ทุกครั้งเวลาที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มว่าจะตกต่ำ หรือมีคนใกล้ตกงานจำนวนมาก ผู้มีอำนาจหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมักอ้างว่าประเทศของเรามีอัตราการว่างงานที่ต่ำมากๆ ติดอันดับโลก ยังไม่ต้องกังวลอะไรไปนะ คนส่วนใหญ่ของประเทศเรายังมีงานทำ
คำถามก็คือ จริงหรือ?
ท่ามกลางข่าวโรงงานทั้งหลายลดเวลาทำงาน ตัดโอที กระทั่งปิดตัว สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย แต่ รมว.แรงงงานยังออกมาบอกว่า ไม่ต้องเป็นห่วงอะไรเพราะอัตราว่างงานของไทยยังอยู่ที่ 1% เท่านั้น
ทว่า ‘อัตราการว่างงาน’ ที่วัดโดยยึดหลักเกณฑ์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) ถูกตั้งคำถามมานานแล้วว่า ให้ข้อมูลที่แม่นยำเพียงใด หรือจะเป็นเพียงภาพลวงตา
เพราะเกณฑ์ที่ ILO กำหนดมีเพียงว่า ถ้าคุณมีอายุสิบห้าปีขึ้นไป แค่มีงานทำ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็เท่ากับคุณ ‘มีงานทำ’ แล้ว ?
ด้วยเกณฑ์ดังกล่าวทำให้อัตราว่างงานของ ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ บางประเทศอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลกเรื่องคนมีงานทำ เช่นในปี พ.ศ.2558 กัมพูชามีอัตราการว่างงานเพียง 0.5 % เป็นอันดับสองของโลกรองจากกาตาร์ (0.2%) แปลว่าในคนกัมพูชาวัยแรงงาน 100 คน จะมีคนที่ไม่มีงานทำแค่ครึ่งคนเท่านั้น
หนังสือพิมพ์ The Cambodia Daily ข้องใจกับตัวเลขดังกล่าว จึงเขียนบทความตั้งคำถามกับเกณฑ์ของ ILO โดยอู วิรัก (Ou Virak) ผู้ก่อตั้งศูนย์ติตดามนโยบายสาธารณะของกัมพูชา Future Forum มองว่า วิธีวัดของ ILO อาจทำให้คนเข้าใจไขว้เขวได้ “เพราะแค่เรามีสวนปลูกผักหลังบ้าน หรือแค่คุณนั่งเฝ้าร้านแทนแม่ที่ไปซื้อของในตลาด ก็อาจถูกตีว่าเป็นคนมีงานทำ”
เช่นเดียวกับไทย ที่อัตราการว่างงานตามเกณฑ์ของ ILO อยู่ที่ราว 1% เศษๆ มาตลอดช่วงสิบปีหลัง
ซึ่งหลายฝ่ายออกมาวิเคราะห์แล้วว่า ไม่ใช่แค่เกณฑ์ของ ILO อย่างเดียวที่ทำให้ตัวเลขต่ำ ยังรวมถึงปัญหาการเก็บข้อมูลของภาครัฐ และโครงสร้างปัญฆาแรงงานของไทย ที่มีภาคเกษตรกรรมคอยรองรับ (ทั้งที่ทำงานไม่เต็มวัน และมักว่างงานช่วงนอกฤดูเพาะปลูก) ไปจนถึงการคนไทยมักหางานเล็กๆ น้อยๆ หรืองานพาร์ตไทม์ทำ ในระหว่างรอมีงานทำจริงๆ – ซึ่งโดยนิยามจึงกลายเป็นการ ‘ไม่ว่างงาน’ ไป
ต้นปี พ.ศ.2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่บทความ ‘นัยแฝงเบื้องหลังอัตราการว่างงานที่ต่ำ’ ที่ชี้ว่า นอกจากเกณฑ์ของ ILO แล้ว ปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ยังทำให้ท้ายสุดแล้ว คนไทยมักหางานทำในแบบที่ไม่มีทางเลือกหรือไม่มั่นคง ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่มีสวัสดิการใดๆ นอกจากนี้ ตัวเลขที่ถูกนำไปคำนวณยังไม่รวมถึงผู้ที่ไม่พร้อมหางานทำ โดยเฉพาะผู้ที่เกษียณอายุก่อนกำหนด (early retire) แล้วถูกบั่นทอนกำลังใจในการหางานทำ ที่สำคัญ การมีงานทำก็ไม่ได้แปลว่าจะได้ทำงานตรงกับความสามารถ เคยมีงานศึกษาที่พบว่า 10% ของแรงงานนอกภาคเกษตรได้ค่าจ้างต่ำกว่าวุฒิการศึกษา (job mismatch)
ผู้เขียนบทความดังกล่าวของ ธปท. ยังเสนอให้ใช้เครื่องชี้ด้านแรงงานอื่น ๆ เพิ่มเติมจากอัตราการว่างงาน เพื่อให้เข้าใจสภาพการแจ้งงานที่แท้จริงของประเทศ อาทิ
- ความเชื่อมั่นของตลาดแรงงาน (Confidence) อาทิ แนวโน้มการจ้างงานของภาคธุรกิจซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ
- พฤติกรรมของนายจ้าง (Employer’s Behavior) อาทิ จำนวนผู้ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง/สัปดาห์ สะท้อนว่านายจ้างต้องการแรงงานมากจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ซึ่งเป็นสัญญาณความตึงตัวในตลาดแรงงาน
- ศักยภาพของตลาดแรงงาน (Utilization) อาทิ อัตราการว่างงาน จำนวนคนว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน เพื่อสะท้อนว่ามีการใช้แรงงานเต็มที่หรือไม่
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2562 พบคนไทยอายุเกินสิบห้าปีขึ้นไปซึ่งมีจำนวน 56.66 ล้านคน อยู่ในกำลังแรงงานหรือพร้อมทำงาน 37.44 ล้านคน (ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 19.22 ล้านคน มีทั้งกลุ่มแม่บ้าน คนชรา ยังเรียนอยู่ และอื่นๆ) มีงานทำ 37 ล้านคน รอฤดูกาล 9 หมื่นคน และว่างงาน 3.5 แสนคน
การคำนวณตัวเลขคนว่างงานที่ถูกตั้งคำถามว่าสะท้อนความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ไม่เพียงทำให้การคำนวณดัชนีอื่นๆ อาจบิดเบี้ยวจนไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น ดัชนีความทุกข์ยาก (Misery Index) ของบลูมเบิร์กที่ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก เพราะข้อมูลส่วนหนึ่งที่ถูกนำไปใช้คำนวณคืออัตราการว่างงาน
ในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจทำให้การวางแผนด้านการแก้ไขปัญหาแรงงานผิดพลาด
จนที่สุดแล้ว แรงงานจำนวนไม่น้อยต้องประสบกับความทุกข์ยาก เพราะผู้มีอำนาจไปเชื่อตัวเลขที่ตนพร้อมจะเชื่อ มากกว่าจะพิสูจน์หาสภาพความเป็นจริง
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] แรงงานคอตก!’หม่อมเต่า’ย้ำ ค่าจ้างขั้นต่ำเหมาะสมดีแล้ว, เดลินิวส์.
[2] Cambodia’s Low Jobless Rate Hides Harsh Reality, The Cambodia Daily.
[3] QUICK GUIDE ON INTERPRETING THE UNEMPLOYMENT RATE, ILO.
[4] นัยที่แฝงเบื้องหลังอัตราการว่างงานที่ต่ำ, ธนาคารแห่งประเทศไทย.
[5] ตัวเลขว่างงานต่ำ มาจากไหน ทำงานอะไรก็ได้ 1ชม./สัปดาห์ ก็ถูกนับว่า ‘มีงานทำ’ แล้ว, ประชาไท.
[6] สถิติเดือน ต.ค. พบคนจบปริญญาว่างงานแตะ 1.5 แสนคน, ว้อยซ์ทีวี.