“ผมเซีย จำปาทอง ผมเป็นแค่คนธรรมดาที่ทำงานรับจ้าง ได้รับเงินค่าจ้างแค่พอใช้ชีวิตไปวันๆ ชีวิตผมก็เหมือนคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้”
เมื่อลำดับปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคก้าวไกลถูกประกาศ คำถามที่หลายคนอาจสงสัย คือ บรรทัดที่ 4 ของบัญชีรายชื่อ เซีย จำปาทอง คือใคร? ทำไมเป็นรองแค่ ‘พิธา – ชัยธวัช – ศิริกัญญา’ ผู้เป็นหัวหน้า เลขาธิการ และรองหัวหน้าพรรค และทำไมอยู่ในลำดับที่ปลอดภัยกว่าเจ้าของชื่อที่คุ้นหูอย่าง ‘รังสิมันต์’ หรือ ‘วิโรจน์’
หากพิจารณาบัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 ของพรรคอื่น จะพบว่ามีเป็นรายชื่อของคน ‘ไม่ธรรมดา’ ทั้งนั้น บางคนเป็นนักเรียนนอกลูกนักการเมืองใหญ่ บางคนเป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย บางคนเป็นหม่อมหลวง แน่นอนว่าการจัดคนในลำดับบัญชีย่อมสะท้อนวิธีคิดของแต่ละพรรคการเมือง
เซีย จำปาทอง ไม่ใช่นักเรียนนอก ไม่ได้เป็นลูกหลานใคร และไม่ใช่เจ้าของนามสกุลดัง แต่เชื่อเถอะว่าเซียไม่ใช่ใครที่ไหน เขาปราศรัยไว้ชัดเจนว่าเป็นประชาชนธรรมดาที่ทำงานรับจ้าง ได้รับค่าจ้างแค่พอใช้ชีวิตไปวันๆ เฉกเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ และหมวกอีก 2 ใบที่เซียสวมอยู่ คือ ประธานสหภาพแรงงานกิจการปั่น–ทอแห่งประเทศไทย (พิพัฒนสัมพันธ์) และประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย
ใครคือเซีย เขาเคยเคลื่อนไหวอะไรมาบ้าง ทำไมได้อยู่ลำดับที่ 4 และจะเป็นผู้แทนที่ผลักดันอะไรให้เรา? The MATTER ชวนอ่านบทสัมภาษณ์นี้ไปด้วยกัน
ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.ปีกแรงงาน เคยเคลื่อนไหวด้านแรงงานอย่างไรบ้าง?
ผมสมัครสมาชิกสหภาพแรงงานตั้งแต่เริ่มทำงานเมื่อปี 2536 เคยร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องประกันสังคมในอีก 3 กรณีที่ยังไม่ได้บังคับใช้ คือ กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน ก็ร่วมเคลื่อนไหวจนกรณีเหล่านี้มีผลบังคับใช้เพิ่ม เพราะตอนที่ผมเริ่มทำงาน ประกันสังคมยังเพิ่งบังคับใช้แค่ 4 กรณีเท่านั้น ได้แก่ กรณีเจ็บป่วย–ประสบอุบัติเหตุ กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย
จากนั้นก็เป็นคณะกรรมการสหภาพแรงงาน เคยอยู่หลายฝ่าย เช่น การศึกษา สวัสดิการ ก่อนจะถูกเสนอชื่อเป็นประธานสหภาพแรงงาน ผมเป็นประธานอยู่ 2 สมัยก็ผลัดไปเป็นฝ่ายอื่นต่อ ตอนหลังมีคนเสนอให้เป็นประธานก็เป็นอีก ทุกวันนี้ก็เป็นประธานสหภาพแรงงานกิจการปั่น–ทอแห่งประเทศไทย (พิพัฒนสัมพันธ์) และเป็นประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย
ทำไมถึงสมัครเข้าร่วมสหภาพแรงงานตั้งแต่ปีแรกที่เข้าทำงาน
ในโรงงานจะมีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว พี่ๆ คณะกรรมการและสมาชิกรุ่นก่อนก็แนะนำและอธิบายข้อดีของการมีสหภาพแรงงาน จัดการศึกษาให้เราทราบว่า ถ้าเราไม่รวมตัวกัน เราก็จะทำงานหนักแต่ไม่ได้มีสวัสดิการและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ส่วนนายจ้างเขาก็รวยเอา แต่ถ้าเราอยากมีค่าจ้างและสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น มีโบนัสหรือมีเงินขึ้นประจำปี เราก็ต้องเข้าร่วมสหภาพแรงงานและยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง ซึ่งสหภาพแรงงานก็ทำให้เห็นจริงว่า พอยื่นข้อเรียกร้องและเจรจากับนายจ้างก็ได้เงินและโบนัสเพิ่มขึ้นจริง เห็นแบบนี้เราก็ตัดสินใจมาร่วมและสมัครเป็นคณะกรรมการสหภาพแรงงาน
ได้ยินว่าเป็นคนเสื้อแดงมาก่อน เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไรบ้าง
ผมเคยร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง การทำงานกับสหภาพทำให้ผมซึมซับและมีสำนึกเรื่องประชาธิปไตยโดยไม่รู้ตัว เพราะกระบวนการของสหภาพแรงงานมีความเป็นประชาธิปไตยสูง เช่น ใครจะสมัครเป็นคณะกรรมการสหภาพแรงงานก็ต้องได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิก สมมติว่ามีคนสมัคร 20 คน แต่มีข้อกำหนดว่าจะเอาคณะกรรมการแค่ 17 คน อีก 3 คนก็อาจจะไม่ได้รับเลือกตั้ง หรือเวลาจะแก้ไขข้อบังคับอะไรก็ต้องขอมติจากที่ประชุมใหญ่ ถ้ามีมติเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบจึงจะแก้ไขได้
ภายในเครือข่ายแรงงานเห็นว่ารัฐบาลสมัยนั้นจัดตั้งกันโดยมีคนไม่เกี่ยวข้องมาร่วม ไปจัดต้ังกันในค่ายทหาร เรารู้สึกว่าแบบนี้มันไม่ใช่ มันไม่เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย ก็เลยเข้าร่วมชุมนุมต่อสู้กับคนเสื้อแดง พากันไปตลอดจนถึงวันที่เขาสลายการชุมนุม แม้เราไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่ก็เห็นคนถูกยิงล้มลงต่อหน้า ตอนนั้นยืนอยู่ตรงบ่อนไก่ใกล้ๆ เวทีมวย ไม่รู้กระสุนมาจากไหน ผมก็วิ่งหนี โชคดีที่ชาวบ้านแถวนั้นเปิดประตูบ้านให้เข้าไปหลบ เลยไม่เป็นอะไร
วันที่สลายการชุมนุมพวกผมก็อยู่ในเหตุการณ์ จำได้ดีว่ามีคนถูกกระทำและถูกทำร้าย ยังฝังใจเราอยู่ มันไม่ควรที่จะเกิดขึ้น และเราก็เห็นกระบวนการต่างๆ ว่า สุดท้ายแล้วก็พิสูจน์ข้อเท็จจริงได้แล้วว่าที่คนเสื้อแดงโดนกล่าวหาว่าเผา ว่ามีอาวุธสงคราม สุดท้ายมันก็ไม่เป็นความจริง
ผมเป็นคนเสื้อแดงคนนึง คนเสื้อแดงในสมัยนั้นมีหลายแบบ ถึงยุคนั้นจนยุคนี้ความคิดก็หลากหลาย คนร้อยคนก็ไม่ได้คิดเหมือนกัน บางคนคิดว่าเราควรที่จะผลักดันให้ถึงที่สุดในการแก้ปัญหาที่โครงสร้างเพื่อให้ประเทศเปลี่ยนและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่บางส่วนก็มองว่าแค่รัฐบาลจากการเลือกตั้งตามประชาธิปไตยก็พอแล้ว เสื้อแดงมีหลายแบบ และก็มีแดงกลุ่มนึงที่เปลี่ยนมาเป็นส้มนั่นแหละ
เคลื่อนไหวภาคประชาชนอยู่ดีๆ ทำไมถึงลงมาเล่นการเมือง
ผมเคลื่อนไหวในขบวนการสหภาพแรงงานและได้เจอข้อเท็จจริงว่า ปัญหาแรงงานไม่สามารถแก้ไขได้ถ้าเราไม่สนใจเรื่องการเมือง เพราะการเมืองกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันเรา ไม่ว่าเราจะหลับ ตื่น หรือทำงาน
แม้แต่เรานอนหลับอยู่ เปิดพัดลม แต่สิ้นเดือนค่าไฟแพงมาก การเมืองมันกำหนดว่าค่าไฟจะถูกหรือแพง การเมืองกำหนดว่าคุณจะสัมปทานหรือจะให้เอกชนมาสร้างโรงไฟฟ้ากี่โรง ค่าไฟแพงเพราะรัฐจัดการเรื่องนี้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ค่าจ้างขั้นต่ำก็เหมือนกัน เวลาเราพูดถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าการเมืองไม่เห็นด้วยก็ไม่มีโอกาสได้ขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะค่าจ้างขั้นต่ำ ประกันสังคม หรือกฎหมายความปลอดภัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับแรงงาน การเมืองเป็นตัวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง พอเราเห็นและเรียนรู้ว่าเป็นแบบนี้ก็คิดว่าแรงงานควรจะมีพรรคการเมือง
จนปี 2560 มีคนชวนไปทำพรรคการเมือง ก็เลยตัดสินใจร่วมจัดตั้งพรรค ซึ่งก็คือพรรคอนาคตใหม่ เพราะเราอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พอเรารู้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำมันมีฝ่ายการเมืองเป็นคนกำหนด ถ้าเราไม่ไปทำงานการเมือง แล้วเมื่อไหร่ค่าจ้างขั้นต่ำจะมีการปรับขึ้น เอาหนังสือไปยื่นให้รัฐบาลเขาก็ไม่ทำให้ ก็เลยคิดว่า เราควรมีส่วนร่วมและไปทำเองดีกว่า
ทำไมถึงได้อยู่ลำดับที่ 4? ก้าวไกลมีวิธีคิดอย่างไรเกี่ยวกับการจัดลำดับให้แรงงาน
วิธีจัดลำดับแบบนี้ไม่ได้เพิ่งมาเป็นตอนที่ผมอยู่อันดับ 4 เพราะตอนพรรคอนาคตใหม่ คุณมด—วรรณวิภา ไม้สน ก็อยู่ลำดับ 3 ของบัญชีรายชื่อ นั่นหมายความว่า พรรคอนาคตใหม่และก้าวไกลให้ความสำคัญกับแรงงาน ในข้อบังคับของพรรคเขียนไว้ว่า กระบวนการทำงานต้องมีส่วนร่วมของแรงงานอยู่ในพรรคด้วย จึงเป็นที่มาของลำดับ 4
การให้ความสำคัญกับแรงงานมีตั้งแต่อนาคตใหม่ พรรคคิดว่าแรงงานคือคนส่วนใหญ่ของสังคม เป็นคนที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจพัฒนาและเป็นกำลังหลักสำคัญ คนวัยแรงงานมีเกือบ 40 ล้านคน แต่กลับถูกทอดทิ้ง ไม่ค่อยมีพรรคการเมืองไหนพูดถึง และไม่มีโอกาสนำเสนอพูดคุยปัญหาของตัวเอง หรือได้รับการดูแลจัดสรรงบประมาณ พรรคอนาคตใหม่ในตอนนั้นก็เห็นความสำคัญและกำหนดว่า จะจัดให้แรงงานอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ
ส่วนวิธีเสนอชื่อตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ทางเครือข่ายจะมีกระบวนการในการพิจารณาโดยการเปิดรับสมัคร มีกระบวนการอย่างเป็นระบบในการตอบคำถามและให้คะแนน ทีมงานเครือข่ายผู้ใช้แรงงานพรรคก้าวไกลก็จะนำเสนอรายชื่อของผู้สมัครทั้งหมดให้กับทางพรรค และทางพรรคก็เป็นผู้พิจารณา
‘ใครคือเซีย’ คือสิ่งที่หลายคนคิดเมื่อเห็นลำดับบัญชีรายชื่อ รู้สึกอย่างไรที่บางคนสงสัยว่าเราคือใคร
ที่เขาตั้งคำถามคงเพราะไม่คุ้นชื่อผม ผมเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ทำงานเป็นกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านแรงงาน ไม่ได้โดดเด่นหวือหวาอะไรจนคนรู้จัก ผมเป็นประธานสหพันธ์และสหภาพแรงงาน ซึ่งสื่อไม่ค่อยมาถามหรือสัมภาษณ์พูดคุยเวลามีประเด็น ก็เลยทำให้คนในสังคมไม่ค่อยคุ้นชื่อ แต่ถ้าเป็นคนที่ทำงาน หรือเคลื่อนไหวติดตามข่าวในขบวนแรงงาน หรือเป็นนักกิจกรรมในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา บอกชื่อผม ก็คงจะรู้จักกันอยู่
ถ้าได้เป็น ส.ส. จะผลักดันประเด็นไหนเป็นอันดับแรก
เราอยากผลักดันเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้าให้แก่แรงงานและพี่น้องประชาชน และหากถามเจาะที่แรงงาน เราอยากผลักให้มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาท เพราะการที่แรงงานมีค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น ตอนนี้แรงงานรายได้น้อย พอรายได้น้อยจะซื้อของทีมันก็คิดแล้วคิดอีก ต้องใช้จ่ายประหยัดมากเพราะของแพง รวมถึงสิทธิในการรวมตัวของคนงาน ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญเหมือนกัน ก็จะผลักดันไปพร้อมกันหลายๆ เรื่อง
จะสนับสนุนให้สหภาพแรงงานเข้มแข็งขึ้นอย่างไร โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่
ผมมองว่า ประเด็นเรื่องสหภาพแรงงานเป็นประเด็นที่สังคมพูดถึงมากขึ้นในหมู่ขบวนการการเคลื่อนไหวภาคประชาชนและคนรุ่นใหม่ และพรรคก้าวไกลจะผลักดันให้รัฐรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวกัน เพื่อจะให้การรวมตัวกันมันง่ายขึ้น
ถามว่า ทุกวันนี้มีกฎหมายให้สิทธิลูกจ้างรวมตัวไหม? มีครับ มีกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้ลูกจ้างในสถานประกอบการรวมตัวกันได้ แต่เอาเข้าจริงการรวมตัวกันมันทำได้ยากมาก เพราะว่าแค่คนงานคิดว่าจะรวมตัวกันตั้งสหภาพแรงงาน บางแห่งนายจ้างก็เลิกจ้างแล้ว ณ ขณะนี้ ผมว่าขบวนการของสหภาพแรงงานมันโตขึ้นนะ แค่ยังไม่ได้สามารถรวมตัวกันและสร้างอำนาจต่อรองได้อย่างเต็มที่ แต่ในเชิงการพูดถึงสหภาพแรงงานผมว่ามันกว้างขึ้น คนหนุ่มสาวพูดถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น
นอกจากผลักดันให้รัฐรับรองอนุสัญญา ILO มีวิธีอื่นที่จะสนับสนุนสหภาพแรงงานในคนรุ่นใหม่ให้เข้มแข็งขึ้นมั้ย
เราส่งเสริมการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว เราพร้อมที่จะทำงานร่วมกับกลุ่มเครือข่ายต่างๆ และสนับสนุนการทำกิจกรรมในการจัดตั้งเป็นเครือข่าย
สมมติเยาวรุ่นอยากตั้งสหภาพแรงงาน ต้องทำยังไงบ้าง
ถ้าสนใจหรืออยากจัดตั้งสหภาพแรงงาน ก็ชวนเพื่อนๆ มาตั้งวงคุยกันได้ ทางพรรคก้าวไกลยินดีที่จะตั้งวงคุยกับพวกเรา ถ้าเราอยากจัดตั้งสหภาพแรงงาน ก็ร่วมกันจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมา ช่วยกันจัดตั้งได้ ตอนนี้มีสหภาพแรงงานที่เกิดขึ้นแบบไม่อยู่ในเงื่อนไขของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์อยู่ เช่น สหภาพคนทำงาน สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ สหภาพไรเดอร์ มันก็เริ่มมีขึ้นมา คนในสังคมเริ่มสนใจสหภาพแรงงานมากขึ้นนะ เพียงแต่ว่าเรายังรวมเป็นขบวน จัดกันเป็นระบบไม่ได้ เรื่องอำนาจต่อรองกับรัฐมันเลยยังไม่เกิดผลเท่าไหร่
ในการ ‘ปรับค่าแรงขั้นต่ำ’ พรรคมีกระบวนการขึ้นค่าแรงอย่างไร
ทางพรรคก้าวไกลพิจารณาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ กระบวนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศเรามันช้ามาก ทำให้แรงงานมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ในขณะที่เศรษฐกิจและเงินเฟ้อมันไปไกลแล้ว ผลก็ตกมาอยู่ที่แรงงาน แล้วสุดท้าย พอแรงงานรายได้น้อย เศรษฐกิจก็ไม่ขับเคลื่อนเพราะไม่มีกำลังซื้อ
ก้าวไกลคำนวณจากเรื่องพวกนี้ จนเสนอที่ 450 บาทแบบจะปรับขึ้นทุกปีอัตโนมัติโดยไม่ต้องให้มีขบวนการสหภาพแรงงานเข้าไปยื่นข้อเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในวันกรรมกรสากล ในวันสตรีสากล หรือในวันอะไรต่างๆ
พรรคมีแผนเจรจากับภาคธุรกิจในการเพิ่มค่าแรงอย่างไร
เรื่องเหล่านี้พรรคมีนโยบายดูแลอยู่แล้ว สำหรับ SME พรรคก็เตรียมนโยบายไว้ว่าจะดูแลหากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่สำหรับทุนใหญ่ๆ หรือทุนผูกขาด มันไม่สะเทือนขนหน้าแข้งเขาหรอกครับ ผมคิดว่าเขาไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ มีนายทุนบางคนด้วยซ้ำที่เสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาตั้งหลายสิบปีก่อน ว่าให้เป็น 500 บาทต่อวัน
ข้อเสนอเรื่องลดชั่วโมงการทำงาน ถ้าก้าวไกลออกกฎหมายได้ จะทำยังไงให้นายจ้างไม่ละเมิด
ขณะนี้ยอมรับเลยว่า มีนายจ้างบางคนละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานอยู่ เช่น กฎหมายกำหนดว่าห้ามเลิกจ้างคนท้อง ก็มีนายจ้างเลิกจ้างคนท้อง หรือทุกวันนี้ กฎหมายกำหนดไว้ว่าให้ทำงานสัปดาห์นึงไม่เกิน 48 ชั่วโมง แต่ก็ยังมีนายจ้างบางแห่งที่ให้ลูกจ้างทำงานมากกว่านั้น
หรือกฎหมายระบุว่า ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 350 บาท แต่ก็มีนายจ้างบางแห่งที่จ้างลูกจ้างในระดับค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด หรือ กฎหมายกำหนดว่า หากคุณประกอบธุรกิจแล้วจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว คุณต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างอย่างน้อย 75% ก็ยังมีนายจ้างละเมิด ไม่ทำตามกฎหมาย ไม่จ่าย เป็นต้น
เพราะฉะนั้น การที่จะให้ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เนี่ย เราหวังอยู่แล้วว่า หากผลักดันเรื่องนี้ได้ นายจ้างจะปฏิบัติตามเพื่อให้ลูกจ้างจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเวลาพักผ่อน มีเวลาศึกษาหาความรู้ ยกระดับตัวเอง มีเวลาทำกิจกรรมกับครอบครัว มีเวลาออกกำลังกาย มีเวลาดูหนังฟังเพลง ให้คุณภาพชีวิตของคนงานแรงงานดีขึ้น ให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น
แต่คุณเชื่อไหมว่าปัญหามันพันกันไปหมด บางคนจะไปสมัครงานโรงงานไหน ถ้าโรงงานนั้นไม่มีโอทีก็ไม่อยากอยู่ เพราะถ้าอยู่แล้วรับค่าจ้างประมาณ 350 บาท เดือนหนึ่งได้แค่ 7,000 – 8,000 มันจะอยู่ได้ยังไงในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้
เลยทำให้ลูกจ้างยอมทำงานเกินชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด?
ใช่ บางคนเลยต้องทำโอที แต่ถ้าทำโอทีแล้วจะเอาเวลาไหนไปอยู่กับครอบครัว ออกกำลังกาย หรือศึกษาหาความรู้ สุดท้ายพออายุเยอะ ปัญหาสุขภาพก็ตามมา เพราะตอนหนุ่มสาวคุณทำแต่งาน คุณไม่มีโอกาสศึกษาหาความรู้เพราะคุณทำงาน
อะไรคือปัญหาแรงงานที่ถูกพูดถึงน้อยเกินไปในสังคมไทย
ผมคิดว่า ‘ความมั่นคงในการทำงาน’ เป็นประเด็นที่คนพูดถึงน้อยทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะก็ไม่รู้ว่าคนงานจะถูกเลิกจ้างเมื่อไหร่ โดยเฉพาะในการแข่งขันทางด้านธุรกิจแบบทุกวันนี้ เช่น ตอน COVID-19 ระบาด มีแรงงานหลายคนถูกเลิกจ้าง ซึ่งคนทำงานก็ไม่รู้มาก่อน นั่นหมายความว่า เขาไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ปกติแล้ว การปิดกิจการชั่วคราวต้องจ่ายค่าจ้างให้ 75% ด้วยซ้ำ
เมื่อพูดถึงความมั่นคงด้านการทำงานในโรงงาน มันไม่มีอะไรบอกได้ว่าวันไหนจะถูกเลิกจ้าง มันไม่มีบอก พอเดินทางไปถึงหน้าประตูโรงงาน เขาปิดป้ายว่าปิดกิจการ แรงงานก็เคว้งคว้าง ผมคิดว่าประเด็นนี้คนพูดถึงน้อย
ดังนั้น หากเป็น ส.ส. จะแก้ปัญหานี้อย่างไร
อย่างนึงที่จะเสนอ คือ รัฐควรมีเงินกองทุนที่เก็บเงินจากนายจ้างมาเป็นกองทุนไว้เลยว่า หากคุณปิดกิจการ อย่างน้อยๆ ก็จะมีเงินที่จะจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง ไม่งั้นเราก็จะเจอกรณีแบบที่เล่าไป เพราะเมื่อมันเกิดขึ้น กลไกมันตามยาก โดยเฉพาะนายจ้างคนต่างประเทศก็ไม่รู้จะไปตามที่ไหน หรือแม้แต่นายจ้างในประเทศ เวลาเขาปิดกิจการลอยแพคนงาน บางทีก็สร้างเงื่อนไขกลไกต่างๆ ไว้ในกรณีที่ไม่จ่ายค่าชดเชย ก็ยิ่งทำให้คนทำงานติดตามค่าชดเชยได้ยาก
ปลายทางของประเทศที่ฝันถึงคืออะไร ฝันไกลขนาดไหน
ปลายทางที่เห็นคือรัฐสวัสดิการ ปลายทางอยู่ไม่ไกลนะ แค่นี้เอง ตอนนี้เริ่มเห็นแล้ว จากที่ผมเริ่มทำงานในสหภาพแรงงาน เคลื่อนไหวปัญหาแรงงาน พร้อมกับเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ในระยะเวลาไม่กี่ปี ก็มีการพูดถึงปัญหาโครงสร้างของประเทศนี้มากขึ้น
เมื่อ 10 ปีที่แล้วกับ ณ วันนี้ คนละเรื่องกันเลย ตอนนี้มีคนพูดถึงโครงสร้าง ปากท้อง และรัฐสวัสดิการมากขึ้น โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว พูดถึงสหภาพแรงงานก็เยอะขึ้น พวกเขาพูดและฝันถึงสังคมใหม่ที่ไม่เหมือนทุกวันนี้ สังคมใหม่ที่จะทำอะไร หรือจะแสดงความคิดเห็นอะไรก็ไม่ต้องถูกจับกุมคุมขัง หากเทียบกับอดีตมันต่างกันมาก
สิ่งที่เราคิดว่ามันอยู่ไกลในขณะนั้น ตอนนี้เราเห็นแล้วว่ามันไม่ไกลอย่างที่เคย มันใกล้เข้ามาแล้ว ผมจึงคิดว่าอีกไม่นาน พวกเราผู้ใช้แรงงานประชาชนคนไทย ต้องมีสวัสดิการต่างๆ ที่ดีขึ้น
กระแสสังคมมันกดดันให้รัฐต้องยกเลิกการเอาเงินไปใช้ในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ และเอาเงินไปจัดสรรให้พี่น้องประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น เอาเงินมาจัดสวัสดิการ อุดหนุน ดูแลคนชราที่ทำงานมาทั้งชีวิต ผมคิดว่าอีกไม่นานเราจะเห็นและได้สังคมใหม่ มันอาจไม่ได้เปลี่ยนผ่านทันทีที่ผมเข้าไปเป็น ส.ส. 4 สมัย แต่ผมคิดว่ามันมีพัฒนาการของมันที่ไปเร็วขึ้นกว่าเมื่อก่อน
สังคมพูดถึง ‘รัฐสวัสดิการ’ เยอะขึ้นมาก แต่อะไรคือรัฐสวัสดิการในแบบฉบับพรรคก้าวไกล
รัฐสวัสดิการในความเข้าใจของเรา คือ รัฐต้องดูแลคนในสังคมประเทศให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอน ถ้าคุณเป็นเด็ก รัฐก็ควรที่จะดูแลเด็กอย่างดี มีเงินอุดหนุนเด็กหรือโตขึ้นได้เรียนฟรี เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน รัฐก็ต้องสร้างงานให้คนมีงานทำ หากตกงานก็ต้องมีเงินดูแลอุดหนุน เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย รัฐก็ต้องมีมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ดี พอแก่ตัวลง รัฐก็ต้องดูแลเพราะเขาเป็นคนทำงานสร้างสังคมและพัฒนาประเทศมา ทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง รัฐจะปล่อยพวกเขาทิ้งไปให้เฉพาะเงินซื้อไข่วันละ 2-3 ฟองไม่ได้ แต่ต้องดูแลให้คนที่ทำงานมาทั้งชีวิตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สรุปคือ การใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต รัฐต้องดูแลจัดสวัสดิการให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ก้าวไกลมีนโยบายให้เงินอุดหนุนเด็กและผู้สูงอายุ สวัสดิการนี้จะมีประโยชน์กับคนทำงานยังไง
กรณีที่ยกตัวอย่างมันจะส่งผลกับคนทำงานอย่างพวกผม คนทำงานต้องส่งเงินกลับบ้าน ต้องใช้เงินดูแลพ่อแม่และดูแลลูก ถ้าเราผลักดันเงินอุดหนุนเด็กและบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาทได้ ผมก็ไม่ต้องส่งเงินให้แม่ก็ได้ หรือไม่ก็ส่งน้อยลง มันก็ลดภาระ และจะมีกำลังไปจับจ่ายใช้สอยด้านอื่นมากขึ้น มีเงินที่จะไปทำอย่างอื่นมากขึ้น
เมื่อไม่มีสวัสดิการ แรงงานส่วนใหญ่ก็ต้องส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่เพราะทิ้งเขาไม่ได้ รัฐให้แค่เดือนละ 600 บาทก็ไม่พอใช้ เพราะฉะนั้น หากเพิ่มเป็น 3,000 บาท เขาก็มีเงินที่จะใช้จ่ายค่าอาหาร ค่าน้ำไฟได้ ก็จะลดค่าใช้จ่ายของคนทำงานไปด้วย ทำให้ไม่ต้องดิ้นรนทำโอทีมาก ร่างกายเราจะดีขึ้น คนงานส่วนใหญ่จะห่วง 2 เรื่องนี่แหละ ไม่ว่าเรา หรืออาจจะเป็นคุณในอนาคต ถ้าทำงานแล้วก็อาจจะต้องกังวลว่าจะต้องดูแลครอบครัวและบุพการี
บางคนตั้งคำถามว่า การสนับสนุนแรงงานมากไปอาจกระทบเศรษฐกิจและผู้ประกอบการ คิดเห็นอย่างไร
การสนับสนุนแรงงานจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจโต ถ้าคนวัยแรงงานมีเงินเยอะ มีกำลังซื้อ เศรษฐกิจโตแน่นอน รัฐบาลชุดไหนๆ ก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการพยายามให้ชาวนา แรงงาน ประชาชนมีเงิน เพราะพอมีเงินประชาชนก็จะไปใช้จ่ายซื้อของ ทำให้เศรษฐกิจมันโตขึ้น พรรคก้าวไกลก็หวังแบบนั้น เลยจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท เพราะเมื่อแรงงานอย่างพวกผมมีเงิน ผมก็ไม่ได้เอาตังไปฝังดิน ผมก็เอาเงินไปซื้อของ เศรษฐกิจก็จะหมุนเวียนมากขึ้น
ก้าวไกลมีนโยบายเพื่อแรงงานแพลตฟอร์ม การที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเคยเป็นซีอีโอ Grab จะส่งผลอะไรไหม
ผมคิดว่าในพรรคได้พูดคุยกันและเห็นว่าพรรคสามารถผลักดันนโยบายเหล่านี้ได้ การที่คุณพิธาเคยเป็นซีอีโอ ผมคิดว่าไม่ใช่ปัญหาและไม่ใช่ประเด็น เพราะนโยบายที่ออกมาถือว่าทุกคนในพรรคเห็นพ้องด้วยแล้วที่จะดำเนินการ
มีนโยบายสนับสนุนแรงงานแบบนี้ แล้วภายในพรรคก้าวไกลมีสวัสดิการดูแลแรงงานอย่างไร
เนื่องจากว่าผมไม่ใช่คณะกรรมการพรรค ผมเลยไม่รู้ระบบการจัดการบริหารภายในพรรค อันนี้ต้องขออภัยจริงๆ แต่ผมคิดว่า ฝ่ายที่รับผิดชอบก็คงจะดูแลเรื่องพวกนี้ เพราะถ้าหากดูแลคนในพรรคไม่ดีแต่ไปเสนอว่าจะดูแลคนทั้งประเทศหรือแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตดีๆ ผมคิดว่ามันย้อนแย้งกันครับ มันต้องเริ่มจากที่บ้าน ก็คือเริ่มจากพรรค
อยากเห็นชีวิตแรงงานไทยในอนาคตเป็นอย่างไร
ผมอยากเห็นคุณภาพชีวิตแรงงานไทยดีขึ้น อยากเห็นคนลืมตาอ้าปากได้ มีเงินออม มีสุขภาพที่ดีขึ้น ทำงานน้อยลง โดยรวมก็คือ อยากเห็นพี่น้องแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ส่วนแรงงานรุ่นใหม่ ถ้ามีโอกาสผมอยากให้รวมตัวและพูดคุยกันถึงแนวทางการสร้างขบวนการแรงงานให้มีอำนาจต่อรอง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตแรงงานโดยรวมให้ดีขึ้น หากเราหวังให้คนอื่นทำ เขาอาจจะทำได้ไม่เหมือนที่เราอยากให้เป็นก็ได้ เพราะฉะนั้น อยากให้แรงงานรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตัวเองโดยการลงมือทำ ถ้าเราอยากให้สังคมเป็นแบบไหน มาร่วมสร้างสังคมด้วยกัน มาร่วมสร้างสังคมนี้ด้วยกัน
มีอะไรอยากเล่าเพิ่มเติมมั้ย
เราหวังว่านโยบายต่างๆ ที่ได้ลงพื้นที่และประชุมแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นจากแรงงานจะสามารถผลักดันให้เกิดผลเป็นจริงได้ในยุคสมัยของพวกเรา อย่างไรก็ตาม เราหวังว่าพี่น้องแรงงานรุ่นใหม่จะสนับสนุนให้เรื่องเหล่านี้ประสบความสำเร็จในอนาคต เพราะไม่ว่าผมหรือ ส.ส. ในก้าวไกลคนใดคนนึงก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้น พี่น้องแรงงานรุ่นใหม่และเก่าต้องมาช่วยกันทำช่วยกันสนับสนุนให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
หากพรรคก้าวไกลได้ทำตามนโยบายจริง จะทำให้คุณภาพชีวิตพี่น้องแรงงานดีขึ้นแน่นอน