“เราโดนหลายคดีจนจำไม่ได้แล้ว” ตะวันบอกแบบนั้น เมื่อเราถามว่า ตอนนี้โดนคดีอะไรบ้าง
ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองอายุ 20 ปี ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความคิดทางการเมืองของเธอเริ่มตั้งแต่คนที่ไม่สนใจและมองเป็นเรื่องไกลตัว วันหนึ่งก็ตัดสินใจออกไปร่วมชุมนุม สมัครไปเป็นการ์ดให้กับกลุ่ม WeVo แล้วเคลื่อนไหวอีกหลายครั้งทั้งในนามส่วนตัวและส่วนหนึ่งกับหลายชื่อกลุ่ม โดยระหว่างนั้นเธอค่อยๆ ศึกษาข้อมูลจนแน่ใจในอุดมการณ์ของตัวเอง
บางคนอาจคุ้นหน้าเธอจากการชูป้าย ‘คุกไม่ใช่ที่เคาท์ดาวน์ของคนเห็นต่าง’ ที่ห้าง ICONSIAM หรือการชูป้าย ‘ยกเลิก 112’ ในวันที่ขบวนเสด็จของ ร.10 มางานรำลึกพระเจ้าตากสินที่แยกวงเวียนใหญ่ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กิจกรรมทำโพลคือจุดเริ่มต้นที่แสงส่องมายังผู้หญิงที่ชื่อ ‘ตะวัน’
ครั้งแรกเป็นโพลในหัวข้อ ‘คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่’ ที่สยามพารากอน กิจกรรมเปิดให้คนทั่วไปมาแสดงความคิดเห็นผ่านการติดสติ๊กเกอร์ และครั้งที่ 2 เป็นโพลถามมุมมองต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เคลื่อนไปตามแนวรถไฟฟ้า BTS และ MRT ก่อนจะไปสิ้นสุดที่บริเวณพระบรมมหาราชวัง ครั้งนั้นใช้ริบบิ้นสีแดงและสีน้ำเงินเป็นสัญลักษณ์ในแสดงความคิดเห็น
การชูกระดาษฟลิปชาร์ทและยื่นสติ๊กเกอร์ให้ ริบบิ้นสีแดงและน้ำเงินในมือที่ยื่นให้ และการพูดแสดงความคิดเห็นผ่านไลฟ์ ทำให้เธอโดนแจ้งข้อหามาตรา 112, 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งการขัดขืนและปฏิเสธคำสั่งที่เธอมองว่าไม่ชอบธรรม ก็ส่งผลให้เธอโดนแจ้งข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานและต่อสู้ขัดขวางเพิ่มเติม ก่อนที่เธอจะได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดี
ข้อเท้าข้างขวาของเธอมีกำไล EM ที่เจ้าหน้าที่บอกว่าต้องเสียบชาร์จทุก 4-6 ชั่วโมง บางคนที่ต้องใส่กำไล EM อาจเลือกใส่กางเกงขายาวเพื่อปกปิด แต่วันนั้นเธอใส่กางเกงขาสั้น พร้อมกับสวมใส่เสื้อยืดสีดำสกรีนคำว่า ‘ไม่รัก’ ราวกับสื่อสารโดยไม่ต้องพูดว่า ตราบที่ไม่ได้ไปคุกคามใคร เธอจะเป็นตัวเองเช่นเดิม ไม่มีอะไรทำให้อับอายและหวาดกลัว
ด้วยอยากรู้จักเธอให้มากกว่านี้ อยากรู้ด้วยว่าเธอเจออะไรมาบ้างในช่วงที่ทำกิจกรรม เรานัดสัมภาษณ์กับ ‘ตะวัน’ ที่มิวเซียมสยาม ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมากไปกว่า ที่นั่นมีจุดที่นั่งคุยได้ง่าย ใกล้กับรถไฟฟ้าที่สะดวกต่อการเดินทาง และมีลานโล่งๆ เขียวๆ ให้ได้ถ่ายรูปประกอบบทสัมภาษณ์
“กำไล EM จะมี GPS เราเหมือนโดนติดตามตลอดเวลา ไม่เป็นไร อยากรู้ก็รู้ไป ที่ผ่านมาตำรวจก็ตามเราบ้างอยู่แล้ว ตอนนี้เหมือนตำรวจอยู่ตรงข้อเท้าเลย” เป็นคำตอบของเธอต่อเรื่องกำไล EM ซึ่งเป็นคำถามท้ายๆ ก่อนจบบทสนทนา
หลังจากบทสนทนากว่า 2 ชั่วโมงจบลง ผมเงยหน้าไปเห็นผู้ชายตัดผมสั้นเกรียนหลายคนยืนแอบมองอยู่ห่างๆ ความคิดแรกคือ นั่นคงเป็นรูปธรรมของคำตอบเรื่องกำไล EM พอผมเข้าไปคุยด้วย ถึงได้คำยืนยันว่า พวกเขาคือตำรวจที่ถูกสั่งให้มาติดตามตะวันจริงๆ
“ไม่ได้มาทำกิจกรรมอะไรครับ ผมเป็นสื่อมาสัมภาษณ์เพื่อเอาไปเขียนบทความน่ะครับ” เป็นคำตอบที่ผมใช้ยุติความสงสัยในแววตาของตำรวจเหล่านั้น และข้างล่างนี้คือคำตอบที่พวกเขาคงอยากรู้ว่าคุยอะไรกัน
ก่อนจะออกมาเคลื่อนไหว คุณเป็นใครมาจากไหน เล่าให้ฟังหน่อย
ตอนนี้เราอายุ 20 ปี ก่อนออกมาเคลื่อนไหว เราเรียนอยู่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ตอนกำลังจะจบ ม.5 ก็ตัดสินใจสอบเทียบ GED ไปเรียนด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ ชีวิตช่วงมัธยมไม่ได้สนใจการเมืองเลย ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และมองเป็นเรื่องไกลตัวด้วย เราใช้ชีวิตไปวันๆ เที่ยวเล่นเหมือนเด็กทั่วไป เพื่อนก็ไม่คุยเรื่องการเมืองเลย เราเป็นอิกนอแรนซ์คนหนึ่ง จำได้ว่าตอนรัฐประหาร 2557 เรายังรู้สึกเลยว่า “ดีจัง มาทำให้บ้านเมืองสงบสุข”
จุดเปลี่ยนที่ทำให้สนใจเรื่องการเมืองคืออะไร
พอกลับมาไทยช่วงโควิด ทางมหาวิทยาลัยให้เราเรียนออนไลน์ เราเห็นข่าวการเมืองในประเทศแล้วงงว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนถึงสนใจเรื่องการเมืองเยอะ มันเรื่องไกลตัวไม่ใช่เหรอ เริ่มจากข่าวยุบพรรคอนาคตใหม่ เราก็หาอ่านว่า ทำไมถึงต้องยุบพรรคนี้ ศึกษาไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเข้าใจว่ามีปัญหาอะไรบ้าง เราลงข่าวการเมืองในสตอรี่ไอจี แล้วรุ่นน้องที่รู้จักกันตอนมัธยมทักมาชวนไปม็อบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
เราไปม็อบครั้งแรกเดือนสิงหาคม 2563 คนมาแสดงพลังเยอะมาก ทุกคนให้ความช่วยเหลือกันดีมาก คนจะเป็นลมก็มีคนยกมือหาคนมาปฐมพยาบาล แบ่งปันอาหารการกิน เราไปบ่อยขึ้นช่วงเดือนตุลาคม 2563 เช่น ม็อบที่แยกราชประสงค์ ห้าแยกลาดพร้าว ทั้งไปกับรุ่นน้อง เพื่อนรุ่นน้อง และไปคนเดียวบ้าง เราอ่านเรื่องการเมืองหนักมาก อ่านหลายเพจ เหตุการณ์อะไรบ้าง ปัญหาคืออะไร ไม่ได้มองเป็นเรื่องไกลตัวแล้ว
คุณเคยไม่เห็นด้วยกับ กปปส. ที่ออกมาสร้างความวุ่นวาย ม็อบครั้งนี้แตกต่างกันยังไง
ตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจเรื่องการเมือง แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่า คนที่ออกมาต้องการอะไร การยุคพรรคอนาคตใหม่คือความไม่เป็นธรรม มีปัญหาปากท้องด้วย คนไม่มีจะกินแล้ว เริ่มเข้าใจเรื่องเจ้ามากขึ้น แล้วพอมองย้อนกลับไป การออกมาของ กปปส. ที่ไม่ให้คนเลือกตั้งก็เป็นการละเมิดสิทธิคนอื่นด้วย
การออกมาชุมนุมคือการแสดงพลัง ลงถนนมาเรียกร้องให้รัฐบาลหรือคนมีอำนาจฟังเสียง ประชาชนพิมพ์บนโซเชียลยังไงเขาก็ไม่ฟัง เอาเรื่องเข้าสภาก็ไม่ฟัง ลงถนนมาแบบนี้ คุณต้องฟังได้แล้ว เราก็ขอเป็นหนึ่งคนที่เพิ่มจำนวนตรงนั้น ถามว่าม็อบสร้างความเดือดร้อนไหม ก็มีปัญหาเรื่องการจราจร แต่มันเทียบไม่ได้เลยกับปัญหาที่รัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน
เวลาไปม็อบคุณอยู่ตรงไหน
ช่วงแรกจะอยู่แถบหลังๆ กับรุ่นน้อง นั่งฟังปราศรัย ในใจเราอยากไปอยู่ข้างหน้า แต่ไม่อยากทิ้งรุ่นน้อง อย่างวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่ผู้ชุมนุมโดนฉีดน้ำตรงแยกปทุมวัน ใจนึงเราอยากวิ่งไปช่วยคนข้างหน้ามาก อีกใจก็ไม่อยากทิ้งรุ่นน้องที่ไปด้วยกัน ตอนนั้นโกรธนะ โกรธมากๆ เรายังไม่ได้ทำอะไรเลย เขาฉีดน้ำแล้ว มันค่อนข้างรุนแรงด้วย แต่หลังจากฉีดไปสักพัก เรากับรุ่นน้องก็วิ่งไปข้างหน้า ช่วยกันส่งร่มส่งน้ำ แล้วก็อยู่จนจบเลย
เมื่อก่อนคุณมองบทบาทของสถาบันกษัตริย์ยังไง
เรามองว่าท่านทรงงานหนักมาก คิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทำเพื่อประเทศ ช่วง ร.9 สวรรคต เรากับเพื่อนยังไปเก็บขยะที่สนามหลวงเลย เคยเป็นหนึ่งคนที่ศรัทธา แต่พอได้อ่านข้อมูลมากขึ้นก็ตั้งคำถามว่า ทำไมภาษีของประเทศถึงไปลงส่วนของสถาบันกษัตริย์มากขนาดนั้น ทำไมคนถึงโดนมาตรา 112 เป็นจำนวนมาก ทำไมกฎหมายถึงคุ้มครองถึงคนกลุ่มนั้น ทำไมถึงใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเหมือนคนทั่วไปไม่ได้ ทั้งที่เขาก็เป็นคนเหมือนกับเรา
มีการโต้เถียงในใจบ้างไหม
มีค่ะ ช่วงแรกที่เรานั่งคุยกับรุ่นพี่หรือคนที่รู้จัก ใครวิจารณ์ ร.10 เรายังเถียงแทนเลย ตอนนั้นศึกษามาบ้างแล้ว แต่ยังไม่เชื่อทันที พออ่านไปเรื่อยๆ เห็นข้อมูลมากขึ้นก็เข้าใจมากขึ้น เราคุยเรื่องนี้กับครอบครัวบ้าง ถ้าเห็นต่างก็แลกเปลี่ยนกัน
พ่อแม่ห้ามออกไปม็อบบ้างไหม
พ่อแม่ไม่เคยห้ามเราไปม็อบเลย เขาพูดแค่ว่า “ระวังตัวด้วย”
คุณไปเป็นการ์ดของ WeVo ได้ยังไง
วันที่เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) กับไมค์ (ภาณุพงศ์ จาดนอก) ออกจากเรือนจำแล้วโดนอายัติตัว (30 ตุลาคม 2563) วันนั้นมีความรุนแรงเกิดขึ้น เรานั่งดูไลฟ์อยู่ที่บ้านแล้วโกรธมาก เลยหาข้อมูลว่าที่ไหนรับคนเป็นการ์ดบ้าง จนเจอในทวิตเตอร์ว่า WeVo เปิดรับ เราเลยสมัครไปเป็นการ์ด งานแรกที่ไปเป็นการ์ดคือกิจกรรมส่งจดหมายถึงสถาบันกษัตริย์ (8 พฤศจิกายน 2563)
ครั้งต่อมาคือการชุมนุมหน้ารัฐสภา (17 พฤศจิกายน 2563) วันนั้นเราโดนฉีดน้ำและแก๊สน้ำตาหนักเลย ตอนแรกใส่แมสก์ธรรมดาก่อน มีคนยื่นหน้ากากอะไรสักอย่างมาให้ แต่พอเห็นคุณลุงคนหนึ่งสภาพไม่ไหวแล้ว เราก็ยื่นให้เขา เลยเหลือแค่แมสก์ธรรมดา มีคนเอาแว่นมาให้ก็ป้องกันไม่ได้เท่าไร โดนแก๊สน้ำตาแล้วแสบมาก หายใจไม่ออก ความรู้สึกเหมือนกำลังจะตาย แต่พอโดนไปเรื่อยๆ ก็เริ่มชินจนเฉยๆ หลังจากวันนั้น พ่อเป็นคนพาไปซื้อหน้ากากกันแก๊สให้เลย
หลังจากนั้นทำกิจกรรมอะไรอีก
มีคนมาชวนไปร่วมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เรายื่นจดหมายที่หน้าทำเนียบครบ 1 ปีวันเฉลิม (สัตย์ศักดิ์สิทธิ์) โดนอุ้มหาย จัดม็อบเกี่ยวกับผู้สูญหาย หลังจากนั้นใครชวนไปไหนก็ไปร่วม
เหตุการณ์ที่หลายคนจดจำคุณคือการทำโพล มันเกิดขึ้นได้ยังไง
เราทำโพลหลักๆ มา 2 ครั้ง ครั้งแรกทำในนามกลุ่มทะลุวัง ครั้งที่ 2 ทำในนามส่วนตัว ต้องย้อนไปก่อนหน้านั้น วันที่ 5 ธันวาคม 2564 สายน้ำเคยทำโพลว่า ‘ยกเลิกหรือสนับสนุน 112’ ที่สยามพารากอน เราก็ไปช่วยอีกแรง หลังจากนั้นก็ทำกิจกรรมชูป้าย ‘คุกไม่ใช่ที่เคาท์ดาวน์ของคนเห็นต่าง’ ที่ห้าง ICONSIAM (25 ธันวาคม 2564) ทำกัน 3 คนคือ สายน้ำ ใบปอ และเรา แล้วก็วันที่ ร.10 ไปที่วงเวียนใหญ่ (28 ธันวาคม 2564 งานรำลึกพระเจ้าตากสิน) พวกเราไปชูป้ายว่า ‘ยกเลิก 112’
เรากับเพื่อนอีกคนเคยทำโพลในหัวข้อว่า ‘คุณอยากรับปริญญากับราชวงศ์หรือไม่’ ที่ธรรมศาสตร์รังสิต งานนี้จะเงียบๆ หน่อย หลังจากนั้นอีกสักพักถึงเกิดเป็นโพลในหัวข้อ ‘คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่’ ที่สยามพารากอน ครั้งนี้ทำกันในชื่อกลุ่มทะลุวัง ในคำถามว่า ‘คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่’
โพลครั้งแรกเกิดขึ้นได้ยังไง
เริ่มจากวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 มีการคุกคามนักกิจกรรมที่ จ.นครสวรรค์ มีคนโดนตบหน้าเพราะไม่ยอมลงจากมอเตอร์ไซค์ตอนมีขบวนเสด็จพระเทพฯ เราคิดว่าจะจัดกิจกรรมยังไง เคยมีคนพูดว่ากิจกรรมโพลสะท้อนสังคมได้ดี ถ้าเรื่องเกี่ยวกับขบวนเสด็จจะทำยังไงดี จนเกิดเป็นคำถามว่า ‘คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่’ ที่สยามพารากอน
ตอนแรกเราตั้งใจจะยืนตรงลานน้ำพุเฉยๆ แล้วให้คนมาแปะๆๆ แต่มีการสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่ห้างและตำรวจ พวกเรายืนอยู่ตรงชั้นใต้ดินแล้วถูกห้ามเข้าตรงลานน้ำพุ สกัดไม่ให้คนมาร่วมกิจกรรมด้วย ตอนนั้นฝนตกด้วย มีคนติดสติ๊กเกอร์มาประมาณหนึ่ง ไม่มีใครแปะสติ๊กเกอร์ตรงช่องว่าไม่เดือดร้อนเลย ส่วนใหญ่คนที่ติดเป็นคนที่ไม่รู้จักมาก่อน รวมแล้วน่าจะเกือบร้อยคน เราคิดกันตอนนั้นเลยว่า ควรไปส่งผลโพลที่วังสระปทุม เราไม่ค่อยรู้ทางก็เดินงงๆ ระหว่างทางก็มีความชุลมุนเกิดขึ้น กำลังจะถึงวังสระปทุมแล้ว ข้ามถนนอีกแค่นิดเดียว ก็มีผู้กำกับ สน.ปทุมวัน มาพูดออกมาว่า ‘ผม ผู้กำกับ สน.ปทุมวัน ขอประกาศพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ควบคุม’ เราขำอยู่ในใจนะ เมื่อกี้คนยังเดินข้ามถนนไปได้อยู่แล้ว เราเดินถือกระดาษมาแผ่นเดียวกลายเป็นพื้นที่ควบคุมเฉยเลย
คิดว่าตำรวจคนนั้นกลัวอะไร
คงกลัวข้างบนด่าลงมา น่าจะไม่เคยมีใครทำกิจกรรมตรงพื้นที่หน้าวัง วันนั้นตำรวจกระชากกระดาษแล้วยึดไปเลย พวกเราเลยไปยืนอยู่หน้าวังสระปทุมแล้วชู 3 นิ้ว เพื่อประกาศให้รู้ว่านี่คือเสียงของคนที่เดือดร้อน อยากให้ข้างบนได้รับฟัง แต่คิดว่าสุดท้ายเขาคงไม่รู้เรื่องหรอก
วันนั้นตำรวจได้พูดไหมว่า สิ่งที่ทำผิดยังไง
เขาสั่งให้หยุดทำกิจกรรม บอกว่าห้ามทำ แล้วพูดว่า “ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน” เท่าที่เราจำได้ เขาน่าจะไม่ได้พูดว่าสิ่งที่ทำผิดยังไง มันคงใหม่สำหรับพวกเขา สิ่งที่เราเห็นคือ พวกเขาดูรนๆ กัน
มองว่ากิจกรรมวันนั้นประสบความสำเร็จไหม
เราทำกิจกรรมเพราะอยากให้เกิดการดีเบตในสังคม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อกิจกรรมอยู่ในหน้าสื่อก่อน พอหลายสำนักข่าว หลายเพจ เอากิจกรรมที่เราทำไปลง ทำให้คนได้คิดและตั้งคำถามกับเรื่องนี้มากขึ้น มีคนจากอีกฝ่ายมาบอกด้วยว่า จริงๆ ขบวนเสด็จไม่ได้ปิดถนนตั้งแต่ปีนั้นปีนี้ เรายิ่งรู้สึกว่าประสบความสำเร็จไปอีก เพราะไม่ว่าเขาจะเอาข้อมูลตรงไหนมาหักล้าง สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันคือ ขบวนเสด็จยังปิดถนนอยู่ ยังสร้างความเดือดร้อนอยู่
ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ไปม็อบแล้ว มีตำรวจมาห้าม มีเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย พ่อแม่ห้ามบ้างไหม
เขาเคยมาคุย ตั้งแต่วันไปชูป้ายที่วงเวียนใหญ่แล้ว บอกว่า “อยากให้ระวังตัว” “เบาๆ ลงได้ก็ดี” “หยุดๆ ไปก่อนได้ไหม” แต่เราตอบไปว่า “เบาไม่ได้ หยุดไม่ได้” พอห้ามไม่ได้ เขาก็บอกให้ระวังตัว พอกิจกรรมโพลที่สยามพารากอน เขาพิมพ์แชทมาหาว่า “ทำอะไรระวังตัวด้วย” “คิดดีๆ ก่อนทำนะ” เราก็อธิบายไปว่า “ทุกกิจกรรมมีการออกแบบและวางแผนก่อน” เขาก็เข้าใจมากขึ้น
โพลครั้งที่ 2 เกิดขึ้นได้ยังไง
หลังจากกิจกรรมครั้งนั้น เรามาคิดต่อว่า ถ้าทำโพลแบบเดิมจะน่าเบื่อไหม วันหนึ่งเห็นริบบิ้นบนกระเป๋าของเพื่อน ถ้าไม่ใช่การแปะสติ๊กเกอร์แล้วเป็นริบบิ้นล่ะ เพื่อนก็แนะนำว่า ถ้าผูกริบบิ้นตามราวล่ะ โอเค น่าสนใจ งั้นประกาศเลย คิดวันพฤหัส ประกาศวันศุกร์ แล้ววันเสาร์ก็ทำกิจกรรม ห่างจากโพลครั้งแรกสัก 2 อาทิตย์ โดยครั้งนี้ทำในนามส่วนตัว
เราเขียนป้ายอธิบายห้อยคอไว้ ในมือถือริบบิ้น 2 สี คือ สีแดง ถ้าใครคิดว่าควรยกเลิก 112 และ สีน้ำเงิน ถ้าใครสนับสนุน 112 ใครคิดยังไงก็มาเอาริบบิ้นไปผูกบนราวของรถไฟฟ้า BTS และ MRT เราเริ่มจากที่ BTS สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปถึงสถานีอโศก แล้วเปลี่ยนมาขึ้น MRT สถานีสุขุมวิทไปถึงสถานีสนามไชย แล้วตั้งใจจะเดินไปพระบรมมหาราชวัง มีคนบันทึกข้อมูลไว้ มีคนหยิบสีแดง 191 อัน ส่วนสีน้ำเงินไม่มีใครหยิบไปเลย
ตำรวจมาแจ้งความผิดตอนไหน
ระหว่างทางไม่มีตำรวจมาว่าอะไร มีแค่นอกเครื่องแบบมาตามถ่ายรูป ตอนนั้นเราไลฟ์ไปด้วย มีเจ้าหน้าที่ของ MRT มาบอกว่าห้ามถ่าย เขาอายุมากแล้ว มายกมือไหว้ เราแพ้อะไรแบบนี้ ข้างในก็เริ่มใจอ่อน ตอนแรกหันไปมอง พอรู้สึกผิดเลยพยายามไม่มอง หลบหน้า นิ่ง ไม่พูดอะไร พอเราออกจากสถานีสนามไชย กำลังจะเดินไปพระบรมมหาราชวัง ตำรวจคนหนึ่งมาบอกว่า “ห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองในระยะ 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน” แต่เราก็หาทางซอกแซกเข้าไป
เขาบอกแล้วว่าผิดกฎหมาย ทำไมถึงยังเข้าไปล่ะ
เราพูดกับตำรวจไปว่า “หนูมีแค่ริบบิ้น 2 สี พี่มากันอะไรนักหนา มันจะเกิดอันตรายอะไรได้”
เรายืนยันที่จะไป สิ่งที่อยู่ในมือเราไม่สามารถทำอันตรายอะไรได้เลย พอแหวกเข้าไปได้ อยู่ๆ แม่ๆ และพี่ๆ ก็พาเราขึ้นรถเมล์ งงอยู่ว่าขึ้นไปได้ยังไง แล้วก็ลงเดินต่อไปจนถึงรั้วที่กั้นไว้ เราฝากกระเป๋าคนอื่น ตัวเปล่า ถือริบบิ้น โทรศัพท์ใส่ในกระเป๋า แล้วตัดสินใจรอดรั้วเข้าไป สุดท้ายเราโดนอุ้มขึ้นรถตู้ไป ตำรวจคนหนึ่งคุยโทรศัพท์ประมาณว่า “เอาตัวทานตะวันมาได้แล้ว” แล้วพูดเหมือนกับไม่รู้จะแจ้งข้อหาอะไร เราเลยพูดสวนออกไปว่า “ไม่ทราบเหรอคะว่าจะแจ้งข้อหาอะไร จับมาแล้ว แต่ยังคุยกันไม่รู้เรื่องเหรอคะ”
เราถูกพาตัวไป สน.สำราญราษฎร์ มีตำรวจพูดว่า “โทษคือติดคุก 10 วัน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท” แล้วถามว่า “จะรับสารภาพไหม” ตอนนั้นไม่ได้บอกว่าข้อหาอะไร มารู้ทีหลังว่าขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน เราตอบไปว่า “จะรอทนายค่ะ” ตอนนั้นคิดว่าติดคุกก็ติด เราไม่ได้ทำอะไรผิด พอทนายมาก็เป็นโทษปรับไป มีคนรู้จักมาช่วยจ่ายให้
ทำไมต้องดึงดันจะเข้าไปให้ถึงหน้าวังด้วย
การเข้าไปคือการแสดงให้เห็นว่า เนี่ย เสียงของประชาชน เราไม่มีพื้นที่ตรงไหนให้ได้คุยกับราชวงศ์ได้เลย คิดว่าตรงนั้นคือสถานที่ที่เราจะสื่อสารกับเขาได้มากที่สุดแล้ว
มองว่าตัวเองเป็นเด็กก้าวร้าว เด็กไม่มีสัมมาคารวะ เด็กนิสัยไม่ดีหรือเปล่า
(หัวเราะ) เคยมองว่าบางมุมตัวเองก็เหมือนเป็นแบบนั้น แต่เราก็พูดเรื่องจริง ส่วนเรื่องเราเป็นคนก้าวร้าวไหม อยากให้มองที่เนื้อหาที่เราพูดมากกว่า ไม่ใช่มองว่าเราเป็นคนที่เถียงๆๆ อย่างเดียว
ครั้งล่าสุดที่โดนจับแล้วโดนขังล่ะ เกิดอะไรขึ้น
5 มีนาคมที่ผ่านมา มีการคุกคามเราตั้งแต่ที่บ้านแล้ว แม่เอารถของเราไปจ่ายตลาด แล้วมีคนขับมอเตอร์ไซค์ใส่ชุด Grab ใหม่เอี่ยมมามอง แม่ไม่ได้สนใจอะไรแล้วขับกลับบ้าน แต่คนเดิมก็วนรถตามมามองด้วยสายตาแปลกๆ แม่เลยบอกให้เราระวังตัว วันนั้นเราจะไปคุยธุระทั่วไปแถวจตุจักร พอขับรถออกไป แม่ที่ยืนมองว่ามีใครตามไหม ก็เห็นว่ามีรถตามมาทันที ไม่ใช่แค่คันนั้นด้วย ระหว่างทางเราลองเลี้ยวเข้าซอยเล็กๆ มี 3 คันขับตามไปตลอด เราเลี้ยวเข้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ทั้ง 3 คันก็ขับตาม เราซื้อแม็คนั่งกินลองดูท่าที แล้วค่อยขับออกมา เลี้ยวเข้าซอยอีก จนเหลือคันเดียวที่ตาม เพื่อนเอามอเตอร์ไซค์ปิดท้าย พอลงไปคุยว่าตามมาทำไม ผู้ชายหัวเกรียน 3 คนนั่งนิ่งกอดอก แล้วขับหนีออกไปเข้าศาลแขวงดุสิต
พวกเราขับตามไปในศาลแขวงดุสิต รปภ. ก็ช่วยแจ้งตำรวจให้ แล้วสักพัก รปภ.คนนั้นก็พูดขึ้นมาว่า “เขาเป็นตำรวจ เขาเพิ่งแจ้งมา” เรากับตำรวจอีกคนจะไปคุยกับเขา เขาอยู่ข้างหลัง ขับรถมาข้างหน้า พอเราจะเดินไปหา เขาก็ขับหนีไปข้างหลังอีก ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ศาลไล่เราออกไปว่า “นี่พื้นที่ศาล ถ้าไม่ออกไปจะโดนละเมิดอำนาจศาล” แต่คนคุกคามเราอยู่นั่น สุดท้ายตำรวจก็อำนวยความสะดวกให้คันนั้นขับออกไปอย่างสบาย เราก็ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน
ก่อนหน้านั้นมีคนส่งข่าวมาว่า ม็อบชาวนาต้องย้ายออกไปเพราะมีขบวนเสด็จ แต่คิดว่าเป็นวันอื่น พอโดนตามแบบนั้นเลยรู้แล้วว่า วันนั้นมีขบวนเสด็จจะไปที่วัดเทพศิรินทร์ เราไม่ได้วางแผนว่าจะทำอะไรวันนั้นมาก่อน แต่หลังจากแจ้งความ เราตัดสินใจไปที่หน้า UN พอไปถึงแล้วเห็นถึงความยิ่งใหญ่มาก รถตำรวจเยอะ มีม้าด้วย เราลงไปคนเดียว เปิดไลฟ์ ตำรวจพยายามจะให้เราหยุดถ่าย เราก็ถามว่าทำไมถึงถ่ายไมได้
เราถามตำรวจตรงนั้นไปว่า “แค่คนเดียวเสด็จ ทำไมม็อบชาวนาถึงต้องย้าย” มีตำรวจคนหนึ่งตอบว่า “เขายอมย้ายไปเอง” เราก็พูดไปว่า “แทนที่จะไปฟังไปช่วยเขาแก้ปัญหา กลับไล่เขาเนี่ยนะ” เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาเยอะมาก น่าจะ 50 คนมาล้อมเราไว้ รถกระบะขน คฝ.หญิงมาอุ้มเรา เราโกรธมาก คุณไม่ฟังปัญหาของชาวบ้าน แต่มาย้ายเขาออกไปเพราะคนเดียวเสด็จ
เราถูกพาตัวไป สน.พญาไท เราไม่ยอมลง เพราะไม่มีการบอกว่าผิดเรื่องอะไร เขาพูดว่า “ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน” เราก็ถามว่า “คำสั่งคืออะไรคะ” เขาบอกว่า “ห้ามไลฟ์” เราก็ถามต่อว่า “แล้วทำไมถึงไลฟ์ไม่ได้” “ทำไมต้องย้ายม็อบชาวนา” “ทำไมถึงใช้ถนนร่วมกับประชาชนไม่ได้” ซึ่ง คฝ.หญิง ไม่ได้ตอบอะไร
ตำรวจผู้ชายพยายามจะกระชากโทรศัพท์ของเรา บอกว่าเป็นของกลางที่ใช้กระทำความผิด สุดท้ายก็กระชากไปได้ พอเราไม่ลง เขาจะพาไปที่อื่น เราถามว่าที่ไหน คฝ.หญิงบอกว่าไม่รู้ เราเลยพยายามขัดขืน เพราะตอนนั้นโดนเอาโทรศัพท์ไปแล้ว ไม่รู้ว่าจะพาไปเจออันตรายหรือเปล่า เลยโดนข้อหา ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน เป็นอัตราโทษที่ต้องจำคุก เราโดนพาไป บช.ปส. (กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด) เขาแจ้ง 2 ข้อหานี้ คือขัดคำสั่งเจ้าพนักงานและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน เราก็ปฏิเสธไป วันนั้นทาง ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) มาดูดข้อมูลจากโทรศัพท์ไปด้วย เรานอนคุกที่ บช.ปส. ทั้งหมด 2 คืน คืนแรกที่เราโดนพาตัวไป บช.ปส. ตำรวจแจ้งข้อหาเราแค่ 2 ข้อหาคือขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน กับต่อสู้ขัดขวาง แต่อีกวันนึงเขาแจ้ง 112 กับ พ.ร.บ.คอมฯ เพิ่ม แล้วได้ประกันตัวออกมาด้วยเงิน 90,000 บาท
ตั้งแต่เคลื่อนไหวมา คุณโดนคดีอะไรบ้าง
เราโดนหลายคดีจนจำไม่ได้แล้ว ส่วนใหญ่เป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าต้องประกันตัว เราโดนคดีที่ออกมาไล่นายกฯ ที่ท่าน้ำนนท์ (ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง) โดนมาตรา 112, 116, ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และต่อสู้ขัดขวาง จากกิจกรรมโพลขบวนเสด็จ และโดน 112, พ.ร.บ.คอมฯ, ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และต่อสู้ขัดขวาง จากตอนไปไลฟ์ตอนรับเสด็จ เขาไปแกะคำพูดตอนไลฟ์เลยว่า ประโยคนี้คือการหมิ่นประมาท ความหมายคือพระมหากษัตริย์ไม่สนใจความเดือดร้อนประชาชน ทำให้คนเข้ามาดูไลฟ์เสื่อมศรัทธา ตอนเราอ่านสำนวนแล้วรู้สึกตลก ทำไมคำพูดแบบนี้ถึงเป็นการหมิ่นประมาท สุดท้ายแล้ว คนที่ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียคือคนที่แจ้ง 112 หรือเปล่า เพราะทุกอย่างที่เราพูดไป ใครก็รู้ว่าเป็นความจริง
เคยมองว่าตัวเองทำสิ่งที่ผิดไหม
วันที่สยามพารากอน ถึงเราจะเข้าใกล้วังสระปทุม แต่เราไม่ได้จะทำความรุนแรง มันเกิดจากฝั่งตำรวจมากกว่า มาดัน มารั้ง มาฉุดกระชาก ถ้าไม่มีใครมาทำอะไร เราก็แค่ชูผลโพลแล้วกลับ สิ่งที่เรามีในวันนั้นคือกระดาษ หลังจากนั้นก็มีริบบิ้น มันเป็นสิ่งของที่ทำอันตรายไม่ได้อยู่แล้ว เราคิดมาดีแล้วว่าสิ่งที่ทำไม่เข้าเงื่อนไข แต่บางคนก็บอกว่า ประเทศนี้เป็นแบบนี้ไง ทำอะไรก็ผิดได้ทั้งนั้น ยิ่งเป็นแบบนี้ เรายิ่งต้องสู้
เคยคิดไหมว่าสิ่งที่ทำอยู่อาจทำให้ติดคุกได้
คิดว่าอาจติดได้ ค่อนข้างเสี่ยง แต่ไม่ได้กลัว เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้ผิด มันคือความจริงหมดเลย ถ้าต้องติดเพราะความจริงก็ให้มันรู้ไป ตอนนอนในคุก 2 วัน เราทำใจแล้วว่าอาจไม่ได้ประกัน คิดแย่ๆ ไว้ก่อน แต่ถ้าเป็นไปได้ การสู้ข้างนอกก็ดีกว่าสู้ข้างใน เรามองว่า ถ้าสิ่งที่ทำทำให้ติดคุก เรายิ่งต้องสู้ ต้องพยายามทำให้กฎหมายนี้ถูกยกเลิกไป
เราเคยร้องไห้ตอนอยู่ในคุกที่ บช.ปส. ทำไมประเทศถึงเป็นแบบนี้ ใจสู้ แต่กินอะไรไม่ลง ร่างกายมันฟ้อง แต่เราบอกตัวเองว่า อย่าร้องไห้ กลัวว่าดิ่งแล้วจะกลับมาไม่ได้ เราต้องอดทน อดทน อดทน ประเทศเป็นแบบนี้ เราต้องอดทนเพื่อสู้ต่อ เราขอเป็นหนึ่งในคนที่กล้าออกมา ดีกว่าที่จะถอยเพราะกลัวติดคุก ไม่งั้นคนรุ่นหลังก็ต้องเจอความไม่เป็นธรรมแบบนี้อีก พวกเขาก็ต้องออกมาสู้อีก
เวลานักกิจกรรมพูดว่า “สู้เพื่อคนรุ่นหลัง” มันเป็นประโยคที่สวยงาม แต่ชีวิตจริงไม่ได้ง่ายแบบนั้น คนติดคุกก็เยอะ คนตายก็มี เรากำลังอยุ่กับความฝันจนไม่สนใจความจริงเลยเหรือเปล่า
ใช่ มันยาก แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะยากแค่ไหนก็ต้องอดทนเพื่อสู้ต่อไป ถ้าถอยตอนนี้ก็แพ้เลย
คุณสู้เพราะอยากเห็นอะไร
เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีคนคิดเห็นต่างกัน ไม่ใช่เรื่องผิดที่ใครจะรักสถาบัน สิ่งที่เราอยากเห็นคือ ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ในสังคมที่ไม่ได้กดขี่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีตรงกลางที่อยู่ร่วมกันได้ ที่เจรจากันได้ ไม่ว่ากลุ่มไหนก็ตามมีความเท่ากัน เราไม่มีสิทธิไปไล่ใครออกนอกประเทศ เขาก็ไม่มีสิทธิมาไล่เราออกจากประเทศเหมือนกัน
คุณเจอตำรวจหลายคน ทั้งตำรวจชั้นผู้น้อยและผู้บังคับบัญชา สิ่งที่พวกเขามักคุยกับคุณคืออะไร
ตำรวจบางคนอยากเจรจาด้วย อยากให้เราเบาๆ หน่อย เพราะเขาเดือดร้อน เราพูดกลับไปว่า “หนูออกมาแบบนี้ก็อาจโดนคุกคาม ติดคุก โดนอุ้มหาย ถ้าพี่มัวแต่กลัว เมื่อไรสังคมจะเปลี่ยนแปลง” ตำรวจที่พูดก็นิ่งๆ ไป ตำรวจบางคนบอกว่า “สิ่งที่ทำมันผิดกฎหมาย” เราก็ถามกลับไปว่า “กฎหมายคุ้มครองใคร แล้วกฎหมายชอบธรรมไหม” เขาก็พูดวนกลับมาอีกว่า “กฎหมายเป็นแบบนี้ เราก็ต้องทำให้ถูกต้อง” เหมือนคนพูดไม่รู้เรื่อง เราก็บอกไปว่า “เกือบละ พี่เกือบคิดได้ละ มันติดอยู่นิดนึง พี่ลองเอาเวลาเช้ากลางวันเย็นก่อนนอนมาคิดเรื่องกฎหมายนะ อีกนิดเดียว ประเทศกำลังจะพัฒนาแล้ว”
วันที่เราโดนจับไป บช.ปส. แค่วันเดียวเจอตำรวจหลายคนพูดตรงกันว่า “น้องเป็นคนไทยหรือเปล่า” ทั้งบนรถ ทั้งที่สโมสรตำรวจ ทั้งที่ บช.ปส. เราถามกลับไปว่า “เกี่ยวอะไรคะ” เขาพูดกลับมาว่า “เนี่ย น้องยังไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นคนไทยหรือเปล่า” ตอนได้ยินคำถามนั้น เรางงมาก
มีตำรวจที่พูดจาดีๆ บ้างไหม
มีตำรวจคนหนึ่งพูดว่า “ตอนนี้สิ่งที่เราทำอาจยังผิดกฎหมาย แต่ในอนาคตมันอาจเปลี่ยนแปลงก็ได้” เขายกตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านของคอมพิวเตอร์ เมื่อก่อนเป็นแบบหนึ่ง ตอนนี้ก็เป็นอีกแบบ เขาพยายามอธิบายให้เห็นภาพ เราก็นั่งฟัง เขาพูดดีนะ ไม่ต้องเห็นตรงกันก็ได้ แต่เราสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ ไม่ใช่เอาแต่พูดว่า ทำผิดกฎหมายๆๆ อย่างเดียวเลย
เวลาบอกว่าต่อสู้ คิดว่าตัวเองกำลังสู้กับอะไร
สู้กับหลายอย่างที่มัดรวมกันเป็นก้อนกลมๆ ที่ค่อนข้างเหนียวแน่นมาก
คุณมีตัวคนเดียว ฝั่งที่คุณต่อสู้ด้วยมีคนมากกว่า มีอำนาจ มีอาวุธ มีเงินทอง มีเครือข่าย คุณจะสู้ยังไง
ไม่ใช่แค่เราคนเดียวไงคะ มีคนอีกมากที่คิดแบบเดียวกัน แค่ไม่มีอำนาจแบบทีอีกฝั่งมี ฝั่งนั้นทำได้ทั้งวิธีตามกฎหมายและนอกกฎหมาย (เงียบคิด) ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้คิดแบบเรา คงต้องค่อยๆ ตีไปแหละ ค่อยๆ ต่อสู้ทางความคิด อธิบายว่า ทำไมเราถึงออกมาตรงนี้ ปัญหาคืออะไร เราถึงบอกว่าตอนทำโพลแล้วเกิดการพูดคุย นั่นคือกิจกรรมประสบความสำเร็จแล้ว เร็วๆ นี้น่าจะได้เห็นกิจกรรมอีก เราจะเคลื่อนไหวต่อไป
เราค่อยๆ หยุดแวะเรียกคน คุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ค่อยๆ แวะไปอีกเรื่อยๆ จนคนเข้าใจมากขึ้น รุ่นพี่คนหนึ่งเคยพูดว่า ปลายทางคงต้องจับอาวุธ เราไม่เห็นด้วยนะ เพราะไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย เราอยากเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมาก็มีความสูญเสียเกิดขึ้นแล้ว ถ้าต้องเกิดความสูญเสียก็ให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกแล้ว
ถ้ามีคนเห็นต่างสุดขั้วอยู่ตรงหน้า มองคุณเป็นพวกล้มเจ้า โดนหลอกมา มีคนอยู่เบื้องหลัง คุณอยากคุยอะไร
คงอยากคุยว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น ทำไมถึงคิดว่าเรามีคนจูงจมูก ถ้าคุยกันดีๆ ได้ก็อยากคุย ตอนนี้ประเทศไทยมีกฎหมาย 112 มันมีปัญหายังไง อัตราโทษสูงมาก เทียบเท่ากับการฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาเลยนะ ใครจะแจ้งความก็ได้ด้วย ฯลฯ การยกเลิกไม่ใช่การล้มเจ้า คงค่อยๆ คุยไปทีละเรื่องให้เขาเข้าใจ
มีอะไรอยากฝากถึงคนที่เกลียดคุณไหม
อยากให้ดูว่ากิจกรรมที่เราทำคืออะไร อยากให้คิดตามว่าทำไมถึงออกมา คนในประเทศเดือดร้อนจริงไหม เกลียดกันได้นะคะ แต่ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้คุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน