วันดีคืนดี รัฐบาลก็ออกคำสั่งห้ามขายเหล้าเบียร์ขึ้นมากระทันหัน กระทันหันพอๆ กับการสั่งปิดห้าง ที่สั่งปุ๊บ วันรุ่งขึ้นก็ปิดปั้บ ผลก็กลายเป็นว่าผู้คนก็แห่แหนไปกระจุกตัวกันอยู่ที่แผนกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปกวาดสารพัดเครื่องดื่มกลับมานอนเชยชมที่บ้าน ทั้งๆ ที่บางคนก็ใช่ว่าจะดื่มเป็นนิสัย ตรงนี้ผู้คนก็พากันสงสัยว่า ไอ้เหล้าเบียร์มันนำไปสู่การแพร่ของโรคอย่างมีนัยสำคัญขนาดนั้นเลยหรือ
พร้อมๆ กันเราก็มีข่าวเรื่องการรับเงินเยียวยา 5,000 บาท เงินก้อนที่แสนจะกระเหม็ดกระแหม่และได้ยากพอๆ กับการถูกหวยรวยทอง เริ่มมีการประกาศผู้เข้ารอบที่ได้รับเงินเยียวยา และกลายเป็นว่าระบบการลงทะเบียนที่รัฐเรียกว่าเป็นการคัดกรองนั้น ดูเหมือนว่าจะมีธงบางอย่าง ให้เหล่าประชาชนคนไทยที่หวังใจจะได้เงินมาเจือจานช่วงวิกฤตนี้ต้องตอบให้ถูกต้อง จึงจะเข้ากลุ่มอาชีพ ผ่านเกณฑ์ และได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา แถมแย่ไปกว่านั้น เมื่อรับเยียวยาแล้ว ยังมีการกำชับจากเพจฟากฝั่งรัฐบาล ทำนองว่าอย่าสร้างเรื่องต่อนะ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ราวกับว่าพอรับเงินสงเคราะห์นี้ไปแล้ว ก็จงก้มก้มตา ทำตัวดีๆ โดยลืมไปว่าเงินเยียวยานั้นก็คือภาษี ไม่ว่าจะกี่มากน้อยที่ประชาชนจ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมให้รัฐนำไปบริหารจัดการให้เรามีชีวิตที่ดีนั่นเอง
การปฏิบัติของรัฐที่มีต่อประชาชนนั้นเต็มไปด้วยลำดับชั้น ไม่ได้ปฏิบัติอย่างเท่าเทียม หลายครั้งรัฐมองประชาชนเป็นเหมือนเด็กน้อย เป็นพวกไม่มีวิจารณญาณ ต้องการการปกครองข่มขู่อยู่เสมอ เมื่ออยู่ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ปัญหาต่างๆ ของการมองและปฏิบัติต่อประชาชนเช่นปฏิบัติต่อเด็กน้อย หรือกระทั่งผู้ใต้บังคับบัญชาจึงนำไปสู่ความยุ่งยากในการรับมือโรคระบาด การตั้งด่าน ตรวจสอบเพื่อสร้างความยุ่งยากและหวังว่าผู้คนจะหยุดเดินทางกลับนำไปสู่จุดเสี่ยงการระบาดต่อเนื่อง การห้ามต่างๆ นำไปสู่การกักตุนสินค้าและการกระจุกตัวที่ทำให้เสี่ยงขึ้นไปใหญ่ ไปจนถึงการบังคับใช้กฏหมายแบบเชือดไก่ให้ลิงดู จับคนขายตัวเล็กๆ แต่รายใหญ่คนในกลับลอยนวลก็ยิ่งทำให้เห็นปัญหาของความเป็นธรรมและความชอบธรรมในการใช้กฏหมายสืบไป
ทั้งหมดนี้นั้นดูจะเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกมานานจากสังคมไทย ในการเปลี่ยนผ่านจากสังคมศักดินาสู่โลกทัศน์แบบสมัยใหม่ที่มีประชาชนเป็นพลเรือน และรัฐทำหน้าที่บริหารแบบต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน เป็นการถ่ายโอนทางวัฒนธรรมจากระบบขุนนาง สู่รัฐราชการแบบใหม่ ที่รัฐมองผู้คนเป็นสถานะที่ด้อยกว่า จนหลงลืมไปว่า คนที่ตนหมิ่นแคลนนี้คือคนที่ทำให้มีกินมีใช้ไม่ขาด และสามารถชี้นิ้วสั่งสอนต่อไปได้
‘ไปเป็นเจ้าคนนายคน’ การก่อตัวของชนชั้นและระบบใหม่แบบไทยๆ
เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 สังคมกำลังเคลื่อนไหวจนมาสะดุดกับโรคระบาดสำคัญแล้ว แต่สังคมไทยยังคงต้องพูดเรื่องเดิมๆ อยู่ ในประเทศส่วนใหญ่คนที่ทำงานให้ภาครัฐ คือกลุ่มคนที่ก็มองว่าทำงานบริการให้กับสังคม ให้กับประชาชน รับผิดชอบความกินดีอยู่ดีของประชาชน ภาษาอังกฤษจึงเรียกว่า civil servant หรือ public servant จริงๆ ในต่างประเทศเองการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ถือว่ามีสถานะพิเศษนิดหน่อย แต่ก็ยังยึดโยงกับประชาชนและการบริการประชาชนอยู่ด้วย
สำหรับสังคมไทยนั้น ย้อนไปสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เริ่มมีการปฏิรูปการศึกษาและวาง ‘ระบบราชการ’ ทดแทนระบบขุนนาง มีตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการ โรงเรียนกฏหมาย กระทั่งโรงเรียนทางการเกษตรที่ล้วนสร้างขึ้นเพื่อฝึกฝนและให้การศึกษาเพื่อป้อนคนเข้าทำงานในระบบราชการ จากจุดนั้นเองสังคมไทยจึงมีลักษณะที่เปิดกว้างขึ้น มีการไต่เต้าทางสังคมผ่านการเรียนและการสอบ เราจึงเริ่มมีคำพูดเช่นเรียนไปเพื่อเป็นเจ้าคนนายคน
อย่างไรก็ตาม เป็นอันรู้กันว่า ระบบราชการบางส่วนก็ยังสืบทอดผ่านสายเลือด เส้นสายของครอบครัวและเพื่อนฝูง มีเพียงส่วนน้อยที่จะดิ้นรนจนเอาชนะความเข้มแข็งของสายสกุลได้ แต่แน่นอนว่าคำว่าไปเป็นเจ้าคนนายคนนี้ บางส่วนก็คือเป็นเจ้านายของไพร่ฟ้าทั่วไป โดยเฉพาะข้าราชส่วนภูมิภาค ที่ส่งตรงไปจาศูนย์กลางเป็นต้น
ไม่ใช่ลูกหลาน หรือเรามีปัญหากับการนับญาติ?
แน่นอนว่าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการประนีประนอมตามที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่แบบเรียนสมัยประถม เราเป็นสังคมที่มีลำดับชั้นอย่างซับซ้อนตั้งแต่ฐานะ สถานะ เรามีคำเรียกที่มีนัยของความอาวุโส ที่มีทั้งความใกล้ชิดเป็นกันเอง แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ความสัมพันธ์ที่ควรจะมีความเป็นมืออาชีพ มีการต่างตอบแทนอย่างเหมาะควรตามครรลองและตามหน้าที่พร่าเลือนลง
คำขำๆ และการเรียกน้า เรียกลุง ในด้านหนึ่ง ตัวภาษาแห่งครอบครัว อาจเป็นส่วนหนึ่งของการนิยามรูปแบบความสัมพันธ์ ระหว่างรัฐ คนของรัฐ และผู้แทนของประชาชนที่ควรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ต่อคำสัญญา ลดทอนจากบริหารแผ่นดินที่มีความเป็นความตายของผู้คนลงกลายเป็นเรื่องลำลอง รัฐบางครั้งจึงหลงใจไปว่าการบริหารหรือปฏิสัมพันธ์กับผู้คนนั้นเป็นภาระผูกพันธ์ ไม่ใช่การสงเคราะห์สุนทาน
การลดทอนความจริงจัง ฟังดูอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่บางครั้งอาจจะทำให้ทั้งรัฐเองหลงลืมไปว่า นี่คือประชาชน ที่อย่างน้อยก็ควรมอง ปฏิบัติต่ออย่างเสมอภาคกัน ไม่จำเป็นและไม่มีสิทธิจะต้องมอบความกรุณาปราณี เพียงแค่ทำหน้าที่ของตน และในทางกลับกัน คำเรียกลำลองนั้นก็อาจจะกำลังกลบเกลื่อนการกระทำที่จริงจัง อันเป็นสิ่งที่รัฐ ไม่ว่าจะตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไร ที่ล้วนมีผู้คน มีชีวิต มีความเป็นไปของคนหมู่มาก แขวนและอยู่ในข่ายความรับผิดชอบนั้นอยู่เสมอ
ดังนั้นหลายครั้งจึงอาจต้องเตือนกันว่า นี่คือประชาชน อย่าลืมว่ารัฐและประชาชนมีพันธะสัญญาต่อกัน ทำงานให้กัน ต่างคนต่างทำหน้าที่กันไป ประชาชนไม่ใช่ลูกน้อง ไม่ใช่ลูกหลาน ไม่ใช่เด็กอมมือ ไม่ต้องนับญาติ ไม่ต้องอนุเคราะห์ ไม่ต้องสั่งสอนควบคุม โลกใบนี้ควรดำเนินไปได้ด้วยความสัมพันธ์แบบร่วมสมัย ต่างตอบแทนกันตามสมควร
อ้างอิงข้อมูลจาก
นิธิ เอียวศรีวงศ์, ปากไก่และใบเรือ: รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์, พิมพ์ครั้งที่ 4.(นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2555)