หลายคนอาจตื่นเต้นกับภาพอเล็กซานดร้า โอคาซิโอ คอร์เตซ ส.ส.ชื่อดังของสหรัฐฯ ตั้งคำถามอันแหลมคมเข้าใส่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จนซีอีโอของเฟซบุ๊กคิดคำตอบไม่ทัน ในห้องประชุมคณะกรรมาธิการคณะหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ สัปดาห์ก่อน
เพราะแทบไม่ต่างจากการดูภาพยนตร์ที่มีฉากปะทะคารมดีๆ สักเรื่องหนึ่ง
บางคนดูคลิปดังกล่าวแล้วก็คาดหวังว่าภาพเหล่านี้จะเกิดขึ้นในเมืองไทยบ้าง นั่นคือ การที่ผู้แทนของประชาชนจะได้ตรวจสอบ ‘ผู้มีอำนาจ’ อย่างจริงๆ จังๆ หรือตั้งคำถามแทนในเรื่องที่ควรถามกับผู้นำประเทศหรือผู้ทรงอิทธิพลในสังคม
ความจริงแล้ว ภาพแบบนี้ในเมืองไทยก็เคยมีอยู่ แต่หายไปนับแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจในปี พ.ศ.2557 เพราะฝ่ายนิติบัญญัติที่ควรจะทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารด้วย -กลับมาจากการแต่งตั้งโดย คสช.ทั้งหมด- และทำงานหลักเพียงออกกฎหมายให้กับคณะรัฐประหารเท่านั้น
บทบาทของกลไกที่เรียกว่า ‘คณะกรรมาธิการ(กมธ.)’ ทั้งประเภทสามัญหรือวิสามัญ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบ ศึกษาข้อมูล และให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาล เลยจางหายไป
และแทบจะสูญสลายไปจากใจของผู้คน
คำปรามาส “องค์กรอย่างสภาฯเนี่ยนะ จะตรวจสอบรัฐบาล!” มีให้ยินได้โดยทั่วไป
แต่หลังการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2562 สถานการณ์ต่างๆ ก็อาจเปลี่ยนไป เพราะอำนาจทั้งหมดไม่ได้อยู่ในมือคณะทหารและพรรคพวกอีกแล้ว แต่แชร์ไปให้ ส.ส.จากพรรคต่างๆ ที่มาจากการลงคะแนนของประชาชน
สภาฯ กลับมามีบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลอีกครั้ง (แถมได้รับความสนใจมหาศาลจากประชาชน) และหนึ่งในกลไกสำคัญก็คือ กมธ.
หนึ่งใน กมธ.ซึ่งมีบทบาทสำคัญทางการเมืองเสมอ ก็คือ ‘คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ’ ของสภาผู้แทนราษฎร หรือที่สื่อมวลชนเรียกกันติดปากว่า กมธ.ป.ป.ช. (ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับองค์กรอิสระที่ชื่อว่า ป.ป.ช.) ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตต่างๆ เช่น คดีทุจริตโครงการชุมชนพอเพียง คดีทุจริตฝายแม้ว คดีจัดซื้อนาฬิการัฐสภา ฯลฯ
ประธาน กมธ.ป.ป.ช. คนปัจจุบันก็คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งประกาศจุดยืนว่าจะตรวจสอบรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่ และล่าสุดก็มีหนังสือเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ไปชี้แจงต่อ กมธ.ป.ป.ช. กรณีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ และกรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี พ.ศ.2563
ปกติ สภาผู้แทนราษฎรก็มีวิธีในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอยู่แล้ว ทั้งผ่านการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล การเปิดอภิปรายทั่วไป แต่จุดอ่อนก็คือ 2 กรณีนี้ในแต่ละปีจะทำได้เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น หรือจะใช้การตั้งกระทู้ถาม ซึ่งทำได้บ่อยๆ ทุกสัปดาห์ แต่ก็มีข้อเสียคือผู้ถูกตั้งกระทู้ถามจะมาหรือไม่มาตอบก็ได้
แตกต่างกัน อำนาจที่ กมธ.มีในการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง ก็คือ ‘พ.ร.บ.คำสั่งเรียกคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554’ ซึ่งกำหนดโทษของการไม่มาชี้แจงเอาไว้ด้วย คือจำคุก 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ !
เหตุผลที่ต้องมีกฎหมายนี้ขึ้นมา เพราะในอดีต กมธ.ทั้งสามัญและวิสามัญ (รวมถึงอนุ กมธ.) ชุดต่างๆ เคยออกคำสั่งเรียกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปจนถึงข้าราชการระดับสูงหลายคนให้มาให้ข้อมูลหรือมาชี้แจงข้อกล่าวหา แต่ปรากฎว่าเจ้าตัวก็ไม่ยอมมาชี้แจงหรือส่งตัวแทนซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคำถามมาชี้แจง จนสุดท้ายก็ได้คำตอบว่า “ไม่รู้” “ไม่ทราบ” “ไม่ได้รับผิดชอบ”
จึงต้องมีการออกกฎหมายนี้ขึ้นมาบังคับให้คนที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง หรือให้ส่งเอกสารที่ กมธ.ต้องการ
อย่างไรก็ตาม การให้อำนาจดังกล่าวก็ถูกมองตั้งแต่ตอนที่ผลักดัน พ.ร.บ.นี้แล้วว่า อาจเป็น ‘ดาบสองคม’ ได้
มีเรื่องเล่ากันมานานแล้วว่า มีการใช้กลไก กมธ.ในการกดดันข้าราชการประจำ ไปจนถึงเรียกรับผลประโยชน์ (เป็นข่าวลือที่เราก็ไม่อาจยืนยัน)
จึงมีการกำหนดการจะใช้ ‘คำสั่งเรียก’ ว่านอกจากบุคคลหรือเอกสารที่เรียกต้องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กมธ. ยังต้องเชิญมาก่อน 2 ครั้ง หากเชิญแล้วไม่มาจริงๆ ครั้งที่ 3 ถึงจะออกคำสั่งเรียกได้
แถมคำสั่งเรียก นั้นๆ ต้องออกมาโดยมติของ กมธ.โดยใช้ ‘เสียงข้างมาก’ ซึ่งตามปกติแล้ว กมธ.จะประกอบด้วยตัวแทน ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน อันถือเป็นการคานการใช้อำนาจนี้อยู่ในที
ที่สำคัญ ตัว พ.ร.บ.เองยังกำหนด ‘บทลงโทษ’ สมาชิก กมธ.กรณีที่ใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยว่า อาจต้องโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากดูอัตราโทษแล้วจะเห็นได้ว่าสูงกว่าคนที่ไม่มาตามคำสั่งเรียกเสียอีก เพื่อให้ กมธ.ระมัดระวังมากๆ เพราะ ‘อำนาจในการตรวจสอบ’ ก็ถือเป็นอำนาจชนิดหนึ่งเหมือนกัน หากใช้ไม่ถูกต้อง ก็ให้คุณให้โทษกับบุคคลต่างๆ ได้
ด้านหนึ่งผู้มีอำนาจถูกตรวจสอบ แต่ในอีกด้าน ผู้ตรวจสอบก็ต้องถูกตรวจสอบไปในเวลาเดียวกัน
นี่น่าจะเป็นสังคมในอุดมคติของระบอบประชาธิปไตย คือไม่มีใครหลีกหนีการตรวจสอบได้ และทุกๆ คนต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองกระทำ