝั่งหนึ่งมีคำด่าทอ ขวดพลาสติก และขวดแก้วเป็นอาวุธ อีกฝั่งมีโล่ กระบอง และปืนที่บรรจุกระสุนยางไว้เตรียมพร้อมปราบปราบ บรรยากาศของการปะทะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งตำรวจควบคุมฝูงชนวิ่งกรูเข้ามาทางผู้ชุมนุม
“โอ๊ย…” เขาโดนกระสุนยางเข้าเต็มๆ วินาทีนั้นทั้งเจ็บและโกรธ เลยหลุดด่าทอผู้กระทำไปด้วยอารมณ์เดือดดาล ความรุนแรงของกระสุนยางเปลี่ยนผิวหนังเป็นบาดแผล แทนที่จะปิดกล้องแล้วนั่งพักหรือใส่ยา ในนามของวิชาชีพ เขายืนกำขาตั้งโทรศัพท์อย่างมั่นคงเพื่อถ่ายทอดสดเหตุการณ์ตรงนั้นอย่างกล้าๆ กลัวๆ
“วันนั้นตำรวจวิ่งมา ผมก็วิ่งเลย แต่ไม่ได้วิ่งเข้าใส่นะ วิ่งหนี มันน่ากลัวนะคุณ ผมคิดว่าตัวเองวิ่งช้าแล้ว แต่ในสถานการณ์นั้น ผมวิ่งเร็วกว่าใครเลย” ทั้งที่โกรธและกลัวขนาดนั้น เขากลับเลือกที่จะปักหลักรายงานข้อเท็จจริงต่อไป “สิ่งที่ผมทำเหมือนเป็นกล้องวงจรปิดเคลื่อนที่ได้ กล้องวงจรปิดของรัฐมักจะเสียเมื่อมีเหตุ มันไม่ได้มีไว้รับใช้ประชาชนหรือข้อเท็จจริง ผมทำหน้าที่เป็นกล้องวงจรปิดบันทึกและถ่ายทอดเหตุการณ์ตอนนั้น”
ถัดจากนั้นไม่กี่วัน เขาตัดสินใจฟ้องร้องคดีแพ่งต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ตอนจบ (ที่คาดการณ์ได้ไม่ยาก) มาไวกว่าที่คิด คือ ศาลยกฟ้องในวันนั้นเลย
…
กุ้ย-ศรายุธ ตั้งประเสริฐ ไม่ได้อยู่ในสนามข่าวแบบนี้เป็นครั้งแรก เขาเป็นชายวัยห้าสิบกว่าที่เคยทำงานภาคสังคม เคยเป็นเกษตรกรที่ จ.มุกดาหาร ก่อนจะมาเริ่มงานสื่อมวลชนหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 เขาติดตามการเคลื่อนไหวของทุกกลุ่มการเมือง เข้าไปสังเกตการณ์ พูดคุย และบางวันก็นอนค้างในการชุมนุม บางช่วงเกาะติดอยู่ในการชุมนุมที่กรุงเทพฯ บางช่วงลงพื้นที่ไปคุยกับชาวบ้านที่ต่างจังหวัด
ว่ากันตามตรง หากคนทำงานสื่อมวลชนอายุขนาดนั้น ส่วนใหญ่คงเลือกที่จะมอนิเตอร์สถานการณ์อยู่ในออฟฟิศ คอยติดตาม ตัดสินใจ และสั่งการคนหนุ่มสาวในสนามข่าวมากกว่า แต่เมื่อลูกชายของเขากลับมาทำกิจกรรมทางการเมืองอีกครั้ง เขาเลือกที่จะยืนอยู่ในสนามเดียวกัน
ใช่ เรานัดเขาหลังจากความรุนแรงของกระสุนยาง แต่นอกจากคำตอบผ่านสายตาผู้อยู่ในเหตุการณ์แล้ว เราชวนเขามองผ่านสายตาของผู้สังเกตการณ์ด้วยว่า กว่าสิบปีที่ความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อ เขาเห็นอะไรในการชุมนุมทางการเมือง ความรุนแรงจากทุกๆ ฝ่ายกำลังบอกอะไร และที่ทางของสื่อมวลชนควรอยู่และดำเนินไปแบบไหน
คุณเริ่มมาเป็นสื่อมวลชนได้ยังไง
ก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ.2549 ผมเป็นเกษตรกรอยู่ที่ จ.มุกดาหาร พอมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตร ผมโอเคกับการไล่ทักษิณ แต่ไม่โอเคที่เอาอำนาจของกษัตริย์มาไล่ทักษิณ ตอนนั้นมีประเด็นนายกพระราชทาน ผมกับเพื่อนก็ลงชื่อว่าไม่เห็นด้วย สุดท้ายเกิดรัฐประหาร ตอนนั้นชูวัส (ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข) ทำงานอยู่ประชาไท เขาเป็นเพื่อนสมัยเรียนและทำกิจกรรมนักศึกษา เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ปฏิเสธพระราชอำนาจและนายกฯ ม.7 เขาเลยชวนมาเขียนข่าวและบทความส่งให้ประชาไท ผมเริ่มทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 แล้วทำเรื่อยมาจนปัจจุบัน
การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรไม่ได้ทำลายแค่นักการเมืองชื่อทักษิณ แต่ไปทำลายความหมายของคนชั้นล่างที่เลือกคนชื่อทักษิณ ชาวบ้านเหล่านั้นกลายเป็นมวลชนที่ไม่มีหน้าตา ไม่มีปากเสียง โดนสรุปว่าเป็นคนเห็นแก่เงิน เห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า เป็นลิ่วล้อ เป็นขี้ข้า เป็นคนโง่ เป็นคนเห็นแก่ได้ ช่วงแรกหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ผมยังไม่ตกตะกอนชัดเจนมาก แต่พอไปคุย ไปสัมผัส ไปนั่งมั่วๆ กับชาวบ้าน เขามีเหตุผลที่ดีหลายเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกทักษิณ
เท่าที่คุณพูดคุยมา ทำไมชาวบ้านถึงเลือกคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร
นโยบายของทักษิณที่ถูกนักวิชาการเรียกว่าเป็นประชานิยม สมัยนั้นเป็นสิ่งน่ารังเกียจอย่างมาก มันคือสวัสดิการที่รัฐจัดให้กับชาวบ้านจริงๆ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ มันทำให้ชีวิตพวกเขางอกงามขึ้น เขาไม่ต้องไปหยิบยืมหรือกู้เงินดอกเบี้ยสูงๆ เรื่องพวกนี้ไม่มีใครพูดถึงในช่วงนั้น มีแต่คำว่า ทักษิณคือทุนสามานย์ ทักษิณทำให้ประชาชนพึ่งตัวเองไม่ได้ ปัญญาชนบางคนที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยในช่วงนั้น ไม่พูดถึงสิ่งเหล่านี้ แต่พูดถึงทักษิณแบบสเตอริโอไทป์
คุณมองการทำงานของสื่อกระแสหลักตอนนั้นยังไง
เขามองคนในชนบทที่สนับสนุนทักษิณแบบหยาบๆ อธิบายปรากฏการณ์ที่ไม่ครบถ้วน มองจากข้างบนลงมา มองจากคนที่มีฐานะเหนือกว่า มั่นใจว่าตัวเองมีความรู้มากกว่า เข้าใจดี ปรารถนาดี มีเมตตาปราณี เป็นทัศนคติของคนที่ไม่อยู่ในจุดนั้น ผมเลยพยายามจะตอบโต้วิธีคิดกระแสหลัก ทำให้ภาพชัดเจนขึ้น และเป็นธรรมกับคนที่ถูกลดทอน
ทำไมสื่อกระแสหลักถึงมองชาวบ้านแบบนั้น
เขาเป็นชนชั้นกลาง มองในสายตาแบบง่ายๆ หยาบๆ วิธีการมองแบบนี้มีมานานแล้ว มองคนชนบทต้องได้รับการช่วยเหลือ คนอีสาน คนเหนือ ชาวเขา ชาวกะเหรี่ยง ฯลฯ เป็นคนที่ต้องได้รับการพัฒนา ต้องได้รับความรู้ ไม่ว่าการมองแบบนั้นจะเกิดจากความปรารถนาดี หรือคิดว่าตัวเองมีความรู้ แต่ถ้าคุณไม่ได้ลงไปคุยกับเขาจริงจัง ไม่ได้ทำความเข้าใจปัญหาและวิธีคิดของพวกเขา มันคือการกดการเหยียดชาวบ้าน
ช่วงที่คุณไปทำข่าวการชุมนุมในปี พ.ศ.2553 คุณตั้งใจไปนำเสนอข่าวยังไง
สมัยนั้นใช้กล้องดิจิทัลบันทึกภาพ บางครั้งก็กลับออฟฟิศมาเขียน บางครั้งก็โทรเล่า อย่างแรกคือ บางครั้งผมไปนอนในม็อบเลย ผมคิดว่าการมีสื่อไปในม็อบจะช่วยให้ลดความรุนแรงลง รัฐคงยับยั้งชั่งใจบ้าง ทำอะไรเป็นเหตุผลมากขึ้น เพราะความรุนแรงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ที่มีการใช้กระสุนจริงกับประชาชน เขาเป็นคนมุกดาหารบ้านเดียวกับผมด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อถึงเวลาที่รัฐจะตัดสินใจใช้ความรุนแรง มันไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหม ไม่ได้สนใจสื่อมวลชนหรอก
10 เมษายน พ.ศ.2553 ที่มีการสลายการชุมนุม ผมรู้ว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้มาก แต่ก็ลงไปอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่กลางวัน เพื่อบอกว่า กูทำงานอยู่ตรงนี้นะเว้ย! แต่ไม่มีผลอะไร มีการใช้ความรุนแรงตั้งแต่สิบโมง มีคนโดนยิงช่วงเที่ยง มีการนำรถหุ้มเกราะเข้ามาตอนกลางวัน
อะไรทำให้รัฐกล้าใช้ความรุนแรงในตอนนั้นคืออะไร
สื่อมวลชน (ตอนทันที) ตอนนั้นยังไม่สื่อตระกูลเดอะ ไม่มีเพจเฟซบุ๊กที่แพร่หลาย สื่อหลักคือทีวีทั้งนั้น ความเข้าใจของคนเมืองที่มีต่อคนเสื้อแดงแย่อยู่แล้ว แต่มันถูกทำให้แย่ลงไปอีกโดยสื่อมวลชน ในสายตาคนเมือง คนชนบทใสซื่อบริสุทธิ์นะ แต่เมื่อไรที่คุณก้าวข้ามพรมแดนอำนาจทางวัฒนธรรมมา เมื่อนั้นคุณจะกลายเป็นคนเลวร้าย คนได้คืบเอาศอก คนเห็นแก่ได้ คุณเป็นคนที่น่ารักในสายก็ต่อเมื่ออยู่ที่บ้าน ทำงานหาเช้ากินค่ำ ถือจอบไปดายหญ้า ไปทำนา แต่เมื่อคุณไม่เอารัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาในค่ายทหาร คุณกลายเป็นลิ่วล้อนักการเมือง หยาบคาย คนโง่ ไม่น่าเห็นใจอีกต่อไปแล้ว ทั้งที่เป็นคนเดียวกัน
ทำไมความเกลียดชังของคนในเมืองถึงเป็นใบเบิกทางให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงได้
คนชั้นกลางมีอำนาจ เป็นคนที่ค้ำยันรัฐบาล ก่อนหน้านั้นก็รัฐบาลสุรยุทธ์ (สุรยุทธ์ จุลานนท์) คนชั้นกลางอยู่ในเขตพื้นที่ของรัฐ ทั้ง 2 ฝ่ายอำนาจไม่เท่ากัน ระหว่างคนจบปริญญา ใส่แว่น หน้าดูจีนๆ ผมเผ้าเรียบร้อย กับคนจบ ม.3 ดั้งแหมบ ผิวดำหยาบกร้าน คิดว่าผู้มีอำนาจจะฟังใคร
การนำเสนอข่าวการชุมนุมตอนนั้นเป็นยังไง
สื่อยืนอยู่หลังเจ้าหน้าที่ รายงานแต่ฝั่งเจ้าหน้าที่ ภาพความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ไม่ถูกสื่อสารออกมา แต่ภาพที่ฝ่ายผู้ชุมนุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ถูกตีแผ่เต็มเลย ผมไม่ได้บอกว่าผู้ชุมนุมไม่ใช้ความรุนแรงนะ มีคนบางกลุ่มใช้ความรุนแรงจริง เจ้าหน้าที่รัฐก็ใช้ความรุนแรงจริง แต่ภาพที่ออกมาในสื่อกระแสหลักมีแต่ภาพของผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง
คุณคิดว่าสื่อมวลชนลงพื้นที่จะช่วยให้ความรุนแรงลดลง แต่สุดท้ายก็มีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก มันส่งผลต่อคุณยังไงบ้าง
ผมลดความคาดหวัง เราทำหน้าที่ต่อ ถึงจะลดความรุนแรงไม่ได้ แต่เราก็ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์แล้วถ่ายทอดออกไป บางจุดที่ไม่มีสื่อมองเห็น หรือบางจุดที่สื่อมองเห็นแต่ไม่ผ่านการคัดกรองของบรรณาธิการ เราพยายามทำหน้าที่นั้น
หลังเหตุการณ์ความรุนแรงก็มีการเลือกตั้งปี พ.ศ.2554 คุณเห็นอะไรในช่วงเวลานั้น
ผมกลับบ้านไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง นั่งรถกลับไปก่อนเลือกตั้ง 1 วัน จากถนนพหลโยธินไปถึงถนนมิตรภาพ แสงไฟรถต่อกันเป็นแถวยาว คนอีสานและคนเหนือกลับไปใช้สิทธิ์ของตัวเอง จากกรุงเทพฯ ไปบ้านผมระยะทางหกร้อยกว่ากิโลเมตร รถติดมาก เราไม่รู้ว่าคนกลับไปเลือกใคร แต่มันบ่งบอกว่า คนที่บอกว่าประชาชนไม่ตื่นตัวในเรื่องการเลือกตั้ง มันไม่จริง ไม่มีใครรับเงิน 500 บาท 1,000 บาท เพื่อแลกกับการนั่งรถเบียดๆ ไปหรอก ถามคุณว่า ถ้ามีคนจ้างให้นั่งรถเบียดๆ ไปด้วยเงินเท่านั้น คุณไปไหมล่ะ ไม่มีใครไปหรอก ถ้าเขาไม่ได้อยากไปเอง
หลังจากนั้นคุณตามประเด็นอะไรเป็นพิเศษไหม
ก็ตามประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ การชุมนุมของ กปปส. ก็ไป แต่ไม่กล้านอนค้าง เพราะตอนนั้นประชาไทโดนด่าเป็นสื่อเสื้อแดงแล้ว ตอนเขาพาคนไปบุกคูหาเลือกตั้งก็ไป การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่สนามราชมังคลาฯ ก็ไป
คุณพูดถึงเสียงของคนเสื้อแดงว่าเป็นชาวบ้าน เรานับ กปปส. เป็นเสียงของชาวบ้านได้ไหม
นับได้ แต่ประเด็นในการต่อสู้ไม่เหมือนกัน ช่วงที่รัฐบาลออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่หนึ่งในผู้ที่ได้รับประโยชน์คือทักษิณด้วย พิจารณาตอนดึกๆ ลงมติกันเลย ต่อให้เป็นเสียงส่วนใหญ่ก็ไม่แฟร์ พอคนออกมาชุมนุมว่าไม่เห็นด้วย ผมว่าโอเค แต่พอยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ในฐานะผู้นำประเทศแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองโดยการลาออก มีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ แต่คุณยังเคลื่อนไหวต่อ มันไม่โอเคแล้ว คุณไปปิดคูหาจำกัดสิทธิ์คนอื่น ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือปฏิรูปอะไร มันไม่ถูกต้องอย่างมาก
คุณเห็นใจเสื้อแดง ตอนไปทำข่าว กปปส. เป็นการทำงานแบบมีอคติไหม
ผมไม่ได้ลงไปแบบอคติ ตอนนั้นผมเห็นประชาชนออกมาเคลื่อนไหว เห็นเด็ก เห็นผู้หญิงพาลูกออกมา ผมไม่เคยนำเสนอในทางด่าเลย ตอนนั้นเห็นการใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ที่สนามไทย-ญี่ปุ่น ผมเลือกไม่นำเสนอด้วยซ้ำ เพราะสัดส่วนในการใช้ความรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ชุมนุมไม่เท่ากัน เจ้าหน้าที่รัฐมีอุปกรณ์ครบ แต่ในเหตุการณ์ที่เห็นผู้ชมนุมมีอาวุธ มันแค่คนเดียว นำเสนอไปแล้วทำให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงที่มากกว่ามาสลายการชุมนุม เราเห็นบทเรียนของคนเสื้อแดงมาแล้ว เราไม่อยากเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นกับ กปปส. เหมือนกัน
ถ้าคุณมองว่าช่วงหลังของ กปปส. ผิดจากหลักการ บางครั้งเหมือนคุณเป็น activist ด้วยซ้ำ แบบนี้จะลงไปนำเสนอย่างเป็นกลางได้เหรอ
ความเป็นจริงคือสื่อไม่มีความเป็นกลาง สื่อมีจุดยืนทางการเมือง สื่อเป็น activist ทั้งนั้น เพียงแต่คุณเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบสื่อ คนที่บอกว่าเป็นกลางก็กำลังชี้นำสังคม แค่ทำได้เนียนกว่า หลบซ่อนตัวเองไว้ภายในเสื้อคลุมสื่อมากกว่า
ผมไม่ได้สนใจความเป็นกลาง แต่ผมจะปกป้องคนที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐ อยู่ข้างคนที่อ่อนแอกว่าในเหตุการณ์นั้น เนื่องจากรัฐมีขีดความสามารถในการใช้ความรุนแรงมากกว่า ทั้งความรุนแรงผ่านการใช้อาวุธ หรือความรุนแรงทางกฎหมาย ที่มักนำมาใช้เกินกว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ผมปฏิบัติแบบนี้กับทุกฝ่าย
การชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน คุณลงพื้นที่แค่ไหนยังไงบ้าง
บางช่วงผมทำข่าวอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด พอมีเหตุการณ์ทางการเมืองก็มาไลฟ์ในการชุมนุมต่างๆ เหตุผลส่วนหนึ่งที่กลับมาทำงานภาคสนามอีกครั้ง คือลูกกลับมาทำกิจกรรมมากขึ้น เขาเป็นนักเรียนมัธยมที่ขอนแก่น สนิทกับไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) กับกอฟ (ภรณ์ทิพย์ มั่นคง) เมื่อก่อนเคยทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ตามหาเด่น คำแหล้ แต่หลังจากไผ่โดนจับติดคุกก็ไม่สนใจการเมืองไประยะหนึ่งเลย ผมคิดในใจว่า เราคงไม่เห็นลูกเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางแล้ว แต่ข่วงหลังเขาเริ่มสนใจการเมือง กลับมาทำกิจกรรมกับเพื่อนในโรงเรียน จริงๆ การกลับมาทำงานข่าวภาคสนามของผมไม่ได้มืออาชีพเลย เพราะเริ่มจากเป็นห่วงคนใกล้ตัว พอมีการเคลื่อนไหว ลูกเราสู้ ผมก็ต้องสู้กับเขา อย่างน้อยก็อยู่ในกระแสในสนามเดียวกับลูก
(เงียบคิด) ในความขัดแย้งทางการเมือง เราเห็นคนอายุน้อยกว่าเราตาย ขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ มันเป็นเรื่องที่เจ็บปวดนะ ครอบครัวของเฌอ (สมาพันธ์ ศรีเทพ เยาวชนที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเมื่อ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2553) พ่อแม่อยู่ที่ไหนก็มีความหม่นเศร้าอยู่ตลอด คนอายุน้อยต้องตาย คนอายุน้อยติดคุก แต่เราก็มีชีวิตไปเรื่อยๆ ทำงานมีเงินเดือน มีข้าวกิน พอมีเงินเก็บบ้าง มันไม่มีความสุขนะ
เราเลยควรทำอะไรบางอย่าง
อือ (พยักหน้า)
การชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ คุณเห็นอะไรตอนลงไปทำข่าวบ้าง
ความรุนแรงยังไม่ถึงขั้นสุด แต่มันคือการปูทางไปสู่การใช้ความรุนแรงที่อาจแรงกว่าปี พ.ศ.2553 (เงียบคิด) เพราะประเด็นในการเคลื่อนไหวเป็นข้อเรียกร้องที่สูงกว่า ตอนนั้นแค่คนเสื้อแดงต้องการให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ทหารเอาปืนมายิงแล้ว แต่ตอนนี้ประเด็นอยู่ที่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อเรียกร้องมากกว่าแค่รัฐบาลแล้ว
สิ่งที่ผมเห็นคือ ตอนนี้สื่อกระแสหลักเริ่มอัดฝั่งผุ้ชุมนุมแล้ว โดยมีกลุ่ม REDEM เป็นเป้า ออกข่าวว่ามีการใช้ความรุนแรงจากฝั่งผู้ชุมนุม ซึ่งมันตลกมาก เราคุ้นชินกับความรุนแรงโดยรัฐ อาจมองว่า ทำไม่ถูกนะๆ แต่ด่าแล้วก็จบ ขณะที่ความรุนแรงของผู้ชุมนุนที่ไม่มีอำนาจเป็นเรื่องใหญ่โต สื่อบ้านเราเป็นแบบนี้มาตลอด
การชุมนุมของ นปช. วันหนึ่งมีคนยิงเข้ามาในที่ชุมนุม เขาเห็นแว้บๆ ว่าคนยิงหนีไปในโรงพยาบาลจุฬาฯ พวกการ์ดเลยตามเข้าไป ต้องการตามตัวคนยิงออกมาให้ได้ แต่ข่าวไปออกว่าเป็นการบุกรุกสถานพยาบาล เอ็นจีโอ นักสิทธิ ก็ออกมาด่า แต่ไม่ดูถึงที่มาของความรุนแรงเลย สุดท้ายก็เกิดการล้อมปราบ
มาในปัจจุบัน การรื้อตู้คอนเทนเนอร์เป็นเรื่องใหญ่โตมาก หรือมีการใช้ระเบิดเสียงขนาดใหญ่ กลายเป็นความรุนแรงร้ายแรง ถ้ามีการตอบโต้จากเจ้าหน้าที่ก็เป็นเรื่องปกติ ปัญหานี้ไม่ได้มาจากรัฐและสื่อที่เชียร์รัฐเท่านั้น แต่ปัญญาชนหรือคนชั้นกลางที่เรียกตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเองก็บ้าจี้ไปกับเรื่องพวกนี้ด้วย
คุณไม่ได้มองว่าบางครั้งการชุมนุมก็มีความผิดพลาดในทางยุทธวิธีเหรอ
แล้วอะไรคือความถูกต้องทางยุทธวิธี ถ้าการชุมนุมทางการเมืองต้องมีผู้นำคือความถูกต้อง เวลาผู้นำโดนจับไปแล้ว จะให้ใครมารับความเสี่ยงในฐานะผู้นำ เวลาการชุมนุมมีความเสียหายอะไร ผู้นำต้องรับผิด เป็นปัญหาโคตรคลาสสิกเลย ถ้าการชุมนุมมีความรุนแรง ผู้นำถูกประนามมากกว่ารัฐอีก จำลอง (ศรีเมือง) ในปี พ.ศ.2535 จตุพร (พรหมพันธุ์) ในปี พ.ศ.2553 ถ้าไม่ติดคุกก็โดนข้อหาพาคนไปตาย
เราชินชากับความรุนแรงที่รัฐทำต่อประชาชนไม่ได้ ทั้งที่โดยสัดส่วนการใช้อำนาจ การใช้เครื่องมือ รัฐมีอำนาจกว่ามากๆ เมื่อเทียบกับเด็กคนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างมากก็มีท่อพีวีซีมาทำระเบิดเสียง แรงสุดแล้ว แต่รัฐเลือกใช้ได้ตั้งแต่น้ำ กระสุนยาง หรือในอดีตก็มีกระสุนจริง รถหุ้มเกราะ รวมไปถึงกฎหมายที่ประเดประดังมาใส่ผู้ชุมนุม
รัฐได้กำหนดเส้นหนึ่งขึ้นมา เช่น จุดเริ่มต้นวันนั้นมาจากการดึงตู้คอนเทนเนอร์ ถ้าผู้ชุมนุมไม่ดึงก็ไม่มีการปราบปรามหรือเปล่า
ผมถามหน่อยว่า ถ้าวันนั้นใช้ท้องสนามหลวงในการชุมนุม มันจะมีใครตายไหม ถ้าอ้างว่าเป็นระยะ 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน ถามหน่อยว่า ถ้าชุมนุมตรงนั้นจะทำให้กษัตริย์เดือดร้อนยังไง ถ้าไม่เอาคอนเทนเนอร์มาวาง อำนาจกษัตริย์จะสั่นคลอนไหม ไม่มีใครตายจากการชุมนุม ถ้ามันอยู่ในเขตพระราชฐาน คุณก็ดำเนินคดีตามกฎหมายไปสิ แต่นี่คุณเล่นใหญ่เลย เอาตู้คอนเทนเนอร์และลวดหนามหีบเพลงมาขวาง เจ้าหน้าที่ คฝ. จำนวนมาก มีรถน้ำ ทำไมคุณไม่มองว่าตู้คอนเทนเนอร์คือการยั่วยุความรู้สึกของคนกำลังโกรธ คนที่ถูกกระทำโดยรัฐมาตลอด นับจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ คนกลุ่มนี้ไม่โอเค รวมกับคนเสื้อแดงที่โดนกระทำมาตลอด
ถามว่าใครยั่วยุใครกันแน่ ผมว่ารัฐยั่วยุกว่าเยอะ มันโคตรจะยั่วยุเลย บางครั้งการชุมนุมยังไม่ได้มีอะไรรุนแรงเลย รัฐก็มาฉีดน้ำแล้ว ซึ่งสื่อหลักทำเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา
เล่าเหตุการณ์วันที่คุณโดนยิงด้วยกระสุนยางให้ฟังหน่อย
ผมไปถึงที่นั่นสี่โมงกว่า ก็เดินไลฟ์ไปเรื่อยๆ อยากให้คนเห็นกิจกรรมโดยรอบ หลังจากนั้นก็มาไลฟ์ตรงตู้คอนเทนเนอร์ ผมไม่ได้อยากเข้าไปเยอะ ความกล้าและความกลัวสลับกันอยู่ตลอด ผมกลัว แต่ทำหน้าที่สื่อก็ต้องสะท้อนให้เห็น พอผู้ชุมนุมจะรื้อตู้คอนเทนเนอร์ ผมสนใจว่าคอนเทนเนอร์ 2 ชั้นที่วางเรียงกันจะถูกรื้อโดยกำลังคนที่มาชุมนุมได้ไหม ผมมองเป็นการต่อสู้ การไม่ยอมจำนนจากอุปสรรคที่ถูกรัฐนำมาขวางกั้น เขารื้อเพื่อบอกว่า คอนเทนเนอร์ที่เอามาวาง กูเอาลงมาได้ มันจบแค่นี้ แต่ปัญหากลายเป็นเรื่องใหญ่โต คนนี้รื้อ คนนั้นรื้อ
ตู้คอนเทนเนอร์คือสิ่งของที่มาตั้งอย่างผิดที่ ผิดเวลา ผิดโอกาส มันคือเครื่องมือทางการเมืองของรัฐ ก่อนหน้านี้ก็มีรถเมล์ก็มาจอดขวางไว้ ผมว่าโคตรชอบธรรมเลยที่จะถูกรื้อหรือเคลื่อนย้ายออกไป มันเป็นเรื่องปกติ แต่มันถูกอธิบายว่า การรื้อคือการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง ทั้งทำลายความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวของ REDEM และสร้างความชอบธรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อไปในอนาคตด้วย
ฝั่งรัฐบอกว่าการเอาวัตถุมาขวางการชุมนุมก็เพื่อปกป้องไม่ให้คนไปสร้างความเสียหาย ทำให้ทุกอย่างปลอดภัย
ความปลอดภัยของใคร (พูดสวนทันที) ก่อนหน้านี้มีการชุมนุมหน้ารัฐสภา มันคือความปลอดภัยของใคร มีใครตายไหม ไม่มี การเข้าไปอยู่ในสนามหลวง มีใครตายไหม ไม่มี
ตรงนั้นคือพื้นที่ของความศักดิ์สิทธิ์หรือเปล่า ใกล้วัด ใกล้วัง
ความศักดิ์สิทธิ์ใครสร้าง เป็นความศักดิ์สิทธิ์ของใคร และความศักดิ์สิทธิ์นั้นรับใช้ใคร สำหรับผม มันไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์
หลังจากตู้คอนเทนเนอร์ถูกรื้อลงมา คุณไปโผล่ที่สี่แยกคอกวัวได้ยังไง
ประชาไทจะวางให้นักข่าวทำงานร่วมกัน ผมแยกกับบัดดี้มาสักพัก แล้วน้องคนนั้นเดินไปแถวแยกคอกวัว ผมเลยเดินตามไป ตอนนั้นผมไม่ได้ไลฟ์แล้ว แต่พอเข้าไปตรงนั้นก็คิดว่า เอาอีกสักหน่อยละกัน อย่างน้อยให้แบตหมดก็ยังดี ผมเห็นผู้ชุมนุมตะโกนด่าเจ้าหน้าที่ คฝ. มีการขว้างขวดไปทางเจ้าหน้าที่ เข้าใจว่าบางครั้งเป็นขวดแก้วด้วย ผมรู้ว่าก่อนหน้านั้นมีการปะทะที่นี่ แต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง หลังจากนั้นไม่นาน ตำรวจก็ยิงเข้ามา ผมได้ยินหลายนัด แต่โดนตัวเอง 2 นัด นัดแรกโดนเป้ที่สะพาย คงโดนพาวเวอร์แบงค์หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการไลฟ์ อีกนัดโดนตัว
ตอนนั้นผมใส่หมวกนิรภัย ห้อยป้าย ใส่ปลอกแขน ใส่ครบทุกอย่าง มันเจ็บและชา ผมโกรธ ไม่ได้โกรธที่เขาทำสื่อนะ แต่โกรธที่เขาใช้ความรุนแรงกับคนตรงหน้า ใครก็ได้
เตรียมใจไว้บ้างไหมว่าจะโดนความรุนแรง
ในการชุมนุมครั้งนี้ เราเห็นมาหลายครั้งแล้ว หน้าราบ 1 (กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์) ผมเห็นชัดเลยว่า ตำรวจมีความโกรธแค้นผู้ชุมนุม มันผิดลักษณะของเจ้าหน้าที่คุมฝูงชน มีคนหลุดเดี่ยววิ่งหาฝูงชนอย่างบ้าเลือด ไล่ตีผู้ชุมนุม เขาโกรธ คำถามคือความโกรธเกิดจากอะไร ผมตั้งข้อสังเกตเทียบกับปี พ.ศ.2553 ผมได้คุยกับทหารที่บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม เขาเล่าว่า “ก่อนออกมาทำหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานเปิดคลิปที่ทำให้ว่าเจ้าหน้าที่ถูกผู้ชุมนุม (คนเสื้อแดง) ทำร้ายให้ดูก่อน” มีการบิ้วอารมณ์ ผมไม่รู้ว่าเหตุการณ์ในปัจจุบัน คฝ. จะเจอสิ่งเดียวกับทหารคนนั้นไหม ผมกลัวว่าจะเป็นแบบนั้น
คฝ. คือ ควบคุมฝูงชน คุณต้องควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรง แต่คุณกลับเข้าหาผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง มันคือความพร้อมเรื่องจิตใจด้วย คุณต้องคุมตัวเองให้อยู่ ผมว่าหลายคนหลุด บางคนหลุดเยอะด้วย มันอันตรายต่อผู้ชุมนุมที่ขีดความสามารถต่ำกว่าอยู่แล้ว ไม่รู้ว่าเมื่อไรเจ้าหน้าที่จะติดอาวุธยิงเข้ามา แค่กระสุนยางก็อาจทำให้คนตายได้แล้ว ถ้าเขาไม่มีความพร้อมด้านจิตใจ มีความโกรธเกลียด ก็อันตราย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่มีความพร้อม แต่ผู้บังคับบัญชาสั่งมา
ย้อนไปในเหตุการณ์ปี พ.ศ.2553 มันบ่งบอกแล้วว่า รัฐพร้อมจะจัดการตลอดเวลา ปีนั้นมีสื่อมวลชนบาดเจ็บเยอะมาก บางคนเดินกะเผลก บางคนพิการจนทำงานต่อไม่ได้
หลังจากโดนยิง คุณยังคงไลฟ์ต่อไป ตอนนั้นอยากให้คนดูเห็นอะไร
สิ่งที่ผมทำเหมือนเป็นกล้องวงจรปิดเคลื่อนที่ได้ กล้องวงจรปิดของรัฐมักจะเสียเมื่อมีเหตุ มันไม่ได้มีไว้รับใช้ประชาชนหรือข้อเท็จจริง ผมทำหน้าที่เป็นกล้องวงจรปิดบันทึกและถ่ายทอดเหตุการณ์ตอนนั้น
เวลาเราโดนทำร้ายก็ไม่ได้พูดว่า “ผมเจ็บครับ” วันนั้นผมก็หลุดคำหยาบออกไป เราถูกกระทำน่ะ มันคือความรู้สึกของกล้องวงจรปิดที่มีชีวิต มีทัศนคติทางการเมือง เราก็บันทึกภาพและถ่ายทอดสู่สาธารณะ แต่โดยความรู้สึกและทัศนะ ก็แสดงออกได้ระดับหนึ่ง
การที่เขายิงคนได้แบบนั้น มันบ่งบอกอะไร
สถานการณ์พร้อมจะยกระดับความรุนแรงไปอีกในอนาคต
ถ้าในสนามมี 3 ฝั่ง คือ รัฐ ผู้ชุมนุม และสื่อมวลชน แบ่งเป็นคู่ขัดแย้งและคนรายงานข้อเท็จจริง แต่หลายเหตุการณ์ที่ดูเหมือนรัฐจะมองสื่อมวลชนเป็นคู่กรณี มีการจับกุม ใช้อำนาจห้ามทำสิ่งต่างๆ คุณมองยังไง
เขาไม่ได้มองสื่อเป็นคู่กรณีหรอก การผลักดันสื่อออกจากพื้นที่ คือสัญญาณว่ารัฐจะยกระดับความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม เขาไม่อยากให้มีคนสังเกตการณ์ ไม่อยากให้มีหลักฐาน ถ้าเราตัดความกลัวและคำสั่งจากบรรณาธิการทิ้งออกไป มันจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีสื่อมวลชนอยู่ตรงนั้น แต่ในสถานการณ์แบบนั้น มันก็น่ากลัวจริงๆ ไม่มีใครมารับผิดชอบชีวิตเรา ผมทำใจมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ถ้าเรายังทำงานในจุดนี้ อย่าหวังให้ใครมารับผิดชอบเรา โอเค ประชาไทคงรับผิดชอบ ขณะที่รัฐจะหลีกเลี่ยงให้ถึงที่สุด ถ้าเราฟ้องร้องเอาความ คดีก็คงลากยาวเป็นสิบปี สมาคมวิชาชีพสื่อก็ไม่มีทาง มีแต่ถ้อยคำลอยตัวให้พ้นจากความขัดแย้ง
หลังจากที่วิ่งหนีไปแล้ว คุณเดินกลับมาเห็นประชาชนกำลังถูก คฝ. จะจับตัว พอแสดงตัวว่าเป็นสื่อ ปรากฏว่า คฝ. คนนั้นแสดงความหวาดกลัวออกมาชัดเจน คิดว่าเกิดอะไรขึ้นในใจเขา
มันคือความขัดแย้งในใจเจ้าหน้าที่ มันคือคำถามในทางมโนธรรมว่า เขาทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ผู้บังคับบัญชาสั่งให้สลาย แต่คนตรงหน้าไม่มีขีดความสามารถในการต่อสู้ได้ เขาสับสนอยู่ พอเขาเห็นว่าผมเป็นสื่อมวลชน เขาก็ถอยออกไป เพราะนี่ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ คฝ. มันคือภารกิจน่าอับอาย เขาอาจได้ดาวได้ยศ แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่มีเกียรติ และมันประกาศบอกใครไม่ได้
ถ้าเป็นงานที่เขาภูมิใจ พอมีสื่อเห็น เขาจะไม่กลัวแบบนั้น
ใช่ คุณกำลังทำคนไม่มีทางสู้
หมายความว่าเขาอาจไม่เห็นด้วยกับผู้บังคับบัญชา
ใช่ แต่ความน่ากลัวคือ ความรู้สึกที่เป็นคนเหมือนกัน ความเป็นมนุษย์ มันจะค่อยๆ ลดลง เปลี่ยนให้เขากลายเป็นสัตว์สงครามในการรักษาอำนาจรัฐไว้
ผู้บังคับบัญชาที่ทำงานรับใช้ผู้มีอำนาจมากกว่า เขาไม่มารับรู้ว่าส่งที่อยู่ต่อหน้าผู้ปฏิบัติการคืออะไร มันไม่ได้ทำลายแค่ผู้ชุมนุม แต่ทำลายเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการด้วย
การโดนความรุนแรงครั้งนี้ ส่งผลกระทบกับคุณยังไงบ้าง ถ้าอยู่ในสถานการณ์คล้ายกัน คุณจะไม่กล้าไปทำหน้าที่แบบเดิมไหม
ต้องลอง ไม่รู้ว่าอนาคตจะกลัวไหม แต่เอาเข้าจริง ผมไม่ได้ยืนกลางถนนเลย อยู่ฝั่งผู้ชุมนุม แต่เบี่ยงมาด้านข้าง และแยกออกจากผู้ชุมนุมชัดเจน แต่ก็ยังโดนอยู่ดี
แต่มันมีส่วนที่ดีนะ (เงียบคิด) คนอย่างเพนกวิน อานนท์ ไผ่ ไมค์ หรือหลายๆ คนที่ถูกจับไปในเรือนจำ พวกเขาถูกจับอย่างไม่เป็นธรรมเลย ไม่ได้แม้แต่สิทธิ์ในการประกันตัว ผมเจ็บปวดนะ แต่เมื่อผมโดนยิง มันทำให้ผมเจ็บปวดน้อยลง ละอายน้อยลง มึงเจ็บปวด กูก็เจ็บปวด ผมเจ็บไม่เท่าพวกเขาหรอก แต่อย่างน้อยในฐานะสื่อมวลชน ผมได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว
ในเฟซบุ๊กส่วนตัว คุณไม่เคยปฏิเสธว่าเห็นด้วยกับอะไร การคุยกันครั้งนี้ คุณก็เห็นใจบางฝ่ายชัดเจน แต่ขณะเดียวกัน คุณเป็นสื่อมวลชน มันไม่ใช่เรื่องที่ขัดแย้งกันเองเหรอ
ผมทำงานอย่างตรงไปตรงมา ขณะเดียวกัน ผมไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องปกปิดทัศนคติทางการเมือง ไม่ใช่แค่นั้น ผมว่าคุณไม่ควรต้องปกปิดด้วย
ผู้ชมจะเชื่อถือคุณได้ยังไง ในเมื่อคุณเลือกข้างไปแล้ว
คุณจะเชื่อถือหรือเปล่า มันขึ้นกับงานที่ผมถ่ายทอดออกมา เชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ ผมทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว เท่าที่สื่อมวลชนในองค์กรเล็กๆ สื่อมวลชนที่เลือกข้าง ผมพูดตลอดว่า ตัวเองอยู่ในจุดเดียวของเหตุการณ์ คุณต้องติดตามที่อื่นด้วย การเสพข่าวก็ควรมองจากหลายมุม คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อผมด้วยเหตุผลอะไร มันคือหน้าที่ของคนเสพสื่อวิเคราะห์ด้วย คุณต้องคิดเอง เลือกเอง ตัดสินใจเอง ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง
Photo by Kotcharak Kaewsurach
Proofread by Pongpiphat Banchanont
Illustration by Sutanya Phattanasitubon