ทำไมพรรคนี้ทำได้ พรรคนั้นทำไม่ได้? ผู้มีอำนาจลงมาแข่งขันด้วย จะถูกควบคุมเท่ากับพรรคอื่นที่ไม่มีอำนาจไหม? มีความพยายามจะเล่นงานแค่บางพรรคหรือเปล่า? นี่คือชุดคำถามที่ กกต.น่าจะโดนถามไปเรื่อยๆ จนกว่าการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2562 จะมาถึง
แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นคำนวณคณิตศาสตร์การเมืองว่า ใครจะได้เป็นรัฐบาลหลังการหย่อนบัตร เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และแตกต่างจากอดีตอย่างไร จะทำให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยจริงไหม หลังอยู่ภายใต้อำนาจรัฐประหารมากว่า 5 ปี ในลักษณะ ‘เลือกตั้ง 101’
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดให้มีเวทีที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมทีมงาน มานั่งทำความเข้าใจกับผู้สื่อข่าว ถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่ง The MATTER ได้ไปนั่งฟังอยู่ด้วย เลยจะสรุปให้ฟังว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีรายละเอียดอะไรบ้าง
และนี่คือ 10 เรื่องน่ารู้ ก่อนและหลังวันหย่อนบัตร จากปาก พ.ต.อ.จรุงวิทย์และทีมงาน
งานธุรการต่างๆ
ปัจจุบัน มีพรรคการเมืองใหม่ๆ ขอจัดตั้งมาแล้ว 25 พรรค กกต.อนุมัติไปแล้ว 8 พรรค และจะทยอยอนุมัติไปเรื่อยๆ โดยสิ่งที่พรรคใหม่และพรรคเก่าจะต้องทำตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.พรรคการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 มีด้วยกันหลายข้อ อาทิ มีสมาชิกพรรคเกินกว่า 500 คน สมาชิกพรรคต้องจ่ายเงินค่าบำรุงคนละ 50 บาท/ปี มีทุนประเดิม 1 ล้านบาท ห้ามรับเงินบริจาคจากคนๆ หนึ่งเกิน 10 ล้านบาท จัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคให้ครบจำนวน รวมถึงยังมีการไพรมารีเลือกผู้สมัคร ส.ส.อยู่ เพียงแต่ลดขั้นตอนลงเท่านั้น
การรับบริจาค/เรี่ยไร
การรับบริจาคสามารถทำได้ แต่ต้องขออนุญาตจาก คสช.ก่อนเพราะถือเป็นกิจกรรมการเมือง ที่ต้องขออนุญาตตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 57/2557 ส่วนการเรี่ยไรจากสมาชิกพรรคสามารถทำได้ หากพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคอื่นๆ อยากรับบริจาค ก็สามารถทำได้ แค่ต้องยื่นหนังสือขออนุญาตมายัง กกต. แล้วจะนำไปส่ง คสช.ให้
ทั้งนี้ การรับเงินของพรรคการเมือง ไม่ว่าบริจาคหรือเรี่ยไร จะเกินคนละ 10 ล้านบาท/ปีไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนครอบงำพรรค
การหาเสียง
- เรื่องวิธีหาเสียง สิ่งที่ผู้สมัครทำได้เอง คือทำโปสเตอร์ cut out จัดรถแห่ ตั้งเวทีปราศรัย หรือให้มีผู้ช่วยหาเสียง ส่วนสิ่งที่ภาครัฐต้องจัดให้ มีอาทิ ติดป้ายหาเสียงให้ ส่งเอกสารไปตามบ้าน จัดเวลาออกทีวี และจัดเวที debate คำถามที่ว่า สื่อสามารถจัดเวที debate เองได้ไหม? ตามกฎหมายยังให้ภาครัฐเป็นผู้จัดให้ ต้องไปหารือความชัดเจนอีกครั้ง
- เรื่องป้ายหาเสียง อาจจะให้มีสถานที่กลาง สำหรับแปะป้ายของผู้สมัครทุกคนทุกพรรค ไม่ให้มีป้ายไปตั้งตามเสาไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ หรือที่สาธารณะอื่นๆ อีกแล้ว เหมือนการเลือกตั้งในเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่นก็ไม่มี การเลือกตั้งประธานาธิบดีเม็กซิโกครั้งล่าสุด ก็เริ่มใช้แบบนี้ แต่อาจต้องหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ ก่อน เพราะเท่าที่ทราบ เขาก็อยากกลับไปใช้วิธีเดิม
- เรื่องการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย กฎหมายเขียนไว้ว่าห้ามดูหมิ่น ใส่ร้าย สัญญาว่าจะให้ ฯลฯ แต่ยังมีบางรายละเอียดที่ กกต.จะไปคุยกับเจ้าของแพล็ตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook Line Youtube ฯลฯ ว่าจะร่วมมือกันอย่างไรได้บ้าง ถ้าเกิดกรณีมี avatar มาช่วยหาเสียงหรือโจมตีอีกฝ่าย แต่เบื้องต้น กกต.อยากให้แต่ละพรรคแจ้งมาว่า ช่องทางโซเชียลฯ ไหนที่เป็นช่องทางทางการ
- ใช้งานรื่นเริงมาช่วยหาเสียงได้ แต่ห้ามใช้อุปกรณ์ ซึ่งก็ยังต้องไปตีความกันอีกว่า อย่างไรคืออุปกรณ์ เช่น นักดนตรีเป่าแคนผิดหรือไม่ ตลกใช้ถาดมาประกอบการแสดงได้หรือไม่ ฯลฯ แต่การจัดเวทีคอนเสิร์ต แบบนี้ผิดแน่ๆ
การทำ poll และ exit poll
สามารถทำโพลได้ตลอดเวลา แต่การเผยแพร่ ห้ามทำก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน รวมถึงห้ามผู้สมัครไปทำโพลพร้อมขอคะแนนในเชิงจูงใจ
บัตรเลือกตั้ง และวิธีคำนวณ ส.ส.
ครั้งนี้จะกลับไปใช้ ‘บัตรเลือกตั้งใบเดียว’ แต่นำคะแนนมาคำนวณ ส.ส. ทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ที่เรียกกันว่าแบบ ‘จัดสรรปันส่วนผสม’ (mixed member apportionment system หรือ MMA) โดยวิธีคำนวณคือนำคะแนน ส.ส.เขตทั้งประเทศไปหาร 500 เพื่อให้รู้ว่า จะได้ ส.ส. 1 คนต้องมีกี่คะแนน จากนั้นนำ ‘ตัวเลข’ ดังกล่าว (ประมาณกันว่า ราว 70,000 เสียงต่อ ส.ส. 1 คน) ไปหารคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับ เพื่อหาจำนวน ‘ส.ส.พึงมี’ แล้วนำไปลบกับ ‘ส.ส.เขต’ ที่ได้แล้ว ส่วนที่เกินก็จะได้เป็น ‘ส.ส.บัญชีรายชื่อ’
สรุปสูตรคำนวณ จำนวน ส.ส. แบบจัดสรรปันส่วนผสม
- นำคะแนนเลือก ส.ส.เขตรวม ของทุกพรรค ทั้งประเทศ (ไม่รวม vote no) / 500 = ‘ตัวเลข’ ว่า ได้กี่คะแนนถึงจะได้ ส.ส. 1 คน
- นำตัวเลขที่ได้ไปหารคะแนนเลือก ส.ส.เขตที่แต่ละพรรคได้ = จำนวน ส.ส.พึงมี
- นำจำนวน ส.ส.พึงมี – จำนวน ส.ส.เขตที่ชนะเลือกตั้ง = ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะได้เพิ่มเติม
โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ ช่อง vote no จะมีความหมาย เพราะถ้าคะแนนที่ผู้สมัครได้น้อยกว่า vote no จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ และผู้สมัครเดิมๆ จะลงสมัครไม่ได้อีกแล้ว
ขณะที่คูหาเลือกตั้งจะเปิดระหว่างเวลา 08.00 – 17.00 น. นานกว่าในอดีต ที่จะเปิดระหว่างเวลา 08.00 – 15.00 น. โดย กกต.เชื่อว่าจะทำให้มีคนมาลงคะแนนมากขึ้น
อำนาจจับทุจริต
ในอดีตจะมีเพียงใบเหลืองกับใบแดง แต่ปัจจุบันจะมีถึง 4 ใบ คือ ใบเหลือง-ให้เลือกตั้งใหม่ ใบส้ม-ระงับสิทธิในการสมัคร (2 ใบแรกนี้ กกต.ให้ได้เอง) ใบแดง-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งระยะเวลาหนึ่ง ใบดำ-เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดกาล (2 ใบหลัง ต้องให้ศาลฎีกาพิจารณา)
ทั้งนี้ กกต.จะเพิ่มกลไกในการจับทุจริต นอกจากผู้ตรวจการเลือกตั้ง 77 จังหวัด ยังจะมีชุดปฏิบัติการของ กกต.ลงไปตรวจสอบด้วย
ค่าใช้จ่าย
เรื่องใหม่ของเลือกตั้งครั้งนี้ คือผู้สมัครจะต้องแจ้งค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเลือกตั้ง (เพดานไม่เกินคนละ 2 ล้านบาท เพิ่มจากสมัยก่อนคนละ 1.5 ล้านบาท) และพรรคจะต้องแจ้งค่าใช้จ่ายของผู้สมัครของพรรคทั้งหมด ต่อ กกต. และจะมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ นอกจากนี้ เมื่อพ้นช่วงเลือกตั้งไปแล้ว หาก ส.ส.หรือว่าที่ผู้สมัครไปช่วยงานต่างๆ เช่น งานศพ งานแต่ง งานบุญ อาจต้องนำค่าใช้จ่ายนั้นๆ มาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย!
ผู้สมัครคนใดหรือพรรคใดฝ่าฝืน มีโทษจำคุก
การประกาศผลเลือกตั้ง
กฎหมายใหม่กำหนดให้ทำภายใน 60 วันนับจากวันเลือกตั้ง (ขยายจากของเดิม 30 วัน) โดยในวันเลือกตั้ง กกต.จะประกาศแค่ระหว่าง 90-95% ก่อน เพราะทุกคะแนนจะมีส่วนต่อการคำนวณ ส.ส.พึงมี จากนั้นจะค่อยๆ ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ให้ได้ 95% ภายใน 60 วัน เพื่อให้สามารถเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก เลือกนายกรัฐมนตรีได้
ยุบพรรค
ตามกฎหมาย การจะถูกยุบพรรคมีหลายกรณี เช่น ให้คนที่ไม่มีสมาชิกพรรคมาครอบงำ สั่งซ้ายหันขวาหัน ทำให้พรรคขาดอิสระ, ให้สินบนเพื่อจูงใจมาเป็นสมาชิกพรรค, ตั้งสาขาพรรคในต่างประเทศ, รับบริจาคเงินจากต่างประเทศ หรือจากองค์กรที่มีอุดมการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย, ซื้อเสียงหรือทุจริตเลือกตั้ง ฯลฯ
กรณีพรรคที่เป็นข่าว (ทักษิณกับพรรคเพื่อไทย) กกต.จะต้องสืบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนก่อน จะนำแค่จากข่าวมาทำคดีไม่ได้
ผู้มีอำนาจเอาเปรียบ
แม้จะมีบางพรรค มีรัฐมนตรีเป็นสมาชิกพรรค แต่ต้องไปดูว่า เขาได้ใช้ทรัพยากรของรัฐในการเอื้อประโยชน์ให้พรรคตัวเองหรือไม่ เช่น ใช้ทำเนียบรัฐบาลแถลงข่าวกิจกรรมของพรรค ต้องไปดูว่าเพราะนักข่าวถามหรือตั้งใจแถลงเอง, ไป ครม.สัญจรหรือตรวจราชการต่างจังหวัด แล้วพูดถึงชื่อพรรคตัวเองบ่อยๆ ก็ต้องไปดูว่า ตั้งใจเอื้อประโยชน์จริงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างยาก เพราะต้องดูข้อเท็จจริงและต้องตีความ
เลขาธิการ กกต. บอกว่า สิ่งที่เราตั้งใจคือทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ ‘สุจริตและเที่ยงธรรม’ ตาม motto ขององค์กร และอยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้และครั้งต่อๆ ไปสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่เข้มแข็ง ให้พรรคการเมืองเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อพาประเทศชาติหลุดจากวงจรอุบาทว์ ที่มีเลือกตั้ง ทุจริต แล้วก็รัฐประหาร ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
กล่าวโดยสรุป
สิ่งใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่สำคัญๆ
- บัตรเลือกตั้งเหลือแค่ใบเดียว กับวิธีคำนวณคะแนน ส.ส. แบบ MMA
- vote no มีความหมาย
- ผู้สมัครต้องเปิดค่าใช้จ่าย (ใช้ไม่เกิน 2 ล้านบาท) ไม่เช่นนั้นมีโทษจำคุก
- ใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม และใบดำ ไปจนถึงผู้ตรวจการเลือกตั้ง
- ป้ายหาเสียง อาจไม่มีตามเสาไฟฟ้า-ป้ายรถเมล์แล้ว
- การเลือกตั้งภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. (และมาตรา 44 ถูกใช้ได้ตลอดเวลา)
สิ่งที่ยังไม่ชัดเจน ต้องตีความ
- แค่ไหน คือคนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคมาครอบงำพรรค จนต้องยุบพรรค
- แค่ไหน คือใช้ทรัพยากรของรัฐเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ
- การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียทำได้แค่ไหน
- วิธีการหาเสียงที่ใช้ความรื่นเริงได้ คือทำอะไรได้บ้าง
- สื่อจัดเวที debate ระหว่างผู้สมัครเองได้ไหม