นอกจากโปเกมอนโกแล้ว 4 วันที่ผ่านมา ควันหลงการลงประชามติก็ยังไม่จางลง สิ่งทีเก็บความสงสัยแล้วไม่รู้จะไปถามใครคือ เออ ผ่านแล้วประเทศไทยจะไงต่ออ่ะ? ต้านโกงได้จริงไหม? ใครได้ประโยชน์บ้าง?
ความสงสัยต้องได้รับคำตอบว่าตกลงแล้วอนาคตประเทศไทยหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านจะไปทางไหนกัน จะไขข้อข้องใจทั้งที The MATTER ก็ไม่ได้มาเล่น ๆ แต่ชวนผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มานั่งถามกันตรง ๆ ว่าชะตากรรมของคนไทยเราจะเอายังไงกันต่อดี รับรองเลยว่าได้รับความหล่อ เอ้ย ความรู้ไปเต็ม ๆ แน่ บอกเลย
The MATTER : เชื่อว่าหลาย ๆ คนยังงง ๆ กับผลประชามติที่ออกมา โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เข้าใจว่า ก็รู้แหละว่าผ่าน แต่ผ่านแล้วไงต่อ? ร่างรัฐธรรมนูญฉบับบนี้ผ่านแล้วจะมีผลอะไรกับชีวิตพวกเขาบ้างในช่วง 1-5 ปีต่อจากนี้?
อ.ประจักษ์ : มันมีผลแน่ๆ ต่อทุกคน ไม่ว่าจะออกไปโหวตหรือไม่หรือโหวตอย่างไร ก็เหมือนกับประชามติ Brexit ที่ทุกคนต้องรับผลร่วมกัน ที่สำคัญมันแทบไม่เปิดช่องให้มีการแก้ไข ซึ่งหมายความว่าเราต้องอยู่กับมันไปอีกนาน
โอเค บางคนอาจจะบอกว่าดูจากประวัติศาสตร์แล้วรัฐธรรมนูญไทยไม่มีฉบับไหนถาวร ทุกฉบับเป็นฉบับชั่วคราวทั้งนั้น อายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4-5 ปี ซึ่งก็จริง
แต่พอมันแก้ไขยากและไม่ใช่กติกาที่ดี มันก็จะกลายเป็นชนวนในอนาคตให้เกิดความขัดแย้งอีกครั้ง เหมือนที่มันเกิดขึ้นมาหลายครั้ง ตลกร้ายคือบางครั้งกลุ่มคนที่ร่างกับกลุ่มคนที่ฉีกก็เป็นคนกลุ่มเดียวกันเสียอีก
แต่ที่น่าเศร้าและไม่ตลกคือ ในประวัติศาสตร์ไทยมีประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตายไปแล้วจำนวนมากเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งกติกาสูงสุดที่ดี ซึ่งวันนี้เราก็ยังไม่ได้มา
รัฐธรรมนูญนั้นพูดในภาษาวิชาการมันคือกติกาที่กำหนดสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ ในรัฐและกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน แต่ๆ ถ้าพูดในภาษาง่ายๆ มันคือตัวบอกว่าใครใหญ่กว่าใครในบ้านเมืองนี้ รัฐธรรมนูญที่ดีก็เหมือนแบบแปลนบ้านที่ดี คือ ควรออกแบบให้มีความคงทนถาวร อยู่แล้วทุกคนสบาย วางการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ไว้ลงตัว ไม่ให้ใครมีอำนาจมากเกินไปจนตรวจสอบไม่ได้ และไม่ให้หัวหน้าบ้านมีอำนาจเหนือลูกบ้านมากเกินไป ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดลักษณะพื้นฐานทั้งหมดของการเป็นกติกาที่ดี
เพราะมันไม่ได้มีการถ่วงดุลอำนาจที่ดีระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยมันทำให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติอ่อนแอและจะมีลักษณะเป็นรัฐบาลเป็ดง่อยในการทำงาน มันสร้างระบบพรรคการเมืองที่อ่อนแอ รัฐบาลผสมซึ่งจะเต็มไปด้วยการต่อรองระหว่างพรรคและมุ้งต่างๆ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาสำคัญๆ ของประเทศได้
นโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะของพรรคการเมืองใด เมื่อหาเสียงแล้วก็ยากที่จะทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนได้ เพราะมันมีเพดานข้อห้ามจากยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีซึ่งร่างโดยคนสูงอายุชุดหนึ่งที่มีอำนาจในปัจจุบันโดยไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนกลุ่มใดเลย แต่กลับจะแช่แข็งอนาคตของชาติไปอีก 20 ปีบังคับให้ทุกคนทำตาม ซึ่งเนื้อหาหลายอย่างในยุทธศาสตร์ชาติมันสวนกระแสทิศทางโลก มันถูกร่างด้วยความหวาดกลัวและต้องการดึงสังคมไทยกลับไปในอดีต

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเพิ่มอำนาจและบทบาทให้กับองค์กรหลายองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ และวุฒิสภาชุดแรกที่จะมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดของคสช. ก็จะมีอำนาจในการเลือกคนที่จะมาเป็นนายกฯ ด้วย มันก็ทำให้อำนาจการตัดสินใจของประชาชนทุกกลุ่มในคูหาเลือกตั้งมีความหมายน้อยลง เพราะสุดท้ายคนที่จะขึ้นมามีอำนาจสูงสุดอาจจะไม่ใช่คนที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเลือกก็ได้ ที่สำคัญวุฒิสภามีอายุถึง 5 ปี ยาวกว่าส.ส. ที่มีอายุแค่ 4 ปี ฉะนั้นก็จะมีอำนาจกำหนดอนาคตเมืองไทยไปได้ถึง 8 ปีทีเดียว
The MATTER : แล้วได้นายกฯ คนนอกที่ประชาชนไม่ได้เลือกมามันไม่ดียังไงล่ะ อาจจะแก้ไขระบบการเมืองที่วุ่นวายก็ได้หรือเปล่า?
อ.ประจักษ์ : ต่อให้นายกฯ คนนอกมาบริหารประเทศ ก็ไม่ง่ายนะ เพราะระบบการเมืองมันถูกวางให้อ่อนแอ มีองค์กรต่างๆ เต็มไปหมดที่มีอำนาจทับซ้อนกัน มีอำนาจวีโต้ และสามารถถอดถอนรัฐบาลและผู้แทน และคอยบอกรัฐบาลว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ซึ่งในทางปฏิบัติ
รัฐธรรมนูญจะสร้างระบบการเมืองที่มันพิกลพิการและมีสภาพเหมือนทารกที่เดินด้วยตนเองไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อใครเลย ยกเว้นชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ ที่จะสามารถบงการชักใยอยู่เหนือรัฐบาลและรัฐสภาที่อ่อนแอได้
กติกาในรัฐธรรมนูญนี้ยังจะทำให้เราย้อนกลับไปอยู่ในยุคของรัฐราชการ คือระบบที่ราชการเป็นใหญ่ มันเพิ่มอำนาจและบทบาทให้รัฐเยอะแยะมากมาย โดยลดทอนอำนาจของภาคประชาสังคม องค์กรท้องถิ่น และชุมชนรากหญ้า มันไปรื้อฟื้นรัฐรวมศูนย์กลับขึ้นมาใหม่ ซึ่งสวนทางกับการพัฒนาในโลกปัจจุบันที่เน้นการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนท้องถิ่น และชุมชน
ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงว่ากระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความบกพร่อง ไม่ให้ข้อมูลประชาชนอย่างครบถ้วนรอบด้าน ไม่เปิดให้ทุกฝ่ายบอกข้อดีข้อเสียให้ประชาชนได้ร่วมกันตัดสินใจ มีแต่การโฆษณาข้อดีอย่างเดียว เหมือนการขายสินค้าที่มีความบกพร่อง โดยซ่อนเร้นข้อเสียไม่ให้ผู้บริโภคได้รู้ ซึ่งอันตราย คนไทยจะได้เห็นผลกระทบต่างๆ ก็ต่อเมื่อมันบังคับใช้ไปแล้ว และวันนั้นก็อาจจะสายไปเสียแล้ว
รัฐธรรมนูญไม่ใช่สินค้าที่ซื้อมาแล้วพบว่าไม่ดี เราเอาไปเปลี่ยนคืนที่ร้านได้ รัฐธรรมนูญมันซื้อแล้วซื้อขาดเลย
ก็เหมือนการออกจากยุโรปของอังกฤษนั่นแหละ ผลกระทบมันมหาศาล แต่ก็ทำไงได้ อนาคตถูกเลือกไปแล้วจากความกลัวและความกังวลในปัจจุบัน
The MATTER : สำหรับคนที่ก็ยังงง ๆ ตั้งแต่ก่อนลงประชามติ จนถึงตอนนี้ที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านแล้ว ยังไม่รู้ว่าตัวเองกำลังต้องเจอกับอะไร อาจารย์จะนิยามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เขาเข้าใจง่าย ๆ และรวบรัดว่าอย่างไร?
อ.ประจักษ์ : เราอาจนิยามมันได้ว่ามันคือ รัฐธรรมนูญของชนชั้นนำ โดยเนติบริกร และเพื่อรัฐราชการรวมศูนย์
The MATTER : ในฐานะที่อาจารย์ศึกษาเรื่องการเลือกตั้งมาโดยตรง อาจารย์คิดว่าการลงประชามติครั้งนี้มันเป็นไปตามหลักการการเลือกตั้งในระดับสากลหรือไม่ อย่างไร?
อ.ประจักษ์ : มันห่างไกลจากหลักการจัดทำประชามติและการลงคะแนนเสียงตามมาตรฐานสากลมากทีเดียว กล่าวคือไม่เสรีและไม่ยุติธรรม เพราะไม่เปิดให้มีการรณรงค์อย่างเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างฝ่ายต่างๆ มีเฉพาะฝ่ายรัฐที่รณรงค์ได้ ไม่เปิดให้ฝ่ายที่คิดเห็นต่างกันรวมทั้งสื่อ นักวิชาการ และบุคคลทั่วไปได้มีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร มีการจับกุมคนที่คิดเห็นต่างจากรัฐบาลอย่างกว้างขวาง
The MATTER : ตามความคิดเห็นอาจารย์รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้านโกงอย่างที่เขาว่าได้จริงหรือเปล่า?

Damir Sagolji/Reuters
อ.ประจักษ์ : ปราบไม่ได้ และจริงๆ ควรกล่าวด้วยว่าวาทกรรม “รัฐธรรมนูญปราบโกง” เป็นมายาคติที่ใหญ่ที่สุดในการทำประชามติครั้งนี้
สูตรง่ายๆ ของการต้านโกงหรือต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นที่ทั่วโลกล้วนสรุปตรงกันคือ ต้องทำให้อำนาจโปร่งใสตรวจสอบได้ (transparency) และลดการผูกขาดอำนาจ อย่าให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป (no monopoly) ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ กองทัพ นักธุรกิจ ฯลฯ
จริงๆ แล้ว รัฐธรรมนูญที่ตัดสิทธิเสรีภาพประชาชนและรวมศูนย์อำนาจกลับไปที่รัฐราชการส่วนกลางมันไม่มีสามารถปราบโกงได้ เพราะประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมามันชี้ให้เห็นว่าระบบราชการรวมศูนย์ภายใต้โครงสร้างรัฐแบบอุปถัมภ์คือต้นตอสำคัญของการคอร์รัปชั่นของสังคมไทย นี่แหละคือเนื้อดินที่หล่อเลี้ยงให้การคอร์รัปชั่นมันดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน ถามว่าหลังรัฐประหารมานี้ คอร์รัปชั่นมันหายไปหรือไม่ มันไม่ได้หายไป แต่สื่อและประชาชนตรวจสอบไม่ได้ เราไม่สามารถแม้แต่มีข้อมูลพอที่จะรู้ด้วยซ้ำว่ามีคอร์รัปชั่นอยู่ตรงไหนหรือไม่ในระบบแบบนี้ ถามง่ายๆ ว่าสังคมอย่างเกาหลีเหนือมีคอร์รัปชั่นหรือไม่ คำตอบคือ คุณไม่มีทางรู้หรอก เพราะข้อมูลข่าวสารมันถูกปิดกั้น ใครก็ตรวจสอบเอาผิดไม่ได้ เพราะรัฐอำนาจนิยมมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จในมือปิดกั้นการตรวจสอบ ใครพยายามจะตรวจสอบก็จะโดนข่มขู่คุกคามหรือไม่ก็ถูกจับไปปรับทัศนคติ

Anuchit Nimtalung / waymagazine.org
อย่างที่บอก การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นต้องทำให้ผู้มีอำนาจทุกกลุ่มถูกตรวจสอบได้ ทั้งที่มาและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถ้าเข้ามามีตำแหน่งสาธารณะที่ใช้เงินภาษีของประชาชนต้องถูกควบคุมได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันแค่ควบคุมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับยกเอาอำนาจไปให้ชนชั้นนำอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งใช้แทน โดยประชาชนและสื่อตรวจสอบควบคุมไม่ได้
บทเรียนจากทั่วโลกที่เขาประสบความสำเร็จในการปราบโกงก็ชี้ชัดแล้วว่าหัวใจสำคัญของการปราบโกงมี 3 อย่างคือ หนึ่ง เพิ่มความเข้มแข็งให้สื่อ สอง เพิ่มความเข้มแข็งของภาคประชาชน และสามปฏิรูประบบราชการ รัฐธรรมนูญเฉยๆ ในฐานะกระดาษแผ่นหนึ่งมันปราบโกงไม่ได้
The MATTER : อาจารย์มองการเมืองหลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านอย่างไร?
อ.ประจักษ์ : รัฐบาลจะมีช่วงฮันนีมูนสั้นๆ จากการผ่านร่างประชามติ แต่มันจะไม่ยืนนาน เพราะสุดท้ายแล้ว คนกังวลกับอนาคตและปัญหาปากท้อง ตรงนั้นจะเป็นตัววัดความชอบธรรมของรัฐบาลที่สำคัญมากกว่าการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นความตึงเครียดก็จะกลับมาในไม่ช้า เมื่อฝุ่นจากประชามติหายตลบแล้ว
เราอาจจะเห็นการประกาศจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ โดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดกลางที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เอื้อประโยชน์ให้ แม้ว่าจะมีเสียงในมือไม่มากแต่สามารถยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญได้ และเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่ เค้าคงต้องการเสรีภาพในการทำกิจกรรม เพราะในเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านแล้ว มันก็สมเหตุสมผลที่จะให้พรรคต่างๆ เรียกประชุมและเตรียมจัดทำนโยบาย พบปะประชาชนในพื้นที่ได้ ถ้าคสช. ยังไม่ผ่อนปรนตรงนี้ มันก็จะทำให้เกิดภาวะตึงเครียด
ในภาพรวมอนาคตต่อจากนี้ไม่สดใส เพราะสังคมไทยจะค่อยๆ เดินไปค้นพบความจริงที่รอเราอยู่ในอนาคตเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้แล้วว่ามันไม่ใช่กติกาที่จะสร้างรัฐบาลที่ดีและมีเสถียรภาพในระยะยาว ที่สำคัญมันไม่จะไม่สามารถสร้างฉันทานุมัติและความสมานฉันท์ในสังคม
จริงๆ แล้วถ้าดูผลประชามติแยกตามรายภาค มันเกือบจะเหมือนผลประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญในปี 2550 สังคมไทยยังคงแตกแยกเช่นเดิม ในแง่นี้ เราไม่ได้ก้าวหน้าหรือถอยหลังลง เรากลับมายืนเกือบจะที่เดิมที่เคยอยู่ในปี 2550 แต่ข้อแตกต่างที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 บกพร่องน้อยกว่าฉบับนี้มาก ฉะนั้นเรากำลังเดินไปสู่ปัญหาใหญ่ในอนาคต
The MATTER : เราควรมีท่าทีต่อจากนี้อย่างไร? มีอะไรควรจับตาเป็นพิเศษไหม? โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เขามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว
อ.ประจักษ์ : การเมืองมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้ว มันเข้ามากระแทกทุกคนถึงตรงหน้าแล้ว ฉะนั้นเราต้องเรียนรู้มันและเท่าทันมัน
การเมืองน่ะไม่ต้องไปรักมันหรอก แต่ก็ไม่ต้องไปเกลียดกลัวมันเช่นกัน จริงๆ คนรุ่นใหม่คือความหวังของการสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ที่ไปพ้นจากความบ่มเพาะความเกลียดชังและความหวาดกลัว แล้วแทนที่มันด้วยการเมืองของความหวังและความรู้ คนรุนใหม่ควรลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในการกำหนดอนาคตของตัวเอง และหน้าตาของสังคมอย่างที่เขาต้องการ ปัญหาของบ้านเราคือ การเมืองมันวนเวียนอยู่ในมือของคนแก่มาอย่างยาวนานมาก มากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียเลยทีเดียว
ต่อจากนี้เรื่องที่ต้องจับตาคือ การร่างกฎหมายลูกต่างๆ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง การเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. องค์กรอิสระ ฯลฯ เพื่อเตรียมไปสู่การเลือกตั้ง คือถ้ารัฐธรรมนูญคือพิมพ์เขียวของบ้าน พวกกฎหมายลูกนี่คือ ดีไซน์จุดย่อยๆ ที่ช่างกำลังจะเข้ามาไปต่อเติมมุมต่างๆ ของบ้านแล้ว ซึ่งคราวนี้เราจะยิ่งเห็นหน้าตาของบ้านที่เราจะต้องอาศัยอยู่ชัดเจนขึ้น และมันเป็นเรื่องที่เรายังพอจะส่งเสียงทักท้วงได้ทัน ถ้ามันมีวี่แววไม่ชอบมาพากล
ที่สำคัญคนรุ่นใหม่ควรมีส่วนร่วมกับประชาชนกลุ่มอื่นๆ ช่วยกันเรียกร้องให้รัฐบาลคืนเสรีภาพในการพูด คิด ขีดเขียน และแสดงออกให้กับประชาชน เพื่อที่จะเดินหน้ากลับสู่ภาวะปกติแบบประเทศที่มีอารยะทั่วไป หลังจากที่ต้องอยู่กันมาแบบไม่ปรกติร่วม 2 ปี
The MATTER : ประเทศยังมีความหวังที่จะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบได้อยู่หรือเปล่า?
อ.ประจักษ์ : ความหวังมีเสมอ เพราะถึงที่สุดแล้ว เรามองว่าประชาธิปไตยมันไม่ใช่เหตุการณ์ ไม่ใช่อีเวนต์ มันไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว มันไม่มีหรอกสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยสมบูรณ์ ประชาธิปไตยมันคือกระบวนการต่อสู้อย่างต่อเนื่องเพื่อขยายสิทธิและอำนาจของประชาชนที่เป็นคนธรรมดาสามัญ มันจึงเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่บีบคั้นและปราศจากเสรีภาพอย่างมาก ยังมีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ตื่นตัวลุกขึ้นมาหาญกล้าทำกิจกรรมต่างๆ อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ยังมีคนเกือบ 10 ล้านโหวตในทิศทางที่สวนทางกับผู้มีอำนาจ เพราะพวกเขาต้องการกติกาที่ดีกว่านี้ แล้วเราจะไม่มีความหวังได้อย่างไร
‘การเมืองเป็นเรื่องไกลตัว’ดูจะเป็นวลีที่ห่างไกลออกจากชีวิตเราไปทุกที เพราะตอนนี้ทุกสิ่งรอบ ๆ ตัวเราล้วนถูกกำหนดด้วยการเมืองไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าเราจะเป็นคนที่สดใสกับผลประชามติครั้งนี้ หรือหมองหม่นกับผลที่ออกมา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรู้เท่าทันการเมืองอย่างที่อาจารย์ประจักษ์บอกไว้เป๊ะเลยว่า
การเมืองน่ะไม่ต้องไปรักมันหรอก แต่ก็ไม่ต้องไปเกลียดกลัวมันเช่นกัน จริงๆ คนรุ่นใหม่คือความหวังของการสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ที่ไปพ้นจากความบ่มเพาะความเกลียดชังและความหวาดกลัว แล้วแทนที่มันด้วยการเมืองของความหวังและความรู้
ส่วนที่ลืมไม่ได้เลยคือรู้จักการตั้งคำถาม ตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจไม่ว่าฝ่ายใด และท้ายที่สุดประชาธิปไตยไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวอย่าเพิ่งหมดหวังกันล่ะ 🙂