ด้วย COVID-19 รายการสำคัญๆ ระดับโลกก็ถูกเลื่อน ในระดับโลก หลายประเทศก็ถือว่าการระบาดเริ่มคลี่คลาย งานที่เลื่อนๆ มาก็จะเริ่มกลับมาจัดตามกำหนดอีกครั้ง และแน่นอนว่า World Expo งานแสดงนวัตกรรมและตัวตนระดับโลกที่เลขปีเป็นปีที่แล้วคือ Dubai Expo 2020 กำลังจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2021 นี้
ไม่ต้องอ้อมค้อม งาน World Expo ถือเป็นงานใหญ่ เป็นเวทีระดับโลกที่ประเทศต่างๆ จะเข้าไปจับจองพื้นที่และสร้างเป็นพาวิลเลียนชั่วคราวขึ้น เจ้าพาวิลเลียนส่วนใหญ่ด้วยความเป็นพาวิลเลียนประจำชาติ ตัวมันเองก็เลยเป็นสิ่งที่ชาติต่างๆ เข้าไปแสดงตัวตัว แสดงจุดยืน และเป็นพื้นที่สื่อสารผ่านสถาปัตยกรรมและงานออกแบบหรือสารภายในที่สื่อผ่านทั้งพื้นที่และนิทรรศการที่ถูกออกแบบขึ้นในพื้นที่ชั่วคราวนั้น ซึ่งไทยพาวิลเลียนก็อยู่ในความสนใจทั้งจากชาวไทยและในสายตาของสื่อต่างชาติ
ถ้าเราพูดถึงในมิติของชาตินิยม เวที World Expo นี่แหละที่เป็นหนึ่งในเวทีร่วมสมัยที่ชาติต่างๆ จะขนเอาความคิด เอาเทคโนโลยีการก่อสร้าง หลายครั้งงานสถาปัตยกรรมที่ดูชั่วคราวนี้ก็กลายเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมใหม่ๆ ให้กับวงการการออกแบบและนวัตกรรมระดับโลก เช่น หอไอเฟลจากเอ็กซ์โปที่ปารีส โครงสร้างเหล็กและกระจกของ Crystal Palace จากงานที่ลอนดอนในปี ค.ศ.1851 หรือโครงสร้างทรงกลมที่กลายเป็นจุดเริ่มความนิยมในการสร้างสถาปัตยกรรมโดมกระจกทรงกลมของ Montreal Biosphere ส่วนหนึ่งของเอ็กซ์โปในปี ค.ศ.1967 หรือที่โอซากะก็มีเจ้าสถาปัตยกรรมทรงประหลาดที่เราเห็นในเรื่อง 20th Century Boy สัญลักษณ์ของการเข้ามาของโลกสมัยใหม่ในพื้นที่แถบคันไซของญี่ปุ่น
ระยะหลัง ไฮไลต์หนึ่งที่ทั่วโลกจับตาก็คือเหล่า national pavilion ว่าในรอบห้าปีนี้แต่ละประเทศจะมีนวัตกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ มีงานออกแบบอะไรมาอวดบนเวทีใหญ่ในนามเวทีโลกแห่งนี้ ในอีกด้านงานนี้ก็เป็นเหมือนหมุดหมายที่ประเทศต่างๆ จะมาร่วมกันแสดงทิศทางและแสดงจุดยืนในฐานะตัวแทนของมนุษยชาติว่าแต่ละชาตินั้นกำลังสนใจอะไร คิดค้น ค้นพบ หรือกำลังมุ่งหน้าไปทางไหน
เพื่อต้อนรับงานเอ็กซ์โปทีกำลังจะมาถึง The MATTER เลยจะชวนไปดูพาวิลเลียนต่างๆ โดยเฉพาะจากชาติทางเอเชียว่า เออ แต่ละประเทศนั้นนำเสนอตัวตนร่วมสมัยอย่างไร ให้ความสำคัญกับอะไร และมีงานออกแบบที่น่าตื่นตาตื่นใจยังไงบ้าง แน่นอนว่าพาวิลเลียนของเอเชียก็ทัดเทียมระดับโลก งานของญี่ปุ่นที่ทั้งเรียบง่าย ถ่อมตัว แต่ก็แสดงนวัตกรรมแบบเวรี่ญี่ปุ่นคือใช้องค์ประกอบสถาปัตยกรรมอาหรับเข้าไว้ในเทคนิกกราฟิกโบราณเป็นเปลือกอาคารเพื่อให้เกียรติเจ้าบ้าน หรือสิงคโปร์เมืองแห่งสวนก็สร้างสวนยักษ์ขึ้นในอาคารชั่วคราว พูดเรื่องภาวะ climate change และการรับผิดชอบต่อลูกหลาน มาเลเซียสร้างอาคารแบบซีโร่คาร์บอน ฟิลิปปินใช้ปะการังมาออกแบบและพูดถึงคนฟิลิปินที่กระจายอยู่ทั่วโลก เกาหลีสร้างสเตเดียมเพื่อสะท้อนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและวัฒนธรรม K-pop
Singapore Pavilion
สิงคโปร์คือเมืองแห่งนวัตกรรม เป็นเมืองที่สร้างจนกลายเป็นเมืองกลางสวน และแน่นอนในพาวิลเลียนของสิงคโปร์ในปีนี้ สิงคโปร์ก็ยังสืบสานความเป็นเมืองแห่งธรรมชาติไว้ภายใต้คอนเซปต์ Nature. Nurture. Future คือ โอเค สิงคโปร์ทำให้เราเห็นว่าเมืองธรรมชาติไปด้วยกันได้มานานแล้ว ล่าสุดดูเหมือนว่าสิงคโปร์พยายามทำคือการผสานอดีตเข้ากับปัจจุบันและอนาคต การพูดถึงประชาชน พูดถึงความรับผิดชอบ และนัยหนึ่งของพาวิลเลียนในครั้งนี้สิงคโปร์พูดถึงการก้าวไปยังอนาคต การสร้างเมืองที่เน้นคุณภาพชีวิตที่มีธรรมชาติ สถาปัตยกรรม และเทคโนโลยีหลอมรวมกันอันเป็นการปูอนาคตให้กับอนุชนคนรุ่นหลังและรอดผ่าน climate change ไปได้
ตัวสถาปัตยกรรมของพาวิลเลียนก็แน่นอนคือการเนรมิต และใช้ภาษาสถาปัตยกรรมที่สร้างอาณาจักรธรรมชาติขึ้นกลางดูไบ หลักๆ แล้วจะเน้นประสบการณ์การจมเข้าไปสู่ธรรมชาติ องค์ประกอบสำคัญของพาวิลเลียนจะเป็นภูเขาน้อยทรงกรวย 3 กรวยที่จะปกคลุมไปด้วยพืชพรรณและกล้วยไม้อันเป็นความภูมิใจของสิงคโปร์รวมกว่า 170 สายพันธุ์ ในแง่ของการเยี่ยมชม ผู้ชมจะได้ค่อยๆ เดินขึ้นไปเป็นส่วนๆ โดยรวมแล้วก็จะมีสวนด้านล่าง ค่อยๆ นำขึ้นสู่ดาดฟ้า บนดาดฟ้าก็แสดงนวัตกรรมว่าพาวิลเลียนเนี้ยมันให้พลังงานกับตัวเองได้ มีระบบโซลาร์เซลล์จากกระจกใส ไปจนถึงตัวพาวิลเลียนที่โชว์ว่าพืชพรรณและป่าจำลองสามารถลดอุณหภูมิภายใน 6– 10 องศาจากภายนอกได้ในทันที
Japan Pavilion
น้อยแต่มากคือญี่ปุ่นนี่เอง ญี่ปุ่นถือเป็นชาติที่แน่นอนว่าเป็นแนวหน้า และมีจุดยืนปรัชญาที่หนักแน่น แถมมาพร้อมการโชว์ศักยภาพทั้งงานออกแบบและเทคโนโลยีแบบที่ อวดแหละ แต่ถ่อมตัว สำหรับญี่ปุ่นตัวพาวิลเลียนของญี่ปุ่นทำตัวเสมือนเป็น ‘ของขวัญ’ และแสดงถึงความ ‘อ่อนน้อมถ่อมตน’ ที่ญี่ปุ่นแสดงความเคารพต่อวัฒนธรรมของตะวันออกกลางหรือเจ้าบ้าน ด้วยการที่ญี่ปุ่นผสานเอาองค์ประกอบทางการออกแบบของตะวันออกกลางเข้ากับงานกราฟิกโบราณของญี่ปุ่นจนกลายเป็นผิวอาคารที่เรียบง่าย สวยงาม และมีความหมายลึกซึ้งอย่างที่เห็น
แกนหลักของพาวิลเลียนญี่ปุ่นคือเปลือกอาคารรูปทรงสามมิติที่ผสานเข้าหากัน การแตะกันจนเป็นรูปทรงนี้ได้แรงบันดาลใจจากภาษาสถาปัตยกรรมอาหรับที่จะมีการแต่งซุ้มประตูด้วยไม้ฉลุให้แสงลอดเข้าอาคารได้ ทางผู้ออกแบบจึงเอาองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมอาหรับเข้าผสานกับกราฟิกแบบ Asanoha patterns ลวดลายแบบเรขาคณิตที่เราอาจเคยเห็นบนลายผ้าหรือลายกระดาษ ทั้งนี้ตัววัสดุที่ใช้ที่เป็นวัสดุนิ่มก็ล้อกับการห่อของขวัญ ดังนั้นอาคารนี้ก็เลยเป็นเหมือนกับของขวัญที่ยืนยันประวัติศาสตร์และความเกี่ยวข้องอันยาวนานของญี่ปุ่นและดินแดนตะวันออกกลาง—คือโคตรน่าทึ่ง พี่เท่เกินไปแล้ว แถมญี่ปุ่นยังใช้กันดั้มมาตั้งและเป็นทูตวัฒนธรรมไปอีก
Republic of Korea Pavilion
เกาหลีเด่นเรื่องอะไร ไม่ใช่ชุดฮันบก กิมจิ คายากึมอีกต่อไป พาวิลเลียนของเกาหลีปีนี้หน้าตาเหมือนสเตเดียม แนวคิดสำคัญของเกาหลีใต้ปีนี้ค่อนข้างเข้าใจได้ คือ ผู้ออกแบบอธิบายความเป็นเกาหลีร่วมสมัยว่าเป็นชาติที่เต็มไปด้วยพลัง มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกัน วิช่วลสำคัญที่ Moon Hoon แห่ง Mooyuki Architects อธิบายคือภาพของคนเกาหลีที่มักจะรวมตัวกัน และร่วมร้องเพลงด้วยกันในคอนเสิร์ต ในการร้องเพลงร่วมกันนั้น ทุกคนก็เชื่อมต่อกันด้วยโทรศัพท์มือถือ เป็นภาพเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กัน อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
สเตเดียมและกล่องที่เรียงตัวกันนี้สะท้อนภาพของสิ่งสำคัญของความเป็นเกาหลีร่วมสมัยหลายอย่างทั้ง K-pop การเป็นเจ้าพ่อเทคโนโลยี และการสร้างพื้นที่ที่เอื้อให้ผู้คนเชื่อมต่อกัน ภาพของอัฒจันทร์ยักษ์นี้จึงเป็นการแสดงภาพการเคลื่อนไหวของมวลชน ถ้ามองจากด้านนอกจะเห็นคนเป็นเหมือนพิกเซลเล็กๆ และค่อยๆ กลายเป็นกล่อง เป็นแถบ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่เกาหลีกำลังเปิดตลาดเข้าสู่ตะวันออกกลางก็คือวัฒนธรรม K-pop นั่นเอง การเนรมิตรสเตเดียมยักษ์จึงเป็นการชวนชาวอาหรับและชาวโลกให้ได้สนุกและตื่นเต้นในการเคลื่อนไหว ตลอดงานสเตเดียมแห่งนี้จะมีการแสดง K-pop ทุกวันอย่างน้อยสิบโชว์ต่อวัน มีจอยักษ์ และจริงๆ ไม่เชิงทิ้งสถาปัตยกรรมหรือตัวตนโบราณ ตัวพาวิลเลียนจะมีการปรับลานกลางบ้านของสถาปัตยกรรมเกาหลีที่เรียกว่า Madang หรือการใช้สีที่นึกถึงสีหลักของวัฒนธรรมเกาหลี
China Pavilion
พาวิลเลียนจีนปีนี้ก็จี๊นจีน แต่พี่จีนเขาก็ยิ่งใหญ่ เล่นใหญ่ รากเหง้าบิ๊กบึ้มและเป็นเจ้าพ่อเทคโนโลยี ปีนี้พาวิลเลียนจีน มองไปก็รู้ว่าจีน พี่แกเนรมิตรเป็นโคมยักษ์ เป็นโคมแบบโบราณที่ไม่โบราณ คือ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่และภาษาของสถาปัตยกรรมจีนโบราณ และโคมนี้ประกอบขึ้นด้วย LED ตัวโคมยักษ์นี้จะส่องสว่างได้ ฉายเป็นสารพัดภาพเคลื่อนไหวได้อย่างมีชีวิตชีวา โคมนี้มีชื่อว่า Light of China เป็นตัวแทนของการกลับมารวมกันอีกครั้งและเป็นแสงแห่งความหวัง
แกนสำคัญที่จีนเอามาโชว์ก็คือเทคโนโลยีและนวัตกรรม แน่นอนว่าตึกที่เป็นเหมือนจอยักษ์ก็เรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่จีนเน้นอย่างหนึ่งคือ AI จุดเด่นหนึ่งที่จีนเอามาแสดงคือหุ่นยนต์แพนด้าที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ ตัวแพนด้านี้สามารถรำไทเก๊กได้ การที่หุ่นรำไทเก๊กได้แปลว่ามันมีเทคโนโลยีการขยับและการทรงตัวขั้นสูง เจ้าแพนด้าเป็นทูตวัฒนธรรม มันจะเดินไปเดินมา นำชมพาวิลเลียน มีปฏิสัมพันธ์ แถมวาดรูปได้ นอกจากนี้ในอาคารก็จัดแสดงพวกนวัตกรรมล่าสุดเช่นรถยนต์ไร้คนขับ การโชว์พวกแนวคิดที่จีนจะก้าวไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยี เกษตรกรรมและศิลปะวัฒนธรรมดั้งเดิมในมิติใหม่ๆ
Philippines Pavilion
ฟิลิปปินส์ปีนี้ก็ไม่ธรรมดา โดยรวมจะเหมือนว่าเราดำดิ่งลงไปสู่ท้องทะเล ไปสู่แนวปะการัง ซึ่งนักออกแบบก็ใช้แนวปะการังมาออกแบบ แต่ว่าแกนหลักหนึ่งของพาวิลเลียนฟิลิปปินส์ปีนี้มีความเท่อยู่ คือ ต้องการพูดถึง ‘คนพลัดถิ่น’ พูดถึงเหล่าคนฟิลิบปินส์ที่กระจายพลัดจากบ้านเกิดเมืองนอนไปทำงานอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก แต่ก็ยังมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความเป็นพี่น้องที่ยังเชื่อมโยงต่อกัน
ตัวปะการังที่เป็นองค์ประกอบหลักของพาวิลเลียนมาจาก Bangkota คำศัพท์เก่าแก่ที่แปลว่าปะการัง ด้านในใช้งานศิลปะของศิลปินร่วมสมัยที่เล่าประวัติศาสตร์ 4,000 ปีของฟิลิปปินส์ โดยจะมีประติมากรรมของชายหญิงที่โบยบิน ประติมากรรมนี้หมายถึงแรงงานฟิลิปปินส์ที่บินไปทุกหนแห่ง เพื่อทุกโอกาส และด้วยทุกวิถีทาง ภาษาของสถาปัตยกรรมจึงมีความผสมผสานของปะการังและความบางเบาและลักษณะของนกที่โผบิน ทั้งนี้คอนเซปต์เรื่องการเดินทางนั้นนอกจากจะสัมพันธ์กับแรงงานอพยพ(ที่เฉพาะในที่สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตเองก็มีแรงงานฟิลิปปินส์กว่าแสนคนแล้ว) ยังสัมพันธ์กับการเป็นเมืองเกาะที่บรรพชนเองก็ต้องเดินทางจากเกาะสู่เกาะด้วย
Malaysia Pavilion
ปีนี้ของมาเลเซียก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งพาวิลเลียนที่สวย แถมมาเลเซียยังมาพร้อมคำมั่นสัญญาที่ร่วมสมัย คือ พาวิลเลียนมาเลเซียปีนี้ว่าด้วยความยั่งยืน และการใช้พลังงานที่เป็นไม่ปล่อยคาร์บอนฯ หรือ net zero carbon ถ้าเราดูตัวพาวิลเลียนก็จะเห็นทั้งความสัมพันธ์ของเทคโนโลยี อุตสาหกรรมและพืชพรรณเขตร้อน ซึ่งก็สอดคล้องกับคอนเซปชื่อ Net Zero Carbon Rainforest Canopy Pavilion
ทีนี้ น่าสนใจที่มาเลย์เซียมาพร้อมคำสัญญาเรื่องความยั่งยืนซึ่งตอบโจทย์เรื่องความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศ ถ้าเราดูสินค้าหลักของมาเลเซียคือน้ำมันปาล์ม สิ่งที่มาเลเซียพยายามสื่อสารคือความรับผิดชอบ และการมองหาการเพาะปลูกและการผลิตที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อย รวมถึงการปลูกป่าทดแทนจากการใช้เพื่อการปลูกปาล์มไปจนถึงการจับตาการผลิตน้ำมันในทุกกระบวนการอย่างรับผิดชอบต่อโลกใบนี้มากขึ้น นอกจากนี้มาเลเซียก็จะเน้นแสดงแผนการก้าวไปสู่ความรับผิดชอบในการปล่อยคาร์บอนฯ การก้าวไปสู่รถพลังงานไฟฟ้า การบันทึกและการรับผิดชอบต่อคาร์บอนฯ ที่ปล่อยออกมาของภาคอุตสาหกรรม
Thai Pavilion
ส่งท้ายด้วยไทยพาวิลเลียน ปีนี้ไทยพาวิลเลียนนำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งก็ฟังดูสอดคล้องกับการผลักดันและแสดงศักยภาพของไทยในการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในเวทีโลก สำหรับไทยพาวิลเลียนก็จะเน้นแสดงความเป็นไทย เน้นว่ามองแล้วรับรู้ได้ว่าเป็นพาวิลเลียนของประเทศไทย ดังนั้นเราก็จะเห็นองค์ประกอบแบบที่เราคุ้นตา คือ สีทอง ดอกไม้ มาลัย ภาพรวมตัวอาคารมีลักษณะเป็นศาลาไทยร่วมสมัยโดยจุดเด่นที่ผิวอาคารออกแบบและประดับด้วยดอกรักจำลองกว่า 500 ดอกที่มีลักษณะเป็นเหมือนม่านที่ถูกเปิดออกเข้าสู่ภายใน ตัวดอกรักนี้จะส่องสว่างทำงานสอดคล้องกับเรื่องราวและงานแสดงภายในพาวิลเลียน
สำหรับนิทรรศการด้านในก็จะเน้นจัดแสดงศิลปะวัฒนธรรม ส่วนหนึ่งคือเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวสู่ประเทศไทยในอนาคต หนึ่งในพื้นที่จัดแสดงสำคัญคือจอขนาดใหญ่ที่จะมีการแสดงประกอบ จากข้อมูลที่มีการปล่อยออกมา งานแสดงจะมีการใช้ลักษณะเช่นเกมต่อสู้เข้ามาร่วมเล่าเรื่องราวด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก