ศึกดีเบตชิงหัวหน้าพรรคการเมืองสำคัญครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จนลงไปอย่างน่าสนใจ เมื่อผู้สมัครแต่ละคนได้แสดงจุดยืนอะไรบางอย่างออกมา ทั้งที่เกินคาดคิดและเป็นไปตามที่คาดหมายเอาไว้
อย่างที่เรารู้กันว่า การแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นี้ มีผู้สมัครเข้าชิง 3 คน ประกอบด้วย
- อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีต ส.ส.หลายสมัย และหัวหน้า ปชป.คนปัจจุบัน
- นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลกหลายสมัย ผู้มีผลงานเด่นคือการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวอย่างต่อเนื่อง
- อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธาน สปท. อดีต รมช.พาณิชย์ และอดีต ส.ส.เพขรบุรีหลายสมัย ผู้เคยจุดประเด็นให้ ปชป.ปฏิรูปตัวเอง
กระบวนการเลือกหัวหน้า ปชป.คนใหม่ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. หลังจากมีการแก้ไขข้อบังคับพรรค ให้มีการหยั่งเสียง (ระหว่างวันที่ 1-3 พ.ย.) ก่อนโหวตเลือกจริงๆ ในที่ประชุมใหญ่สามัญของพรรค (11 พ.ย.) โดยระหว่างนั้นจะมีเวทีดีเบตเพื่อให้ผู้สมัครแต่ละคนได้แสดงวิสัยทัศน์ให้สมาชิก ปชป.ทางบ้านได้พิจารณา ก่อนลงคะแนนในช่วงของการหยั่งเสียง
เวทีดีเบตมีขึ้น ในวันศุกร์ที่ 26 ต.ค. ที่ชั้นสามของอาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ทำการ ปชป. บนถนนเศรษฐศิริ
ตลอด 2 ชั่วโมงของการปะทะคารม แม้จะเปรยไว้แต่ต้นว่า ให้โอภาปราศรัยกันฉันท์พี่-น้อง ทว่าในฐานะพรรคการเมืองของคนพูดเก่ง จึงมีการเกทับบลั๊ฟฟ์กันไปกันมา และบางช่วงมีการเปิดใจ ด้วยเสียงสั่นเครือของตัวผู้พูดเอง
ปชป.ได้เชิญสื่อมวลชนอาวุโสอย่าง กิตติ สิงหาปัด จากสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 และณ กาฬ เลาหะวิไลย จากเครือบางกอกโพสต์ มาเป็นผู้ตั้งคำถามให้ผู้สมัคร รวม 9 คำถาม ภายใต้กติกาคือให้เวลาในการตอบคำถามๆ ละ 90 วินาทีเท่านั้น โดยอาจจะมีโอกาสพูดชี้แจงกรณีถูกพาดพิงอีก 90 วินาที ก่อนจะปิดท้ายด้วยการแสดงวิสัยทัศน์ 3 นาที
โดยคำถามที่มีการถามบนเวทีดีเบต ประกอบด้วย
- ชื่นชอบและศรัทธา ปชป. ในยุคสมัยของอดีตหัวหน้าพรรคคนใด?
- จุดยืนในการเลือกตั้งจะอยู่ข้างใด ระหว่างเอาหรือไม่เอาข้างเผด็จการ(ทหาร)?
- คิดว่าตัวเองมีจุดเด่นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร และจะทำนโยบายใดเป็นอย่างแรก?
- ที่ผ่านมา ปชป.ถูกมองเป็นพรรคคนใต้ และไม่ค่อยได้เสียงจากภาคอีสาน จะแก้ปัญหานี้อย่างไร?
- มีจุดยืนอย่างไรกับนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงและ EEC?
- คสช.ออกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถ้าขัดกับนโยบายของพรรคจะทำอย่างไร?
- รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขหรือไม่?
- แต่ละคนมี slogan ประจำตัว แล้วจะทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีได้อย่างไร?
- หากแพ้เลือกตั้งครั้งนี้ จะลาออกจาก ปชป.หรือไม่ ส่วนคนที่ชนะจะสร้างความสามัคคีภายในพรรคได้อย่างไร?
The MATTER นั่งฟังการปะทะคารมนี้ตลอดทุกวินาที เห็นความจำเป็นที่จะต้องบันทึกสิ่งที่แต่ละคนพูด เพื่อเก็บเป็นสัญญาประชาคมไว้ทวงถามในอนาคต โดยจะแยกเป็นรายบุคคลเพื่อให้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น (เพราะตอน debate จริงๆ มีการโต้เถียงกันไปมาในบางช่วง)
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
– จะเลือกสนับสนุนข้างทหารหรือไม่?
นี่เป็นโจทย์ที่ผมปฏิเสธมาตลอด เพราะการเมืองไทยควรเป็น 3 ก๊ก ให้มีตัวเลือกมากกว่าแค่จะอยู่ข้างเผด็จการหรือข้างคนโกง โดย ปชป.จะขอเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ตามกลไกของรัฐสภา ใครรวบรวมเสียงข้างมากได้ ควรจะได้จัดตั้งรัฐบาล
– การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ?
จะแก้ปัญหาการ ‘ผูกขาดเชิงโครงสร้าง’ ผมได้ศึกษากฎหมายและนโยบายไว้หมดแล้ว โดยจะต้องแก้ไปให้ถึงฐานราก และจะไม่ใช้ประชานิยมที่ได้ผลแค่ชั่วครั้งชั่วคราว รวมถึงจะไม่ใช่ GDP เป็นตัววัดความเจริญทางเศรษฐกิจอีก
– วิธีในการเจาะพื้นที่อีสาน ในฐานะที่ถูกมองเป็นพรรคคนใต้?
การที่บอกว่า ปชป.เป็นของภาคนี้ ไม่ใช่ของภาคนี้ เป็นวาทกรรม ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะนโยบายสมัยเป็นรัฐบาลก็ตอบโจทย์คนทุกภาค รวมถึงคนอีสาน ทั้งประกันรายได้ เบี้ยผู้สูงอายุ เรียนฟรี ฯลฯ แต่ที่ผ่านมาเราถูกขัดขวางให้ลงพื้นที่ไม่ได้ และมีการบิดเบือนข้อมูล แต่วันนี้มีช่องทางสื่อสารมากขึ้น และบ้านเมืองสงบ เชื่อว่าถ้าเรามีโอกาสสื่อสารว่ากำลังทำอะไรให้พวกเขาอยู่ คนอีสานจะหันมาสนับสนุน ปชป.มากขึ้น
– ท่าทีต่อนโยบายสำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน?
รถไฟทางคู่ผมสนับสนุนอยู่แล้ว ส่วนรถไฟความเร็วสูง ที่จริงไม่ใช่นโยบายของลุงคนไหน แต่ผมเป็นคนไปเจรจามา และถ้าจะทำ จะไม่ทำแค่ 3.5 กิโลเมตรที่ จ.สระบุรี แต่จะไปทำที่ จ.หนองคายก่อน ส่วน EEC ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าคนไทยในพื้นที่ได้ประโยชน์อะไร เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการยกเว้นภาษี 13 ปี ยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและกฎหมายสิ่งแวดล้อม
– ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับรัฐธรรมนูญของ คสช.
(อ่านยุทธศาสตร์ชาติจบ) เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติไม่มีอะไรผิด แต่ถ้ามาขัดแย้งกับนโยบายที่จะทำเพื่อประชาชนมากๆ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนแปลง แต่ต้องอธิบายให้ชัดว่าที่แก้เพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่ออำนาจของตัวเอง
ส่วนรัฐธรรมนูญ เนื้อหาหลายส่วนมีปัญหา แต่จะแก้ไขปัญหาของประชาชนก่อน แล้วค่อยแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องไม่นำไปสู่การขัดแย้งกันของประชาชน
ผมเป็นสายเลือด ปชป.แท้ รู้จักพรรคนี้ตั้งแต่ประถม ไปช่วยหาเสียงตั้งแต่ยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย ทุ่มเททำงาน ต่อสู้ ปกป้องพรรค ตอนนี้มีคนจ้องจะทำลาย อยากใช้ ปชป.เป็นเครื่องมือ แต่ผมจะไม่ยอม อยากจะใช้โอกาสนี้ให้สมาชิกพรรคทุกคนออกมาร่วมกันปกป้องพรรค
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม
– จะเลือกสนับสนุนข้างทหารหรือไม่?
สิ่งที่ถามมาคือกระแสของสื่อ ผมจะกำหนดเกมเล่นเอง ไม่เลือกซ้ายหรือขวา ถ้าลงเลือกตั้งก็อยากจะชนะ แล้วเลือกคนมาทำงานด้วยเองภายใต้ 4 เงื่อนไข ต่อต้านการโกง เคารพกฎหมาย ไม่ใช้อำนาจมิชอบ และจงรักภักดีต่อสถาบัน
– การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ?
ผมสัมผัสชาวบ้านมาตลอด รู้ความต้องการจากเจ้าตัวจริงๆ ไม่ใช่แค่ผ่านเอกสารหรือตัวหนังสือ ต้องทำให้คนมีรายได้ กินดีอยู่ดี โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน นอกจากนี้ ยังต้องปราบโกงอย่างเด็ดขาด เพื่อให้เงินถึงพี่น้องทุกบาททุกสตางค์ โดยจะออกกฎหมายให้สินบนกับคนที่แจ้งจับคนโกงได้
– วิธีในการเจาะพื้นที่อีสาน ในฐานะที่ถูกมองเป็นพรรคคนใต้?
ด้วยวิถีชีวิตที่คลุกคลีกับชาวอีสานหลายสิบปี พบว่าเขาอยากให้ทำ 4 อย่าง 1.มีนโยบายที่จับต้องได้ ไม่นามธรรม 2.ทำงานแบบมีทีมเวิร์ก การเป็นผู้นำเดี่ยวไม่ประสบความสำเร็จ 3.กระจายอำนาจให้สาขาพรรค และ 4.ทำให้ ปชป. ‘สัมผัสได้ จับต้องได้ พูดคุยได้’ ต้องกล้าไปกินนอนร่วมกับเขา และคิดเร็ว ทำเร็ว กล้าคิด กล้าตัดสินใจ
– ท่าทีต่อนโยบายสำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน?
รถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับ แต่จะหาวิธีทำให้คนอีสานกับคนเหนือไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องลงมา กทม.ก่อนค่อยขึ้นไปเหนือ เพราะประเทศไทยไม่ใช่ กทม. ส่วน EEC ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ให้ประชาชนได้ประโยชน์ที่แท้จริง
– ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับรัฐธรรมนูญของ คสช.
(อ่านยุทธศาสตร์ชาติจบ) ส่วนตัวคิดว่ายุทธศาสตร์ชาติได้วางหลักการที่ดีเอาไว้ และยังไม่เห็นว่าอะไรจะเป็นอุปสรรคหรือปัญหา แต่ถ้าพบว่ามีค่อยไปแก้ไข
เรื่องรัฐธรรมนูญ ต้องไม่ลืมว่ามีผู้เห็นชอบในการออกเสียงประชามติถึง 16 ล้านเสียง แต่อะไรที่เป็นปัญหาต่อการดูแลประชาชน ถ้าจำเป็นต้องแก้ไข ก็ควรจะแก้
ปชป.เป็นบ้านของทุกคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ผมก็รัก ปชป.ไม่แพ้ใครๆ อยากให้บ้านหลังนี้เข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของประชาชน ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ผมเหนื่อยมากๆ ไม่แพ้กับตอนสู้กับระบบทักษิณ รู้สึกว้าเหว่ เพื่อนหลายๆ คนไม่กล้าคุยด้วย แต่ยืนยันอีกครั้งให้ทุกคนสบายใจว่า ปชป.เป็นบ้านของผม และจะเป็นพรรคสุดท้ายของผมในทางการเมือง
อลงกรณ์ พลบุตร
– จะเลือกสนับสนุนทหารหรือไม่?
จุดยืนทางการเมืองสำคัญมาก ต้องชัดเจน ถ้า ปชป.ชนะเลือกตั้งจะจัดตั้งรัฐบาลเองแน่ และยืนยันว่าไม่เอานายกฯ คนนอก เพราะจะเป็นชนวนของวิกฤตชาติ แล้วประชาชนอาจจะต้องไปเสียเลือดเนื้อกันอีก พอแล้วกับวงจรความขัดแย้งที่จบลงด้วยรัฐประหาร
– การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ?
จะแก้ปัญหารวยกระจุกจนกระจาย นำ ‘กฎหมายป้องกันการผูกขาด’ มาใช้ให้จริง พร้อมกับสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ เน้นการเชื่อมโยงภูมิภาค
– วิธีในการเจาะพื้นที่อีสาน ในฐานะที่ถูกมองเป็นพรรคคนใต้?
ต้องทำให้ ปชป.เป็นของคนทุกภาค ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร ไปลงพื้นที่อีสานได้ทุกจังหวัด และต้องทำให้อีสานพ้นจากความยากจน ในอีสานมีสมาชิก ปชป.มากที่สุดถึง 1.1 ล้านคน จากทั้งหมด 2.8 ล้านคน เชื่อว่าถ้าได้ผู้นำคนใหม่ คนอีสานจะตอบรับมากขึ้น
– ท่าทีต่อนโยบายสำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน?
เรื่องรถไฟความเร็วสูง จะให้เหลือแค่ไทย-จีน จากอีสานมาเท่านั้น และจะไปผลักดันรถไฟทางคู่แทน ส่วนเรื่อง EEC มองว่าเป็นแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเก่า ใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใช้กันมา 30-40 ปีแล้ว ถ้าเป็นผมจะใช้นโยบายโซนการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่า และไปสร้างพันธมิตรนอกประเทศไว้ให้มากๆ
– ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับรัฐธรรมนูญของ คสช.
(ไม่ชัดเจนว่าอ่านยุทธศาสตร์ชาติจบหรือไม่) ยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่ของ คสช. แต่เริ่มจาก สปช. ต่อเนื่องมาจากถึง สปท. เหตุที่ต้องมียุทธศาสตร์ชาติ เพราะที่ผ่านมาการพัฒนาประเทศขาดความต่อเนื่อง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามรัฐบาล เทียบกับมาเลเซียที่มียุทธศาสตร์ชาติ 30 ปี แล้วทุกวันนี้คนมาเลฯก็มีรายได้ต่อหัวมากกว่าคนไทยถึง 1 เท่าตัว
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า ‘ต้องทำ’ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ผมจะไม่ลงรายละเอียดว่ามีมาตราใดบ้าง
ปชป.จะต้องเป็นพรรคที่ไม่กลัวแพ้เลือกตั้ง ใครจะลงสมัคร สส. ผมจะให้เซ็นใบลาออกไว้ล่วงหน้า ถ้าชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล ผมก็จะให้รัฐมนตรีทุกคนเซ็นใบลาออกไว้เช่นกัน แล้วหากมีข้อครหาใดๆ ชี้แจงไม่ได้ ผมจะให้ลาออกทันที นี่คือวิธีการที่จะเรียกศรัทธาคืนให้กับพรรคนี้ได้
ส่วนว่า ท้ายสุดแล้ว คำพูดของผู้สมัครเป็นหัวหน้า ปชป.รายใด จะจับใจสมาชิกพรรคมากกว่ากัน อีกไม่กี่วันก็จะได้รู้กันแล้ว
ข้อสังเกตจากเวทีดีเบต ปชป.ครั้งนี้
- มีเพียงอลงกรณ์ที่ให้คำตอบชัดเจนว่า ‘ไม่เอานายกฯ คนนอก’ ส่วนอภิสิทธิ์และ นพ.วรงค์ยังให้คำตอบไม่ค่อยชัดว่า จะจับมือกับทหารร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่
- ส่วนจุดยืนต่อรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ทั้ง 3 คนยืนยันว่าต้องแก้ไข เพียงแต่ด้วยดีกรีและความเร่งด่วนที่แตกต่างกัน – อลงกรณ์บอกว่าต้องแก้ทันทีให้เป็นประชาธิปไตย อภิสิทธิ์บอกว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญมีปัญหาหลายจุด แต่จะไปแก้ปัญหาของประชาชนก่อน ส่วน นพ.วรงค์บอกว่า ต้องเคารพคนที่ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้มา 16 ล้านเสียง แต่ถ้าใช้ไปแล้วมีปัญหา ค่อยมาแก้ไข
- เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อภิสิทธิ์บอกว่ามีปัญหา และน่าจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน นพ.วรงค์บอกว่ายังไม่เห็นปัญหา ส่วนอลงกรณ์บอกว่า มีความจำเป็นจะต้องมียุทธศาสตร์ชาติ
- แม้บรรยากาศทั่วไปจะค่อนข้างดี มีหยอกล้อ-แซวกันในบางช่วง แต่ก็มีหลายช่วงที่ผู้สมัครแต่ละคนบลัฟฟ์กันแรงๆ เช่น นพ.วรงค์พูดว่าอยากเอาอย่างชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้า ปชป.ที่สอนให้เป็น ‘นักสู้ในสภา’ และ ‘มวยรองต้องขยัน’ ก็เจออภิสิทธิ์สวนกลับมาว่า แต่คำสอนแรกที่ชวนเคยบอกก็คือ “อย่าไปเลียนแบบท่าน”
- หรือตอนที่อลงกรณ์บอกว่า จะสร้างการเมืองสีขาวที่ปราศจากคอร์รัปชั่น อภิสิทธิ์ก็บอกว่า สมัยเป็นนายกฯ เคยให้รัฐมนตรีหลายคนลาออกมาแล้ว เมื่อมีเรื่องอื้อฉาว แม้ผลสอบภายหลังจะบอกว่า ไม่มีความผิด เพราะ “ความรับผิดชอบการเมืองต้องอยู่เหนือความรับผิดชอบทางกฎหมาย”
- ขณะที่ นพ.วรงค์ก็พูดทำนองว่า ตนได้ไปสัมผัสปัญหาจากพี่น้องประชาชนมาจริงๆ ไม่ใช่แค่ดูจากเอกสาร โดยนัยก็คือ เรื่องนี้เขาแตกต่างจากผู้สมัครอีก 2 คน
- นพ.วรงค์ดูจะเน้นเรื่องการเป็นผู้นำที่ ‘กล้าเปลี่ยน’ ‘กล้าตัดสินใจ’ ขณะที่อลงกรณ์พยายามจะอธิบาย แนวคิด 4 ปฏิรูป 5 กฎเหล็ก 6 ยุทธศาสตร์ แต่มีเวลาไม่พอ ส่วนอภิสิทธิ์จะไปโฟกัสถึงสิ่งที่เคยทำ และจะทำให้ดีขึ้น
- ผู้สมัครแต่ละคน มีพูดถึงสิ่งที่ตัวเองเคยทำมาในอดีต เช่น อภิสิทธิ์บอกว่าเป็นผู้ผลักดันให้ภาคเอกชนตั้งภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ส่วนอลงกรณ์ก็บอกว่า เคยได้รับฉายาเป็นนักการเมืองดาวเด่นจากสื่อมวลชนของรัฐสภา นอกจากนี้ ยังเคยตรวจสอบการคอร์รัปชั่นจนออกหนังสือ ‘เมนูคอร์รัปชั่น’ ได้ จนถูกฟ้อง 20 คดี โดนเรียกค่าเสียหายกว่า 1 หมื่นล้านบาท
- ช่วงท้ายที่ให้แสดงวิสัยทัศน์ อภิสิทธิ์ได้พูดก่อน และเน้นย้ำให้สมาชิก ปชป.ออกมาช่วยกันปกป้องพรรค จากคนบางกลุ่มที่อยากจะนำพรรคไปใช้เป็นเครื่องมือ (หมายถึง นพ.วรงค์และผู้สนับสนุน?) จน นพ.วรงค์ที่ได้พูดต่อ ย้ำด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ปชป.ก็เป็นบ้านที่ตัวเองรัก และจะเป็นพรรคสุดท้ายในชีวิตการเมือง
- อลงกรณ์นำน้ำเน่าขึ้นมาโชว์บนเวทีดีเบตด้วย (เพื่อประกอบการพูดเรื่อง ‘การเมืองใสสะอาด’) และบอกว่าจะให้ทุกคนช่วยกันจิบ แต่ไม่รู้ว่าได้ทำจริงหรือไม่