ในสนามออนไลน์ ที่หลายคนคิดว่า ‘ความเร็ว’ เป็นทุกสิ่ง ผู้เล่นหลายๆ คนมุ่งมั่นกับการทำเนื้อหาออกมา ไม่เพียงให้ดีที่สุด ยังต้องเร็วที่สุด ให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มหรือผู้เปิดประเด็น
เวลาเดียวกันนั้น สื่อน้องใหม่ที่ไม่สนใจเล่นตามกติกาที่คนส่วนใหญ่เชื่อ แต่หันไปทำเนื้อหาอย่างช้าๆ (โดยบอกว่า เพราะพวกตนเป็นคนทำงานช้า) อย่าง The Cloud ก็ถือกำเนิดขึ้น
แม้อายุยังไม่ถึงขวบดี แต่หลายๆ โพสต์ของ ‘ก้อนเมฆ’ นี้ กลับได้รับการตอบรับจากผู้อ่านจำนวนไม่น้อย อะไรทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ภายใต้ความละเมียดละไมในการผลิตคอนเทนต์แต่ละชิ้น มีความฝัน ความหวัง ความต้องการ และเป้าหมายอะไรซุกซ่อนอยู่ กันแน่?
เพื่อไขคำตอบของคำถามข้างต้น Young MATTER จึงนัดพูดคุยกับ ‘ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน’ ผู้ก่อตั้ง The Cloud ที่หลายๆ คนน่าจะเคยรู้จักเขาจากบทบาทก่อนหน้า ในฐานะอดีตบรรณาธิการนิตยสาร a day
เราเดินทางไปที่สำนักงานของทรงกลดและทีมงาน ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 5 ของอาคารสำนักงานแห่งหนึ่ง ในซอยข้างห้างสรรพสินค้าหรูใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อไปถึงทรงกลดก็เชื้อเชิญให้เราไปนั่งสนทนากันในห้องกระจก ซึ่งล้อมรอบไปด้วยทีมงานที่กำลังขะมักขเม้นปั้นผลงานชั้นยอด ที่เมื่อเสร็จแล้วจะได้ลอยไปอยู่บน ‘ก้อนเมฆ’ ก้อนนั้น ที่ปัจจุบันมียอดไลก์มากกว่า 8 หมื่นแล้ว
ศูนย์กลางของก้อนเมฆ
“ผมใช้เวลา 2-3 เดือนแรก หมดไปกับการคุยกับทีม” ทรงกลดเริ่มเล่าถึงความเป็นมาของ The Cloud ด้วยท่าทีสบายๆ
เขายอมรับว่า ด้วยธรรมชาติการทำงานนิตยสารรายเดือนมาก่อน ‘วิธีคิด’ จึงแตกต่างจากคนทำออนไลน์แท้ เพราะไม่ได้มองงานเป็นชิ้นๆ แต่มองในภาพรวมด้วย จึงต้องใช้เวลาปรับตัวทดลองปรุงเนื้อหา หาวิธีนำเสนออย่างไรให้แตกต่างและกลมกล่อม
แต่สิ่งที่ทรงกลดเห็นว่าสำคัญที่สุดในการเริ่มต้น คือหา ‘จุดร่วม’ ในหมู่ทีมงาน 2-3 เดือนที่ว่า เขาจึงต้องมานั่งจับเข่าคุยกับทีมงานแต่ละคนว่า ชอบทำอะไร? อยากทำอะไร? ทำอะไรแล้วมีความสุข? เพื่อจะได้หาสิ่งที่ทุกคนมีร่วมกัน จะได้เดินไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน
“สิ่งที่ผมพบก็คือ สาเหตุที่แต่ละคนชอบทำงานสื่อ เพราะมันทำให้มีโอกาสได้ไปคุยกับคนที่พวกเขาอยากคุย และได้เขียนอะไรที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนได้”
แตกต่างด้วยคอนเซ็ปต์
ถ้าจะสรุปว่า The Cloud เสนอเนื้อหาอะไรบ้าง เราอาจสรุปได้ด้วยคำเพียง 3 คำ คือ Local / Creative Culture / Better Living
ทรงกลดอธิบายที่มาของคำ 3 คำนี้ ซึ่งไม่ได้ซับซ้อนอะไร
- Local หรือ ‘ท้องถิ่น’ ที่ผ่านมา เพราะแต่กรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองไทย เมืองไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ เขาจึงอยากเล่าเรื่องท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ นำเสนอเรื่องราวที่ผู้อ่านอาจจะไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน
- Creative Culture หรือ ‘วัฒนธรรมสร้างสรรค์’ จะไม่ใช่แค่บอกเทรนด์ว่ามีร้านใหม่ อุปกรณ์ใหม่ หรือเทคโนโลยีใหม่ แต่จะเล่าถึงสิ่งที่ความคิดสร้างสรรค์นั้นๆ ไปทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร รวมถึงเจาะลึกไปให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความตั้งใจของคนทำ
- Better Living หรือ ‘ชีวิตที่ดีกว่า’ คือเสนอเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจ ที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของผู้อ่าน
“ผมอยากทำเนื้อหาที่จะเกิดประโยชน์กับคนอ่าน ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง”
แมกกาซีน ออน คลาวด์
The Cloud ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นสำนักข่าวหรือสื่อออนไลน์อื่นใด แต่เป็น ‘แมกกาซีนออนคลาวด์’
เขาเห็นจุดอ่อนที่สื่อออนไลน์ มักจะเสนอเนื้อหาให้สั้น ให้กระชับ ทุกอย่างเป็นแค่ feed หรือ fact โดยไม่รู้ว่าใครเขียน แต่ส่วนตัวทรงกลดยังเชื่อว่า แม้ในยุคปัจจุบัน ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เคยอ่านนิตยสารรายเดือนมาก่อน หลงรักเสน่ห์ของนิตยสารรายเดือน มีคอลัมน์ที่อ่านประจำ ต่อให้ปิดชื่อคนเขียน ก็ว่าใครเขียน นี่คือ ‘ความผูกพัน’ ระหว่างคนเขียนกับคนอ่าน
ด้วยเหตุนี้ งานทุกชิ้นเขาจะให้คนเขียน byline หรือ ‘ลงชื่อ’ ไว้ทั้งหมด เพื่อคงสายสัมพันธ์นี้ไม่ให้หายไป และมันก็พิสูจน์ว่าเกิดขึ้นจริงๆ เพราะช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา มีนักเขียนคนหนึ่งที่มีคนคลิกเข้าไปอ่านประวัติกว่า 2 พันครั้ง เพื่อดูว่าคนที่เขียนบทความชิ้นนั้นๆ เป็นใคร
อีกสิ่งที่เขาไม่เชื่อ คือเนื้อหาบนออนไลน์จะต้องสั้นๆ ให้เหมาะกับการอ่านผ่านมือถือ ซึ่งทรงกลดถึงกับพูดว่ามันอาจเป็น ‘มายาคติ’ ที่ไม่จริงก็ได้ เพราะบทสัมภาษณ์ของ The Cloud ที่มีความยาวขนาด 8-10 หน้ากระดาษเอสี่ ก็ยังมีคนคลิกเข้ามาอ่านเป็นหมื่นครั้ง
ทรงกลดเชื่อว่า “ถ้าเนื้อหาดี ยังไงก็มีคนอ่าน”
สื่อออนไลน์ที่ก้าวข้ามออนไลน์
วิธีหารายได้ของ The Cloud มีมาจากทั้งการรับจัดอีเวนต์ ทำกิจกรรม ไปจนถึงรับโฆษณาออนไลน์ในรูปแบบ advertorial
แต่ advertorial แบบฉบับก้อนเมฆจะแตกต่างกว่าคนอื่นๆ เล็กน้อย เพราะทรงกลดให้โจทย์ทีมงานไว้ 3 ข้อ 1.คนเขียนต้องภูมิใจกับมัน ถึงขั้นลงชื่อไว้ได้ เหมือนเขาเองก็ลงชื่อทุกชิ้น 2.ต้องเขียนให้ตรงกับรสนิยมของคนอ่าน ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีคนอ่าน ต่อให้ boost post สุดท้ายคนก็จะลืม และ 3.ต้องตอบโจทย์ลูกค้าด้วย เพราะต่อให้คนเขียนชอบ คนอ่านชอบ แต่ไม่ตอบโจทย์ลูกค้า ท้ายที่สุดก็เป็นแค่งานที่สนองอีโก้ของตัวเองฃ
“ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งไปเราก็จะไม่ทำ แบรนด์ที่จะมาจ้างเราทำ จึงต้องมีสิ่งที่เชื่อเหมือนกันเรา”
ผูกพันจนเป็นชุมชน
อีกสิ่งที่ทรงกลดกำลังทำ คือพยายามสร้าง ‘ชุมชน’ โดยมีเว็บไซต์เป็นสื่อกลาง
เขาชี้ชวนให้เราดูบอร์ดด้านหลังที่มีโปสการ์ดและ ส.ค.ส. จำนวนมากส่งมาอวยพรปีใหม่
“ผมเคยตั้งคำถามว่า สื่อออนไลน์จะทำให้คนผูกพันได้ไหม เพราะมันมาเร็วไปเร็ว จนไม่น่าจดจำแม้กระทั่งหัว ตอนแรกผมทำกล่องจดหมายขนาดใหญ่ เพราะคิดว่าจะมีคนส่งจดหมายหรือข่าวฝากมามาก แต่กลับกลายเป็นว่า กล่องจดหมายนี้เต็มไปด้วยโปสการ์ด หรือ ส.ค.ส. ที่เขียนมาอวยพรปีใหม่”
ทรงกลดสรุปว่า การที่สื่อออนไลน์เจ้าหนึ่งเปลี่ยนจากสิ่งที่จับต้องไม่ได้ กลายมาเป็นเพื่อนที่คนอยากจะหยิบกระดาษมาเขียนคุยกันได้ The Cloud ในวันนี้ “มันจึงกลายเป็นสื่อที่ไปไกลกว่าการเป็นแค่เว็บไซต์แล้ว”
นี่คือเรื่องราวของสื่อน้องใหม่ ที่มุ่งนำเสนอเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจ หวังถึงขั้นจะเปลี่ยนชีวิตผู้คนได้ เป็นสื่อที่รักการทำงานอย่างช้าๆ ละเมียดละไม คล้ายกับการจับตัวของไอน้ำจนกลายเป็น ‘ก้อนเมฆ’ ที่ค่อยๆ ลอยขึ้นสู่บนท้องฟ้า แม้จะทีละเล็กละน้อย ทว่าก็เป็นไปอย่างแน่วแน่ และมั่นคง
Content by Nicha Pattanalertpun & Pongpiphat Banchanont
Illustration by Yanin Jomwong