“ถ้าใครเหงาๆ หว่องๆ ไม่มีสาวลอยกระทงด้วย เดี๋ยวพอเริ่มงานนะ ให้ตะโกนเรียกเลยว่าสาวคนไหนชื่อ ‘แก้ว’ บ้าง”
“ทำไม?”
“ก็เพลงบอกไว้ไงว่า ลอยกระทงกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง”
นี่คือบทสนทนาแรกเมื่อเราเจอกับ ‘แครส – อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ’ ที่ท่าพระจันทร์ในวันลอยกระทง จุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากรู้จักผู้ชายคนนี้คือ ‘ผจญไทยในแดนเทศ’ หนังสือประวัติศาสตร์ที่หลายคนยกให้เป็นหนังสือน่าอ่าน อยากอ่าน และอ่านแล้วไม่ง่วง
นอกจากเป็นนักเขียนหนังสือแล้ว เรายังพบว่าเขาเป็น ‘เกรียนประวัติศาสตร์’ ที่เล่าได้สนุกทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องอดีต ปัจจุบัน ยันอนาคต พร้อมคำติดปากเรียกเสียงหัวเราะตลอดการสนทนาว่า “บกมาก!” และนี่คือบทสนทนาว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์ที่ (โคตร) สนุก สาระในความไร้สาระ ความเป็นอมตะของความสมัยใหม่ในความเก่า และความหมายของคำว่า ‘บก’ ที่เขาชอบพูดอยู่เรื่อยๆ รวมถึงว่าเกรียนประวัติศาสตร์อย่างแครส จะเขียนบันทึกถึงนายกฯ ว่าอะไร
The MATTER : มีอะไรใน ’ผจญไทยในแดนเทศ’
แครส : เป็นเรื่องที่เราสั่งสมไว้จากที่อ่านเจอในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หรือเห็นเรื่องราวต่างๆ แล้วเอามาอธิบายด้วยประวัติศาสตร์ เอามาเล่าให้สนุก
เราเองชอบเรื่องคนไทยที่ไปอยู่ในประวัติศาสตร์สำคัญๆ ของโลกอยู่แล้ว ปกติก็จะคิดเล่นๆ อย่างตอนดูหนังไททานิก ก็จะคิดว่า เอ๊ะ มีคนไทยรึเปล่า? หรืออย่างอันนี้ไม่ได้อยู่ในเล่มนะ อย่างบางคนถามว่าทำไมแอร์โฮสเตสถึงต้องสวย ก็อธิบายด้วยประวัติศาสตร์ได้ ว่าในยุคแรกเริ่ม คนเดินทางส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย พอขึ้นเครื่องบินพาณิชย์ ได้เดินทางบนอากาศกันครั้งแรกก็เกิดกลัวความสูง บริษัทก็ต้องคิดกุศโลบายทำให้ผู้โดยสารผู้ชายหายกลัวความสูง ก็ต้องให้เห็นผู้หญิงสวยไง จะได้ ว้าว! แล้วลืมความกลัวไปชั่วขณะ
จริงๆ แล้ว หลายเรื่องในเล่มผจญไทยฯนี้เป็นเรื่องเคร่งเครียดนะ เป็นสงคราม เป็นประวัติศาสตร์การเมือง แต่เราเป็นคนชอบอ่านวรรณกรรม แล้วเราก็อ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้วยสายตาวรรณกรรม มันเลยทำให้เราเห็นว่าท่ามกลางความเคร่งเครียดของสถานการณ์ มันมีความเป็นมนุษย์อยู่ด้วย
อย่างมีเรื่องนึง เป็นเรื่องของนายทหารที่ไปเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น เหตุการณ์นั้นเป็นเรื่องที่ซีเรียสและหดหู่มาก แต่พออ่านจดหมายที่เขาเขียนถึงภรรยาเขาที่เมืองไทยทำนองว่า “ถ้ามีเงิน ก็อยากให้ได้มาดูดอกซากุระด้วยกันที่นี่” มันกลายเป็นเรื่องโรแมนติกไปเลย หรืออย่างการที่เขาเขียนว่า ‘ถ้าเรามีเงินเท่านั้นเท่านี้’ นี่ก็สะท้อนไปถึงสภาพเศรษฐกิจสังคมสมัยนั้นได้เลย
The MATTER : เวลาที่เกิดความสงสัย มีวิธีการค้นคว้าต่อไปยังไง (อย่างว่ามีคนไทยอยู่บนเรือไททานิกรึเปล่า)
แครส : ส่วนใหญ่ก็ใช้หนังสือเก่าๆ ทั้งของตัวเอง และไปค้นในหอสมุดแห่งชาติ แล้วก็จะมีทั้งแบบเจอโดยบังเอิญกับเจอเพราะตั้งใจ อย่างกรณีของไททานิก ก็ประเมินดูก่อนว่าข้อมูลน่าจะอยู่ตรงไหน เริ่มค้นจากชื่อเรือ ก็ไม่เจอ แต่ไปเจอว่ามีมิชชันนารีที่เคยสอนหนังสือในเมืองไทยอยู่บนเรือไททานิกด้วย เราก็เริ่มเห็นความเชื่อมโยง แล้วก็ตามรอยมิชชันนารีคนนี้ต่อว่ามีความผูกพันกับคนไทยยังไงบ้าง เลยเจอหนังสือเกี่ยวกับพระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ (ที่ตอนนั้นยังเป็นหม่อมเจ้าอยู่) ปรากฏว่าช่วงที่ท่านต้องเดินทางไปอเมริกา เป็นช่วงเวลาเดียวกับไททานิกอับปางเลย สุดท้ายก็ไปเจอบันทึกที่ลูกสาวท่านเขียนไว้ สรุปก็เจอคนไทยที่เกือบจะได้ขึ้นเรือไททานิก แต่ว่าไม่ได้ขึ้นไปจริงๆ
The MATTER : ความจริงในประวัติศาสตร์มีเพียงหนึ่งเดียวหรือเปล่า แล้วมีวิธีจัดการกับข้อมูลที่หลากหลาย และบางทีก็อาจจะขัดแย้งกันเองยังไง
แครส : เราเลือกดึงความเหมือนกันของข้อมูลจากหลายๆ เรื่องมาก่อน เอามาวางไว้เป็นโครงเรื่อง เป็นกระดูก แล้วเอาข้อมูลอื่นๆ มาเติมเนื้อหนัง บางส่วนที่ดูเหมือนไม่จำเป็นก็ต้องเก็บไว้ก่อน เหมือนหยอดกระปุกออมสินเผื่อไว้ใช้ในจังหวะที่เหมาะๆ ส่วนถ้าเวลาเจอหลักฐานที่แย้งกับโครงเรื่องที่วางไว้ เราต้องแยกออกมา แล้วก็ยกมาเล่าประกอบ
ว่ากันจริงๆ เราไม่รู้ความจริงที่เกิดขึ้นตอนนั้นหรอก เพราะมันเป็นอดีต แต่เราว่าการเห็นแย้งกันเป็นเสน่ห์นะ
เหมือนในตอนที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวกำลังจะแต่งงานกัน ทุกคนในพิธีเห็นชอบหมดเลย แล้วอยู่ดีๆ มีเจ๊คนนึงบุกเข้ามาตะโกนว่า ไม่! ไม่ให้แต่ง ความไม่ราบรื่นก็เป็นความน่าสนใจไปอีก แล้วเราก็อาจจะไปหาเรื่องราวของเจ๊นี่มาเล่าในอนาคตได้อีก
อย่างในเล่มนี้ก็มีเรื่องนายทวี บุณยเกตุ คนจะรู้จักเขาว่าเป็นนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุด หรือคนสนใจทางสายการเมืองหน่อย ก็จะบอกว่าเป็นคนที่อ่านประกาศลาออกของจอมพล ป. ตอนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เรากลับสนใจเรื่องชีวิตประจำวันทั่วไปของนายทวีมากกว่า เราเคยอ่านเจอว่าเขาเคยไปเรียนที่ยุโรป ระหว่างทางเรือแวะจอดโคลอมโบ ศรีลังกา เขาขึ้นไปเที่ยวบนฝั่ง นั่งแท๊กซี่แล้วโดนปล้น โดนจับมัดไว้ข้างถนนด้วย อีกเรื่องหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยทางด้านกสิกรรมในฝรั่งเศสที่นายทวีไปเรียน ชื่อในภาษาฝรั่งเศสก็แปลกๆ แต่เราก็เลือกจะเล่าเรื่องโดยยึดตามที่มีบันทึกเอาไว้ในหนังสืองานศพของเขา แล้วอาจจะตามสืบให้แน่ชัดอีกทีเกี่ยวกับสถานศึกษาของเขาต่อไป
จริงๆ เรื่องคนไทยไปเรียนนอก มีรายละเอียดน่าสนใจเยอะ แล้วก็มีเสียงแย้งว่าไปเรียนจริงๆ รึเปล่า มีกรณีหนึ่ง อันนี้ไม่อยู่ในเล่ม เรื่องของ ส. ธรรมยศ นักคิดนักเขียนคนสำคัญของไทย เขาบอกว่าเขาได้ทุนการศึกษาไปเรียนวิชาปรัชญาเป็นคนแรกๆที่ฮานอย สมัยนั้นยังเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส แต่ก็มีคนร่วมสมัยกับเขาบอกว่าจริงๆ มิใช่ได้ทุนไปเรียน เขาแค่ตามไปเป็นคนขับรถที่เวียดนาม เนี่ย ในประวัติศาสตร์ มันก็จะมีเสียงแย้งๆแบบนี้ให้เห็นตลอด ซึ่งน่าสนใจ น่าติดตามสืบค้น
หรืออย่างเรื่องเกี่ยวกับฝรั่งเศสในผจญไทยฯเล่มนี้ บอกว่ามีนักเรียนไทยไปเรียนที่ปารีสในสมัยพระนารายณ์มหาราชหรือตรงกับสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ชื่ออังตวน ปินโต ในข้อมูลจากบันทึกทางประวัติศาสตร์เล่มหนึ่งบอกว่าพ่อของเขาเป็นชาวเบงกาลี แต่อีกเล่มบอกว่าพ่อเขาเป็นชาวโปรตุเกส ในผจญไทยฯ เราเลือกเขียนว่าเป็นชาวโปรตุเกส เพราะดูจากหลักฐานหลายๆ ชิ้นประกอบกัน ซึ่งเอาจริงๆ ประเด็นนี้ก็อภิปรายกันได้ยาวๆ ว่าตกลงควรจะเป็นเบงกาลีหรือโปรตุเกสกันแน่ คงจะต้องไปค้นคว้าต่อไปให้ชัดเจน
The MATTER : ถ้ามีคนหาหลักฐานมาบอกว่างานที่คุณเขียนมีข้อมูลผิดหรือล้าสมัย
แครส : อ๋อ ปกติเลย เราไม่ซีเรียส ข้อมูลมันมีหลากหลายชุด ความสนุกของประวัติศาสตร์มันอยู่ตรงนี้แหละ มันสนุกในแง่ที่ว่ามันไม่เหมือนประวัติศาสตร์ที่เราท่องเด็กๆ อะ มันเหมือนเราเชื่อไปเลย มันก็เลยน่าเบื่อไง แต่พอประวัติศาสตร์มันสามารถเถียงได้ มันก็ดูมีเสน่ห์ เรารู้สึกว่านี้คือชีวิตนะ มันมีชีวิตอยู่เรื่อยๆ เพราะมีคนเสนออะไรใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ
จริงๆ ก็จะยินดีมากถ้ามีใครอ่านผจญไทยฯแล้วไปตามหาตามค้นต่อ แล้วเสนอประเด็นใหม่ๆยิ่งไปกว่าเรา เป็นเรื่องน่าสนุกนะ ที่เราใส่อ้างอิงไว้ท้ายเล่มก็เพราะเผื่อมีใครอยากไปตามต่อ ไปค้นเอง ไปอ่านเอกสารชั้นต้นเอง มีคนบอกว่าได้แรงบันดาลใจจากเล่มนี้ จะไปทำผจญไทยในอาเซียน เราฟังแล้วยังชอบเลย อยากอ่านงานของเขาบ้าง คืออยากได้ยินเสียงคนอ่าน ไม่อยากให้เชื่อเราหมด เพราะเราก็อธิบายตามหลักฐานเท่าที่เรามี เท่าที่เราค้นพบ ถ้าเขามีข้อมูลมีหลักฐานอะไรที่เซ็กซี่กว่าก็เสนอมาได้ เรายินดีรับฟังอย่างตื่นเต้น
ในวงวิชาการนี่เป็นเรื่องปกติเลย สำหรับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ การถูกท้วงติงว่ามันจริงแค่ไหนอย่างไร บางครั้งถามว่าเจ็บปวดไหม โดนถล่ม ก็เจ็บปวดนะ เราอุตส่าห์ไปหามา ค้นแล้วค้นอีกกว่าจะพบข้อมูล แต่เราก็ต้องทำใจอะ แต่มันก็มีหลายแบบ ทั้งแบบถล่มเราเพราะว่าสะใจ หรือถล่มเสร็จมาโอบกอดนี่ก็มีนะ ถล่มแล้วโอบกอดหมายความว่าเขาปรารถนาดีอะ ซึ่งถ้าเราทำความเข้าใจสิ่งนี้ได้ เราก็จะอยู่ในสังคมบกๆ นี้ได้เหมือนกัน
The MATTER : ‘บก’ คืออะไร ช่วยขยายความหน่อย
แครส : อันนี้จะเล่าเป็นประวัติศาสตร์เลยนะ ‘บก’ เป็นคำในภาษาใต้เดิมที หมายถึงพื้นที่บก พื้นที่ที่ไม่ติดทะเล ไม่ติดแม่น้ำ ในสมัยโบราณ พื้นที่ที่ติดทะเลจะเจริญ เป็นเมืองท่า ส่วนพวกที่อยู่พื้นที่บก พวกนี้คล้ายๆ ว่าไม่ทันข่าวสาร ไม่ทันสมัยเท่าไหร่ หลายคนก็เข้าใจไปว่าคำนี้หมายถึง เด็กบ้านนอก เด็กบ้านๆ ในบางจังหวัดทางภาคใต้ยังมีกลุ่มคนที่เรียกว่า “ชาวบก” ด้วย ถ้าจะให้เล่ารายละเอียดจริงๆ นี่แทบจะเขียนหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์บก’ ได้เลย
แต่ทีนี้การที่เราเอามาใช้ เราไม่ได้ใช้ในแง่ว่าคุณบกมาก เราไม่ได้บอกว่าคุณไม่เจริญมากนะ เราแปลงมาใช้ให้กลายเป็นว่า คือถ้อยคำหยอกล้อในกลุ่มเพื่อนฝูง มีกลิ่นอายประวัติศาสตร์แบบเดิม ใช้เป็นคำเย้าแหย่ เป็นคำอุทานอย่างอารมณ์ดีไว้แซวมิตรสหาย เหมือนไอ้บ๊องเอ๊ยอะไรแบบนี้ เหมือนกับบอกว่าเขาไปท่าพระจันทร์กันแล้ว นี่ยังไม่ได้ขึ้นรถตู้รังสิตเลย บกมาก! เหมือนคุณมาไม่ทันอะ แล้วจริงๆ เราเองก็บกนะ
แต่ที่เราบอกว่าสังคมบกๆ ก็คือเราพูดขำๆถึงสังคมทุกวันนี้แหละ คนชอบทะเลาะถกเถียงแบบไม่ค่อยฟังเหตุผลกันเท่าไหร่ แล้วก็โกรธกันเลย การถกเถียงกันเป็นสิ่งที่ดี และจะนำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆได้ แต่ข้อสำคัญคือ เราต้องตั้งใจรับฟังเหตุผลคนอื่น แล้วเสนอเหตุผลของเรา เราเองอยากให้คนรู้สึกสนุกสนานกับการใช้เหตุผลมากกว่า ไม่ใช่พอเอ่ยปากพูดเรื่องไม่ตรงกัน อ้าว โกรธกันแล้วแฮะ และ ถ้าเราเปิดใจให้กว้าง เราก็อยู่ในสังคมบกๆได้สบายๆ อันที่จริง คำว่า ‘บก’ มีน้ำเสียงแห่งมิตรภาพนะ ไม่ใช่คำด่า หรือ hate speech ‘บก’ ให้อารมณ์เดียวกับ เอ้า เฮ้ย ทำไมทำอย่างนั้นเนี่ย แต่ก็มองอย่างขำๆ นะ มิได้กราดเกรี้ยว การที่คุณเป็นคนบก มิได้หมายความคุณทำผิดอะไร คือเหมือนคุณสร้างความฮา
The MATTER : ความสนุกของประวัติศาสตร์อยู่ตรงไหน
แครส : สำหรับเด็กไทยหรือคนไทยส่วนใหญ่ พอพูดถึงประวัติศาสตร์จะนึกถึงเรื่องน่าเบื่อ เรื่องในอดีต นึกถึงอิฐเก่าที่อยุธยา นึกถึงซากปรักหักพัง แต่เราไม่ได้มองแบบนั้น จริงๆ ประวัติศาสตร์มันเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันเรานี่แหละ อย่างเราคุยกันวันนี้ พรุ่งนี้ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์แล้ว ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ให้เป็นชีวิตประจำวัน ไม่ได้มองให้มันขรึมขลังอลังการ มันก็เป็นเรื่องสนุกได้
เราเคยคุยกับเด็กฝรั่ง เด็กฝรั่งชอบประวัติศาสตร์กันเยอะ เพราะเขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน พูดง่ายๆ อย่างมีน้ำโค้กขวดนึง นอกจากเราจะดื่มโค้กแล้ว ถ้าเราฉุกนึกขึ้นมาด้วยว่า น้ำดำนี่มีที่มาอย่างไร เกี่ยวกับข้องอะไรกับประวัติศาสตร์โลกบ้าง โอ้ เริ่มสนุกแล้ว มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อ ‘ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว’ (A History of the World in 6 Glasses) พิมพ์ออกมาหลายปีแล้ว มีแปลภาษาไทย ใครสนใจไปหาอ่านได้นะ อธิบายประวัติศาสตร์โลกผ่านแก้วเบียร์ แก้วไวน์ แก้วเหล้า แก้วกาแฟ แก้วชา และแก้วโค้ก เด็กๆอ่านก็รู้สึกว่า เฮ้ย ไอ้ที่เรากินๆ นี่มีความเป็นมา มีอะไรน่าสนใจ
The MATTER : ทำไมถึงสนใจเรื่องเก่าๆ กลัวคนมองว่าไม่เท่ ไม่คูลไหม
แครส : จริงๆ เราไม่ได้ชอบอะไรที่เก่าๆ นะ แต่เราชอบความรู้สึกสมัยใหม่ในงานเก่าๆ เราสนใจยุคที่ประเทศไทยเริ่มเข้าใจความเป็นโมเดิร์น ชอบความรู้สึกที่คนตื่นเต้นกับอะไรใหม่ๆ อย่างเรื่องที่กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกวซ (ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’) ให้สัมภาษณ์เล่าไว้ในนิตยสาร Playboy ถึงตอนที่เขาเห็นน้ำแข็งครั้งแรกที่บริษัทยูไนเต็ดฟรุตส์ ในประเทศโคลอมเบีย แล้วลองเอามือไปจับเล่น เขาร้องว่าร้อนจังเลย เพราะเห็นไอเห็นควันขึ้นที่มือด้วย แต่คุณตาของเขาก็บอกว่า มันไม่ใช่ความร้อนนะ นี่คือความเย็น โห เราอ่านแล้วเราฟินอะ! เป็นครั้งแรกที่มาร์เกซรู้จักความเย็น ซึ่งในประวัติศาสตร์ไทยก็มีความฟินแบบนี้อยู่เยอะ ชาวสยามตื่นเต้นกับปรากฏการณ์ใหม่ๆ
คือมันเป็นเรื่องในอดีตก็จริง แต่มีความสมัยใหม่อยู่ในเนื้อหาของมัน
อีกหน่อยพอเด็กรุ่นนี้โตขึ้น เขาก็น่าจะฟินกับเรื่องที่พวกเราบันทึกไว้ อย่างความรู้สึกตอนได้กินคริสปี้ครีมครั้งแรกหลังจากต่อแถวซื้ออยู่นาน เรื่องแบบนี้แหละ เป็นความสมัยใหม่ในอดีตที่เป็นอมตะ พอได้รู้ได้อ่านแล้วจะรู้สึกว่าแช่มชื่น มีความสดใหม่อยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์มันไม่ใช่แค่เรื่องอดีต ประวัติศาสตร์จริงๆ มีอยู่ครบถ้วนเลยนะ ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต การเรียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่การเรียนรู้อดีตแล้วเราฟินกับอดีต แต่เราเรียนรู้ว่าเหตุนี้ที่เกิดขึ้นในอดีต มันต่อเนื่องอย่างไรมาสู่ปัจจุบัน แล้วจะส่งผลไปในอนาคตยังไงบ้าง
อย่างที่ทุกวันนี้เขามีเต้นออกกำลังกายวันพุธ เรารู้ด้วยว่าทำไมเขาถึงเต้นออกกำลังกายวันพุธ เพราะสมัยจอมพลป. เขาก็เต้นวันพุธอะ มีบันทึกไว้ชัดเจนเลย แต่เขามีอเจนด้านะ ยุคนั้นเขาไม่ได้ออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงแล้วเรามาเซลฟี่กล้าม แต่ร่างกายแข็งแรงเพื่อเป็นกำลังของประเทศชาติ
เออ.. แต่มันออกตอนบ่าย เราว่ามันไม่คูลนะ มันฮ็อตอะ
The MATTER : ไหนๆ พูดถึงนโยบายออกกำลังกายของนายกฯ แล้ว ถ้าจะบันทึกประวัติศาสตร์ของ ‘ลุงตู่’ จะเล่าเรื่องอะไร
แครส : ในยุครัฐบาลลุงตู่ มีเรื่องน่าสนใจและน่าศึกษาทางประวัติศาสตร์เยอะมาก เราเชื่อว่าต้องมีคนบันทึกไว้แน่ๆ หลายแง่มุมด้วย แต่เราสนใจประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรม และเรื่องความบันเทิงทางสังคม พอเห็นคนรุ่นใหม่แซวลุงผ่านการแต่งเพลงบ้าง ขนาดเพลงคุกกี้เสี่ยงทายของสาวๆ BNK 48 ก็ยังเอาไปแต่งเลย ใช้ศิลปะเป็นรูปภาพบ้าง เออ พวกนี้ก็ดูฮาๆ มีความบกๆ ดี มองประวัติศาสตร์แบบนี้สนุก เราก็อาจบันทึกความบกๆ อะไรพวกนี้แหละ
พอพูดถึงนายกรัฐมนตรี คนจะนึกภาพเขายึดโยงกับการเมือง ที่จริง เขายังมีความน่าสนใจอีกหลายด้าน อย่างเช่น นายกฯ แต่ละคนชอบฟังเพลงอะไร จอมพล ป. ชอบเพลง ‘ยังจำได้ไหม’ ของรวงทอง ทองลั่นทม ปรีดีชอบเพลง ‘ขับไม้บัณเฑาะว์” กับ ‘J’ai deux amours’ จอมพลสฤษดิ์ชอบเพลง ‘เย้ยฟ้าท้าดิน’ ชวน หลีกภัยชอบเพลงลูกทุ่ง ‘สาวผักไห่’ แล้วพอดูจากการฟังเพลงก็ทำให้เรามองเห็นภาพนายกฯ ในอีกรูปแบบหนึ่งได้ด้วย ลุงตู่เองก็ถูกพูดถึงเกี่ยวกับเพลงเยอะ แกชอบแต่งเพลงด้วย อย่างที่ลุงตู่ไปขอนแก่น แล้วบอกว่าให้ฟังรัฐบาลบ้าง อย่ามัวฟังหมอลำ ไม่ให้ฟังหมอลำ ก็มีคนไปแซวลุงแกเยอะ แต่เราว่าลุงตู่แกเป็นคนฟังเพลงลูกทุ่งนะ แล้วแกฟังสายัณห์ (สายัณห์ สัญญา) เพราะแกชอบพูดบ่อยว่า รักน้อยๆแต่รักนานๆ เราก็เลยแนะนำว่าลุงตู่ควรจะฟังพวกพนม นพพร ฟังให้มันเข้ากับจังหวัดที่ไป อย่างไปขอนแก่น ฟังต้อย หมวกแดง ฟังฮักสาวขอนแก่น ฟังสาวอีสานรอรัก เพลงลูกทุ่งมันอธิบายสังคมได้ การที่คุณจะคุยกับคนรู้เรื่องอะ คุณต้องดูว่าพื้นที่ที่จะไปคุยมันเป็นยังไง
The MATTER : สุดท้าย คิดว่าลุงตู่เป็นคนตลกไหม
แครส : เราว่าแกตลกในแง่ของแกก็เป็นลุงคนหนึ่ง เราเป็นแฟนคลับและเป็นพวก ‘ซอมเบิ่งอยู่เด้อ’ น้องลำไย ไหทองคำ น้องลำไยบอกว่าลุงตู่เป็นคนตลก เราก็ว่าคงตลกมั้ง ก็เห็นผู้สาวขาเลาะเธอบอกแบบนั้น