ในแวดวงของ DeFi (Decentralized Finance) หรือการเงินแบบกระจายศูนย์ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เราน่าจะได้เห็นข่าวกรณีที่มีการแจ้งความว่าถูก ‘โกง’ ถูก ‘แฮ็ก’ กันเป็นรายอาทิตย์ ซึ่งทำให้คนที่ไม่ได้คลุกคลีในวงการ หรือกระทั่งคนในวงการเองหลายคนเกิดคำถามว่า การเงินรูปแบบนี้จะไปต่ออย่างไร หรือจะเกิดขึ้นจริงได้ไหม?
เพราะในประเทศไทยเองก็มีคนทำโปรเจกต์ DeFi ออกมาให้คนใช้งาน และกลายเป็นว่าสุดท้ายมี ‘ผู้เสียหาย’ เกิดขึ้นรายสัปดาห์เลยทีเดียว เช่น การเปิดขายเหรียญแล้วผู้ก่อตั้งเทขายเหรียญ ทำราคาดิ่ง เพราะไม่มีคนที่เข้ามาควบคุมหรืออนุมัติโปรเจกต์ โปรเจกต์ส่วนใหญ่จึงคิดแล้วลงมือทำ และเปิดให้ใช้ได้เลย
นำมาซึ่งคำถามที่ว่า มันเป็น ‘การโกง’ จริงไหม? เพราะไอเดียหลักๆ ของโลกสินทรัพย์ดิจิทัลคือการตัดตัวกลางและเชื่อในระบบ ‘โค้ดคอมพิวเตอร์’
กลับมาที่ DeFi คืออะไร? การเงินแบบกระจายศูนย์ คือ แนวคิดทางการเงินที่อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนมาทำหน้าที่บันทึกและดำเนินธุรกรรมแทน ‘ตัวกลาง’ (เช่น สถาบันการเงิน ธนาคาร หรือศูนย์รับแลกเปลี่ยนต่างๆ)
ปัจจุบัน DeFi มีโปรเจกต์มากมายทางด้านการเงินที่ให้คนเข้าไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงินรับดอกเบี้ย การกู้ยืม การแลกเปลี่ยนสกุลเงิน เป็นต้น (ซึ่งผลตอบแทนการทำธุรกรรมสูงกว่าระบบธนาคารค่อนข้างเยอะ)
ยกตัวอย่าง DeFi ระดับโลก เช่น ‘SushiSwap’ ธุรกิจที่เกิดขึ้นมาเพราะโลกธุรกรรมการเงินของคริปโตเคอร์เรนซีต้องการสภาพคล่องทางการเงิน (liquidity) จึงเปิดให้คนถือคริปโตฯ เอาเงินมาฝากไว้ เพราะถ้าถือไว้เฉยๆ มูลค่าจำนวนโทเคนก็เท่าเดิม แต่ถ้ามาฝากไว้บนแพลตฟอร์ม เมื่อมีคนมากู้ยืมหรือมาแลกเปลี่ยนอัตราเงิน (ซึ่งต้องมีการเสียดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว) คนที่เอามาฝากก็จะได้กินดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมดังกล่าวไปด้วย (อ่านเพิ่มเติม: thematter.co)
เพื่อให้กระจ่างขึ้น (เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่แล้วก็ค่อนข้างเข้าใจยาก) The MATTER ลองไปหาคำตอบจากผู้ที่อยู่ในวงการ DeFi ไทยมาอย่างยาวนานว่าสรุปวงการ DeFi จะไปทางไหนกันต่อ และมันจะถูกนำมาใช้งานเป็นระบบการเงินหลักได้หรือไม่?
ว่าด้วยรูปแบบแฮ็กของ DeFi
เราต่อสายคุยกับ ‘หาญ—พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว’ เจ้าของเพจ ‘Blockchain Review’ หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ Bitcoin & Blockchain 101 เงินดิจิทัลเปลี่ยนโลก และหนังสือ Digital Asset Investment 101 จาก Bitcoin สู่การลงทุนยุคใหม่ในสินทรัพย์ดิจิทัล
หาญเริ่มต้นว่า ในเชิงเทคนิก DeFi ถูกแฮ็กนั้นไม่มีจริง เนื่องจาก DeFi เป็นโปรแกรมหรือโค้ดที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชน ดังนั้นข้อมูลและเงื่อนไขการทำงานก็จะทำงานโดยอัตโนมัติ โดยข้อมูลไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้
แต่มันมี ‘ช่องโหว่’ ที่ทำให้เกิดข่าวโกงหรือแฮ็กรายสัปดาห์ได้ แน่นอนว่าเมื่อมันไร้ตัวกลาง ทำให้ความเสียหายหลายครั้งก็ไม่สามารถมีตัวกลางมาช่วยชดเชย ไกล่เกลี่ยให้ได้
หาญแยกรูปแบบช่องโหว่เป็น 3 แบบ
1. การเขียนหนังสือสัญญาขึ้นมาฉบับหนึ่งแล้วมีจุดที่ไม่ครอบคลุม เขียนเงื่อนไขไม่ครอบคลุม แล้วแพลตฟอร์มถูกโจมตีจากตรงนั้น“เราทำสัญญากู้ยืมเงินกับใครสักคน แล้วบอกภายใน 1 ปีต้องคืนเงินเราจำนวนเท่านี้ แต่ว่า เราไม่ได้บอกว่าแต่ละเดือนต้องคืนเท่าไหร่ คือโค้ดก็เข้าใจว่า หนึ่งปีต้องคืน แต่ไม่จำเป็นต้องคืนทุกเดือน หรือแต่ละเดือนต้องเท่าไหร่ อันนี้เป็นลักษณะของการที่โค้ดถูกโจมตี แต่เจ้าของโค้ดเขาตั้งใจมาอย่างดีว่าจะเขียนแบบนี้ แล้วเขาถูกโจมตีเพราะโค้ดมีช่องโหว่ที่คาดไม่ถึง” หาญบอก
2.เจ้าของโปรเจกต์ตั้งใจทำมาขโมยเงินเลย สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นหาญบอกว่า เกิดจากคนเซ็นสัญญาไม่อ่าน สัญญาอาจระบุว่า ทำธุรกรรมกับเราคือการที่คุณให้เงินเรามาเปล่าๆ แล้วเราจะไม่คืนเงินคุณ กรณีนี้คือคำโฆษณาที่เขาเชิญชวนไปลงทุนเป็นคำอื่น แต่ในเนื้อสัญญามันเป็นอีกอย่างหนึ่ง
3. กรณีการทุบเหรียญ หาญบอกว่าเป็นกรณีที่ค่อนข้างหมิ่นเหม่ว่าจะถูกหรือจะผิด บางโปรเจกต์ทำมาเพื่อขายโทเคน แต่เจ้ามือถือโทเคนไว้จำนวนเยอะมากๆ แล้วเทขาย
“มันเกิดความเสียหายแต่ไม่ใช่การขโมย ผมจึงบอกว่าจริงๆ ระบบพวกนี้มันโปร่งใส แต่คุณต้องใช้ความรู้ เพราะมันสามารถเช็กได้เลยว่าเงื่อนไขเป็นยังไง เจ้ามือถือเหรียญเท่าไหร่ เพราะงั้นถ้าคุณประเมินได้ว่าเจ้ามือถือเท่าไหร่ ปริมาณเท่าไหร่ คุณสามารถประเมินได้ว่าเจ้ามือจะทุบ และทุบไปราคาเหรียญจะตกลง
“อย่างกรณีล่าสุดที่โดน (เคส Genesis) อันนี้ผมเข้าใจทั้งหมด จริงๆ โดยในทางเทคนิกแล้ว เจ้าของไม่ได้ทำไรผิด เป็นสิทธิที่เขาทำได้เพราะเขาถือเหรียญไว้เยอะ และเป็นอำนาจที่เขาเทได้ แต่เข้าข่ายหลอกลวงในทางกฎหมายและจรรยาบรรณ จุดที่ผิดคือเขาใช้คำหลอกลวงว่า มาซื้อสิ รวยชัวร์ ในบล็อกเชนมันเรกคอร์ดไว้หมดแล้วว่าเจ้าของมีสิทธิจะทำได้เลย แต่ผิดตรงการโฆษณา คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีความรู้ ไม่ได้เช็กตรงนี้ แล้วก็เลยโป๊ะแตกตอนเขาทุบเหรียญแล้ว”
เมื่อไร้ตัวกลาง ทำอย่างไร DeFi จะปลอดภัย?
ในรูปแบบการเงินระบบปัจจุบันที่มีตัวกลาง ไม่ว่าจะธนาคาร สถาบันการเงิน หรือรัฐ คอยทำหน้าที่ธุรกรรมแทนเรา เมื่อเกิดการโกง (เช่น แฮ็กบัตรเครดิต) ตัวกลางจะทำหน้าที่รับผิดชอบให้ เรารู้ว่าจะต้องไปหาใครที่ไหนเพื่อตามเรื่องราว รักษาประโยชน์ของเรา
แต่เนื่องจากไอเดียของ DeFi คือการกระจายข้อมูลธุรกรรมให้ทุกคนในระบบถือร่วมกัน ร่วมกันตรวจสอบ ดังนั้นมันจึงมีช่องโหว่ หาญบอกเพิ่มว่า
“DeFi มันอยู่ในจุดที่ไม่สามารถเขียนกฎหมายมากำหนดกฎเกณฑ์ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต กลต. มีสิทธิสั่งห้ามตามกฎหมายจริง แต่ทางปฏิบัติถ้าเราไม่ได้เปิดหน้าขึ้นมา <ว่าเป็นเจ้าของโปรเจกต์ : ผู้เขียน> ก็ทำอะไรไม่ได้ มันไม่ใช่เหมือนกรณีที่เขาสั่งห้ามเราไปลงทุนได้
“การลงทุน DeFi มันคือการที่เราเชื่อในระบบ ในโค้ด เราไม่ได้สนใจว่ามันมีคนหรือไม่มีคนที่เบื้องหลัง”
หาญตั้งข้อสังเกตว่า โปรเจกต์ DeFi ส่วนใหญ่ที่เป็นข่าว มักจะเป็นโปรเจกต์เล็กๆ ที่ไม่ได้มีศักยภาพในเชิงนวัตกรรม และมักโปรโมตด้วยคำพูดเกินจริง เขาบอกว่าโปรเจกต์ DeFi ที่ใหญ่ระดับโลกอย่าง PancakeSwap หรือ UniSwap โดยทั่วไปหากเกิดเหตุโจมตีจะมีการเยียวยา มีกองทุนประกันสำรอง และยังมีการซื้อประกันสำหรับแพลตฟอร์ม ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยงแต่อยู่บนความน่าเชื่อถือ
หาญบอกด้วยว่า สำหรับวงการ DeFi นั้น นักลงทุนต้องทำความเข้าใจก่อนว่า มัน high risk, high return ผลตอบแทนสูง และความผันผวนก็สูงด้วย
“หลายคนบ่นว่า DeFi ไทยเป็นอะไร แต่ถ้าเทียบกับภาพในตลาดโลก (การโกง, การแฮ็ก) มันเป็นอะไรที่เล็กมากๆ เลย เพียงแต่ต้องยอมรับว่า คือคนมันแสวงหาผลตอบแทนที่มากขึ้น ระดับ 1,000% หรือ 10,000% ตลาดมันถึงจุดๆ หนึ่งที่มีคนมองว่าไอเดียนี้ใช้ได้ และใช้ไอเดียนี้ในการหลอกคน หรือตั้งแพลตฟอร์มคล้ายกับการหมิ่นเหม่ หรือเป็น money game สูง
“แต่คำถามคือว่า เขาโดนหลอกเข้าไป เขาไม่มีความรู้ หรือเขารู้อยู่แล้วกันแน่ อันนี้ก็ตอบยากเหมือนกัน ไม่สามารถไปฟันธงได้ ขณะที่บางคนเขาก็เห็นว่าผลตอบแทนสูงจึงโดดเข้าไปเพราะรู้ว่าเป็น money game มีโอกาสทั้งได้เงินและเสียเงิน พร้อมๆ กัน”
สุดท้ายจะด้วยความใหม่ หรือการไร้ตัวกลาง หาญบอกว่า ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล DeFi ถือเป็นด่านสุดท้ายที่ยากต่อการทำความเข้าใจ เขาคิดว่าคนที่จะเล่นควร ‘ศึกษา’ และแน่นอนว่าการลงทุนคือการรับผิดชอบทรัพย์สินของตัวเอง
“ผมจะบอกเสมอว่า DeFi เป็นพาร์ตที่ยากสุดในโลกคริปโตฯ ผมจะบอกเสมอว่าอย่าคิดว่ามันง่ายๆ แล้วโดดมาเล่นเลย แต่คนพอได้ยินว่าผลตอบแทนเป็น % ดอกเบี้ยต่อปีสูงๆ ก็สนใจ เพราะงั้นเขาก็ตัดสินใจข้ามจากศูนย์แล้วโดดมา DeFi เลย แล้วก็ไม่ได้ไปลงทุนในโปรเจกต์ใหญ่ด้วย ไปลงทุนในโปรเจกต์ที่มีการพูดถึงเยอะ แต่ความเป็นจริงคือความเสี่ยงสูงมาก” หาญบอก
ซึ่งตรงกับที่ ‘กานต์นิธิ ทองธนากุล’ ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กเพจ Kim DeFi Daddy และ Bitcoin Addict Thailand เขียนไว้บนบทความของ Techsauce ว่า
“แต่ไม่ว่ามันจะน่าสนใจขนาดไหน บนโลก DeFi นั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ไร้ความเสี่ยง’ เนื่องจากมันยังเป็นอะไรที่ใหม่ และแม้ว่าจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้สร้างตั้งใจให้มันเกิดขึ้น กรณีความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากช่องโหว่ของ Smart Contract ก็มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากจะกระโจนลงไปสู่โลก DeFi คุณควรจะศึกษาความรู้ให้มาก เพราะราคาของความผิดพลาดนั้นไม่ใช่อะไรที่ถูกอย่างแน่นอน”
อนาคต DeFi ไทย จะไปยังไงกันต่อ?
แม้ว่าคนกลุ่มหนึ่งในโลกใบนี้ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีการเงิน DeFi และหวังว่ามันจะถูกใช้งานเป็นระบบการเงินมาตรฐาน ทว่าสำหรับหาญเขายังมองว่า เป็นเส้นทางอีกยาวไกล ซึ่งหาญมองว่า ระบบการเงินเก่าก็จะอยู่ แต่จะมีการเปลี่ยนสินทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดิน ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล
เพราะเทคโนโลยีบล็อกเชน คือความโปร่งใส ไร้ตัวกลาง รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ ถ้าทำได้ ปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสจากตัวกลางปัจจุบัน ก็จะหมดลงไปได้
“สุดท้ายแล้ว DeFi มันก็คงจะไปเรื่อยๆ และไปชนกับการที่ผู้กำกับยอมให้สินทรัพย์ธรรมดา เปลี่ยนเป็นรูปแบบดิจิทัล แต่วันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่การพัฒนาในวงการ DeFi มันก็จะทำไปเรื่อยๆ และน่าจะได้เห็นแนวคิดหรือไอเดียต่างๆ ที่เราคาดไม่ถึงเรื่อยๆ เลย
“ตอนนี้คนเชื่อถือตัวกลางหรือไร้ตัวกลางมากกว่ากัน ตอบได้แบบไม่คิดเลยว่า คนเชื่อถือตัวกลางมากกว่า จนกว่าการเปลี่ยนแปลงของความคิดจะไปถึงจุดที่เราเล่นการเงินไร้ตัวกลางปลอดภัยกว่ามีตัวกลาง อาจจะอีกเจเนอเรชั่นหนึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้น”
ถามต่อว่าเขาเชื่อมั่นใน DeFi ว่าจะเป็นอนาคตการเงินได้ไหม? หาญให้คำตอบว่ามันเป็นไอเดียที่น่าสนใจ แต่ระยะยาวเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
“พูดตรงๆ มันน่าสนใจ ถ้าในแง่นักลงทุนถามว่าเราเชื่อมั่นกับมันไหม? เราใช้ว่าเราชอบมันมากกว่า เพราะทุกวันนี้เราลงทุน DeFi ก็รู้ว่าไม่ 100% นะ จะมีความผิดพลาดไหมก็ไม่รู้ แต่ถามว่ามันมีความน่าสนใจไหม น่าสนใจในแง่ของแนวคิด ก็ต้องใช้คำว่าผมชอบมัน มากกว่าไปฟันธงว่าอนาคตมันจะสวยหรู”
*นี่ไม่ใช่บทความแนะนำการลงทุน และการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ ผู้สนใจลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน
Illustration by Sutanya Phattansitubon