การฟังเรื่องผีเป็นกิจกรรมยามว่างของใครหลายคน บ้างเปิดฟังระหว่างทำงาน หรือบางคนก็กลับบ้านไปตอนดึกก็เปิดเรื่องผีซักตอนสองตอน อย่างน้อยๆ ก็ช่วยให้คลายเหงาได้ (แต่อาจจะได้ความขนหัวลุกแทน) ซึ่งเอาเข้าจริงๆ สังคมไทยเราก็อยู่คู่กับเรื่องผีกันมานานแล้วเนอะ
พูดไปแล้วก็น่าสงสัยอยู่เหมือนกันแหละ ว่าในเรื่องผีเหล่านั้นที่พวกเราชอบฟังกัน นอกจากความบันเทิงที่ได้รับแล้ว มันมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจซ่อนอยู่บ้าง เช่น ตัวตนของผีที่ปรากฎกายออกมาเป็นยังไง พฤติกรรมการหลอกคนเป็นแบบไหน เจอได้บ่อยแถวไหนมากสุด ตกลงแล้วในเรื่องเล่าต่างๆ ผีเพศชาย หรือเพศหญิงมีมากกว่า หรือผีคนชราก็เฮี้ยนได้ไม่แพ้กัน?
The MATTER จึงส่งนักข่าวผู้ใจ (ไม่) กล้า ไปนั่งฟังเรื่องราวขนหัวลุกจากรายการสุดฮิตอย่าง ‘The Shock’ ของ ‘พี่ป๋อง กพล ทองพลับ’ เป็นเวลาทั้งหมด 1 อาทิตย์ (21-26 ส.ค. 2560) ซึ่งคิดเป็นเวลารวมแล้วกว่า 1,000 นาที! ฟังไปแล้วก็อยากจะร้องว่า “พี่ป๋องครับผมไม่ไหวแล้ว” เพื่อสำรวจว่า ในเรื่องเล่าสยองขวัญเหล่านั้นมีข้อมูลผีแบบไหนที่ซ่อนอยู่ และมันสะท้อนความคิด-ความเชื่ออะไรในสังคมไทยได้บ้าง
อนึ่ง การสำรวจครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาเพื่อบอกว่า ผีมีอยู่จริงหรือไม่ และไม่ได้มีเจตนาลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพลังงานใดๆ หากแต่ต้องการสะท้อนข้อมูลด้านหนึ่งที่ปรากฏในเรื่องเล่าต่างๆ และพยายามมองเรื่องผีจากมุมของข้อมูลเท่านั้น
ผีแบบไหนปรากฏตัวบ่อยที่สุด?
ผีผู้หญิงมีอัตราการปรากฎตัวออกมากที่สุดคือ 18 ตนจากทั้งหมด 33 ตน หรือคิดเป็น 55% ของผีทั้งหมด ข้อมูลที่น่าสนใจคือ จากจำนวนผีผู้หญิงทั้งหมดนั้น มีจำนวนถึง 28% ที่เป็นผีผมยาว ส่วนเรื่องวัยของผีผู้หญิงนั้น ถึงส่วนใหญ่ผู้เล่าจะไม่ได้ระบุ (รวมไปถึงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัด) แต่ก็มีจำนวน 28% ที่บอกว่าเป็นผีผู้หญิงสูงวัย
สำหรับลักษณะการแต่งกายนั้นจะมีแตกต่างกันออกไป คือมี 2 ตนที่ใส่ชุดสีขาว – 1 ตนใส่ชุดนางรำ – 1 ตนใส่ผ้าถุง – 1 ตนใส่ชุดสีชมพู นอกนั้นคือระบุสไตล์การแต่งตัวที่แน่ชัดไม่ได้
ผีผู้หญิงแทบทั้งหมดจะมีร่างกายที่เป็นปกติเหมือนคนทั่วไป มีเพียง 2 ตนที่ ‘ผิดปกติ’ คือ ผียายแก่อุ้มถังแก๊ส ที่มีร่างกายผอมและตาเหลือกในเรื่อง ‘ถังแก๊ส’ ของคุณเต้ อีกตนคือผียายหม่วยที่มีจอบปักลงบนหัว ในเรื่อง ‘ยายหม่วย’ ของคุณกานต์
ลองมาดูที่ผีผู้ชายกันบ้าง มีทั้งหมด 15 ตน (45%) แทบทั้งหมดเป็นผีผู้ชายไว้ผมสั้น (มีเพียงตนเดียวที่ไว้ผมยาว) ร่างกายส่วนใหญ่เป็นปกติ อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้ก็พบว่าผีผู้ชาย 2 ที่ร่างกายแปลกออกไป เช่น มีผิวคล้ำ สภาพคล้ายศพ มีน้ำหนอง ดวงตาสีแดง ในเรื่อง ‘ประสบการณ์วัยรุ่นโชว์เหนือ’ ของคุณหนึ่ง รวมถึงผีเปตรที่คาดเดาได้ว่ามีร่างกายสูงลิ่วตามความเชื่อโบราณ ในเรื่อง ‘แค่จีวรกั้น’ ของคุณเหน่ง
เคยมีผู้วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรื่องเล่าเกี่ยวกับผีผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย มาจากสภาพความเป็นอยู่ของผู้หญิงในโลกความจริง ที่มักจะตกเป็น ‘ผู้ถูกกระทำ’ ในสังคม เมื่อตายไปแล้ววิญญาณจึงมักปรากฏในโทนที่หม่นเศร้า ในขณะที่ผู้ชายส่วนใหญ่จะมีฐานะ ‘ผู้กระทำ’ ทั้งในช่วงที่มีชีวิตและตายไปแล้ว เมื่อเป็นวิญญาณก็เลยจะเกรี้ยวกราดอยู่หน่อยๆ
**หมายเหตุ นอกจากผีที่ชัดเจนว่าเป็นเพศชายและหญิงแล้ว ยังมีผีที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ด้วยเช่นกัน โดยผีในกลุ่มนี้จะเป็นเงาดำมืด เห็นเป็นรูปร่างแต่ไม่ชัดเจน (กรุณานึกถึงเงาคนร้ายในการ์ตูนเรื่องโคนัน) ผีกลุ่มนี้ปรากฎในเรื่อง ‘ไม่เคยเลยจัดเต็ม’ ของคุณเบล และเรื่อง ‘หนีไปนอนข้างนอก’ ของคุณแฟรงค์**
จุดฮิต จุดเฮี้ยนผีไทย Where are you?
เกินกว่าครึ่ง (55%) ของผีไทยในเรื่องเล่าจะปรากฏตัวในบ้าน/ห้องพักส่วนตัว นั่นหมายความว่า หากผีมีอยู่จริง พื้นที่ที่เราอยู่แล้วสบายใจมากที่สุด ก็คือจุดที่เสี่ยงจะเจอผีมากที่สุดด้วยเช่นกัน โดยเรื่องราวส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในห้องนอน เช่น ผีอำบนเตียง ในเรื่อง ‘อยู่แทน’ ของคุณอาร์ม หรือไม่ก็ปรากฏตัวมานอนข้างๆ อย่างในเรื่อง ‘แบ่งกันนอน’ ของคุณปุ๊ก
อย่างไรก็ตาม สถานที่อื่นๆ ในบ้านนอกเหนือจากห้องนอนก็ใช่ว่าจะปลอดภัย ตัวอย่างเช่นผีในเรื่องเล่าของคุณมะเหมี่ยวที่ตามหลอกหลอนทั้งในห้องนั่งเล่น มีการออกไปเปิดประตูเอง หรือแม้แต่ใช้รีโมทกดเปลี่ยนช่องทีวี
สถานที่สุดเฮี้ยนรองลงมาจากบ้านคือโรงแรม/รีสอร์ท (10%) โดยมีสัดส่วนที่มีผีปรากฎอยู่ที่ นอกเหนือไปจากนั้น ก็จะแบ่งเป็นสถานที่อื่นรองลงไป เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน วัด บนถนน และห้องอัดเสียง (35%)
การหลอกแบบไหนที่ผีไทยนิยม
สถิติในเรื่องนี้ค่อนข้างหลากหลาย โดยพฤติกรรมการหลอกที่ปรากฏซ้ำกันคือ ‘ยืนมองเฉยๆ’ (14%) รองลงมาคือ ‘ผีอำ’ (7%) และ ‘รำไทย’ (7%)
ขณะที่ 72% ที่เหลือคือพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่ซ้ำกัน เช่น เดินทะลุบ้าน – ยกถังแก๊ส – เล่นดนตรีไทย – หัวเราะ – ยิ้ม – กอด – เดินไปมา – กวักมือเรียก – ขับจักรยาน – ทำไร่ทำสวน – ปรบมือ – ยิ้มปากฉีก – หมุนหัว ก็ได้รับความนิยมในระดับรองๆ ลงมา
การสำรวจครั้งนี้ ยังพบข้อมูลในเชิงพฤติกรรมที่น่าสนใจว่า ผีผู้ชายจะมีรูปแบบการหลอกผู้คนด้วยแนวทางที่ฮาร์ดคอร์กว่าผู้หญิง กล่าวให้ชัดคือ มีพฤติกรรมในเชิงแตะเนื้อต้องตัว ต้องการคุกคามชีวิตของผู้คนโดยตรง เช่น ผีผู้ชายในจังหวัดบุรีรัมย์ของคุณนุ่น ที่ตั้งใจขับรถมอเตอร์ไซด์ชนคนเพื่อหาตัวตายตัวแทน หรือผีผู้ชายในเรื่องของคุณหนึ่งที่เข้าบีบคอ และพยายามคุกคามทางเพศเจ้าของบ้านที่เป็นผู้หญิง
แตกต่างไปจากพฤติกรรมของผีผู้หญิงที่ส่วนใหญ่ ซึ่งจะหลอกหลอนผู้คนด้วยวิธีการไม่แตะเนื้อต้องตัวกัน เช่นปรากฏตัวขึ้นมาด้วยหัวเราะ ฟ้อนรำ หรือมีพฤติกรรมเหมือนคนทั่วไปคือเดินไปมาตามสถานที่ต่างๆ เช่นเดินไปมาในไร่นา หรือเดินให้เห็นผ่านๆ ในโรงพยาบาล (แต่ก็ยังมีกรณีที่รุนแรงสุดคือ ผีผู้หญิงที่ตั้งใจเอาชีวิตในเรื่องเล่าของคุณเทพ)
งานวิจัยเรื่อง ‘ภาพตัวแทนผีผู้หญิงในละครโทรทัศน์’ ของนิรินทร์ เภตราไชยอนันต์ (2550) อธิบายว่า ผีผู้หญิงมักถูกประกอบสร้างผ่านมุมมองแบบชายเป็นใหญ่ และมีกระบวนการทำให้ผีหญิงอ่อนแอลง รวมถึงข้องเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกจำกัดในกรอบความรัก ความงาม พรหมจรรย์ และความเป็นแม่ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อดำรงให้ผู้หญิงถูกกดสถานะเอาไว้ต่อไป แม้ว่าจะตายไปแล้วก็ตาม
ใจดีสู้ผีหรือวิ่งหนีเอาตัวรอด
พฤติกรรมสุดนิยมหลังจากเจอผีคือ ‘วิ่งหนี’ (31%) โดยการสำรวจครั้งนี้ขอนับรวมการหนีในรูปแบบต่างๆ เช่น ขับรถหนี เดินหนี วิ่งหนี เข้าไว้ด้วยกันเพื่อง่ายต่อการเข้าใจ รองลงมาคือ ‘ทำบุญอุทิศส่วนกุศล’ (21%) และ ‘สวดมนต์’ (10%) นอกจากนี้ยังมีวิธีการรับมืออันหลากหลาย ที่มีสัดส่วนน้อยลดหลั่นกันไป ไม่ว่าจะเป็น ขู่ว่าจะแช่งผี – นอนคลุมโปง – คล้องพระ – ตั้งสติ
สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ผู้ประสบพบเจอกับผีบางคน เลือกที่จะใช้วิธี ‘เจรจาต่อรอง’ กับผีโดยมีให้สัญญาที่พบกันครึ่งทาง เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขด้วยเช่นกัน ในเรื่องของคุณเอที่ไม่ได้ขอให้ผีหนีไปไหน แต่ขอให้อย่าหลอกหลอนแบบน่ากลัวเกินไป ขณะที่เรื่องของคุณเทพ ก็เจรจาต่อรองกับผีว่าจะไม่ใช้วิธีขับไล่ แต่จะตั้งศาลให้เพื่อจะได้ต่างคนต่างอยู่แบบ win-win ด้วยกันทุกฝ่าย
ไพร์มไทม์ช่วงเวลาหลอน เมื่อผีออกปรากฏกาย
ช่วงเวลาสุดฮิตในการเจอผีคือกลางคืน (74%) ซึ่งช่วงเวลาที่ผีปรากฏตัวมากที่สุดคือ หลังเที่ยงคืนถึงตีห้า (32% ของผีที่ปรากฏในตอนกลางคืน) นอกจากนั้นเป็นช่วงเวลากลางคืนที่ผู้เล่าไม่ได้ระบุรายละเอียด
มีคำอธิบายว่า เหตุผลที่ผีในเรื่องเล่าต่างๆ มักปรากฏตัวออกมาในตอนกลางคืน มาจากปัจจัยหลักๆ ไม่กี่เรื่องคือ (1) เพราะมนุษย์โดยธรรมชาติแล้วหวาดกลัวความมืดเป็นทุนเดิมมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เพราะเวลากลางคืนเราจะมองไม่เห็นสัตว์ร้ายต่างๆ ที่อาจเข้ามาทำร้ายเรา (2) เพราะเวลากลางคืน เรามองไม่ชัด เมื่อมองไม่ชัด สมองก็มีแนวโน้มที่จะปะติดปะต่อเรื่องราวในจินตนการเข้าไว้ด้วยกัน (3) เพราะเวลากลางคืนมักเกิดเรื่องเลวร้ายขึ้นบ่อยๆ สังคมเราเลยมักตีความว่า ผีจะชอบเวลากลางคืนเพราะกลางคืนคือช่วงเวลาอันชั่วร้าย
อย่างไรก็ตาม ผีในเรื่องเล่าผ่าน The Shock ก็ยังปรากฏตัวในตอนกลางวันด้วยเหมือนกัน (26%) ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง ‘อยู่แทน’ ของคุณอาร์ม ซึ่งผีผู้หญิงเอามือมาทาบด้านหลังตัวคุณอาร์มขณะที่นอนในห้อง รวมถึงเรื่อง ‘พี่รักหนูนะ’ ของคุณปัง ที่เจอกับวิญญาณคนรักเก่าในห้องพักช่วงตอนเย็นๆ
ประเด็นนี้สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง ‘ความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องเล่า สัมพันธบท และเภทกะในภาพยนตร์ผีไทย’ ของ ฉลองรัฐ เฌอมาลย์ชลมารค (2553) ที่พบว่า ผีในภาพยนตร์ไทยในยุคสมัยใหม่ ได้มีพัฒนาการด้านมิติของเวลาอย่างน่าสนใจ เพราะผีไม่ได้ออกมาหลอกในกลางคืนอีกต่อไป แต่เคลื่อนย้ายไปมาได้ทุกเวลา
สาเหตุการตายที่พบได้บ่อยครั้ง
จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ผีในเรื่องเล่าของ The Shock ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่ค่อนข้างหลากหลาย โดยมีถึง 83% ที่เป็นกรณีค่อนข้างเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็น ตายเพราะอุบัติเหตุ ตายเพราะรถชน หนีออกจากห้องที่ไฟไหม้ไม่ทัน เกิดเหตุตึกถล่ม ถูกฆาตกรรม โดนไฟดูด และเป็นวัณโรค
สาเหตุการตายที่พบได้รองมา และเกิดขึ้นซ้ำๆ กันคือ การฆ่าตัวตาย (10%) โดยแบ่งเป็นสองประเภทย่อยคือกระโดดตึกและแขวนคอตาย รองมาคือทำแท้ง (7%)
เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยๆ เมื่อมีเรื่องเล่าสยองขวัญเกิดขึ้น ผู้ที่เจอกับภูตผีต่างๆ ก็มักจะตามหาต้นตอสาเหตุให้ได้ว่า ผีเหล่านั้นเขามีอันเสียชีวิตเพราะเหตุใด ในทางจิตวิทยา เราอาจให้คำอธิบายความต้องการหาเหตุผลให้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ได้ด้วยทฤษฏี ‘Cognitive Dissonance’ กล่าวคือ เมื่อมนุษย์พบเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อเดิม วิธีหนึ่งที่เราเลือกรับมือคือพยายามหาข้อมูลใหม่ๆ ให้เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความเชื่อดั้งเดิมว่าถูกต้องแล้ว
ในกรณีของเรื่องผีนี้ เมื่อผู้คนเจอผีก็มักจะหาเหตุผลมารองรับว่า ผีมันมีอยู่จริงๆ เช่น เพราะอะไรถึงถูกผีหลอก หรือ ผีที่เจอนั้นเป็นใครมาจากไหน
ข้อมูลที่เราหาเหล่านี้จะช่วยให้จิตใจเราคลี่คลายความกังวลได้ในระดับหนึ่ง เพราะเชื่อว่าเรื่องราวมันสมเหตุสมผลแล้ว